“ยุคใหม่ของตำนานจากเจบีแอล“
DAWN NATHONG
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/BF4FFEZ-1024x436.jpg)
ย้อนกลับไปกว่าครึ่งศตวรรษ ช่วงปลายยุค 60s บริษัท JBL ได้ผลิตลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์รุ่น 4310 ขึ้นเพื่อใช้ในห้องบันทึกเสียง แนวคิดของการออกแบบคือสร้างลำโพงแบบสามทาง ที่ให้น้ำเสียงเหมือนกับลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์รุ่นดังอย่าง JBL 4320 มีขนาดตู้เล็กลง ตอบสนองเสียงเบสไม่ลึกเท่า แต่ให้ความยืดหยุ่นต่อการจัดวางบริเวณมิกซ์เซอร์คอนโซลได้มากกว่า จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กระทั่งกลายเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของสตูดิโอขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วไปในยุคนั้น
ต่อมาในปี 1971 หลังการเทคโอเวอร์ของบริษัท Harman International นำโดยผู้ก่อตั้ง ดร. ซิดนีย์ ฮาร์แมน ลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ 4310 ก็ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบเพื่อต่อยอด และกลายเป็นต้นกำเนิดของลำโพงรุ่น L100 เวอร์ชั่นแรก ที่เน้นเจาะตลาดกลุ่มลำโพงบ้านโดยเฉพาะ
ซึ่งจากแผนการตลาดชั้นยอดที่เข้าถึงผู้คนในวงกว้างของ ดร. ฮาร์แมน ด้วยคอนเซ็ปต์การนำคุณภาพระดับสตูดิโอมาสู่บ้าน บวกกับรูปลักษณ์ของลำโพงที่เหมือนดั่งเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านชั้นดี ทำให้ JBL L100 สร้างปรากฎการณ์ยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นลำโพงบ้านที่มียอดจำหน่ายสูงสุดตลอดกาลถึง 125,000 คู่ในช่วงยุค 70s
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/Harman-JBL-L100_Detail_D2_RT-1024x571.jpg)
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ JBL L100 ก็กลายเป็นชื่อที่จดจำของนักเล่นไปทั่วโลก และได้ทำการผลิตออกมาจำหน่ายอีกหลายเวอร์ชั่น ด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบ “West Coast Sound” หรือสไตล์เสียงแบบระบบลำโพงตู้เปิดที่เล่นได้ดัง ให้ย่านกลางแหลมชัดเจน เปิดโปร่ง ไม่อับทึบ เสียงทุ้มหนักแน่นฟังสนุก จนมีอีกฉายาในยุคนั้นว่า “ลำโพงร็อคแอนด์โรล” กระทั่งมาถึงเวอร์ชั่นล่าสุดอย่าง L100 Classic ที่เรียกเสียงฮือฮาจากงาน CES และเพิ่งเปิดตัวในบ้านเราไปเมื่อช่วงต้นปีนี้
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/Harman-JBL-L100_ORN_Grill_RT-1024x768.jpg)
รายละเอียดที่น่าสนใจ
Tim Gladwin หัวหน้าวิศวกรทีมออกแบบ ให้นิยามของ JBL L100 Classic ว่าเป็นลำโพงยุคใหม่ในคราบลำโพงวินเทจ ที่ยังคงความเป็นลำโพงแบบสามทางขนาดกลาง ๆ ระบบตู้เปิด ที่มีสัดส่วนมิติตัวตู้ใกล้เคียงกับ L100 รุ่นแรก ภายนอกให้อารมณ์แบบลำโพงย้อนยุค ด้วยหน้ากากโฟม Quadrex ที่เซาะร่องเป็นลิ่มคล้ายตารางหมากรุก มีสีสันให้เลือกสามสีคือ สีดำ, สีส้มอิฐ และสีกรมท่า ตัวโฟมมีความหนาพอสมควร และมีการออกแบบมาเพื่อหวังผลด้านอคูสติกส์โดยตรงนอกเหนือจากความสวยงาม
ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะจูนเสียงได้จากการใช้หน้ากากตัวนี้ ในกรณีที่ใส่หน้ากากปลายเสียงแหลมจะโรลออฟลงเล็กน้อย ช่วยให้เสียงมีความนุ่มนวลขึ้น เสียงกลางคล้ายจะถอยหลังไปอยู่ระนาบลำโพงมากขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่กระทบกับบุคลิกเสียงโดยรวม ฟังแล้วได้กลิ่นอายบรรยากาศของลำโพงวินเทจขึ้นมาอีกนิด ส่วนการถอดหน้ากาก ก็จะได้บุคลิคเสียงที่สด เปิดเผยขึ้น เสียงร้องขยับมาข้างหน้ามากขึ้น มีรายละเอียดหยุมหยิมชัดขึ้นเล็กน้อย
กรณีที่ท่านอยากได้เสียงกลางที่พุ่งเปิดขณะใส่หน้ากากก็อาจชดเชยด้วยปุ่มโทนคอนโทรล “MF LEVEL” ด้านหน้าได้ (น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่มีเวลาลองเล่นในส่วนนี้ น่าจะมีอะไรให้เล่าอีกเยอะ) นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ผลิต Quadrex โฟมจะมีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพอากาศได้ดียิ่งกว่าเดิม ทำให้หมดห่วงเรื่องอายุการใช้งาน เมื่อต้องมาเจอกับสภาพอากาศแบบบ้านเรา
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/JBL4312G-C-1024x683.jpg)
สมาชิกในทีมอีกคนที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบ คือ Chris Hagen อดีตวิศวกรผู้เคยออกแบบลำโพง JBL L100T3 ในปี 1988 ทำให้ L100 Classic เสมือนเป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ ผสานเข้ากับเทคโนโลยีและทรัพยากรการผลิตที่ทันสมัยของ Harman ได้อย่างลงตัว โครงสร้างตู้ของ L100 Classic เป็น MDF หนาประมาณ 15 มม. ปิดผิวด้วยวิเนียร์ลายไม้วอลนัต ภายในมีการคาดโครงคร่าวแบบ “V-Brace” เสริมความแกร่ง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้เฉพาะในลำโพงรุ่นสูงของ JBL
ติดตั้งไดร์เวอร์ใหม่ยกชุด เริ่มตั้งแต่ทวีตเตอร์โดมไทเทเนียมขนาดหนึ่งนิ้วรุ่น JT025Ti1 ที่ทาง JBL ออกแบบเวฟไกด์มาเป็นพิเศษ เน้นมุมกระจายเสียงที่กว้างและแม่นยำ, มิดเรนจ์กรวยกระดาษเคลือบโพลิเมอร์ (Polymer-coated Pure Pulp Cone) ขนาด 5 ¼ นิ้วรุ่น 105H-1 ใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่เกินตัวรวมถึงชุดตัวขับที่ทนกำลังขับได้สูง และวูฟเฟอร์กรวยกระดาษ (Pure Pulp Cone) ขนาด 12 นิ้วรุ่น JW300PW-8 ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกับไดร์เวอร์ของลำโพง JBL รุ่น K2 S5800 ราคาล้านกว่าบาท โครงสร้างแม่เหล็กขนาดยักษ์ ให้การทำงานที่เป็นลิเนียร์สูงและมีความเพี้ยนต่ำ
แผงหน้าบริเวณส่วนบนของลำโพงจะมีชุดโทนคอนโทรลปรับชดเชยเสียงย่านกลาง “MF LEVEL” และแหลม “HF LEVEL” (สำหรับในการทดสอบจะตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 0dB ทั้งคู่) ถัดลงมาเป็นท่อพอร์ทขนาดใหญ่ ด้านหลังลำโพงติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสแบบซิงเกิ้ลไวร์
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/Harman-JBL-L100_Detail_C_RT-fa9bd483-768x1024.jpg)
ขอพูดถึงขาตั้งลำโพง JBL JS120 ที่ออกแบบมาคู่กันสักหน่อย ได้ยินนักเล่นบางท่านสงสัยเรื่องความสูงของขาตั้งที่ค่อนข้างเตี้ยพอสมควร เกรงว่าเวทีเสียงจะเตี้ยลงกว่าปกติไปด้วยหรือไม่ จากการที่ได้ทดสอบแล้วต้องบอกว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย เวทีเสียงยังคงอยุ่ในระดับปกติแบบเดียวกับที่เคยฟังมาตลอด แถมให้มิติด้านสูงที่แผ่กว้าง มีขอบเขตที่ชัดเจนเอาเสียด้วย
เหตุผลคือวิศกรผู้ออกแบบได้คำนวณมาเรียบร้อยแล้ว ด้วยองศาของขาตั้งที่ทำให้ลำโพงเชิดหน้าขึ้น ผสานกับมุมกระจายเสียงของตัวทวีตเตอร์ ทำให้ได้ความถูกต้องของเวทีเสียงเหมือนการลำโพงบนขาตั้งปกติทั่วไป แถมยังเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการให้ความสูงลำโพงของลำโพงไปบดบังทัศนียภาพของห้องอีกต่างหาก
แต่เหนืออื่นใดคือ เรื่องของคุณภาพเสียง ด้วยความที่ขาตั้งมีลักษณะโปร่ง ไม่สะสมพลังงาน มีการบุวัสดุคล้ายฟองน้ำตรงช่วงที่ฐานลำโพงสัมผัสขาตั้ง เสริมความนิ่งและรับน้ำหนักลำโพงได้อย่างมั่นคง ช่วยให้อิมเมจตัวเสียงมีความนิ่งและชัดเจน จึงอยากแนะนำว่าเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของลำโพง ควรใช้งานร่วมกันกับขาตั้งรุ่นนี้
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/harman-jbl-l100_pair_stand_rt__large_full-1024x810.jpg)
ผลการลองฟัง
ในการทดสอบครั้งนี้ เป็นการทดสอบแบบสัญจรนอกสถานที่ ณ โชว์รูม DREAM THEATER ของบริษัทมหาจักรที่สยามพารากอน รายละเอียดของการทดสอบจะเป็นไปตามเงื่อนไขของซิสเต็มรวมทั้งสภาพอคูสติกส์ในห้องทดสอบของโชว์รูมเป็นสำคัญ ผู้เขียนจะไม่เข้าไปยุ่มย่ามหรือปรับแต่งใด ๆ เพิ่มเติมอีก เนื่องด้วยระยะเวลาการฟังทดสอบที่จำกัดราวชั่วโมงครึ่ง จึงขอบรรยายไปตามความรู้สึกที่ได้ฟัง ณ ช่วงเวลานั้น รายละเอียดเบื้องลึกอาจไม่ครบถ้วนทุกแง่มุมเหมือนการได้ฟังทดสอบที่ห้องของผู้เขียนเอง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/51322659_2978257058866593_6845598190972960768_o-1024x812.jpg)
ห้องฟังของโชว์รูม DREAM THEATER มีขนาดใหญ่พอสมควร เป็นห้องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าจัดวางชุดเครื่องเสียงตามแนวยาวของห้อง สภาพอคูสติกส์มีความเงียบสงัดดีใช้ได้ แม้จะไม่ใช่ห้องปิดตายเสียทีเดียว ซิสเต็มที่ทางโชว์รูมเซ็ตอัพไว้คร่าว ๆ ประกอบด้วยเครื่องเล่น SA-CD ของ Denon รุ่นใหญ่, ชุดปรี-เพาเวอร์โมโนบล็อกจาก Chord Electronics ส่วนสายเชื่อมต่อเป็นรุ่นสูงของ Chord ลำโพงจัดวางไว้ห่างกันราวสองเมตรและห่างจากพนังด้านหลังเมตรกว่า ๆ โทอินเข้าหากันเล็กน้อย ทดสอบด้วยแผ่นซีดีหลายอัลบั้มที่ทางโชว์รูมเตรียมเอาไว้
JBL L100 Classic ยังคงให้น้ำเสียงที่มีความสด เปิดเผย อิมเมจของเสียงขึ้นรูปกระชับแน่นเป็นตัวชัดเจน ตามสไตล์ของเจบีแอลแต่เพิ่มดีกรีความน่าฟังด้วยเนื้อเสียงที่มีความเนียนละเมียด อิ่มแน่น กลมกลึง มากกว่าลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ทุกรุ่นของเจบีแอลที่ผู้เขียนเคยสัมผัสมา ฟังแล้วมีความกลมกล่อมดูเป็นลำโพงแบบมิวสิคเลิฟเวอร์มากขึ้นกว่าเดิม เป็นการเจือสีสันความน่าฟังในเนื้อเสียงเข้ามาเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นโทนเสียงอุ่น ยังคงตั้งอยู่บนบุคลิกพื้นฐานของลำโพงมอนิเตอร์ ทำให้เกิดส่วนผสมที่น่าสนใจของความชัดเจนในรายละเอียดแต่ให้น้ำเสียงที่ผ่อนคลาย ไม่เกี่ยงคุณภาพของการบันทึกเสียงหรือคุณภาพแหล่งโปรแกรมมากจนเกินไป
ยิ่งฟังยิ่งเพลิดเพลินชวนให้อย่างนั่งฟังนาน ๆ สำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของเจบีแอลรับรองว่าถ้าได้ฟัง L100 Classic น่าจะตกหลุมรักได้ไม่ยาก เพราะยังคงคอนเซปต์ “Loud & Clear” เอาไว้อย่างเหนียวแน่น เสียงทุกย่านมีรายละเอียดทีครบถ้วน ชัดเจน ไม่มีการสับสนตีรวน ไม่ว่าจะเล่นในระดับความดังสูงแค่ไหนก็ยังคงคุณสมบัติดังกล่าวได้อย่างยอดเยี่ยม อานิสงค์จากการออกแบบชุดตัวขับเสียงที่มีความเป็นลิเนียร์และทนกำลังขับได้สูง จึงรองรับกับไดนามิกเรนจ์ได้กว้างไม่อั้นตื้อ ยิ่งเปิดดังยิ่งฟังสนุก และไม่ส่ออาการสากหยาบกร้านในเนื้อเสียงให้ได้ยินแม้แต่น้อย
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/Harman-JBL-L100_Detail_A_RT-1024x768.jpg)
ผู้เขียนชอบโทนเสียงแหลมที่ได้จากทวีตเตอร์โดมไทเทเนียมรุ่นนี้ของเจบีแอล เพราะให้เสียงแหลมที่ควบแน่นเป็นเม็ด ๆ สะอาดเกลี้ยงเกลา ขึ้นรูปเป็นตัวตนชัดเจนตั้งแต่หัวจรดหางเสียงแต่ปราศจากอาการขึ้นขอบแข็ง อีกทั้งยังให้น้ำหนักแรงปะทะหัวเสียงที่มีความสดสมจริงไปได้พร้อม ๆ กัน มีความกังวานแบบธรรมชาติไม่แข็งกระด้าง สามารถแสดงความแตกต่างของเครื่องเคาะโลหะประเภทต่าง ๆ ออกมาได้สดใสน่าฟัง ไม่เจิดจ้าจนเกินงามเหมือนผ่านการชั่งตวงวัดมาอย่างพอดิบพอดี เรียกว่าดีขึ้นผิดหูผิดตา ตอบสนองความถี่ย่านแหลมได้ราบรื่นกว่าทวีตเตอร์โดมไทเทเนียมในลำโพงโมเดลเก่า ๆ ของเจบีแอลที่ผู้เขียนเคยฟังในอดีต นอกจากนี้เวฟไกด์ที่ออกแบบมาอย่างดีก็ทำให้เสียงจากทวีตเตอร์หลุดกระจายตัวออกไปรอบทิศทางได้ดีเป็นพิเศษจนลืมขนาดของตัวตู้ลำโพงที่ตั้งอยู่ข้างหน้าเลยทีเดียว
เสียงกลางจากมิดเรนจ์กรวยกระดาษเคลือบขนาด 5.25 นิ้วทำงานครอบคลุมย่านความถี่ประมาณ 450 เฮิร์ทซ์ขึ้นไปถึงราว 2.5 กิโลเฮิร์ทซ์ ซึ่งเป็นช่วงของความถี่กลางต่ำขึ้นไปถึงกลางสูงเกือบทั้งหมด มีความราบรื่นดีทีเดียว ให้ความต่อเนื่องกับทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ได้อย่างกลมกลืน เนื้อเสียงสะอาด ควบแน่นมีทรวดทรงเป็นสามมิติ เสียงร้องชัดเจนและเปิดพุ่งออกมาด้านหน้าเล็กน้อยตามสไตล์เจบีแอล ถ่ายทอดรายละเอียดหยุมหยิมออกมาได้อย่างละเอียดหมดจดน่าติดตาม เวลาฟังเพลงร้องที่เน้นการถ่ายทอดอารมณ์ ก็สามารถแสดงลีลาและความฉอเลาะของนักร้องออกมาได้อย่างเข้าถึง แต่ไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะของความอิ่มหวานจนน่าเบื่อ ประเภทร้อยเนื้อหนึ่งทำนอง แต่เป็นความหวานจากเนื้อเสียงจริง ๆ ตามลักษณะของเสียงร้องหรือเครื่องดนตรีนั้น ๆ ที่ควรจะเป็น
ช่วงหนึ่งของการทดสอบลองฟังอัลบั้มที่ใช้เครื่องเป่าทองเหลืองอย่างแซ็กโซโฟนเป็นพระเอก เสียงแซ็กมีไดนามิกเปิดโล่งเป็นอิสระ มีความสดสมจริงและให้ขนาดของอิมเมจตัวเสียงที่สมส่วน ถ่ายทอดทั้งมวลเสียง น้ำหนัก และรายละเอียดเสียงลมม้วนผ่านท่อทองเหลืองออกมาได้ใกล้เคียงกับการฟังเสียงแซ็กเป่าสด ๆ ให้ฟังต่อหน้าเลยทีเดียว
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/Harman-JBL-L100_Detail_B_RT-83aaa1f0-768x1024.jpg)
เสียงทุ้มจากวูฟเฟอร์กรวยกระดาษขนาด 12 นิ้วนั้นมีทั้งความหนัก ความแน่น และกระชับเก็บตัวได้ดี ไม่มีเสียงทุ้มยานครางออกมาให้ได้ยิน มีแรงปะทะต้นโน้ตที่ชัดเจนและทิ้งตัวลงพื้นได้น่าประทับใจ เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ไม่ไปรบกวนย่านเสียงกลางเลย แม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของมิดเรนจ์และวูฟเฟอร์จะแตกต่างกันมาก แต่กลับสอดประสานการทำงานระหว่างกันและกัน ที่ช่วงรอยต่อจุดตัดความถี่ได้อย่างกลมกลืน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการออกแบบครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คที่ยอดเยี่ยม รวมถึงชุดตัวขับที่ทรงพลัง สามารถพลักดันกรวยลำโพงได้อย่างฉับไว ไม่อั้นตื้อ และควบคุมการสั่นค้างของกรวยลำโพงได้อยู่หมัด ทุ้มแบบนี้จะตอบโจทย์ของการฟังเพลงได้หลากหลายแนว เพราะให้ความกระชับแน่น สะอาด มีน้ำหนักและลงได้ลึก ส่งผลให้น้ำเสียงทุกย่านมีความโปร่งใส มีรายละเอียด และเสริมมวลบรรยากาศโดยรวมของเสียงได้ไม่ต่างกับการใช้ซับวูฟเฟอร์ชั้นดี
มิติเวทีเสียงของ L100 Classic มีความโอ่อ่าอลังการมาก ให้อิมเมจชิ้นดนตรีที่มีขนาดสมจริง เวทีเสียงแผ่ขยายออกไปรอบตัวทั้งด้านกว้างและด้านลึก โดยเฉพาะด้านสูงนั้นทำได้ดีมาก สามารถแสดงความสูงของนักร้องลอยขึ้นมาเหนือลำโพงได้อย่างชัดเจน และอยู่ในระดับความสูงที่ควรจะเป็น ท่านไม่ต้องกังวลกับเรื่องความสูงของขาตั้งลำโพงที่ออกแบบมาคู่กันแต่อย่างใด ช่วงหนึ่งของการทดสอบฟังเพลงบรรเลงที่เป็นการบันทึกสดในโบสถ์ JBL L100 Classic ก็ถ่ายทอดมิติด้านสูงที่มีบรรยากาศก้องสะท้อนของเพดานโบสถ์ออกมาอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังให้โฟกัสของชิ้นดนตรีที่มีความคมชัดอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถแยกแยะเครื่องดนตรีที่สลับซับซ้อนอยู่ออกมาได้ดี รับรู้เลเยอร์ของเสียงที่ถูกมิกซ์มาได้ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกแบบมัลติแทร็คหรือการบันทึกแบบการแสดงสด รวมถึงสามารถเก็บบรรยากาศรายล้อมรอบตัวเสียง หรือบรรยากาศของการบันทึกเสียงมาได้อย่างหมดจด ทำให้การฟังแต่ละอัลบั้มได้ความรู้สึกที่สดใหม่ ได้บรรยากาศที่มีชีวิตชีวามากเป็นพิเศษ
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/Harman-JBL-L100_Drama_RT-d9c45cce-685x1024.jpg)
สรุป
แม้จะเป็นการทดสอบช่วงสั้น ๆ แต่ JBL L100 Classic ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้เขียนได้มากทีเดียว ด้วยน้ำเสียงที่ผสานความเป็นมอนิเตอร์กับมิวสิคเลิฟเวอร์ได้อย่างลงตัว ฟังเพลงได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องฟังแค่ป็อบ ร็อค แจ็ส หรือเพลงจังหวะคึกคักสนุกสนานอย่างเดียว กับเพลงที่เน้นอารมณ์ความต่อเนื่องลื่นไหลก็ทำได้น่าประทับใจไม่แพ้กัน
เป็นลำโพง L100 เวอร์ชั่นที่ครบเครื่องมากที่สุดรุ่นหนึ่งที่ผู้เขียนเคยสัมผัสมา ไม่เสียชื่อทีมออกแบบจริง ๆ แถมด้วยรูปลักษณ์ที่ดูคลาสสิคสวยงาม เป็นเฟอร์นิเจอร์แต่งห้องได้อย่างน่าสนใจ แถมจัดวางง่ายไม่เกี่ยงสภาพห้องมากนัก ได้ข่าวว่าช่วงนี้มีโปรโมชั่นราคาพิเศษพร้อมขาตั้งอีกด้วย ก็คงต้องบอกว่าสำหรับท่านที่สนใจ ต้องลองหาโอกาสมาลองฟังให้ได้สักครั้ง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/04/51579232_2978257052199927_7943560469426470912_o-1024x817.jpg)
รายละเอียดด้านเทคนิค
JBL L100 Classic
DESCRIPTION | 3-way Bookshelf Loudspeaker |
LOW-FREQUENCY TRANSDUCER | 12-inch (300mm) pure pulp cone woofer (JW300PW-8) |
MID-FREQUENCY TRANSDUCER | 5.25-inch (125mm) polymer-coated pure pulp cone (105H-1) |
HIGH-FREQUENCY TRANSDUCER | 1-inch (25mm) titanium dome with soft surround (JT025TI1-4) |
FREQUENCY RESPONSE | 40Hz – 40kHz (-6dB) |
SENSITIVITY | 90dB (2.83V/1m) |
POWER HANDLING | 25 – 200 Watts RMS |
CROSSOVER FREQUENCIES | 450Hz, 3.5kHz |
IMPEDANCE | 4 Ohms |
CONTROLS | Attenuators for MF and HF drivers |
CONNECTORS | Five-way gold-plated binding posts |
DIMENSIONS (H X W X D) | 25.06 x 15.34 x 14.625 inches (636.52 x 389.64 x 371.48mm) |
WEIGHT | 58.5 lbs (26.7 kg) |
FINISH | Genuine walnut veneer enclosure with Quadrex foam grille in a choice of black, burnt orange or dark blue |
ขอขอบคุณ บริษัท มหาจักรดีเวลอปเม้นท์ จำกัด และโชว์รูม DREAM THEATER (Siam paragon) โทร. 0-2610-9671-2 ที่เอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับการทดสอบ