มงคล อ่วมเรืองศรี
ครั้งนี้ขอหยิบจับแผ่นซีดีอัลบั้ม “TIME+กาล” มาแนะนำ ทั้งนี้ นี่คือวาระที่ 2 ของการออกจำหน่ายอัลบั้มชุดนี้ หลังจากที่เคยผลิตจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปีพศ.2552 (คศ.2009) ภายใต้สังกัด 12 BAR ของคุณชัชวาล สุรเดช (โอ) – อัลบั้ม “TIME+กาล” คือ งานเพลงที่ท้าทายต่อคนรักแจ๊ซอย่างแท้จริง นี่เป็นผลงานชิ้นแรกในกระแสสำนึกลึกๆ ของอาจารย์วินัย โสตถิพันธุ์กันเลยทีเดียว
ณ วันนี้ แม้ว่าอาจารย์วินัย โสตถิพันธุ์ จะเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (ชาตะ 1950 มรณะ 2017) แต่ทว่าซีดีอัลบั้ม “TIME+กาล” ของท่านก็ยังเป็นที่ถูกนำมาพูดถึง ด้วยความเป็นผลงานเพลงที่น่าสนใจ และสำแดงถึงฝีมือในการประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี ร่วมถึงการเล่นเปียโนในสไตล์ของท่าน
พูดถึงตระกูล โสตถิพันธุ์ เป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะและดนตรีของเมืองระโนด จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นตระกูลสำคัญประจำเมือง ซึ่งเมื่อพูดถึงโสตถิพันธุ์ ก็จะนึกถึงตระกูลศิลปินที่ระโนด สงขลา …อาจารย์วินัย โสตถิพันธุ์ก็เป็นหนึ่งในพี่น้องตระกูลโสตถิพันธุ์ (พี่ชายอีก 2 คนของอาจารย์วินัยก็เป็นนักดนตรีอาชีพเช่นกัน นั่นคือ อาจารย์นพ โสตถิพันธุ์ และอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์)
อาจารย์วินัย โสตถิพันธุ์ เป็นนักดนตรีผู้มีความสามารถ เล่นได้ทั้งกีต้าร์ เปียโน และร้องเพลงได้อย่างดีเยี่ยม ดำรงชีวิตด้วยการเล่นเปียโนเป็นอาชีพตามไนต์คลับ บาร์ และโรงแรมต่างๆ (ส่วนใหญ่จะในกทม.) อาจารย์วินัยเล่นเปียโนเก่งมาก แม้แต่อาจารย์สุกรี เจริญสุข (ผู้ก่อตั้ง, ผู้อำนวยการ และคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ยังยอมรับในฝีมือ อาจารย์วินัย มีชื่อเล่นว่า ไข่ (ย่อมาจาก ไข่นุ้ย ของคนใต้นั่นเอง) ซึ่งในภาษาอีสาน “ไข่นุ้ย” ก็คือ บักหำ …ความโด่งดังของอาจารย์ไข่ เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ฝรั่ง รู้จักกันในชื่อของ Humprey ซึ่งก็มีที่มาจากชื่อเล่น ไข่ (หำ) > ฮัมฟรีย์ นั่นเอง
อาจารย์วินัย โสตถิพันธุ์
โดยตัวของผลงานอัลบั้ม “TIME+กาล” นับเป็นแนวทางของ Trio Jazz ในรูปแบบของเพลงบัลลาด โดยที่อาจารย์วินัย โสตถิพันธุ์ เล่นเปียโน คู่กับ ดับเบิ้ลเบส (อาจารย์นพดล ถิรธราดล) ในลีลาพลิ้วไหว หวานเย็น ลุ่มลึก บาดใจ สวยงาม โดยมีอาจารย์คม วงษ์สวัสดิ์ เป็นผู้เล่นกลองชุด ทั้งยังได้อาจารย์พลวิทย์ โอภาพันธุ์ มาร่วมเป่าเทเนอร์ แซกโซโฟน เป็นแขกรับเชิญในเพลง On Green Dolphin Street
จุดสำคัญของอัลบั้ม “TIME+กาล” อยู่ที่บทเพลง ‘Time’ ที่อาจารย์วินัย ระบุว่า เป็นแรงบันดาลใจจากเพลง 16 ปีแห่งความหลัง ของครูสุรพล สมบัติเจริญ ที่อาจารย์วินัยขอคารวะและเชิดชูต่อครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ โดยเพลงนี้อาจารย์วินัยได้ประพันธ์และเรียบเรียงไว้ในแนวบลูแจ๊สฟังง่ายๆ สำหรับคอแจ๊สรุ่นเก่า ที่คอแนวเพลงลูกทุ่งอาจไม่สนใจ และไม่ get นัก กับอีกบทเพลงที่ใช้ชื่อว่า ‘กาล’ นับเป็นเพลงชื่อไทยเพลงเดียวของอัลบั้ม “TIME+กาล” ที่มีสำเนียงเพลงไทยแว่บๆ ออกมาให้ได้ฟัง ในสำเนียงดนตรีที่ให้อารมณ์ improvisation อันเป็นการเล่นแบบอิสระและปล่อยวาง…
นี่คือรายชื่อเพลงทั้ง 10 ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้ม “TIME+กาล” :- Softly As In The Morning Sunrise / Here There And Everywhere / September Song / Time / Night And Day / On Green Dolphin Street / Tenderly / My Foolish Heart / กาล / On Green Dolphin Street (Alternate Take)
ต้นฉบับผลงานเพลงอัลบั้ม “TIME+กาล” ได้รับการบันทึกไว้ในรูปแบบของ Live Studio, Naturally Balanced 96/24 Recording ซึ่งในการจัดทำครั้งที่ 2 นี้ก็ได้ใช้ข้อมูลต้นฉบับนี้แหละ หากแต่ได้รับการจัดทำอย่างพิถีพิถันยิ่งกว่าเก่า โดยส่งไปจัดทำเป็นแผ่น HQCD ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจำกัดจำนวนการผลิตอยู่ที่ 500 แผ่น และมีเลขกำกับอยู่ทุกแผ่น (Exclusively Distributed by Joe Poster)
…ฟังแล้วเสียงดีครับ ท่านใดมีแผ่นซีดีต้นตำรับปี 2009 ลองหยิบมาฟังเทียบเคียงกันครับ จะรับรู้ได้ถึงละอองโปร่งเบาของบรรยากาศที่ลอยตัวอบอวล รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ความกังวานทอดตัวยาวของเสียงเปียโน น้ำหนัก ความอิ่มใหญ่ของเสียงดับเบิ้ล เบส และความสดพลิ้วของฉาบที่ให้ความรู้สึกแกว่งไกว …หยิบฟังมาฟังได้บ่อย โดยไม่รู้สึกว่าแตกต่างจากการเล่นของนักดนตรีฝรั่ง – ขอแนะนำเต็มๆ อย่างโดนใจครับ Two Thumbs Up !!