DAWN NATHONG
หลายปีที่ผ่านมา บริษัท Dolby Laboratories, Moving Picture Experts Group (MPEG) และบริษัท DTS, Inc. ต่างซุ่มพัฒนาฟอร์แม็ตเสียงรูปแบบใหม่ของตัวเอง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการออกอากาศคอนเท้นต์ต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลทีวี (DTTV), อินเทอร์เน็ตทีวี (OTT TV), ดาวเทียม และบริการสตรีมมิ่ง
โดยฟอร์แม็ตเสียงใหม่ทั้งสาม อันได้แก่ Dolby AC-4, MPEG-H และ DTS: UHD จะอยู่บนรูปแบบพื้นฐานของ Objects Based เหมือนกันกับระบบเสียง Atmos และ DTS: X ที่สามารถกำหนดตำแหน่งของเสียง (Objects) ได้อย่างอิสระถึง 128 Objects และ 224 Objects (สำหรับ DTS: UHD)
แม้ว่าทั้ง Dolby Atmos และ DTS: X จะเป็นฟอร์แม็ตที่มีคุณภาพสูงสุดในปัจจุบัน แต่ก็มีขนาดไฟล์ที่ใหญ่ ไม่เหมาะจะนำมาใช้ในการถ่ายทอดสด หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
ดังนั้น หัวใจสำคัญของฟอร์แม็ตเสียงใหม่ทั้งสาม คือการพัฒนา Codec ที่มีประสิทธิภาพสูง มาใช้ในการบีบอัด (Compression) ให้ข้อมูลมีขนาดเล็กลง เพื่อลดภาระในการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก ๆ แต่ยังคงได้คุณภาพเสียงที่แทบไม่ต่างไปจากเดิม รวมถึงมีค่าลิขสิทธิ์เพื่อการใช้งานที่ถูกลง
จากข้อมูลบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน มีผู้ผลิตทีวีหลายราย เตรียมการเพื่อรองรับ Dolby AC-4 บนผลิตภัณท์ของตัวเองกันไว้ล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะสามารถใช้ได้ ผ่านการอัพเดตเฟิร์มแวร์ที่จะถูกปล่อยออกมาในอนาคต
สำหรับ MPEG-H ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่รองรับและเปิดตัวแล้ว นั่นคือ Ambeo Soundbar ของบริษัท Sennheiser แต่ส่วน DTS: UHD ยังไม่มีข้อมูลในเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่รองรับใด ๆ ออกมาในขณะนี้