Graphene วัสดุแห่งศตวรรษที่ 21 ทางเลือกใหม่ของวงการเครื่องเสียง?

0

DAWN NATHONG

กราฟีน (Graphene) คือ เลเยอร์ของผลึกคาร์บอนความหนาหนึ่งอะตอม มีโครงสร้างเป็นรูปทรงแบบรังผึ้ง ลักษณะเกือบโปร่งใส คุณสมบัติพิเศษของกราฟีน คือ มีน้ำหนักเพียง 0.77 มิลลิกรัม/ตารางเมตร แต่ให้ความแข็งแรงกว่าเหล็กกล้าที่หนาเท่ากันถึง 100 เท่า สามารถบิดงอได้โดยไม่ทำให้โครงสร้างโมเลกุลเสียหาย และยังเป็นตัวนำความร้อนและกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

ในปัจจุบันกราฟีนถูกนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างหลากหลาย ซึ่งบางอย่างอยู่ระหว่างผ่านขั้นตอนวิจัยและพัฒนา อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์, วัสดุเสริมแรง, ชิปอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยุค 5G , แบตเตอรี่ประหยัดพลังงาน, เสาอากาศวงจรคลื่นวิทยุ สำหรับวงการเครื่องเสียงนั้น ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นการนำกราฟีนมาผลิตไดอะเฟรมของไดร์เวอร์หูฟัง ด้วยคุณสมบัติความแกร่งต่อมวลสูงสุดกว่าวัสดุชนิดอื่น จึงทำให้สามารถผลิตไดร์เวอร์ที่มีขนาดเล็ก เบา ทนกำลังขับสูงและมีความเพี้ยนต่ำมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี กรรมวิธีการผลิตกราฟีนที่ใช้พื้นที่ใหญ่ ๆ นั้น ยังมีต้นทุนที่สูงมากรวมถึงขั้นตอนที่สลับซับซ้อน เราจึงยังไม่ค่อยได้เห็นผู้ผลิตนำการฟีนมาใช้กับไดอะเฟรมของลำโพงบ้านมากนัก

เจ้าแรกที่เปิดตัวกราฟีนไดร์เวอร์ออกมาในปีนี้ ก็คือ SEAS บริษัทผู้ผลิตไดร์เวอร์ชั้นนำของนอร์เวย์ โดยเปิดตัววูฟเฟอร์ขนาด 5 นิ้ว รหัส W16NX003 ในอนุกรม Excel เป็นตัวแรก ซึ่งไดอะแฟรมของกรวยจะทำจากแม็กนีเซียมความบริสุทธิ์สูง และใช้กรรมวิธีโค้ทติ้งเคลือบผิวหน้าด้วยกราฟีน

ทางบริษัทแสดงผลกราฟที่น่าทึ่งของไดร์เวอร์รุ่นนี้ ที่ให้ทั้งความฉับไวและความแกร่งปลอดเรโซแนนท์ในย่านมิดเรนจ์ที่เหนือกว่ากรวยแม็กนีเซียมแบบเดิม สามารถตอบสนองไดนามิกรุนแรงและให้เสียงที่สะอาดปลอดความเพี้ยนได้อย่างยอดเยี่ยม เหมาะกับระบบเสียงไฮ-เรส

ปัจจุบันยังคงมีการพัฒนาวัสดุกราฟีนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับออดิโอยิ่งขึ้นไปอีก อาทิ GrapheneQ™ ของบริษัท ORA หรือ XG Nanographene ของบริษัท XG Sciences ทำให้ในอนาคต เราน่าจะได้เห็นการนำวัสดุชนิดนี้มาใช้ในอุตสาหกรรมออดิโอโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเสียงบ้านอย่างแพร่หลายมากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ส่วนเรื่องของเสียงนั้น ก็คงต้องใช้รสนิยมของนักเล่นเป็นตัวตัดสินอีกทีหนึ่ง