Chord Electronics: Poly โมดูลสตรีมมิ่งไร้สายแห่งอนาคต

0

TEST REPORT

Chord Electronics: Poly Wireless Streaming Module

DAWN NATHONG

ปัจจุบันความนิยมฟังเพลงด้วยอุปกรณ์พกพาอย่างมือถือ แทปเล็ต รวมถึงนักเล่นที่ชอบฟังเพลงผ่านคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ลำพังการฟังเพลงจากฮาร์ดแวร์พื้นฐานดังกล่าวคงตอบโจทย์นักเล่นที่แสวงหาคุณภาพเสียงที่ดีได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากจุดประสงค์ของการใช้งานมิได้ออกแบบมาเพื่อเน้นการฟังเพลงแต่เพียงอย่างเดียว ตลาดอุปกรณ์เสริมสำหรับอัพเกรดคุณภาพเสียงจึงเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว หนึ่งในนั้นคืออุปกรณ์ที่เรียกว่า Dac/Amp เป็นอุปกรณ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพเสียงโดยตรง หน้าที่หลักคือแปลงสัญญาณข้อมูลดิจิตอลให้กลายเป็นอนาล็อคและส่งผ่านไปยังภาคขยายในตัวเข้าสู่หูฟังหรืออุปกรณ์ขยายเสียงอื่น ๆ อื่นที่ใช้ร่วมกันในระบบ ซึ่งคุณภาพเสียงจะดีมากน้อยเพียงไร มีสองปัจจัยหลัก ๆ คือวงจรภาคอนาล็อคเอาท์พุตที่ดี และประสิทธิภาพของชิปแปลงสัญญาณเสียงหรือภาค ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์ ที่อยู่ภายใน

Chord Electronics ประเทศอังกฤษเป็นผู้นำด้านการออกแบบดิจิตอลออดิโอที่มีประสบการณ์ผลิตอุปกรณ์ประเภท ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์ มาไม่น้อยกว่า 20 ปี มีทั้ง Know-how รวมถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ให้กับวงการเครื่องเสียงมามากมาย แนวคิดของ Chord นั้นแตกต่าง เพราะแทนที่จะเลือกวิธีซื้อชิป ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์ สำเร็จรูปจากผู้ผลิตมาใช้เหมือนกับที่แบรนด์ส่วนใหญ่ทำ Chord เลือกที่จะใช้เทคโนโลยี FPGA (อุปกรณ์ลอจิกแบบโปรแกรมได้) โดยการนำโมดูล FPGA ของบริษัท Xilinx ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สำหรับชิปประเภทนี้ มาทำการเขียนโค้ดคำสั่งลงไปเพื่อกำหนดฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ แทน

ร็อบ วัตต์ส (Rob Watts) หัวหน้าทีมวิศวกรของ Chord Electronics กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยี FPGA สามารถทลายข้อจำกัดที่ชิปแด็คมาตรฐานที่ไม่สามารถทำได้ หนึ่งในนั้นคือการจัดการกับความถูกต้องของจังหวะเวลา (Time Domain) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการแสดงลำดับชั้นของเวทีเสียงหรือความเป็นสามมิติของเสียงที่มนุษย์ได้ยิน รวมถึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมแซมปลิ้งเรตสูงจึงให้คุณภาพเสียงดีกว่า การออกแบบ ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการความถี่ (Frequency Domain) เป็นหลักซึ่งชิปแด็คทั่วไปสามารถจัดการได้ แต่กับเรื่องความถูกต้องของจังหวะเวลานั้นมีตัวแปรที่สลับซับซ้อนกว่าหลายเท่า จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์ประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงการเขียนโค้ดดิจิตอลฟิลเตอร์อัลกอริธึ่มที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเรียกว่า WTA (Watts Transient Aligned) เข้ามาจัดการ ดังนั้นเทคโนโลยี FPGA จึงมีความเหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุด

แม้ Chord Electronics จะสร้าง ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์ ที่ใช้เทคโนโลยี FPGA ระดับอ้างอิงอย่าง “DAVE” ซึ่งให้ประสิทธิภาพเหนือชั้นลงสู่ตลาด แต่จอห์น แฟร้งค์ (John Franks) ซีอีโอของ Chord Electronics ก็ยอมรับว่าสินค้าที่สร้างชื่อให้กับบริษัทมากที่สุด และขายดีแบบถล่มทลายทั่วโลก กวาดราววัลมามากมายจนแทบจะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งปีนั้นคือ Dac/Amp ตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อ “Mojo” นั่นเอง ด้วยคุณสมบัติล้ำหน้า Dac/Amp แทบทุกตัวบนท้องตลาดในระดับราคาเดียวกันหรือสูงกว่าเท่าตัว โมดูล FPGA ที่อยู่ภายใน Mojo มีประสิทธิภาพของการประมวลผลสูงกว่าชิปแด็คสำเร็จรูปทั่วไปถึง 500 เท่า รองรับอัตราแซมปลิ้งเรตได้สูงลิบถึง 768kHz ในฟอร์แม็ต PCM และ DSD256 ในฟอร์แมต DSD รวมถึงภาคอนาล็อคเอ้าท์พุตคุณภาพสูงที่มีค่าความต้านทานและค่าความเพี้ยนต่ำสุด ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่การกล่าวอ้างเพียงตัวเลขสวยหรู แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการฟังว่าสามารถถ่ายทอดคุณภาพเสียงของไฮ-เรสไฟล์หรือฟอร์แมต์ซีดีมาตรฐานออกมาให้รับรู้ได้อย่างชัดเจนเป็นธรรมชาติ

หลังจาก Dac/Amp: Mojo วางตลาดมาได้เกือบสองปี ก็มีข่าวดีจาก Chord ว่าจะปล่อยโมดูลเสริมที่จะเปลี่ยน Mojo ให้กลายเป็นเน็ตเวิร์คเพลเยอร์แบบพกพาได้ ซึ่งประสิทธิภาพของ Mojo ตามที่กล่าวมานั้น เมื่อเสริมเขี้ยวเล็บด้วยเน็ตเวิร์คโมดูลเข้าไปอีก ย่อมสร้างความตื่นเต้นให้ผู้ใช้ได้ไม่มากก็น้อย เพราะนั่นหมายถึงไม่ว่าเราจะเล่นไฟล์เพลง ฟังสตรีมมิ่ง เล่นเกมส์ ชมภาพยนตร์ หรือชมYouTube จากอุปกรณ์ใด ๆ ที่สามารถรับ-ส่งสัญญาณบลูทูธหรือไว-ไฟได้ ก็สามารถส่งข้อมูลดิจิตอลมาแปลงสัญญาณใน Mojo ผ่านโมดูลเน็ตเวิร์ค Poly ได้ทันที โดยไม่ต้องเชื่อมต่อสายให้วุ่นวายอีกต่อไป ทำให้การใช้งาน Mojo เพิ่มความหลากหลายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการนำไปใช้เป็นเน็ตเวิร์คเพลเยอร์กับชุดเครื่องเสียงบ้านเล่นเพลงผ่าน NAS หรือ PC ก็ย่อมได้ เพราะMojo เองมีภาคสัญญาณไลน์เอาท์พุตที่แรงถึง 3 โวลต์ สามารถนำไปใช้งานร่วมกับปรีแอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์ เทียบชั้น ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์ แบบแยกชิ้นได้อย่างไม่ขัดเขิน ในทางกลับกัน Poly เองก็สามารถใช้งานเป็น NAS ออดิโอเกรดชั้นดีสำหรับผู้ที่มีเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ใช้งานอยู่แล้วได้อีกต่างหาก

มีบางคนที่อาจกังขาในเรื่องของคุณภาพเสียง ว่าการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณแบบไร้สายจะสู้การเชื่อมต่อด้วยสายดิจิตอลดี ๆ ได้หรือ ในจุดนี้จากที่เคยได้มีโอกาสพูดคุยคุณจอห์น แฟร้งค์ โดยตรงแกบอกเลยว่า “ไม่แตกต่าง” ก็ทำให้มั่นใจไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็คงต้องพิสูจน์ด้วยหูตัวเองอีกที และกลายมาเป็นที่มาของบทความทดสอบโมดูล Poly ในคราวนี้

รายละเอียดที่น่าสนใจ

Chord Poly เป็นเน็ตเวิร์คโมดูลขนาดเล็กประมาณกล่องไม้ขีด ออกแบบมาให้ประกบเข้ากับ Mojo ได้อย่างพอดิบพอดี รูปลักษณ์ภายนอกรวมถึงวัสดุถูกออกแบบให้มีความกลมกลืนไปกับ Mojo เคสของ Poly สกัดจากก้อนอลูมิเนียมเกรดดีด้วยเครื่องจักร CNC ทำสีอโนไดซ์ดำ สลักคำว่า Poly ด้านบนด้วยเลเซอร์ บริเวณด้านข้างจะมีช่องรับสัญญาณไวร์เลสพร้อมไฟบอกสถานะ LED เล็ก ๆ สองจุดของ Mojo และ Poly, ช่องเสียบ Micro USB, SD card และช่องรูเข็มสำหรับใช้พินที่แถมมากดลงไปเพื่อเลือกโหมดการทำงาน เมื่อ Poly อยู่ในอุ้งมือให้สัมผัสที่ไม่แตกต่างกับ Mojo การเชื่อมต่อให้ความแน่นหนาในดีไม่หลุดหลวมโยกคลอนเวลาถือไปมา เวลาถอดต้องออกแรงดึงเล็กน้อยถึงจะหลุดออกจากกัน แต่หากพกพาออกนอกบ้านแนะนำให้หาเคสที่ออกแบบมาโดยเฉพาะใว้เพื่อความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง Poly นั้นมีน้ำหนักเบาเมื่อประกบกับ Mojo แล้วไม่เป็นอุปสรรคต่อการพกพาแต่อย่างใด

ในส่วนฟังก์ชั่นการทำงานอันหลากหลายของ Poly สามารถจำแนกออกมาคร่าว ๆ ได้ดังนี้

  • เป็นเครื่องเล่นสตรีมมิ่งแบบไร้สายที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ทั้งในบ้านและแบบพกพา ( Android และ iOS)
  • เป็นเครื่องเล่นไฟล์เพลง ผ่านช่องเสียบ SD Card ที่อยู่ในตัว Poly
  • สามารถใช้งานแบบ Hotspot Mode ได้ในตัวเพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ ในกรณีที่ไม่มีสัญญาณไว-ไฟ
  • มี Access Point ในตัวที่สามารถเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คได้สุงสุดถึง 32 จุด
  • เป็นได้ทั้ง Server และ Renderer ในตัวเดียวกัน โดยอ่านไฟล์จาก SD card
  • รองรับการใช้งาน Roon ready เชื่อมต่อกับโปรแกรม roon ผ่าน Wi-Fi
  • อัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ ผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณไว-ไฟแบบอัตโนมัติ

ภายในของ Poly นั้นถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์เครื่องนึงนั่นเอง แต่เป็นคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ขนาดจิ๋วที่อัดแน่นด้วยอุปกรณ์เกรดสูงมากมายอย่าง PCB บอร์ดเกรดทหารชนิด 10 เลเยอร์ (ผลิตได้ยากมากสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็กแบบ Poly) แบตเตอรี่ LiPo ลิเธียม โพลิเมอร์ขนาด 2200mAh ที่ใช้งานต่อเนื่องได้เกิน 9 ชั่วโมง ภาครับสัญญาณบลูทูธ 4.1 ภาครับสัญญาณไว-ไฟ 2.4GHz และส่วนเก็บข้อมูลของ Micro SD card สามารถรองรับความจุได้สูงสุดถึง 2 TB หรือหรือในอนาคตจะมีมากกว่านี้ก็ยังได้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำงานอยู่ภายในโมดูลขนาดเล็กประมาณกล่องไม้ขีดไฟเและทำงานได้อย่างลื่นไหลปราศจากอาการหน่วงหรือสะดุด ส่วนของเน็ตเวิร์ค Poly จะรองรับการใช้งานแบบ UPnP, DNLA ผ่าน Wi-Fi 2.4G รวมถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ iOS ด้วย Apple Airplay และอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย Bluetooth 4.1

การติดตั้งและเซ็ตอัพ

ก่อนการใช้งานครั้งแรกให้ทำการชาร์จ Poly เดี่ยว ๆ ทิ้งไว้ก่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงเพื่อให้แบตเตอรี่ในตัวประจุไฟให้เต็มที่ หลังจากนั้นเมื่อต่อเชื่อมกับโมโจแล้ว สามารถใช้อแดปเตอร์ขนาด 2 A ขึ้นไปชารจ์ไฟไปพร้อมกับ Mojo ได้เลย (กรณีใช้อแดปเตอร์ 1 A จะชารจ์ได้แค่เฉพาะตัว Poly) ใช้เวลาชาร์จจนแบตเต็มโดยเฉลี่ย 4 ชั่วโมง ถ้าหากฟังไปชารจ์ไปก็จะใช้เวลานานขึ้น ในการใช้งานจะมีความร้อนเกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

TIPS: การยืดอายุแบตเตอรี่ประเภทลิเธียม โพลิเมอร์ ควรหมั่นชาร์จไฟบ่อย ๆ ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมดก่อน รวมถึงใช้อุปกรณ์ชาร์จที่สามารถจ่ายไฟได้เต็มที่และสม่ำเสมอ

การเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คนั้นจะทำผ่านหน้าโฮมเพจของตัว Poly เอง โดยใช้พินปลายแหลมที่แถมมาจิ้มเข้าไปที่รู Config ของ Poly ค้างไว้ประมาณ 5 วินาทีเพื่อเข้าสู่ Access Point Mode (ถ้าสวมหูฟังหรือเชื่อมต่อลำโพงอยู่จะได้ยินเสียงพูดบอกสถานะให้ทราบ) จากนั้นก็เชื่อมต่อ Wi-Fi เข้ากับ Poly และเข้าเวปบราว์เซอร์หน้าเพจเมนูการตั้งค่าจะปรากฎขึ้นมาเพื่อให้ Config ค่า Wi-Fi และโหมดการทำงานรวมถึงสามารถตรวจสอบเวอร์ชั่นเฟิร์มแวร์ได้จากหน้าเมนูนี้ (ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่น 1.0.10) ในความเห็นส่วนตัว จุดนี้อาจเป็นอะไรที่ดูจุกจิกสักนิดสำหรับผู้ใช้งานทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้มีความชำนาญมากนัก ซึ่งทาง Chord ก็ทราบดีและกำลังจะออกแอพลิเคชั่นเพื่อใช้งานร่วมกับ Poly ตามมาชื่อว่า “GoFigureApp” อันจะทำให้การตั้งค่าต่าง ๆ อัพเดตเฟิร์มแวร์ หรือเปลี่ยนโหมดการทำงานมีความสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนการขออนุญาติอยู่และคาดว่าน่าจะปล่อยให้ดาวน์โหลดกันได้ภายในปี 2561 นี้

ผลการลองฟัง

Chord Poly เองนั้นเป็นเพียงเน็ตเวิร์คโมดูลเสริม ดังนั้นบุคลิกเสียงจากการทดสอบนี้จะมาจากการใช้งาน Mojo ร่วมกับ Poly เป็นหลัก อันดับแรกทดลองฟังผ่านภาครับบลูทูธในตัวเสียก่อน เพราเป็นวิธีง่ายที่สุดในการเชื่อมต่อกับ Poly หลังจากเปิดสวิตช์ Mojo แล้วให้ทำการเปิดสัญญาณบลูทูธบนอุปกรณ์เพื่อทำการเชื่อมต่อ ระสักพักก็จะปรากฏชื่อ Poly ขึ้นมาบนอุปกรณ์ ทำการคลิกเชื่อมต่อ โดยครั้งแรกให้ใส่รหัส “0000” ลงไปก็เป็นอันเรียบร้อย (ไฟ P.status กระพริบสีน้ำเงิน) ผู้เขียนใช้หูฟังอินเอียร์ Zero Audio DX-200 สลับกับหูฟังฟูลไซส์สตูดิโอมอนิเตอร์ Shure SRH 240A เปิดยูทูปเข้าไปลองฟังเพลง Fly Me to the Moon / Lucky ซึ่งเป็นการคัฟเวอร์ระหว่างคู่ดูโอนักร้องชาย-หญิง Rick Hale และ Breea Guttery ถ้าไม่บอกว่าเป็นการฟังผ่านบลูทูธนี่ไม่มีใครรู้แน่นอนเพราะเนื้อเสียงอิ่มฉ่ำ ลื่นไหลดีมาก ไม่มีสากเสี้ยนให้รำคาญหูเลย เสียงดนตรีทั้งกีตาร์อคูสติกส์และเสียงร้องฟังเพลินดีจริง ๆ เทียบกับการเสียบหูฟังผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรงแล้วต้องบอกว่าคนละเรื่อง เสียงจาก Mojo + Poly ให้มิติรูปทรงของเสียงเหมือนเราดูภาพรูปปั้นนูนสูงเทียบกับโปสเตอร์เลยทีเดียว เสียงจากยูทูปสมัยนี้ดูถูกไม่ได้แล้วนะครับบางคลิปนี่เสียงดีเอามาก ๆ โดยเฉพาะคลิปที่เป็นการอัดสด อันดับต่อไปมาลองเล่นไฟล์เพลงในเครื่องดูบ้างโดยใช้แอพที่ชื่อว่า HiBy Music Player ซึ่งสามารถเล่นไฟล์ไฮเรสระดับ DSD ได้ด้วย ทดลองเล่นอัลบั้ม Gaucho ของ Steely Dan ซึ่งเป็น DSD64 แน่นอนว่าเมื่อผ่านบลูทูธสัญญาณจะถูกคอนเวิร์ตลงมาเหลือ 48kHz (ไฟแซมปลิ้งเรตที่ Mojo เป็นสีแดง) แต่ถึงกระนั้นคุณภาพเสียงก็ยังน่าพึงพอใจอย่างยิ่ง รายละเอียดต่าง ๆ ยังอยู่ครบและยังคงสัมผัสได้นามิคที่ต่อเนื่องแบบไฟล์ DSD ได้อยู่ นอกจากนี้ยังเล่นเพลงได้ลื่นไหลไม่พบอาการเสียงสะดุดหรือขาดหายระหว่างการใช้งาน เทียบกับการเชื่อมต่อสาย USB OTG จากมือถือเข้า Mojo แล้วจะให้ความคมชัดและรายละเอียดชัดเจนกว่าแต่กลับรู้สึกว่ามีสากเสี้ยนในเนื้อเสียงมากกว่าเช่นกัน ในขณะที่การฟังผ่าน Poly จะให้เสียงที่อิ่มและมีน้ำหนักเสียงที่ดีกว่า ฟังแล้วไม่รู้สึกล้าหู (ขึ้นอยู่กับคุณภาพสายเชื่อมต่อด้วยเป็นสำคัญ) เมื่อหักลบกับความสะดวกในการพกพาที่ไม่ต้องมีสายพะรุงพะรังด้วยแล้ว สรุปว่าภาครับสัญญาณบลูทูธของ Poly ได้สามผ่านเลยครับ เอาจริง ๆ คุณภาพเสียงระดับนี้สำหรับนักเล่นที่ซีเรียสจริงจังถือว่ารับได้สบาย อย่าลืมว่าหูฟังที่ใช้ทดสอบไม่ได้ราคาสูงอะไรมากมายอยู่ในช่วงสามพันเท่านั้นเอง ถ้าเป็นหูฟังระดับบน ๆ ซึ่ง Mojo ขับได้สบาย ๆ อยู่แล้วคุณภาพจะยิ่งทะยานไปอีกมาก

ขั้นต่อมาทดสอบด้วยการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณ Wi-Fi เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานแบบพกพานอกสถานที่ ผู้เขียนจะใช้ Poly เป็น Hot Spot กระจายสัญญาณไปให้สมาร์ทโฟน โดยการใช้พินปลายแหลมที่ให้มาจิ้มที่รู Config ค้างประมาณ 5 วินาทีไว้จนได้ยินเสียงแจ้งสถานะเข้า Access point mode (ไฟ P.status กระพริบสีน้ำเงิน / เขียว) จากนั้นทำการคลิกเลือกสัญญาณ Wi-Fi ของ Poly ที่ปรากฏขึ้นบนหน้าเมนูเชื่อมต่อ Wi-Fi บนสมาร์ทโฟน ต้องบอกก่อนว่าการใช้งานในลักษณะนี้จะเป็นการเล่นไฟล์ที่เก็บไว้ในสมารท์โฟนหรือ Micro SD card บน Poly เท่านั้น ไม่สามารถฟังเพลงแบบออนไลน์อย่าง Tidal ได้ แอพใช้จะเป็น BubbleUPnP ซึ่งทำงานร่วมกับ Poly ได้ดี (ส่วนท่านที่ใช้ iOS ทางจอห์น แฟร้งค์แนะนำแอพ 8Player ครับ) เริ่มจากฟังเพลงที่เก็บไว้ในสมาร์ทโฟนเป็นอันดับแรก Diana Krall อัลบั้ม All For You [FLAC 96kHz] ดุลเสียงโดยรวมมีความโปร่งใสขึ้นกว่าการเชื่อมต่อผ่านบูลทูธขึ้นมาก ทำให้สามารถได้ยินรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นมาก มีน้ำหนักเสียงและการทอดปลายเสียงที่น่าฟังมากขึ้น แต่หลังจากฟังไปสักพักกับหลาย ๆ อัลบั้มยังรู้สึกว่าเนื้อเสียงไม่เนียนละเอียดเท่าที่ควร มีความหยาบติดปลายมาเล็กน้อย อย่างเสียงนักร้องหญิงเสียงลมรอดไรฟันจะฟังค่อนข้างคมและกัดหู จึงทดลองสลับมาฟังไฟล์ที่เก็บไว้ใน Micro SD Card บน Poly แทนคราวนี้ลงตัวเลย เนื้อเสียงสะอาดเนียนกว่าอย่างเห็นได้ชัดและมีความสงัดของพื้นเสียงที่โดดเด่นอย่างมาก ตัวเสียงสกัดหลุดขาดจาดพื้นหลังเป็นรูปทรงสามมิติไม่แบนเหมือนจากการฟังบนสมาร์ทโฟนแล้ว ทุกอย่างอัพเกรดขึ้นจากการฟังผ่านบลูทธไปอีกระดับเรียกว่าครบถ้วนกระบวนความของคุณภาพเสียงที่ดี แสดงให้เห็นว่าระดับสัญญาณรบกวนของ Source อย่างสมาร์ทโฟนนั้นมีผลกระทบต่อการอ่านข้มมูลบน Micro SD Card มากพอสมควร เสียงของนักร้องหญิง Diana Krall ฟังแล้วหวานลื่นไหลขึ้นเยอะ อาการคมซิบติดปลายเสียงไม่ปรากฏให้ได้ยินแล้ว เสียงเปียโน เสียงกีตาร์พลิ้วไหวมีน้ำหนักน่าฟัง อคูสติกสเบสดีดเด้งฟังเพลินมาก พอไม่มีสากเสี้ยนติดปลายเสียงแล้วทีนี้รายละเอียดหยุมหยิมต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาให้ได้ยินอย่างเป็นธรรมชาติ หรืออย่างอัลบั้ม Dad Loves his Work ของ James Taylor [FLAC 88.2kHz] ก็ให้เสียงร้องที่อบอุ่นขึ้นจมูกนิด ๆ ตามสไตล์ได้อย่างที่ควรจะเป็น โทนเสียงมีความอบอุ่นฟังสบาย ให้เสียงเบสที่ลงน้ำหนักและทอดตัวอย่างน่าฟัง ให้ Timber หรือลักษณะที่แตกต่างกันของเสียงต่าง ๆ ได้ชัด คุณภาพเสียงที่ได้ยินตอนนี้ไม่ต่างจากพวก DAP พกพาระดับไฮเอ็นด์หลักหลายหมื่นบาทจนถึงหลักแสนที่เคยผ่านหูมาสักกี่มากน้อย น่าเสียดายที่ตอนนี้ Poly ยังไม่รองรับการอ่าน DSD บน Micro SD Card คงต้องรองเฟิร์มแวร์อัพเดตใหม่จาก Chord ต่อไป

แล้วถ้าเกิดตอนนี้เราอยากเล่น DSD ผ่าน Poly ต้องทำอย่างไร ในขณะที่ผู้เขียนทดสอบอยู่นี้ เท่าที่ลองทดสอบดูต้องใช้วิธีเล่นไฟล์ด้วยโปรแกรม roon บนคอมพิวเตอร์ ผ่านเน็ตเวิร์คไปยัง Poly ต้องเข้าไปตั้งค่าในหน้าเมนู Setup ของ Poly ด้วย Access Point Mode (ติ๊กช่อง Play Mode เป็น “ROON”) โดยตัว roon จะมองเห็น Poly เป็นอุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint) เพื่อส่งข้อมูลไปถอดรหัส ซึ่งรองรับความละเอียดได้สูงสุดที่ DSD64 สำหรับท่านที่ไม่มีโปรแกรม roon สามารถใช้โปรแกรม Foobar2000 ลงปลั๊กอิน DSD และปลั๊กอิน Network แทนได้เช่นเดียวกัน (ตั้ง Poly เป็น Network Mode) แนะนำว่าสำหรับการใช้งานในบ้านที่มี Wi-Fi Router อยู่แล้วควรเปลี่ยนโหมดของ Poly ไปที่ Network Mode แทน (ไฟ P.status นิ่งสีน้ำเงิน) เพื่อให้สามารถเล่นสตรีมมิ่งเซอร์วิสอย่างเช่น Tidal ผ่าน Wi-Fi บนสมาร์ทโฟนได้พร้อมกันด้วยเลย แถมการใช้ Wi-Fi Router ภายนอกยังให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าการใช้ Wi-Fi Router ในตัว Poly ด้วย (ลดภาระการการทำงานของ Wi-Fi Router ในตัว Poly ไปในตัว สัญญาณกวนน้อยลง) เสียงจะเคลียร์และชัดเจนขึ้น ด้วยวิธีนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นการดึงเอาศักยภาพของ Poly ออกมาได้สูงสุด แลกกับการที่ต้องอาศัย Wi-Fi Router ภายนอกด้วยเท่านั้น

คุณภาพเสียงที่ได้ฟัง ณ ตอนนี้ต้องบอกว่า ไม่เกี่ยงประเภทและแนวเพลงแล้วจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ฟอร์แม็ต DSD หรือไฟล์ FLAC ด้วยความสงัดของพื้นเสียงอย่างยิ่งยวดและความสามารถในการถ่ายทอดเสียงดนตรีได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ มีเลเยอร์ของชิ้นดนตรีลดหลั่นกันไป ท่านจะแปลกใจเลยทีเดียวว่ากับอัลบั้มเพลงไทยธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้เน้นคุณภาพการบันทึกเสียงมากนักทำไมถึงมีความน่าฟังมากขึ้น แม้ไม่อาจเทียบกับแผ่นที่บันทึกเสียงแบบออดิโอไฟล์จริงจัง แต่ Mojo + Poly คู่นี้ก็ขจัดเอาสัญญาณรบกวนที่ไม่พึงประสงค์ออกไปได้อย่างหมดจดเหลือเอาไว้แต่เนื้อแท้ของข้อมูลเสียงที่บันทึกมาจริง ๆ ทำให้เราสัมผัสความไพเราะน่าฟังของบทเพลงได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่เท่าที่คุณภาพการบันทึกเสียงจะเอื้ออำนวย กับอัลบั้มเพลงแกรมมี่หรืออาร์เอสนี่ละ ไม่ว่าจะแนวสากลหรือลูกทุ่ง ท่านจะรับรู้ได้เลยว่าเนื้อเสียงมันฟังดูสะอาด มีน้ำหนักย้ำเน้นและมีการทอดหางเสียงที่น่าฟังขึ้นกว่าที่คุ้นเคย หรืออย่างอัลบั้ม Californication ของ Red Hot Chili Peppers [FLAC 44.1kHz] ที่ได้รับคำวิจารณ์เป็นเอกฉันท์จากกลุ่มนักฟังส่วนใหญ่ว่าบันทึกเสียงขั้นเลวร้าย มีการกดการสวิงเสียง (Compress) มากเสียจนกระทั่งไดนามิกหายเกลี้ยง เกรนเสียงหยาบจัดกร้าวฟังไปสักพักจะเริ่มแสบหู เมื่อฟังผ่าน Poly อาการดังกล่าวยังคงปรากฎอยู่ แต่น่าแปลกที่ซาวด์อันรกรุงรังดูจะถูกจัดระเบียบให้อยู่เป็นที่เป็นทางมากขึ้น มีการจำแนกแยกแยะเสียงของเครื่องดนตรีต่าง ๆ  ที่เล่นออกมาได้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถรับฟังต่อเนื่องได้นานขึ้นโดยไม่รู้สึกล้าหูมากเกินไปนัก ส่วนถ้าเป็นอัลบั้มออดิโอไฟล์ที่บันทึกเสียงมาอย่างพิถีพิถันอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่ต้องบรรยายให้มากความกันละครับ ทั้งความสดสมจริง ความเป็นสามมิติของชิ้นดนตรีและเวทีเสียง รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดไดนามิคได้อย่างมีชั้นเชิง หนัก-เบา ดัง-ค่อย อัลบั้มไหนดีเด่นอย่างไรก็ถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจนแบบหมดเปลือกถึงอกถึงใจทุกท่านอย่างแน่นอน

ปิดท้ายสำหรับท่านที่มีเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ระดับไฮเอ็นด์อยู่แล้ว Poly สามารถใช้งานเป็น NAS คุณภาพสูงได้ด้วย เพียงแต่หาซื้อ Micro SD Card ความจุสูงสักหน่อย (2TB หรือมากกว่านี้ก็ได้) มาใช้งาน ที่ผู้เขียนทดสอบการอ่านไฟล์จำนวนมาก ๆ การเปลี่ยนเพลง ค้นหาเพลงก็สามารถทำได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุดแถมอ่านข้อมูลได้รวดเร็วทีเดียว ถ้าเทียบกับการ NAS แบบคอมพิวเตอร์อาจไม่เหมาะที่จะใช้งานต่อเนื่องตลอดเวลาเพราะ Poly ใช้แบตเตอรี่ แต่จะได้เปรียบในแง่ของสัญญาณการรบกวนทั้งทางไฟฟ้าและการสั่นสะเทีอนที่ดีกว่า NAS ทั่ว ๆ ไป (มีผลกับคุณภาพเสียงมาก)

สรุป

Chord Poly หากไม่นับข้อจำกัดของการเป็นอุปกรณ์พกพาแล้วถือว่ามีประสิทธิภาพที่น่าทึ่งมาก ด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานอันหลากหลายและครอบคลุมอัดแน่นอยู่ในขนาดที่เล็กกะทัดรัด รวมถึงประสิทธิภาพในการส่งผ่านสัญญาณแบบไร้สายที่ให้คุณภาพเสียงไม่ด้อยไปกว่าการเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณเลย (ดีกว่าในบางแง่มุมด้วยซ้ำ) แนวคิดของ Chord Eletronics นั้นมักจะล้ำหน้ากว่าคู่แข่งหนึ่งก้าวเสมอ อย่าง Poly ถ้าได้ทำการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านการอัพเดตเฟิร์มแวร์ในอนาคต รวมถึงมีซอฟท์แวร์คอนโทรลของตัวเพื่อให้รองรับการใช้งานได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงต้นแบบแห่งอนาคตที่คู่แข่งเจ้าอื่น ๆ คงต้องออกแรงวิ่งไล่ตามกันเหนื่อยพอสมควร และสำหรับผู้ที่ใช้งาน Chord Mojo อยู่แล้ว Poly คืออุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลยหากคุณอยากสัมผัสประสิทธิภาพแท้จริงของ Mojo ครับ

รายละเอียดเชิงเทคนิค

  • Rechargeable LiPo 2200mAh battery: 9-hour + playtime and fast-charging via USB
  • Playback support: Roon, DNLA, AirPlay and Bluetooth 4.1
  • Precision-machined aluminium casing with black anodisation, opaque black wireless signal window and silicone feet
  • Support for all major file types including: ACC, WAV, FLAC, AIFF, OGG VORBIS, ALAC, WMA and MP3
  • High-resolution audio-compatible: PCM sample rates: 44.1kHz, 48kHz, 88.2kHz, 96kHz, 176.4kHz, 192kHz, 358.8kHz, 384kHz,717.6kHz and 768kHz; DSD via DoP sample rates: DSD64 – DSD256 (Quad-DSD); DSD from SD card
  • Devices supported: iPhone, iPad, Android phones/tablets, Windows and Mac OS X computers and DAPs
  • Dimensions: 50mm (L) x 62mm (W) x 22mm (H)
  • Over-the-air software updates
  • Hotspot mode: Poly can create its own hotspot where networks/devices/countries don’t support tethering
  • Integrated Access Point: allows configuration of connected networks (up to 32)
  • DLNA server and renderer (SD card); SMB Server (SD card); MPD player (SD Card)
ขอขอบคุณบริษัท เดโค 2000 จำกัด โทร. 02 256 9700 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้