Garoonchart Bukkavesa
หลายปีที่ผ่านมาของการเล่นเครื่องเสียง บางทีก็เล่นตามกระแส ตามเพื่อน ฯลฯ โดยไม่สนใจความต้องการที่แท้จริงของตัวเองเลย
อย่างลำโพงที่คุ้นชินมักจะนิยมเล่นเป็นลำโพงไดนามิคซะส่วนมาก จริง ๆ แล้วยังมีลำโพงอีกประเภทที่ไม่เหมือนใครโดยมีผู้ผลิตไม่กี่รายที่ยังใช้เทคโนโลยีนี้ คือใช้แผงอิเลคโตรสแตติคมาทำหน้าที่แทนกรวยลำโพงทั่วไป และแบรนด์ดังกล่าวคือ Martin Logan
มีไลน์อัพเช่น Masterpiece, ElectroMotion ฯลฯ ซึ่งรุ่นที่ได้รับมาพรีวิวครั้งนี้คือ Martin Logan : ElectroMotion ESL ซึ่งเป็นรุ่นที่สานต่อตำนานอย่าง Aerius ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 ตามไปดูความพิเศษกันครับ
ลักษณะพิเศษ Martin Logan : ElectroMotion ESL
- กลางแหลมใช้ระบบอิเลคโตรสแตติค
- แผงสูง 34 นิ้ว เรียกว่า XStat™ ซึ่งย่อส่วนจาก CLS™ (Curvilinear Line Source)
- แผงกว้าง 8.6 นิ้ว รวมมีพื้นที่ 292 in² (1,892 cm²)
- เสียงจะยิงออกไปด้านหลังด้วย True Dipole
- เสียงต่ำดอกขนาด 8 นิ้ว
- ตัวตู้สำหรับติดตั้งเสียงทุ้มเป็นแบบไม่สมมาตร
- มีไฟเลี้ยงแผงระบบอิเลคโตรสแตติค
ลักษณะทั่วไป Martin Logan : ElectroMotion ESL
Martin Logan : ElectroMotion ESL ใช้ดอกกลาง / แหลมแบบแผ่นฟิล์ม ติดตั้งบนแผงสูง 34 นิ้ว กว้าง 8.6 นิ้ว รวมมีพื้นที่ 292 in² (1,892 cm²) เรียกว่า XStat ซึ่งย่อส่วนจากเทคโนโลยี CLS (Curvilinear Line Source) สามารถมองทะลุไปด้านหลังแผ่นฟิล์มได้ แนวแกนจะทำมุมเอียงไปด้านหลังพอประมาณ ประกบติดเข้ากับตู้ที่ทำหน้าที่เสียงทุ้ม แบบไม่สมมาตร เพื่อลดการอู้ก้องภายใน ดอกทุ้มขนาด 8 นิ้ว กรวยกระดาษความแกร่งสูง ตู้เปิด Bass Reflex ท่อลมจะยิงเสียงลงพื้น ดังนั้นจึงมีการติดตั้งขาเพื่อ “ยกลอย” ตัวตู้ให้สูงพอที่จะรองรับปริมาณอากาศที่ผลิตออกมา (เลือกถอดหมุดยางให้เป็นทิปโทได้)
ด้านหลังติดตั้งขั้วลำโพงซิงเกิ้ลไวร์ ที่ด้านล่างเป็นช่องเสียบไฟ DC เพื่อไปเลี้ยงแผ่นฟิล์มนั่นเอง
สเปคของ Martin Logan : ElectroMotion ESL
- การตอบสนองความถี่ 42–22,000 Hz ±3dB
- กำลังขับที่แนะนำ 20-300 วัตต์ต่อแชนแนล
- ความไว 91dB
- ความต้านทาน 6 โอห์ม
- จุดตัดความถี่ 500 Hz
- ตัวตู้สูง 132.3 กว้าง 22.9 ลึก 41.1 เซ็นติเมตร
- หนัก 16.1 กิโลกรัม
อุปกรณ์ร่วมพรีวิว Martin Logan : ElectroMotion ESL
- แหล่งโปรแกรม ; DCS : P8i
- อินทิเกรตแอมป์ ; Karan Acoustic : KA I 180 MK II, Marantz : KI-Ruby
- ลำโพง ; Martin Logan : ElectroMotion ESL
- สายสัญญาณ ; Ecosse : The Maestro MA2
- สายลำโพง ; Wunder : edit one
- สายไฟเอซี ; Life Audio : Gold Limited MK II ทั้งระบบ
- อุปกรณ์เสริม ; ชั้นวาง SolidTech : Hybrid
ผลการลองฟัง Martin Logan : ElectroMotion ESL
การติดตั้ง Martin Logan : ElectroMotion ESL ครั้งนี้ ใช้ห้องฟังของสำนักงาน What Hi-Fi? (น่าจะเห็นในคลิปกันบ้าง) ไม่ใช่ห้องของผมเอง
ตอนติดตั้ง ผมพยายามจัดวาง Martin Logan : ElectroMotion ESL โดยห่างกันประมาณ 1.70 เมตร ห่างจากผนังหลังราว 1.40 เมตร ใส่หมุดยางเพื่อให้ง่ายในการขยับ / เซ็ทอัพ โทอินเล็กน้อย
เนื่องจากลำโพงอาจถูกเก็บไม่ได้เปิดมาสักพัก ลองใช้แผ่นเบิร์นอินของ Sheffield / XLO Test & Burn-in CD (Sheffield Lab 10041-2-T) พบว่าสุ้มเสียงเคลียร์ขึ้น สะอาดขึ้น พร้อมฟังมากขึ้น
ลองฟังเบื้องต้น เบสจะมาเต็ม ล้น ๆ ดูบวมนิด ๆ ผมเลยถอดหมุดยางออกไป เหลือสไปค์ / เดือยแหลม ปรับระดับให้สมดุลย์กัน ไม่ให้โยกเยก พบว่าเสียงเบสทิ้งตัวขึ้น สะอาดขึ้น ไม่บวมแล้ว
เริ่มต้นฟังแผ่นคอนเสิร์ต แอ๊ด คาราบาว : ทุ่งฝันตะวันรอน ( Warner Music 50541964898 2 3) ไพเราะดี เครื่องเป่าหวานลื่นไหล เสียงร้องน่าฟัง เบสกระชับแต่หนักแน่นดีเกินคาด
Gift : The Finger Style (GMM : G 0554023) นักร้องร้องได้น่าฟัง ไพเราะ มีรายะเอียดของเบสที่ดีด้วย ไม่เป็นโน๊ตเดียว
การนั่งเมื่อปรับเข้ามาใกล้ลำโพง (ห่างผนังหลังห้องขึ้น) จะได้ความใหญ่ของเสียงเหมือนนั่งหน้าเวทีขึ้น รวมเบสจะสะอาดขึ้น (นักเล่นต้องลองปรับดู)
The Wonderful Sound of Three Blind Mice (Golden String – GSCD 004) แทรค Bridge Over Troubler Water ขับร้องโดย Ayako Hosakawa ร้องน่าฟังลื่นไหลอักขระดี เสียงมีความต่อเนื่องลากยาวได้ราบรื่น
อัลบั้มเดียวกัน แทรค Aqua Marine เครื่องเคาะปลายแหลมสะอาด พริ้วกังวานดี ไม่ฟุ้งไม่น่ารำคาญ นำเสนออย่างนุ่มนวลแต่แฝงความชัดเจนฉับไว ไม่หวานจนเลี่ยน มีอิมเมจรอบโน๊ตได้ดี
แผ่น Rain Forest Dream (Saydisc CD-SDL 384) ตีกลองใบใหญ่ให้บรรยากาศดี เบสอยู่เลยลำโพงเข้าไปทะลุกำแพง แต่ไม่ลงลึกมาก เพราะสเปคลงได้ราว 42 HZ ถ้าดอกใหญ่กว่านี้ สเปคดีกว่าจะลงไปได้ ต้องเป็น Martin Logan รุ่นใหญ่กว่านี้ และราคาต้องแพงกว่าด้วย!!
Jazz at Pawn Shop (Proprius PRCD 7778) ปลายแหลมกังวานดี อ่อนหวาน ลื่นไหล ไม่จัดจ้าน มีอิเมจห่อหุ้มดี มีบรรยากาศดี ไม่แห้ง ฟังแล้วไพเราะมากจนแทบเคลิ้มหลับเอาง่ายๆ ครับ
Elvis 24K DCC Hits (DCC Compact Classics GZS-1117 Limited Edition No.9808) เสียงเอลวิสร้องลื่นไหล อิ่มน่าฟัง เสียงควบกล้ำห่อปาก กระดกลิ้น ชัดเจน! ไม่ผิดหวังจริง ๆ ครับ
Chie Ayado-Live! (EWE Records – EWCS-0030/31) บรรยากาศดี หางเสียงกังวานพอเหมาะ เสียงร้องมีพลังที่น่าทึ่ง ไทมิ่งดี บางช่วงร้องออดอ้อน ใส่อารมณ์เข้ามาเต็มที่
การเล่นกับแอมป์ พอดีช่วงน้ันมีอินทิเกรตหมุนเวียนเข้ามาหลายตัว เช่น Karan Acoustic : KA I 180 MK II พบว่าเสียงหลุดเป็นตัวดีเลยแม้เปิดเบาๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าตามระดับราคาที่แพงขึ้น หรือลองทำโทษด้วยการ เอาแอมป์จีน 35 วัตต์มาขับพบว่าไม่ขี้เหร่ ฟังได้ แต่รายละเอียดต่าง ๆ จะหายไป รวมทั้งบรรยากาศด้วย ก็แน่นอนเมื่อเทียบกับ 180 วัตต์ แถมค่าตัวต่างกันน่าจะ 10 เท่า!!
ฟังการตีกลอง Merry Angle : Opus9 เสียงทุ้มมีเนื้อดี ลงได้ลึก อิ่มแน่น แยกชิ้นดนตรีได้ดี
Are you Authentic AYA Authentic Audio Check (STOCKFISCH) แทรค Percussion-Ensemble (Improvisation) โชว์ความถี่ต่ำ หลายแทรคทำได้ดี มีบอดี้ มีมวลที่ดี ลงได้ลึก ไม่ขาดเบสแน่ ขอบคุณดอก 8นิ้ว และสเปคที่ลงได้ 42HZ มากกว่าวางหิ้งทั่วไป เพียงพอที่จะตอบสนองย่านความถี่ต่ำ แต่เน้นแผ่เป็นฐานเสียงมากกว่ากระแทกเป็นลูกๆ เวทีกว้างใหญ่ดี
The Hunter (Private Music 01005-82089-2) แผ่นยอดฮิต ร้องไพเราะ น่าฟังลื่นไหล ย้ำหนักเบาดี เบสกระชับอิ่มแน่น ลงได้ลึกดีไม่บวมคราง เพียงพอแน่นอน แทรค Way Down Deep
Best of Chesky Jazz and more Audiophile Tests Vol 2 (JD 68) แทรค 47 คนป่า จำลองมิติทรงกลม 2 วง ทำได้ดี แยกออกว่ามี 2 วง แต่วงนอกยังไม่เป็นทรงกลมเท่าห้องผม เนื่องจากห้องนี้มีหน้าแคบกว่านั่นเอง
บทสรุป Martin Logan : ElectroMotion ESL
Martin Logan : ElectroMotion ESL ถือว่าเป็นลำโพงที่ให้เสียงที่สวยงาม น่าฟัง มีความเป็นดนตรีสูง ใช้เทคโนโลยีแผ่นฟิล์มขับเสียงจึงไม่เหมือนลำโพงทั่วไป
นี่อาจจะเป็นลำโพงที่คุณตามหามาแสนนาน อย่าปล่อยให้กระแสความนิยมนำพาให้เล่นลำโพงไดนามิคทั่วไป เพราะคุณนั้นแตกต่าง!!
ขอขอบคุณ บริษัท คอมฟอร์ตซาวด์ จำกัด โทร. 083 758 7771 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้