ถิรพันธุ์ เป็งอินตา
อาจารย์ประจำแผนกอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยสารพัดช่างลำปาง
DIY หรือ Do It Yourself หมายถึง ทำมันด้วยตัวเองหรือสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง อยู่นำหน้าอะไรก็หมายถึงสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาใช้เอง
การ DIY ในแวดวงเครื่องเสียงบ้าน (Home Use) ก็หมายถึงการสร้างอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบเสียงขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องขยายเสียง (ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์, อินทีเกรทแอมป์) ลำโพง ขาตั้งลำโพง สายลำโพง สายสัญญาณ เป็นต้น
การ DIY อุปกรณ์เหล่านี้บางอย่างก็ยาก บางอย่างก็ไม่ยาก สามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเสียเงินแพงๆ ซื้อของมียี่ห้อมาใช้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญก็คือความสนุกที่ได้ทำมันขึ้นมา มีคำกล่าวไว้ว่า “ผู้รู้สิ่งนี้นั้นมิเทียบผู้รักสิ่งนี้ได้ ผู้รักสิ่งนี้มิเทียบผู้สนุกกับสิ่งนี้ได้” ถ้าใครต้องการเป็นนัก DIY ท่านต้องมีสิ่งต่อไปนี้
1. ความรู้
การจะเป็นนัก DIY หรือ Do It Yourself จะต้องมีความรู้ในสิ่งที่จะทำ จะเป็นนัก DIY เครื่องเสียงต้องมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องเสียง ระบบเสียง ยิ่งถ้าต้องการ DIY เครื่องขยายเสียงไม่ว่าจะเป็นปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์หรืออินทีเกรทแอมป์จะต้องมีความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมบ้าง
บางท่านบอกว่ายาก ทำไม่ได้ ยุคนี้สมัยนี้มันไม่ยากอย่างที่คิดแล้วครับ เราสามารถสร้างเครื่องขยายเสียงขึ้นมาได้ง่ายๆ โดยเพียงแค่สั่งซื้อภาคขยายที่ขายเป็นบอร์ดสำเร็จรูป มีความรู้ในการเชื่อมต่อสัญญาณของแต่ละภาคเข้าหากัน นำมาอุปกรณ์เพิ่มเติมมาต่อเข้าไป แค่นี้ก็ได้เครื่องขยายเสียงไว้ฟังเครื่องหนึ่งแล้วครับ ยกตัวอย่างรูปที่ 1 เป็นเครื่องขยายเสียงกำลังขับ 50W+50W ที่เคยแนะนำในบทความก่อนหน้านี้
จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าเป็นบอร์ดเครื่องขยายเสียงที่ทำสำเร็จมาขาย ซึ่งถ้าหากซื้อมาใช้งานก็เพียงแต่ต่อแหล่งจ่ายไฟจากหม้อแปลงเข้าไปที่จุด Power Input จุด Audio Input ต่อกับแหล่งสัญญาณ เช่น เครื่องเล่น CD เข้าไป ส่วน Speaker ก็ต่อเข้าลำโพง แค่นี้ก็ฟังเพลงได้แล้วครับ ไม่ยาก
ของพวกนี้มีให้เลือกซื้อมากมายในอินเทอร์เน็ต ถ้าหาดีๆ ก็จะเจอบอร์ดเครื่องขยายเสียงรุ่นดังๆ หรือยี่ห้อดังๆ ในอดีตที่ถูก Copy หรือถูก Clone วางขายในราคาที่เห็นแล้วจะบอกว่าไม่น่าเชื่อ ขายราคานี้จริงเหรอ เพราะราคามันถูกกว่าสายลำโพงหรือสายสัญญาณเกรดปานกลางเสียอีก
ความรู้ในด้านนี้หาได้ไม่ยากครับ ค้นหาได้เกือบทุกอย่างอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นก็ควรติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของวงการเครื่องเสียงด้วยว่าจะไปในทิศทางใดเช่น แอมป์แบบดิจิตอลกำลังจะมาแทนที่แบบอะนาลอกหรือเปล่า, พัฒนาการของแอมป์แบบใช้ไอซี, อนาคตของเครื่องเล่น CD, DAC จำเป็นหรือไม่, การบันทึกเสียงในระบบดิจิตอลแบบต่างๆ, คุณภาพเสียงของไฟล์เพลงแต่ละแบบ เป็นต้น
2. เวลา
มีความรู้แล้วต้องมีเวลา เวลาที่ว่านี้คือเวลาในการสร้าง เวลาทดลอง ทดสอบ เมื่อมีความรู้ (Knowledge) แล้วก็มีต้องทักษะ (Skill) ด้วย ต้องนำเอาความรู้ที่มีมาทดลองทำดูว่าได้ผลตามที่ได้รู้มาหรือไม่ เหมือนเราซื้อแอมป์มาใหม่ เราก็ต้องมีเวลาให้มัน อย่างน้อยก็ต้องเบิร์นอิน เปรียบเทียบเสียงก่อนและหลัง เปรียบเทียบกับแอมป์ตัวเก่า เพียงแต่การ DIY มันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าการซื้อมาเปลี่ยน ต้องใช้เวลามากกว่า
3. รับฟังความคิดเห็น
เมื่อมีการ DIY ย่อมมีการทดสอบคุณภาพเสียง แน่นอนครับต้องมีการเปรียบเทียบกันระหว่างสิ่งที่คุณ DIY กับสิ่งที่ทำมาวางจำหน่าย ถ้ามันแตกต่างกันจนฟังออกอย่างเห็น (ฟัง) ได้ชัด สิ่งที่เรา DIY ดีกว่าก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าสู้เขาไม่ได้ก็ลองรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นดู โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ นำมาวิเคราะห์และแก้ไข
อย่าลืมว่าของที่เรา DIY มันแก้ไขให้ดีขึ้นได้ แต่ของที่วางจำหน่ายบางอย่างแก้ไขไม่ได้แล้ว อีกอย่างถ้าแก้ไขแล้วยังสู้เขาไม่ได้อีกก็ถือว่าได้ความรู้ไป ไม่เสียหายอะไร ส่วนใหญ่การ DIY แล้วจะแพ้เขาแบบขาดลอยนั้นมักมาจากการชกข้ามรุ่นเกินไป เช่น ของ DIY หลักร้อยไปสู้กับของที่วางจำหน่ายหลักหมื่น อันนี้มันก็เกินไป ถ้าราคาแตกต่างกัน 3-5 เท่าแล้วสูสีหรือแพ้คะแนนยังยิ้มได้ครับ แต่ถ้าหากชนะขึ้นมา อันนี้แหละครับคือความภาคภูมิใจ
4. เปิดใจให้กว้าง
อย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ เทคโนโลยีสมัยนี้มันไปไกลแล้วครับ รับฟังและยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ขอเล่าเรื่องของผู้เขียนเองเป็นตัวอย่าง ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคที่ทรานซิสเตอร์และ ไอซีเข้ามาแทนหลอดสุญญากาศแล้ว เครื่องขยายเสียงตัวแรกที่ประกอบขึ้นมาคือเครื่องขยายเสียง 7 วัตต์ ใช้ไอซีเบอร์ TBA810 ตามประสาเด็ก ม.ต้น ก็คิดว่ามันเสียงดีแล้วแต่เปิดดังไม่ได้
โตขึ้นมาอีกหน่อยลองประกอบเครื่องทรานซิสเตอร์ 2N3055 กับ MJ2955 นี่ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ทรานซิสเตอร์สองเบอร์นี้ถือว่าเป็นเบอร์ยอดนิยมสุดๆ สำหรับแอมป์ทรานซิสเตอร์ขนาดไม่เกิน 100 วัตต์ แต่กับมอสเฟต K134 กับ J49 ไม่ประทับใจกับเสียงเบสและเสียงแหลมที่จัดไปของมอสเฟต (มอสเฟตยุคแรกๆ) ตั้งแต่นั้นมาเครื่องขยาย เสียงมอสเฟตจึงไม่อยู่ในความคิดที่จะทำขึ้นมาเลย
เครื่องเสียงบ้านของไทยที่มีจำหน่ายในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นชุดประกอบ (ชุดKit) หรือชุดสำเร็จที่ขายดีมักจะเป็นทรานซิสเตอร์ (มอสเฟตยังราคาสูงอยู่) ทำให้ผู้เขียนยึดติดกับทรานซิสเตอร์มาตลอด ส่วนไอซีนั้นที่เสียงดีก็พอมีอยู่แต่มีข้อจำกัดในเรื่องกำลังวัตต์ วัตต์สูงซัก 20 วัตต์ (ถือว่าสูงแล้วสำหรับไอซียุคนั้น) ก็มีราคาแพงจนไม่กล้าซื้อ
ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่นำมาขายเนื่องจากขายยาก ส่วนใหญ่ที่พอมีก็เป็นไอซีเพาเวอร์แอมป์ของวิทยุกระเป๋าหิ้วยี่ห้อ Sony ตระกูล FH ทั้งหลายซึ่งมีขายในฐานะอะไหล่ซ่อมเท่านั้น ไม่นิยมนำมาสร้างเป็นชุด Kit ขาย เป็นอันว่าไอซีก็ไม่อยู่ในหัวสมองอีกเหมือนกัน
จนได้มาเจอหลอดสุญญากาศเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของหลอดสุญญากาศ ก็ชอบนะครับแต่มันเหมาะกับเพลงเฉพาะบางแนวเพลงเท่านั้น แถมมีราคาแพง ส่วนใหญ่แล้วจะชอบแบบเอาหลอดมาเป็นปรีแต่เพาเวอร์ยังใช้ทรานซิสเตอร์มากกว่า ไม่ชอบ DIY เพาเวอร์แอมป์แบบหลอดซักเท่าไร มันยุ่งยากโดยเฉพาะการหาหรือการพันเอาท์พุททรานฟอร์เมอร์
Nelson Pass และ David Hafler
แต่ในยุคที่หลอดกลับมาเฟื่องฟูนั้นก็ได้มีผู้กล้าท้าชนหลอดขึ้นมา นั่นคือ Mr. Nelson Pass ได้ทำแอมป์ที่ใช้มอสเฟตแบบซิงเกิลคลาส A ออกมา เนื่องจากเห็นว่าคุณสมบัติของหลอดสุญญากาศไม่มีทางสู้มอสเฟตได้ ซึ่งความเห็นนี้ก็ไปตรงกับ Mr. David Hafler ซึ่งเคยเสนอแนวคิดนี้ไปก่อน Nelson Pass เสียอีก เสียดายที่ยุคของ Hafler นั้นคุณสมบัติของมอสเฟตที่ผลิตขึ้นมายังไม่ดีเท่าปัจจุบัน และ Hafler ยังออกแบบวงจรขยายเป็นแบบ Push-Pull ซึ่งต่างจาก Pass ที่นำเสนอว่ามอสเฟตดีกว่าหลอดเมื่อจัดวงจรขยายเป็นแบบซิงเกิลเอนด์ คลาส A เท่านั้น
เรื่องราวของหลอดกับโซลิดสเตท (ทรานซิสเตอร์, มอสเฟต, ไอซี) นั้นต้องเปิดใจให้กว้างครับ คนที่เขาชอบเสียงหลอดจะเปลี่ยนให้มาชอบโซลิดสเตทก็คงยาก เมื่อก่อนตัวผู้เขียนเองก็เคยเล่น เคยเขียนบทความเกี่ยวกับหลอดสุญญากาศอยู่สิบกว่าตอนเหมือนกัน จนตอนหลังก็ยอมแพ้เนื่องจากความยุ่งยากหลายๆอย่างสำหรับการเล่นหรือการ DIY แอมป์หลอดสุญญากาศ มาลองชั่งใจหลายๆ อย่างแล้ว คิดว่าไม่สนุกละ เลิกดีกว่า
มีอีกเรื่องสำหรับ David Hafler คือเขาเป็นคนนำเอาท์พุททรานฟอร์เมอร์ที่เรียกว่า Ultra Linear (คิดค้นโดย Alan Blumlein) มาใช้ในแอมป์หลอดเพื่อทำให้หลอดเพนโถดมีคุณภาพเสียงดีเหมือนหลอดไตรโอดและมีกำลังวัตต์สูงกว่าหลอดไตรโอด ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับมากสำหรับผู้ผลิตเครื่องขยายเสียงหลอดสุญญากาศ แต่สุดท้ายทำไมเขาถึงออกมาผลิตเครื่องขยายเสียงมอสเฟตยี่ห้อ Hafler แทนละ
และที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ท่านอาจารย์อัมพร จันทมาศ (ขออนุญาตเอ่ยนามครับ) ผู้ผลิตเครื่องเสียงคุณภาพสูงของไทยยี่ห้อ Tas ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน (หาอ่านได้ใน What Hi Fi? ฉบับที่ 379 พฤษภาคม 2560 เรื่อง “เปรียบเทียบเครื่องเสียงที่ใช้หลอดสุญญากาศกับโซลิดสเตท”)
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าหลอดไม่ดีนะครับ เพียงแต่เคยเห็นคนเล่นเครื่องเสียงบางคนที่เอะอะอะไรก็แอมป์หลอดดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ โดยที่ไม่มองข้อด้อยของมันบ้าง ต้องเปิดใจครับ ของทุกอย่างมีข้อดีและข้อด้อย ถ้าเอากันจริงๆ แอมป์โซลิดสเตทสามารถทำให้เสียงหวานแบบแอมป์หลอดได้ แต่แอมป์หลอดจะไม่สามารถให้เสียงกระชับ ฉับไว เหมือนแอมป์โซลิดสเตทได้ เนื่องจากคุณสมบัติทางไฟฟ้าของหลอดมันไม่สามารถทำได้
ถ้าถามว่าส่วนตัวผู้เขียนชอบแอมป์หลอดมั๊ย ก็คงตอบว่าชอบ ชอบมากด้วย เสียงของแอมป์หลอดมันมีเสน่ห์ที่แอมป์โซลิดสเตททั่วไป (ย้ำว่าทั่วไปนะครับ) ให้ไม่ได้ แต่ด้วยความยุ่งยากหลายอย่างในการเล่นไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ราคา อะไหล่ การดูแลรักษา ถ้าให้เลือกขอเล่นโซลิดสเตทดีกว่า ยิ่งถ้าชอบ DIY แล้ว โซลิดสเตทประหยัดกว่า สะดวกกว่าเยอะครับ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)