Garoonchart Bukkavesa
อุปกรณ์ที่ใช้ขับลำโพงในชุดเครื่องเสียง จะมี 2 แบบ คือ แบบชิ้นเดียวอินทิเกรตแอมป์ กับแบบ 2 ชิ้น ปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่อดีตว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน ฝั่งที่ชื่นชอบอินทิเกรตแอมป์จะยืนกรานว่า เล่นง่าย ไม่ยุ่งยากหรือวุ่นวายเกินไป และมีความคุ้มค่าต่อราคาที่ดีกว่า
ส่วนฝั่งที่ชอบความเป็น “สุดยอด” จะปักหมุดว่า เล่นปรี+เพาเวอร์ได้รายละเอียดที่ดีกว่า ได้กำลังที่มากกว่า ฯลฯ
ติดตามกันครับ มีข้อสรุปให้ทราบแน่นอน เพราะ Karan Acoustics ถูกส่งมาทดสอบพอดี
Karan Acoustics มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศที่ไม่คุ้นหูในโลกเครื่องเสียงนัก นั่นคือ เซอร์เบีย ชื่อก่อนหน้าคือ ยูโกสลาเวีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานทีเดียว ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป
CEO คือ Mr.Milan Karan มีประสบการณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงกว่า 30 ปี ทุกเครื่องแฮนเมด, วงจร Fully Balanced / Dual Mono, ภาคไดร์ฟ Pure Class A
เครื่องที่ได้รับมาครั้งนี้เป็นอินทิเกรตแอมป์ รุ่น KA I 180 MK II ซึ่งดีไซน์แบบเรียบง่าย บริสุทธิ์ที่สุด แนว Minimal ไม่มีระบบสตรีมมิ่ง ไม่มีบูลทูธ ไม่มีไวไฟ ไม่มีช่อง Lan ไม่มีช่อง USB ใด ๆ แม้แต่น้อย มีเพียงไลน์อินพุทเท่านั้น ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อย
ตามไปดูกันครับว่าอินทิเกรตแอมป์ที่เคลมว่าเป็นหนึ่งในเครื่องที่ดีที่สุด (ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแพงที่สุด) นั้นจะดีขนาดไหน?
คุณสมบัติพิเศษ Karan Acoustics : KA I 180 MK II
- กำลังขับ 180 วัตต์ ที่โหลด 8 โอห์ม และ 300 วัตต์ ที่โหลด 4 โอห์ม
- ผลิตภัณฑ์แอมป์ทั้งหมดจะเป็นแบบ Dual Mono, Fully Balanced
- ตัวเครื่องทำงานแบบ Pure Class A
- ทำงานแบบ Direct Coupled ไม่มีคาปาซิเตอร์ในทางเดินสัญญาณ
- อุปกรณ์ภายในบางชิ้นสั่งทำพิเศษ เช่น หม้อแปลง custom made ตัวไดโอด รีซิสเตอร์ ฯลฯ สั่งจากเยอรมัน
- ทรานซิสเตอร์ Sanken 2SC3264/2SA1295
- ตัวเก็บประจุ 80,000 ไมโครฟารัดของ Roe
- ขั้วต่อลำโพงเป็น WBT
- รีโมทคอนโทรลทรงกลม มีแค่ปุ่มเร่ง-ลดเสียง
ลักษณะทั่วไป Karan Acoustics : KA I 180 MK II
แผงหน้า เห็นเมื่อไหร่เป็นเอกลักษณ์ของค่ายนี้เลยก็ว่าได้ ตัวเครื่องดีไซน์เรียบง่าย มีปุ่มหมุน 2 ปุ่ม เน้นสีดำดูเขร่งครึม
ไล่จากซ้ายเป็นปุ่มเลือกแหล่งโปรแกรม ปุ่มขวาเป็นปุ่มโวลุ่ม มีเพียง 2 ปุ่ม กึ่งกลางเป็นอครีลิคติดเมื่อเปิดเครื่องจะเป็นไฟสีแดงแสดงสถานะต่าง ๆ
แผงหลังแสดงความเป็น Dual Mono แยกเป็นด้านซ้าย / ขวาชัดเจน มีอินพุท RCA 3 ชุด XLR 1 ชุด มีช่อง Rec Out 1 ชุด มีขั้วต่อลำโพงเป็น WBT ถือว่าใส่ใจรายละเอียดมาก จุดนี้เทียบกับขั้วต่อสแตนดาร์ดน่าจะดีขึ้น 20% กึ่งกลางเป็นเบ้าเสียบสายไฟเอซีพร้อมเมนสวิตช์
ด้านข้างมีครีบระบายความร้อนเต็มพื้นที่ด้านข้าง ลูกยาง 3 จุด น้อยเครื่องที่จะใช้แบบนี้ มาพร้อมตัวขาที่มีลักษณะขยับขึ้นลงได้ ทำให้ลดแรงสั่นสะเทือนได้ดี และวางได้นิ่งสนิทขึ้น ภายในหม้อแปลงเทอร์รอยด์ custom made ขนาด 680VA ตัวนี้เป็น MK II จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ตัวไดโอด รีซิสเตอร์ ฯลฯ สั่งจากเยอรมัน
สเปค Karan Acoustics : KA I 180 MK II
- ตอบสนองความถี่ DC – 300kHz
- Signal to Noise Ratio (CD) 112 dB
- Damping Factor 2,500:1
- THD (Total Harmonic Distortion) 0.03% (8Ω)
- ตัวถัง กว้างxสูงxลึก 500x110x380 มิลลิเมตร
- หนัก 20 กิโลกรัม
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ Karan Acoustics : KA I 180 MK II
- แหล่งโปรแกรม ; Tascam RD-901MK II, Ayre CX-7, เทิร์น VPI : Scout
- โทนอาร์ม ; SME : M2-9
- หัวเข็ม ; Ortofon : MC20 (25th Anniversary)
- อินทิเกรตแอมป์ ; Karan Acoustics : KA I 180 MK II
- ลำโพง ; Aerial Acoustic : Model 7T
- สายสัญญาณ ; Cardas : Clear, Golden Reference ท่อหดเทา
- สายลำโพง ; Kimber Kable : 8TC ขั้วต่อบานาน่า Monster : Power Connect 2
- สายไฟเอซี ; Shunyata Research : Anaconda Zitron / King Cobra CX, Elrod : Statement, PS Audio : Statement SC, Transparent Reference Power Cord
- ระบบไฟ ; หม้อแปลง Isolate Transformers, ปลั๊ก Wattgate : 381, Oyaide : R1 (3 ตัว), ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1
- อุปกรณ์เสริม ; ตัวดูดคลื่น Perfect Power : RFITrap RT-1 (4 ตัว) ชั้นวาง Target Audio : TT5, Audio Arts : Classic II, ชั้นหินแกรนิตเทียม, ที่รองสาย Acoustic Revive : RCI-3, Cable Elevator, Shunyata : Dark Field, Cardas : Multi Blocks, Cardas : Notched Myrtlewood Blocks ที่รองเครื่อง / ทิปโท Michael Tender Feet, JJ : Screw Cone ที่ทับเครื่อง ก้อนอิทธิเจ (8 ก้อน), VPI : HW dB-5 (4 ก้อน) อื่น ๆ Cardas : RCA Cap
- อุปกรณ์ควบคุมสภาพอคูสติก ; ASC Tube Trap 9”x4’, แผ่นซับเสียงสูตร RPG, XAV : G-Sap เบอร์ 1, เบอร์ 2, XAV : Trap + XAV : Base Trap, จิ๊กซอว์ PRS, Room Tune : Michael Green Audio + Echo Tune
ผลการลองฟัง Karan Acoustics : KA I 180 MK II
Karan Acoustics หมายมั่นปั้นมือสร้าง KA I 180 MK II รุ่นนี้ให้เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่มี “คุณภาพเสียง” ดีที่สุด ดังนั้น คอนเซปท์ในการสร้าง Karan Acoustics : KA I 180 MK II ขึ้นนั้นจะเป็นแนว Minimal เน้นความบริสุทธิ์ 100% จุดสังเกตง่าย ๆ จะเห็นว่าไม่มีระบบสตรีมมิ่ง ไม่มีบูลทูธ ไม่มีไวไฟ ไม่มีช่อง Lan ไม่มีช่อง USB ใด ๆ ทั้งสิ้น!!
หรือแม้แต่เป็น “บอร์ด” สำหรับอัพเกรดภายหลังก็ไม่มีด้วยซ้ำ…
มีเพียงไลน์อินพุทเท่านั้น คุณต้องมีแหล่งโปรแกรมต่าง ๆ มาป้อนเข้าไป ตัววงจรภายในจะทำหน้าที่รับและแปลงสัญญาณแล้วส่งผ่านไปยังขั้วลำโพงเท่านั้น
จุดนี้ผมคิดว่า ทาง Karan Acoustics เชื่อว่า การใส่ภาคดิจิตอล / ระบบสตรีม ฯลฯ เข้าไปในเครื่องย่อมจะก่อให้เกิดการรบกวนขึ้นมานั่นเอง ถึงแม้จะป้องกันได้ เช่นใส่ชีลด์เพิ่ม แต่ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก และถ้าบางคนไม่ได้ใช้จะกลายเป็นเสียเงินไปเฉย ๆ จึงไม่ติดตั้งเลยจะดีที่สุด ใครต้องการสตรีมหรือตัวถอดรหัสให้ซื้อเพิ่มเอง นับเป็นวิธีที่ชาญฉลาดไม่น้อยเลยจริง ๆ
การเทียบเสียงกลาง / แหลมด้วยอินทิเกรตแอมป์บางทีอาจไม่ต่างชัดเจนมาก ขอให้ลองฟังเสียงทุ้มเป็นบทพิสูจน์ แผ่น Rain Forest Dream (Saydisc CD-SDL 384) เสียงทุ้มนั้นถ่ายทอดหนักแน่น เบสลงลึก อัดฉีดได้เข้มข้น โฟกัสนิ่งไม่วูบวาบ เมื่อขับลำโพง Aerial Acoustic : Model 7T ที่มีความต้านทาน 4 โอห์ม ตัว Karan Acoustics : KA I 180 MK II จะปั๊มพลังได้ถึง 300 วัตต์ เสียงจึงมีความสะใจ
การใช้คาปาซิเตอร์ 80,000uf รวมกับค่าแดมปิ้งแพคเตอร์สูง 2,500:1 สำหรับผมถือว่ากำลังดี หยุดกรวยลำโพงอย่างเหมาะสม ถ้าสเปคค่าสูงกว่านี้การหยุดลำโพงดีขึ้นแน่นอนแต่เสียงอาจสั้นห้วนไป หรือค่าน้อยกว่านี้เสียงทุ้มอาจจะครางได้
Gift : The Finger Style (GMM : G 0554023) นักร้องร้องได้น่าฟัง ไพเราะ ออดอ้อน นุ่มนวล ไม่กร้าว มีรายละเอียดของเบสที่ดี การวอร์มเครื่องสัก 1 ชั่วโมงขึ้นไปสุ้มเสียงจะน่าฟังกว่าเปิดแล้วฟังเลย
Symphonic Sound Stage (Delos D/CD 3502) เสียงโอ่อ่า กว้างขวาง ช่วงโหมมีไดนามิคที่ดี ไม่ตื้ออั้น มีรายละเอียดแผ่วเบาที่ดี น่าฟัง แทรค The Spake Zarathustra และแทรค Stravinsky The Firebird
Famous Blue Raincoat (Private Music 01005-82092-2) ร้องได้น่าฟัง ออดอ้อนดี มีเอกลักษณ์ ไม่ได้แสดงความ “บ้าพลัง” อย่างเดียว มีการย้ำหนักเบาดีมาก ไทมิ่งดี
Best of Chesky Jazz and more Audiophile Tests Vol 2 (Chesky Record : JD 68) แทรค 47 คนป่าเดินเป็นวงกลม ทำได้ชัดเจน แทบจะจับต้องได้ มิติถือว่าน้อง ๆ ปรี-เพาเวอร์ระดับ 5 แสนบาท
The Hunter (Private Music 01005-82089-2) เสียงร้องดีงาม ไพเราะ ผสานด้วยเสียงทุ้มอันแสนอิ่มแน่น มีบอดี้ ไทมิ่งดี แทรค Way Down Deep
Repurcussion Unit – In Need Again (CMP Records CMP CD 31) เบสอิ่มแน่น ฉับไว ไม่บวม ลงได้ลึก ฟังแล้วสนุกสนาน ไพเราะ
ลองฟังแผ่นเสียง สิ่งที่คุณต้องมีคือ ปรีโฟโนแยกชิ้นเพิ่ม เพราะในตัว Karan Acoustics : KA I 180 MK II ไม่มีภาคโฟโนมาให้ ผมลองเทียบแผ่นรีอิชชู่เพลงไทยกับแผ่นออดิโอฟลายด์ปั๊มแรก ถือว่าแยกแยะได้ชัดเจน หรือเทียบสาย XLR ก็ทำนองเดียวกัน ฟังความแตกต่างได้ชัดเจน แสดงถึง Karan Acoustics : KA I 180 MK II มีความเป็นมอนิเตอร์ที่ดี
Ayako Hosokawa อัลบั้ม To Mr.Wonderful (Three Blind Mice TBM-3008) ถ่ายทอดเสียงร้องไพเราะ ลื่นไหล มีมวลมีน้ำหนัก ไทมิ่งดี จุดนี้อยู่ที่เครื่องเล่น+ ปรีโฟโนของคุณว่าดีแค่ไหนThe O-Zone Percussion Group The Percussion Record (Clearaudio : LP83058) แทรค Jazz Varient เสียงตีกลองเบสหนักแน่น เป็นลูก มีโฟกัสชัดเจน ไม่พร่ามัว
All Star Percussion Ensemble (First 1000 Pressings, Fim-GS LP 001-LE) เสียงเครื่องเคาะ สดใส กังวานดี ไม่ฟุ้งจ้า สุกสกาวกำลังดี ไม่ทึม
สรุปผลการฟัง Karan Acoustics : KA I 180 MK II
Karan Acoustics : KA I 180 MK II อินทิเกรตแอมป์ไฮเอนด์หนึ่งเดียวที่เมื่อคุณใช้แหล่งโปรแกรมต้นทาง เช่น ซีดี / แผ่นเสียง ที่ดีมากเท่าไหร่ จะยิ่งถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้ดีมากขึ้นตามลำดับ นับเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการเล่นปรี+เพาเวอร์ ไม่ได้บ่งชี้ว่าต้องมีคุณภาพเสียงดีที่สุดเสมอไป…
สำหรับนักเล่นที่มองหาอินทิเกรตแอมป์ตัวเดียวที่ตอบโจทย์ในเรื่อง “คุณภาพเสียง” ที่ดีภายใต้คอนเซปท์บริสุทธิ์ที่สุด ขอแนะนำ Karan Acoustics : KA I 180 MK II ตัวนี้จากใจจริงครับ และที่สำคัญราคาไม่ได้ “แพง” แบบสุดขั้วจนได้แต่มองนะครับ