FISHER 500C รีซีฟเวอร์สุดคลาสสิก

0

สงกรานต์ มณีสุต

FISHER 500C

Vintage Audio: FISHER 500C

ผมขออนุญาตเรียก Fisher เครื่องนี้ว่า “สเตอริโอ” ก็เพราะว่าสมัยก่อนคนไทยนิยมเรียกเครื่องเสียงต่างๆ ที่มีความไพเราะว่า “สเตอริโอ” หรือ “สเตริโอ” ยังไม่มีการแยกแยะชนิดหรือลักษณะของเครื่องว่าเป็นเครื่องอะไร เช่นเป็น อินทีเกรทแอมป์ จูนเนอร์แอมปลิไฟเออร์ หรือรีซีฟเวอร์ บางทีบางเครื่องเป็นระบบโมโนแท้ๆ ถ้ามีลำโพง 2 ตัว หรือ 2 ข้าง อาจจะถูกเหมารวมว่าเป็น “สเตอริโอ” ด้วยก็มี คือไม่ว่าจะเป็นเครื่องอะไรก็ตามที่เสียงดีหรือฟังแล้วไพเราะเสนาะหูมักจะถูกเรียกว่าสเตอริโอ หรือเครื่องเล่นสเตอริโอ สมัยก่อนเขาเรียกกันอย่างนี้จริงๆ 

ส่วนคำว่า “ไฮไฟ” ก็มีบางคนชอบเรียกเหมือนกันแต่ยังไม่มากเท่า “สเตอริโอ” และคำว่า “เครื่องเสียง” ก็เพิ่งถูกนำมาใช้ในราวยุค 80s นี่เอง  ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ที่บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา เข้าใจง่ายดี คิดว่าคงแปลงมาจากคำว่าเครื่องขยายเสียงที่คนไทยคุ้นเคยกันมาช้านานแล้วนั่นเอง

เครื่องเสียงสเตอริโอของฟิชเชอร์ในอดีตมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเล่นในสมัยนั้นกันเลยทีเดียว มีชื่อยี่ห้อเต็มๆ ว่า เดอะ ฟิชเชอร์ (The Fisher) แต่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ฟิชเชอร์ มีโลโก้เป็นลายเส้นรูปนกคาบตัวโน้ต เป็นผลิตภัณฑ์ของอเมริกาที่เน้นคุณภาพเสียงที่เป็นไฮไฟอย่างแท้จริง ก่อตั้งโดย Avery Fisherนักไวโอลินสมัครเล่นผู้ที่มุ่งมั่นในการสร้างอุปกรณ์ไฮไฟให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดตามแนวทางของผู้มีดนตรีในหัวใจ 

Fisher มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุปกรณ์ในระบบเสียงสำหรับการฟังเพลงภายในบ้านเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ แอมปลิไฟเออร์ (ทั้งแยกชิ้นและรวมชิ้น)  จูนเนอร์-แอมปลิไฟเออร์ (หรือรีซีฟเวอร์) เทิร์นเทเบิ้ล จนถึงลำโพง แต่ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายที่สุดก็เห็นจะเป็นรีซีฟเวอร์นี่แหละ

อันที่จริงตอนแรกคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักเครื่องเล่นสเตอริโอของฟิชเชอร์เท่าไรนัก เนื่องจากสมัยก่อนนั้นเมืองไทยนิยมแต่ยี่ห้อของยุโรป ยี่ห้อที่นิยมก็มี  Telefunken, Grundig, Blaupunk, Philips, Sierra, Nord Mende ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นตู้คอนโซลตั้งพื้นมีลำโพงในตัวเป็นตู้ไม้ที่สวยหรูใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบารมี (หรือห้องรับแขก) ได้ในตัว อีกทั้งสินค้าของอเมริกาที่ขายในบ้านเราก็มีราคาแพงมากและหาซื้อได้ยาก  แต่ก็มีสเตอริโอFisherบางส่วนเข้ามาสำแดงคุณภาพเสียงในตลาดบ้านเรา โดยการหอบหิ้วกันเข้ามาของคนไทยที่เรียนจบจากอเมริกาหรือคนไทยบางคนที่แอบลักลอบเข้าไปทำงาน (โรบินฮูด) ในสมัยที่ทางการอเมริกายังไม่เข้มงวดมากนัก พอเมื่อทำงานจนรวยแล้วก็ซื้อสเตอริโอหรือเครื่องไฟฟ้าของอเมริกากลับมาที่เมืองไทยด้วย  พวกตู้เย็น (ยี่ห้อ GE, Westinghouse, Kevinator) ทั้งๆ ที่ใช้ไฟ 110 โวลต์ก็นิยมเอาเข้ามาใช้ในเมืองไทยด้วยเหมือนกัน  

FISHER 500C

ส่วนคนไหนที่ไม่มีโอกาสไปอยู่อเมริกาก็ยังไม่หมดหวังที่จะได้เป็นเจ้าของสเตอริโอในราคาที่ไม่แพง  ยังมีอีกช่องทางที่พอจะหาได้ นั่นคือ สินค้าจากพีเอ็กซ์ (PX ย่อมาจากPost Exchange) สำหรับท่านที่เกิดหลังสมัยสงครามเวียดนามหรือหลังยุค 70s อาจจะยังไม่รู้จักสินค้า PX ว่าคืออะไร?  สรุปง่ายๆ ก็คือ ในยุค 60s เป็นช่วงที่สงครามเวียดนามกำลังระอุ จึงมีทหารอเมริกันเข้ามาประจำการในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและให้เกียรติแก่ผู้กล้าหาญเหล่านี้ จึงมีสวัสดิการร้านขายสินค้าราคาถูกขึ้นมาเรียกว่า PX ผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อได้คือ พวกทหารอเมริกันที่เข้ามาประจำการในประเทศไทย คือเป็นร้านสวัสดิการเฉพาะของทหารเท่านั้น คนไทยเข้าไปซื้อไม่ได้ก็จริง แต่ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย

ก็พวกทหารอเมริกันหรือจีไอบางคนนี่แหละซื้อมาแล้วเกิดไม่ชอบขึ้นมาหรือไม่อยากขนกลับเพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะยังมีลมหายใจหรือไม่ ก็เลยเอามาขายต่อให้คนไทยเสียเลย  บางคนเข้าไปซื้อใน PX แล้วขนออกมาขายต่อข้างนอกให้กับคนไทยทันทีเลยก็มี สเตอริโอหลายๆ ยี่ห้อดังในยุคนั้นอย่าง FISHER, SCOTT, Marantz หรือซันซุย,ไพโอเนียร์ที่นิยมในบ้านเราบางส่วนก็มีที่มาด้วยช่องทางพิเศษเหล่านี้ด้วยเช่นกัน 

ด้วยช่องทางการนำเข้าวิธีต่างๆ เหล่านี้ได้ทำให้นักเล่นชาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสคุณภาพเสียงอันไพเราะของสเตอริโอฟิชเชอร์ได้อย่างเต็มที่ และรู้จักชื่อแบรนด์นี้กันอย่างแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็ว และในที่สุดการเล่นสเตอริโอแบรนด์ยุโรปที่เคยได้รับความนิยมก่อนหน้านี้ก็ถูกแทนที่ด้วยสเตอริโออเมริกันสไตล์ในเวลาต่อมา และทำให้นักเล่นชาวไทยหันมาสนใจเล่นสเตอริโอแบบแยกชิ้นกันมากขึ้น

รูปลักษณ์และคุณสมบัติ

FISHER 500C เป็นสเตอริโอรีซิฟเวอร์ในตำนานรุ่นหนึ่งที่นักสะสมต้องการตัวมากที่สุด ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1964 สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 100,000 เครื่อง ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องที่ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายทีเดียว ราคาค่าตัวเมื่อแรกเริ่มประมาณ 369 เหรียญสหรัฐฯ

การออกแบบบนหน้าปัดด้านหน้าของ 500-C มีความเรียบร้อยสวยงามเป็นอันมาก พร้อมทั้งให้ประโยชน์ใช้สอยที่ครบครัน ปุ่มควบคุมต่างๆ จัดวางอย่างลงตัวมีลักษณะที่สมมาตรกัน (Symmetry) คือ ซีกซ้าย-ซีกชวามีลักษณะเหมือนภาพเงาสะท้อนซึ่งกันและกัน แต่ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน

FISHER 500C

ปุ่มควบคุมต่างๆ บนหน้าปัดประกอบด้วย ปุ่มแถวบนซ้ายสุดเป็นปุ่มซีเล็คเตอร์เลือกลำโพง ถัดมาตรงกลางเป็นหน้าปัดวิทยุ FM พร้อมด้วยมิเตอร์แสดงความแรงสัญญาณ 2 ตัว ถัดมาขวาสุดเป็นปุ่มหมุนหาสถานีวิทยุหรือจูนนิ่ง ปุ่มและสวิตช์ต่างๆ ในแถวล่างจากซ้ายไปขวาประกอบด้วย ปุ่มปรับเสียงเบส ปุ่มปรับเสียงแหลม ปุ่มปรับบาลานซ์ ถัดมาเป็นสวิตช์เลื่อนปิด / เปิดการกรองสัญญาณไฮฟิลเตอร์ โลว์ฟิลเตอร์ ถัดมาตรงกลางสุดเป็นรูเสียบหูฟัง ถัดมาหน่อยเป็นสวิตช์มัลติเพล็กซ์ฟิลเตอร์ สวิตช์เทปมอนิเตอร์ ถัดมาเป็นปุ่มซีเล็คเตอร์เลือกอินพุท ปุ่มปิด / เปิดลาวด์เนส และท้ายสุดขวาสุดเป็นปุ่ม โวลลุ่มมีสวิตช์เพาเวอร์ในตัว

FISHER 500C

การทำงานภายในแครื่องเป็นระบบหลอดล้วน ใช้หลอดรวม 19 หลอด แบ่งเป็นภาคออดิโอ 11 หลอด ประกอบด้วย หลอดเบอร์ 12AX7 (ECC83)จำนวน 7 หลอดสำหรับภาคปรีโฟโน ภาคโทนคอนโทรล ภาคแยกเฟส (Phase Inverter) และหลอดเบอร์ 7591 จำนวน 4 หลอด สำหรับภาคเอาท์พุท

FISHER 500C

และภาคจูนเนอร์หรือภาครับวิทยุ เป็นระบบ FM เพียงอย่างเดียวไม่มีภาครับคลื่น AM ใช้หลอดรวม 8 หลอด (ไม่รวมภาคถอดรหัสมัลติเพล็กซ์) ประกอบด้วยหลอดเบอร์ 6HA5 (EC900), 6HR6, 6GK5 (EC97) อย่างละหลอด  หลอดนูวิสเตอร์ (หลอดเล็กจิ๋วตัวเคสเป็นโลหะคล้ายทรานซิสเตอร์แต่ข้างในเป็นหลอดสุญญากาศ) เบอร์ 6CW4 จำนวน 2 หลอด และเบอร์ 6AU6 (EF94) จำนวน 3 หลอด

FISHER 500C

ขั้วต่อที่ด้านหลังเครื่องเป็นรูเสียบแจ็ค RCA สามารถต่อสัญญาณขาเข้าได้ 5  ชุด (โฟโน HI, โฟโน LOW, หัวเทป, AUX, เทปมอนิเตอร์) และสัญญาณขาออกสำหรับอัดเทป 1 ชุด และใกล้ๆ กันเป็นขั้วต่อสายลำโพงแบบขันสกรู สามารถต่อลำโพงได้ 2 คู่ มีแทปเลือกค่าความต้านทานไดัตั้งแต่ 4, 8, 16 โอห์มสำหรับลำโพงแต่ละคู่ พร้อมทั้งมีขั้วต่อลำโพงเซ็นเตอร์อีก 1 ชุด ยังไม่หมดแค่นี้ในตัว เครี่องยังมีช่องต่อสัญญาณเข้าออกกับอุปกรณ์ Reverb (ทำเสียงก้อง) จากภายนอกให้เลือกใช้งานด้วย

คุณสมบัติดีๆ อย่างนี้ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า Fisher มีให้มานานกว่า 50 ปีแล้ว สมแล้วที่ได้รับการกล่าวขานและยกย่องให้เป็นรีซิฟเวอร์ระดับตำนานชั้นยอดตลอดกาลของวงการวินเทจ

สเปคโดยย่อ

  • ความไวภาครับวิทยุ FM  1.8 ไมโครโวลต์
  • S/Nเรโช  70 ดีบี
  • กำลังเอาท์พุท  33 วัตต์ต่อข้าง
  • ตอบสนองความถี่  25 Hz – 25 kHz +/-1.5 dB
  • ความเพี้ยนฮาร์โมนิก  0.7 เปอร์เซ็นต์
  • ความเพี้ยนIMD  0.7 เปอร์เซ็นต์ 
  • ขนาดเครื่อง   กว้าง 18.25 นิ้ว สูง 6.25 นิ้ว ลึก 13 นิ้ว
  • หนักสุทธิ   45 ปอนด์