What HI-FI? Thailand

INDIANA LINE : NOTA 260 X

DAWN NATHONG

นิยามใหม่ของความคุ้มค่า

เมื่อมองไปในตลาดลำโพงบ้านระดับ Budget ไม่เกินหมื่นหรือหมื่นต้น ๆ ในเมืองไทยปัจจุบันนี้ เราจะเห็นแบรนด์ที่ครองตลาดอยู่ไม่กี่แบรนด์และมักเป็นแบรนด์จากทางฝั่งอังกฤษ อเมริกาและแคนาดาเป็นส่วนใหญ่ ล้วนเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มของนักเล่นมาอย่างยาวนาน เท่าที่ผู้เขียนได้เคยทดสอบมา ก็จะมีบุคลิกเสียงที่ “ค่อนข้าง” มาในโทนเดียวกันสองลักษณะ คือหนึ่ง ให้ความโดดเด่นย่านเสียงกลางที่สะอาดราบรื่น และมีความนุ่มนวลเจือปนอยู่ในน้ำเสียงตลอดย่านความถี่

หรือสองจะให้ความสดใส ชัดเจน เน้นเบสต้นที่มีแรงปะทะฟังสนุกเป็นจุดขาย ขณะที่เรื่องของการตอบสนองต่อไดนามิก ความใสทะลุถึงชิ้นดนตรี และรายละเอียด มักจะโดดเด่นขึ้นในรุ่นที่มีราคาสูงกว่าขึ้นตามลำดับโดยส่วนใหญ่

ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักลำโพง Indiana Line ตอนที่ไปเยี่ยมชมร้าน Phantom Image ซึ่งตอนนั้นเพิ่งนำลำโพงยี่ห้อนี้เข้ามาหมาด ๆ ยังไม่ได้มีการโปรโมทแต่อย่างใด ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามดูมีราคา รวมทั้งน้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวน่าสนใจ  ซึ่งไม่ค่อยเห็นในลำโพงระดับราคานี้นัก รวมถึงได้ทราบประวัติความเป็นมาอันยาวนานของแบรนด์ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในอิตาลี แล้วรู้สึกสนใจเลยถือโอกาสหยิบยืมลำโพงวางหิ้งรุ่น NOTA 260 X มาทำการทดสอบกัน

        Indiana Line เป็นแบรนด์ในเครือของบริษัท Coral Electronic srl. ตั้งอยู่ในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี แหล่งกำเนิดรถยนต์ยี่ห้อดัง “FIAT” เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 1977 มีปรัชญาการออกแบบลำโพงที่ยึดมั่นเรื่องของการถ่ายทอดประสิทธิภาพเกินตัว มีความคุ้มค่าต่อราคาสูง ต่อมาในปี 2006 จึงควบรวมกิจการเข้ากับบริษัท Coral Electronic srl. ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮไฟชื่อดัง และร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ผลิตลำโพงของอิตาลี ด้วยการผสมผสานประสพการณ์การออกแบบทั้งลำโพงบ้านและรถยนต์กว่า 40 ปีของทีมวิศวกร และคงแนวคิดดั้งเดิมของการสร้างลำโพงที่มีประสิทธิภาพเยี่ยมยอดซึ่งสามารถแข่งขันได้จริงในตลาดโลก

รายละเอียดที่น่าสนใจ

Indiana Line ก็เหมือนกับลำโพงระดับ Budget ส่วนใหญ่ คือมีการวิจัยและพัฒนาจากบริษัทแม่ และถูกส่งไปผลิตยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งที่ป้ายด้านหลังลำโพงก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “Made in P.R.C” หรือ “Made in The People’s Republic of China” นั่นเอง เพราะถ้าผลิตในโรงงานที่อิตาลีเองแล้ว ราคาน่าจะขยับขึ้นไปอีกพอสมควร

กลุ่มลำโพงของ Indiana Line แบ่งเป็นซีรียส์หลัก ๆ ได้แก่รุ่นใหญ่สุด DIVA ซีรยส์, THESIS ซีรียส์ และรุ่นเล็กสุด NOTA-X ซีรียส์ ซึ่งลำโพง 260 X ที่นำมาทดสอบเป็นลำโพงวางหิ้งรุ่นใหญ่สุดของซีรียส์ โดย NOTA-X ซีรียส์ประกอบด้วยลำโพงวางหิ้งรุ่น NOTA 240 X, NOTA 250 X, NOTA 260 X และลำโพงรุ่นตั้งพื้น NOTA 550 X และยังมีลำโพงเซ็นเตอร์ NOTA 740 X อีกรุ่น

        ตัวตู้ลำโพงทำจากไม้ MDF หนา 15 มม. ผิวตู้หุ้มด้วยไวนิลสีดำกึ่งด้าน ด้านข้างประกบด้วยแผ่นไม้อัดปาดเหลี่ยมมุมให้ดูมีมิติ หุ้มด้วยวิเนียร์ผิวไม้วอลนัต ลองใช้นิ้วลูบเก็บงานได้เนี้ยบทุกกระเบียดนิ้ว ทวีตเตอร์ใช้แบบโดมผ้าไหมขนาดหนึ่งนิ้ว แม่เหล็กอัลลอยด์ (นีโอไดเมียม, เหล็ก, โบรอน) มีช่องระบายอากาศด้านหลังโดม

รอบโดมทวีตเตอร์ด้านนอกทำเป็นทรงผายออกคล้ายปากแตรเล็ก ๆ ตัวขับกลาง/ทุ้มแบบกรวยขนาดหกนิ้วครึ่ง ดัสแคปแบบเว้าเข้า ไดอะแฟรมทำจากโพลีโพรไพลีน แม่เหล็กเฟอไรท์ จุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์ 2,600 เฮิร์ตซ์ ออกแบบเป็นระบบเบสรีเฟล็กมีท่อพอร์ตขนาดใหญ่ด้านหลัง ขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสแบบซิงเกิ้ลไวร์

การเซ็ตอัพและติดตั้ง

ดูจากสเปคของ NOTA 260 X แล้ว มีความไวสูงถึง 92 ดีบี และต้องการกำลังขับของแอมป์อยู่ในช่วง 30 – 100 วัตต์ ความต้านทานอยู่ในช่วง 4 – 8 โอห์ม จัดว่าเป็นลำโพงความไวสูงที่ขับง่าย อินทิเกรตแอมป์ตัวเล็ก ๆ ก็ขับออกมาได้เรื่องได้ราวแล้ว

อันที่จริงต้องบอกว่า NOTA 260 X นั้นไม่เลือกแอมป์ที่มาขับไม่ว่าจะเป็นแอมป์กำลังขับต่ำหรือสูง เพราะช่วงหนึ่งของการทดสอบ ได้ลองจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ NAD 216 THX ซึ่งมีกำลังขับ 120 วัตต์ รู้สึกได้ว่าคุณภาพเสียงดีขึ้นไปอีกโดยเฉพาะโฟกัสย่านทุ้ม แต่คุณภาพโดยรวมไม่หนีจากการใช้อินทิเกรตแอมป์ Bryston ซึ่งมีกำลังขับ 60 วัตต์สักกี่มากน้อย น้ำเสียงมีความกลมกล่อมลงตัวและราบรื่น ไม่ส่ออาการเสียงเครียดเค้นออกมาให้เห็นตลอดการรับฟัง

จึงขอแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับสูงมากมายเกินสเปคที่กำหนด หรือแอมป์ที่มีเกนขยายสูง ๆ แอมปลิฟายเออร์ที่มีกำลังขับสัก 30 วัตต์ขึ้นไปก็เพียงพอที่จะทำให้ลำโพงคู่นี้ปลดปล่อยประสิทธิภาพออกมาได้น่าฟังแล้ว (สังเกตุความเหมาะสมจากระดับความดังเมื่อบิดโวลุ่ม) และสำหรับแอมป์หลอดวัตต์ต่ำพวกซิงเกิ้ลเอ็นด์ไตรโอด ก็ดูจะเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับ NOTA 260 X เช่นกัน น่าจะส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

        จัดวางลำโพง NOTA 260 X ลงบนขาตั้งมวลปานกลาง Atacama HMS1 ความสูง 24 นิ้ว วางให้แผงหน้าลำโพงเลยเพลตบนของลำโพงประมาณหนึ่งนิ้ว วางลำโพงห่างกันราว 1.9 เมตร โทอินเข้าหาจุดนั่งฟังเล็กน้อย ถอดหน้ากากลำโพงออกตลอดการทดสอบ

ผลการลองฟัง

ชั้วโมงแรก ๆ ของการฟังดุลเสียงจะค่อนไปทางกลางแหลมมาก เสียงยังลอย ๆ ไม่โฟกัสนัก เลยทำการเบิร์นอินด้วยการฟังตามปกติไปเรื่อย ๆ รวมเวลาได้ราวร้อยกว่าชั่วโมง จนสมดุลเสียงและโฟกัสเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

        น้ำเสียงโดยรวมของ NOTA 260 X ออกไปทางเปิดโปร่ง ตัวเสียงในทุก ๆ ย่านปลดปล่อยออกมาได้อย่างอิสระใช้ได้ สามารถนำเสนอในแง่ของไดนามิกเสียงออกมาได้อย่างโดดเด่นเกินราคา คือ “จำลอง” ภาพรวมของการถ่ายทอดไดนามิกที่มีอิสระเหมือนลำโพงราคาสูงลงมาได้น่าสนใจ ชวนให้นึกถึงลำโพงเล็กหน้าแคบแต่เสียงใหญ่อย่างแบรนด์ System Audio อยู่เหมือนกัน ลองฟังกับเพลงที่มีช่วงไดนามิกกว้าง ๆ อย่างเพลงซิมโฟนีออเครสตร้า หรืออัลบั้มที่บันทึกเสียงเครื่องดนตรีสด ๆ หรือบันทึกการแสดงสด จะฟังออกได้อย่างชัดเจนถึงความโดดเด่นของคุณสมบัติดังกล่าว ให้รายละเอียดในช่วงที่เสียงดนตรีแผ่วเบาได้ดี หรือแม้ช่วงที่เสียงดนตรีมีระดับความดังสูงก็ยังรักษาสมดุลของเสียงและรายละเอียดเสียงเอาไว้ได้

[Stimela – Hugh Masekela / hope] เปิดได้ดังพอตัว ในระดับการฟังปกติทั่วไปไม่มีอาการอั้นตื้อออกมาให้เห็น ดุลเสียงนั้นจะให้ย่านกลางแหลมที่โดดเด่นกว่าย่านทุ้มเล็กน้อย เนื้อเสียงกระชับมีมวลปานกลาง ไม่เน้นความอิ่มหนา ให้ความสะอาดในเนื้อเสียงที่ดี ค่อนข้างเปิดเผย แฝงความสดจริงจังในน้ำเสียงเอาไว้อย่างพอเหมาะ ไม่มีความแข็งกระด้างของเนื้อเสียง เพียงแต่ต้องพิจารณาเรื่องของแอมป์ที่นำมาใช้ให้เหมาะสมตามที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช้แอมป์เกนขยายสูง ๆ ดันให้เสียงพุ่งออกมามากเกินไป เพราะลำโพงค่อนข้างให้เกนเอาท์พุตที่ดังมากอยู่แล้ว

        ความน่าสนใจอีกอย่างคือมันเป็นลำโพงที่ให้เวทีเสียงกว้างขวาง ใหญ่โตเอาเรื่องเลยทีเดียว มีขนาดชิ้นดนตรีที่ค่อนข้างสมส่วน และแยกแยะเลเยอร์ของเวทีเสียงออกมาได้เป็นชั้น ๆ ไม่เลว แถมยังถ่ายทอดบรรยากาศโปร่งบางเบาภายในเวทีเสียงออกมาให้รับรู้ได้คล้ายกับลำโพงราคาแพง เพียงแต่จะเป็นรองในแง่ของความนิ่งสงัด ความขึ้นรูปเป็นตัวตนของชิ้นดนตรีต่าง ๆ ที่ลำโพงระดับไฮเอ็นด์ยังทำได้เหนือชั้นกว่า

แต่เทียบราคาขายแล้วก็ถือว่า NOTA 260 X ทำการบ้านในส่วนนี้มาได้ดี อิมเมจชิ้นดนตรีนั้นฉีกตัวหลุดออกจากตู้ไปรอบด้านได้มากทีเดียว ไม่รู้สึกว่าเสียงดังออกมาจากตัวตู้เลย ทั้ง ๆ ที่ดูจากรูปลักษณ์แล้วก็ไม่คิดว่าจะออกแบบมาเพื่อเน้นมิติเวทีเสียงเกินตัวขนาดนั้น แต่กลับทำให้รุ้สึกสะดุดหูได้ต้องขอชื่นชม ลองฟังพวกการแสดงสดในห้องฟังขนาดประมาณ 18 ตารางเมตร ก็จำลองเวทีเสียงออกมาเต็มห้องฟังได้โดยไม่ต้องการกำลังขับจากแอมป์มากมายแต่อย่างใด

         ปลายแหลมสะอาด เปิดโปร่ง มีความกังวานที่ดี ค่อนไปทางสว่าง แม้จะใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดม มีการจางหายของหางเสียงที่พริ้วไหวน่าฟัง และถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ดีทีเดียว มีมวลบรรยากาศเบาบางรอบตัวเสียงทำให้ไม่รู้สึกแห้งแล้งหรือกระด้าง ตรงนี้ค่อนข้างต่างจากที่เคยฟังในลำโพงระดับเดียวกันที่ใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดม มักให้ปลายแหลมสุดค่อย ๆ โรลออฟลง ไม่ทอดตัวยาวไปจนสุดเสียง นัยว่าทำให้มีความรู้สึกว่านุ่มนวลฟังสบาย และไม่ค่อยมีปัญหากับแหล่งโปรแกรมต่าง ๆ หรืออัลบั้มที่บันทึกมาไม่ดีนัก

ส่วนของ NOTA 260 X เลือกที่จะเก็บรายละเอียดเหล่านั้นไว้และไม่โรลออฟปลายแหลมลงเร็วเกินไปนัก ทำให้สามารถแสดงบรรยากาศของเสียงที่ถูกบันทึกอยู่ในอัลบั้มต่าง ๆ ออกมาได้ดี และในขณะเดียวกันก็ยังมีความประนีประนอมกับอัลบั้มที่คุณภาพการบันทึกไม่ดีในระดับหนึ่ง

        เสียงคนร้องมีมวลปานกลาง ไม่ถึงกับอิ่มแน่น แต่ให้ความสะอาดในเนื้อเสียงได้ค่อนข้างดี ถ่ายทอดเสียงหนัก-เบา อักขระการร้องออกมาได้ชัดเจน สำหรับคนชอบฟังเก็บรายละเอียดหยุมหยิมของนักร้องสามารถฟังเอาเรื่องเอาราวได้เลย เสียงเครื่องดนตรีที่มีเรนจ์เสียงกว้าง ๆ อย่างเปียโนมีน้ำหนักย้ำเน้นและความกังวานพลิ้วน่าฟัง สามารถฟังแยกแยะประเภทของเปียโนที่เล่นได้ง่าย รวมถึงพวกเครื่องสายไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน วิโอล่า หรือกีตาร์ประเภทต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน

เสียงย่านกลางไม่ถึงกับหวาน ออกไปทางจริงจังมากกว่านุ่มนวลฟังสบาย แต่ก็ยังมีความต่อเนื่องลื่นไหลพอจะฟังเพลงช้า ๆ ได้อย่างมีอรรถรส [We’re All Alone – Simone Kopmajer / Nothing Gonna Change] หรือพวกเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองก็มีความสดและรายละเอียดที่ชวนฟังไม่น้อย นับว่า NOTA 260 X ถ่ายทอดลักษณะเสียงเครื่องดนตรีสดออกมาได้ดี ให้ความรู้สึกที่สมจริงเป็นธรรมชาติ

        ทุ้มนุ่มแน่น กระชับเป็นลูกกำลังเหมาะ ไม่อวบหนาอุ้ยอ้าย หัวเสียงทุ้มต้นอาจจะอ่อนแรงปะทะที่เฉียบคมไปสักหน่อย แต่ก็ให้รายละเอียดโน้ตเสียงย่านทุ้มได้ดีและทอดตัวลงได้ลึกพอสมควร เวลาฟังเพลงซิมโฟนีออเครสตร้าบางอัลบั้มก็พอมีบรรยากาศของเบสลึกมาให้สัมผัสในระดับหนึ่ง คุมหางเสียงได้กระชับไม่ฟุ้งกระจายจนจับโฟกัสไม่ได้ สอดรับกับย่านกลางแหลมได้กลมกลืนดี ให้ความใสสะอาดของย่านเสียงทุ้มได้ไม่เลว ควบคุมย่านทุ้มได้ดีสามารถแยกแยะเสียงกลองเป็นใบ ๆ ออกจากกันได้ชัดเจนไม่สับสน

[Poem of Chinese Drums – Yim Hok-Man / Burmester CDIII] โดยรวมเสียงเสียงทุ้มก็ทำคะแนนเฉลี่ยได้ดีเมื่อเทียบกับลำโพงในระดับใกล้เคียงกัน และที่ NOTA 260 X ดูโดดเด่นเกินหน้าเกินตาเพื่อนพ้องขึ้นมาอย่างรู้สึกได้ ก็คือเรื่องการรองรับไดนามิกเรนจ์ที่กว้างขวางเกินตัว

ส่วนความเข้มข้นของมวลเสียงทุ้มอาจไม่โดดเด่นเท่าลำโพงพิกัดใกล้เคียงกันอย่าง Mission LX-2 ที่เคยทดสอบไป ก็ต้องพูดกันตรง ๆ เพราะลำโพงระดับนี้ย่อมต้องมีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกันไปเป็นเรื่องธรรมดา น่าเสียดายที่ไม่ได้ทดสอบการชมภาพยนตร์มัลติแชนแนล เพราะด้วยคุณสมบัติดังกล่าว น่าจะเหมาะกับการนำไปชมภาพยนตร์ไม่น้อย แถมไม่ต้องกังวลเรื่องกำลังขับของเอวีรีฟเวอร์อีกด้วย

สรุป

Indiana Line NOTA 260 X นับเป็นลำโพงวางหิ้งระดับเริ่มต้นที่สามารถจำลองคุณสมบัติด้านไดนามิกของลำโพงราคาสูงมาได้อย่างน่าชื่นชม น้ำเสียงเปิดโปร่ง ฟังสบาย ขับง่ายแอมป์ตัวเล็ก ๆ ก็ขับออกได้สบาย มีรายละเอียดในน้ำเสียงมากพอที่จะเอามาฟังแบบจริงจังได้ดี เวทีเสียงเกินตัว ไม่มีปัญหากับห้องขนาดใหญ่ เหมาะกับใครที่หาชุดฟังเพลงระดับเริ่มต้นที่ไม่ต้องลงทุนกับอุปกรณ์ร่วมมากนักก็สัมผัสคุณภาพเสียงเสียงที่เรียกได้ว่าเป็นออดิโอไฟล์ได้เหมือนกัน จึงขอเรียกว่าเป็นอีกนิยามของความคุ้มค่าได้อย่างแท้จริง

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

รายละเอียดด้านเทคนิค

Indiana Line NOTA 260 X

ขอขอบคุณร้าน แฟนท่อม อิมเมจ โทร. 063 412 4100 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบมา ณ โอกาสนี้

Exit mobile version