What HI-FI? Thailand

Cambridge Audio CXA81 / CXC คู่หูไฮไฟคอมโบเซ็ตจากเกาะอังกฤษ

Dawn Nathong

แม้ว่าทุกวันนี้นักเล่นส่วนใหญ่ทั้งเก่าใหม่ จะหันมาให้ความสนใจกับการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งกัน แต่ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าที่บ้านของนักเล่นหลายคน ก็ยังมีแผ่นซีดีสะสมอยู่ไม่มากก็น้อย ครั้นจะเอามานั่งริปเป็นไฟล์เก็บไว้ หลายคนก็ทำได้ไม่สะดวก แต่หากจะลงทุนกับเครื่องเล่นซีดีเพลเยอร์คุณภาพดีสักเครื่อง ชั่วโมงนี้ดูเหมือนตัวเลือกจะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่เบนเข็มไปสู่โลกสตรีมมิ่งกันเกือบหมด มีการบิลต์อินภาค DAC คุณภาพดีลงไปในปรีแอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์มีเพื่อรองรับการเล่นไฟล์เพลงกันมากมาย หลายรุ่นมีคุณภาพดีไม่ต่างจากการซื้อ DAC แยกชิ้น

อีกทางเลือกที่น่าสนใจของการเล่นแผ่นซีดีในยุคนี้ คือการหาซีดีทรานสปอร์ตดี ๆ สักเครื่อง แล้วอาศัยจับคู่กันกับ DAC ภายในตัวอินทิเกรตแอมป์หรือปรีแอมป์ เชื่อมต่อด้วยสายดิจิทัลโคแอกเชียลหรือออฟติคอล เท่านี้ก็สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า คุณภาพเสียงก็จะอัพเกรดไปตามคุณภาพของ DAC ที่เชื่อมต่อเป็นหลัก

กระนั้นเลย Cambridge Audio ก็มีเครื่องเล่นซีดีทรานสปอร์ตอยู่ในสายการผลิต นั่นคือรุ่น CXC แถมราคาก็อยู่ในพิกัดไม่เกิน 2 หมื่น ซึ่งนักเล่นทั่วไปเข้าถึงได้ และมีคุณภาพดีกว่าการเอาดีวีดีหรือบลูเรย์เพลเยอร์มาต่อเล่น เพราะไม่มีวงจรด้านภาพมาป่วนคุณภาพเสียง และต้นทุนทั้งหมดก็ลงไปในภาคทรานสปอร์ตอย่างเต็มที่ (ไม่ต้องเฉลี่ยไปกับภาคถอดรหัส, ภาคแอนะล็อกเอาต์พุต) เมื่อนำมาจับคู่กับอินทิเกรตแอมป์รุ่นใหม่อย่าง CXA81 ซึ่งมีภาค DAC คุณภาพดีในตัว เท่านี้ก็ได้ชุดเครื่องเสียงรุ่นใหม่ที่เล่นแผ่นซีดีได้ รวมถึงต่อกับคอมพิวเตอร์หรือเน็ตเวิร์กบริดจ์ เพื่อฟังไฟล์เพลงผ่านช่อง USB DAC อินพุตได้อีกในงบประมาณ 7 หมื่นมีทอน  ถือเป็นโซลูชั่นที่น่าสนใจสำหรับนักเล่นรุ่นเก่ากลางใหม่อยู่ไม่น้อย

รายละเอียดที่น่าสนใจ

ว่ากันที่ตัวทรานสปอร์ต CXC นั้น ภาคกลไกอ่านแผ่น ถูกออกแบบมาเพื่ออ่านข้อมูลเฉพาะแผ่นซีดี ‘โดยตรง’ รอบหมุนการอ่านแผ่นมีรูปแบบเดียวเท่านั้น ไม่มีการนำไดรฟ์ซีดีรอมสำเร็จรูปที่เน้นอ่านข้อมูลหลายประเภท (ต้องปรับสปีดการหมุนไปมา) มาใช้ ทุกภาคส่วนทำการคัสต้อมเมดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เมื่อดูภายในเครื่องมีการวางเลย์เอาต์แผงวงจรแบบลอยตัวแยกส่วนจากกันเพื่อลดการกวนและลดแรงสั่นสะเทือน มีแผงวงจร Servo ขนาดใหญ่ที่ทาง Cambridge เรียกว่า S3 ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในซีดีเพลเยอร์รุ่นไฮเอ็นด์ 851C มีวงจร Jitter rejection และ Error correction เพื่อให้การอ่านข้อมูลจากแผ่นมีความแม่นยำสูงสุดและมีจิตเตอร์ต่ำที่สุด อีกฝั่งเป็นภาคจ่ายไฟที่เน้นอุปกรณ์คุณภาพสูงทั้งหมด ใช้หม้อแปลงเทอรอยด์แบบโอเวอร์ไซส์ขนาด 40VA รวมถึงภาคดิจิทัล S/PDIF เอาท์พุตที่ปลอดจากสัญญาณรบกวน

สำหรับอินทิเกรตแอมป์ CXA81 เป็นรุ่นที่มีการปรับปรุงใหม่มาจากรุ่น CXA80 เดิม ภาคแอนะล็อกวงจรภาคขยายเป็น Class AB มีกำลังขับเท่าเดิมคือ 80 วัตต์ที่ 4 โอห์มและ 120 วัตต์ที่ 4 โอห์ม จัดเลย์เอาท์วงจรแยกฝั่งแชนแนลซ้าย-ขวาแบบ Symmetrical มีการอัพเกรดอุปกรณ์ภายในจำนวนมาก รวมถึงใช้หม้อแปลงเทอรอยด์ตัวใหม่ คาปาซิเตอร์ใหม่ ซึ่งทาง Cambridge บอกว่าทั้งหมดนี้ ช่วยในเรื่องไดนามิกที่ตอบสนองได้ฉับไวขึ้น ควบคุมลำโพงได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม รวมถึงมีระดับของแบ็กกราวนด์น้อยส์ที่เงียบสงัดขึ้น พร้อมช่องบาล้านซ์ XLR อินพุต ส่วนภาคดิจิทัลในภาค DAC จากเดิมจะใช้ชิป Wolfson WM8740 ก็เปลี่ยนมาเป็น ESS Sabre ES9016K2M ที่มีเทคโนโลยีสดใหม่กว่า รองรับความละเอียดของสัญญาณ (ช่อง USB อินพุต) ได้ถึง 32-bit, sampling rate สูงสุดอยู่ที่ 384kHz หรือ DSD256 และเพื่อรองรับกับ DAC ตัวใหม่ ทาง Cambridge Audio ก็ให้ภาครับบลูทูธระดับ aptX HD (รองรับไฮเรส 24 bit/48 kHz) มาด้วย

คุณสมบัติ

Cambridge Audio CXC

Cambridge Audio CXA81

การแมตชิ่งและเซ็ตอัพ

ผู้เขียนทดลองเชื่อมต่อ CXC และ CXA81 เข้าด้วยกันผ่านสายดิจิทัลโคแอกเชี่ยล QED รุ่น Qunex SR 75 สลับกับสาย TOSLINK ยี่ห้อ Ultralink เพื่อเปรียบเทียบกัน รวมถึงนำทั้ง CXC และ CXA81 ไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องเสียงอื่นเพื่อประเมินผลอีกที

ด้านหลังของ CXA81 มีขั้วต่อลำโพงมาให้สองชุด A และ B ซึ่งสามารถเลือกต่อลำโพงได้สองคู่พร้อมกัน (สลับกันฟัง) หรือใช้สำหรับต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ก็ได้ ผู้เขียนทดลองนำ CXA81 มาจับคู่กับลำโพงหลายรุ่น ทั้งในพิกัดราคาใกล้เคียงกันและสูงกว่า ถือว่ากำลังขับของนั้นใช้ได้ทีเดียวเพราะสามารถควบคุมลำโพงได้ดี ช่วงหนึ่งของการทดสอบได้มีโอกาสลองจับคู่แบบชกข้ามรุ่นกับ Rogers LS3/5a รุ่นซิงเกิ้ลไวร์ 11 โอห์มดู แม้จะขับได้ไม่สุดเพราะลำโพงคู่นี้ต้องการแอมป์คุณภาพสูงเพื่อรีดประสิทธิภาพ แต่โดยรวมนั้นถือว่าน่าพอใจเกินคาดเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวราว 4 หมื่น สามารถฟังเพลงได้ครอบคลุม แต่จะอ่อนการควบคุมย่านทุ้มไปตามคาด จะว่าได้อย่างไรเพราะแอมป์ที่รีดทุ้มแบบคุณภาพเนื้อ ๆ จากลำโพงคู่นี้ได้ส่วนใหญ่เป็นแอมป์ไฮเอ็นด์หลักแสนทั้งนั้น พอสลับมาเป็นลำโพงตู้ปิดความไวต่ำอย่าง NHT 1.5 ก็ขับได้สบาย ๆ แม้กระทั่งลำโพงตั้งพื้นตัวเขื่องอย่าง Polk R700 ก็เอาอยู่เช่นกัน

เสียง

เบื้องต้นทดสอบภาครับสัญญาณบลูธดูก่อน (อย่าลืมติดตั้งเสารับบลูทูธที่อยู่ท้ายเครื่อง) กดปุ่มบลูทูธบนหน้าปัดเครื่องให้เป็นสีน้ำเงิน จากนั้นทำการ Pairing เข้ากับมือถือ (รองรับ aptX HD) สตรีมเพลงด้วยแอป Apple Music (Lossless) ไปยัง CXA81 ตั้งระดับเสียงมือถือไว้ราว 70% แล้วมาเร่งโวลุ่มที่ CXA81 ให้เสียงที่มีความคมชัดดีมาก มีความโปร่งใส ไม่ขุ่นทึบ มิติค่อนข้างเคลียร์และชัดเจน เรียกว่าฟังแบบเอาเรื่องได้เลย แม้ว่าการสตรีมด้วยบูลทูธนั้นสัญญาณจะถูกเข้ารหัสและบีบอัดเป็น Lossy แล้วก็ตาม แต่การเล่นจากต้นทางคุณภาพสูงก็ยังให้ความแตกต่างด้านคุณภาพเสียงแบบฟังออก

จากนั้นทดลองภาค USB DAC ของ CXA81 โดยเชื่อมต่อจากคอมพิวเตอร์ผ่านสาย USB ไปยังช่องอินพุตของ CXA81 สังเกตว่าที่ข้าง ๆ จะมีสวิตช์ Ground / Lift อยู่ หากท่านนำไปใช้งานในลักษณะนี้แล้วเกิดเสียงฮัมหรือจี่ ลองเลื่อนสวิตช์ไปที่ Lift เพื่อตัดเส้นทางกราวด์จากคอมพิวเตอร์มายังช่อง USB ของ CXA81 ออกจะช่วยได้ หรือแม้ว่าจะไม่มีเสียงรบกวน การเลื่อนสวิตช์ไปที่ Lift จะช่วยให้พื้นเสียงมีความสงัดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากขยะจากกราวด์ของคอมพิวเตอร์ไม่วิ่งเข้ามากวน (คอมพิวเตอร์ต้องลงกราวด์)

ภาค DAC ในตัวของ CXA81 นั้นมีความสะอาดชัดเจนของเสียงสูง รวมถึงมีรายละเอียดหยุมหยิมแบบระยิบระยับทีเดียว เนื้อเสียงกระชับและควบแน่นเป็นตัวตนชัดเจน พื้นเสียงเงียบสงัดดีมากทำให้ชิ้นดนตรีลอยเด่นและมีมิติที่ระบุตำแหน่งได้แบบจับวาง เสียงเล็กเสียงน้อยเช่นเสียงหายใจของนักร้อง หรือเสียงก้องสะท้อนอ่อน ๆ ที่เป็นบรรยากาศการบันทึกถูกถ่ายทอดออกมาได้เป็นธรรมชาติ น่าฟังมาก [อัลบั้ม Jazz Recordings Fonè Anniversary – Various Artists]

เมื่อนำ CXC และ CXA81 มาใช้งานร่วมกันทดลองเล่นแผ่นซีดีหลากหลายแผ่นเพื่อประเมินผล สลับกับการใช้เน็ตเวิร์กบริดจ์ Volumio (DIY) เป็นแหล่งโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงจาก NAS นั้นการเล่นจากแผ่นซีดีจะให้น้ำหนักเสียงทุ้มที่อิ่มกว่าเล็กน้อย มิติเวทีเสียงที่ใหญ่โตกว่า แต่ความสะอาดและจังหวะจะโคนที่แม่นยำดูจะเป็นรองการเล่นจากไฟล์เล็กน้อยเช่นกัน

โดยรวม CXA81 ให้โทนัลบาล้านซ์ของเสียงมีความราบรื่นตามสไตล์ของ Cambridge Audio มีปริมาณระดับเสียงทุ้มกลางแหลมใกล้เคียงกัน เนื้อเสียงสะอาด มีมวลปานกลางไม่อวบหนา แต่หากเปรียบเทียบกับ CXA80 เดิม ดูจะมีความอิ่มเอิบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สิ่งที่โดดเด่นแบบรู้สึกได้ชัดเจนคือความสงัดของพื้นเสียงที่ดีขึ้นมากพอสมควร อีกทั้งยังเพิ่มความต่อเนื่องลื่นไหลมากขึ้น เพิ่มพูนความน่าฟังขึ้นอีกโข

เมื่อพื้นเสียงทำได้สงัดมากขึ้น ทำให้การถ่ายทอดไดนามิกเสียงมีความชัดเจน การสวิงเสียงดียิ่งขึ้น เวลาฟังดนตรีคลาสสิคหรือเพลงที่มิกซ์เลเยอร์ของดนตรีมาสลับซับซ้อน จะสามารถสัมผัสลีลาของดนตรี ทั้งการเล่นการร้องอย่างได้อรรถรส ในระดับที่ไม่ค่อยได้ฟังจากแอมป์พิกัดราคานี้ [อัลบั้ม 1996 – Ryuichi Sakamoto] ช่วงนึงที่จับคู่กับลำโพงตั้งพื้น Polk R700 ให้มิติเวทีเสียงโอ่อ่า มีด้านลึกที่เป็นโถงซ้อนเป็นชั้น ๆ ลงไป ไม่วูบวาบ ระบุตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ไม่มั่วหรือสับสน แสดงให้เห็นถึงพละกำลังแฝงที่ดีของแอมป์ที่อัดฉีดกระแสได้อย่างฉับไวต่อเนื่อง ปลายแหลมมีน้ำหนัก ความกังวาน และทอดปลายได้สุด [อัลบั้ม The All Star Percussion Ensemble]

กับดนตรีที่เน้นความหนักแน่นและจังหวะที่แม่นยำ CXA81 สามารถควบคุมลำโพงได้อย่างน่าชื่นชม เสียงกระตุกสายดับเบิ้ลเบสขึ้นรูปและลอยเด่นเป็นทรวดทรงที่ชัด ให้ทั้งมวลและน้ำหนักที่น่าพอใจ ในขณะที่ตรึงตำแหน่งของเสียงร้องนิ่งสนิทเป๊ะอยู่ตรงกลางได้อย่างมั่นคง [อัลบั้ม Sabuydee – Mellow Motif] บางแทร็คช่วงเดินเบสได้ยินเสียงมวลเสียงเบสทิ้งตัวสะท้านห้องฟังกันเลย [อัลบั้ม Safe Trip Home – Dido]

กระซิบว่าภาคปรีแอมป์ของ CXA81 ก็ไม่ธรรมดา เรียกว่าใช้ทดแทนปรีแอมป์แบบแยกชิ้นได้อย่างไม่ขัดเขิน ผู้เขียนทดลองต่อช่องปรีเอาต์มาเข้าเพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX ดูปรากฎว่าอัพเกรดด้านน้ำหนักเสียง เนื้อเสียง การย้ำเน้นที่เด็ดขาดและเวทีเสียงที่แผ่กว้างขยายขึ้นไปอีกระดับ โดยยังคงข้อดีที่เป็นสาระสำคัญของ CXA81 เอาไว้เช่นเดิม เรียกว่าส่งเสริมกันและกันได้อย่างเหมาะสมลงตัว

อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ

สรุป

ชุดเครื่องเสียง CXC และ CXA81 ถือว่าเป็นคอมโบเซ็ตที่เข้ามาเติมเต็มตัวเลือกชุดเครื่องเสียงระดับเริมต้นถึงกลางได้ดี มีความลงตัวทั้งรูปลักษณ์และน้ำเสียง รวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่รองรับการอัพเกรดได้อย่างคุ้มค่า ไม่มีการด้อยคุณภาพในทุกภาคส่วน เรียกว่าเป็นกำไรของผู้ซื้ออย่างแท้จริง รวมถึงน้ำเสียงที่ยังคงเสน่ห์ของ Cambridge Audio เอาไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่นดังเดิม แนะนำว่าหากท่านไม่ได้เล่นแผ่นซีดีเป็นหลัก เปลี่ยนจาก CXC เป็นเน็ตเวิร์กเพลเยอร์อย่าง CXN (V2) แทนก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน


ขอขอบคุณบริษัท บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด โทร. 02-904-2000 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้

Exit mobile version