Network Switch ออดิโอเกรดเพิ่มคุณภาพสตรีมมิ่งได้อย่างไร?

0

DAWN NATHONG

ผู้เขียนเคยเขียนบทความถึงเทรนด์การเล่นสตรีมมิ่งยุคนี้ไว้ว่า เน็ตเวิร์คสวิตช์แบบออดิโอเกรดจะกลายเป็นอีกหนึ่งไอเทมสำคัญ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำหรับผู้ที่ต้องการรีดเร้นประสิทธิภาพของการฟังหรือชมสื่อดิจิทัลมีเดียผ่านการสตรีมมิ่งแบบจริงจังกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงผ่านคลาวด์เซอร์วิสด้วย TIDAL, Qobuz, Spotify หรือการชมภาพยนตร์ผ่านผู้ให้บริการอย่างเช่น Netflix, Apple TV หรือแม้แต่ YouTube ก็ตาม

แม้ว่าการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คผ่าน Router มายังเน็ตเวิร์คสวิตช์ทั่วไปด้วยสายแลนนั้นจะทำหน้าที่ตามมาตรฐานของมันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ด้านคุณภาพนั้นถือว่ายัง “ไม่สุด” ที่จะนำมาใช้งานร่วมกับซิสเต็มดูหนังฟังเพลงของนักเล่นที่พิถีพิถันในรายละเอียด แถมการนำอุปกรณ์ที่ไม่ได้ออกแบบสำหรับใช้งานกับเครื่องเสียงโดยเฉพาะนั้น อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับคุณภาพการเล่นสตรีมมิ่งผ่านอินเตอร์เน็ต พบว่าคุณภาพโดยรวมนั้นยังเป็นรองการเล่นไฟล์จาก NAS ที่บ้านอยู่เสมอ ๆ มากบ้างน้อยบ้างตามคุณภาพของอุปกรณ์ที่นำมาทดสอบ สามารถฟังออกได้อย่างชัดเจนไม่ใช่อุปาทานแต่อย่างใด

สาเหตุที่คุณภาพการเล่นสตรีมมิ่งผ่านอินเตอร์เน็ตด้อยกว่าการเล่นไฟล์จาก NAS ผู้เขียนขอตั้งไว้สองประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง โปรโตคอลที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเป็นแบบ TCP (transmission control protocol) ซะส่วนใหญ่ ทั้งการดู Netflix หรือ YouTube รวมถึง TIDAL, Spotify เพื่อความถูกต้องของข้อมูล โดยจะถูกส่งเป็นแพ็คเก็ต (Packet) มาเป็นชุด ๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ผ่าน Server ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ระหว่างทางหากเกิดปัญหา Packet Loss ด้วยสารพัดเหตุผล ก็จะมีการตรวจสอบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นและทำการแก้ไขให้ข้อมูลตรงกับต้นทางไปเรื่อย ๆ

มีโอกาสว่า เมื่อ Packet เหล่านั้นมาถึง Router หรือ Switch ที่บ้านของเรา ก็ต้องมีการทวนสัญญาณเพื่อแก้ไขเช่นกัน มันมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่สัญญาณรบกวนอย่าง EMI จากความถี่ในการทำงานภายในตัวของอุปกรณ์เอง แล้วแพร่เข้าสู่ระบบเครื่องเสียงได้หรือไม่

ประเด็นที่สอง เน็ตเวิร์คสวิตช์มาตรฐาน แม้จะนำมาใช้งานกับชุดเครื่องเสียงได้ก็จริง แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นขจัดสัญญาณรบกวน (RFI / EMI) ที่แทรกซึมเข้ามาในสาย LAN หรือระบบไฟ รวมถึงสัญาณรบกวนจาก Wi-Fi แถมตัวมันเองก็มีโอกาสที่จะเพิ่มสัญญาณรบกวนเข้าไปในระบบได้อีก จากภาคจ่ายไฟสวิตชิ่งคุณภาพต่ำ

สัญญาณรบกวนเหล่านี้ มีโอกาสแพร่เข้าสู่ภาควงจรส่วนที่เป็นแอนะล็อก รบกวนการแปลงสัญญานของภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ และเป็นการทำให้ค่า S/N Ratio ของระบบเครื่องเสียงแย่ลง

ในทางปฏิบัติ การวัดค่าสัญญานรบกวนด้วยเครื่องมือดิจิตอลอาจมีผลน้อยระดับมิลลิโวลต์ และไม่ใช่สาระสำคัญของการเลือกใช้อุปกรณ์ไอทีมาตรฐาน (คนละวัตถุประสงค์) แต่สำหรับการฟังเพลง เรื่องของสัญญาณรบกวนนั้นสำคัญอย่างยิ่งแม้จะมีน้อยนิด แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียงโดยตรง เราสามารถฟังออกด้วยหูว่าเสียงนั้นมีความแตกต่าง (ที่ตลกร้ายคือชุดเครื่องเสียงยิ่งดี ยิ่งฟังออกชัด) ขออุปมาเหมือนดังกับการผลิตเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ทั้งหลาย ที่แม้จะวัดค่าออกมาได้ตามมาตรฐานที่กำหนดแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยการฟังทดสอบด้วยหูเพื่อจูนเสียงในท้ายสุดอยู่ดี

สรุปสั้น ๆ ว่าการใช้เน็ตเวิร์คสวิตช์ออดิโอเกรดเทียบกับการใช้ เน็ตเวิร์คสวิตช์ธรรมดา ส่งผ่านข้อมูลได้ “ไม่ต่างกัน” แต่ เน็ตเวิร์คสวิตช์ออดิโอเกรด มีโอกาสที่จะสร้างน้อยส์เข้าไปในระบบเครื่องเสียงได้ “น้อยกว่า” เพราะออกแบบมาเพื่อเน้นจัดการกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียงโดยตรง โดยลดโอกาสการเกิดน้อยส์ในระบบให้มากกว่าอุปกรณ์เกรดไอทีทั่วไป พูดง่าย ๆ ว่าเป็นฟิลเตอร์ที่ช่วยกรองน้อยส์ทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นจากระบบเน็ตเวิร์คนั่นเอง ส่วนของใครจะได้ผลมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของผู้ผลิต

ส่วนผลลัพท์ของการใช้เน็ตเวิร์คสวิตช์ออดิโอเกรด ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้ทำให้คุณภาพเสียงจาก 100% กลายเป็น 120% อะไรแบบนั้น แต่มันทำให้ได้เต็มศักยภาพ “เท่าที่อุปกรณ์ในซิสเต็มจะให้ได้” โดยส่วนใหญ่จะถูกปรับปรุงในด้านความนิ่ง สะอาด เป็นตัวตนของเสียง นอกจากนี้ท่านใดที่ชมภาพยนตร์ผ่านสตรีมมิ่งก็จะทำให้ภาพสวย สีสันถูกต้องมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสามารถดูออกง่าย ๆ ด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกัน

ของแบบนี้สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นหรือหูฟัง ขอเพียงเปิดใจลองด้วยตัวเองให้รู้ชัดแจ้งเสียก่อน แล้วถึงค่อยตัดสินเท่านั้นเอง