Montana Mini Monitor

0

นิตพินัย สุบรรณเสณี

Montana Mini Monitor ลำโพงสองทางขนาดเล็กอเนกประสงค์ คุณภาพระดับ Hi-End ใช้งานได้ตั้งแต่เป็นฟังเพลงสองแชนแนลจนถึงเป็นคู่หลังหรือ Atmos ในระบบเซอราวด์

คุณสมบัติ

  • วูฟเฟอร์สั่งทำพิเศษจาก SEAS ขนาด 5.25 นิ้ว
  • ทวีตเตอร์สั่งทำพิเศษจาก SEAS ขนาด 1 นิ้ว
  • การตอบสนองความถี่ 45-30 kHz  3 dB
  • อิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม (แปรผันจาก 6-20 โอห์ม)
  • ตู้จูนความถี่ไว้ที่ 48 Hz
  • จุดตัดความถี่ 2,300 Hz
  • น้ำหนัก 11.5 กิโลกรัมต่อตู้
  • ขนาด 46 X 22.5 X 25 เซนติเมตร

ผลการทดสอบ/ทดลองใช้งาน

Montana Mini Monitor เป็นผลงานรุ่นน้องเล็กของ PBN Audio ใน Sandiago California โดยผู้ก่อตั้งที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลำโพงและออดิโออิเล็กทรอนิกส์ Peter B. Noerbaek ซึ่งตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาลำโพง Montana กวาดรางวัลจากวารสารเครื่องเสียงระดับไฮเอนต์ต่างๆ มามากมาย เคยติดหนึ่งในห้าอันดับระบบลำโพงเสียงดีที่สูงในงาน CES 2014

การออกแบบลำโพงเสียงดีคุณภาพสูงเป็นที่รู้กันในแวดวงออดิโอว่าไม่ใช่งานหมูๆ มันถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่สุดในระบบเสียงของเราและเป็นอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าอันสลับซับซ้อนให้เป็นพลังงานเสียงให้เราได้ฟังกัน เราอาจจะต้องใช้สมาธิเป็นอย่างสูงในการเปรียบเทียบเครื่องเล่น CD หรือเครื่องขยายเสียงว่าคุณภาพเสียงดีมาก ดีน้อย เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่กับลำโพงเราสามารถฟังความแตกต่างออกทันทีเปิดประตูเข้ามาในห้อง (ถ้าหูคุณฟังไม่ออกว่าแตกต่างกันต้องถือว่าคุณโชคดีมากให้รีบซื้อรุ่นที่ถูกที่สุดเข้าห้องฟังคุณได้เลย)

จึงไม่น่าแปลกใจว่านักเล่นที่มีประสบการณ์จะใช้เวลาและงบประมาณส่วนใหญ่ในการลงทุนกับระบบลำโพงเป็นหลัก เพราะมันเป็นตัวแปรหลักในการกำหนดน้ำเสียงแนวเสียง และคุณภาพเสียงโดยรวมในระบบของคุณ

ลองดูว่าเสียงดนตรีดังเบาจากเครื่องดนตรีสารพันชิ้นความกว้างของด้านความถี่เสียงร่วมสิบ Octave จะต้องถูกขับผ่านลำโพง ซึ่งมีอุปกรณ์ภายในเพียงไม่กี่ชิ้นให้ได้เสียงที่สมจริงใกล้เคียงกับตอนบันทึกมาให้มากที่สุด ถ้าใครทำได้เหมือนจริงราวกับมีนักดนตรีมาบรรเลงอยู่ตรงหน้าเปรียบเสมือนเขากำลังรังสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ของโลกเพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งทีเดียว

ดังนั้นเราจึงได้เห็นรูปแบบของลำโพงที่ถูกออกแบบมามากมายหลายชนิด ขนาดประเภท แน่นอนว่าคงจะไม่มีลำโพงคู่ใดจะดีที่สุดสำหรับห้องคุณไปเสียทุกอย่าง ลำโพงที่ให้เสียงได้ดังไดนามิกสมจริง การตอบสนองความถี่กว้างขนาดของตู้คงไม่เล็กนักและต้องการขนาดห้องฟังที่เหมาะสม ลำโพงที่ให้มิติเวทีเสียงได้กว้างเป็น 3 มิติ ด้านเสียงร้อง เสียงกลางโดดเด่นก็มักจะมาจากลำโพงที่มีขนาดตู้เล็ก ซึ่งจะจำกัดการตอบสนองความถี่ต่ำและย่านไดนามิกเป็นธรรมชาติของมัน

ดังนั้นการเลือกลำโพงให้ตรงกับความต้องการของเราไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย และเป็นเรื่องปกติที่นักเล่นเครื่องเสียงอย่างเอาจริงเอาจังจะมีลำโพงที่ใช้ฟังเพลงมากกว่าหนึ่งคู่ เพื่อเลือกสลับสับเปลี่ยนให้ใช้งานตรงกับแนวเพลงหรือห้องฟังให้เหมาะสมที่สุด

Montana Mini Monitor ลำโพงอเนกประสงค์

สำหรับลำโพง Montana ที่นำมาทดสอบในเล่มนี้เป็นลำโพงขนาดเล็กออกแบบให้ใช้งานได้อเนกประสงค์เป็นรุ่นเล็กสุดคือรุ่น Mini Monitor ซึ่งปกติ Montana จะเน้นลำโพงขนาดใหญ่ทรงสูงวางนั้นหรือ Tower มีรุ่นที่มีขนาดเล็กวางหิ้งหรือวางบนขาตั้งอยู่สองรุ่นคือ Mini Monitor กับรุ่นที่ใหญ่กว่าเล็กน้อยคือ M2 Monitor ซึ่งสามารถนำมาใช้งานเป็นลำโพงฟังเพลงคุณภาพสูงในระบบสเตอรีโอสองแชนแนลหรือนำไปใช้เป็นลำโพงดูหนังสำหรับแชนแนลเซอราวด์ หรือ Atmos ได้เป็นอย่างดี

Mini Monitor ยังสามารถนำมาใช้งานในลักษณะฟังระยะใกล้ (Nearfield) ได้เป็นอย่างดีเพื่อลดผลของอะคูสติกที่ไม่พึงประสงค์ของห้องราวประกบได้ด้วย

เรื่องของอะคูสติก

พูดถึง Nearfield เลยขอกล่าวถึงอะคูสติกในห้องเล็กน้อยเพื่อสำหรับผู้เริ่มต้นที่สนใจเป็นข้อมูลเบื้องต้น คือในห้องใดๆเสียงจะเดินทางจากแหล่งกำเนิด (ซึ่งในที่นี้คือลำโพง) มาถึงหูผู้ฟังอย่างน้อย 3 รูปแบบด้วยกันคือ เสียงตรง (Direct Sound) ที่เดินทางจากลำโพงเข้าหูผู้ฟังโดยตรง , เสียงสะท้อน (Early Reflections) ที่อาจจะสะท้อนผนังด้านข้าง , ด้านบนหรือวัตถุใกล้ๆกับแหล่งกำเนิดเสียงและหักเหทิศทางเข้าสู่หูผู้ฟังในเวลาใกล้เคียงกับ Direct Sound และถือว่าเสียงสะท้อนนี้มีผลสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะให้ได้เสียงดีภายในห้องฟัง เพราะมันจะไปรบกวนเสียงตรงได้อย่างมาก

ถ้าสภาพอะคูสติกไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการเสริมหรือหักล้างกันของเฟสและย่านความถี่ส่งผลให้ Frequency Response และ Group Delay เสียหายได้ อย่างเช่นถ้าฝาผนังด้านข้างหรือด้านบนเกิดการสะท้อน Early Reflections มาถึงหูผู้ฟังห่างจากเสียง Direct ประมาณ 2 msec (2 มิลลิวินาที) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในห้องฟังส่วนใหญ่ ซึ่งค่า Delay 2 msec นี้เทียบเท่าความยาวคลื่น (360 องศาหรือ 0 องศา) ของความถี่ 500 Hz หรือครึ่งหนึ่งของความยาวคลื่น (180 องศา) ที 250 Hz ความถี่ในย่านนี้จะเป็นย่านหลักของการฟังไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เครื่องดนตรีต่างๆ โดยถ้าเสียงสะท้อนจากกำแพงห้องหรือเพดานเข้าไปเสริมเฟสกับเสียงตรงในย่านประมาณ 500 Hz นี้จะเพิ่มระดับความดังขึ้นได้สูงสุดถึง 6 dB ตามทฤษฎี แต่ถ้ามันเกิดกลับเฟส (out of phase) กับเสียงตรงมันก็จะลดการตอบสนองความถี่หรือความดังในย่านนั้นลงได้เช่นกัน

ดังนั้นในการออกแบบห้องฟังจึงต้องระวังจุดนี้ให้ค่อนข้างมากและเสียงชนิดที่สามที่เดินทางมาเข้าหูผู้ฟังคือเสียงก้อง (Reverberation) ที่ปกติจะวัดเวลาเมื่อระดับความดังลดระดับลงมาเหลือ 60 dBบางครั้งเรียกว่าค่า T60 เสียงก้องนี้จะเป็นการสะท้อนของเสียงอย่างไม่เป็นระดับ…จากวัสดุต่างๆ ภายในห้องเช่นเสียงวิ่งจากลำโพงวิ่งชนผนังกำแพงด้านหลังคนนั่งแล้วสะท้อนกลับมาด้านข้างแล้วค่อยย้อนกลับเข้ามาหาผู้ฟังเป็นต้น ซึ่งเสียงก้องนี้จะไม่ค่อยมีผลต่อการตอบสนองความถี่ของระบบมากนักเพราะระดับความดังที่ไม่สูงมาก แต่มันกำหนดบรรยากาศ ความเที่ยงตรงชัดเจนของเวทีเสียง

ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราขยับตัวเราเข้าไปนั่งฟังใกล้กับลำโพงมากๆ เราจะได้ยินเสียง Direct Sound มากขึ้นและลดผลของเสียงสะท้อน Early Reflections และเสียงก้อง Reverberant ลงได้ ซึ่งบริเวณนี้เราจะเรียกกันว่า Nearfield Listening position แต่ก็อย่าลืมว่าเราจะไม่สามารถนั่งฟังใกล้ลำโพงในลักษณะ nearfield ได้ ถ้าลำโพงที่ใช้มีขนาดใหญ่ทรง Tower มี driver หลายตัว

การนั่งใกล้ตู้ลำโพงขนาดใหญ่จะทำให้ความถี่เสียงจาก driver แต่ละดอกยังไม่ผสมผสานกันออกมาเป็นแหล่งกำเนิดเสียงเดียว (single point source) Nearfield เช่นในระบบมอนิเตอร์เสียงในห้องบันทึกเสียงต่างๆ ที่มักจะมีลำโพงมอนิเตอร์ขนาดเล็กอย่างน้อยหนึ่งคู่เอาไว้ตรวจสอบงานบันทึกต่างๆ ในลักษณะ Nearfield กับมานานหลายสิบปีแล้ว

ซึ่งสามารถที่จะมอนิเตอร์เสียงรองเสียงดนตรีได้ในเวลาอันสั้น ตัดผลของอะคูสติคที่จะเข้ามารบกวนเสียงที่กำลังบันทึกออกไปก่อนเพื่อบันทึกเสียงที่แท้จริงไม่ผ่าน processor เสียงใดๆ (dry) แล้วค่อยใช้ลำโพงขนาดใหญ่ในขั้นตอนการ Mir ในภายหลัง ดังนั้นที่เรามักจะหันลำโพงมอนิเตอร์ส่วนใหญ่จึงมีขนาดเล็กเพื่อลดผลของการรบกวนกับสภาพห้องเวลาที่เรานั่งฟังใกล้ๆ แบบ Nearfield นั่นเอง

Mini Monitor เป็นลำโพงสองทางใช้วูฟเฟอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.25 นิ้ว สั่งทำพิเศษจาก SEAS ส่วนตัวขับเสียงแหลมสั่งทำพิเศษจาก SEAS เช่นกันมีขนาด 1 นิ้ว เป็นชนิดโดม ตัวตู้ออกแบบสวยงามเป็นรูป 6 เหลี่ยม ปาดเข้าทางด้านท้ายเป็นตู้เปิด Reflex Loading มีท่ออยู่ด้านหลังตู้จูนความถี่ Resonance อยู่ที่ 48 Hz และจุดตัดความถี่ระหว่าง Woofer กับ Tweeter คือ 2,300 Hz

มันมีอิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม ความไวไม่ได้ระบุแต่เท่าที่ลองดูเทียบกับลำโพงที่รู้ค่าความไวน่าจะประมาณระดับกลางๆราวๆ 87-88 dB/W/M ไม่สูงมากหรือต่ำมากจนเกินไป การตอบสนองความถี่ระบุเอาไว้จาก 45 Hz-30 Hz 3 dB นับว่าดีมากทีเดียว ส่วนกำลังขับที่สามารถรับได้ไม่ได้ระบุมา ส่วนตัวตู้มีขนาด 46 x 22.5 x 25 ซม. ทำหนักประมาณ 12 กิโลกรัมต่อตู้

ซิสเต็มทดสอบ

ในการทดสอบจะลองทั้งการนำมาฟังเพลงในระบบสองแชนแนลสเตอริโอ และใช้เป็นลำโพงเซอราวด์ในระบบมิลติแชนแนล ซึ่งมันสามารถติดบนเพดานไว้เหนือศรีษะในระบบ Atmos ได้ด้วยแต่ในการทดสอบมีข้อจำกัดในเรื่องการยึดติดเลยไม่ได้ลองเพราะกลัวจะร่วงลงมาเนื่องจากน้ำหนักตัวตู้ที่ต้องทำตัวยึดให้แน่นหนาเป็นเรื่องเป็นราว

ในการทดสอบสองแชนแนลลองกับ pre-power Accuphase C-200L และ  D-300L (170 W/CH/8…) และอินทีเกรทแอมป์ของ SANSUI รุ่นท้อป AU-2907L Extra (160 W/CH/8…) ฟังสลับกันส่วนเมื่อใช้งานเป็นเซอราวด์คู่หลังจะให้ทำงานคู่กับ ONKYO TX-NR905 และ NAD 208 THX กับ pre-promaraut Au-8802A สลับกันใช้เวลา burn อยู่ประมาณ 50 ชั่วโมงก่อนลองฟังอย่างจริงจัง

แนวเสียง

เมื่อลองฟังกับแผ่น CD ที่คุ้นเคยอย่าง Amanda ชุด Dreaming ต้องบอกว่ามันไม่ให้การตอบสนองความถี่ต่ำที่ดีอย่างคาดไม่ถึงว่าจะมาจาก Woofer เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 5 นิ้ว และเสียงทุ้มที่ได้ฟังดูนุ่มนวลกระชับและฟังไม่เครียดมีความเพี้ยนต่ำ ถ้าไม่เปิดกันดังจนเกินไป ส่วนหนึ่งมาจากการจูน port ที่ตู้อย่างเหมาะสมเพราะในระบบลำโพง Reflex Loading การออกแบบตัวตู้ , ปริมาตรภายในและการจูนขนาดท่อเปิดจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

เพราะข้อดีของระบบ Reflex Loading (ถ้าทำอย่างถูกต้อง) ก็คือ เพิ่มระดับความดังสูงสุดของลำโพงคือเล่นได้ดังขึ้น (หมายถึงเมื่อเทียบกับลำโพงตู้ปิดหรือ Infinite Beffle Loading ที่มีขนาดตู้ใกล้เคียงกัน) ความไวสูงขึ้น ประการต่อมาก็คือสามารถขยายย่าน cutoff ของความถี่ต่ำไปได้ต่ำกว่าถึงแม้หลังจากจุด cutoff นี้ไปแล้วมันจะมีอัตราการลดลง (Slope) ที่เร็วกว่าระบบตู้ปิดอยู่บ้างก็ตาม

แต่อย่างไรก็ดี ทั้งการตอบสนองความถี่ต่ำที่ลงได้ลึกขึ้นและประสิทธิภาพที่สูงจะไม่สามารถออกแบบให้ไปพร้อมๆกันได้ แต่จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากธรรมชาติข้อจำกัดของระบบ Reflex Loading และในกรณีนี้ดูเหมือนว่า Mini Monitor จะถูกออกแบบมาโดยเน้นในด้านการขยายย่านความถี่ต่ำออกมาให้ลึกลงกว่าด้านประสิทธิภาพความไวของมัน ซึ่งน่าจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันเราสามารถหาเครื่องขยายเสียงที่มีกำลังขับค่อนข้างสูงคุณภาพดีในราคาสมเหตุสมผลได้ง่ายกว่าในยุคหลายสิบปีก่อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการพัฒนาด้านอุปกรณ์สารกึงตัวจำนำพวก Power out put  Device ที่ทนกำลังได้สูงขึ้นการตอบสนองความถี่ดีขึ้นโดยที่ราคาไม่ได้ขยับสูงไปกว่าอุปกรณ์รุ่นเก่าๆเท่าไหร่นัก

หลังจากลองฟังดูระยะหนึ่งเสียงของ Mini Monitor โดยรวมกันมีสมดุลความเป็นกลางสูงและเหมาะกับที่จะใช้งานในห้องฟังในบ้านมากกว่าใช้เป็นมอนิเตอร์สำหรับงานอาชีพสังเกตได้จากย่านกลาง-แหลมที่ถูกที่ปรับแต่งเอาไว้ให้ฟังแนวสบายๆ กว่าเน้นจัดสมจริงแต่ก็ยังคงเปิดเผยรายละเอียดได้ยอดเยี่ยมโดยเฉพาะปลายแหลมที่ขยายออกไปได้ไกลฟังเป็นธรรมชาติแทบไม่พบอาการ Metallic Sound เกิดขึ้นมาเลย

จากนั้นลองเปลี่ยนจาก CD มาเป็นไฟล์เพลงคุณภาพสูงทั้ง 192 kHz/24 bit และ DSD เล่นผ่าน oppo UDP-203 และ BDP-105 (Upgrade ภาคจ่ายไฟจาก Perfect Power) เพื่อทดสอบด้านมิติเวทีเสียงที่จะฟังออกง่ายกว่าแผ่น CD ทั่วไป เพราะความละเอียดของการบันทึกที่สูงกว่า (Hi-Res) แต่ตัวต้นฉบับก็ต้องมาดีด้วยนะครับไม่ใช่เอา CD ปกติแล้ว upsampling ขึ้นไป นอกจากนี้ยังฟังจากแผ่น SACD ที่คุ้นเคยอีก 3-4 แผ่นปนๆกันไป

เมื่อ Setup ทุกอย่างตามที่มันควรจะเป็นแล้ววางลำโพงระยะห่างประมาณ 2.5 เมตรและห่างจากผนังประมาณ 60 ซม. จุดที่นั่งฟังระยะเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าของระยะระหว่างลำโพงโดยประมาณ (จุดนี้อาจถือได้ว่าเริ่มเป็น Nearfield แล้ว แต่ไม่ใช่ Nearfield เพราะลำโพงเล็กถอยหลังออกไปจนอยู่บริเวณ Farfield ในห้องจะเริ่มได้ยินเสียงก้องและเสียงสะท้อนมากเกินไปจนทำให้ Direct Sound ฟังสับสนได้)

Mini monitor ให้เวทีเสียงได้กว้างมาก เมื่อฟังในห้องค่อนข้างมืด หลับตาลงแทบจะรู้สึกได้เลยว่าตู้ลำโพงมันล่องหนหายไปมีเพียงเสียงชิ้นดนตรีบรรเลงอยู่ในห้องเวทีเสียงซ้าย-ขาวหลุดไปไกลกว่าตำแหน่งลำโพงอย่างไม่น่าเชื่อยังได้เพลงที่บันทึกเน้นความโอ่โถงของเวทีเสียง เช่น การร้องประสานเสียงหรือ Bigband ยิ่งฟังได้ชัด อย่างไรก็ดี บรรยากาศด้านลึกอาจจะเป็นรองเวทีเสียงด้านกว้างอยู่ข้างหลังเล็กน้อย แต่โดยรวมก็ถือว่านำฟังมากอยู่ดีบรรยากาศเพลง TAKE FIVE ของ Jazz at the Pawnshop ฟังคึกคัก สนุกสนานฟังเสียงก้องเสียงสะท้อน เสียงปรบมือในร้านชัดเจนแต่ไม่มีอาการกัดหูเน้นเกินจริงแต่อย่างไร รวมถึงเปิดได้ค่อนข้างดังกับห้องฟังเพลงในบ้านทั่วๆ ไปถือว่าเกินพอ ยกเว้นว่าจะเร่งโวลลุ่มอัดกันมากกว่าปกติและในเพลงมีเสียงต่ำอยู่ค่อนข้างมากเท่านั้นจึงจะพอฟังออกว่ามีอาการอั้น (Gain Compression) อยู่บ้างแต่ระดับความดังที่ใช้อยู่ปกติถือว่า happy มาก

นอกจากนี้ถ้านำมันมาฟังเพลงสองแชนแนลมันยังรองรับกับเพลงได้หลายแนว เช่น pop ร้อง , Jazz Fusion , Jazz ร้อง , ประสานเสียง , chambermusic , big band วงไม่ใหญ่มากนัก รวมถึงเพลงแนว Easy Listening ต่างๆ มันให้การตอบสนองความถี่ที่ถือว่าราบเรียบดี สมดุลเสียงต่อเนื่องตั้งแต่ย่านเสียงทุ้มต่อเนื่องไปจนถึงกลาง-แหลม อาจจะมีในย่านอัปเปอร์มิดเบสราวๆ 200-300 Hz ที่อาจจะถูกจูนให้เด่นขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งโดยรวมจะทำให้เสียงร้องฟังดูหนาอบอุ่นน่าฟังขึ้น และอย่างที่พูดถึงตั้งแต่แรกว่ามันให้การตอบสนองเสียงทุ่มที่ดีมากใกล้เคียงลำโพงทั่วๆ ไปที่ใช้วูฟเฟอร์ระดับ 6-7 นิ้วได้เลย

การที่มันมีเสียงทุ้มที่แน่นกระชับลงได้ค่อนข้างลึกเป็นพื้นเลยทำให้โทนเสียงโดยรวมฟังดูดีไปหมดแทบจะทุกแนวเพลงประเภทต่างๆที่พูดถึง ดุลเสียงที่น่าฟัง เสียงกลางที่ไหลต่อเนื่องปลายแหลมที่เปิดไปน่าฟังสบาย ทำให้หลายต่อหลายครั้งที่ผู้เขียนตั้งใจจะลองฟังเพลงในอัลบั้มสักเพลงแล้วจะย้ายไปฟังอัลบั้มแนวอื่นต่อแต่ Mini Monitor กลับเป็นแม่เหล็กคือ ดูดให้จมอยู่กับการลองอัลบั้มเดิมแทร็กแล้ว แทร็กเล่ากว่าจะตัดใจข้ามไปฟังแนวอื่น ก็ทำเอาฟังกันอย่างเต็มอิ่มไปแทบทุกอัลบั้มที่หยับขึ้นมาเล่น (ข้อแตกต่างของลำโพงที่ออกมาดีกับธรรมดาอาจพูดได้ง่ายๆ คือ ฟังแล้วสบายใจหรือเลิกฟังแล้วสบายใจ)

นอกจากนี้ Mini Monitor ยังไม่ต้องพิถีพิถันกันตำแหน่งการวางมากนัก การขยับตำแหน่งเดินหน้า-ถอยหลัง หรือโทอินเข้าออกเล็กน้อยก็ยังไม่ทำให้สมดุลเสียงและเวทีเสียงเคลื่อนไปมากนักนั่นหมายถึง คุณพอจะทำการ Setup ได้ด้วยตัวเองอย่างไม่ลำมากยากเย็นนัก ผิดกับลำโพง Monitor Hi-End ส่วนใหญ่ๆที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญมาเซ็ตอัพเพื่อให้เสียงที่ได้เที่ยงตรงที่สุด

ใช้งานในระบบเซอราวด์

การใช้งานเป็นคู่ Surround ผู้เขียนตัดความถี่ crossover ที่ AVR และ pre-processor ไว้ที่ 90 Hz ค่านี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวเองที่จะตั้งจุดตัดความถี่เอาไว้สูงกว่าความถี่ Cutoff (-3 dB) ของลำโพงเท่าตัว ซึ่งในกรณีของ Mini Monitor ตามสเปคจะกำหนดการตอบสนองความถี่ต่ำอยู่ที่ 45 Hz (-3 dB) ดังนั้นจึงควรจะตั้งค่าจุดตัดความถี่เอาไว้ที่ 90 Hz หรือสูงกว่าเพื่อไม่ให้เกิดการตกลง (Dip) ของความถี่จุดตัด หลังจากนั้นทำ Auto-calibration และ Check กับ Sound Level Meter คุณภาพสูงอีกครั้งหน้าก่อนการฟัง

เริ่มจากแผ่นแสดงสด Mini Monitor สามารถสร้างบรรยากาศเวทีเสียงที่โอบล้อมด้านหลังได้ดีเยี่ยมความรู้สึกลำโพงล่องหนกลับมาอีกครั้ง มันให้แอมเบี้ยนซ์เสียงรอบทิศที่บันทึกมาอย่างสมจริงแต่ไม่เกินเลย การที่เราใส่ High Passfilfer (90 Hz) ให้กับมันเสมือนเป็นการต่อเล่นแบบ Bi-amp ความถี่ต่ำกว่า 90 Hz ถูกส่งไปออกที่ Subwoofer ทำให้ลดภาระการทำงานโดยเฉพาะในย่านความถี่ต่ำกับตัวลำโพง Mini Monitor เป็นอย่างมากและช่วยให้สามารถเปิดเล่นได้ที่ระดับความดังที่สูงขึ้น การตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันดีขึ้นและความเพี้ยนที่เกิดจากการผสมความถี่ (Inter Modulation Distertion) ลดลง

เมื่อกลับไปฟังแผ่นภาพยนตร์รุ่นใหม่ๆ มันให้ความสดสมจริงของชิ้นเอฟเฟกต์ต่างๆ อย่างที่น่าทึ่ง ตอบสนองต่อสัญญาณ Dynamic สูงๆ ได้อย่างฉับพลันทิศทางตำแหน่งเสียงที่บันทึกมาเที่ยงตรงชัดเจนมาก  เสียงโฉบของเครื่องบินและเฮลิคอบเตอร์จากภาพยนตร์ที่บันทึกมาดีๆ ให้ตำแหน่งไล่หลุดลอยเลยหลังลำโพงออกไปอย่างชัดเจน ที่สำคัญมันสามารถให้น้ำเสียงที่เป็นกลางกลมกลืนกับลำโพงในแชนแนลอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย

สรุป

เป็นลำโพงที่ขับไม่ยากนักอิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม ความไวกลางๆ สามารถใช้กับ A/V Receiver ขนาดรุ่นกลางๆ ทั่วๆ ไปได้เป็นอย่างดี แต่ถ้านำมาฟังเพลงในโหมดสองแชนแนลก็เพียงแต่หาอินทีเกรทแอมป์ หรือ pre-power คุณภาพปานกลางปกติทั่วๆ ไปก็สามารถทำให้ Mini Monitor แสดงศักยภาพอันยอดเยี่ยมของมันออกมาได้ นับเป็นลำโพงคุณภาพสูงมาก งานประกอบประณีตมาก ถึงแม้ราคาตัวอาจจะสูงเล็กน้อย แต่กับการลงทุนกับลำโพงดีๆ ในระยะยาวต้องถือว่าคุ้มค่าอย่างมากครับ

ขอขอบคุณ Montana Thailand โทร. 081-410-7777, 089-771-8895 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดลองฟังในครั้งนี้