What HI-FI? Thailand

NAD M10 BluOS Streaming Amplifier

DAWN NATHONG

M10 เป็นสินค้าใหม่ของทาง NAD ซึ่งเปิดตัวในต่างประเทศประมาณช่วงปีที่แล้ว มาพร้อมกับสตรีมมิ่งแด็ครุ่น C 658 และอินทิเกรตแอมป์รุ่น D 3045 สินค้าทั้งสามรุ่นเพิ่งจะวางจำหน่ายในบ้านเราสด ๆ ร้อน ๆ และสร้างกระแสได้ดีทีเดียว

M10 เป็นการต่อยอดจากสตรีมมิ่งแอมปลิฟายเออร์ Bluesound POWERNODE 2i ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือของ NAD เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้ความพรีเมี่ยมมากขึ้น ให้น้ำเสียงที่มีความเป็นไฮเอ็นด์มากขึ้น โดยที่ยังคงฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายแบบเดียวกัน และควบคุมการทำงานผ่านแอพ BluOS บนมือถือแทนรีโมทคอนโทรล

ทางวิศวกรของ NAD ก็เลยดึงเอาเทคโนโลยีจาก NAD Master ซีรียส์ซึ่งเป็นซีรียส์ไฮเอ็นด์ของ NAD มาใช้ จนทำให้ M10 กลายเป็นเครื่องเสียงแบบ All-in-one ที่ต้องการแค่ลำโพงคู่เดียว คุณก็จะได้ชุดเครื่องเสียงที่มีขนาดกะทัดรัด มีรูปลักษณ์แบบเครื่องเสียงไลฟ์สไตล์ แต่น้ำเสียงจัดอยู่ในระดับไฮเอ็นด์ สังเกตจากรางวัลที่ M10 ได้รับจากสื่อต่างประเทศตั้งแต่ช่วงเปิดตัวนั้นไม่น้อย

รายละเอียดที่น่าสนใจ

หน้าตาของ M10 ออกแบบเป็นกล่องไซส์ขนาดครึ่งนึงของเครื่องมาตรฐาน นัยว่าต้องการดีไซน์ให้ตัวเครื่องนั้นมีขนาดกะทัดรัดเพื่อตอบโจทย์การใช้งานแบบไลฟ์สไตล์ เวลาวางบนชั้นแล้วดูเหมือนเป็นของตกแต่งบ้านไปในตัว ไม่สะดุดตาเหมือนเครื่องเสียงแยกชิ้นตามปกติ โครงสร้างของทั้งหมดเป็นอลูมิเนียมสีออกดำด้าน ลบเหลี่ยมให้มีความโค้งมน ด้านบนกับแผงหน้าปิดทับด้วยกระจก Gorilla Glass ซึ่งมีความแข็งแรงและทนทานต่อรอยขีดข่วนแบบเดียวกับมือถือ โดยซ่อนปุ่มการทำงานเอาไว้บนหน้าจอแสดงผล TFT แบบทัชสกรีนขนาด 7 นิ้วซึ่งอยู่ด้านหน้า และฟังก์ชั่นการปรับแต่งทั้งหมดจะเป็นอันเดียวกับที่อยู่บนแอพ BluOS บนมือถือ

ภายใน M10 ใช้เทคโนโลยีวงจรขยายคลาสดีที่เรียกว่า HybridDigital ซึ่งเป็นโมดูล Hypex nCore  ที่วิศวกรของ NAD นำมาปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของแอมป์คลาสดีทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องของเสียงที่ออกไปทางโทนเย็น เสียงแหลมจะออกกร้านๆ หน่อย ฟังนานๆ ไม่ค่อยสบายหู รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายกำลังสำรองให้สามารถขับลำโพงที่มีความต้านทานสลับซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ดูจากตัวเลขกำลังขับ 100 วัตต์ที่ 8 และ 4 โอห์ม แต่สามารถสวิงชั่วครู่ขึ้นไปเป็น 160 วัตต์ที่ 8 โอห์มและ 300 วัตต์ที่ 4 กันเลยทีเดียว

ตอนที่ลองใช้งานกับลำโพงตู้ปิดอย่าง NHT 1.5 ก็ขับทุ้มออกมาได้เป็นลูก ๆ และมีน้ำหนักทิ้งตัวสวยงาม ไม่ต่างจากการใช้ชุดปรี-เพาเวอร์ขับ ภาค DAC ในตัว M10 เลือกใช้ชิพ Sabre ESS 9028 ความละเอียด 32 bit / 384 kHz

นอกจากนี้ M10 ยังเป็นเป็นอินทิเกรตแอมป์ไม่กี่รุ่นที่ติดตั้งภาครับสัญญาณบลูทูธ aptX HD มาให้ซึ่งมีคุณภาพเหนือกว่า aptX ธรรมดาตรงรองรับความละเอียดของข้อมูลได้สูงถึง 24bit/48kHz และมีแบนวิธการรับส่งข้อมูลสูงกว่า aptX ปกติ นอกจากนี้ยังสามารถรับ-ส่งข้อมูลแบบแบบ Two-way ทำให้ใช้งาน M10 ร่วมกับหูฟังทรูไวร์เลสได้

เมื่อใช้เชื่อมต่อบลูทูธกับมือถือที่รองรับ aptX HD ฟังกับการสตรีมมิ่งแบบไฟล์ Lossless ก็จะได้คุณภาพเสียงในระดับที่ดีมาก ใกล้เคียงกับการฟังซีดีเกินคาด คือมีรายละเอียดของเสียงชัดเจนและความนิ่งของเสียงที่ต่างกับบลูทูธธรรมดาแบบคนละเรื่อง สังเกตว่า M10 จะไม่มีช่องดิจิทัลอินพุตแบบ USB มาด้วยต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่านสาย LAN เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้สำหรับคนใช้ iOS M10 สตรีมผ่าน Apple Airplay 2 ได้เลย ส่วนของสตรีมมิ่งเซอร์วิสในตัว M10 ต้องบอกว่าให้มาแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็น Tidal ซึ่งรองรับการเล่น MQA, Roon Ready, Spotify connect, Deezer, Qobuz รวมทั้งพวก internet Radio ต่างๆ รวมแล้ว 20 กว่ารายการเรียกว่าฟังกันได้ทั้งวันทั้งคืน

Dirac Live Room Correction

และที่ถือเป็นทีเด็ด คือ M10 ใส่ฟังก์ชั่น Dirac Live Room Correction พร้อมไมค์วัดเสียงมาให้ด้วย เหมาะสำหรับห้องที่มีปัญหาบางย่านความถี่ที่จัดการได้ยาก หรือไม่อยากจะติดตั้งอุปกรณ์ปรับอคุสติกส์ในห้องให้เสียบรรยากาศ หลังจากที่เราเซ็ตอัพลำโพงในจุดที่คิดว่าลงตัวแล้ว ก็สามารถใช้ Dirac Room Correction เพื่อปรับชดเชยย่านความถี่ที่มีปัญหาให้ราบเรียบขึ้นได้

Dirac Live ที่ M10 ให้มาจะเป็นเวอร์ชั่น Lite ที่สามารถปรับแต่งได้เฉพาะย่านความถี่ต่ำ (เวอร์ชั่นเต็มต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 99 USD) ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนทดลองใช้ดูหากห้องฟังของท่านไม่ได้มีปัญหากับย่านความถี่กลางแหลมมากนัก (ส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น) การปรับแต่งของเวอร์ชั่น Lite ก็อาจเพียงพอแล้ว โดยเน้นไปโฟกัสไปที่ช่วงความย่านถี่ต่ำ ที่เป็นปัญหาจริง ๆ ของห้อง (ส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงแถว ๆ 60 – 250 เฮิร์ตซ์) แต่ต้องอย่าลืมว่า Dirac Live ไม่ใช่ยาวิเศษ การปรับแต่งที่ขาดทักษะความเข้าใจนั้น ผลลัพท์มักออกมามักไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร

การจะใช้ฟังกชั่น Dirac Live ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เขียนแนะนำว่าควรจะเซ็ตลำโพงในห้องให้อยู่ในตำแหน่งที่เราพอใจมากที่สุดเสียก่อน จากนั้นค่อยใช้ไมค์วัดเสียงวางบนขาตั้ง และปรับตำแหน่งให้ตรงกับตำแหน่งนั่งฟังและอยู่ในระนาบเดียวกับหูผู้ฟัง ก่อนทำการคาลิเบรทระดับความดังของเสียงเทสโทนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ไมค์สามารถวัดค่าแต่ละตำแหน่งออกมาได้อย่างถูกต้องมากที่สุด จากนั้นจึงทำการเลือกปรับแต่งเฉพาะย่านความถี่ที่มีปัญหาจริง ๆ เท่านั้น

ท่านสามารถเซฟเป็น Preset เก็บไว้หลายอัน และสามารถทดลองปิด-เปิด เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพเสียงระหว่างแต่ละ Preset กับการใช้และไม่ใช้ Dirac Live ได้ทันที ซึ่งถ้าทำการปรับแต่ง Dirac Live เวอร์ชั่น Lite อย่างถูกต้อง จะช่วยให้เสียงเบสทั้นมีความสะอาด ราบเรียบ กระชับเก็บตัวดีขึ้น ส่งผลถึงย่านความถี่กลางแหลมที่สะอาด ชัดเจนขึ้นไปด้วย

การติดตั้งและเซ็ตอัพ

ผู้เขียนเลือกใช้การเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คเข้ากับ M10 ผ่านสาย LAN แทนการเชื่อมต่อผ่าน WiFi เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่เต็มร้อยที่สุด จากนั้นทำการเปิดแอพ BluOS บนมือถือเพื่อทำการเชื่อมต่อ M10 เข้ากับเน็ตเวิร์คภายในบ้านโดยใช้เวลาไม่นาน หลังจากนั้น M10 จะเริ่มทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดโดยอัตโนมัติ (ตรงนี้จะใช้เวลาสักพัก) แล้วเครื่องจะทำการรีสตาร์ทตัวเองใหม่อีกรอบเป็นอันเสร็จพิธี

หลังจากนั้นให้ท่านทำการล็อกอินเพื่อเข้าใช้บริการสตรีมมิ่งเซอร์วิสต่าง ๆ ที่ท่านได้ทำการลงทะเบียนไว้ ในที่นี้ของผู้เขียนคือ TIDAL และ Spotify ในส่วนของการเชื่อมต่อ NAS เพื่อเข้าถึงไฟล์เพลงนั้นก็ใส่ที่อยู่โฟลเดอร์ลงไปเพื่อให้แอพทำการสแกนเพลงทั้งหมด ใช้เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเพลงที่มีอยู่ แต่มีข้อสังเกตอย่างนึงคือ M10 ยังไม่รองรับการเล่นไฟล์ DSD จำเป็นต้องมีการ Convert ไฟล์เป็น WAV ผ่านโปรแกรม BluOS บน PC เสียก่อนจึงจะสามารถเล่นได้

หมายเหตุ M10 ไม่มีเมนสวิตช์ในการปิด-เปิดเครื่อง แต่จะเข้าสู่โหมดสแตนด์บายโดยอัตโนมัติหลังจากไม่มีการใช้งานสักระยะ (สามารถตั้งระยะเวลาได้) หรือเข้าสู่โหมดสแตนด์บายทันทีโดยการกดปุ่ม Standby ที่อยู่หลังเครื่องค้างไว้ประมาณ 3 วินาที

ผลการลองฟัง

M10 ยังคงความโดดเด่นในเรื่องของโทนัลบาล้านซ์ที่รักษาความราบเรียบเป็นกลางของทั้งสามย่านทุ้ม-กลาง-แหลมได้เป็นอย่างดี รวมถึงความสงัดของพื้นเสียงและความใสสะอาดที่ติดหู ตามสไตล์ของ NAD ยุคใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้ภาคขยายคลาสดี Hypex nCore น้ำเสียงโดยรวมนั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ NAD คลาสสิคซีรีส์อย่าง C 368 ที่เคยทดสอบไปก่อนหน้านี้ แต่จุดเด่นที่ M10 เหนือชั้นกว่าคือความสามารถในการควบคุมลำโพงในทุกย่านเสียงโดยเฉพาะย่านทุ้ม สามารถดีดเสียงทุ้มออกมาเป็นลูก ๆ จากลำโพงตั้งพื้นได้อย่างสบาย มีโฟกัสย่านทุ้มที่คมชัดเป็นตัวตนและให้ความสะอาดไม่คลุมเครือมากกว่าอย่างชัดเจน ไม่ต่างจากการขับด้วยปรีเพาเวอร์แยกชิ้นสักกี่มากน้อย ถ้ามองในแง่ที่ว่า M10 เป็นแอมป์แบบออล-อิน-วันแล้ว น่าทึ่งครับ

เมื่อแอมป์ควบคุมย่านทุ้มได้ดี ความสะอาดของช่องว่างช่องไฟก็จะตามมา M10 ให้เวทีเสียงที่มีความโปร่งโล่ง ขยายอาณาเขตเลยลำโพงทั้งสองข้างออกไปได้มากทีเดียว สกัดชิ้นคนตรีให้หลุดลอยออกมาจากพื้นหลังได้ดี ไม่มั่วหรือสับสน เกิดเป็นเวทีเสียงที่มีความเป็นสามมิติอย่างชัดเจน ให้รูปวงที่มีความสมดุลทั้งด้านสูง-กว้าง-ลึก

จุดเด่นอีกอย่างของ M10 คือมีความอบอุ่นของเสียงติดปลายนวมที่ฟังแล้วเกิความผ่อนคลายไม่ล้าหู แทบไม่ต่างจากแอมป์คลาสเอบีชั้นดี แต่เหนือชั้นด้วยความสามารถในการถ่ายทอดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยที่ละเอียดอ่อนออกมาได้อย่างน่าฟังลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ปราศจากความแข็งกระด้างของน้ำเสียง ให้จังหวะจะโคนที่แม่นยำ เพลงจังหวะคึกคักก็ฟังสนุก เพลงช้าอ้อยสร้อยก็กินใจ

สองสิ่งนี้ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมในการรับฟังบทเพลงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะใครที่ชอบฟังเพลงขับร้องแบบลึกซึ้งกินใจ M10 นี่เป็นแอมป์ที่ให้เสียงคนร้องได้หวานเที่ยงตรงแบบไม่ใส่สีสันเกินจริงได้อย่างโดดเด่น

นอกจากนี้ จากการลองจับคู่กับลำโพงทั้งความไวต่ำ ลำโพงวางหิ้ง และลำโพงตั้งพื้นที่ต้องการกำลังขับสูงสักนิด ไม่พบว่า M10 มีปัญหาเรื่องการจับคู่แต่อย่างใด สามารถไปกันได้ดีกับลำโพงทั่วไปในท้องตลาดในพิกัดราคาไม่เกิน 1 แสนบาท ถือว่า M10 มีความยืดหยุ่นในการเลือกจับคู่ลำโพงต่าง ๆ สูงทีเดียว มีบุคลิกส่วนตัวน้อยทำให้ถ่ายทอดบุคลิกเสียงของลำโพงแต่ละรุ่นออกมาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้เขียนยังพบว่า M10 ไม่เรื่องมากในการเลือกอุปกรณ์เครื่องเคียงอย่างสายไฟเอซีเท่าไรนัก แสดงถึงประสิทธิภาพของภาคจ่ายไฟในตัว M10 ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี

สรุป

M10 เป็นตัวอย่างที่ดีของเครื่องเสียงแบบออล-อิน-วันที่ไม่ประหยัดคุณภาพ ถ่ายทอดคุณสมบัติที่ดีของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ออกมาได้สมราคา มีความเป็นกลางในน้ำเสียงสูง ไม่แต่งแต้มสีสันเกินจริงและถ่ายทอดบุคลิกเสียงของอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันออกมาได้ชัดเจน รวมทั้งทั้งมีฟังก์ชั่นสุดล้ำอย่าง Dirac Live ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านอะคูสติกส์ แทนที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ปรับอคูสติกส์เต็มห้อง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีห้องฟังที่เป็นสัดส่วน

เหมาะกับใครที่ต้องการเครื่องเสียงที่มีความเป็นไลฟ์สไตล์สูง ยืดหยุ่นในการปรับแต่ง แต่ให้น้ำเสียงแบบออดิโอไฟล์อย่างแท้จริง

รายละเอียดด้านเทคนิค

ขอขอบคุณ บริษัท Conice Electronic โทร. 02 276 9644 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ


Exit mobile version