What HI-FI? Thailand

Marantz SA-KI Ruby บทสรุปของตำนานเพลเยอร์จาก เคน อิชิวาตะ

DAWN NATHONG

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ Marantz หากเป็นนักเล่นสายวินเทจ ก็คงจะนึกถึง Saul B. Marantz ผู้ก่อตั้งยุคบุกเบิก แต่หากเป็นนักเล่นเครื่องเสียงที่อยู่ในช่วงยุคประมาณ 90s แล้วละก็ น้อยคนที่จะไม่รู้จักชายที่ชื่อ เคน อิชิวาตะ เรียกได้ว่าเขาคือหนึ่งในไอค่อนของโลกเครื่องเสียงในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ของมาร้านท์หลังยุคเปลี่ยนผ่านก็ว่าได้

จุดเริ่มต้นของตำนานเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จากการที่เขานำเครื่องเล่นซีดีราคาประหยัดรุ่น 63 อันโด่งดังในแง่น้ำเสียงที่ดีเกินราคาค่าตัวไปไกล มาทำการโมดิฟายด์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีกระดับ จนกลายเป็น CD63 MkII KI Signature ซึ่งถูกอกถูกใจเหล่าบรรดาแฟน ๆ นักเล่นเครื่องเสียงทั้งมือเก่ามือใหม่ รวมถึงรีวิวในเชิงบวกจากนิตยสารเครื่องเสียงหลายสำนักในยุคนั้น

เคน อิชิวาตะ ใช้ทักษะการฟังร่วมกับประสบการณ์ที่สั่งสม ทำการโมดิฟายด์และจูนเสียงร่วมกับทีมพัฒนาของมาร้านท์ทั้งฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น เพื่อสร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเรียกว่า “Marantz Sound” ขึ้น กับเครื่องเสียงของมาร้านท์อีกมากมายหลายรุ่นหลังจากนั้น ซึ่งทุกรุ่นที่เขาจูนเสียงจะมาพร้อมอักษรย่อ “KI” กำกับเสมอ (ย่อจากชื่อของ Ken Ishiwata) เรียกว่าเห็นเมื่อไร ก็แทบจะการันตีเรื่องของโทนเสียงที่มีความอบอุ่นเป็นดนตรีเอาไว้ได้เลย

ผลงานสุดท้ายก่อนการจากไปของ เคน อิชิวาตะ ในวัย 72 หลังจากเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้มาร้านท์ ก็คือเครื่องเสียงอนุกรม KI Ruby ซึ่งทางผู้ผลิตเคลมว่าคุณภาพนั้น “เหนือชั้น” กว่า KI Signature ทุกรุ่นที่เคยมีมา ประกอบด้วย SACD เพลเยอร์รุ่น SA-KI Ruby และอินทิเกรตแอมป์รุ่น PM-KI Ruby ถือเป็นการเฉลิมฉลองสายสัมพันธ์ระหว่างเขาและมาร้านท์ที่ยาวนานกว่า 40 ปี  แถมยังเป็น Collector’s Item ที่รันซีเรียลนัมเบอร์และผลิตเพียงแค่ 1,000 ชุดในโลกเท่านั้น

รายละเอียดที่น่าสนใจ

SACD เพลเยอร์รุ่นนี้ไม่มีการใช้ชิปแดคสำเร็จรูปในภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ แต่เป็นเทคโนโลยี 1-bit conversion ที่ยกมาจากเพลย์เยอร์รุ่นแพงสุด SA-10 ซึ่งทางมาร้านท์เป็นคนออกแบบเอง เรียกว่า Marantz Musical Mastering (MMM) คร่าว ๆ มีด้วยกันสองกระบวนการ ส่วนแรกคือ MMM-Stream ที่จะทำการแปลงสัญญาณดิจิทัลทั้งหมด (PCM และ DXD) ที่เข้ามา ให้กลายเป็น DSD11.2MHz โดยตรง (เลือกปรับดิจิทัลฟิลเตอร์ได้ 2 รูปแบบ) จากนั้นจึงส่งต่อไปยังส่วนที่สองคือภาค MMM-Conversion เพื่อแปลงสัญญาณ DSD กลับเป็นแอนะล็อกและป้อนไปยังภาคเอาท์พุตต่อไป

กระบวนการแปลงสัญญาณที่ประยุกต์มากจากเทคนิค 1-bit conversion แบบดั้งเดิมนี้ ทางมาร้านท์เคลมว่าจะได้ความเรียบง่ายและคงความเป็นธรรมชาติของเสียงจากต้นฉบับได้มากที่สุด ลดความซับซ้อนในการออกแบบแอนะล็อกโลว์พาสฟิลเตอร์ที่ภาคสัญญาณขาออก ซึ่งผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮเอ็นด์หลายราย เช่น dCS (Ring DAC), PS Audio (Directstream) หรือ Sony ในกลุ่มเครื่องเสียงระดับพรีเมี่ยม ก็มีการใช้เทคโนโลยีในแนวทางคล้ายคลึงกัน ประสิทธิภาพและคุณภาพเสียงก็แตกต่างกันไปตามเทคนิคการออกแบบเฉพาะตัวของผู้ผลิตแต่ละราย

ส่วนภาคกลไกทรานสปอร์ต SACDM-3 นั้นก็จัดหนักจัดเต็ม น้ำหนักเครื่องกว่า 17 กิโลกรัมนั้นส่วนนึงก็มาจากภาคทรานสปอร์ตที่พัฒนาขึ้นโดยมาร้านท์เอง รองรับทั้งการเล่นแผ่น CD และ SACD รวมทั้งแผ่น CD-ROM และ DVD-ROM พร้อมช่อง USB อินพุตรองรับสัญญาณไฮเรสถึง PCM / DXD 32-bit / 384kHz และ DSD 11.2MHz โดยภาค USB และดิจิตอลอินพุตจะมีการ Isolation หรือแยกออกมาจากวงจรส่วนอื่นเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน ส่วนภาคเอาท์พุตสเตจเป็นโมดูลที่ใช้อุปกรณ์แบบดีสครีต HDAM-SA3 และ HDAM-SA2 ให้ค่าความต้านทานขาออกต่ำ รวมถึงใช้หม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดใหญ่คุณภาพสูงสำหรับภาคจ่ายไฟ

เอกลักษณ์ภายนอกของซีรียส์ KI ทุกรุ่น ก็คือการใช้ตัวถังและน็อตที่เป็นทองแดง ในรุ่นนี้ยังมีการออกแบบตัวถังเป็นสองชั้นมีความบึกบึนและแข็งแรงมาก รวมถึงขารองเครื่อง ที่ล้วนออกแบบมาเพื่อช่วยในเรื่องการป้องกันสัญญาณรบกวนและแรงสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี ฝาหลังเครื่องหนักเพราะเป็นแผ่นอลูมิเนียมหนาถึง 5 มิลลิเมตร แผงหน้าเครื่องสกัดจากก้อนอลูมิเนียมหนาแบบ Non-Magnetic ทำให้มีน้ำหนักตัวมากถึง 17.1 กิโลกรัม (หนักกว่าอินทิเกรตแอมป์หลายรุ่น) ด้านบนตรงกลางจะยิงเลเซอร์สลักลายเซ็นต์ของ เคน อิชิวาตะ เอาไว้พร้อมประดับเม็ดทับทิม

คุณสมบัติ

Marantz SA-KI Ruby ราคาปกติ 149,000 บาท รายละเอียดกรุณาสอบถามตัวแทนจำหน่าย

เสียง

SA-KI Ruby เป็นเพลเยอร์ที่ยังคงถ่ายทอดดีเอ็นเอของมาร้านท์ในอดีตมาอย่างเต็มเปี่ยม  โดยเฉพาะแนวเสียงแบบฉบับ KI Signature ที่หลายคนคุ้นเคย ให้ดุลน้ำเสียงที่มีทั้งความนุ่มนวล โปร่งใส มีรายละเอียดของเสียงที่แนบเนียน เนื้อเสียงมีความฉ่ำติดหวานโดยเฉพาะย่านเสียงกลางที่ฟังแล้วเต็มอิ่มดีจริง ๆ โทนออกไปทางอบอุ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรุ่น KI

สิ่งที่เหนือกว่ามาร้านท์รุ่นก่อน ๆ ในอดีตชัดเจน คือความสะอาดและนิ่งของอิมเมจ แม้น้ำเสียงจะมีความนุ่มนวลแต่กลับไม่รู้สึกถึงความพร่าเบลอของตัวเสียงเลย พื้นเสียงมีความเงียบสงัดอย่างน่าทึ่ง ทำให้ได้ยินรายละเอียดของเสียงหลัก เสียงรอง ทุกย่านอย่างสมบูรณ์เป็นธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าชัดเจนแต่ไม่ขึ้นขอบ อานิงค์จากการออกแบบโครงสร้างที่แข็งแร่งสุดยอด ภาคทรานสปอร์ตทำงานนิ่มนวลและเงียบสนิท ทำให้ปลอดแรงสั่นสะเทือนส่วนเกินไม่พึงประสงค์ที่เข้ามาสร้างบุคลิกปนปื้อนในน้ำเสียง

โดยปกติเพลเยอร์ส่วนใหญ่ หากมีทั้งภาคทรานสปอร์ตและภาคแด็คในตัวเดียวกัน เมื่อทดลองเล่นเพลงเดียวกันจากแผ่นซีดี เทียบกับไฟล์ที่ริปจากแผ่นเดียวกันสำรองไว้ในฮาร์ดดิส เล่นผ่านระบบเน็ตเวิร์คมายังช่อง USB ของเพลเยอร์แล้ว อย่างหลังมักได้เปรียบในเรื่องความนิ่งและสะอาดของเสียงมากกว่าอยู่เล็กน้อยเสมอ แต่กับ SA-KI Ruby นั้นให้คุณภาพของการเล่นแผ่นซีดีแทบไม่ต่างจากการเล่นด้วยไฟล์เลย กลับรู้สึกว่าเล่นจากแผ่นให้ความต่อเนื่องลื่นไหลมากกว่านิด ๆ เสียด้วยซ้ำ นานทีจะพบเพลเยอร์ที่มีคุณสมบัติแบบนี้ น่าประทับใจครับ

อาจจะเป็นด้วยกระบวนการ MMM ของมาร้านท์ ที่แปลงไฟล์เป็น DSD ทั้งหมด (น่าจะมีการบัฟเฟอร์เก็บข้อมูลก่อนเพื่อเตรียมประมวลผล) ทำให้ไม่ว่าจะเล่นจะแหล่งโปรแกรมประเภทไหน ก็เลยทำให้สุ้มเสียงที่ออกมามีความใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเล่นจากแผ่นหรือจากไฟล์ก็ตามที และยังทำให้ได้ความอิ่มฉ่ำต่อเนื่องลื่นไหล พร้อมไดนามิกเรนจ์ของเสียงที่เปิดโล่ง สวิงได้อิสระเหมือนกับไฟล์ DSD แท้ ๆ ตามมาอีกต่างหาก (ระหว่างทดสอบผู้เขียนขุดกรุซีดีเก่า ๆ เอามาฟังอย่างเพลิดเพลินจนลืมไฟล์ที่ริปไว้ไปเสียสนิท)

โดยรวมมีความเป็นแอนะล็อคสูงคล้ายการฟังจากแผ่นเสียง แทบไม่รู้สึกว่ากำลังฟังจากแหล่งโปรแกรมดิจิตอล โดยเฉพาะย่านเสียงทุ้มที่มีความนุ่มแน่น หัวโน้ตกลมมนละเอียด ย่านเสียงกลางอิ่มเอิม กลางต่ำมีความอุดมสมบูรณ์ไม่แห้งบาง ทั้งหมดร้อยรัดต่อเนื่องไปยังด้านเสียงสูงที่ละเมียดละมัย ฟังรื่นหู และยังคงรักษาความใสสะอาดของช่องว่างช่องไฟเอาไว้เป็นอย่างดี มีประกายของเสียงที่มีชีวิตชีวาไม่อับทึบ

ให้เวทีเสียงโอ่อ่าเป็นสามมิติดีทีเดียว ถือว่าอยู่ลำดับต้น ๆ ของเพลเยอร์ในพิกัดราคาใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่น CD/SACD หรือแม้กระทั่งเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ ให้ความกว้างและลึกของเวทีเสียงได้ดีเป็นพิเศษ รวมถึงการถ่ายทอดบรรยากาศรายล้อมที่ชัดเจน ใสสะอาด มีเลเยอร์ของชิ้นดนตรีที่ชัดเจน รวมถึงขนาดชิ้นดนตรีที่สมส่วน และเปลี่ยนไปตามลักษณะการบันทึกเสียงในแต่ละอัลบั้ม

ทดลองฟังฟิลเตอร์ทั้งสองรูปแบบที่ให้มา (กดเลือกจากรีโมทได้เลย) พบว่าฟิลเตอร์เบอร์ 1 จะให้โทนเสียงสไตล์อบอุ่นของ Marantz Sound ชัดเจน มีสีสันความน่าฟังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนฟิลเตอร์เบอร์ 2 จะให้น้ำเสียงที่สะอาด ราบเรียบ เสียงสูงทอดตัวไกลกว่าเล็กน้อย ออกไปทางมอนิเตอร์มากกว่า แต่ฟังไปนาน ๆ แล้วผู้เขียนรู้สึกว่ามันขาดเสน่ห์แบบมาร้านท์ไปสักหน่อย ก็อยู่ที่รสนิยมการฟังและการเลือกแม็ตชิ่งอุปกรณ์ข้างเคียงให้เหมาะสมประกอบกัน

สรุป

SA-KI Ruby คือบทพิสูจน์ของการนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล มาสร้างเป็นเพลเยอร์ที่ให้น้ำเสียงคลาสสิคชวนฟัง มีเสน่ห์เฉพาะตัวสไตล์แอนะล็อคแบบเครื่องเล่นยุคเก่า พร้อมเติมเต็มด้วยรายละเอียดและความใสสะอาดได้อย่างลงตัว อัดแน่นด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์การเล่นเพลงในปัจจุบัน

ยิ่งสำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของมาร้านท์ แล้วอยากจะเก็บสะสม SA-KI Ruby เอาไว้ในคอลเลคชั่น ขอบอกเลยว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะต่อไป คุณอาจจะหาเครื่องเสียงมาร้านท์ที่มีน้ำเสียงโดดเด่นตามแบบฉบับของ เคน อิชิวาตะ ไม่ได้อีกแล้ว

Specifications


ขอขอบคุณ บริษัท เอ็ม ไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โทร. 0-2254-3316-9 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version