ถิรพันธุ์ เป็งอินตา
อาจารย์ประจำแผนกอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยสารพัดช่างลำปาง
มาต่อเรื่องของผู้เขียนกัน หลังจากวางมือจากการ DIY แอมป์หลอดสุญญากาศแล้วก็หยุดเล่นไปพักใหญ่ และแล้วก็มีโอกาสได้ลองฟังแอมป์มอสเฟตซิงเกิลเอนด์คลาส A ที่ Mr. Nelson Pass ได้ออกแบบไว้ เป็นโครงงานตีพิมพ์ในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ฉบับหนึ่ง มีคนรู้จักได้ทำขึ้นมาฟัง
บอกได้คำเดียวว่าเสียงดีมาก และร้อนมาก ข้อหลังนี่แหละที่ทำให้ผู้เขียนไม่อยากสร้างเพราะมันต้องใช้แผ่นระบายความร้อนที่มีขนาดใหญ่มากเนื่องจากมีความร้อนในการทำงานสูง และต้องใช้หม้อแปลงที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงด้วย ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ หนัก และแพงมาก
สรุปแล้วก็ไม่ได้ DIY วงจรนี้แต่ก็ยอมรับในคุณภาพเสียงของแอมป์มอสเฟตแล้ว แต่ส่วนตัวก็ยังใช้แอมป์ทรานซิสเตอร์ที่ DIY เองจากวงจรแอมป์ในตำนานของอังกฤษยี่ห้อหนึ่งอยู่ (ฝาหลังเป็นไม้ บอกแค่นี้ผู้อ่านหลายท่านน่าจะเดายี่ห้อได้)
ที่มาของโครงงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ตอนนั้นผู้เขียนก็ยังไม่เห็นความดีของแอมป์แบบไอซี เห็นวงจรที่เขาเอามาลงในวารสารเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้สนใจอะไร เวลาผ่านไปเป็นสิบปีจึงได้มาเห็นแอมป์ขนาดเล็กกำลังขับประมาณ 10-15 วัตต์ ที่ใช้ไอซีขายกันในร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (รูปที่ 2) เครื่องหนึ่งขายกันที่ 250-850 บาท มีหลายรุ่น
เข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต มีแต่คนชมว่าเสียงดี คุ้มราคามาก บางคนซื้อทีละสองเครื่อง เอาไปโมดิฟายเพื่อเปรียบเทียบกัน เลยลองตัดสินใจซื้อมาลองเครื่องหนึ่ง ราคา 280 บาท พร้อมกับตัวอะแดปเตอร์ 12V 2A แบบสวิทชิงราคา 250 บาทมาเป็นแหล่งจ่ายไฟ ต่อกับลำโพง Motdaunt Short (ลำโพงดีที่หาซื้อใหม่ไม่ได้แล้ว) แหล่งสัญญาณใช้โน้ตบุ๊ก พอได้ฟังเสียงต้องบอกเลยว่าไม่น่าเชื่อ นี่มันเสียงจากแอมป์ราคาไม่ถึงสามร้อยเหรอนี่ แอมป์ราคาสี่ห้าพันหนาวๆ ร้อนๆ ก็แล้วกันครับ
ความคิดแต่เดิมในเรื่องว่าแอมป์ที่ใช้ไอซีเสียงไม่ดีเริ่มเปลี่ยนไป ต้องเปิดใจเพื่อรับฟังความคิดของผู้อื่นเกี่ยวกับแอมป์ที่ใช้ไอซี หาความรู้ต่อครับ เพราะไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของอุปกรณ์โซลิดสเตทประเภทไอซีมานาน พบว่ามีไอซีเพาเวอร์แอมป์ที่มีคุณภาพดี นำไปใช้ในเครื่องขยายเสียงระดับไฮเอนด์อยู่ประมาณ 2 เบอร์ ใช้ในเพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ 2 ยี่ห้อ เลือกมาหนึ่งเบอร์มาลอง DIY ดู คุณภาพเสียงเทียบกับงบประมาณที่ลงไปถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ จึงเป็นที่มาของโครงงานสร้างเครื่องขยายคุณภาพดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 4 ตอน (What Hi Fi? ฉบับที่ 379-382)
![Do It Yourself](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/01/20143212.jpg)
นี่คือเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ที่ยกตัวอย่างมาให้รับรู้ในเรื่องของการเปิดใจให้กว้างเพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จุดประสงค์ของการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ก็เพื่อลดข้อด้อยของเทคโนโลยีเดิม เพิ่มคุณภาพและความสะดวกในการใช้งานเข้าไป แน่นอนครับในช่วงแรกของเทคโนโลยีใหม่อาจจะสู้เทคโนโลยีเดิมที่พัฒนาไปถึงขีดสุดแล้วไม่ได้ ต้องให้เวลาพัฒนาตัวเองซักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบกัน
จับตาดูแอมป์แบบดิจิตอล (คลาสD) เอาไว้ให้ดีนะครับ อนาคตอาจจะมาแทนที่แบบอะนาลอกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ได้เหมือนกับการมาของเครื่องเล่น CD ที่มาตีตลาดเครื่องเล่นแผ่นเสียงเมื่อหลายสิบปีก่อน (งานระบบเสียงกลางแจ้งเริ่มใช้แอมป์คลาส D กันแล้วหลายยี่ห้อ เพราะเสียงดี กำลังวัตต์สูง ที่สำคัญน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย)
การเปิดใจให้กว้างนี้เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของนัก DIY และบริษัทผลิตเครื่องเสียง อย่าปิดกั้นตัวเอง อย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ มากจนเกินไป และจงเตรียมพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ตัวอย่างมันมีให้เห็น บริษัทขายฟิล์มไม่ยอมรับเทคโนโลยีของกล้องดิจิตอลกว่าจะรู้ตัวก็ปรับกลยุทธทางธุรกิจไม่ทันแล้ว สุดท้ายก็ล้มละลายครับ
5. หาประสบการณ์ในการฟัง
ควรไปงานแสดงเครื่องเสียงหรือร้านจำหน่ายเครื่องเสียงดีๆ บ้างถ้ามีโอกาส ลองฟังชุดเครื่องเสียงดีๆ ราคาแพงๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับเครื่องที่เรา DIY ไม่ได้ฟังว่าของใครดีกว่ากัน แต่ฟังว่าเพลงๆ นี้เครื่องที่มีราคาแพงมันให้เสียงเป็นอย่างไร เสียงทุ้ม เสียงกลาง เสียงแหลม โดยเฉพาะโทนนัลบาลานซ์เป็นอย่างไร สมดุลย์กันไหม แล้วลองเอาเพลงนั้นเปิดกับเครื่องที่เรา DIY ฟังว่าเสียงเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่
![Do It Yourself](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/01/68381675_350894082470511_3542405415612448768_n.jpg)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/01/IMG_20190802_173722-1024x768.jpg)
ถ้าไปในทิศทางเดียวกันก็แสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เช่น เพลงร้องเสียงกลางเด่น ลอยออกมา เมื่อมาฟังกับเครื่องที่เรา DIY มันก็ควรจะลอยเด่นออกมาเช่นกัน อาจจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ จะดีกว่าหรือแย่กว่าก็ว่ากันไป
ส่วนเรื่องของเวทีเสียง มิติเสียง ความชัดเจนของตำแหน่งชิ้นดนตรี รายละเอียดของชิ้นดนตรีนั้น องค์ประกอบอื่นๆ ของระบบจะมีส่วนด้วยไม่ว่าจะเป็นห้อง สายสัญญาณ สายลำโพง ขาตั้งลำโพง ตัวลำโพงหรือแหล่งสัญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องค่อยๆ หาโอกาสทดลองฟังเปรียบเทียบหาประสบการณ์กันไปเรื่อยๆ
6. วิเคราะห์หาเหตุผล
การจะเป็นนัก DIY ที่ดีจะต้องรู้จักการวิเคราะห์หาเหตุผล นำความรู้ที่มีมาหาเหตุผลสนับสนุนกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าผิดหรือถูก เช่น การรองลำโพงด้วยทิปโทหรือสไปรท์ทำให้เสียงดีขึ้น เหตุผลเพราะว่ามันช่วยทำให้ตู้ลำโพงนิ่ง ไม่สั่นคลอนไปตามจังหวะการขยับตัวของไดรเวอร์เสียงทุ้ม ซึ่งเมื่อตู้ลำโพงนิ่งแล้วจะมีผลต่อโฟกัสของเสียง ตำแหน่งของชิ้นดนตรี เป็นต้น
![Do It Yourself](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/01/IMG_20190804_111959-1024x768.jpg)
หรือการดับไฟหน้าจอแสดงผลของเครื่องเล่น CD ทำให้เสียงดีขึ้น เหตุผลเพราะว่าแสงทุกแสงมีความถี่ ถึงแม้ว่าแสงจากหัวอ่านกับแสงจากหน้าจอจะมีความถี่ไม่ตรงกัน แต่ทุกๆ ความถี่หลัก (Fundamental) นั้น จะมีความถี่ที่เรียกว่าฮาร์โมนิค (Harmonics) เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งฮาร์โมนิคนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
เอาข้อเสียก่อนคือจะเป็นตัวไปรบกวนความถี่หลักของหัวอ่านให้ทำงานผิดเพี้ยนได้ถึงจะไม่มากก็ตาม และฮาร์โมนิคนี้ถ้ามากับไฟฟ้า 220V ตามบ้าน (ซึ่งมันมาอยู่แล้ว) ย่อมมีผลต่อคุณภาพเสียงของระบบเสียง แน่นอนครับไม่ใช่ในทางที่ดีแน่
จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมชุดเครื่องเสียงราคาแพงๆ จึงต้องมีเครื่องกรองไฟอยู่ในระบบด้วย นี่แค่ดับไฟหน้าจอ CD เหตุผลมันลากไปถึงระบบไฟบ้านได้ ทุกสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงคุณภาพเสียงได้ต้องเหตุผลและมีที่มาครับ
7. เข้ากลุ่ม
หัวใจหลักของการ Do It Yourself คือประหยัด ทำของดีขึ้นมาใช้เอง ของบางอย่างอาจจะมีราคาแพง ถ้าเรามีกลุ่มที่ชอบ DIY เหมือนกันก็จะสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนอุปกรณ์กันได้ ช่วยให้ประหยัดค่าอุปกรณ์ไปอีก เพราะได้ราคาถูกกว่าซื้อจากร้านค้าแน่นอน อีกอย่างที่จะประหยัดก็คือเวลาครับ มีเพื่อนในกลุ่มทดลองทำรุ่นนี้แล้ว เราสนใจไปลองฟังดู ปรากฏว่าเสียงไม่ถูกใจเรา (ความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน) เราก็ไม่ทำ ก็ประหยัดเวลาที่จะมาทำวงจรนั้นขึ้นมา
การมีกลุ่มไม่ใช่แค่ประหยัดอย่างเดียวเท่านั้นแต่มันเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีที่ปรึกษา ช่วยเพิ่มความรู้เพิ่มทักษะให้กับตัวเองด้วย เร็วกว่าและดีกว่าการศึกษาด้วยตัวเองครับ
เครื่องเสียงไฮเอ็นด์กับ DIY
เครื่องเสียงโดยเฉพาะระดับไฮเอนด์หลายยี่ห้อมักจะเริ่มจากการ DIY เนื่องจากไปฟังของที่เขาวางขายแล้วไม่ถูกใจจึงทำขึ้นมาฟังเอง ทำขึ้นมาแล้วเสียงดี มีคนอยากได้ ก็ทำขาย ติดยี่ห้อของตัวเอง ราคาไม่ต้องพูดถึงสูงถึงสูงมาก เพราะใช้ของดี อุปกรณ์ดี ทำให้ราคาต้นทุนสูงบวกกับค่าค้นคว้า วิจัย ค่าโฆษณา (การ DIY จะลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้) ค่าขนส่งอีก
จะสังเกตได้ว่าเครื่องเสียงไฮเอนด์ยี่ห้อดังๆ ทั้งหลายส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัวหรือไม่ก็อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ส่วนเครื่องเสียงระดับกลางยี่ห้อดังๆ ในอดีตบางยี่ห้อพอขายดี มีชื่อเสียงมียอดสั่งซื้อเยอะก็ขยายการผลิต เพิ่มพนักงาน แต่ไม่รักษามาตรฐานคุณภาพของสินค้าก็อยู่ไม่ได้
จากที่โด่งดังในเรื่องเครื่องเสียงบ้าน (Home Use) ก็ต้องหนีไปทำตลาดเครื่องเสียงห้องประชุมหรือเครื่องเสียงกลางแจ้ง (Public Address) แทน เพราะคุณภาพสู้ของยี่ห้อใหม่ๆ ไม่ได้ อาศัยชื่อเสียงที่เคยสั่งสมมาก็พออยู่ได้ ถ้ายังรักษามาตรฐานไม่ได้อีกก็อยู่ยากละครับ
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2020/01/naimclonepcb-2-1024x768.jpg)
สำหรับนัก DIY โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมเอาวงจรหรืออุปกรณ์ (แอมป์หรือลำโพง) ของยี่ห้อดี ยี่ห้อดังมาเป็นต้นแบบสร้างกัน แล้วหวังจะให้เสียงเหมือนกับตัวที่เราเอามาเป็นต้นแบบ ได้ซัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าดีมากแล้วเพราะราคาต้นทุนถูกกว่า เช่น ตัวต้นแบบขายสามหมื่นแต่ DIY เองห้าพัน ได้คุณภาพมาประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
นัก DIY ส่วนใหญ่ก็จะหยุด พอแล้วได้แค่นี้คุ้มแล้ว ทำไมไม่ทำต่อละครับ คิดวิเคราะห์หาเหตุผล (ตามข้อ 6) แล้วหาวิธีทำให้มันดีขึ้นอีก ไม่ต้องให้เหมือนตัวต้นแบบแต่ทำให้ดีกว่าไปเลย (คุณภาพเสียงโดยรวมดีกว่า) ทำไมต้องทำออกมาให้เสียงเหมือนตัวต้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย
ตัวต้นแบบผลิตออกมาขายคนละล็อตกัน ท่านคิดว่าเสียงมันจะเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์เหรอครับ ที่เราทำตามเขาเพราะเขาค้นคว้าและวิจัยมาแล้ว แต่งานค้นคว้าและวิจัยของเขา เมื่อเราเอามาทำไม่จำเป็นจะต้องมีผลการวิจัยที่เหมือนกันนี่ครับ แตกต่างกันบ้างจะเป็นไร แตกต่างแล้วอาจจะดีกว่าหรือแตกต่างแล้วเราชอบ ก็จบครับ
เสน่ห์ของการ Do It Yourself
ตราบใดที่เครื่องเสียงไฮเอนด์ยี่ห้อใดก็ตามไม่สามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เอง ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนโลหะที่ใช้เป็น Chassis ได้เอง การ DIY ยังได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพเสียงเมื่อเทียบกับราคาอยู่
สิ่งที่ขาดไปของการ DIY คือความเชื่อถือเพราะไม่มีแบรนด์เนม จะสร้างแบรนด์เนมใหม่ขึ้นมาก็ต้องใช้เงินและเวลาอีกไม่น้อย เมื่อใช้เงินเพิ่มเพื่อสร้างแบรนด์เนม ต้นทุนก็จะสูงขึ้น ราคาขายก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น DIY เพื่อใช้เองหรือซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มดีที่สุดครับ