Life Audio Classic Rack ชั้นวางเครื่องเสียง

0

มงคล อ่วมเรืองศรี

ชั้นวางเครื่องเสียงนั้นไซร้ทำหน้าที่อะไร? – ชั้นวางเครื่องเสียง หรือ Audio Classic Rack เป็นอุปกรณ์ทางเทคนิคทำหน้าที่ในการดูดซับ-สลายแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากพื้นและผนัง เพื่อลด หรือ ขจัดแรงกระทำจากแรงสั่นสะเทือนให้ส่งผลกระทบสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รับฟังน้อยที่สุด ทั้งยังช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานในสภาวะที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นชั้นวางเครื่องเสียง (ที่ดี) จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น

การออกแบบชั้นวางจึงแทบไม่ต่างจากการออกแบบอาคารสูง ที่ต้องมีความแข็งแรงสูงเพื่อต่อต้านแรงสั่นสะเทือน และแรงปะทะของความเร็วลม นอกเหนือจากการแบกรับน้ำหนักมหาศาล ในขณะที่ชั้นวางเครื่องเสียงก็ต้องรับภาระต่อต้านแรงสั่นสะเทือนจากพื้น และแรงอัด-กระแทกของคลื่นเสียงในอากาศรายรอบ นอกเหนือจากการแบกรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องเสียง ปัจจุบันการออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงมีอยู่หลายหลากแนวทางด้วยกัน ทั้งแบบมวลเบา (light rack) และแบบมวลหนัก (heavy rack) กระทั่งผสมผสานกันในลักษณะของวัสดุผสม (combination)

ชั้นวางที่ออกแบบมาอย่างดีจะไม่เพิ่มหรือลดสิ่งใดในข้อมูลเสียง การออกแบบชั้นวางให้ทำงานอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ การแยกส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ จะเอื้อประโยชน์ต่อคุณภาพของเสียงต่ำ รายละเอียด การโฟกัสของภาพ จะสำแดงผลต่อการรับฟังทันที เนื่องจากส่วนหนึ่งของข้อมูลที่สูญเสียไปเนื่องจากการสั่นไหวจะยังคงดำรงอยู่ครบถ้วน จนถ่ายทอดไปสู่เครื่องขยายเสียง

ชั้นวางที่ดีจะทำหน้าที่เพื่อแยก/ป้องกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราให้พ้นจากแรงสั่นบนพื้นเป็นหลัก และคลื่นแรงกระแทกจากอากาศรอบด้านเป็นรอง โดยต้องไม่มีอะไรเพิ่มเติมให้มากขึ้น หรือไม่มีอะไรลดน้อยให้ด้อยลง นอกจากนี้ หากได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี สามารถลดการสั่นสะเทือนส่วนหนึ่งที่เกิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง/เครื่องเล่นซีดีได้โดยตรง …แต่เก่าก่อนเรา-ท่านอาจคุ้นเคยกับการใช้วัสดุประเภทยาง (rubber) หรือวัสดุคล้ายยาง (rubber-like material) มาใช้ในการวางรองชั้นวางและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า “ยาง” เป็นตัวดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกับวัสดุยางหนืดประเภทอีลาสโตเมอร์ (elastomers) จะมีคุณสมบัติดูดซับที่ดียิ่งขึ้น โดยจะเปลี่ยนพลังงานส่วนหนึ่งให้เป็นความร้อนสลายไปสู่อากาศ นอกเหนือจากดูดซับแรงสั่นสะเทือน

แล้วเราควรเลือกใช้การควบคุมการสั่นสะเทือนแบบใด?

ชั้นวางเครื่องเสียงแบบมวลเบา (light rack) หรือว่าแบบมวลหนัก (heavy rack) …คนส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์การขับขี่บนถนนที่คดเคี้ยวและเป็นหลุมเป็นบ่อในรถยนต์ที่มีระบบกันสะเทือนแบบนุ่มนวลและในรถยนต์ที่มีระบบกันสะเทือนแบบแข็ง ระบบกันสะเทือนแบบแข็งช่วยให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น ในขณะที่ระบบกันสะเทือนแบบนุ่มนวลช่วยให้นั่งได้นุ่มนวลขึ้น “แข็งหรืออ่อน?” ขึ้นอยู่กับคนขับและจุดประสงค์ในการใช้รถ หากเป็นเพื่อความนั่งสบาย คุณจะต้องชอบระบบกันสะเทือนแบบนุ่มนวล หากคุณต้องการควบคุมรถให้ดีขึ้น ระบบกันสะเทือนแบบแข็งก็คือทางเลือก มันค่อนข้างตรงไปตรงมาถ้าคุณต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าคุณต้องการทั้งสองอย่างล่ะ? ความยากก็จะมากขึ้นอีกหน่อยที่จะบรรลุผล…

เมื่อบรรลุผลต่อการดูดซับ-สลายแรงสั่นสะเทือนของชั้นวางเครื่องเสียง จะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อสามารถทำการดูดซับ-สลายแรงสั่นสะเทือนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เมื่อนั้นเสียงรบกวน (noise) แทรกซ้อนต่อการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงย่อมลดลง และเมื่อเสียงรบกวนน้อยลง ย่อมส่งผลต่อการเหนี่ยวนำสัญญาณไฟฟ้าไมโครโฟนิค (microphonic)ในวงจรอันละเอียดอ่อนให้เกิดน้อยลงตามไปด้วย ความผิดเพี้ยนของอินเตอร์มอดูเลตก็จักลดน้อยลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อการบิดเบือนทางเสียงในระดับต่ำ ทำให้การรับฟังได้มาซึ่งเสียงที่ควรจะเป็นอย่างแม่นยำ และให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยยังคงคุณสมบัติปลีกย่อยอย่างไดนามิกอันน่าตื่นเต้นไว้อย่างครบถ้วน

การควบคุมแรงสั่นสะเทือน หรือ “ isolation” เป็นวิถีทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เกมหวังผลด้วยการคาดเดา

ความจริงที่ว่า แรงสั่นสะเทือนสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพของวงจรที่มีความละเอียดอ่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า หากเขย่าวงจรแรงพอประมาณ ประสิทธิภาพของวงจรจะลดลง ยิ่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องมีความละเอียดอ่อนมากเท่าใด การใช้อุปกรณ์แยกสลายและถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนทิ้งไปก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งในระบบเสียง (และวิดีโอ) ระดับไฮ-เอนด์ ชั้นวางเยี่ยมๆ จึงเป็นความจำเป็น เนื่องจากขีดจำกัดความสามารถของวงจรในอุปกรณ์อันทันสมัยนั้นมีความละเอียดเพิ่มสูงมากขึ้นทุกวัน ความผิดเพี้ยน/บิดเบือนทางเสียงนับวันก็ยิ่งลดน้อยลงด้วยเช่นกัน การดำรงคงอยู่ของรายละเอียดเสียงอันละเอียดอ่อนได้อย่างครบถ้วนจึงนับเป็นสิ่งที่น่าถวิลหา และคุ้มค่าต่อการลงทุนให้กับชั้นวางที่ยอดเยี่ยม

หลักการกำจัดพลังงานสั่นสะเทือน

กฎฟิสิกส์ในตอนต้นของศตวรรษที่ 21 ระบุว่ามีเพียง 2 วิธีในการกำจัดพลังงาน: ใช้เป็นพลังงานต่อการทำงาน (use it up as work) กับกระจายพลังงานเป็นความร้อน (dissipate it as heat) ดังนั้นพัฒนาการตามหลักทฤษฎีจึงนำไปสู่แนวทางของการถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนทิ้งไป และการแยกสลาย (drainage and isolation) ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

การพ่นเคลือบสีผิวชั้นวางเครื่องเสียงจะสามารถช่วยดูดซับ-สลายแรงสั่นสะเทือนได้หรือไม่?

วิทยาการในปัจจุบัน ยังไม่สีที่ให้คุณสมบัติช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือน “สี” เป็นเพียงการคลุมพื้นผิววัสดุโครงสร้างของชั้นวางภายนอก โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนทางเคมีหรือโครงสร้างใดๆ ดังนั้นการพ่นเคลือบสีจึงมิได้มีส่วนช่วยดูดซับ หรือ สลายแรงสั่นสะเทือนแต่อย่างใด

Mechanical Impedance Matching (อิมพีแดนซ์ทางกลที่เหมาะเจาะ) คือคำตอบ?

ทุกวันนี้ เรามีความรู้ในเรื่องของความแตกต่างกันของอิมพีแดนซ์ทางกลต่อการส่งทอดพลังงานจากวัสดุที่แตกต่างกัน  โลหะต่างชนิดกันก็จะมีความต้านทานพลังงานแตกต่างกันไป ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุโลหะต่างชนิดกันมาประสานกันก็ย่อมส่งผลต่อการส่งทอดพลังงาน หากการ “จับคู่” ให้มีอิมพีแดนซ์ทางกลที่เหมาะเจาะกัน (Mechanical Impedance Matching) จึงน่าจะเป็นคำตอบ…

การวางวัสดุไว้ระหว่างวัสดุ 2 ชนิดที่ไม่เหมือนกันโดยมี “อิมพีแดนซ์” คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างวัสดุทั้งสองนั้น พลังงานจะไม่ข้ามจากโลหะหนึ่งไปยังอีกโลหะหนึ่งโดยตรง แต่พลังงานจะต้องข้ามผ่านจาก “ตัวกลาง” ที่คั่นอยู่ระหว่างวัสดุโลหะทั้งสองชนิดนั้น ส่งผลให้การส่งผ่านพลังงานนั้นลดน้อยลงไป ยิ่งมีความต่างชนิดกันของวัสดุโลหะ รวมทั้งวัสดุตัวกลาง (ที่ยึดวัสดุโลหะทั้งสองชนิดให้ติดกัน) การส่งผ่านพลังงานก็จะลดน้อยลงไปมาก เสมือนว่าพลังงานแรงสั่นสะเทือนนั้นถูกกักอยู่ในเนื้อวัสดุโลหะแต่ละชนิด (โดยแทบไม่ส่งต่อออกไป)

ดังนั้นการออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงอย่างชาญฉลาดด้วยหลักการนี้ จึงจำเป็นต้อง “จับคู่” เนื้อวัสดุโลหะที่เหมาะเจาะกันมาใช้งาน รวมไปถึงการเลือกใช้ “ตัวกลาง” ที่มีความแข็งแรงอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสภาพการไม่ส่งต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือนไป-มาระหว่างกัน พลังงานนั้นๆ ก็จะลดแรงกระทำลงไปเอง

Life Audio Rack พัฒนาจากหลักการ Mechanical Impedance Matching กระนั้น

Life Audio เป็นแบรนด์ของคนไทย จุดกำเนิดมาจากแนวคิดที่อยากให้คนไทยได้มีอุปกรณ์เสริมสำหรับชุดเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์คุณภาพเทียบเท่าแบรนด์ดังของต่างประเทศ แต่มีราคาย่อมเยากว่า ปัจจุบัน Life Audio มีแอ็กเซสซอรี่ส์ หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องเสียงจำหน่ายหลายหลาก ตั้งแต่สายสัญญาณ สายลำโพง สายไฟ ปลั๊กรางไฟ ไปจนถึงอุปกรณ์รองรับใต้เครื่องเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือน รวมถึงชั้นวางเครื่องเสียง ระดับราคาก็มีให้เลือกตามแต่งบประมาณ เริ่มต้นที่หลักพันบาท ไปจนถึงระดับไฮเอ็นด์… Life Audio  เริ่มก่อตั้งและจดทะเบียนในปี 2016

Life Audio ให้เหตุผลในการสร้างชั้นวางเครื่องเสียงขึ้นมาใช้งาน เนื่องจากค้นพบว่า ชั้นวางเครื่องเสียงนั้นส่งผลต่อเสียงโดยตรงแบบชัดเจนมาก ซึ่งมีทั้งในทางที่ดี และในทางที่ไม่ดี จึงได้หาแนวคิดมาพัฒนาชั้นวางเครื่องเสียงในแนวทางที่เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา จริงๆ แล้ว Life Audio ออกแบบสร้างชั้นวางเครื่องเสียงขึ้นมาหลายรุ่น โดยมี “Classic Rack” เป็นระดับเริ่มต้น หรือเป็นรุ่นเล็กสุดนั่นเอง

Classic Rack ของ Life Audioเลือกใช้เนื้อวัสดุโลหะต่างชนิดกัน โดยเป็นวัสดุ Solid Aluminum ( อลูมินั่มตัน ) และ Solid Brass (ทองเหลืองตัน) ส่วนที่เป็นแผ่นเพลทของชั้นจะเป็น Solid Aluminum ทำสีดำอะโนไดซ์ ส่วนเฟรมก็เป็น Solid Aluminum ทำสีแดงอะโนไดซ์ แล้วยึดแผ่นเพลทเข้ากับเฟรมด้วยน็อตสแตนเลสชุบทองคำ 24 K ส่วนตัวเสาเป็น Solid Aluminum ทำสีดำอะโนไดซ์ สำหรับส่วนที่เป็นเดือยแหลม (spike) และฝาปิดหัวเสาทำจากทองเหลืองตัน เคลือบด้วยทองคำ 24K ทั้งนี้ Classic Rack สามารถประกอบแบบต่อตัวติดกันขึ้นเป็นชั้นๆ ก็ได้ หรือจะวางแบบซ้อนกันต่อตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ได้ หรือจะวางแบบเดี่ยวตัวใครตัวมันก็ได้ สุดแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน

ตัวแผ่นเพลทและเฟรมของแต่ละชั้นหนา 15 มม. ต้นเสาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 มม. พื้นที่ด้านกว้างรวม 645 มม. พื้นที่ด้านลึกรวม 510 มม. พื้นใช้งาน 480×480 มม. น้ำหนักชั้นละ 17-23 กก. (ขึ้นอยู่กับความสูงของเสา) ซึ่งแต่ละชั้นจะสามารถรองรับน้ำหนักได้ชั้นละ 80 กก.

คุณหน่อย (Varawoot Varaai) ประธานกรรมการของ Life Audio บอกกับ What Hi-Fi ? Thailand ว่า เราทดลองมาทุกวัสดุแล้ว ซึ่งก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันออกไป เราจึงเลือกวัสดุที่เราสามารถกำจัดข้อเสียได้ แล้วยังคงข้อดีไว้อยู่ ซึ่งข้อดีของอลูมินั่มกับทองเหลือง คือ ให้ความนิ่ง ความแน่น ความสะอาด อิมแพค ของเสียงที่ดี แต่ข้อเสียคือ เสียงจะมีความคม แข็ง พุ่ง เรากำจัดความคม-ความแข็งของเสียงด้วยการคลายความเครียดของวัสดุ ด้วยการกัดเซาะร่องให้กับวัสดุ ลายและร่องที่เราเห็น ไม่ใช่เพื่อความสวยงามนะครับ แต่เพื่อให้ได้เสียงที่ดี และเราก็ออกแบบให้มันมีเอกษณ์ไปในตัวด้วยครับ

ลวดลายเซาะร่องบนตัวแผ่นเพลทของ Classic Rack

ผลการรับฟัง

ในความเป็นจริง ชั้นวางแต่ละแบรนด์ย่อมจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง และแต่ละแบรนด์ก็ให้เสียงที่แตกต่างกัน สำหรับ Classic Rack ที่แม้จะได้ชื่อเป็นชั้นวางรุ่นเล็กของ Life Audio แต่ก็พูดได้ว่า ส่งผลช่วยปรับปรุงสมรรถนะเครื่องเสียง มีความสมบูรณ์ในการส่งมอบรายละเอียด และไดนามิกอย่างมาก รับรู้ได้ถึงความสงัดของเสียงที่เงียบขึ้น ปราศจากสิ่งแปลกปลอม การสำแดงศักยภาพทางเสียงได้รับการปรับปรุง บ่งบอกได้ถึงความสมจริง และทำให้เข้าถึงอารมณ์ร่วมในดนตรีที่รับฟัง

Classic Rack” ให้มวลเสียงที่เข้มข้น เบสหนักแน่น เนื้อเสียงหนา เอิบอิ่ม ให้ความมีตัวตนมีชีวิตชีวา บ่งบอกรายละเอียดได้อย่างจะแจ้ง ให้ความอิสระแจ่มชัดไม่คลุมเครือ แยกแยะแถวชั้นในสภาพเวทีเสียงที่ชัดเจน รวมถึงพลังไดนามิกอันรุกเร้าใจ Classic Rack” ให้การรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของเสียงจากซิสเต็มที่รับฟังได้ในทันที

“Classic Rack” ให้เสียงที่ลื่นไหล อลังการ์ ฟังแล้วได้อารมณ์ร่วม โฟกัสนิ่งสนิท รวมไปถึงสเกลเสียงอันเหมาะสม ไม่ใหญ่หรือเล็กผิดความเป็นจริง …ฟังแล้วอินและฟิน จนบางทีก็เร่งระดับความดังเสียงที่รับฟังให้ดังขึ้นกว่าปกติ โดยไม่รู้สึกสากกร้าน กระด้างหู แต่กลับได้ความมันส์ในอารมณ์ที่มากขึ้น สนุกและเร้าใจมากขึ้น ด้วยความรู้สึกในเสียงดนตรีอันสมจริง

สรุปส่งท้าย

คุณหน่อย (Varawoot Varaai) ประธานกรรมการของ Life Audio บอกกับผู้เขียนว่า เราสร้างชั้นวางรุ่น Classic Rack ขึ้นมาด้วย 3 เหตุผลหลักดังนี้:- 1. ต้องการให้เป็นชั้นวางที่มีคุณภาพสูงที่สุดในระดับราคาไม่เกิน 50,000 บาท 2. เราต้องการให้เป็นชั้นวางที่มีดีไซด์แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร 3. เราต้องการให้เป็นชั้นวางที่ดูดีมีระดับ มีความแข็งแรงสูง ให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม ใช้แล้วต้องภูมิใจ …สำหรับผม บอกตามตรงครับ “ภาคภูมิใจกับมันสมองและความคิดของคนไทยในฝีมือการออกแบบที่ทั้งสง่างาม และให้ผลใช้งานได้ดีมากๆ ไม่ด้อยหรือแพ้แบรนด์ต่างชาติเลยจริงๆ ครับ


ขอขอบคุณ Life Audio Co.,Ltd โทร.038 196 793, 084 596 6262