KC62 Powered Sub-Woofer w/Uni-Core Technology ระเบิดซ่อนรูป

0

กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่แบรนด์จากสหราชอาณาจักรสายพันธุ์อังกฤษค่ายนี้โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรลำโพง พร้อมสร้างสีสันให้วงการได้ฮือฮากันเป็นระยะๆ ด้วยนานานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีแขนงนี้ ที่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งกับรางวัลต่างๆ ที่ได้รับมากว่า 300 รางวัล ล้วนตอกย้ำคำกล่าวที่ว่านั้นได้เป็นอย่างดี และนั้นยังไม่ได้รวมถึงการถือครองสิทธิบัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำโพงมากกว่า 150 ฉบับ ทั้งยังได้มีการตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการออกมาเผยแพร่อีกกว่า 50 ชิ้นด้วย

​ที่สำคัญคือได้รับรางวัลระดับสูงสุดของสหราชอาณาจักรอย่าง Queen’s Awards ในสาขาความสำเร็จทางด้านการส่งออกถึงสองรางวัลด้วยกัน

​KEF เป็นแบรนด์ในสังกัดของ KEF Electronics Ltd. ที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาโดย Raymond Cooke และ Robert Pearch เมื่อปี ค.ศ.1961 ด้วยความมุ่งหมายในการออกแบบและผลิตลำโพงระดับไฮ-เอนด์ ด้วยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี ที่ผสานเข้ากับการนำวัสดุอันทันสมัยมาใช้ โดยได้ชื่อย่อมาจาก Kent Engineering & Foundry ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของพ่อคุณเรย์มอนด์ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Maidstone มณฑล Kent ของอังกฤษ

​โดยพื้นเพแล้วคุณเรย์มอนด์เคยเป็นวิศวกรออกแบบอยู่ที่ BBC : British Broadcasting Corporation จากนั้นก็ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคให้กับ Wharfedale ยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมลำโพงของสหราชอาณาจักร เมื่อทางวาร์ฟเดลมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เขาก็ได้ออกมาตั้งบริษัทร่วมกับคุณรอเบิร์ตเพื่อผลิตลำโพงตามแนวทางและแนวคิดของตนเอง ความสำเร็จอันน่าทึ่งประการหนึ่งของลำโพงค่ายนี้ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ KEF : 50 Years of Innovation in Sound ก็คือสามารถลดขนาดตู้ของลำโพงที่ให้สียงเบสอันลือลั่นสนั่นห้องจากแต่เดิมที่เคยมีปริมาตร 9-10 ลูกบาศก์ฟุต ให้ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 2 ลูกบาศก์ฟุต เท่านั้นเอง

​ซึ่งความสำเร็จที่ว่านั้นได้แนวทางมาจากการออกแบบระบบการทำงานภายในตู้ที่เรียกว่าAcoustic Suspension หรือเป็นที่รู้จักที่รู้จักและเรียกกันติดปากนักเล่นเครื่องเสียงว่า ‘ลำโพงตู้ปิด’ที่คิดค้นขึ้นมาโดย Edgar Marion Villchur ปรมาจารย์ด้านการออกแบบลำโพงของอเมริกาเจ้าของฉายา American Inventor, Educator & Writer ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง (ลำโพง, เครื่องเล่นแผ่นเสียง และแอมปลิไฟเออร์) AR : Acoustic Research ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเล่นเครื่องเสียงทั่วโลกนั่นเอง

​คุณูปการของคุณเอ็ดการ์ วิลเชอร์ ที่มีต่ออุตสาหกรรมและวงการเครื่องเสียงนั้น มิเพียงเป็นผู้คิดค้นระบบอะคูสติก ซัสเพนชัน ของลำโพงเท่านั้น หากยังเป็นผู้คิดค้นระบบป้องกันการสั่นสะเทือนในเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ ‘แขวนลอย’ ด้วยสปริงสามจุด ที่เป็นต้นแบบและเป็นแนวทางให้เทิร์นเทเบิลระดับ Super Hi-End หลายแบรนด์จากหลายๆ ค่าย เดินตามอย่างเคร่งครัดมาจนทุกวันนี้อีกด้วย

​KEF ได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบและผลิตลำโพงรายแรก ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบและวัดค่าในการตรวจสอบ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปิดตัวชุดตัวขับเสียงแบบ Uni-Q Driver เมื่อปี ค.ศ.1988 และมีพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเจเนเรชันที่ 12 แล้ว 

​และล่าสุดนับเป็นรายแรกอีกเช่นกันที่ใช้วัสดุ Metamaterial ในการดูดซับเสียงไม่พึงประสงค์ที่ใช้ติดตั้งอยู่ด้านหลังไดรเวอร์ นับเป็นอีกนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่ค่ายนี้คิดค้นขึ้นมา

​รู้จักกันพอเป็นสังเขปเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนไปจานหลักเท่านี้ละกันนะครับ

KEF KC62

W/Uni-Core Technology

​หลังจากได้นำเสนอนวัตกรรม MAT : Meta-material Absorption Technology ผ่านลำโพงรุ่นใหม่ๆ ไปได้ไม่นาน KEF ก็ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Uni-Core ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้กับลำโพงตลอดจนซับ-วูฟเฟอร์แบบแยกชิ้น เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของทีมวิศวรกรเสียง ที่ต้องการออกแบบลำโพงสมรรถนะสูงภายใต้โครงสร้างที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ซึ่งสามารถลดปริมาตรภายในตู้ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อันนำมาซึ่งจุดมุ่งหมายในการออกแบบลำโพงที่สวยงาม น่าใช้ โดยไม่ประนีประนอมหรืออ่อนข้อให้ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องการพื้นที่ในการหาที่ทางวางตั้งให้มากนักอีกด้วย

​โดยมีความท้าทายแรกเพื่อการนั้นก็คือ ต้องบรรจุไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ภายในตู้ที่มีขนาดกะทัดรัดให้ได้

​ซึ่ง Dr.Jack Oclee-Brown หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแบรนด์ได้บอกว่า การออกแบบลำโพงให้ได้เสียงทุ้มที่มีพลัง และลงไปได้ต่ำลึก จากตัวขับเสียงและตู้ลำโพงที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดนั้น เป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างมาก และเทคโนโลยี Uni-Core ของเรามันเป็นสิ่งที่ก้าวล้ำยิ่ง เพราะมันเปิดโอกาสให้เราสามารถใส่ไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ในพื้นที่ที่มีช่องว่างของปริมาตรค่อนข้างจำกัดได้ โดยไม่ทำให้สมรรถนะต้องด้อยลงแต่อย่างใด

​แม้ว่าพิจารณาทางด้านกายภาพแล้ว จะเห็นได้ว่าลักษณะของการจัดวางไดรเวอร์ทั้งสองตัวนั้น เป็นแบบ Force-Canceling ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่ลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี Uni-Core จะแตกต่างด้วยการใช้มอเตอร์ตัวเดียวในการขับ Voice Coil ของไดรเวอร์แต่ละตัวที่มีขนาดของขดลวดแตกต่างกัน โดยจัดเรียงให้อยู่ในศูนย์กลางเดียวกัน ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้นอกจากช่วยประหยัดพื้นที่แล้ว การทำงานของไดรเวอร์แต่ละตัวก็ยังสามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อจำทางด้านพื้นที่เหมือนชุดไดรเวอร์ของ Force-Canceling แบบอื่นๆ เพราะสามารถขยับตัวได้เต็มกำลัง ซึ่งส่งผลให้ได้เสียงที่ต่ำลึกอันเปี่ยมไปด้วยพลัง รวมทั้งใช้พื้นที่ร่วมกันน้อยลงด้วย

​กล่าวโดยสรุปก็คือ Uni-Core Technology เป็นการควบรวมการทำงานของชุดไดรเวอร์แบบ Force-Canceling สองตัวให้มาอยู่ในระบบเดียวกัน ด้วยการใช้ขดลวดวอยซ์ คอยล์ ต่างขนาดที่จัดวางให้อยู่ร่วมแนวแกนเดียวกัน โดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกันนั่นเอง

​ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับลำโพงที่ KEF ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

​สำหรับ KEF KC62 Powered Sub-Woofer นอกจากเป็นแอคทีฟ ซับ-วูฟเฟอร์ (ลำโพงที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำลึกเป็นพิเศษแบบ LFE : Low Frequency Effect ที่ผนวกภาคขยายเสียงเอาไว้ในตัวด้วย) รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี Uni-Core แล้ว ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่อีกสองแบบ คือ P-Flex Surround กับ Smart Distortion Control

​โดย P-Flex Surround เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้กรวยหรือแผ่น Diaphragm ของไดรเวอร์สามารถรองรับการถ่ายทอดเสียงย่านความถี่ต่ำได้อย่างแม่นยำ มั่นคง ปลอดความพร่าเพี้ยน ด้วยการออกแบบวงแหวนยางที่ผนึกกรวยเข้ากับตัวตู้ให้มีความแกร่งเพิ่มมากขึ้น และสามารถทานแรงเสียดทานได้สูงขึ้น โดยใช้กรรมวิธีการเปลี่ยนรอยพับของวงแหวนยางเป็นแบบใหม่ ซึ่งนำแนวคิดมาจากศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Origami ที่สามารถต้านแรงอัดอากาศภายในตู้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มความหนาหรือขนาดของวงแหวน ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียความไวในการสนองตอบต่อสัญญาณเสียง ผลก็คือทำให้สามารถตอบสนองต่อเสียงทุ้มได้แน่น และลึก โดยยังคงรักษาสปีดเสียงที่ฉับไวเอาไว้ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

​ส่วน Smart Distortion Control เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำงานของไดรเวอร์ขณะที่ขยับตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าเสียงเพี้ยน โดยการใช้วงจรอิเล็คทรอนิคส์แบบพิเศษที่ไร้เซ็นเซอร์ คอยตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนวอยซ์คอยล์ เพื่อตรวจจับอาการผิดเพี้ยนทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น แล้วทำการแก้ไขให้คืนรูปในทันที ทำให้สามารถลดอัตราค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม หรือ THD : Total Harmonic Distortion ลงได้มากอย่างน่าทึ่ง ส่งผลให้ได้เสียงเบสที่สะอาดสะอ้าน ปลอดความพร่าเพี้ยนอันปราศจากสีสันในน้ำเสียงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

​นอกจากนั้นแล้ว KEF KC62 ยังมีระบบปรับตั้งค่าเพื่อให้ได้ความเหมาะสมกับการตั้งวางภายในห้อง ที่มีสภาพหรือลักษณะอันแตกต่างกัน ซึ่งเป็น Pre-Set Room Placement Equalization มาจากโรงงานพร้อมสรรพถึง 5 รูปแบบด้วยกัน เป็นต้นว่าการวางในพื้นที่โล่ง หรือการวางแบบชิดผนัง ตลอดจนการวางแบบเข้ามุม หรือวางอยู่ในตู้ รวมทั้งการใช้งานในอพาร์ตเมนต์ หรือห้องชุด ซึ่งด้วยรูปแบบที่ปรับแต่งให้มานี้จะช่วยให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีในทุกสภาพแวดล้อมของพื้นที่ตั้งวาง การทำงานของระบบที่ว่าเป็นแบบไร้สาย ให้การทำงานสะดวก ง่ายดาย ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถตั้งวางได้อย่างเป็นอิสระ

​ทั้งยังมีภาค DSP : Digital Sound Processing ซึ่งมีฟังค์ชัน iBX : Intelligent Bass Extension กับ SmartLimiter ทำหน้าที่วิเคราะห์ระดับความแรงสัญญาณที่รับเข้ามาจากต้นทาง เพื่อป้องกันปัญหาการขับเกินกำลัง (Clipping) อีกด้วย

​คุณสมบัติทางด้านเทคนิคนั้น ใช้ไดรเวอร์ขนาด 6 ½ นิ้ว, สองตัว จัดวางให้หันหลังชนกันในแบบ Force-Canceling ใช้เทคโนโลยี Uni-Core ให้ไดรเวอร์ทั้งสองทำงานร่วมกันเพื่อผลักคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำออกมา โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้สามารถลดขนาดตู้ลงไปได้มากถึงหนึ่งในสามของซับ-วูฟเฟอร์ทั่วไป ที่สามารถให้พลังและปริมาณของเสียงทุ้มออกมาได้ในระดับเดียวกัน ภาคขยายเสียงที่ใช้นั้นทำงานแบบ Class-D สองชุด ให้กำลังขับชุดละ 500Wrms ทำให้มีกำลังขับรวม 1,000Wrms เป็นเพาเวอร์-แอมป์ที่ออกแบบมาให้ควบคุมการทำงานของไดรเวอร์ได้อย่างเที่ยงตรง มีความแม่นยำสูง

โดยระบุการทำงานให้การตอบสนองความถี่ในช่วง 11Hz-200Hz (-3dB) โดยให้ปรับตั้งค่า Low Pass Filter หรือควบคุมครอสโอเวอร์ได้ในช่วง 40Hz-14oHz, LFE

​โครงสร้างภายนอกของตู้ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม มีภาพลักษณ์โค้ง มน ไร้ขอบเหลี่ยมมุม มีให้เลือกสองสีด้วยสีขาวแบบ Mineral White และสีดำแบบ Carbon Black ที่กลมกลืนไปกับทุกสภาพห้องและเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างลงตัว

โดยมีมิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 246 x 256 x 248 มิลลิเมตร (วัดรวมแผ่นรองตู้และแผงด้านหลัง) น้ำหนัก 14 กิโลกรัม

KEF KC62 กับภาพลักษณ์

การลองเล่น และคุณภาพเสียง

​ก่อนหน้านี้ที่เห็นในรูปให้รู้สึกว่าแลละเมียดเนียนตามากแล้ว หลังดึงออกจากกล่องมาให้รู้สึกน่าชื่นชมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยได้สัมผัสต้องแล้วพบว่างานฝีมือนั้นไร้ที่ติจริงๆ

​ตัวที่ได้มาลองนี้เป็นสีขาวแร่ธรรมชาติดูแล้วกระเดียดไปทางขาวแบบ Pastel ซึ่งเมื่อมองภาพลักษณ์โดยรวมก็เหมือนเป็นตู้สี Two-Tone ที่ออกจะกลมกลืนกันดี ด้วยมีสีเทาของแผงควบคุมพร้อมขั้วต่อต่างๆ ที่เกือบเต็มผนังข้างด้านหนึ่ง กับสีเงินกระเดียดเทาของกรวยลำโพงที่อยู่ในกรอบสีดำที่ด้านหน้าและหลังของลำโพง (แต่หากจะพูดให้ถูกต้อง ต้องบอกว่าไดรเวอร์ติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านข้างของตู้ทั้งสองด้าน เพราะรูปแบบการทำงานนั้นระบุว่า Side Firring คือยิงเสียงออกด้านข้าง (โดยกำหนดไว้ในคู่มือระบุว่าให้ชุดตัวขับเสียงแต่ละตัวห่างจากผนังอย่างน้อย 3นิ้ว) ประกอบรวมกันอยู่ในโครงสร้างตู้ด้วยนั่นเอง

​แผงควบคุมและชุดขั้วต่อที่เกือบเต็มผนังด้านข้างนั้น เรียงเอาไว้แบบสองแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดี แถวบนจากซ้ายไล่ไปขวาประกอบไปด้วย EXP : Expansion Port สำหรับต่อกับชุดอะแดปเตอร์ KW1 ที่เป็นอุปรณ์เสริม เพื่อให้ทำงานแบบไร้สาย, HPF : Line Output High Pass Frequency แบบสวิตช์โยกสี่ตำแหน่ง, PHASE ให้เลือกปรับ 0/180 องศา, EQ มีให้เลือกลักษณะหรือตำแหน่งที่ตั้งวางห้าแบบ (Room, Wall, Corner, Cabinet, Apartment), MODE ให้เลือกแบบ Manual หรือ LFE, CROSSOVER แบบลูกบิดให้หมุนเลือกปรับค่าได้ค่อนข้างละเอียดในช่วง 40Hz-140Hz และขวาสุดของแถวแรกเป็นลูกบิด VOLUME ควบคุมระดับความดังเสียง

​ส่วนแถวล่างไล่ไปจากซ้ายเช่นกัน เป็นสวิตช์เปิด/ปิด, ขั้วต่อสายไฟเอซีแบบ IEC ที่มีสายให้มาในกล่องสองชุด เป็นแบบหัวเสียบสามขากับสองขา, สวิตช์ Ground Lift, SPEAKER INPUT สำหรับลำโพง High Level และขวาถัดไปเป็นชุดขั้วต่อ Smart Connect แบบ RCA สำหรับ LINE INPUT และขวาสุดเป็นชุด LINE OUTPUT

​ส่วนผนังข้างด้านตรงกันข้ามมีเพียงตราสัญลักษณ์ KEF ตรงกึ่งกลาง ค่อนไปด้านบน กับตำแหน่งไฟ LED Indicator Light ที่อยู่ค่อนมาด้านล่างเหนือตัวหนังสือ Uni-Core Technology เมื่อปิดสวิตช์ตำแหน่งไฟที่ว่าจะเกิดเป็นวงแหวนสีส้มจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อพร้อมทำงาน

​ด้วยความที่มีขนาดกะทัดรัดจึงไม่มีขารองตู้มาให้ แต่มีแผ่นรองยางสังเคราะห์ (ลักษณะดูดี มีคุณภาพ น่าจะซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และช่วยให้ตู้ตั้งได้มั่นมีความเสถียรสูง) หนาประมาณ 1 เซนติเมตร แปะติดเอาไว้เกือบเต็มพื้นที่

​ผมเริ่มใช้งาน KEF KC62 กับชุดลำโพงฟังเพลงในห้องซึ่งเป็นแบบประกอบเข้าขาตั้ง เป็นลำโพงแบบ 2-ทาง ที่ปกติก็มีเบสพอตัวให้รับรู้ได้อยู่แล้ว แต่หลังจากเสริมตู้เพาเวอร์-ซับตัวนี้เข้าไป พร้อมปรับความเหมาะสมให้กลมกลืนกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของครอสโอเวอร์และระดับความดังเสียง ความรู้สึกแรกเมื่อผ่านความคุ้นชินไปสักระยะ มันสัมผัสได้ละม้ายคล้ายว่าผมกำลังฟังลำโพงวางพื้นที่ให้เสียงออกมาครอบคลุมพื้นที่ห้องแบบอิ่มเต็ม และลงไปต่ำลึกชนิดที่ต่างไปจากความเคยคุ้นยามฟังลำโพงสเตริโอคู่นี้ตามปกติอย่างสิ้นเชิง

​ขณะที่รายละเอียดของชิ้นเครื่องดนตรี และเสียงร้อง ที่หลุดลอยออกมาเป็นอิสระยังคงมีเสน่ห์อย่างน่าฟัง แต่มวลมหาศาลของเบสที่เพิ่มเข้ามาอย่างกลมกลืนนั่น มันเสริมอรรถรสให้สัมผัสได้ถึงความสุนทรีย์ของเสียงดนตรี เสียงร้อง ที่อวบอิ่มและยิ่งใหญ่กว่าที่เคยฟังจากลำโพงคู่หลักแบบโดดๆ อัลบั้มที่คุ้นๆ กับลำโพงคู่นี้ไม่ว่าจะเป็น Eagles : Hell Freezes Over หรืออย่างDiana Krall : Turn Up the Quiet รวมทั้ง The Dave Brubeck Quartet : Time Out เมื่อมีตู้เพาเวอร์-ซับ KC62 เข้ามาเสริม มันเหมือนเติมเต็มความอิ่มของเสียงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณนั่นเทียว

​มิเพียงกับสามอัลบั้มที่กล่าวถึงนั่นดอกนะครับ หากแต่กับอีกหลากหลายอัลบั้มและด้วยรูปแบบแนวดนตรีที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะกับงานซิมโฟนีที่ให้เบสสะเทือนเลื่อนลั่น อาทิ อัลบั้ม Stravinsky : Firebird (Telarc CD-80039) กับเสียงปืนใหญ่ยิงสลุตในชุด Tchaikovsky : 1812 Overture (Telarc CD-80041) การได้เพาเวอร์-ซับตู้นี้เข้ามาร่วมในซิสเต็ม มันเป็นการช่วยยกระดับภาพรวมของคุณภาพเสียงที่เคยพอใจจากกการฟังลำโพงคู่เดียว ให้ได้ความสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่มิพักต้องเติมเต็มในจินตนาการแต่อย่างใด

​กล่าวคือสำหรับผมแล้ว, หากต้องเลือกลำโพงระหว่างคู่หนึ่งมีอะไรขาดหายไปบ้าง กับอีกคู่ที่ฟังแล้วรู้สึกมีบางสิ่งบางอย่างที่มากเกิน ผมขอเลือกคู่ที่ฟังแล้วมีอะไรขาดหายไปบ้างมากกว่าคู่ที่ให้บางอย่างออกมามากเกิน เพราะบางเสียงที่ขาดหายเราสามารถเติมเต็มในจินตนาการได้ และจะฟังได้นาน แต่กับอีกคู่บางสิ่งหรือเสียงที่ให้มามากเกินนั้น เมื่อฟังไปสักระยะมันจะทำให้รู้สึกอึดอัด ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้ทนฟังต่อไปไม่ได้นั่นเอง

​ก็เหมือนกับลำโพงวางขาตั้งที่ผมใช้อยู่ในห้องนั่นแหละครับ แม้มันจะให้เบสออกมาน้อยไปบ้างตามเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของลำโพง Bookshelf, 2-Way แต่ภาพรวมของเสียงที่มันให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับผม จึงกับเบสที่ขาดหายไปบ้างนั่น ยามฟังเอาเพลิน สบายๆ ผมสามารถเติมเต็มเอาได้ในจินตนาการจนไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่สมบูรณ์

​หลังจากฟังเพลงจนอิ่มเอมในอารมณ์แล้ว คราวนี้มาลองให้มันทำงานกับซาวน์ดแทร็กดูบ้าง โดยเข้ามาแทนที่เพาเวอร์-ซับตู้ที่ใช้อยู่ในห้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ 5.1 และผลงานที่มันให้ออกมานั้นเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก

​เพราะแม้จะรับรู้ประสิทธิภาพของมันอยู่ในทีจากการนำไปใช้ฟังเพลงแบบ 2.1 มาก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม แต่จากการทำงานของมันกับเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ผ่านตู้ที่แทบมองไม่เห็นเมื่อตั้งวางในอยู่ในห้อง พลังเสียงที่มันรังสรรค์ออกมาทำให้ห้องทั้งห้องเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ที่แฝงความสะท้านอันเนื่องมาจากเสียงที่สะเทือนแบบสั่นห้องด้วยความชัดเจนอย่างน่าตื่นใจยิ่ง ทั้งยังแผ่กระจายออกครอบคลุมทั่วทั้งห้องเอาไว้แบบหมดจดในทุกอณูจริงๆ

​ฟังเพลงว่าน่าทึ่งมากแล้ว เอามาฟังกับซาวน์ดแทร็กนี่มันยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างที่แลดูกระจ้อยร่อยแล้ว เหลือเชื่อครับว่าพลังเสียงที่ยินแบบ ‘สัมผัสรู้’ นั้นจะมาจากเพาเวอร์-ซับตู้แค่นั้นเอง

​ทั้งยังตอกย้ำความเป็นเบสที่ชัดเจน ปลอดความพร่าเพี้ยน สะอาด และสัมผัสได้ถึงมวลเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก จากบางซีน ของหนัง Sci-Fi สุดยิ่งใหญ่อย่าง Interstellar ที่มีเบสสลึกมากๆ นั้น มันสามารถถ่ายทอดออกมาได้แบบไม่มีอะไรเหลือให้รู้สึกค้างคาแต่อย่างใด ทั้งยังไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดแฝงออกมาให้รับรู้ได้แม้แต่เพียงน้อย เป็นเบสแบบที่ฝรั่งชอบพูดว่า Distortion-Free นั่นแหละครับ รวมทั้งหลายๆ ฉาก จาก Iron Man ที่เสียงเบสเดินเรื่องได้อย่างสนุก ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝีเท้าที่ต่ำลึกในความมืด เสียงยิงต่อสู้ทั้งจากปืนกลและระเบิด ล้วนเป็นเสียงเบสที่ตรงไปตรงมา ชัดเจน และให้ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้นมาก

​หรือไปหยิบแผ่นหนังเกี่ยวกับเรือดำน้ำเรื่องเก่าๆ อย่าง U-571 มาดู เพาเวอร์-ซับตู้นี้ก็สำแดงเดชออกมาให้รู้ได้เป็นอย่างดี ว่าเสียงเบสที่ดีและมีคุณภาพนั้นต้องมีคุณลักษณะเสียงเป็นอย่างไร​

สรุป

​เมื่อพูดถึงการการออกแบบและจัดวางชุดตัวขับเสียงแบบ Force-Cancelling ที่เป็นความคุ้นชินของผู้คนในวงการมานานแสนนาน จนหลายๆ คนอาจะลืมไปแล้ว ว่าผู้ที่คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมาก็คือ KEF นี่ละ ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรก และเรียกสียงฮือฮาจากผู้คนในยุทธจักรลำโพงผ่านรุ่น Reference 104/2 ก็ต้องย้อนไปยังปี ค.ศ.1984 โน่น

​จึงเมื่อนำเทคโนโลยี Uni-Core เข้ามาเสริม และนำเสนอออกมาผ่าน Model KC62 Powered Sub-Woofer ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และใคร่ลองของคนเล่นเครื่องเสียงเป็นธรรมดา

​ซึ่งหลังจากที่ได้ลองเล่นแล้วต้องยอมรับว่ามันเป็นเพาเวอร์ ซับ-วูฟเฟอร์ ที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ เพราะด้วยขนาดตู้ที่เล็กแบบแต่ละด้านกว้าง/ยาวเกินคืบนิดๆ จนไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตู้ซับ-วูฟเฟอร์ ซึ่งต้องมีหน้าที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำพิเศษแบบ LFE : Low Frequency Effect นั้น มันกลับให้พลังเสียงออกมาเสมอด้วยระเบิดขนาดย่อมๆ อย่างเหลือเชื่อ และโดยไม่มีเงื่อนไขของตำแหน่งตั้งวางมาเป็นตัวกำหนดแต่อย่างใดอีกด้วย

​เพราะตอนเริ่มลองในห้องขนาดปริมาตรประมาณกว่า 30 ลูกบาศก์เมตรเล็กน้อยนั้น ผมก็ตั้งวางที่พื้นห้องแบบ ‘งั้นๆ’ (พร้อมกับเซตตำแหน่งของ EQ เอาไว้ที่ ROOM) ด้วยคิดว่าอย่างน้อยๆ คงต้องขยับอีกสักหนสองหน จึงจะได้ความ ที่ไหนได้หลังจากวางลง ‘ตรงนั้น’ และปรับค่าครอสโอเวอร์ให้เหมาะสมกับชุดลำโพงร่วมในซิสเต็ม ทั้งชุดดูหนังระบบ 5.1 และกับลำโพงสเตริโอที่ใช้ฟังเพลงซึ่งแยกกันต่างหาก รวมทั้งตั้งค่าโวลุ่มที่สอดคล้องกันแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปขยับหรือแตะต้องมันอีกเลย นอกจากเวลาเปิดและปิดที่สวิทช์หลังตู้เท่านั้นเอง

​KEF KC62 อาจจะดูว่ามีราคาสูงอยู่บ้างสำหรับใครบางคน (โดยเฉพาะใครผู้ชอบเอา ‘ขนาด’ มาเป็นเครื่องวัดตัวตัดสิน) แต่หากได้สัมผัสประสิทธิภาพจากการทำงานของมัน และนำมาซึ่งคุณภาพที่ยักษ์ใหญ่หลายๆ ตู้ ก็ไม่อาจให้ออกมาได้ในหลายๆ แง่ ทั้งความหนักแน่นที่เปี่ยมพลังอันน่าตื่นตระหนก ทั้งความกระชับ ฉับไว รวมทั้งความเป็นเสียงเบสที่สะอาด ปราศจากความพร่าเพี้ยนหรือมีเสี้ยนสากให้รู้สึกระคายเคืองขณะฟัง เนื้อเสียงมีความเป็นธรรมชาติสูง ไม่ว่าจะทำงานกับซาวน์ดแทร็กหรือกับเสียงเพลงก็ตาม จึงเมื่อเทียบกับคุณค่าทางด้านเสียงโดยรวมที่มันให้ออกมาแล้ว กับราคาค่าตัวประมาณครึ่งแสน (บาท) ของมัน จึงหาใช่สิ่งที่มากเกินแต่อย่างใด

​สิ่งที่ยืนยันความยอดเยี่ยมของมันได้ดีอีกประการก็คือ การเป็นเจ้าของรางวัล Best Product 2021-2022 ในสาขา Hi-Fi Sub-Woofer ของ Expert Imaging & Sound Association (EISA Award) สมาคมที่รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีระบบภาพและเสียงจากนิตยสารและเว็บไซต์ต่างๆ กว่า 60 สังกัดทั่วโลกนั่นแหละครับ

​ครับ, ก็คงขอจบด้วยวลีเก่าๆ อันมักคุ้นกันดีที่ว่า-ขนาดนั้นสำคัญไฉน – – เพราะมันเป็นเรื่อง Size Does Matter จริงๆ!!!