DAWN NATHONG
หลายท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า ชื่อของ Nakamichi คือหนึ่งในแบรนด์เครื่องเสียงระดับหัวแถวจากประเทศญี่ปุ่นช่วงยุค 80 ที่โด่งดังมีชื่อเสียงต่อเนื่องมาอย่างยาวนานรวมทั้งในบ้านเรา แม้ว่าช่วงหลังบริษัทจะผันตัวมาทำเครื่องเสียงรถยนต์ระดับไฮเอ็นด์แทนแล้วก็ตามที จวบจนถึงยุคที่บริษัทถูกซื้อกิจการต่อ เครื่องเสียงหลายต่อหลายรุ่นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท แอมปลิไฟเออร์ ก็ยังคงเป็นที่ต้องการและเสาะแสวงหาของเหล่านักสะสมและนักเล่นเสมอมา
เพราะปรัชญาการออกแบบของ Nakamichi คือการผลิตเครื่องเสียงที่ให้เสียงดีที่สุดโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เราจึงได้เห็นเครื่องระดับตำนานมากมาย ที่เอ่ยชื่อแล้วนักเล่นเครื่องเสียงรุ่นเก๋าต้องรู้จักทุกคน ไม่ว่าจะเป็น Dragon ซีรีส์ ที่มีทั้งเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท เครื่องเล่นซีดีแบบแยกชิ้น (แด็ค / ทรานสปอร์ต / ภาคจ่ายไฟ) หรือแอมปลิไฟเออร์ ระดับอ้างอิงอย่าง Niro ซีรีส์ เป็นต้น
อินทีเกรทแอมป์ Nakamichi Amplifier 1 เป็นหนึ่งในเครื่องเสียงที่ถูกผลิตขึ้นช่วงปี 1988 – 1990 ภายหลังจากที่ Nakamichi หมดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์วงจร STASIS ของเนลสัน พาส ในเครื่องหลายๆ รุ่น สตีฟ คัลลิสัน ดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบ จากศูนย์วิจัย Nakamichi ในแคลิฟอร์เนียร์ตอนนั้น ได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาวงจรขึ้นใหม่ เพื่อที่จะมาแทนที่วงจร STASIS ได้เป็นผลสำเร็จ และเป็นที่มาของวงจร HTA (Harmonic Time Alignement) อันยอดเยี่ยม
รายละเอียดที่น่าสนใจ
พระเอกของงานนี้ก็คือ Nakamichi Amplifier 1 ที่ใช้เทคโนโลยี HTA โดยการออกแบบวงจรภาคขยายที่มีความเพี้ยนของฮาร์โมนิก (Harmonic Distortion) สัมพันธ์สอดคล้องทางเวลา (Time-Aligned) กับรูปคลื่นของสัญญาณหลัก โดยปราศจากการเลื่อนเฟส (Phase-shifted) เมื่อสัญญาณจากภาคขยายมีเฟสที่ตรงกับความเพี้ยนของฮาร์โมนิกอย่างถูกต้อง สัญญาณจะกลบผลกระทบจากความเพี้ยนนั้นไปในตัว แต่เมื่อใดที่เกิดการเลื่อนเฟส หูคนเราจะรับรู้ได้ว่าเสียงมีความหยาบกระด้าง ไม่น่าฟัง ขาดมวลบรรยากาศและรายละเอียด
สิ่งนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการอธิบายได้ว่า เหตุใดแอมปลิไฟเออร์ บางตัว มีค่ากราฟความเพี้ยน THD (Total Harmonic Distrotion) ไม่สวยงาม แต่กลับถ่ายทอดรายละเอียดและน้ำเสียงบางย่านความถี่ออกมาไพเราะน่าฟังถูกหู มากกว่าแอมป์ที่มีค่า THD ต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่นพวกแอมป์หลอด มักจะให้น้ำเสียงย่านกลางแหลมที่ถูกหูคนฟังส่วนใหญ่ ขณะที่แอมป์โซลิตสเตทจะถ่ายทอดย่านความถี่ต่ำออกมาได้น่าฟังกว่า เป็นต้น
สตีฟ คัลลิสัน พบว่า ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเลื่อนของเฟสดังกล่าวข้างต้น เกิดจากการใช้วงจรป้อนกลับ (Feedback Loops) ที่อยู่ในแอมป์ทั่วไป ดังนั้น เขาจึงออกแบบวงจรขยาย HTA ภายใน Amplifier 1 ให้แต่ละสเตจ มีวงจรควบคุมการป้อนกลับแบบลบ (Negative Feedback) ของตัวเอง เพื่อลดระดับการใช้ฟีดแบ็คให้เหลือน้อยมากที่สุด แต่ยังคงทำงานได้ครอบคลุมตลอดทุกย่านความถี่
นอกจากนี้ ภาคปรีแอมป์ ยังเลือกใช้อุปกรณ์เกรดสูงแบบดีสครีตทั้งหมด เพื่อสามารถปรับจูนพารามิเตอร์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการ HTA และส่งผ่านสัญญาณต่อไปยังภาคขยายได้อย่างถึงที่สุด ภาคเอาท์พุทสเตจแบบความต้านทานต่ำ จ่ายกระแสได้สูง ใช้เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แปดตัวต่อขนานกัน หม้อแปลงและชุดตัวเก็บประจุขนาดใหญ่เกินตัว ทำให้จ่ายกระแสได้ถึง 28 แอมป์ ซึ่งเมื่อเทียบตัวเลขกำลังขับที่ระบุไว้ 80 วัตต์แล้ว ถือว่าสูงมาก
เลย์เอาท์ของวงจรแต่ละส่วนถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อป้องกันการรบกวนกันเอง รวมถึงแยกขดลวดจ่ายไฟอิสระในแต่ละส่วน ทั้งภาคปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ และวงจรภาคโทนคอนโทรล มีการใช้เทคโนโลยี Isolate Ground ของตัวเอง เพื่อรักษาจุดอ้างอิงของกราวด์สำหรับวงจรแต่ละภาคส่วน รวมถึงป้องกันสัญญาณรบกวนรั่วผ่านวงจรกราวด์ไปในตัว และทีเด็ดอีกอย่างที่ทำให้ Amplifier 1 มีความคุ้มค่าต่อราคามากยิ่งขึ้น คือภาคโฟโนสเตจที่ติดตั้งมาด้วยนั้นมีคุณภาพสูง ไม่แพ้โฟโนสเตจแบบแยกชิ้นระดับ 2-3 หมื่นบาท แถมยังให้มารองรับทั้งหัวเข็มแบบ MM และ MC เลย
สำหรับเครื่องเล่นซีดีเชนเจอร์ Nakamichi MB-1s เล่นได้สูงสุด 7 แผ่น ด้วยระบบ MusicBank System ใช้ภาคทรานสปอร์ตรุ่น SF-91 ภาคถอดรหัสแบบ 20 บิต โอเวอร์แซมปลิ้ง 8 เท่า ใช้ชิพถอดรหัสเบอร์ PCM1700P ใครที่เป็นแฟน Nakamichi อยากได้ซีดีเชนเจอร์คุณภาพดีมาสะสม แต่ไม่อยากเสี่ยงกับของมือสอง ถือว่าน่าสนใจ
ด้านหลังมีช่องดิจิทัลเอาท์พุทแบบโคแอคเชียลสำหรับอัพเกรดด้วย DAC ภายนอก มีสวิตช์ปิด-เปิดการใช้งานช่องดิจิทัลเอาท์พุท (ปิดเมื่อไม่ใช้ ช่วยให้เสียงดีขึ้น) จับคู่กับ Nakamichi Amplifier 1 ได้อย่างลงตัว อีกทั้งดีไซน์หน้าตาของทั้งสองเครื่องมีความร่วมสมัยดี งานประกอบเนี้ยบแข็งแรงไม่ต่างจากเครื่องฝั่งยุโรป โดยยังคงมีปุ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่หน้าปัดเครื่องครบถ้วน พร้อมรีโมทคอนโทรลคุณภาพสูงแข็งแรง สายไฟเข้าเครื่องทั้งสองเป็นแบบสองขา ติดตายมาจากโรงงาน ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้
ผลการลองฟัง
ซิสเต็มที่ทางร้านจัดเตรียมไว้ถูกเซ็ตอัพแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยต้นทางคือ เครื่องเล่นซีดีเชนเจอร์ Nakamichi MB-1s ต่อผ่านสายสัญญาณอะนาลอกของ Audience ไปเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ Nakamichi Amplifier 1 และต่อสายลำโพง Audience แบบซิงเกิ้ลไวร์ไปยังลำโพงตั้งพื้นสามทางรุ่น Twenty5.26 ของ PMC
ตัวอินทีเกรทแอมป์นั้นยังใหม่แกะกล่อง เพิ่งจะเอามาตั้งเปิดใช้งานไม่กี่ชั่วโมง ตอนแรกที่ผู้เขียนเข้ามาในห้องฟังของโชว์รูมนั้น ยังอดแปลกใจ ว่าทำไมทางร้านแบกน้ำหนักเลือกลำโพงรุ่นนี้มาเดโมกับแอมป์ 80 วัตต์ แถมยังเป็นอินทีเกรทแอมป์เสียด้วย เพราะเท่าที่เคยฟังมาลำโพงรุ่นนี้ต้องการแอมป์ใหญ่พอสมควรถึงจะรีดคุณภาพออกมาได้หมดจด ซึ่งก็ต้องเป็นเพาเวอร์แอมป์หลักแสนสองแสนขึ้นไปเสียส่วนใหญ่ถึงจะสมน้ำสมเนื้อ แต่ทันทีที่เสียงเพลงหลุดลอยออกมาก็เข้าใจถึงความไม่ธรรมดาของอินทีเกรทแอมป์รุ่นนี้ได้ทันที
น้ำเสียงสไตล์อนาล็อกกึ่งวินเทจ
ประการแรกคือมวลเสียงที่มีความเข้มข้น เต็มอิ่มดีมาก ผิดไปจากที่คาดไว้พอสมควร ไม่ค่อยได้ยินเนื้อเสียงที่เข้มข้นขนาดนี้จากลำโพง Twenty5.26 มาก่อน อีกทั้งยังมีความเป็นอะนาลอกเจืออยู่สูงมาก คือมีทั้งความเข้มข้นของเนื้อเสียง ไร้ขอบคมแข็ง และมีความต่อเนื่องลื่นไหล บุคลิกเสียงออกจะค่อนไปทางแอมป์รุ่นวิทเทจอยู่บ้างในบางแง่มุม
ในด้านความอิ่มหนา ฟังสบาย แต่ที่ Amplifier 1 ทำได้เหนือกว่า คือให้ความโปร่งโล่ง มีช่องว่างช่องไฟอิสระชัดเจน มีไดนามิกที่สดสมจริงด้วยไปพร้อมกัน เรียกว่าผสานเอาคุณสมบัติเด่นๆ ของแอมป์ยุคเก่าและใหม่เอาไว้ได้อย่างลงตัว พอเหมาะพอเจาะ เป็นรายละเอียดและน้ำเสียงที่ไม่ว่าใครที่ได้ฟัง ทั้งนักเล่นมือใหม่และมือเก่า หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยเล่นเครื่องเสียง ก็จะตกหลุมรักไปกับมันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ต้องขอให้เครดิตหูของคนจูนเสียงไว้ด้วยจริงๆ เพราะมันให้โทนัลบาลานซ์ที่กลมกล่อมลงตัว เป็นธรรมชาติดีแท้ ไม่ว่าจะฟังเพลงแนวไหน ก็จะรู้สึกอิ่มเอมในอารมณ์ไปเสียหมด
มีฮาร์โมนิกความกังวานรอบตัวเสียงในทุกย่านความถี่คล้ายแอมป์หลอด ฟังแล้วไม่แห้งหรือบาง ไม่รู้สึกว่าขาดโน่นนิดนี่หน่อย เวลาฟังเสียงเครื่องดนตรีแต่ละประเภท หรือเสียงร้องทั้งชายและหญิง จะรู้สึกเลยว่ามันควรจะออกมาเป็นอย่างนี้จริงๆ ถึงจะพูดไม่ได้เต็มปากว่าซีดีและอินทีเกรทแอมป์คู่นี้ เป็นซิสเต็มที่เน้นความเที่ยงตรงแบบมอนิเตอร์ แต่สีสันความน่าฟัง และความเป็นดนตรีที่มันถ่ายทอดออกมานั้น ผู้เขียนให้คะแนนเต็มร้อย ไม่ด้อยไปกว่าซิสเต็มระดับอ้างอิงหลายชุดที่เคยฟังมาเลยไม่ว่าจะหลอดหรือโซลิดสเตท
กำลังขับต่อเนื่อง 80 วัตต์ที่ระบุมานั้นเรียกว่าเกินพอ เพราะดูจากสเปคแล้วมีกำลังสำรองสวิงได้ชั่วขณะถึง 180 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม และ 270 วัตต์ ที่ 2 โอห์ม การที่สามารถขับลำโพงตั้งพื้นสามทางคู่นี้ได้อย่างหมดจดก็เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดี ดังนั้นลำโพงวางหิ้งทั่วไปก็หายห่วง ต้องบอกว่าเหมือนฟังกับชุดปรี-เพาเวอร์แยกชิ้นกำลังขับสูงๆ มากกว่า เพราะมันสกัดชิ้นดนตรีให้หลุดลอยออกไปรอบตัวลำโพงได้อย่างน่าทึ่ง
รูปวงมีความโอ่อ่า แถมตรึงตำแหน่งได้อย่างนิ่งสนิท ไม่ว่าฟังในระดับความดังมากหรือน้อยก็ยังคงรักษาความนิ่งเอาไว้ได้ไม่วูบวาบ แถมได้ยินรายละเอียดครบชัด แสดงว่าภาคจ่ายไฟนั้นถึงจริงๆ เป็นวัตต์แท้ที่ไม่ได้ยกสเปคตัวเลขมาให้ดูเกินจริงแม้แต่น้อย เสียงเบสนั้นทรงพลังและลงลึกได้ลึกโดยไม่แผ่วปลาย ควบแน่นเป็นตัวตน และมีไดนามิกความฉับพลันที่ดี เวลาเปิดแทร็คที่โชว์เสียงกลอง ให้อารมณ์สดใกล้เคียงการฟังเสียงกลองจริงๆ มาก
ยิ่งฟังไปนานเข้า ก็ยิ่งทึ่งกับพลังอักฉีดที่เหลือล้นของแอมป์ตัวนี้เสียจริงๆ คุณเอก ผจก.ร้าน เล่าให้ฟังสนุกๆ ว่า มีลูกค้าเอาเพาเวอร์แอมป์รุ่นดัง มาฟังเอบีเทสต์เทียบกันแล้วถึงกับอึ้งเพราะกินกันไม่ลงเลยทีเดียว
ถามว่าแล้วเทียบกับแอมป์ในยุคปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนขอแยกตอบเป็นสองประเด็น คือหนึ่งขึ้นกับรสนิยมการฟัง หากเป็นนักเล่นที่ชอบรายละเอียดแบบหยุมหยิม ชอบความใสสะอาด โปร่งทะลุของตัวเสียง และไดนามิกทรานต์เชียนต์ที่สดฉับพลัน ฟังแล้วคึกคัก หรือชอบความเที่ยงตรงไร้สีสัน ก็อาจไม่ถูกใจเมื่อได้ฟังซิสเต็มนี้ สองคือซิสเต็มนี้เป็นการจับคู่กันระหว่างฟร้อนต์เอ็นด์และภาคขยายที่มาจากยุคเดียวกัน แถมเป็นยี่ห้อเดียวกันเสียด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่รายละเอียดและน้ำเสียงจะส่งเสริมกันได้อย่างลงตัว
แต่หากนำไปจับคู่กับฟร้อนต์เอ็นด์คนละยุค เช่น เอามิวสิคเซิฟเวอร์ที่เล่นไฟล์ไฮเรสมาใช้งานร่วมด้วย ผลลัพธ์ก็อาจเปลี่ยนไป เพราะแบนด์วิดธ์และไดนามิกเรนจ์ที่กว้างขวางกว่าฟอร์แมตมาตรฐานซีดีเร้ดบุ๊ค เมื่อมาจับคู่กับ Nakamichi Amplifier 1 จะเป็นอย่างไรนั้น ส่วนตัวผู้เขียนไม่ขอฟันธง เนื่องจากยังไม่ได้ทดลอง และด้วยการฟังนอกสถานที่แบบนี้ ไม่สะดวกในการยกย้ายอุปกรณ์เสลับไปมาเท่าไรนัก
แต่มีอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจ หากท่านมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยแล้ว แนะนำว่าอย่าพลาดทดสอบกับภาคปรีโฟโนของแอมป์ตัวนี้ ไม่ว่าท่านจะใช้เทิร์นระดับใด อาจไม่มีความจำเป็นต้องขยับไปเล่นปรีโฟโนแยกชิ้นราคาแพงอีกเลยก็เป็นได้
สรุป
ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เครื่องเสียงที่ดีนั้น ต้องให้ความไพเราะน่าฟังได้โดยที่เราไม่ต้องไปพิถีพิถันทำอะไรกับมันมากมายเสียก่อน คือต้องฟังออกได้ว่ามีแววที่ดีอยู่บ้างในระดับหนึ่ง มิใช่จะต้องวุ่นวายหาแอคเซสเซอรี่หาชั้นวาง หาสายดีๆ มาเชื่อมต่อถึงจะฟังได้ไพเราะถูกใจ จริงอยู่ที่แอคเซสเซอรี่นั้นก็มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพเสียง แต่เพียงแต่เราต้องรู้จักใช้อย่างมีศิลปะ และดูตามความเหมาะสม หากเนื้อแท้ไม่ดีจริงแล้วต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมเพื่อรีดศักยภาพออกมานั้น ออกจะดูเป็นการตลาดของพ่อค้ามากเกินไปสักนิด และมีส่วนทำให้นักเล่นหลายคนหลงประเด็นกันไปไกล
ซิสเต็ม Nakamichi Amplifier 1 และ MB-1s คือคำตอบที่ดี และใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงความเป็นดนตรีกับซิสเต็มอื่นได้ เพียงแต่ทุกท่านยังไม่จำเป็นต้องรีบปักใจเชื่อผู้เขียน อยากให้ท่านไปพิสูจน์ซิสเต็มนี้กับหูตัวเองที่โชว์รูมตรง CDC เสียก่อน จะให้ดียกแอมป์ของท่านไปลองเทียบกันด้วยเลย จะได้รู้ว่าเป็นของจริง ไม่ต้องพูดเยอะอย่างที่จั่วหัวไว้หรือไม่
รายละเอียดด้านเทคนิค
Nakamichi Amplifier 1
- Power Output: 80 Watts Per Channel Into 8Ω (stereo)
- Frequency Response: 5Hz to 80kHz
- Total Harmonic Distortion: 0.1%
- Input Sensitivity: 0.125mV (MC), 2.5mV (MM), 150mV (line)
- Signal to Noise Ratio: 70dB (MC), 82dB (MM)
- Output: 150mV (line)
- Speaker Load Impedance: 4Ω to 16Ω
- Dimensions: 430 x 125 x 360mm
- Weight: 15kg
- Accessories: Remote Control
Nakamichi MB-1s
- Disc Format: CD (7 Disc Multi Play)
- Digital Converter: PCM1700P, 20-bit, 8 x Oversampling
- CD Mechanism: SF-91
- Frequency Response: 20Hz to 20kHz
- Dynamic Range: 95dB
- Signal to Noise Ratio: 95dB
- Channel Separation: 90dB
- Total Harmonic Distortion: 0.01%
- Line Output: 1.8V
- Digital Outputs: Coaxial
- Dimensions: 430 x 99 x 270mm
- Weight: 5.5kg
- Accessories: Remote Control