โฆษิต มโนมัยอุดม
Jojo rabbit หนังฟอร์มกลางๆ ไม่ใหญ่มากแต่ก็ไม่เล็กนัก ที่สำคัญเป็นม้ามืดที่ได้เข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำหลายสาขาทำให้ถูกหันมามองกันมากขึ้น แม้ว่าจะได้รางวัลกลับบ้านเพียง 1 เดียวจากบทหนังที่ผู้กำกับ ไทก้า ไวติติ ก็ตาม
หนังมีพล็อตที่น่าสนใจมาก ที่แก่นของเรื่องเป็นพูดถึงระบบเผด็จการในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตและมุมมองของเด็กชาย โดยดัดแปลงจากหนังสือ Caging Skies ของ คริสติน ลูเน็นส์ ที่ออกมาในปี 2008 เล่าเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งในค่ายยุวชนฮิตเลอร์ ผู้ทุ่มเทใจทั้งหมดให้กับการเป็นทหารนาซี แต่แล้วโลกทั้งใบของเด็กชายคนนี้กลับเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเขาได้รู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองได้ซ่อนตัวเด็กหญิงชาวยิวไว้ในบ้าน ซึ่งจากโครงเรื่องในหนังสือนั้นค่อนข้างเดินไปในมุมมืดหม่นและหดหู่จากความผิดหวังอย่างรุนแรง แต่ผู้กำกับชาวนิวซีแลนด์ใส่ความเป็นคอมมิดี้เข้าไปแทนที่ทั้งหมด แม้แต่ฉากคนใกล้ชิดของเจ้าหนูโจโจ้ถูกนาซีแขวนคอตาย ก็ยังลดทอนความเศร้าลงไปกลายเป็นแค่เกิดอาการอึ้งแทนเท่านั้น
Jojo Rabbit มีความเป็นแฟนตาซีหลายจุด จากการที่ โจโจ้ เบซเลอร์ (รับบทโดย โรมัน เดวิส) เด็ก 10 ขวบสมาชิกค่ายยุวชนฮิตเลอร์ ที่เติบโตมาด้วยความฝันอยากเป็นทหารนาซีรับใช้ฮิตเลอร์ จนทำให้เจ้าหนูโจโจ้ นำเอา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (รับบทโดย ไทกา ไวติติ) ผู้นำพรรคนาซี มาคิดสร้างภาพเป็นเพื่อนจินตนาการของเขา ซึ่งจะคอยโผล่มาบอกมากำกับให้เจ้าหนูทำตามคำสั่งของท่านผู้นำนาซีอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม โลกของเด็กหนุ่มต้องเปลี่ยนไปเมื่อพบว่า โรซี (รับบทโดย สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน) แม่ของเขาแอบซุกซ่อนเด็กหญิงชาวยิวเอาไว้ที่ห้องใต้หลังคา เพื่อช่วยชีวิตเธอให้รอดพ้นจากการสังหารหมู่
Jojo Rabbit ไม่ได้พูดถึงความโหดเหี้ยมของฝั่งพรรคนาซีแบบน่ากลัวนัก เพราะมักจะเสริมจินตนาการของเจ้าหนูจนเหมือนภาพฝันแปลกๆ แทน มีเพียงบรรยากาศและสถานการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำใหโทนหนังหม่นลงนิดหน่อย เสริมด้วยมุกตลกล้อเลียนฮิตเลอร์ แต่พองาม
สิ่งที่ประทับใจที่สุดของ Jojo Rabbit คือเป็นหนัง coming of age ที่แหวกแนวในการนำเสนอ แม้ว่าการนำเอาความเป็นเผด็จการมาเล่น จะดูเหมือนพ้นสมัยหรือตกยุคไปบ้างก็ตาม แต่ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์และการยอมรับในความแตกต่าง รวมทั้งความไร้เดียงสาของเด็กน้อยที่ถูกล้างสมองโดยนาซี กับเด็กสาวชาวยิวที่ไม่เคยออกไปเห็นโลกภายนอก ก็ถูกเปรียบเทียบว่าคล้ายคลึงกันได้อย่างลงตัว
การที่ทั้งคู่ค่อย ๆ รับรู้เรื่องราวของกันและกัน พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะมองเห็นแง่มุมดี ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่ง น่าจะเป็นแก่นสำคัญของหนัง มากกว่าการต่อต้านเผด็จการเสียอีก
ตัวละครมีเสน่ห์มาก น่าจะเป็น สการ์เล็ตต์ ในบทของแม่ที่ต้องปกป้องลูกจากการล้างสมองของพรรคนาซีด้วยเธอมีแนวคิดที่สวนทางกับเผด็จการแต่จำเป็นซ่อนไว้ใต้ใบหน้าอันยิ้มแย้มอดทนเสมอ ในขณะที่เด็กสองคนที่เป็นตัวดำเนินเรื่องนั่น เป็นเสมือนจิตนาการหรือการ์ตูนไปหน่อย ภาพของสการ์เล็ตต์ ที่ออกมาในฉากทุกครั้งจะทำให้หนังถูกดึงกลับมาสู่โลกของความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริงที่น่าหดหู่ของสงครามและเผด็จการ แต่ไม่ใช่ความเป็นจริงที่ว่า มนุษย์ต้องเอาชนะสงครามและเผด็จการได้ในที่สุด แม้ว่าบางครั้ง บางคนอาจจะต้องแลกหรือสังเวยด้วยชีวิตก็ตาม
เธอจึงชื่อ โรซี่ ซึ่งน่าจะหมายถึงดอกกุหลาบ ที่ยังคงสามารถเบ่งบาน และให้ความงามและกลิ่นหอมแก่ผู้คนได้เสมอ แม้ในสถานการณ์สงครามจะโหดร้ายขนาดไหนก็ตาม ดูจินตนาการแผลงๆ ก็เหมาะกับการต้องถูกกักตัวอยุ่บ้านดีเหมือนกันนะครับ…อ้อ หนังลงทุนสร้าง เพียง 14 ล้านดอลล่าร์ และทำรายได้ไป 90.2 ล้านเหรียญ ครับ
ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก การปลอบประโลมยาม โจโจ้ เรียกร้องหาพ่อที่หายไปในสงคราม การรับบทที่เป็นทั้งแม่และพ่อที่ไม่ต้องเล่นหนัก บีบเค้น โหยหา แต่หน้าเธอยิ้ม มั่นใจ ‘ฉันเอาอยู่’ นอกจากแคสต์แล้ว การเซ็ตฉากบรรยากาศในช่วงยุค 30s ก็เก็บรายละเอียดดีมาก อีกทั้งคอสตูมในเรื่องนี้ก็เด่นมากทุกตัวละคร เรียกว่าขนาดสาวยิวที่ต้องหลบซ่อนในห้องใต้หลังคาแคบ ๆ โผล่ออกมาทีไรชุดจัดเต็มนึกว่าจะไปเดินแฟชันโชว์ (ฮา)
ถือว่า Jojo Rabbit มาถูกที่ถูกเวลาในสถานการณ์บ้านเมือง คนไทยดูช่วงนี้อาจจะอินมากเป็นพิเศษ หากพูดภาษาบ้าน ๆ หนังอาจจะบอกว่า เป็นสลิ่มไม่คูลหรอกยู! แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่า การจำกัดความ จำกัดสีเสื้อ การไปแปะป้ายอีกฝั่งว่าเป็น เสื้อสีไหน ทีมใคร ไม่ใช่ทางออก ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะทำให้ความแตกต่างยังคงอยู่ด้วยกันได้