…ครั้งหนึ่งในช่วงยุค’80 เรา-ท่านน่าจะยังพอจดจำได้กับการนำเสนอเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไม่ได้ใช้หัวเข็ม (Cartridge) ในการอ่านร่องเสียง (Groove) บนแผ่นเสียง ซึ่งนับว่า เป็นที่ตื่นเต้น ฮือฮามาก นั่นคือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ เลเซอร์ (Laser Turntable) หรือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ ออปติคัล (Optical Turntable) ซึ่งก็คือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เล่นแผ่นเสียง LP มาตรฐาน (และแผ่นเสียงขนาดอื่น) โดยใช้ลำแสงเลเซอร์เป็นตัวรับข้อมูลอักขระบนร่องแผ่นเสียง แทนที่การใช้เข็มสไตลัส (Stylus) เหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วไป แต่แม้ว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียง Laser Turntable นี้จะใช้ตัวรับแบบเลเซอร์เช่นเดียวกับเครื่องเล่นแผ่นซีดี แต่สัญญาณยังคงอยู่ในรูปอะนาลอก และจะไม่ถูกแปลงเป็นดิจิทัล William K. Heine ได้นำเสนอเอกสารเรื่อง “เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบสแกนด้วยเลเซอร์” (A Laser Scanning Phonograph Record Player) ต่อการประชุมสมาคมวิศวกรรมเสียง (Audio Engineering Society: AES) ครั้งที่ 57 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่ Heine พัฒนาขึ้น ซึ่งใช้เลเซอร์ฮีเลียม-นีออน (Helium–neon Laser) ขนาด 2.2 มิลลิวัตต์เพียงตัวเดียว ในการติดตามร่องแผ่นเสียง (Record Groove) และเล่นเสียงสเตอริโอของเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ เรียลไทม์ (Real Time) ต้นแบบที่ใช้งานได้ ซึ่งได้รับการพัฒนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) มีชื่อว่า “LASERPHONE” และวิธีการที่ใช้ในการเล่นแผ่นเสียงได้รับสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาหมายเลข 3,992,593 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) Heine ได้สรุปในเอกสารของเขาว่า หวังว่างานของเขานี้จะช่วยเพิ่มความสนใจในการใช้เลเซอร์สำหรับการเล่นแผ่นเสียง
Finial Technology สี่ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1981, Robert S. Reis นักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Stanford ได้เขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง “An Optical Turntable” (แท่นหมุนแบบออปติคัล) ในปี ค.ศ. 1983 เขา และ Robert E. Stoddard วิศวกรไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัย Stanford ได้ก่อตั้ง Finial Technology เพื่อพัฒนาและทำการตลาดแท่นหมุนแบบออปติคัลดังกล่าว โดยระดมทุนได้ 7 ล้านเหรียญจาก Venture Capital และแล้วในปี ค.ศ. 1984, Robert N. Stark ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมเซอร์โวได้เข้าร่วมโครงการนี้ แบบจำลองของเครื่องเล่นแผ่นเสียง ‘Finial’ ที่ใช้งานไม่ได้ (Mockup) ถูกนำมาแสดงในงาน Consumer Electronics Show (CES) ในปี ค.ศ. 1984 ซึ่งสร้างความสนใจอย่างมาก แต่ก็ยังคงเป็นความลึกลับในระดับหนึ่ง เนื่องจากยังไม่มีการอนุมัติสิทธิบัตรและรายละเอียดต่างๆ จึงต้องปกปิดเป็นความลับ แบบจำลองที่ใช้งานได้รุ่นแรกคือ Finial LT-1 (Laser Turntable-1) ซึ่งสร้างเสร็จทันเวลาสำหรับงาน CES ในปี ค.ศ. 1986 ต้นแบบเผยให้เห็นข้อบกพร่องที่น่าสนใจของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลเซอร์ นั่นคือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีความแม่นยำมากจนสามารถ “เล่น” สิ่งสกปรกและฝุ่นละอองทุกอนุภาคบนแผ่นเสียงออกมาได้ แทนที่จะผลักสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองเหล่านั้นออกไปเหมือนที่เข็มทั่วไปทำ ตัวรับสัญญาณเลเซอร์แบบ ไม่สัมผัส (Non-contact laser pickup) มีข้อดีคือ ช่วยขจัดการสึกหรอของแผ่นเสียง ไร้เสียงรบกวน ไม่มีเสียงดังของมอเตอร์เครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมถึงไม่มีฟีดแบ็คจากลำโพง แต่เสียงก็ยังคงเป็นเสียงของเครื่องเล่นแผ่นเสียง LP มากกว่าแผ่นซีดี ราคาที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐ (ต่อมาได้ปรับเป็น 3,786 เหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 1988) เป็นตัวจำกัดตลาด เฉพาะที่มีศักยภาพในแวดวงมืออาชีพ (Professionals) อย่างเช่น ห้องสมุด สถานีวิทยุ และบรรณารักษ์ และนักเล่นเครื่องเสียงที่ร่ำรวยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เครื่องเล่นแผ่นเสียง Finial ไม่เคยเข้าสู่สายพานการผลิต หลังจากที่ Finial ได้แสดงต้นแบบที่ประกอบขึ้นด้วยมือ (และพิถีพิถัน) สองสามชิ้น ความล่าช้าของเครื่องมือ การไม่มีชิ้นส่วน (ในยุคก่อนที่จะมีเลเซอร์ราคาถูก) ความผิดพลาดทางการตลาด และต้นทุนการพัฒนาที่สูง ทำให้วันวางจำหน่ายต้องเลื่อนออกไป การพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลเซอร์ที่ยาวนานเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และการเปิดตัวแผ่น Compact Disc / Digital Audio ซึ่งไม่นานก็เริ่มล้นตลาดในราคาที่เทียบได้กับแผ่นเสียงไวนิล (โดยเครื่องเล่นซีดีมีราคาประมาณ 300 ดอลลาร์) ยอดขายแผ่นเสียงไวนิลลดลง และผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีชื่อเสียงหลายรายก็ต้องปิดกิจการลง ด้วยเงินลงทุนกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ Finial Technology ต้องเผชิญกับปัญหาทางการตลาด หากเดินหน้าต่อไปด้วยราคาขายที่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือว่า เสี่ยงทำการผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ราคาที่ต่ำกว่ามาก และหวังว่า ตลาดจะลดต้นทุนลง ทว่าทั้งสองวิธีนี้ดูเหมือนจะไม่สามารถทำได้ในตลาดที่กำลังหดตัวอย่างรวดเร็ว
ELP ในที่สุดในช่วงปลายปี ค.ศ. 1989 หลังจากการวิจัยเกือบเจ็ดปี นักลงทุนของ Finial Technology ก็ยอมขาดทุนและปิดบริษัท โดยขายสิทธิบัตรให้กับ CTI Japan ผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาก็ได้ก่อตั้ง ELP Japan ขึ้น เพื่อพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลเซอร์ที่วางเป้าหมายสำหรับ “Super-audiophile” ต่อไป หลังจากพัฒนาต่ออีกแปดปี เครื่องเล่นแผ่นเสียงเลเซอร์ก็ได้วางขายในที่สุดในปี ค.ศ. 1997 หรือ 20 ปีหลังจากข้อเสนอเริ่มต้น โดยมีชื่อว่า ELP LT-1XA Laser Turntable ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ 20,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ในปี ค.ศ. 2003 ราคาได้ลดลงเหลือ 10,500 ดอลลาร์สหรัฐ) เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้เลเซอร์สองตัวในการอ่านร่องเสียง และอีกสามตัวในการวางตำแหน่งหัวอ่านแผ่น ทำให้สามารถปรับความลึกในการอ่านร่องได้ ซึ่งอาจหลีกเลี่ยงการสึกหรอของแผ่นเสียงที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ไม่สามารถอ่านแผ่นเสียงไวนิลแบบใสหรือสีได้ ทั้งนี้ ELP จำหน่ายเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลเซอร์แบบสั่งทำโดยตรงให้กับผู้บริโภคในสองเวอร์ชันด้วยกัน (LT-basic และ LT-master) โดยมีต้นทุนประมาณ 16,000 ดอลลาร์สำหรับรุ่นพื้นฐาน
Optora ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 บริษัท Almedio ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตไดร์ฟคอมพิวเตอร์ ได้นำเสนอเครื่องเล่นแผ่นเสียงออปติคอล (เลเซอร์) รุ่น Optora ORP-1 ในงานแสดงเครื่องเสียง HIGH END ที่เมืองมิวนิค (HIGH-END Munich Audio Show) ในเยอรมนี ทว่าบริษัทไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก เนื่องจาก Optora เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงจำลองที่ใช้งานจริงไม่ได้ (Mockup) เช่นเดียวกับการเปิดตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น Finial ในปี ค.ศ. 1984 ตัวแทนของบริษัทระบุว่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้จะใช้เลเซอร์ 5 ตัว และขับเคลื่อนด้วยสายพานเช่นเดียวกับ ELP อย่างไรก็ตาม หลังจากผลิตสื่อส่งเสริมการขายบางส่วน ก็ไม่มีการประกาศราคา และ Optora ก็ไม่ได้ออกสู่ตลาด เว็บไซต์ของบริษัทที่อุทิศให้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้จึงถูกลบทิ้งไปแล้ว
Performance ทั้งนี้ทั้งนั้น มีนักวิจารณ์บางท่านในนิตยสารชื่อดังได้เคยรับฟัง ELP Laser Turntable ในปี ค.ศ. 2008 อย่าง Jonathan Valin แห่ง The Absolute Sound และ Michael Fremer แห่ง Stereophile แล้วเขียนบทสรุปสั้นๆ ไว้ว่า:- Jonathan Valin – สำหรับบทวิจารณ์รุ่น ELP LT-1LRC “ถ้าผมต้องอธิบายการนำเสนอของมันในไม่กี่คำ มันคงจะเป็น ‘น่าฟังแต่น่าเบื่อ’” Valin ชื่นชมความแม่นยำของโทนเสียงในการเล่น แต่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดช่วงไดนามิก และการตอบสนองเสียงเบส (ข้อจำกัดของแผ่นเสียงไวนิลเอง) เขาย้ำว่า ต้องทำความสะอาดแผ่นเสียงแบบ เปียก (Wet-cleaned) ในทันทีก่อนเล่น เพราะว่า: “ต่างจากเข็มเพชรที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งไถผ่านร่องของแผ่นเสียงเหมือนหัวเรือ เข็มเลเซอร์ลำแสงขนาดเล็กของ ELP แทบไม่มีมวล และไม่สามารถเคลื่อนย้ายอนุภาคฝุ่นออกจากร่องเสียงได้ แม้แต่เศษฝุ่นเล็ก ๆ ก็ถูกอ่านขึ้นมาด้วยเลเซอร์ พร้อมกับเสียงเพลง” Michael Fremer – สำหรับบทวิจารณ์รุ่น LT-2XRC “…ลองพิจารณาข้อดีมากมายของ LT: ไม่มีเสียงคราง (rumble) หรือ เสียงรบกวนพื้นหลังใด ๆ; ไม่มีเสียงกำทอน (Resonances) ที่เกิดจากหัวเข็ม หรือ ความผิดปกติของการตอบสนองความถี่; ไม่มีการประนีประนอมในเรื่องการแยกช่องสัญญาณ (ELP รับประกันการแยกช่องสัญญาณเกินกว่าที่หัวตัดที่ดีที่สุดมี); ไม่มีข้อผิดพลาดในการติดตามร่องเสียง (Zero Tracking / Tracing Error); ไม่มีการบิดเบือนร่องด้านใน (Inner-groove distortion); ไม่มีการไถลลื่น (No Skating); ไม่ต้องปรับ VTA หรือ อซิมุธ (Azimuth) ให้ต้องกังวล; ไม่มีข้อผิดพลาดด้านแทนเจนต์ (No Tangency Error) เช่นเดียวกับหัวตัดแผ่น (เลเซอร์พิกอัพ เคลื่อนที่แบบ linear tracker); ไม่มีการสึกหรอของแผ่นเสียง; อ้างว่าตอบสนองความถี่ได้ 10Hz–25kHz; และเนื่องจากลำแสงเลเซอร์มีพื้นที่สัมผัสน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสไตลัสรูปวงรีที่เล็กที่สุด จึงสามารถผ่านส่วนของ Engraved Waveform ได้ ซึ่งแม้แต่สไตลัสที่เล็กที่สุดก็พลาดได้” อย่างไรก็ตาม Fremer ยังตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งหมดนี้ต้องแลกมาด้วยต้นทุน และระบุไว้ใน Stereophile ว่า “เลเซอร์พิกอัพของ LT-2XRC ไม่สามารถแยกแยะการมอดูเลตร่องจากสิ่งสกปรกได้ แผ่นเสียงที่ฟังดูเงียบสนิทบนเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วไป อาจฟังดูเหมือนกำลังกินมันฝรั่งทอดขณะรับฟัง ELP น่าเสียดาย มีทางแก้ปัญหาแน่นอน นั่นก็คือ เครื่องทำความสะอาดแผ่นเสียง ซึ่งไม่สามารถถือเป็น ‘อุปกรณ์เสริม’ ของ LT ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องมี แม้แต่แผ่นเสียงใหม่ที่เพิ่งแกะออกจากซองก็อาจฟังดูกรอบแกรบได้” สุดท้าย Fremer ได้สรุปว่า “แปลกตรงที่ว่า ถ้าคุณฟังเพลงเอง คุณจะไม่รู้เลยว่าคุณกำลังฟังแผ่นเสียง LP มันเกือบจะเหมือนฟังจากเทปม้วน (Reel-to-Reel tape) เลย น่าเสียดายที่เมื่อมีเสียงรบกวน มันจะเตือนคุณเสมอว่า คุณกำลังฟังแผ่นเสียง LP อยู่ นั่นคือ สิ่งที่น่าสับสนเกี่ยวกับอุปกรณ์อันยอดเยี่ยมนี้”
ELP (Edison Laser Player) Japan Edison Laser Player (ELP) ประเทศญี่ปุ่นเป็นบริษัทอุปกรณ์เสียงของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดย Sanju Chiba เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ ELP มีต้นกำเนิดจากบริษัท Finial Technologies สัญชาติอเมริกัน ซึ่งนำโดย Michael Stoddard โดยเขาออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงต้นแบบสำหรับเล่นแผ่นเสียงไวนิลโดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 แต่น่าเสียดายที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่แผ่นซีดีเริ่มได้รับความนิยมในเชิงพาณิชย์ (Finial จึงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และขายลิขสิทธิ์ให้กับ ELP ในปี ค.ศ. 1989) แต่ละเครื่องที่ผลิตล้วนได้รับการสร้างขึ้นตามสั่ง (Custom Built) โดยราคาทั่วไปในช่วงกลางทศวรรษ 2000 อยู่ที่ประมาณ 11,000 ถึง 15,000 ดอลลาร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ใช้เลเซอร์ 5 ตัวทำงานร่วมกัน ซึ่งชี้ไปในทิศทางต่างๆ ของร่องเสียงในแผ่นเสียงไวนิล เพื่อให้แน่ใจว่ารับสัญญาณได้อย่างสม่ำเสมอด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ ทั้งนี้การโหลดใส่แผ่นและนำแผ่นเสียงไวนิลออกจึงคล้ายกับกระบวนการที่ใช้ในเครื่องเล่นซีดีระดับไฮ-เอนด์ส่วนใหญ่ การไม่มีชิ้นส่วนเชิงกลทำให้สามารถเล่นแผ่นเสียงได้ดีขึ้นมาก แม้แต่แผ่นที่มีรอยขีดข่วนและบิดโก่ง นอกจากนี้ยังสามารถเลือกแทร็กได้โดยตรงเหมือนซีดี รวมถึงความสามารถในการเปลี่ยนระดับเสียง (Pitch) ในระดับเสียงที่เล็กลง ซึ่งไม่สามารถทำได้ในทางกายภาพด้วยการใช้ CD Technology ข้อเสียอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดของเทคโนโลยีเลเซอร์ที่ใช้ก็คือ จะไม่สามารถเล่นแผ่นไวนิลใส หรือ ไวนิลสีได้ ซึ่งบางครั้งใช้สำหรับแผ่นซิงเกิ้ลใหม่ และสื่อส่งเสริมการขาย ข้อเสียอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้รับเสียงได้ดีขึ้น แต่เทคโนโลยีนี้ยัง “อ่าน” ฝุ่นและสิ่งสกปรกทั้งหมดในร่องเสียง แทนที่จะผลักออกไป ทำให้เสียงคลิกและเสียงป็อปสามารถชัดเจนขึ้นมาก ดังนั้นจึงต้องทำความสะอาดแผ่นไวนิลอย่างละเอียดและบ่อยครั้ง
__________________