รีวิว Celestion 5000 Loudspeaker

0

DAWN NATHONG

Celestion 5000

Celestion 5000 ความคลาสสิคที่สัมผัสได้

ย้อนกลับไปช่วงปี 1989 บริษัท Celestion ของอังกฤษได้เปิดตัวลำโพงที่ใช้เทคโนโลยีริบบ้อนทวีตเตอร์ร่วมกับไดนามิคไดร์เวอร์ออกมาสามรุ่น ได้แก่ Celestion 3000, Celestion 5000 และ Celestion 7000

ซึ่งก็คงจะไม่แปลกอะไรหากตัวขับริบบ้อนนั้นนำมาใช้เฉพาะในส่วนของทวีตเตอร์เหมือนกับผู้ผลิตรายอื่นที่ทำออกมาในยุคนั้น ความน่าสนใจอยู่ตรงตัวขับริบบ้อนที่ Celestion ออกแบบนั้น เรียกว่า ART (Acoustic Ribbon Technology) เป็นการออกแบบไดอะเฟรมทรงยาวตัวเดียวทำงานครอบคลุมย่านความถี่ตั้งแต่ประมาณ 20 กิโลเฮิรตซ์ลงมาถึงช่วงความถี่เสียงกลางประมาณ 900 เฮิรตซ์ และบรรจุลงในตัวตู้ขนาดเล็กที่มีการจัดการกับอคูสติกส์ภายใน

ถ้าเทียบกับทางฝั่งอเมริกาเท่าที่นึกออกก็จะมีลำโพงรุ่นไฮบริดของ Apogee ซึ่งผลิตออกมาทีหลังในช่วงยุค 90s ที่มีแนวทางการออกแบบคล้าย ๆ กัน แต่ Apogee นั้นส่วนของตัวขับริบบ้อนจะติดตั้งบนแผงหน้าในลักษณะไร้ตู้ (Open Baffle) กระจายเสียงออกทั้งด้านหน้า-หลัง (Dipole) ในขณะที่ตัวขับริบบ้อนของ Celestion จะติดตั้งอยู่ในตู้ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะแบบเดียวกับลำโพงตู้ปิด และยิงเสียงออกทางด้านหน้าเพียงอย่างเดียว รูปลักษณ์การออกแบบที่ต่างกันทำให้ลำโพงของ Apogee นั้นมีขนาดของลำโพงที่ใหญ่โต และต้องอาศัยพื้นที่ในการจัดวางมากกว่า

Celestion 5000

ข้อดีของการใช้ตัวขับริบบ้อนที่ถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องคือ ด้วยความที่แผ่นไดอะเฟรมถูกรีดเป็นแผ่นจนมีความบางกว่าเส้นผมมนุษย์ มวลที่เบาและมีความบางมากเป็นพิเศษ จะทำให้สามารถเคลื่อนที่ (สั่น) และหยุดได้อย่างฉับไว มีค่าความบิดเบือนของน้ำเสียงต่ำเมื่อเทียบกับทวีตเตอร์แบบโดมทั่วไป ทวีตเตอร์ริบบ้อนจะสามารถตอบสนองความถี่สูงไปได้ไกลกว่า ให้รายละเอียดที่แผ่วเบามาก ๆ อย่างเช่นแอมเบี้ยนท์หรือมวลบรรยากาศออกมาได้ดี

ส่วนข้อจำกัดก็คือ จำเป็นต้องใช้ขนาดแผงริบบ้อนที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ หากต้องการให้ตอบสนองครอบคลุมไปถึงย่านความถี่ต่ำ ๆ ซึ่งการออกแบบก็จะมีความซับซ้อน รวมถึงมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และก็ไม่แน่ว่าจะถ่ายทอดคุณภาพของความถี่ต่ำออกมาได้เหนือกว่าไดร์เวอร์แบบปกติ

ทาง Celestion จึงเลือกใช้ไดร์เวอร์แบบไดนามิกมารับช่วงความถี่ต่ำกว่า 900 เฮิรตซ์ลงมาแทน ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสฟังลำโพง Celestion ซีรี่ยส์นี้คร่าว ๆ มาแล้วในหลายโอกาส ผลลัพท์ที่ออกมานั้นก็น่าประทับใจ และเป็นที่มาของบทความทดสอบในครั้งนี้

รายละเอียดที่น่าสนใจ

Celestion 5000 เป็นลำโพงวางหิ้งรุ่นใหญ่สุดของซีรียส์ ออกแบบเสมือนเป็นลำโพงตู้ปิดตู้เล็กซ้อนกับตู้ใหญ่อีกที (ตู้ของตัวขับริบบ้อนและตู้ตัวขับไดร์เวอร์ไดนามิก) รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลำโพงแต่ละข้างปาดมุมเฉียงตามยาวด้านในทำมุม 45 องศาเอียงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังเป็นลักษณะเงาสะท้อนของกันและกัน และเป็นตำแหน่งติดตั้งโมดูลส่วนแผงตัวขับริบบ้อนที่มีความยาวประมาณ 21 นิ้ว (เทียบเท่ากับตัวขับไดร์เวอร์ไดนามิกขนาด 5 นิ้ว)

Celestion 5000

ไดอะเฟรมของตัวขับริบบ้อนเป็นแผ่นอลูมิเนียมฟอล์ยที่มีความบางเพียง 12 ไมครอน แขวนลอยด้วยยางซิลิโคนและแผ่นโฟมกันสะเทือน อยู่ระหว่างแท่งแม่เหล็กฐาวรที่ขนาบด้านซ้าย-ขวา ตามแนวยาวของไดอะเฟรม เมื่อเกิดการไหลของกระแสผ่านตัวนำที่ยึดติดกับแผ่นอลูมิเนียมฟอล์ย ก็จะเกิดเส้นแรงแม่เหล็กขึ้นทำให้แผ่นอลูมิเนียมฟอล์ยเคลื่อนที่ (สั่น) และทำให้เกิดเสียง

โมดูลตัวขับริบบ้อนจะถูกซีลแบบลำโพงตู้ปิดมีปริมาตร 8 ลิตร ภายในมีการบุซับเสียงและทำงานคล้ายระบบทรานส์มิชชั่นไลน์ เพื่อสลายคลื่นค้างที่เกิดด้านหลังไดอะเฟรมริบบ้อนไม่ให้ย้อนกลับมารบกวน

ส่วนของไดนามิกไดร์เวอร์ขนาด 8 นิ้วที่มารับช่วงต่อความถี่ส่วนล่าง ถูกติดตั้งไว้ที่แผงหน้าบริเวณกึ่งกลางของตัวตู้ปริมาตร 28 ลิตร ไดอะเฟรมทำจากวัสดุที่เรียกว่าโพลิโอเลฟินส์ (Polyolefin) เป็นเทอร์โมพลาสติกประเภทหนึ่ง นำมาขึ้นรูปทรงกรวยในลักษณะผายออกเล็กน้อยคล้ายกับปากแตร ขอบเป็นยางสังเคราะห์แบบเว้าเข้า โครงลำโพงโลหะผสมหล่อขึ้นรูป

Celestion 5000

Celestion เลือกใช้ค่าความชันของจุดตัดความถี่วงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คเป็นแบบออเดอร์ที่สาม ซึ่งจะไม่มีการกลับเฟสของสัญญานระหว่างตัวขับทั้งสอง โครงสร้างตู้เป็นไม้ MDF หนา ¾ นิ้ว แผงหลังเสริมผนังอีกชั้นเพื่อความแกร่ง ภายในตู้ของตัวขับริบบ้อนและตู้ของตัวขับไดนามิกไดร์เวอร์ จะคาดโครงคร่าวเสริงความแข็งแรงด้วยโครงไม้ MDF รูปทรงเลขแปด ตามสูตรของ Celestion ที่เรียกว่า “Figure of 8” อีกชั้นหนึ่ง

ใช้ขั้วต่อลำโพงไบไวร์เกรดดีของ J.A. Michell รุ่นนอดนิยมที่ลำโพงโฮเอ็นด์จากอังกฤษสมัยนั้นนิยมใช้ มาพร้อมขาตั้ง “K Stand” ที่ออกแบบมาเข้าคู่กัน เสาของขาตั้งเป็นทรงสามเหลี่ยมจำนวนสองเสาสามารถเติมทราย เม็ดตะกั่วหรือวัสดุแดมป์อื่น ๆ ได้

สำหรับลำโพง Celestion ซีรี่ยส์นี้ เป็นสินค้าจากร้าน Sound Solution ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าที่สต็อคไว้ แม้ลำโพงจะผลิตออกมานานแล้วแต่ก็ยังเป็นสินค้าใหม่แกะกล่องสภาพดี ไม่เคยผ่านการใช้งาน

การเซ็ตอัพและติดตั้ง

ในครั้งนี้ก็เป็นการทดสอบสัญจรนอกสถานที่ ณ ร้าน Sound Solution ชั้นสอง อยู่ใกล้กับร้านสตาร์บัค ซิสเต็มที่ทางร้านจัดเตรียมไว้ คร่าว ๆ ประกอบด้วยปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อคของ Chord Electronics ส่วนฟร้อนเอ็นด์เป็น Oppo UDP-205 สายเชื่อมต่อทั้งหมดใช้ของ Audience สายลำโพงเชื่อมต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์โดยใช้จั้มเปอร์เดิมที่แถมมา

ลำโพงจัดวางบนขาตั้ง K Stand วางห่างกันราวสองเมตรและวางห่างจากผนังด้านหลังกะด้วยสายตาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.40 – 1.50 เมตร วางลำโพงหน้าตรงไม่โทอิน จุดนั่งฟังเป็นโซฟาห่างออกมาจากระยะจุดตัดสามเหลี่ยมด้านเท่าของระยะห่างลำโพงราว ๆ หนึ่งเมตร เป็นตำแหน่งที่ทางร้านเซ็ตอัพไว้เรียบร้อยเท่าที่ฟังดูรายละเอียดและน้ำเสียงค่อนข้างลงตัว

Celestion 5000

จากการสอบถาม ทางร้านแจ้งว่าลำโพงรุ่นนี้สามารถจัดวางให้มีระยะห่างจากกันได้มากเป็นพิเศษโดยที่เวทีเสียงตรงกลางไม่โหว่ (เกินกว่าสามเมตร) และสามารถวางชิดผนังหรือใกล้มุมห้องได้มากพอสมควรโดยที่ไม่เสียสมดุลเสียง แถมการวางใกล้ผนังด้านหลังก็ยังให้มิติด้านลึกออกมาได้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าจะเหมาะกับท่านที่ต้องการลำโพงซึ่งจัดวางในห้องรับแขกหรือห้องทั่ว ๆ ไป นอกจากในห้องฟังเพลงปกติ แต่ยังคงได้อรรถรสในการฟังใกล้ที่เคียงกัน

และขอฝากเรื่องแอมป์ที่ใช้ขับลำโพงคู่นี้ว่า ควรจะมีกำลังสำรองที่สูงและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรีดคุณภาพออกมาจากลำโพงคู่นี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยิ่งได้แอมป์ที่คุณภาพสูงมาก ๆ รับรองว่าท่านจะยิ่งอึ้งกับคุณภาพเสียงแบบเนื้อ ๆ ที่ออกมาจากลำโพงคู่นี้

ผลการลองฟัง

Celestion 5000 ตัวที่ผู้เขียนมาทำการทดสอบยังไม่พ้นช่วงเบิร์นอินดีนัก ช่วงนาทีแรก ๆ ของการฟัง แม้เสียงโดยรวมจะค่อนข้างกลมกล่อมออกไปทางฟังสบาย แต่ดุลเสียงจะค่อนไปทางกลางทุ้มเล็กน้อย และรู้สึกว่าปลายเสียงแหลมยังไม่เปิดโปร่งเท่าที่ควร ซึ่งฟังดูผิดวิสัยจากลำโพงที่ใช้ริบบอนทวีตเตอร์ทั่วไป

จากการสอบถาม ทางร้านจึงได้ทำการเปลี่ยนตำแหน่งการต่อสายลำโพงจากเดิมเข้าที่ขั้ว LF (เข้าวูฟเฟอร์) มาเสียบเข้าที่ขั้วต่อ HF (เข้าตัวขับริบบ้อน) ของลำโพงแทนโดยยังคงเป็นการเชื่อมต่อซิงเกิลไวร์ผ่านจัมพ์เปอร์เช่นเดิม คราวนี้สมดุลเสียงกลับมาอย่างที่ควรจะเป็น ย่านกลางแหลมเปิดโปร่งเป็นประกายมากขึ้น ในขณะที่ย่านเสียงทุ้มลดปริมาณลงเล็กน้อยแต่ได้ความกระชับและรายละเอียดที่ชัดเจน

แรก ๆ ที่สลับมาเป็นขั้ว HF แอบเสียดายปริมาณเสียงทุ้มอยู่เหมือนกันแต่พอฟังกับเพลงหลาย ๆ อัลบั้มแล้วก้มั่นใจว่านี่คือเสียงทุ้มที่มีความน่าฟัง มีจังหวะจะโคนแม่นยำกว่า เสียดายที่ไม่มีเวลามากพอจะลองเชื่อมต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ดู ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ดีที่สุดของการใช้งานลำโพงคู่นี้

Celestion 5000

เสียงของ Celestion 5000 หากใครที่คุ้นเคยกับลำโพงยุคเก่าหรือลำโพงวินเทจจะต้องสะดุดหูแน่นอน ดุลเสียงอิ่มใหญ่ มีความกลมกล่อมให้น้ำหนักเสียงที่ดี ออกไปทางฟังสบายผ่อนคลาย ทุ้ม-กลาง-แหลม กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีความเครียดเค้นหรือแห้งแล้งในน้ำเสียงปรากฎให้ได้ยินเลยแม้แต่น้อย

เรียกว่าใส่เพลงอะไรเข้าไปก็ดูจะฟังแล้วไพเราะไปเสียทั้งหมด ฟังง่ายไม่เลือกแผ่น ผิดกับลำโพงบางตัวที่ใช้ริบบอนทวีตเตอร์ ซึ่งเน้นไปที่ความใสเคลียร์และรายละเอียดหยุมหยิมที่คมชัด แต่กลับออกไปทางแบนขาดมิติ ยิ่งเจอกับอัลบั้มที่บันทึกมาไม่ดีนักจะฟ้องข้อบกพร่องเสียงจนทนฟังได้ไม่นาน หรือไม่ก็จูนเสียงให้ฟังดูนุ่มนวลแต่ขาดเสน่ห์ของตัวขับริบบ้อนไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ Celestion 5000 กลับแสดงความเหนือชั้นของรายละเอียดหยุมหยิมออกมาด้วยความแนบเนียนอย่างถึงที่สุด โดยไม่โดดเด้งออกมาเรียกร้องความสนใจแม้แต่น้อย แต่หูของเรายังคงรับรู้การมีอยู่ของรายละเอียดเหล่านั้นได้ทั้งหมด รวมถึงรักษาทรวดทรงของชิ้นดนตรีเอาไว้เป็นอย่างดี ตรงนี้ขอสารภาพตามตรงว่าผู้เขียนประทับใจกับการนำเสนอรายละเอียดแบบนี้มากเป็นพิเศษ เพราะหาฟังได้ยากเต็มที

อิมเมจตัวเสียงจะมีความอิ่มเนื้อและมีขนาดชิ้นดนตรีที่ใหญ่ มีความกลมกลึงเป็นสามมิติ พวกเสียงเครื่องดนตรีเครื่องเป่าทองเหลือง รับรู้อากัปกริยาของนักดนตรีเวลาเป่าลมผ่านท่อออกมาและมวลของลมที่ม้วนผ่านท่อทองเหลืองออกมาเป็นระลอกได้อย่างสมจริง (แผ่นทดสอบของ What Hi-Fi? อัลบั้ม Live At The Show – TIAV 2018) ใครที่เคยฟังลำโพงฮอร์นยุคเก่า อย่างพวก JBL หรือ Altec จะรู้ว่าได้เสียงเครื่องเป่าแบบนี้ได้ฟังสักครั้งแล้วยากจะลืม ซึ่ง Celestion 5000 ก็นำเสนอออกมาในแนวทางที่คล้าย ๆ กัน

รวมถึงให้ความสดฉับพลันที่ดีไม่รู้สึกว่าเสียงติดช้าหรือเฉื่อย เรียกว่าผสมผสานบุคลิกเสียงแบบลำโพงยุคใหม่เข้าไปเล็กน้อย หากจะเปรียบเทียบขนาดชิ้นดนตรีที่ Celestion 5000 ให้ออกมา ก็คล้ายกับความรู้สึกที่ได้ชมภาพยนตร์ผ่านจอโปรเจคเตอร์เทียบกับการดูผ่านจอทีวีปกติอย่างไรอย่างนั้น

ด้วยความที่ตัวขับริบบ้อนชิ้นเดียวทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงครอบคลุมย่านความถี่ลงมาถึง 900 เฮิรตซ์ เลยทำให้ย่านกลางแหลมมีความกลมกลืนต่อเนื่องลื่นไหลมากเป็นพิเศษ นักร้องหญิงเนื้อเสียงนุ่มนวลติดหวาน มีความโปร่งสะอาดในน้ำเสียง เวลาฟังเสียงคนร้องจะถ่ายทอดทักษะการร้องและอารมณ์ออกมาให้ได้ยินแบบไม่ต้องเพ่ง

แสดงทิมเบอร์หรือลักษณะเสียงเฉพาะตัวของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดออกมาได้โดดเด่น โดยเฉพาะยิ่งเวลาฟังเสียงเครื่องดนตรีจำพวกกีต้าร์ เปียโน ในอัลบั้มที่ที่บันทึกเสียงมาดี จะสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของฮาร์โมนิก หรือมวลบรรยากาศที่กระเพื่อมรอบ ๆ ตัวเสียงอย่างแผ่วเบาออกมาได้ชัดเจน ช่วยเสริมอรรถรสในการฟังมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ฟังเสียงกีตาร์อคูสติกส์จากอัลบั้ม Meet Me In London –  Antonio Forcione & Sabina Sciubba [Naimcd021] ทั้งเสียงกีตาร์โปร่งของอันโตนิโอ ฟอร์ซิโอเน และเสียงร้องของซาบรีน่า โดยปกติจะมีความเข้มข้นของมวลเสียงเป็นจุดเด่น แต่คราวนี้จะได้ยินความกังวานของปลายเสียงเบา ๆ เสริมเข้ามา รวมถึงรับรู้ถึงช่องว่างช่องไฟที่ถ่างขยายออกไปทำให้จับรายละเอียดของชิ้นดนตรีได้ง่ายขึ้น ฟังดูผ่อนคลายและมีน้ำหนักการย้ำเน้นทั้งการเล่นการร้องที่ชัดเจนกว่าเดิม เสียงกีตาร์ในจังหวะช้า ๆ ก็มีความอ้อยสร้อย พลิ้วไหว พอเปลี่ยนจังหวะมาเป็นเร็วก็กระชากอารมณ์ให้ความสดฉับพลันขึ้นมาทันที เรียกว่าฟังแล้วหลงรักอัลบั้มนี้ขึ้นอีกเป็นกอง

อัลบั้ม Midnight Sugar – Tsuyoshi Yamamoto Trio [TBM XR 0023] เสียงเคาะแฉมีรายละเอียดสูงแต่ไม่ขึ้นขอบ เสียงแกรนด์เปียโนมีความกระหึ่มลุ่มลึก ใสกังวาน มีน้ำหนักย้ำเน้นชัดเจนออกมาเป็นเม็ด ๆ เวลาที่เสียงฆ้อนเปียโนกระทบสายมีแรงปะทะที่สมจริง ติดตามรายละเอียดหางเสียงที่ทอดหางเสียงกังวานออกไปเป็นระลอกและค่อย ๆ จางหายไปจนสุดเสียงได้โดยตลอด

ความดีงามที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไร้การทำงานที่สอดประสานกันเป็นอย่างดีระหว่างขับริบบ้อนและตัวขับไดนามิกขนาด 8 นิ้ว การรับช่วงต่อกันของความถี่ย่าน 900 เฮิรตซ์ลงมานั้นต้องบอกว่าแนบเนียนดีมาก เวลาฟังเสียงไวโอลินหรือเสียงนักร้องชายที่คาบเกี่ยวระหว่างจุดตัดช่วงความถี่ (ย่านเสียงกลางลงมากลางต่ำ) ก็มีการไล่ระดับที่ต่อเนื่องกันไปอย่างลื่นไหลไม่รู้สึกสะดุด อาจเป็นอานิสงค์จากการให้ตัวขับริบบ้อนรับหน้าที่ย่านความถี่ที่กินลงมาถึงย่านเสียงกลาง และการออกแบบครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้จับรอยต่อของเสียงได้ยากมาก

เสียงย่านทุ้มมีความฉับไวตามย่านกลางแหลมทัน หัวโน้ตเสียงเบสติดนุ่มเล็กน้อย แต่ให้อิมแพ็คหรือแรงปะทะต้นโน้ตได้ดี เนื้อเสียงเบสต้นมีความแน่นกระชับ และคลายโฟกัสลงเล็กน้อยในช่วงความถี่ต่ำ ๆ ใครที่ชอบเบสลึก Celestion 5000 ก็สามารถถ่ายทอดฐานเสียงย่านต่ำ (ประมาณ 60 เฮิรตซ์ลงไป) ออกมาให้สัมผัสได้พอสมควร อย่างเสียงออร์แกนในอัลบั้ม Golden String Audiophile Repertory – Top 12 In Gold [GSCD 034 AG] ก็ยังแสดงความพิเศษของย่านเบสลึกออกมาได้ แม้รายละเอียดจะไม่เคลียร์ชัดเจนมาก แต่ก็ยังติดตามโน้ตสูงต่ำของเสียงออร์แกนได้ตลอด และมีระลอกคลื่นพลังงานเสียงต่ำลึก บางส่วนออกมาให้สัมผัสได้

ไฮไลท์ของ Celestion 5000 มาอยู่ที่การฟังแผ่นที่บันทึกการแสดงสด กับอัลบั้ม Belafonte At Carnegie Hall [LSOCD 6006] โดยปกติผู้เขียนจะไม่ค่อยได้นำแผ่นนี้มาร่วมทดสอบมากเท่าไรนัก เพราะในหลาย ๆ ซิสเต็มยังไม่สามารถเปิดเผยความพิเศษของบรรยากาศของคาร์เนกี้ ฮอลล์ออกมาให้รับรู้ได้ ทำให้การฟังอัลบั้มนี้ดูแห้งแล้งและขาดชีวิตชีวาไปพอสมควร แต่จากการทดลองฟัง Celestion 5000 ผู้เขียนรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจจึงได้ลองหยิบแผ่นนี้ขึ้นมาทดสอบดู

สิ่งแรกที่ทำให้ประทับใจในทันทีหลังแทร็คแรกเริ่มบรรเลงไปสักระยะคือมิติเวทีเสียง ที่แสดงสภาพความเป็นโถงฮอลล์ออกมาชัดเจนมาก ทั้งแนวด้านกว้าง ด้านสูง และด้านลึกที่ถอยร่นออกไปด้านหลังลำโพง แปลกดีที่ลำโพงคู่หนึ่งทำให้ผู้เขียนถูกดึงดูดความสนใจไปที่มิติเวทีเสียงเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรยากาศของเสียงภายในฮอลล์ ที่มีความอบอวลและดึงให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับบทเพลงได้อย่างไม่ธรรมดา

อย่างน้อยผู้เขียนก็ไม่ได้ยินเสียงแบบนี้กับอัลบั้มนี้มานานพอสมควร ทุกเสียงมีความเป็นตัวตนชัดเจน มีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งเสียงของนักดนตรีที่เล่นแบ็คอัพคลอเบา ๆ เสียงกระแอมเล็ก ๆ ของคนดู เสียงปรบมือที่เหมือนเสียงปรบมือของคนจริง ๆ ไม่ใช่เหมือนเสียงฝนตกเปาะแปะ ล้วนมีตำแหน่งที่ทางของตัวเองในเวทีเสียงตื้นลึกลดหลั่นกันไป ไม่เว้นแม้แต่ด้านสูงต่ำก็ยังแสดงระดับตำแหน่งของเสียงที่ชัดเจน

เสียงร้องของ แฮร์รี เบลาฟอนต์ เต็มไปด้วยพลังและถ่ายทอดทักษะการร้องออกมาอย่างเข้าถึงอารมณ์ และที่สำคัญทั้งหมดนี้มีความเป็นสนามเสียงที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ชัดเป็นจุด ๆ แต่ขาดความต่อเนื่องกลมกลืน จากการฟังเพื่อทดสอบ กลายเป็นความเพลิดเพลินจนอยากนั่งฟังต่อไปเรื่อย ๆ จนจบแผ่น

สรุป

นี่ไม่ใช่ลำโพงที่มีความเที่ยงตรงสไตล์มอนิเตอร์ แต่เป็นลำโพงที่มีบุคลิกเสียงของตัวเองชัดเจน สีสันที่ถ่ายทอดออกมาส่งเสริมให้การฟังเพลงมีความน่าฟัง เป็นลำโพงที่เหมาะกับการฟังเพื่อดื่มด่ำละเลียดความเป็นดนตรีอย่างแท้จริง ไม่เหมาะกับการฟังแบบฉาบฉวยหรือเอามันส์

เป็นลำโพงประเภทยิ่งฟังยิ่งไพเราะ และที่สำคัญสามารถถ่ายทอดบรรยากาศของการบันทึกเสียงแบบอัดสดออกมาได้เป็นอย่างดี ทำให้เรารู้ว่าความพิเศษในอัลบั้มเหล่านั้นที่แท้จริงเป็นอย่างไร จนบางทีต้องขอตั้งคำถามว่า เรามีความจำเป็นต้องแสวงหาฟอร์แมตใหม่ ๆ เพื่อเสพดนตรีมากแค่ไหน ในเมื่อกับฟอร์แมตอย่างซีดีธรรมดา ๆ ก็ยังมีอะไรซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย รอที่จะให้ท่านได้มาลองฟังผ่านลำโพงคู่นี้

Celestion 5000 รายละเอียดเชิงเทคนิค

  • การออกแบบ: Two-way, sealed-box, stand-mounted loudspeaker
  • ตัวขับเสียง: 21″ by 0.5″ aluminum-ribbon tweeter, 8″ (200mm) polyolefin-cone woofer
  • จุดตัดความถี่: 900Hz
  • ความชันจุดตัด: 3rd-order, 18dB/octave, high- and low-pass.
  • ตอบสนองความถี่: 66 Hz – 20 kHz
  • ตอบสนองความถี่ต่ำ: –3dB at 66Hz, –6dB at 49Hz (both free-space measurements)
  • ความไว: 86dB/2.83V/m
  • ความต้านทานปกติ: 4 ohms
  • แนะนำกำลังขับ: up to 100W program
  • มิติ: 25.6″ (650mm) H by 13″ W (330mm) by 11.8″ (300mm) D
  • ปริมาตรภายใน: 28 liters (woofer enclosure), 8 liters (ribbon enclosure)
  • น้ำหนัก: 43 lbs (19.5kg) each

ขอขอบคุณร้าน Sound Solution โทร. 02-102-2188 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าและสถานที่สำหรับการทดสอบในครั้งนี้