What HI-FI? Thailand

How-to “ลด” อย่างไรให้ได้รายละเอียดเสียงเพิ่ม

DAWN NATHONG

คำว่ารายละเอียด เป็นคำบ่งบอกลักษณะที่น่าจะได้ยินกันบ่อย เวลามีใครสักคนบรรยายถึงคุณงามความดีของอุปกรณ์เครื่องเสียงหรือคุณภาพเสียงจากซิสเต็ม ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ เพราะหากซิสเต็มไหนถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้อย่างสมจริงเป็นธรรมชาติแล้ว นั่นหมายถึงการเข้าใกล้ความเป็นไฮฟิเดลิตี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสุดยอดปรารถนาของนักเล่นหลายคน แต่การจะได้มาของ “รายละเอียดที่สมจริงเป็นธรรมชาติ” นั้นต้องอาศัยทั้งความเข้าใจและทักษะ เนื่องจากมีตัวแปรมากมายทั้ง ตัวอุปกรณ์เอง อคูสติกส์ห้อง ระบบไฟ และการเซ็ตอัพ

        นักเล่นหลายคนยังเข้าใจความหมายของ “รายละเอียดที่ดี” คลาดเคลื่อนอยู่ บ้างก็ฟังเสียงแหลมจัดชัดเจน เสียงคนร้องต้องได้ยินเสียงน้ำลายกระเด็นซิบๆ แต่ฟังนาน ๆ แล้วเหนื่อย ล้าหู บ้างก็ฟังเกนเสียงที่แรง บิดโวลุ่มนิดเดียวก็ได้ยินทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ขาดความอ่อนช้อยของเสียงในเวลาที่ควรจะเป็น หรือเรียกรวมกันว่า ขาดความเป็นธรรมชาตินั่นเอง สรุปแล้ว รายละเอียดที่ดีต้องมาพร้อมกับความเป็นธรรมชาติ ไม่น้อยหรือมากกว่าความเป็นจริง

        ส่วนวิธีที่จะได้ “รายละเอียดที่สมจริงเป็นธรรมชาติ” นั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การใช้อุปกรณ์เสริม การใช้อุปกรณ์ปรับอคูสติกส์ เป็นต้น ซึ่งขอเรียกว่าเป็นวิธีแบบ “เพิ่ม” ผลลัพท์นั้นจะผันแปรไปตามบุคลิกเสียงของสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในระบบ อาจมีทั้งดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ ส่วนวิธีการ “ลด” ที่ผู้เขียนจะนำเสนอเป็นทางเลือกนี้ หากทำอย่างเหมาะสม ก็จะได้รายละเอียดของเสียงที่ดีตามแต่ศักยภาพของซิสเต็มนั้นจะให้ได้มากที่สุด โดยมีผลกระทบต่อบุคลิกเสียงที่แท้จริงของซิสเต็มน้อยที่สุด

ลดระดับน้อยส์ฟลอร์ของห้อง

การจัดการระบบปรับอากาศภายในห้อง คือหนึ่งในวิธีการปรับปรุงค่าน้อยส์ฟลอร์ที่ง่ายและเห็นผลชัดเจน ด้วยการลงทุนเลือกระบบแอร์คอนดิชั่นหรือพัดลม ที่ทำงานได้เงียบที่สุดเท่าที่งบประมาณจะเอื้ออำนวย รวมทั้งการหาตำแหน่งติดตั้งแอร์ / คอมเพรสเซอร์ให้เหมาะสม ห้องฟังเพลงแบบเป็นกิจลักษณะนั้น ระดับน้อยส์ฟลอร์ของห้องควรจะอยู่ที่ในช่วง 40 – 30 dB(A) ยิ่งทำห้องฟังให้เงียบสงัดได้เท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ยินรายละเอียดหยุมหยิมแผ่วเบาของดนตรีชัดเจนขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเร่งโวลุ่มดังมากเกินจำเป็น

ระบบไฟฟ้าและระบบกราวด์ที่ถูกต้อง

เรื่องพื้นฐานที่สุดและสำคัญมากที่สุด ที่หลายคนอาจมองข้าม ก่อนที่จะไปเล่นแร่แปรธาตุกับอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์หลัก เครื่องกรองไฟ สายไฟต่าง ๆ เรียกว่ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อไปก็จะผิดพลาดกันเป็นทอด บางคนใช้อุปกณ์ระดับสุดยอด แต่มาตกม้าตายเพราะต่อปลั๊กไฟเอซีสลับขั้ว (Line กับ Neutral) หรือมีปัญหาเรื่องของกราวด์ลูป อุปกรณ์เครื่องเสียงที่อาศัยกระแสไฟเอซีในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียงระดับใด ล้วนต้องการการเชื่อมต่อกับขั้วปลั๊กไฟเอซีและกราวด์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ทำงานที่ตามที่ได้ออกแบบมาทั้งสิ้น และกรณีการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างยี่ห้อ ยิ่งต้องตรวจสอบให้ดี

ลดสิ่งรบกวนภายในห้อง เช่น Router WiFi ระบบไฟส่องสว่าง

สัญญาณรบกวนประเภท EMI/RFI อีกตัวแปรที่มีส่วนในการลดทอนรายละเอียดเสียง ซึ่งเป็นตัวแปรที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะมีอยู่รอบตัวเราแม้กระทั่งในอุปกรณ์เครื่องเสียง ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเล่นแบบสุดโต่งที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ออกไป แต่เราสามารถเลือกวิธีการที่จะลดทอนปัญหาเหล่านี้ให้เบาบางลงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการวาง Router WiFi เอาไว้ใกล้กับชุดเครื่องเสียง, เลือกใช้การเชื่อมต่อด้วยสาย Ethernet แทน WiFi, ใช้สายแบบมีชิลด์ที่ได้มาตรฐาน, หลีกเลี่ยงการใช้หลอดไฟ LED และระบบไฟส่องสว่างแบบ Dimmer เป็นต้น

เซ็ตอัพตำแหน่งลำโพง หาจุดที่เสียงเบสดีที่สุด

ปรับหาสมดุลปริมาณเสียงย่านทุ้มภายในห้อง ด้วยการขยับตำแหน่งลำโพงหนีห่างผนังด้านหลังในระยะที่เหมาะสม เสียงในย่านความถี่กลางแหลมมีพลังงานน้อยกว่าย่านทุ้ม โอกาสที่จะถูกกวนหรือหักล้างจากคลื่นพลังงานเสียงย่านทุ้มภายในห้องนั้นมีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบที่ใช้ดอกลำโพงวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก หรือมีการใช้งานซับวูฟเฟอร์อยู่ในระบบ ดังนั้นการเซ็ตอัพและจัดวางลำโพงในตำแหน่งที่เหมาะสม ลดปริมาณเสียงทุ้มโด่งหรือวูบมากเกินไป ส่งผลให้เสียงทุกย่านความถี่ มีรายละเอียดที่ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว

ลดจุดเชื่อมต่อสายภายในระบบ

สายสัญญาณ สายลำโพง สายไฟเอซีนั้น ล้วนเป็นอุปกรณ์พาสซีฟที่ไม่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าเพื่อทำงาน ตัวสายเองไม่มีคุณสมบัติในการเพิ่มหรือขยายสัญญาณใด ๆ มีแค่เพียงการลดทอนในบางย่านความถี่ลง หรือส่งผ่านสัญญาณให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดเท่านั้น สุดแท้แต่การออกแบบของผู้ผลิต ดังนั้น ยิ่งมีจุดเชื่อมต่อสายมากเท่าไหร่ โอกาสที่สัญญาณจะถูกลดทอน (อย่างไม่เหมาะสม) หรือสูญเสียก็มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายละเอียดของเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


Exit mobile version