What HI-FI? Thailand

DALI SPEKTOR 1 ลำโพงเล็กพริกขี้หนูจากเดนมาร์ค

DAWN NATHONG

Specktor 1 : Ultra-compact speaker

เทคโนโลยีด้านวัสดุในปัจจุบันนี้ ทำให้นักเล่นได้มีโอกาสสัมผัสกับคุณภาพเสียงที่ดีในราคาไม่แพงกันมากขึ้น อย่างลำโพงวางหิ้งตัวเล็กในระดับราคาไม่เกินหมื่นกลางเมื่อสิบปีที่แล้ว หากนำมาเทียบกับลำโพงวางหิ้งระดับเริ่มต้นไม่เกินหมื่นในปัจจุบันนี้ หลาย ๆ ตัวให้คุณภาพเสียงดีกว่าลำโพงยุคเก่าพอสมควรเลยทีเดียว ทั้งในแง่ความเที่ยงตรงของเสียง รายละเอียด รวมถึงมิติเวทีเสียง

        Dali ผู้ผลิตลำโพงชื่อดังจากเดนมาร์ค ซึ่งปัจจุบันมีไลน์การผลิตลำโพงออกมามากมายหลายรุ่น ก็มีลำโพงวางหิ้งไซส์คอมแพ็คระดับเริ่มต้นที่น่าสนใจอย่าง Spektor 1 ด้วยเหตุที่ค่ายนี้เขาเก่งเรื่องการทำลำโพงเล็กให้เสียงดีมานานหลายสิบปีแล้ว อย่างรุ่น Royal Menuet ซึ่งเป็นลำโพงไซส์เล็กจอมมิติที่ครบเครื่องเกินตัว และยังคงมีการปรับปรุงคุณภาพจากรุ่นสู่รุ่นและวางจำหน่ายอยู่จนถึงปัจจุบัน

        จุดเด่นของลำโพงบริษัท Dali คือการผลิตไดร์เวอร์เองทั้งหมด ทำให้สามารถออกแบบลำโพงแต่ละรุ่นให้ตรงสเปคกับความต้องการของดีไซน์เนอร์ได้อย่างละเอียด สังเกตว่าไดร์เวอร์ของ Dali แทบทุกอนุกรมดูเผิน ๆ จะมีความคล้ายคลึงกัน ใช้ทวีตเตอร์ซอฟท์โดม (Soft Textile Dome) และวูฟเฟอร์กรวยกระดาษผสมเยื่อไม้ (Wood Fiber Cone) เป็นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุกรมระดับเริ่มต้นไปจนถึงอนุกรมรุ่นเรือธง อาจจะแตกต่างกันไปในด้านเทคนิคและวัสดุ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยตามพื้นฐานของระดับราคา แสดงให้เห็นว่าทาง Dali เองก็มั่นใจในคุณภาพของไดร์เวอร์ตัวเองอยู่ไม่น้อย

        สำหรับอนุกรม Spektor นั้นเป็นรุ่นเล็กสุดของกลุ่มลำโพงแบบโฮมยูส รองลงมาจากอนุกรม Zensor มีด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่นได้แก่ลำโพงตั้งพื้น Spektor 6, ลำโพงวางหิ้ง Spektor 2 และ Spektor 1 รวมถึงลำโพงเซ็นเตอร์ Spektor Vokal

รายละเอียดที่น่าสนใจ

จุดขายของลำโพง Dali รุ่น Spektor อันดับแรกอยู่ที่การเป็นลำโพงเล่นง่าย ไม่เรื่องมาก เป็นมิตรกับแอมปลิฟายเออร์ทั่วไปได้หมด รวมถึงการนำไปใช้งานร่วมกับเอวีรีซีฟเวอร์เพื่อการชมภาพยนตร์ รวมถึงไม่มีปัญหากับการจัดวางในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มากจนเกินไป และยังคงรักษาสมดุลกับการถ่ายทอดน้ำเสียงแบบออดิโอไฟล์ออกมาได้ดี เห็นคอนเซปต์การออกแบบกับลำโพงราคาระดับเริ่มต้นแบบนี้แล้ว หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมองค์ความรู้มานาน รวมถึงมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิต คงยากจะทำให้ได้มาตรฐานแบบนี้

WOOD FIBER CONES

ตัวไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์ผลิตจากเม็ดกระดาษผสมกับเยื่อไม้ ทำให้พื้นผิวหน้ามีความขรุขระไม่เรียบซึ่งช่วยลดเรโซแนนท์ส่วนเกินลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ลดการสูญเสียรายละเอียดแผ่วเบาของสัญญาณเสียง แถมยังมีน้ำหนักเบาผสานกับความแข็งแรงคงรูปได้ดี แม้กระทั่งตัวขอบยางและสไปเดอร์ลำโพง ก็ยังมีส่วนช่วยในการเสริมประสิทธิภาพการถ่ายทอดรายละเอียดระดับไมโครดีเทล

SOFT DOME TWEETER

ทวีตเตอร์ซอฟท์โดมของ Dali ถือว่าไม่แพ้ใครในเรื่องการถ่ายทอดรายละเอียดและการตอบสนองย่านความถี่สูง ทั้งยังให้มุมกระจายเสียงที่กว้างขวางและมีสีสันปนเปื้อนในเนื้อเสียงต่ำ เป็นทวีตเตอร์โดมผ้าไหมที่ถักทอจากเส้นใยไหมที่มีน้ำหนักเบามากเป็นพิเศษ ซึ่งหากเทียบน้ำหนักมวลกับทวีตเตอร์ซอฟท์โดมทั่วไปแล้ว ของ Dali มีน้ำหนักเบากว่าครึ่งนึงเลยทีเดียว ราว 0.056 มิลลิกรัมต่อตารางมิลล์ แต่เรื่องความแข็งแรงไม่เป็นรองใคร ซึ่งทาง Dali การันตีเรื่องไร้อาการเบรคอัพตลอดช่วงความถี่สูง

LOW SIGNAL LOSS

ผลของการออกแบบไดร์เวอร์เองทั้งหมด ทำให้ Spektor 1 ไม่จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คที่ซับซ้อน มาแก้ปัญหาการตอบสนองความถี่ รวมถึงเลือกอุปกรณ์แบบคัดเกรดอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจว่า ลดการสูญเสียของสัญญาณลงได้มากที่สุดเกือบเท่าศูนย์

        ตัวลำโพง Spektor 1 มีขนาดกะทัดรัดมาก เล็กกว่าที่คาดวางบนฝ่ามือได้เลย ใช้วูฟเฟอร์ Wood Fiber Cone ขนาดสี่นิ้วครึ่ง กับทวีตเตอร์ Soft Textile Dome ขนาด 21 มม. แผงรอบตัวทวีตเตอร์ทำเป็นทรงปากแตรและมีการเซาะร่องคล้ายร่างแหที่ผ่านการคำนวนมาอย่างดีเพื่อช่วยด้านการกระจายเสียง แผงหน้ามีก่รบุหนังเทียมสีดำตัดกับสีวิเนียร์ของตู้ที่เป็นสีไม้วอลนัตสวยงามทีเดียว งานประกอบละเอียดเนี้ยบไม่มีตำหนิกวนใจ

ด้านหลังมีท่อเบสรีเฟลกต่ำลงมากว่าแนวทวีตเตอร์เล็กน้อย สังเกตว่าใช้พลาสติกเกรดดีเลยแข็งแรงมาก พื้นผิวมีความราบลื่นสม่ำเสมอตั้งแต่ปากท่อจนถึงปลายด้านในตู้ลำโพง (ลำโพงราคาถูกบางรุ่นท่อด้านในใช้กระดาษแข็ง) ส่งผลในแง่ความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านท่อ ถัดลงมาเป็นขั้วต่อสายลำโพงซิงไบดิ้งโพสต์แบบเกิ้ลไวร์เกรดสูง

การติดตั้งและเซ็ตอัพ

Spektor 1 เป็นลำโพงที่เซ็ตง่ายและไม่จุกจิกในเรื่องตำแหน่งการจัดวางตามที่ทางบริษัทผู้ผลิตเคลมไว้ ใช้เวลาไม่นานก็สามารถหาตำแหน่งที่ลงตัวในห้องฟังได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือหากวางบนขาตั้งลำโพงทั้วไปควรจะมีความสูงอย่างต่ำ 24 นิ้ว ใช้ปุ่มยางที่แถมมากับลำโพงรองคั่นระหว่างขาตั้ง และควรวางตำแหน่งหน้าลำโพงให้เสมอเพลตด้านหน้าของขาตั้ง ก็จะให้ผลลัพท์ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ตัวลำโพงไม่จำเป็นต้องอาศัยการโทอินเข้าช่วยมากนัก เนื่องจากออกแบบให้มุมกระจายเสียงกว้างอยู่แล้ว ท่านอาจลองวางหน้าตรงเปรียบเทียบกับการโทอินดู แนะนำว่าถ้าวางลำโพงห่างกันเกิน 180 เซนติเมตร อาจโทอินช่วยสัก 5-10 องศาก็เพียงพอ

ส่วนการเลือกจับคู่กับแอมปลิฟายเออร์ แม้ Spektor 1 จะมีความไวเพียง 83 ดีบี แต่ไม่ได้ต้องการแอมป์กำลังวัตต์สูง ๆ แต่อย่างใด อินทิเกรตแอมป์คุณภาพดีสัก 60 วัตต์ขึ้นไปก็สามารถขับออกมาได้น้ำได้เนื้อแล้ว

ด้านโทนเสียงก็ถือว่าเข้ากันได้ดีไม่ว่าจะขับด้วยแอมป์โซลิตสเตท หรือแอมป์หลอดสุญญากาศ และไม่ควรใช้สายลำโพงที่มีหน้าตัดใหญ่มากนัก (เกิน 10 AWG) กับลำโพงคู่นี้ เสียงจะมีอาการตึง ขาดความพลิ้ว

ผลการลองฟัง

แรกแกะกล่องเริ่มฟังกันเลย ดุลเสียงจะค่อนไปทางกลางแหลมที่สว่างเล็กน้อย แต่สัมผัสได้ถึงรายละเอียดของย่านแหลมที่เป็นประกายระยิบระยับดีทีเดียว เรียกว่ามีแววดีตั้งแต่เริ่ม หลังจากทำการเบิรืนอินต่อเนื่องไปร่วมหนึ่งร้อยชั่วโมง สมดุลเสียงย่านกลางแหลม ก็กลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น บาล้านซ์กับย่านต่ำได้ลงตัว

        สมดุลเสียงทั้งสามย่านมีระดับใกล้เคียงกัน ย่านกลางแหลมมีปริมาณมากกว่าย่านทุ้มเล็กน้อยตามประสาลำโพงไซส์คอมแพ็ค มีความเปิดโปร่งของเสียงที่ดี แต่ยังคงให้โทนเสียงที่ไม่สว่างมากจนเกินไปนัก ทำให้สามารถรับฟังกับแนวเพลงที่หลากหลายได้อย่างสบายหู อีกทั้งยังให้มวลเสียงที่เป็นตัวตนดีมากไม่บอบบบาง โดยเฉพาะย่านกลางแหลมจนถึงทุ้มต้น

ส่วนย่านทุ้มกลางลงถึงทุ้มต่ำมวลเสียงจะบางลงไปตามสัดส่วนของปริมาตรตู้และวูฟเฟอร์ที่ตอบสนองได้ ต้องขอชมที่ Spektor 1 ให้การไล่ระดับปริมาณเสียงทุ้มที่ลดหลั่นลงไปได้อย่างราบรื่น ไม่ได้ห้วนหายสั้นไปเลยเสียหมด คือให้มวลและน้ำหนักเสียงย่านทุ้มต้นได้น่าพึงพอใจ ส่วนทุ้มกลางถึงต่ำแม้จะอ่อนปริมาณลง แต่ยังคงได้ยินแม้จะแผ่วเบาไปจนสุดหางเสียง รับฟังกับแนวเพลงทั่วไปได้อย่างสบาย ไม่ขาดแคลนเสียงต่ำแน่นอน

        ย่านกลางแหลมนอกจากมวลเสียงแล้วยังให้รายละเอียดหยุมหยิมได้น้อง ๆ ลำโพงที่มีราคาสูงกว่า มีเกรนเสียงที่ละเอียดน่าพอใจไม่มีความแข็งกระด้างมาให้ระคายหู เพราะหากเป็นเช่นนั้นคงเรียกไม่ได้เต็มปากว่าเป็นลำโพงที่รายละเอียดดี ข้อดีในเรื่องของรายละเอียดนี้ Spektor 1 ยังทำได้ดีในช่วงระดับความดังที่กว้างมากเสียด้วย

เวลาทดลองฟังลำโพงคู่นี้ลองบิดโวลุ่มต่ำ ๆ แล้วลองฟังเปรียบเทียบกับตอนบิดโวลุ่มเพิ่มขึ้นสูง จะพบว่ารายละเอียดของเสียงตลอดย่านแหลมจรดทุ้ม ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ถือว่าทำได้โดดเด่นมากสำหรับลำโพงราคานี้ เพราะคุณสมบัติดังกล่าวมักจะพบได้กับลำโพงมอนิเตอร์ราคาสูง ๆ หรือลำโพงวางหิ้งชั้นอ๋องที่ขับด้วยแอมป์วัตต์สูงเสียมากกว่า

Dali Spektor 1 สำแดงออกมาให้รับรู้ได้แบบสบาย ๆ เมื่อขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ 60 วัตต์เท่านั้น ใครที่หาลำโพงเล็กฟังเพลงที่เอาไว้ฟังเป็นแบ็คกราวด์มิวสิคบ้างบางเวลาด้วย น่าสนใจครับ

        ด้านของความฉับพลันหรือแรงปะทะหัวเสียง ลำโพงคู่นี้ก็ทำได้อย่างโดดเด่นในกลุ่มลำโพงระดับเริ่มต้น เสียงเครื่องเคาะต่าง ๆ ให้ทั้งความสดและฉับพลันได้อย่างน่าพึงพอใจ ฟังกับแนวแจ๊สนี่ได้ยินเสียงเครื่องเคาะโลหะ ทั้งสดมีน้ำหนักและมีประกายระยิบระยับเกินตัวทีเดียว ได้ยินหางเสียงของฉาบหรือแฉที่กระเพื่อมเป็นระลอกและค่อย ๆ จางหายไปแบบติดตามได้ตลอด ได้ยินแอมเบี้ยนรอบตัวเสียงอบอวล น่าฟังมาก นี่คือข้อดีของไดร์เวอร์ซึ่งใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบามากแต่มีความแกร่ง คงรูปได้ดี ทำให้รองรับไดนามิกเสียงของดนตรีได้ทุกรูปแบบอย่างมั่นคง

ถ้าว่ากันตามขนาดตัวของลำโพงไซส์คอมแพ็ค ย้อนกลับไปสัก 10 ปีคงยากที่จะหาคู่แข่งในพิกัดเดียวกันเทียบได้ในเรื่องของการตอบสนองไดนามิกที่กว้างขวางเป็นธรรมชาติแบบนี้ แม้กระทั่ง Royal Menuet เวอร์ชั่นแรก ๆ ถ้าวัดเฉพาะในช่วงความถี่ที่ Spektor 1 ตอบสนองได้ดี ด้านไดนามิกนี่ไม่แพ้ลำโพงวูฟเฟอร์ใหญ่กว่าเสียด้วยซ้ำ ลองพิสูจน์ด้วยอัลบั้ม Hope ของ Hugh Masekela แทร็ค Setimela (The Coal Train) ดูว่าเกินตัวจริงไหม

พอพูด Royal Menuet ในแง่ของมิติเวทีเสียง Spektor 1 ก็ไม่ทำให้เสียงชื่อลำโพงเล็กจอมมิติของรุ่นพี่เลย โอ่โถง เปิดกว้างเกินตัวไปมากทีเดียว แถมยังให้เลเยอร์ของชิ้นคนตรีที่ลดหลั่นไปทางด้านลึกได้ดีเสียด้วย ใครที่บอกลำโพงเล็กฟังเพลงคลาสสิคไม่ได้ต้องมาลองคู่นี้

แม้ในแง่การตอบสนองความถี่จะไม่สมบูรณ์ แต่ในแง่ของตำแหน่งชิ้นดนตรีที่ให้โฟกัสชัดเจน แยกแยะตื้นลึกได้ดี ไม่มั่ว รวมถึงรายละเอียดปลายเสียงและไดนามิกที่กว้างขวางเกินตัว ก็ทำให้รับฟังเพลงคลาสสิค หรือบิ๊กแบนด์วงใหญ่ได้อรรถรสอยู่ไม่น้อยเลย เอาเป็นว่าใครงบจำกัดแล้วอยากหาลำโพงเล็กที่ใช้ฟังเพลงคลาสิคได้ด้วย Spektor 1 คือตัวเลือกที่ควรพิจารณา

ช่วงนึงของการทดสอบ มีโอกาสลองจับคู่กับอินทิเกรตแอมป์ Arcam SA10 ราคาประมาณสี่หมื่น ปรากฏว่าน้ำเสียงรายละเอียดเข้ากันดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยเชียว ก็ขอฝากไว้ให้พิจารณากัน

สรุป

แรกเริ่มที่ได้ลำโพงคู่นี้มาทดสอบ สารภาพว่าไม่ได้มีความตื่นเต้นเท่าไรนัก ด้วยขนาดและระดับราคา แต่หลังจากได้ลองฟังแล้วพบว่าเป็นลำโพงอีกคู่ที่มีความน่าสนใจเอามาก ๆ เลยทีเดียว ขับง่าย เป็นมิตรกับแอมป์ทั่วไป มิติดี รายละเอียดดี เนื้อเสียงดี อินทิเกรตแอมป์ระดับเริ่มต้นก็สามารถพลักดันคุณภาพเนื้อ ๆ ของลำโพงคู่นี้ออกมาให้สัมผัสกันได้แล้ว หรือหากจะขยับไปเล่นชุดใหญ่ขึ้นอีกก็ยังไหว

เป็นลำโพงที่ให้ค่าเฉลี่ยของการฟังเพลงแบบออดิโอไฟล์ได้สูงมาก รวมถึงยังฟังเพลงแบบมิวสิคเลิฟเวอร์ได้อย่างน่าพอใจ สำหรับนักเล่นที่เริ่มต้นฟังเพลง อยากหาลำโพงเล็กสักคู่ราคาไม่แรงมาเป็นครู Dali Spektor 1 เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

รายละเอียดเชิงเทคนิค

DALI SPEKTOR 1 SPECS

Product seriesSPEKTOR
Frequency Range (+/-3 dB) [Hz]59 – 26,000 Hz
Sensitivity (2,83 V/1 m) [dB]83.0 dB
Nominal Impedance [ohms]6 ohms
Maximum SPL [dB]103 dB
Recommended Amplifier Power [W]40 – 100 Watt
Crossover Frequency [Hz]2,100 Hz
Crossover Principle2-way
High frequency driver, Quantity1 x 21 mm
High frequency driver, Diaphragm typeSoft Textile Dome
Low frequency driver, Quantity1 x 4,5″
Low frequency driver, Diaphragm typeWood Fibre Cone
Enclosure typeBass Reflex
Bass Reflex Tuning Frequency [Hz]58.0 Hz
Connection InputSingle Wire
Magnetic Shielding
Recommended PlacementShelf or stand
On-Wall
Recommended Distance From Wall [cm]1 – 50 cm
Dimensions (HxWxD) [mm]237 x 140 x 195 mm
Weight [kg]2.6 kg
Accessories IncludedRubber Feet
Manual
Wall Bracket

ขอขอบคุณ บริษัท เอลป้า ชอว์ จำกัด โทร. 02 256 9683 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับทำการทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version