HANA SL 2530 – หัวเข็ม MC โลว์เอาท์พุต

0
http://www.analogueseduction.net/user/products/large/HANASL-Large.jpg

การเล่นแผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นๆ ผิดกับเมื่อช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนที่การเล่นซีดีนั้นได้รับความนิยมอย่างมากจากทั่วโลก เบียดบังความชื่นชอบในการเล่นแผ่นเสียงจนกลายเป็นเรื่องล้าสมัย ทว่าก็ยังมีกลุ่มคนที่รักชอบในการเล่นแผ่นเสียงกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่ทั่วโลก และได้ขยายตัวจนสามารถกู้บัลลังก์ให้กับ “แผ่นเสียง” กลับคืนมาได้จนกลายเป็นเรื่องของกรณีศึกษาตามกลางกระแสดิจิตอลนิยม ….ซึ่งก็ไม่รู้ซินะครับ มันเป็นความรู้สึกเบื้องลึกส่วนตนที่เห็นว่า การเล่นแผ่นเสียงนั้นจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์สำคัญ นั่นคือ หัวเข็มเล่นแผ่นเสียง หรือ cartridge ทำหน้าที่เป็นปราการด่านแรกในการเก็บเกี่ยวข้อมูลบนร่องแผ่นเสียงอันขดเคี้ยวเลี้ยวลดดุจเขขาวงกตให้กลับคืนสภาพมาเป็นสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่า “หัวเข็มเล่นแผ่นเสียง” จะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ประเภท แต่ถ้าเป็นเรื่องของหัวเข็มแบบ MC ที่ถือเป็นราชาแห่งหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง – ญี่ปุ่นนี่แหละที่นับว่ามีความเชี่ยวชาญชำนัญการ เพราะคนญี่ปุ่นนั้นถนัดยิ่งนักกับงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน พิถีพิถัน ประดิษฐ์ประดอยทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ จึงทำให้บางบริษัทของชาติตะวันตกมาสั่งผลิตในลักษณะของ OEM  

“hana” แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเพิ่งได้ยินชื่อแบรนด์นี้กัน แต่มิใช่ว่า “hana” จะเป็นบริษัทหน้าใหม่ในแวดวงผู้ผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงของญี่ปุ่นซะที่ไหนกัน “SAEC C-1 LOMC” อันสุดแสนโด่งดังในอดีตนั้น “hana” นี่แหละอยู่เบื้องหลัง …คุณรู้หรือไม่ล่ะ ? “hana” เป็นบริษัทผู้ผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงที่มีผลิตภัณฑ์ทั้งประเภท MM (Moving Magnet) และ MC (Moving Coil) โดยที่ SL series นี่เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุด ที่ออกมาควบคู่กับ SH series นอกจากนี้ก็ยังมี EH / EL series ที่มีระดับราคาค่าตัวอันย่อมเยา ทว่าในแง่ของสมรรถนะนั้นไปไกลกว่าราคามากโขทีเดียว

“hana” เป็นชื่อเรียกขานในภาษาญี่ปุ่น ที่มีความหมายถึง “brilliant and gorgeous” ในภาษาอังกฤษ ที่ผ่านมา “hana” ดำรงตนเป็น OEM มาอย่างยาวนานถึงกว่า 40 ปี จนเพิ่งมาเปิดตัวแบรนด์ของตนเองได้ไม่นาน ภายใต้การผลิตของ Excel Sound Corporation of Tokyo Japan ที่มอบสิทธิ์การส่งออกจำหน่ายภายนอกประเทศญี่ปุ่นให้แก่ SIBATECH Inc. ซึ่งนี่จึงทำให้เราสามารถมั่นใจได้ในความเชี่ยวชาญอย่างมากของ hana ต่อแวดวงหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงคุณภาพสูง เพราะไม่อย่างนั้น “hana” ก็คงมิอาจสร้างสมประสพการณ์จนก้าวขึ้นมามีแบรนด์เนมเป็นของตัวเองได้ในวันนี้ (SIBATECH Inc. นี่นับเป็น “specializes in the export” ให้กับหลายต่อหลายแบรนด์ดังของญี่ปุ่นนะครับ รวมถึง Kondo (Audio Note Japan); TOAC และ ZERODUST)  

คุณลักษณ์

ทั้ง SL series และ SH series นี่เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่ออกมาควบคู่กัน จนเรียกได้ว่าเป็น คู่แฝดกันอะไรทำนองนั้น โดยที่ SL series จะเป็นหัวเข็ม MC ในแบบ Low output ส่วน SH series จะเป็นหัวเข็ม MC ในแบบ High output โดยที่ตัวบอดี้ของหัวเข็ม SL series และ SH series นั้นจะเป็นสีดำเหมือนกัน จะต่างกันที่ตัวอักษรระบุรุ่นบนตัวกล่องบรรจุภัณฑ์เท่านั้น (ในขณะที่ EL series และ EH series จะมีบอดี้เป็นสีเขียว)

จุดเด่นสำคัญของทั้ง SL series และ SH series อยู่ตรงที่ส่วนปลายหัวเข็ม ที่เรียกว่า styli หรือ stylus นั้น จะเป็นเพชรแท้ธรรมชาติ มิใช่เพชรสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ที่เจียระไนรูปลักษณ์ให้เป็นแบบ Nude Natural Diamond Shibata ในขณะที่ส่วนของก้านหัวเข็ม ที่เรียกว่า cantilever ก็จะใช้วัสดุ aluminum ทีนี้ในเรื่องของค่าความแรงสัญญาณขาออกของ SL series ที่เป็นแบบ Low output จะอยู่ตรงที่ 0.5mv/1kHz ส่วนของ SH series ที่เป็นแบบ High output จะอยู่ตรงที่ 2.0mv/1kHz ทั้งนี้ SL series และ SH series ล้วนสามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้ตั้งแต่ 15Hz จนถึง 32kHz สำหรับค่าแรงกดหัวเข็ม หรือ VTF (vertical tracking force) นั้นทาง hana ระบุค่าเหมาะสมไว้ที่ 2 กรัม ในขณะที่น้ำหนักตัวโดยรวมของทั้ง SL series และ SH series จะอยู่ที่ 5 กรัม ทว่าความต้านทานที่เหมาะสมสำหรับ SL series จะอยู่ที่ค่า 400 ohm ส่วน SH series จะอยู่ที่ค่า 47k ohm

ผลลัพธ์การรับฟัง

ด้วยความที่ SL series มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 5 กรัม นั่นพอจะอนุมานได้ว่า โทนอาร์มที่เหมาะสมสำหรับ SL series ก็น่าจะเป็นแบบ มวลเบา ถึงปานกลาง หรือเป็นโทนอาร์มประเภทที่มีค่า compliance ปานกลาง-สูง ซึ่งก็ทำให้มีโทนอาร์มที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมจากหลากหลายแบรนด์ เพียงแต่ว่า ความที่ SL series นี่เป็น MC แบบ Low output ที่ มีค่าความแรงสัญญาณเพียงแค่ 0.5mv เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า step-up transformer หรือ SUT เข้ามา-ต่อคั่น-ระหว่างเจ้า “SL series” (SL 2530) กับภาคขยายสัญญาณ phono ของปรีแอมป์/อินติเกรตแอมป์ หรือไม่ก็ต้องใช้ภาคขยายสัญญาณหัวเข็มแบบ MC อย่างที่เรียกกันว่า MC head amp มาใช้งาน โดยต้องทำการเลือกเกน (gain) การขยายสัญญาณในช่วงที่เหมาะสมกับเจ้า “SL series” ….ในกรณีของผมครั้งนี้ ปรีแอมป์ที่ใช้ฟังเป็นรุ่น C-280L ของ Accuphase ซึ่งก็มีภาค MC head amp บรรจุอยู่ในตัว ทำให้ไม่ต้องจัดหา SUT มาใช้งานเพิ่มเติม ทั้งนี้การปรับตั้งค่าเกนการขยายสัญญาณของ C-280L สำหรับ “SL series” (SL 2530) จะอยู่ที่ 26dB ส่วนค่าความต้านทานนั้นผมปรับตั้งไว้ที่ 100 ohm

ซึ่งถ้าหากย้อนไปดูวันเดือนปีที่ Accuphase ออกจำหน่ายเจ้า C-280L จะพบว่า ในช่วงนั้นนับเป็นวันเวลาที่ซีดีครองพสุธาอยู่อย่างแข็งแกร่งแทบจะทุกหัวระแหงของแผ่นดิน จนการเล่นแผ่นเสียงนั้นถูกเบียดตกจากบัลลังก์ แทบจะสูญสิ้นพันธุกรรมไปเลยทีเดียว แต่แม้ว่าความนิยมในการเล่นแผ่นเสียงจะลดน้อยลงไปมาก วิศวกรของ Accuphase ก็ยังคงใส่ใจทุ่มเทในการออกแบบวงจรภาคขยายหัวเข็มชั้นสุดยอดบรรจุเอาไว้ภายใน จนกลายเป็นความโดดเด่นที่สำคัญ …นี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกเจ้า C-280L มาเป็นตัวหลักของการใช้งานในการเล่นแผ่นเสียง

Marantz TT-15S Turntable

หลังจากเซตอัพ “SL series” (SL 2530) ให้พร้อมใช้งานบนโทนอาร์มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น TT-15S1 ของ marantz (ซึ่งโดยแท้จริงนั้น Clear Audio ทำการผลิตให้) พร้อมตั้งวางให้อยู่ในระนาบที่สมดุล จึงทำการปรับตั้ง VTA ให้ถูกต้อง (โทนอาร์มขนานกับแผ่นเสียงที่วางบนแพลตเตอร์) จากนั้นก็ปรับน้ำหนักแรงกดหัวเข็มให้ได้ใกล้เคียงกับ 2.0 กรัม (ซึ่งจากการรับฟังจริง ผมกำหนดค่าการปรับตั้งน้ำหนักแรงกดหัวเข็มเอาไว้ที่ 1.8 กรัมโดยประมาณจากการใช้เครื่องวัดดิจิตอล) เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

…เบิกโรงสมรรถนะการรับฟังของ “SL series” (SL 2530)” บนเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น TT-15S1 ด้วยการรับฟังเพลงไทยคุณภาพจากแผ่นเสียงที่ผมได้เคยคัดสรรมอบให้เป็น “แผ่นอ้างอิง” กันมาแล้ว ซึ่งหลายต่อหลายแผ่นที่หยิบมาฟังให้การรับรู้ถึงลักษณะมวลอากาศที่ห้อมล้อม อบอวล มีความกังวานก้อง และเสียงสะท้อน-บ่งบอกสภาพบรรยากาศของโถงการแสดงหรือสถานที่ใช้บันทึกเสียงได้ชัดเจนมาก อย่างเช่นแผ่นเสียงชุด “นิทานความรัก” (โอ๋ ชุติมา –ใบชาsong) …สุดโปรดของผม รับรู้ถึงสภาพเวทีเสียงกว้างขวาง มีระยะเว้นว่าง-ห่าง-ชิด ชิ้นดนตรีไม่เบียดติดกัน จัดวางตำแหน่ง-แห่งที่ได้ดี มีความสมจริงในจินตภาพเสียง (image) เสียงทุกเสียงมีความ  ‘กังวาน’ เจือแทรกอยู่เสมอ เป็นลักษณะเสียงที่เรา-ท่านได้ยิน-ได้ฟังเสมือนจริงในธรรมชาติ

ตามติดด้วยแผ่นเสียงชุด “ภาพรัก” (สุภัทรา โกราษฎร์ – Haylalo) รับรู้ได้กระจ่างชัด ทั้งกว้าง-สูง-ลึก ‘ชนิดไม่ต้องหลับตาฟัง ให้สุ้มเสียงอวบอิ่ม ละเมียดละไม มีน้ำนวล ตำแหน่งเสียงร้องแยกออกจากแนวตำแหน่งชิ้นดนตรีในวงเวทีเสียงชัดแจ้งมาก พร้อมด้วยความอบอุ่น มีชีวิตชีวาเป็นธรรมชาติ การออกอักขระเสียงชัดเจนทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมา เสียงไวโอลินให้ความเป็นตัวเป็นตน เสียงเปียโนก็กังวานน่าฟัง เสียงดับเบิ้ล เบสนี่อิ่มแน่น ส่งเรี่ยวแรงปะทะ และน้ำหนักเสียง ทั้งยังทอดตัวลงไปลึกล้ำจริงๆ ทั้งยังให้รับฟังได้ถึงความกังวานแว่วเป็นระลอกจากเสียงสะท้อนของสภาพอะคูสติคในห้องบันทึกเสียง ที่ให้ออกมาเป็นมวลบรรยากาศอบอวล เหมือนเรากำลังเข้าไปนั่งฟังสดๆ ราวกับ ‘live’ อยู่ต่อหน้าทีเดียวละครับ

หยิบจับแผ่น “รอยคำรณ” (แอ๊ด คาราบาว – VLV) มาฟังกันบ้าง ก็ให้การรับรู้ได้ในความอิ่มฉ่ำ มีน้ำนวลน่าฟังทั้งเสียงนักร้องและชิ้นดนตรี ที่มีครบครันทั้งประเภทดีด-สี-ตี-เป่า-เขย่า-เคาะ ฯลฯ เสียงต่างๆที่รับฟังรับรู้ได้ถึงน้ำหนักของเสียงแต่ละเสียง แม้แต่ในช่วงปลายเสียงสูงๆ ทั้งยังเปี่ยมด้วยไดนามิค-ความฉับพลัน-ไหลลื่น เป็นเสียงที่มีชีวิตมีวิญญาณมีตัวตนกลมมน พร้อมด้วยเสียงก้องกังวาน (reverb) เป็นหางเสียงเอคโค่ลางๆในเสียงร้องของน้าแอ๊ดที่บ่งบอกออกมาได้ชัดแจ้งมาก ราวกับเป็นเสียงของแอมเบี้ยนซ์แผ่วๆเป็นระลอกตามหลังเสียงร้องของน้าแอ๊ดครับ

อัลบั้ม “เสียงใบไผ่” ของท่านอาจารย์ ดนู ฮันตระกูล ที่นำกลับมาจัดทำรี-อิชชูกันใหม่ นี่ช่างให้บรรยากาศรายรอบ (atmosphere) ดีมากๆ อบอวลทีเดียว แทรกตัวเข้ามาให้เรารับรู้อยู่ตลอด สมจริงมาก ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยชัดเจนมาก แม้เสียงที่แผ่วเบา สุ้มเสียงสดใส โปร่งกระจ่าง มีน้ำนวล เต็มอิ่มน่าฟัง ไม่คมกริบ จัดจ้าน ปลายเสียงเปิดกว้างมีความกังวาน  น้ำหนักเสียงโดยรวมดี มีความเอิบอิ่ม เป็นตัวเป็นตน อิมเมจเสียงวางตัวดี มีซาวด์สเตจกว้าง และลึกมากทีเดียว (เสียงเพอร์คัสชั่นต่างๆอยู่ชั้นในสุดของเวทีเสียงเลยเชียวละ) ชื่นชอบมากๆครับสำหรับรายละเอียดในเสียงร้องประสานที่สอดแทรกเข้ามา ชัดเจนมากแยกได้เป็นคนๆไป – ขนลุกครับ

ชุด “จรัลในดวงใจ” ของสำนัก Wild Arts นี่ก็เช่นกัน บอกสั้นๆได้เลยครับว่า ‘ดีโคตร’ ฟังแล้วเนียนหูมากจริงๆ อิ่มฉ่ำและแน่นมีน้ำหนักเสียง นี่แหละครับ ผลงาน re-mastering ของคุณโมริที่ได้ใส่-ความมีชีวิตชีวา-วิญญาณ และละอองอณูบรรยากาศ-เข้าไปในเนื้องาน ฟังแล้วมันมีพลัง ฟังแล้วสมจริง …การสอดแทรกผสมผสานดนตรีทางเหนือ อย่างสลอ-ซอ-ซึง-กลองสะบัดชัยเข้าไว้ในชิ้นงานเพลง ทำได้โดดเด่นมาก ทั้งไพเราะและได้บรรยากาศกลิ่นอายคำเมือง สุ้มเสียงชิ้นดนตรีต่างๆให้ประกายเสียงแจ่มชัด สดใสให้ไดนามิค ความฉับพลัน รวมทั้งน้ำหนักเสียงกระทั่งในช่วงย่านปลายเสียงสูงๆ เปี่ยมในความกังวาน พละพลิ้ว สรรพเสียงล้วนให้ความกระจ่าง และกระจายตัวที่ดีในวงเวทีเสียง

พลันนึกถึงอัลบั้ม “แต้มสีที่อารมณ์” ของคุณกิ๊ก – พงษ์พันธ์ จันทร์เนตร์ (by Impression) …ไม่ผิดหวังครับ รับฟังแล้วให้สภาพบรรยากาศ (atmosphere) ออกมาดีมาก เสียงดนตรีที่รับฟังเอิบอิ่มมาก มีความกังวานทอดยาวของปลายหางเสียง รวมทั้งการค่อยๆจางหายไปของเสียงเปียโนในแต่ละคีย์ แต่ละโน้ตเป็นธรรมชาติ รวมถึงความมีตัวตนของเสียงอย่างเสียงไวโอลินที่ราวกับเห็นลีลาการชักคันซอจริงๆ ต่อด้วยอัลบั้ม “Rhythm & Boyd” ของคุณ บอย โกสิยพงษ์ (Sony Music) อีกสักนิด นี่ก็นับว่าคุณภาพเสียง “เยี่ยม” ครับ …ดีมากจริงๆ สนามเสียงให้ความแผ่กว้าง และไล่ระดับลดหลั่น-ตื้นลึก-ยักเยื้องกันในเวทีเสียงชัดเจนดีทีเดียว เสียงต่างๆมีน้ำหนัก โปร่งกระจ่าง และแจ่มชัด ให้ความรู้สึกมีตัวมีตน ปลายเสียงสูงก็นุ่มละมุน ไม่จัดจ้า บอกตรงๆผมเองฟังด้วยความเพลิดเพลินใจ ค่อยๆผ่านไปในแต่ละเพลง ฟังไปยิ้มไป ไพเราะจริงๆครับกับบทเพลงของคุณ บอย

กับอัลบั้ม “รวมเพลงดี ที-โบน” ของสังกัด WARNER MUSIC (THAILAND) ที่เป็นการรวมเอาเพลงฮิตในยุคแรกๆของวง “T-Bone” อันโด่งดัง อย่างเพลง เธอเห็นท้องฟ้านั้นไหม, แรงดึงดูด, สมาคมเชื้อโรคแห่งประเทศไทย, เราทำทั้งหมด ฯลฯ มารวมเข้าไว้ในอัลบั้มเดียว ซึ่งคุณภาพเสียงที่รับฟังจากแผ่นเสียงอัลบั้มชุดนี้ จัดว่า “เยี่ยมยอด” ครับ ดีหมดจดครบในทุกด้าน …ขอแนะนำ ลองรับฟังด้วยหูตัวเองดูละกัน

พลันนึกไปถึงแผ่นประเภท Direct Cut …จึงหยิบจับอัลบั้ม Ortofon Pick up Test Record มาเปิดฟัง ซึ่ง “SL series” (SL 2530)” บนเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น TT-15S1 ก็ได้สำแดงสภาพบรรยากาศอันอบอวลของสถานที่แสดง The Concert Hall of Copenhagen จากหน้า 2 ของแผ่นนี้ได้อย่างประทับใจ เสมือนตัวเรากำลังเดินผ่านประตูเข้าไปสู่สถานที่นั้นกระนั้น ครั้นพอดนตรีเริ่มบรรเลง ไดนามิก-ความฉับพลันในเสียงดนตรีก็เริ่มพรั่งพรูออกมา พร้อมด้วยน้ำหนักเสียงของชิ้นดนตรีแต่ละตำแหน่งแห่งที่-ที่ให้ความมีตัวมีตนของเสียง เปล่งออกมาจากตำแหน่งตรงนั้นตรงนี้จริงๆ แม้แต่เสียงเพอร์คัสชั่นอันแผ่วเบา ที่ยังปรากฏเข้าไปลึกอยู่ชั้นหลังสุดของวงเวทีเสียง-ฟังดูสมจริงมาก อิมเมจที่ปรากฏแจ่มชัดอยู่ต่อหน้า ไล่ระดับเป็นแถวชั้นตื้น-ลึก พร้อมด้วยอาณาบริเวณเสียงอันแผ่กว้าง

…ตามต่อด้วย “Orchestrations Astromantic” โดยสังกัด RCA JAPAN (RDCE-6) แผ่นในระบบไดเร็กต์-คัทอีกเช่นกัน “SL series” (SL 2530)” ได้แจกแจงรายละเอียดออกมา จนต้องบอกว่า ช่างเป็นสุดยอดอลังการแห่งเสียงโดยแท้ครับ เพราะให้บรรยากาศเสียงที่โอฬารมากๆ ความกระหึ่มกึกก้องของบทเพลงที่คุ้นหูอย่าง Star Wars จากเครื่องดนตรีกว่าร้อยชิ้น กระจายแผ่กว้างเป็นสนามเสียงอยู่ต่อหน้า เสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นชิ้นนี้ เรียงรายอยู่ตรงนั้นตรงนี้ในตำแหน่งเวทีเสียงที่ไล่ระดับความลึก-ตื้นอย่างชัดแจ้ง ทั้งยังรับรู้ได้ถึงมวลบรรยากาศที่โอบล้อมรอบตัวเราอย่างน่าทึ่ง มันชัดเจนยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผมเคยรับฟัง !!

“SL series” (SL 2530)” ทำให้สัมผัสได้ในมวลบรรยากาศรายรอบอันอบอวล – รายละเอียดเสียงต่างๆที่ให้ความมีตัวตน รวมไปถึงเรื่องของความถูกต้องของ timbre ในเสียงแต่ละเสียง – การให้ความฉับพลันทันใดอันเปี่ยมในน้ำหนักเสียงอย่างสมจริง แม้แต่ช่วงปลายหางเสียงอันแผ่วเบา – ความกังวานทอดยาว และพละพลิ้วราวอณูเสียงของปลายเสียงสูงๆที่เปิดโปร่งอย่างมากๆ ล้วนเป็นความน่าประทับใจที่ทำให้คุณได้ “เข้าถึง” ห้วงอารมณ์เพลงที่รับฟังได้อย่างมีอรรถรสที่แตกต่างจากความคุ้นชิน ชักจูงให้เราหยิบจับแผ่นโน่นแผ่นนี้มาเปิดฟังต่อเนื่องกันอย่างเพลินใจ

จากแผ่น “Pavane Pour Une Infante Défunte” หนึ่งในผลงานชั้นสุดยอดของ L.A. 4 ภายใต้ระบบไดเร็กต์-คัทของสังกัด East Wind Records (EW-10003) ถูกบ่งบอกลวดลายทักษะการเล่นกีต้าร์ของ Laurindo Almeida ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ราวมองเห็นเส้นสายสั่นไหวน่าประทับใจ เสียงกลองชุดฝีมือของ Shelly Manne ก็ให้น้ำหนักและระบุตำแหน่งสูง-ต่ำของฉาบใหญ่ยามแกว่งไกวได้ชัดแจ้งมาก เสียงเบสยืนที่ร่ายลีลาระดับเทพโดย Ray Brown ก็ให้ความหนักแน่นสาแก่ใจ ราวเห็นเส้นสายกำลังสั่นไหว เสียงแซกโซโฟนโดย Bud Shank ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ราวเห็นเป็นตัวเป็นตนกำลังโยกตัวโอนเอนตามท่วงทำนองเพลง

“Direct from L.A.” แผ่นไดเร็กต์-มาสเตอริ่ง ผลงานของ The Great Jazz Trio ในสังกัด East Wind Records (EW-10005) เป็นอีกแผ่นที่ “SL series” (SL 2530)” ถึงกับทำให้รู้สึกตัวเราจมกลืนเข้าไปในบรรยากาศลาตินผสมกลิ่นอายของแนวเพลงบลูส์ จนอดไม่ได้ที่จะกระดิกเท้าและดีดนิ้วมือตาม แล้วก็หยิบเอา “The Three” ผลงานขั้นสุดยอดในระบบไดเร็กต์-คัทติ้งของ Joe Sample, Ray Brown และ Shelly Manne ภายใต้สังกัด East Wind Records (EW-10001) อีกเช่นกัน นับเป็นอีกอัลบั้มที่ผมรับฟังอย่างปลื้มปิติในใจ เสียงที่ได้ฟังแผ่กว้างเป็นปริมณฑลอยู่ในเวทีเสียงที่ชัดเจน โปร่งกระจ่าง ให้พลังไดนามิกได้เด็ดขาด ฉับไวมาก

ครั้นหยิบจับชุด “Finesse” หนึ่งในแผ่นไดเร็กต์-คัทเพียงไม่กี่อัลบั้มของ Nautilus Recordings (NR-22) ผลงานสุดแสนไพเราะของ John Klemmer ที่ให้คุณภาพเสียงดีมากๆ เสียงเพอร์คัสชั่นกรุ๊งกริ๊งกังวานจับใจ แม้แต่หางเสียงที่ค่อยๆจางหายไปก็ช่างเป็นอะไรที่ธรรมชาติมากจริงๆ เสียงแซกโซโฟนที่ให้ความสมจริงด้วยมวลอากาศที่ถูกเป่าพ่นเป็นแรงลมพุ่งออกมา ชัดเจนขนาดที่ว่าได้ยินเสียงน้ำลายน้อยๆเข้าไปขังอยู่ในลิ้นเสียงของแซกโซโฟน… แม้กระทั่งเสียงหวดแซ่ลงไปบนฉาบอย่างฉับพลันก็เปล่งประกายออกมาสดใส ให้พลังไดนามิกแห่งเสียงจากแผ่น direct-cutting ได้ครบชัดมาก

จากแผ่น “Boling Point” แผ่นไดเร็กต์-คัทชั้นเลิศของ Toshiba Pro-use Series (LF-95009) ที่รวมเอาศิลปินและนักร้องชั้นยอดของญี่ปุ่นมารวมไว้ เฉพาะอย่างยิ่งเสียงของ Mari Nakamoto ในเพลง My Funny Valentine และ Misty ที่สุดแสนซาบซึ้ง สำแดงไปถึงแหล่งเสียงจากลำคอของเธออย่างถนัดชัดเจน เสียงกลองชุดที่ให้ความตึงของหนังหน้ากล้อง เสียงฉาบที่ใสกังวาน กำลังแกว่งไกวสั่น เสียงแซกโซโฟนที่บ่งบอกถึงแรงลมที่เป่าพ่นออกมา เสียงเบสยืนที่ดื่มด่ำหนักแน่นราวมองเห็นการสั่นของสายเบส

…และแล้วก็ขอปิดท้ายกันด้วยแผ่นเพลงไทยแท้ๆ (มิใช่ไทยเดิมนะ) ในแบบฉบับการบรรเลงแตรวง ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงตรงลงสู่ two – track mastered ได้อย่างสมบูรณ์แบบมาก ทั้งยังทำการจัดทำอย่างมีคุณภาพมากๆ สมควรยกให้เป็น -แม่แบบ- แห่งคุณภาพการบันทึกเสียงเลยทีเดียวละครับ นั่นคือแผ่นเสียงชุด “The Merry Angel on 45” ที่อย่าลืมว่าต้องเล่น ‘สปีด 45’ นะครับ…. “SL series” (SL 2530)” ได้ทำให้ราวกับว่า กำลังนั่งรับฟังแตรวง มาบรรเลงสดๆอยู่ตรงหน้า มีระยะลึก-ตื้น รวมถึงความสดใส-ฉับพลันทันใดของไดนามิค และมวลบรรยากาศ ชนิดที่ว่าไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากเพลงไทย (เดิม) บ้านเรา ด้วยสนามเสียงที่แผ่กว้าง ชิ้นดนตรีไม่กระจุกตัว มีมวลบรรยากาศ พร้อมทั้งเสียงเล็กๆน้อยๆสอดแทรกเป็นเกร็ดซ่อนอย่างธรรมชาติไว้ให้จับกัน

ซึ่งช่วงปลายหางเสียงสูงนี่แหละครับ ที่ผมถือเป็น-ประเด็นเด็ด-สำหรับ “SL series” (SL 2530)” เพราะทิ้งตัวทอดยาว แล้วค่อยๆจางหายไปอย่างในธรรมชาติ โดยไม่จมตัวหดห้วนไปเฉยๆ การรับรู้ระยะชัดลึก-ชัดตื้นนั้นไล่ระดับตำแหน่งชิ้นดนตรีมีหน้า-มีหลัง เว้นระยะห่างอย่างสมจริงมาก ด้วยแผ่นนี้ยังให้ “ความกริ๊บ” (crispy) ของเสียงแตรวงที่จะต้องมี “ความคม” กัดหูน้อยๆเจือปนออกมา อย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องเป่าทองเหลือง กระทั่งเสียงฉิ่ง-เสียงฉาบก็กระจ่างชัด และกังวานทอดยาวไกล ให้น้ำหนักเสียงอันสมจริง ทิ้งทวนไว้ด้วยความประทับใจในการรับฟังจริงๆ ครับ

สรุปส่งท้าย

“SL series” (SL 2530)” สามารถทำให้เราได้รับรู้ถึง “ความเป็นตัวเป็นตน” ของเสียง รวมถึงสภาพอิมเมจ-ซาวด์สเตจที่มีมิติ มีตัวตน มีความมั่นคงนิ่งสนิท รวมไปถึงการจำแนกแยกแยะรายละเอียดต่างๆ (สืบเนื่องจากปลายหัวเข็มที่เป็นแบบ shibata นั่นเอง) ทั้งยังทำให้เราได้เข้าถึงซึ่งความสมจริงแห่งเสียง ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง เรี่ยวแรงปะทะ ความฉับพลันทันใด รวมทั้งน้ำหนักเสียงอย่างครบถ้วน

“SL series” (SL 2530)” ยังให้สรรพเสียงที่มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี รวมถึงความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ สารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆที่ถือเป็นรายละเอียดก็สดใส กระจ่างมาก และให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆอย่างแจ่มชัด ฟังจับรายละเอียดเสียงต่างๆได้กระจ่างแจ้ง ช่วงย่านเสียงสูงๆก็เปิดโปร่ง พร้อมด้วยน้ำหนักเสียง (มิใช่เปิดโปร่งแต่เบาโหวงเหวง) รวมถึงปลายหางเสียงที่กังวานทอดยาว ซึ่งเมื่อเอาปัจจัยราคามาคิดคำนึงรวมกับประเด็นความโดดเด่นในเรื่องของคุณภาพเสียง ก็ต้องขอบอกว่า อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด ได้ฟังแล้วรับรองคุรจะต้องรักชอบมันแน่นอน …อย่าพลาดโอกาสการรับฟังเนื่องเพราะคิดมากเกินไปต่อระดับราคาของมันเชียวนะครับ ขอบอก

HANA SL SPECIFICATIONS :

Stylus Profile: Natural Diamond Shibata
Cantilever: Aluminum
Output Level @ 1kHz: 0.5mV
Output Balance @ 1kHz: Less Than 1.5dB
Vertical Tracking Force: 2 grams
Trackability: 70 um/2 grams
Separation @ 1kHz: 28 dB
Frequency Response: 15-32,000 Hz
Impedance @ 1 kHz: 30 Ohms
Suggested Load: 400 Omms
Cartridge Weight: 5 Grams
Body Color: Black

อุปกรณ์ร่วมใช้งาน :- เครื่องเล่นแผ่นเสียง marantz TT-15S1, ปรีแอมป์ Accuphase C-280L, เพาเวอร์ แอมป์ Luxman M-O7; ลำโพง JBL 4430; สายสัญญาณรุ่น Silver ของ Van Damme และสายลำโพงรุ่น Ultra Black ของ Tellurium Q

อุปกรณ์เสริม :- XAV : EMX -9 (วางทับบน C-280L และ M-O7); Entreq : Ground Box รุ่น MinimUs Silver + Earth Cable รุ่น Silver; MagicBoxAudio : Lunar 1; Manet รุ่น IRG-1200 

ขอขอบคุณบริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร 0-2238-4078-9  ที่ได้เอื้อเฟือ hana SL series (SL 2530) มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้