HEDD : HEDDphone® หูฟัง AMT ไดร์เวอร์

0

DAWN NATHONG

HEDD

หูฟังฟูลเร้นจ์ Air Motion Transformer ระดับอ้างอิง

HEDD หรือ Heinz Electrodynamic Designs คือบริษัทผู้ออกแบบและผลิตลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์, อุปกรณ์ดิจิทัลอินเตอร์เฟสและปล๊กอินระดับมืออาชีพ จากกรุงเบอลิน ประเทศเยอรมนี ก่อตั้งโดยสองพ่อลูก Klaus Heinz และ Dr. Frederik Knop

Klaus Heinz (ซ้ายมือ) และ Dr. Frederik Knop (ขวามือ) บุตรชาย

        ชั่วชีวิตของ Heinz คลุกคลีอยู่กับโลกของฟิสิกส์และเสียงอยู่ตลอด เขาหลงใหลในหลักการ Air Motion Transformer (AMT) ที่คิดค้นโดย Oskar Heil เป็นอย่างมาก กระทั่งบุคคลสองได้มีโอกาสพบกันในปี 1980 ณ ซิลิคอนวัลเลย์

หลังจากนั้น Heinz ก็ได้เริ่มนำหลักการ AMT มาประยุกต์ใช้กับลำโพงหลายต่อหลายรุ่นที่เขามีส่วนในการออกแบบตั้งแต่ปี 1990 (Adam Audio) จวบจนถึงลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ HEDD Type ซีรียส์ในปัจจุบัน ที่ Heinz ก็ปรับปรุงตัว AMT ไดร์เวอร์ให้ก้าวล้ำยิ่งขึ้นไปอีก

HEDD

Oskar Heil (ซ้ายมือ) และ Klaus Heinz (ขวามือ) ในวัยหนุ่ม

HEDDphone® นิยามใหม่ของเทคโนโลยีหูฟัง

จากหลากหลายแนวคิดในการออกแบบตัวขับเสียงของลำโพง หลักการพลักอากาศเข้า-ออก จากไดร์เวอร์ AMT ซึ่งใช้ไดอะแฟรมแบบแผ่นพับคล้ายหีบเพลงให้ประสิทธิภาพใด้ฉับไวยิ่งยวดกว่าตัวขับเสียงชนิดอื่นถึงสี่เท่า ไม่ว่าจะเป็นไดร์เวอร์ไดนามิก, อิเล็กโตรสแตติก หรือริบบ้อน

HEDD

แต่ข้อจำกัดของไดร์เวอร์ AMT นั้นเดิมที่ตอบสนองความถี่ได้เฉพาะย่านแหลม Heinz จึงคิดค้นเทคโนโลยี VVT® (รอจดสิทธิบัตร) สร้างรูปทรงเรขาคนิตของไดอะแฟรมไดร์เวอร์ AMT ซะใหม่ทั้งด้านกว้างและลึก (เพิ่มพื้นที่พลักดันอากาศ) ทำให้สามารถตอบสนองความถี่ได้ตลอดย่านความถี่แบบฟูลเร้นจ์ (10Hz–40kHz) และถือว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้ตัวชับเสียงลักษณะนี้กับหูฟังฟูลไซส์

        อันที่จริงสมัยก่อนก็มีหูฟังแบรนด์ ERGO ที่ใช้ AMT ไดร์เวอร์แบบฟูลเรนจ์อยู่เหมือนกัน แต่มีขนาดของไดร์เวอร์ที่ใหญ่โตเทอะทะ การที่ Heinz ใช้เทคโนโลยีที่สดใหม่อย่าง VVT® เข้ามาเสริมทำให้ลดขนาดของไดร์เวอร์ AMT ลงมาได้กะทัดรัดกว่าและตอบสนองย่านความถี่ได้กว้างกว่า ERGO ซึ่งทำได้ 20Hz–20kHz ก็ถือว่ายังไม่มีใครเคยทำได้เหมือนกัน

ว่ากันว่าพื้นที่ผิวแผ่นพับที่ใช้พลักดันมวลอากาศขนาด 1 นิ้วของไดร์เวอร์ AMT นั้นเมื่อคลี่ออกจะมีพื้นที่เทียบเท่าตัวขับเสียงแบบกรวยขนาด 7 นิ้วเลยทีเดียว

HEDD

รายละเอียดที่น่าสนใจ

จากรูปลักษณ์ภายนอก HEDDphone เป็นหูฟังฟูลไซส์ขนาดใหญ่ งานเนี้ยบมาตรฐานเยอรมัน อยู่ในพิกัดเดียวกับหูฟังรุ่นท็อป ๆ อย่าง Sennheiser HD800S, Audeze LCD3, Hifiman Edition X แม้ว่าตัวคัพของ HEDDphone จะมีความหนากว่าชาวบ้านแบบรู้สึกได้ แต่กลับมีน้ำหนักที่เบาสบายผิดคาด (718 กรัม) ใครที่เคยลองสวมหูฟัง Audeze ตระกูล LCD น่าจะรู้ดีว่าหนักแค่ไหน

HEDD
HEDD

เมื่อสวมหูฟังใส่แล้วตัวไดร์เวอร์จะมีระยะที่ห่างจากใบหูออกมากกว่าปกติเล็กน้อย (ตัวเอียร์แพดหนากว่า 1 นิ้ว) ซึ่งถือว่าดีเพราะช่วยในเรื่องของมิติและเวทีเสียงจะได้สมดุลที่ดีไม่รู้สึกว่าอยู่ในหัวมากจนเกินไปแต่ลอยออกมารอบ ๆ ศรีษะอย่างชัดเจน ตัวเฮดแบนด์เป็นก้านโลหะหุ้มฟองน้ำและหนัง มีแรงบีบที่พอเหมาะ คือไม่บีบแน่นจนปวดขมับแม้จะสวมแว่นตา หรือหลวมจนต้องคอยขยับหูฟังให้เข้าที่เวลาฟังบ่อย ๆ

เรียกว่าสวมใส่กระชับเข้ารูปกับศรีษะได้ดี และนุ่มสบายมาก ๆ ไม่รู้สึกว่าถูกกดทับจนเกินไป แต่หากสวมใส่ต่อเนื่องสัก 2-3 ชั่วโมงก็ยังรู้สึกร้อนรอบ ๆ ใบหูที่แนบกับเอียร์แพดอยู่บ้าง

        สำหรับหูฟังฟลูไซส์โดยทั่วไป ผู้เขียนให้ความสำคัญกับเรื่องของการสวมใส่มาก่อนคุณภาพเสียง เพราะหากออกแบบมาไม่ดีแล้ว การสวมหูฟังที่ไม่สามารถกระชับเข้ากับรูปศรีษะได้เต็มที่ จะลดทอนประสิทธิภาพในเรื่องของคุณภาพเสียงลงไปอย่างน่าเสียดาย เพราะช่องว่างระหว่างใบหูกับตัวคัพเปรียบเสมือน “ห้อง” ที่จะทำให้เราได้ยินเสียงจากไดร์เวอร์หูฟังได้ครบความถี่ตามที่ออกแบบมา

ยกเว้นหูฟังบางรุ่นที่ออกแบบมาให้แขวนลอยไม่มีส่วนของฟองน้ำมาสัมผัสใบหูนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะทางผู้ออกแบบได้ทำการชดเชยมาแล้ว

        HEDDphone ออกแบบมาเป็นลักษณะหูฟังแบบโอเพ่น-แบ็ค คือไม่ซีลปิดเสียงด้านท้ายของตัวคัพ ทำให้ได้เสียงที่มีความโปร่ง มีมวลอากาศ บรรยากาศปลายหางเสียงที่ทอดยาวเป็นธรรมชาติมากกว่าหูฟังประเภทโคลส-แบ็ค

ส่วนข้อเสียคือเราจะได้ยินเสียงจากข้างนอกเล็ดลอดเข้ามามากกว่าด้วยเช่นกัน ดังนั้นการฟังหูฟังประเภทนี้ควรฟังในสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวนมากจนเกินไปจึงจะได้ยินรายละเอียดครบถ้วน และแน่นอนว่าการนำไปใช้ฟังนอกสถานที่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม

        ตัวสายหูฟังเป็นแบบถอดเปลี่ยนได้ ความยาวกำลังดี 2.2 เมตร ใช้หัวแจ็คยี่ห้อ REAN แบบ Mini-XLR 4 pin มีโค้ดสีแดงคาดกำกับข้างขวาเอาไว้ชัดเจน ตัวสายค่อนข้างแข็งกว่าปกติเหมือนพวกสายโซลิดคอร์ เป็นสายถักตีเกลียวสองเส้นหุ้มไนล่อนถักสีดำทำให้มองไม่เห็นลักษณะของสายข้างใน ส่วนหัวแจ็คที่เสียบเข้าเครื่องเป็นแจ๊คมาตรฐาน Stereo 6.3 mm TRS สกรีนโลโก้ HEDD

การเซ็ตอัพและแม็ตชิ่ง

บอกก่อนว่า HEDDphone เป็นหูฟังที่ “จำเป็น” ต้องใช้กับซิสเต็มแบบเดสท็อปหรือแยกชิ้นแบบจริงจัง ที่ภาคเฮดโฟนแอมป์มีประสิทธิภาพและกำลังขับสูง จึงจะสามารถถ่ายทอดรายละเอียดและน้ำเสียงอันยอดเยี่ยมออกมาได้ เรียกว่าท่านลงงบประมาณสำหรับเฮดโฟนแอมป์เท่าไรคุณภาพเสียงจากหูฟังตัวนี้ก็จะย้อนกลับมามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

พวกซิสเต็มพกพานั้นต้องบอกว่าไม่เหมาะจะนำมามาใช้ขับหูฟังรุ่นนี้ หากภาคแอมป์ขับไม่ออก เสียงจะอั้นตื้อ ขาดไดนามิก เบสบาง

        ผู้เขียนใช้ภาคขยายเฮดโฟนแอมป์จากอินทิเกรตแอมป์ Bryston รุ่น B60 ซึ่งเป็นแบบคลาสเอ คุณภาพเสียงไม่เป็นรองแอมป์ขับหูฟังระดับพระกาฬทั้งหลาย มีแรงขับสูงเพียงพอพอที่จะขับหูฟังตัวนี้ได้อย่างสบาย แม้ว่าความไวที่ 87dB ของหูฟังตัวนี้ จะทำให้ต้องเร่งโวลุ่มมากกว่าปกติสักหน่อย อยู่ที่ประมาณบ่ายถึงบ่ายสองโมงจึงจะได้ระดับความดังเท่ากับที่เคยฟังตามปกติ ก็ไม่ใช่ปัญหาแต่ประการใด

ส่วนแหล่งโปรแกรมเลือกใช้เน็ตเวิร์คเพลเยอร์ Lumin D2 สลับกับการใช้คอมพิวเตอร์ต่อเข้า Chord Mojo (Line out mode) และใช้แอพ Roon เป็นตัวเล่นไฟล์เพลงและสตรีมมิ่ง

ผลการลองฟัง

หากนำหูฟังฟูลไซส์ในพิกัดราคาใกล้เคียงมาเรียงกันจากตัวที่ให้โทนเสียงมืด (ค่อนไปทางกลางทุ้ม) ที่สุดไปจนถึงโทนเสียงสว่างสุด (ค่อนไปทางกลางแหลม) HEDDphone คือตัวที่จะอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียง “ตรงกลาง” มากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเคยได้ฟังมา

แน่นอนว่าขึ้นชื่อเป็นหูฟังสตูดิโอมอนิเตอร์ ย่อมต้องมีความเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ HEDDphone นอกจากความเป็นกลางแล้วยังมาพร้อมความเป็นธรรมชาติแบบที่ไม่ค่อยได้ยินจากหูฟังสตูดิโอมอนิเตอร์เท่าไรนัก

        อันนี้ต้องขอขยายความ โดยปกติหูฟังแนวมอนิเตอร์จะเน้นความสมดุลของโทนเสียงย่านทุ้มกลางแหลมที่มีความสมดุลไม่โด่งหรือวูบที่ย่านความถี่ใดความถี่หนึ่งมากจนเกินไป เพื่อลดสีสันหรือบุคลิกส่วนตัวเข้าไปปนเปื้อนกับเนื้อหาของดนตรี

ด้วยข้อจำกัดของตัวไดร์เวอร์ ทำให้บางครั้งจำเป็นต้องตัดเอารายละเอียดในส่วนที่ตัวขับเสียงไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ออก เช่น ย่านความถี่ต่ำซึ่งจัดการได้ยาก ทำให้หูฟังมอนิเตอร์หลาย ๆ ตัวยอมโรลออฟย่านเสียงต่ำลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ตัวขับเสียงจะเกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อย่านเสียงอื่นโดยเฉพาะย่านกลางแหลม รวมถึงในส่วนของฮาร์โมนิกละเอียดอ่อนที่อยู่ล้อมรอบตัวเสียง

จึงเป็นสาเหตุที่หูฟังมอนิเตอร์ส่วนใหญ่ดุลเสียงค่อนไปทางกลางแหลม เบสบาง และเสียงค่อนข้างห้วนไม่เป็นธรรมชาติเพราะขาดฮาร์โมนิก (คม จัด แข็ง) ไม่เหมาะกับการนำไปใช้ฟังเพลงแบบลำลอง

        HEDDphone ตีโจทย์ตรงจุดนี้ได้อย่างตรงประเด็น AMT ไดร์เวอร์ของ Heinz เหมือนกับการนำทั้งโลกของสตูดิโอและมิวสิคเลิฟเวอร์มารวมกัน เพราะจากการลองฟังนั้นไม่รู้สึกว่าได้อย่างเสียอย่างเลยทั้งความเที่ยงตรงและความเป็นธรรมชาติ มีบุคลิกส่วนตัวน้อย ความฉับไวยิ่งยวดของไดร์เวอร์ AMT ทำให้เราได้ยินรายละเอียดในรายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อหาสาระของดนตรีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะแผ่วเบาละเอียดอ่อนหรือซับซ้อนแค่ไหน หูฟังตัวนี้จะแยกแยะออกมาให้เรารับฟังได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ใช่โยนออกมาจนฟังแล้วรู้สึกรำคาญหรืออึดอัด ได้ทั้งความชัดเจนแบบไร้ขอบคมแข็งและฟังสบายผ่อนคลายไปพร้อมกัน

        ข้อดีอีกอย่างเนื่องจากเป็นหูฟังที่ใช้ตัวขับเสียง AMT แบบฟลูเร้นจ์ทำให้การกระจายเสียงทั้งสามย่านความถี่กลมกลืนต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันและมาถึงหูพร้อมกันไม่มีเหลื่อมล้ำ ถ่ายทอดสีสันของบทเพลงที่แตกต่างกันออกมาได้อย่างชัดเจน ทั้งลีลาและอารมณ์ จากการบันทึกเสียงที่แตกต่างกันไป มีจังหวะจะโค่นที่แม่นยำจับวาง รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสปีดของดนตรีที่ลื่นไหลไปในแต่ละบทเพลงอย่างชัดเจน

        ย่านเสียงแหลมนั้นแรกฟังคล้ายกับจืด ๆ ไม่มีอะไรในกอไผ่เพราะความราบเรียบที่ไม่เน้นย่านใดย่านหนึ่งให้สะดุดหูแต่แรกฟังแต่พอฟังไปเรื่อย ๆ กลับได้ยินรายละเอียดมากมายที่ชัดเจนอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน กับอัลบั้มบันทึกการแสดงสดก็จะได้ยินแอมเบียนส์ของบรรยากาศที่คละคลุ้งขึ้นมากันเลย แถมยังมีบรรยากาศที่รายล้อมรอบตัวเสียงครบถ้วนสมบูรณ์ การจางหายของหางเสียงเหมือนผ่านการชั่งตวงวัดมาอย่างดี Time [Live at Wembley 1974] – Pink Floyd

        ย่านเสียงกลางนั้นก็กลางสมชื่อ ขึ้นรูปเป็นตัวตนแบบสามมิติที่กลมกลึง มีรายละเอียดหยุมหยิมครบ นักร้องถ่ายทอดอารมณ์การร้องออกมาได้ชัดเจน ให้ไดนามิกคอนทราสที่สุดยอดมาก ๆ เรียกว่าเก็บได้หมดจดทุกเม็ดกันเลย ย่านกลางต่ำอุดสมบูรณ์มีพลัง ทำให้เหมือนการฟังจากปากคนร้องจริง ๆ มีเสียงจากช่องท้อง ลำคอ

ยิ่งฟังพวกเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองนี่อารมณ์มาเต็ม ๆ สด กัดหูนิด ๆ เปียโนพลิ้วหวาน Everything Happens to Me – Sadao Watanabe

        ย่านต่ำถือเป็นไฮไลท์ของหูฟังตัวนี้ ที่ต้องบอกว่าหาตัวเทียบยาก และโดดเด่นมาในพิกัดราคานี้ เพราะมันสามารถถ่ายทอดย่านทุ้มที่มีมวลเข้มข้น กระชับ หนักแน่น ออกมาได้อย่างโดดเด่น ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่อย่างเข้าใจผิดว่าเป็นเสียงทุ้มสไตล์บูสเบสให้โด่งหรือให้เสียงทุ้มอวบอิ่มอยู่ตลอดเวลาแบบที่หลายคนอาจชอบ HEDDphone เหนือชั้นกว่าตรงที่ให้ความใสสะอาดของย่านทุ้มต้นไปจนถึงทุ้มลึก ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง (ฟังกับลำโพงบ้านราคาแพงยังหาฟังแบบนี้ได้ยาก) และลักษณะของเสียงทุ้มก็ผันแปรไปตามการบันทึกอย่างชัดเจน

หากฟังเพลงแนวป็อป อาร์แอนด์บี หรือฮิปฮอป ทุ้มจากการสังเคราะห์เสียงก็เป็นอีกแบบ อิ่มหนักฟังสนุกโยกหัวตาม พอฟังแนวร็อคเสียงเบส กลอง สแนร์ก็เป็นอีกแบบ กระชับ จังหวะแม่นยำ หรือฟังจากอัลบั้มที่บันทึกจากเครื่องดนตรีอะคูสติกส์ก็เป็นอีกแบบ ได้ยินฮาร์โมนิกกระเพื่อมของเสียงเครื่องดนตรีกลอง เบส กระทั่งระลอกคลื่นความถี่ต่ำลึกของไปป์ออร์แกนเคลื่อนตัวอย่างชัดเจน ยากที่จะจำกัดความเสียงย่านทุ้มของหูฟังตัวนี้ลงไปนอกจากความเป็นกลางและไร้สีสันเกินจริง

        สเกลเสียงใหญ่และแยกแยะเลเยอร์ของตำแหน่งของเสียงที่ชัดเจนแบบรอบทิศ ไม่เน้นเวทีเสียงที่หลุดฉีกออกไปเวิ้งว้างนอกศรีษะมากนัก แต่ฟังแล้วไม่อึดอัด เหมือนเวทีเสียงโอบล้อมเป็นทรงกลมแบบสมดุลโดยไม่เน้นไปทางระนาบใดระนาบหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว

สรุป

HEDDphone เป็นหูฟังสำหรับใครที่ต้องการเสพเนื้อแท้ของดนตรีแบบบริสุทธิ์นิยม ต้องการดื่มด่ำกับอารมณ์ของบทเพลงแบบไร้ข้อจำกัด ในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปใช้เป็นหูฟังมอนิเตอร์ชั้นดีได้ในตัว ขอเพียงแค่ท่านมีงบประมาณไม่เกินแปดหมื่นบาท และมีซิสเต็มที่ถึงพร้อมทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพสำหรับหูฟังตัวนี้ ท่านก็จะได้ยินประสพการณ์ทางเสียงที่หาฟังได้ยากแบบเดียวกับที่ผู้เขียนได้ยินอยู่ตอนนี้เช่นเดียวกัน

รายละเอียดด้านเทคนิค

Concept: Open over ear headphone with Air Motion Transformer
Impedance:
42 Ω
Weight:
718 g
Connector:
Mini XLR

ขอขอบคุณร้าน BKK Audio โทร. 086 688 8575 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ