What HI-FI? Thailand

Dynamic ตัวแปรสำคัญของความไพเราะ

DAWN NATHONG

คำว่าไดนามิก (Dynamic) น่าจะเป็นคำหนึ่งที่เราได้ยินในวงการเครื่องเสียงอยู่บ่อย ๆ เช่น ลำโพงหรือแอมป์ตัวนี้ให้ไดนามิกเสียงดี แต่น่าแปลกที่การสื่อความหมายของแต่ละคนค่อนข้างต่างกัน ทำให้ความหมายที่แท้จริงของไดนามิกคลาดเคลื่อนไป

ไดนามิกของเสียงคืออะไร

พูดให้ง่ายที่สุดก็คือระดับความดัง-ค่อยของเสียง ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบทันทีทันใดและแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งช่วงระยะจากเสียงที่ดังน้อยสุดไปถึงดังมากสุด เช่น เสียงพูดกระซิบมีระดับความดังประมาณ 20 dB กับเสียงตะโกนดังประมาณ 70 dB ช่วงระหว่าง 20 – 70 dB นี้ เราจะเรียกมันว่าไดนามิกเร้นจ์ (Dynamic Range)

เมื่อไดนามิกเร้นจ์ของเสียงมีระยะห่างกันมาก ๆ เช่น เวลาฟังวงออเครสตร้าบรรเลง มีช่วงที่เบาสุดของเสียงดนตรี อาจดังแค่ 15 dB และดังสุดอาจเกิน 90 dB แบบนี้เรียกว่ามี “ ไดนามิกเร้นจ์กว้าง ” ในทางกลับกัน บางช่วงของเพลงมีช่วงระยะความดังของเสียงแค่ระหว่าง 15 – 30 dB แบบนี้เรียกว่า “ ไดนามิกเร้นจ์แคบ ”

ไดนามิกกับความไพเราะ

ลองจินตนาการถึงนักดนตรีสองคน เล่นกีตาร์ยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน เล่นเมโลดี้เดียวกัน แต่คนหนึ่งเล่นแต่ละตัวโน้ตมีดัง-ค่อยสลับกันไป ส่วนอีกคนเล่นทุกตัวโน้ตดังพอ ๆ กันหมด หูของคนส่วนใหญ่จะรับรู้ได้ว่า เสียงกีตาร์ของนักดนตรีคนแรก มีความพริ้วไหว น่าดึงดูดและชวนฟังมากกว่า รับรู้ได้ถึงอารมณ์ของบทเพลงมากกว่า หรือที่เรียกว่ามีความไพเราะมากกว่านั่นเอง

Dynamic กับระดับความดัง

โดยปกติหูคนเราจะทนระดับความดังของเสียงสุงสุดได้ไม่เกิน 85 dB (ประมาณเสียงของนาฬิกาปลุก) เกินกว่านี้หากฟังต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประสาทหู

ในขั้นตอนการทำมาสเตอริ่ง ซาวด์เอ็นจิเนียร์จะเป็นคนบาล้านซ์ระดับของไดนามิกเสียงให้มีความเหมาะสมต่อการฟัง ไม่มากไปหรือน้อยเกินไป ขึ้นอยู่กับทักษะของซาวด์เอ็นจิเนียร์ในการดึงความต่างของไดนามิกเสียงที่ถูกบันทึกออกมาให้ได้ยินชัดเจนมากที่สุด (ไม่ว่าเพลงนั้นจะมีไดนามิกเร้นจ์กว้างหรือแคบ) ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงขึ้นอยู่กับปลายทางว่าต้องการจะทำมาสเตอริ่งสำหรับฟอร์แม็ตใด เช่น ซีดี, ไวนิล หรือไฮเรสไฟล์

การที่อ้างว่าอุปกรณ์หรือฟอร์แม็ตเสียงใด ถ่ายทอดไดนามิกของเสียงออกมาได้เหมือนดนตรีสด ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในความเป็นจริง เพราะไดนามิกเหล่านั้นได้ถูกลดทอนลงไปจากขั้นตอนการบันทึกเสียงและทำมาสเตอริ่งแล้วไม่มากก็น้อย หรือแม้แต่ในขั้นตอนการผลิตแผ่น ดังนั้น ตัดประเด็นเรื่องเสียงที่เหมือนต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ไปได้เลย

สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่าคือ อุปกรณ์เครื่องเสียงสามารถถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของไดนามิกเสียงทั้งดัง-ค่อย ออกมาให้เราได้ยิน ” ชัดเจน ” มากแค่ไหนต่างหาก รวมถึงลักษณะการถ่ายทอดไดนามิกของอุปกรณ์นั้น ๆ ” ถูกจริต ” ของเราหรือไม่

ถ้าพูดถึงแหล่งโปรแกรม พวกดิจิทัลเช่นซีดี ก็จะเด่นเรื่องของการเปลี่ยนไดนามิกทันทีทันใด ส่วนฝั่งอนาล็อคอย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็จะเด่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงไดนามิกแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เป็นต้น


Exit mobile version