ถิรพันธุ์ เป็งอินตา
อาจารย์ประจำแผนกอิเล็กทรอนิกส์วิทยาลัยสารพัดช่างลำปาง
ทุกวันนี้การเล่นเครื่องเสียงกับคอมพิวเตอร์นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก คอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้เป็น Source หรือแหล่งกำเนิดสัญญาณแทนเครื่องเล่น CD หรือ DVD ไปแล้ว มีเงินสองหมื่นจะซื้อเครื่องเล่น CD หรือซื้อคอมพิวเตอร์ Laptop(คนไทยนิยมเรียก Notebook)มาเป็นแหล่งสัญญาณดี เปรียบเทียบในเรื่องคุณภาพเสียงแล้ว เครื่องเล่น CD แบบเพียวๆได้เปรียบกว่า เสียงดีกว่าแน่นอน แต่การใช้งานแบบอเนกประสงค์คอมพิวเตอร์จะคุ้มค่ากว่า ในเรื่องของคุณภาพสียง คอมพิวเตอร์สามารถเลือกใช้โปรแกรมต่างๆเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพของเสียงได้ หรือนำไปต่อกับอุปกรณ์ภายนอกเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของเสียงเช่น DAC หลายท่านอาจจะแย้งว่าเครื่องเล่น CD ก็ทำได้ต่อ DAC ภายนอก ใช่ครับทำได้แต่เครื่องเล่น CD คงไม่สามารถดาวน์โหลดเพลงมาฟังได้ ต้องใช้แผ่น CD เท่านั้น ซึ่งนับวันแผ่นก็เริ่มหายากแล้ว การฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งก็มาแรงขึ้นทุกวัน เครื่องเล่น CD ก็จะกลายเป็นเครื่องวินเทจไปในไม่ช้า
ข้อด้อยของเครื่องเล่น CD ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ก็คือการเล่นแผ่น แผ่นจะต้องหมุนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้หัวอ่านอ่านข้อมูลที่อยู่ในแผ่น ซึ่งถ้ามีแรงสั่นสะเทือนไปกระทบที่ตัวเครื่องเล่นจะทำให้การอ่านข้อมูลเกิดการผิดเพี้ยนได้ ดังนั้นเครื่องเล่น CD ระดับไฮเอนด์ทั้งหลายจึงพยายามทำเครื่องให้มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากเพื่อป้องกันแรงสั่นสะเทือนจากภายนอกไปรบกวนการทำงานขอเครื่อง แต่แรงสั่นสะเทือนนี้ไม่ได้เกิดจากภายนอกเท่านั้น การที่เครื่องหมุนแผ่นจะเกิดการเคลื่อนไหวทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนจากภายในขึ้นอีก ต่อให้กลไกหมุนแผ่นจะมีความเที่ยงตรงขนาดไหนก็ยังมีแรงสั่นสะเทือนอยู่ดี มีการเคลื่อนไหวย่อมต้องมีแรงสั่นสะเทือน
วิธีแก้ไขง่ายๆในยุคปัจจุบันนี้ก็คือเก็บข้อมูล(เพลง)ไว้ในที่เก็บข้อมูลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเวลาทำงานเช่น Flash Drive หรือ External Hard Disc แบบ Solidstate แล้วนำไปเปิดในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่น CD ที่มีช่องเสียบแบบ USB แทน ข้อมูลเพลงที่นำมาเก็บนี้ถ้าเอามาจาก Mastering ที่ใช้ทำแผ่น CD จะได้คุณภาพเสียงสูงสุด แต่ถ้าเอาข้อมูลมาจากการ RIP จากแผ่น CD คุณภาพเสียงก็อาจจะลดลงไปบ้าง ขึ้นอยู่กับโปรแกรม RIP
หน้าที่ของ DAC
การบันทึกเสียงในปัจจุบันจะบันทึกเสียงในระบบดิจิตอลซึ่งจะมีระดับสัญญาณเพียงสองระดับคือไม่มีรงดัน(0) และมีแรงดัน(1)เท่านั้น เมื่อสัญญาณเสียงซึ่งเป็นสัญญาณอนาล็อคถูกแปลงให้เป็น 0 กับ 1 แล้วบันทึก(Record)ลงในฟอร์แมทต่างๆเช่นแผ่น CD หรือ DVD เวลาจะเล่นกลับ(Playback) จะต้องทำการแปลงรหัส 0 กับ 1 ให้มาเป็นสัญญาณเสียงหรือสัญญาณอนาล็อคเหมือนตอนก่อนบันทึก อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตอลให้กลับมาเป็นอนาล็อคเหมือนเดิมก็คือ DAC นั่นเอง
DAC หรือ Digital to Analog Converter เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่ในเครื่องเล่น CD หรือคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตอลที่ถูกบันทึกมาให้เป็นสัญญาณอนาล็อคหรือสัญญาณเสียงนั่นเอง คุณภาพของเสียงส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของ DAC นี้ ในระดับราคาที่เท่ากัน คุณภาพเสียงของ DAC ในคอมพิวเตอร์ย่อมจะสู้เครื่องเล่น CD ไม่ได้เพราะคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่หลายอย่าง มีส่วนประกอบหลายอย่าง ต้นทุนในส่วนของ DAC ภายในเครื่องจึงต่ำ คุณภาพเสียงจึงไม่ดีเท่าที่ควร ไม่เหมือนเครื่องเล่น CD ที่ทำหน้าที่เล่นเพลงอย่างเดียว ต้นทุนของ DAC มีมากกว่าสามารถใช้อุปกรณ์ที่ดีกว่า คุณภาพเสียงจึงดีกว่า
ถ้าต้องการให้คอมพิวเตอร์มีคุณภาพเสียงดีเหมือนเครื่องเล่น CD จะต้องใช้ External DAC ต่อเพิ่มเข้าไป เหมือนกับเอาเครื่องเล่น CD ทั่วไปไปต่อกับ DAC ภายนอกเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงดีขึ้นนั่นเอง แต่คอมพิวเตอร์นอกจากจะนำ DAC ภายนอกมาต่อใช้งานแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงมาให้เล่นอีกหลายโปรแกรมด้วยกัน ลองมาหา DAC ใส่คอมพิวเตอร์เพื่อให้เป็นคอมพิวเตอร์ไฮไฟกันดีกว่าครับ
มาดูหลักการการทำงานแบบง่ายๆของเครื่องเล่น CD ก่อน เพื่อจะดูว่าเจ้าตัว DAC นั้นอยู่ในส่วนไหนภายในเครื่องเล่น ดูรูปที่ 1 ประกอบ
รูปที่ 1 เป็นบล็อกไดอะแกรมของเครื่องเล่น CD ทั่วไป
จากรูปที่ 1 เป็นบล็อกไดอะแกรมการทำงานของเครื่องเล่น CD ตัว Transport จะเป็นกลไกตัวขับเคลื่อนแผ่น CD เพื่อให้หัวอ่านอ่านข้อมูลในแผ่น ตัว Control จะทำหน้าที่ควบคุมการหมุนของแผ่นให้ตรงกับหัวอ่านเพื่อให้อ่านสัญญาณดิจิตอลที่บันทึกมาได้อย่างถูกต้อง สองส่วนนี้ถ้าเป็นเครื่องแบบไฮเอนด์จะแยกออกมาต่างหากเรียกว่าเครื่อง Transport ส่วนอีกสามส่วนที่เหลือก็จะเป็นเครื่อง DAC ไป
สัญญาณที่ออกมาจาก Transport จะเรียกว่าสัญญาณ S/PDIF(Sony Philips Digital Interfacce Format)ซึ่งเป็นสัญญาณดิจิตอลที่ได้มาจากหัวอ่าน สัญญาณนี้เป็นมาตรฐานที่ถูกคิดค้นโดยความร่วมมือของบริษัท Sony และ Philips เพื่อให้เป็นมาตราฐานเดียวทั่วโลก สามารถใช้แผ่น CD แผ่นเดียวเล่นกับเครื่องเล่น CD ได้ทั่วโลก(ไม่ให้เหมือนเครื่องเล่นวีดีโอเทปในอดีตที่มีสองรูปแบบคือ VHS ของ JVC และ Betamax ของ Sony ที่บริษัทก็แข่งกันขาย ผู้ใช้ก็ต้องเลือกใช้งาน)
สัญญาณ S/PDIF นี้จะถูกส่งไปยัง DAC เพื่อถอดรหัสสัญญาณอนาล็อกออกจากสัญญาณ S/PDIF จากนั้นสัญญาณเสียงพร้อมกับสัญญาณสุ่ม(Sampling)จะถูกส่งไปยัง LPF(Low Pass Filter)หรือวงจรกรองความถี่ต่ำผ่าน เพื่อกรองเอาความถี่ Sampling ที่มีความถี่สูงออกไป เหลือไว้แต่สัญญาณเสียงซึ่งมีความถี่ต่ำกว่าผ่านออกมาแล้วส่งให้ภาค Line Amp เพื่อขยายสัญญาณให้มีความแรงเหมาะสมกับเครื่องขยายเสียงต่อไป
นี่คือหลักการทำงานแบบคร่าวๆของเครื่องเล่น CD (ถ้าเอาให้ละเอียดกว่านี้เดี๋ยวจะงง) สำหรับจุด S/PDIF ถ้าเป็นเครื่องเล่นราคาถูกมักจะไม่มีจุดนี้มาให้ แต่ถ้าเครื่องพอมีระดับขึ้นมาก็จะมีอยู่หลังเครื่องเล่น ซึ่งจุดนี้จะมีสองแบบคือ Coaxial(RCA)ส่งสัญญาณในรูปแบบไฟฟ้าผ่านสายแบบ Coaxial และแบบ Optical(Toslink)ที่ส่งสัญญาณแบบแสงผ่านเส้นใยแก้วนำแสง(Fiber Optic) จุดนี้เป็นจุดที่นำไปต่อกับ DAC ภายนอกสำหรับเครื่องเล่น CD ครับ
รูปที่ 2 ช่องสัญญาณ S/PDIF แบบ Optical และ Coaxial
สำหรับคอมพิวเตอร์ก็นำ DAC ต่อเข้าที่ช่อง USB ก็สามารถใช้งานได้แล้วครับ เพราะ DAC บางรุ่นไม่ต้องลงไดรเวอร์ เสียบเข้าไปแล้วตั้งค่าในโปรแกรมฟังเพลงก็ใช้งานได้เลย ไฟเลี้ยงตัว DAC ก็ใช้แรงดันไฟ 5 V จากช่อง USB นั่นแหละครับ ไม่ต้องต่อไฟเลี้ยงภายนอก(รุ่นที่มีราคาแพงต้องใช้ไฟเลี้ยงภายนอก)
รูปที่ 3 ช่องสัญญาณแบบ USB ในคอมพิวเตอร์ Laptop
สเปคของ DAC Board
ต่อไปก็ต้องมองหา DAC ที่จะนำมาใช้งาน ตามวิธีการของผู้เขียนแล้วต้องคุณภาพดี ราคาไม่สูง เสาะหาข้อมูลจนได้สเปคที่ถือว่าใช้ได้มาเครื่องหนึ่ง(น่าจะเรียกว่าแผ่นหนึ่ง) จึงได้สั่งซื้อมาลองดู DAC รูปร่างหน้าตาดังรูปที่ 4
รูปที่ 4 DAC คุณภาพดี ราคาประหยัด
รูปที่ 4 เป็นแผ่นบอร์ดของ DAC รุ่นที่สั่งซื้อมาลอง สเปคมีดังนี้
Programme: SA9027 + ES9023 12M active crystal, two 1117 voltage regulator chips are to SA9027 and ES9023 power supply, improve quality and SNR MAX sampling rate 24BIT / 96KHZ working in asynchronous mode Parameters: Supply voltage: 5 V (USB powered), THD + N: <0.006% (RL = 10 kΩ) SNR:> 95 dB Dynamic range:> 95 dB USB support sample rates: 16-24BIT / 32-96KHZ USB Support System: WIN7 / WIN8 (not support android) |
ตัวนี้คือใช้เลือก IC USB Interface เบอร์ SA9027 ที่รองรับได้ถึง 32 Bit Sampling Rate 96 KHz(สเปคของ IC เบอร์นี้) เป็นตัวรับสัญญาณ S/PDIF จากคอมพิวเตอร์แล้วแยก สัญญาณออกเป็น 4 สัญญาณ(SCLK , LRCK , SDATA , MCLK)ส่งให้ IC DAC ซึ่งในส่วนของ IC DAC วงจรนี้เลือกใช้เบอร์ ES9023 ของ Zabre ซึ่งชื่อชั้นก็สูสีกับ Burr-Brown เป็นตัวถอดรหัสสัญญาณเสียง ICเบอร์นี้สามารถรับ Sampling Rate ได้ถึง 200 KHz แต่เมื่อมาใช้ร่วมกันกับ SA9027 สเปคของบอร์ดนี้ก็เหลือเพียง 24Bit/96KHz ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเพียงพอแล้ว
เพราะว่าไฟล์เพลงที่มาจากแผ่น CD ต่อให้เป็นแผ่น Audiophile ก็ยังเป็น 16Bit/44.1KHz อยู่ดี ส่วนไฟล์ Hi-Res ที่บอกว่า 24Bit/192KHz นั้น ไฟล์มันเป็น 24Bit/192KHz จริงตั้งแต่บันทึกมาหรือเปล่าหรือว่าใช้ 16Bit/44.1KHz มา Up Bit มา Up Sampling ทีหลังแล้วบอกว่าเป็น Hi-Res ซึ่งคุณภาพเสียงของมันก็ 16Bit/44.1KHz เหมือนต้นฉบับที่นำบันทึกนั่นแหละครับ และส่วนใหญ่ไฟล์ Hi-Res ที่ลงให้ดาวน์โหลดกันจะเป็นแบบนี้เยอะพอสมควรครับ โ
หมดการทำงานของบอร์ดตัวนี้เป็นแบบ Asynchronous คือจะทำหน้าที่กำหนดจังหวะการทำงานของ DAC โดยควบคุมให้คอมพิวเตอร์ต้องทำงานตามจังหวะClock ของ DAC ซึ่งทำให้มีความแม่นยำในการทำงานสูง ลดสัญญาณรบกวนและ Jitter ลงมากกว่าการทำงานตามสัญญาณ Colck ในคอมพิวเตอร์
สเปคข้ออื่นๆก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ใช้แหล่งจ่ายไฟ 5V จากช่อง USB เลยไม่ต้องหาภาคจ่ายไฟเพิ่ม
ค่าความเพี้ยนกับสัญญาณรบกวน THD + N น้อยกว่า 0.006% ที่ RL = 10 kΩ ค่าความเพี้ยนนี้จะวัดขณะต่อกับโหลด 10 kΩ ซึ่งโหลดนี้ก็คือค่าอินพุทอิมพีแดนซ์ของแอมป์ที่นำมาต่อ โดยปกติแล้วค่านี้ของแอมป์ต่ำสุดจะอยู่ที่ 22 kΩ แสดงว่าเมื่อนำไปต่อใช้งานจริงความเพี้ยนจะต่ำกว่า 0.006 ลงไปอีก ค่า SNR(Signal to Noise Ratio) หรือค่าอัตราส่วนต่อสัญญาณรบกวนมากกว่า 95dB อยู่ในขั้นดี ค่า Dynamic range มากกว่า 95dB ถือว่าดี ค่านี้คือค่าการสวิงระดับสัญญาณเสียงจากต่ำสุดไปสูงสุดโดยไม่ผิดเพี้ยน ค่านี้ยิ่งมากยิ่งดี ยิ่งมาก Dynamic range ยิ่งกว้าง
สเปคสุดท้ายรองรับ Windows7 และ 8 ไม่รองรับ Andriod นั่นหมายความว่า DAC ตัวนี้นำไปดัดแปลงใช้งานกับโทรศัพท์มือถือไม่ได้ะ DAC ตัวนี้เล่นได้กับสัญญาณแบบ PCM เท่านั้น สัญญาณแบบ DSD ไม่รองรับครับ (ถ้าต้องการเล่น DSD ผ่าน DAC ตัวนี้ก็ต้องใช้โปรแกรมช่วย) เพิ่มเติมอีกข้อ IC ES9023 นั้นสามารถให้เอาท์พุทได้สูงสุดถึง 2Vrms นั่นหมายความว่ามันสามารถนำไปขับเพาเวอร์แอมป์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านปรีแอมป์ก็ได้ครับ
การนำไปใช้งานก็ไม่ยาก แค่นำสาย USB แบบหัวด้านหนึ่งเป็น Type A อีกด้านเป็น Type B โดยให้ Type B ต่อกับตัวบอร์ด DAC ส่วนด้านที่เป็น Type A ต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ รูปร่างของสายแสดงในรูปที่ 5 ให้เลือกใช้แบบสั้นเพื่อการสูญเสียในสายให้น้อยที่สุด ใช้สายธรรมดาลองเสียงดูก่อนถ้าถูกใจค่อยเปลี่ยนไปใช้สายดีๆ ถ้าหาแบบสั้นไม่ได้ก็ใช้แบบยาว(1.8 เมตร) บอกร้านว่าสายปริ้นเตอร์ ส่วนอีกด้านของ DAC จะเป็นช่อง Audio Output แบบ RCA ก็นำไปต่อเข้ากับแอมป์ แต่ยังฟังไม่ได้ต้องลงโปรแกรมฟังเพลงก่อน
รูปที่ 5 สาย USB หัว Type B และ Type A แบบสั้น
โปรแกรมที่ใช้ฟังเพลง
ก็มีหลายโปรแกรมเช่น Foobar หรือ JRiver (เสียงดีกว่า) ในที่นี้ขอแนะนำให้ลองใช้ Foobar ไปก่อน เพราะเป็นโปรแกรมฟรี ดาวน์โหลดง่าย เปิดไฟล์แล้วทำการตั้งค่าโดยไปที่ File>Preferences>Playback>Output เลือกอุปกรณ์ DAC ที่ช่อง Device เลือก Bravo-X USB Audio(ชื่อของ DACตัวนี้) แล้วกด OK แค่นี้คุณก็ได้ฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ผ่าน DAC แล้ว
ส่วนตัวของผู้เขียนนั้นจะใช้โปรแกรม JRiver Media Center(เสียเงิน แนะนำให้หาตัวทดลองใช้30วันมาฟังก่อน) การตั้งค่าก็เปิดโปรแกรม ไปที่ Tool>Option>Default Audio Device>More> Bravo-X USB Audio(Kernel Streaming) กด OK เป็นอันเสร็จสิ้นการตั้งค่า(รูปที่ 6) การฟังเพลงก็ไปที่ File>Open Media File>เลือกเพลงหรืออัลบัมเพลง>Open ฟังเพลงได้เลย รายชื่อเพลงจะอยู่ด้านล่าง อยากฟังเพลงไหนก็คลิ๊กที่ชื่อเพลง ถ้าอัลบัมเพลงที่โหลดมามีรูปหน้าปกอัลบัมโปรแกรมนี้ก็จะลงรูปให้ด้วย(รูปที่ 7)
รูปที่ 6 หน้าตาของ JRiver Media Center 22และการตั้งค่า
รูปที่ 7 รายชื่อเพลงและหน้าปกอัลบัมที่เปิดฟัง
เนื่องจาก DAC ตัวนี้ได้เป็นแบบ PCM ไม่สามารถเล่นสัญญาณแบบ DSD ได้ แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ JRiver Media Center 22 แค่เปิดไฟล์เพลงแบบ DSD ลงไป โปรแกรมก็จะถามว่าการ Playback มีปัญหา จะเล่นแบบ 96KHz 2 CH หรือไม่ (รูปที่ 8 โปรแกรมมันตรวจสอบ Samplig Rate ของ DAC ที่นำไปต่อด้วย) กด OK เท่านี้ก็สามารถเล่นเพลง DSD ผ่าน DAC แบบ PCM ได้แล้วครับ
วิธีนี้ไม่ใช่การรับฟังแบบ DSD โดยตรงนะครับ มันแค่เป็นการแปลงสัญญาณแบบ DSD ไปเป็น PCM เพื่อให้เล่นกับ DAC แบบ PCM ได้เท่านั้น คุณภาพเสียงส่วนตัวผู้เขียนว่าดีขึ้น แต่ยังไม่ไช่การรับฟังเสียงแบบ DSD แท้ๆ คงต้องหา DAC ที่เล่นได้ทั้ง PCM และ DSD มาลอง ซึ่งราคาของ DAC ที่เล่น DSD ได้ยังสูงกว่าแบบ PCM อย่างเดียวพอสมควร
รูปที่ 8 เมื่อโหลดเพลง DSD มาลง โปรแกรม JRM22 จะถาม กด OK ก็สามารถฟังเพลงผ่าน DAC แบบ PCM ได้
นี่เป็นเพียงรายละเอียดการตั้งค่าเพื่อฟังเพลงแบบง่ายนะครับ รายละเอียดการตั้งค่าเพื่อให้เสียงดีที่สุดของแต่ละโปรแกรมยังมีอีก ค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทเพิ่มเติมแล้วลองทำเองได้ครับ เมื่อลงโปรแกรม ตั้งค่าแล้วทดลองฟังผ่าน DAC แล้ว ถ้าท่านชอบเสียงของมันก็มาทำให้จบโดยการหากล่องมาใส่ ทำเองง่ายๆครับ โดยใช้อุปกรณ์ดังนี้
- แผ่นอะครีลิคใสหนา 3 มิลลิเมตรขนาด 5.5×7.5 เซนติเมตร จำนวน 1 แผ่น
- แผ่นวงจรพิมพ์(แผ่นปริ้นท์)ขนาด 5.5×7.5 เซนติเมตร จำนวน 1 แผ่น(ถ้าหาไม่ได้ให้ใช้แผ่นอะครีลิคใสแทน)
- สกรูเกลียวละเอียดขนาด 1 นิ้วตัวผู้ 4 ตัว ตัวเมีย 20 ตัว
- ดอกสว่านขนาด 4 มิลลิเมตร
- สายไฟขนาด 1-1.5 มิลลิเมตรยาว 2 นิ้วพร้อมหางปลา
- สว่านไฟฟ้า หัวแร้งไฟฟ้า ตะกั่ว ไขควงแฉก คีมปากจิ้งจก
วิธีการสร้าง
รูปที่ 9 วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำกล่อง
1. นำแผ่นปริ้นท์และแผ่นอะคลีลิคมาเจาะรูให้มีขนาดเท่ากันและตรงกันกับบอร์ด DAC สาเหตุที่ใช้แผ่นปริ้นท์ก็เพราะจะใช้แผ่นด้านที่เป็นแผ่นทองแดงทำเป็นกราวด์เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน ถ้าไม่มีก็ใช้แผ่นอะครีลิคแทนก็ได้ เท่าที่ทดลองโดยไม่ต่อแผ่นกราวด์ก็ไม่มีสัญญาณรบกวนให้ได้ยิน แต่ใส่ไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นการป้องกันไว้ก่อน
รูปที่ 10 รูปที่ 11
2. นำสายไฟมาใส่หางปลา(รูปที่ 10) แล้วนำไปบัดกรีเข้าที่จุดกราวด์ของบอร์ด DAC (รูปที่ 11)
รูปที่ 12 รูปที่ 13
3. นำสกรูเกลียวละเอียดยึดติดกับแผ่นอะคลีลิคใสที่เจาะรูแล้วตามรูปที่ 12 จากนั้นนำบอร์ด DAC คว่ำเอาด้านบนลงแล้วยึดหางปลาที่ต่อกับจุดกราวด์เข้ากับสกรูที่ยึดแผ่นบอร์ด DAC ตามรูปที่ 13
รูปที่ 14 การยึดสกรูเมื่อมองจากด้านข้าง รูปที่ 15 DAC ที่ลงกล่องเรียบร้อยแล้ว
4. นำแผ่นปริ้นท์มายึดกับแผ่นบอร์ด DAC โดยหงายด้านที่เป็นทองแดงเข้าหาแผ่นบอร์ด DAC เป็นอันเสร็จสิ้นการทำกล่องใส่ ซึ่งดูแล้วน่าจะเรียกว่าแผ่นป้องกันมากกว่ากล่อง
เรียบร้อยครับสำหรับการหา DAC และทำกล่องใส่ เพื่อนำมาปรับปรุงคอมพิวเตอร์ให้เป็นคอมพิวเตอร์ HI FI คุณภาพเสียงเมื่อเปรียบเทียบกับ DAC ภายในคอมพิวเตอร์ถือว่าดีขึ้นอย่างฟังได้ชัดเลยครับ ดีขึ้นยังไง ต้องลองครับ หาซื้อบอร์ด DAC ได้ที่ไหน? Google ครับ พิมพ์ SA9027+ES9023 DAC Board เท่านี้ก็มีให้เลือกซื้อเยอะแยะครับ
ก่อนจบเกือบลืมบอกสิ่งสำคัญสองอย่างของบอร์ด DAC รุ่นนี้คือ อย่างแรก IC เบอร์ CS9023 ที่เป็นตัวเปลี่ยนสัญญาณดิจิตอลเป็นอนาล็อคนั้นเป็นเบอร์เดียวกับที่ใช้ใน DAC แมลงปอดำรุ่นแรก อย่างที่สองบอร์ด DAC รุ่นนี้มีราคาไม่ถึง 20 เหรียญหรือไม่ถึง 700 บาทครับ สวัสดีครับ