Near-field คืออะไร ทำไมต้องฟัง

0

นิตพินัย สุบรรณเสณี

Near-field

พูดถึง Near-field เลยขอกล่าวถึงอะคูสติกในห้องเล็กน้อยเพื่อสำหรับผู้เริ่มต้นที่สนใจเป็นข้อมูลเบื้องต้น คือ ในห้องใดๆเสียงจะเดินทางจากแหล่งกำเนิด (ซึ่งในที่นี้คือลำโพง) มาถึงหูผู้ฟังอย่างน้อย 3 รูปแบบด้วยกันคือ เสียงตรง (Direct Sound) ที่เดินทางจากลำโพงเข้าหูผู้ฟังโดยตรง , เสียงสะท้อน (Early Reflections) ที่อาจจะสะท้อนผนังด้านข้าง , ด้านบนหรือวัตถุใกล้ ๆ กับแหล่งกำเนิดเสียงและหักเหทิศทางเข้าสู่หูผู้ฟังในเวลาใกล้เคียงกับ Direct Sound

และถือว่าเสียงสะท้อนนี้มีผลสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะให้ได้เสียงดีภายในห้องฟัง เพราะมันจะไปรบกวนเสียงตรงได้อย่างมาก

Near-field

ถ้าสภาพอะคูสติกไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการเสริมหรือหักล้างกันของเฟสและย่านความถี่ส่งผลให้ Frequency Response และ Group Delay เสียหายได้

อย่างเช่นถ้าฝาผนังด้านข้างหรือด้านบนเกิดการสะท้อน Early Reflections มาถึงหูผู้ฟังห่างจากเสียง Direct ประมาณ 2 msec (2 มิลลิวินาที) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในห้องฟังส่วนใหญ่ ซึ่งค่า Delay 2 msec นี้เทียบเท่าความยาวคลื่น (360 องศาหรือ 0 องศา) ของความถี่ 500 Hz หรือครึ่งหนึ่งของความยาวคลื่น (180 องศา) ที 250 Hz

ความถี่ในย่านนี้จะเป็นย่านหลักของการฟังไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เครื่องดนตรีต่างๆ โดยถ้าเสียงสะท้อนจากกำแพงห้องหรือเพดานเข้าไปเสริมเฟสกับเสียงตรงในย่านประมาณ 500 Hz นี้จะเพิ่มระดับความดังขึ้นได้สูงสุดถึง 6 dB ตามทฤษฎี แต่ถ้ามันเกิดกลับเฟส (out of phase) กับเสียงตรงมันก็จะลดการตอบสนองความถี่หรือความดังในย่านนั้นลงได้เช่นกัน

Near-field
The Near Field Listening Position
By George Cardas

ดังนั้นในการออกแบบห้องฟังจึงต้องระวังจุดนี้ให้ค่อนข้างมากและเสียงชนิดที่สามที่เดินทางมาเข้าหูผู้ฟังคือเสียงก้อง (Reverberation) ที่ปกติจะวัดเวลาเมื่อระดับความดังลดระดับลงมาเหลือ 60 dB บางครั้งเรียกว่าค่า T60

เสียงก้องนี้จะเป็นการสะท้อนของเสียงอย่างไม่เป็นระดับ…จากวัสดุต่างๆ ภายในห้องเช่นเสียงวิ่งจากลำโพงวิ่งชนผนังกำแพงด้านหลังคนนั่งแล้วสะท้อนกลับมาด้านข้างแล้วค่อยย้อนกลับเข้ามาหาผู้ฟังเป็นต้น ซึ่งเสียงก้องนี้จะไม่ค่อยมีผลต่อการตอบสนองความถี่ของระบบมากนักเพราะระดับความดังที่ไม่สูงมาก แต่มันกำหนดบรรยากาศ ความเที่ยงตรงชัดเจนของเวทีเสียง

ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราขยับตัวเราเข้าไปนั่งฟังใกล้กับลำโพงมากๆ เราจะได้ยินเสียง Direct Sound มากขึ้นและลดผลของเสียงสะท้อน Early Reflections และเสียงก้อง Reverberation ลงได้ ซึ่งบริเวณนี้เราจะเรียกกันว่า Near-field Listening position

แต่ก็อย่าลืมว่าเราจะไม่สามารถนั่งฟังใกล้ลำโพงในลักษณะนี้ได้ ถ้าลำโพงที่ใช้มีขนาดใหญ่ทรงตั้งพื้นมีไดร์เวอร์หลายตัว การนั่งใกล้ตู้ลำโพงขนาดใหญ่จะทำให้ความถี่เสียงจากไดร์เวอร์แต่ละดอกยังไม่ผสมผสานกันออกมาเป็นแหล่งกำเนิดเสียงเดียว (Single point source)

ในระบบมอนิเตอร์เสียงในห้องบันทึกเสียงต่าง ๆ จึงต้องมีลำโพงมอนิเตอร์ขนาดเล็กอย่างน้อยหนึ่งคู่เอาไว้ตรวจสอบงานบันทึกต่างๆ ในลักษณะ Near field กันมานานหลายสิบปีแล้ว สามารถที่จะมอนิเตอร์เสียงร้องเสียงดนตรีได้ในเวลาอันสั้น ตัดผลของอะคูสติคที่จะเข้ามารบกวนเสียงที่กำลังบันทึกออกไปก่อน เพื่อบันทึกเสียงที่แท้จริงไม่ผ่านโปรเซสเซอร์เสียงใด ๆ (Dry) แล้วค่อยใช้ลำโพงขนาดใหญ่ในขั้นตอนการมอนิเตอร์ในภายหลัง

ดังนั้นที่เรามักจะหันลำโพงมอนิเตอร์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เพื่อลดผลของการรบกวนกับสภาพห้องเวลาที่เรานั่งฟังใกล้ๆ แบบ Near-field นั่นเอง