What HI-FI? Thailand

“ห้องฟัง” ตัวแปรสำคัญของคุณภาพเสียง

DAWN NATHONG

เสียงจากลำโพงที่เราได้ยิน เกิดจากการผสมกับเสียงสะท้อนของห้อง ดังนั้นคุณภาพ “ห้องฟัง” จึงเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งต่อคุณภาพเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับนักเล่นหลายท่าน น่าจะเคยเจอกรณีที่เซ็ตลำโพงในห้องฟังอย่างไรก็ไม่ลงตัวเสียที โดยเฉพาะเสียงเบสที่โด่งหรือวูบหายในบางช่วงความถี่มากจนน่ารำคาญ กวนย่านกลางแหลมจนไม่คมชัด ขาดรายละเอียด ไม่ว่าจะขยับตำแหน่งอย่างไรก็ไม่ช่วยให้ปัญหาบรรเทาลงได้มากนัก อุตส่าห์นำอุปกรณ์ปรับอคูสติกส์เข้ามาช่วย ก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน และกลับไปสร้างปัญหาใหม่เพิ่ม เช่น กลางแหลมแห้งแล้งขาดชีวิตชีวา เสียงสงัดแต่รายละเอียดหยุมหยิมและบรรยากาศหายเกลี้ยงฟังแล้วอึดอัด ท้ายสุดต้องย้ายลำโพงออกไปไว้ห้องอื่น หรือวางในห้องรับแขกเปิดโล่ง  ปรากฎว่าเสียงกลับน่าฟังกว่า โดยที่ไม่ต้องเซ็ตอัพอะไรมากมาย

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับท่านที่มีสัดส่วนห้องฟังที่ดีด้วย บางห้องแทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ปรับอคูสติกส์จริงจังเลย ก็ให้เสียงที่น่าฟังแล้ว เพราะตัวแปรสำคัญที่สุดของปัญหานี้ เกิดขึ้นจากสัดส่วนของห้องฟังที่ไม่ดีนั่นเอง หรือพูดง่าย ๆ นั่นคือเมื่อสัดส่วนห้องฟังของท่าน เป็นสัดส่วนที่หารกันลงตัว เช่น กว้าง 3 เมตร ลึก 6 เมตร เป็นต้น สัดส่วนห้องในลักษณะนี้ จะมีโอกาสเกิดสแตนดิ้งเวฟ หรือคลื่นค้างในย่านความถี่ต่ำที่รุนแรงมากกว่าปกติ และยิ่งมีเพดานเตี้ยด้วยแล้ว ปัญหานี้ก็จะยิ่งทวีคูณเป็นเงาตามตัว

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการก่อนอื่นคือย่านความถี่ต่ำ ไม่ใช่ย่านกลางแหลม หากท่านจัดสมดุลย่านความถี่ต่ำในห้องฟังได้ดี ย่านกลางแหลมก็จะเปิดเผยมีรายละเอียดมากขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

การเลือกใช้อุปกรณ์ปรับอคูสติส์เข้ามาช่วย จำเป็นต้องมีการคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งต้องบอกว่า เป็นการยากที่จะจัดการปัญหาความถี่ต่ำได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ไปกระทบกับย่านความถี่อื่น โดยเฉพาะย่านความถี่ที่มีพลังงานน้อยอย่างความถี่สูง และอุปกรณ์ปรับอคูสติกส์เฉพาะทางที่สามารถจัดการความถี่ต่ำอย่างได้ผลจริง ๆ นั้น มีราคาค่อนข้างแพง

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผู้เขียนอยากเสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างง่าย ๆ ที่ท่านสามารถลองทำได้ด้วยตนเอง และอาจไม่ต้องเสียงงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว น่าจะช่วยให้ท่านอยู่กับลำโพงสุดรักสุดหวง ในห้องฟังเดิมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยไม่ต้องรีบไปลงทุนกับอุปกรณ์ปรับอคูสติกส์ หรือเปลี่ยนสาย เปลี่ยนอุปกรณ์เสริมจนหลงประเด็นและบานปลาย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ คือต้องแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุ

1.เลือกลำโพงให้เหมาะสมกับขนาดห้อง

นี่น่าจะเป็นปัญหาสุดคลาสสิคที่นักเล่นหลายคนมองข้ามมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดปัญหากับการเลือกลำโพงขนาดใหญ่เกินตัว เข้าไปอยู่ในห้องฟังขนาดเล็กที่ไม่สามารถรองรับช่วงความยาวคลื่นของย่านความถี่ต่ำที่ลำโพงให้ออกมาได้ ต้องหาอุปกรณ์เสริมมาช่วยแก้ปัญหา กลายเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และลดทอนประสิทธิภาพของลำโพงลงไปอย่างน่าเสียดาย การเลือกลำโพงระบบตู้ปิด หรือมีท่อพอร์ทที่ไม่ยิงออกด้านหลังโดยตรง ก็ช่วยได้เช่นกัน

2.การวางลำโพงตามแนวยาวของห้อง

สำหรับห้องที่มีสัดส่วนหารกันลงตัว วิธีที่ผู้เขียนทดลองแล้วได้ผลลัพท์น่าพอใจ ช่วยลดปัญหาย่านความถี่ต่ำในห้องให้ราบเรียบขึ้น มากกว่าการวางลำโพงตามแนวกว้างของห้องแบบปกติ คือการวางลำโพงตามแนวยาวของห้อง โดยอาจเริ่มต้นตามกฎ Rule of Thirds คือวางลำโพงในระยะหนึ่งในสามของความยาวห้องก่อน วิธีนี้ทำให้ลำโพงหนีห่างจากผนังด้านข้างได้มากเป็นพิเศษ ลดผลกระทบจาก Early Reflection ซึ่งจะสะท้อนกลับมากวนเสียงหลัก ทำให้ได้รายละเอียดเสียงและความชัดเจนของอิมเมจในเวทีเสียงทีดีกว่า แม้จะต้องวางลำโพงชิดผนังหลังมากขึ้น ก็สามารถแสดงมิติตื้นลึกออกมาให้สัมผัสได้ หักลบกับระยะห่างผนังด้านข้างแล้ว จะได้ความถี่ต่ำที่สมดุลและราบเรียบมากขึ้นกว่าเดิม

3.แก้ปัญหาลำโพงที่มีท่อระบายเบสด้านหลัง

ส่วนใหญ่เมื่อจัดวางลำโพงตามแนวยาวของห้องฟังแล้ว สมดุลเสียงก็จะดีขึ้นพอสมควร แต่สำหรับท่านที่มีห้องขนาดเล็ก และใช้ลำโพงตู้เปิดซึ่งมีท่อระบายเบสด้านหลัง เมื่อวางลำโพงตามแนวยาว อาจขยับลำโพงหนีห่างผนังหลังไม่ได้มาก (วัดจากหลังลำโพงไม่ถึง 60 ซ.ม.) ทำให้เสียงเบสยังมีอาการบวม ล้น แนะนำให้ใช้โฟมอุดท่อพอร์ตลำโพงที่แถมมาด้วย เพื่อลดปริมาณความถี่ต่ำลง ท่านอาจทดลองขยับโฟมเข้า-ออก เพื่อหาระยะที่เหมาะสม วิธีนี้จะช่วยลดความอื้ออึง และทำให้เสียงเบสมีความสะอาดขึ้นได้

4.ขยับตำแหน่งนั่งฟัง

ขณะท่านนั่งฟังบนโซฟา ลองขยับศีรษะมาข้างหน้าหรือข้างหลังดู ท่านจะพบว่าความถี่ต่ำมีความเปลี่ยนแปลงไปตามระยะของศีรษะ เนื่องจากคลื่นค้างหรือสแตนดิ้งเวฟในห้องมีลักษณะเป็นลูกคลื่น (โด่ง-วูบ) ไปตลอด ด้วยวิธีนี้ ท่านสามารถขยับตำแหน่งนั่งฟังเพื่อไฟน์จูนสมดุลของเสียงได้อีกทางหนึ่ง

5.ห้องฟังทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส

นี่น่าจะเป็น Bad Case อย่างแท้จริงในแง่ของสัดส่วนห้องฟัง หรือเรียกว่าห้องปราบเซียน ยิ่งถ้าความสูงของห้องฟังใกล้เคียงกับด้านกว้างยาวด้วยแล้ว แทบจะต้องเอวังกันเลยทีเดียว แต่ก็มีวิธีซึ่งพอจะช่วยบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้ โดยยังไม่ต้องรีบลงทุนปรับอูสติกส์ นั่นคือการวางลำโพงในลักษณะหนีมุม หรือวางตามแนวทแยงของห้อง วิธีนี้จะช่วยลด Early Reflection จากการวางลำโพงขนานกับผนัง รวมถึงทำให้ลำโพงหนีห่างจากตำแหน่งที่เกิดสแตนดิ้งเวฟรุนแรงมากที่สุด นั่นคือมุมห้องด้วยอีกทาง

หมายเหตุ บทความนี้ผู้เขียนต้องการใช้คำอธิบายง่าย ๆ และไม่อิงหลักวิชาการมากนัก เพื่อเป็นแนวทางเริ่มต้นในการแก้ปัญหาการวางลำโพงในห้องฟังที่ไม่ได้สัดส่วน ก่อนที่ท่านจะลงทุนไปกับอุปกรณ์ราคาแพงเพื่อแก้ปัญหา ลองทำตามนี้ดู อาจช่วยประหยัดเงินได้หลายสตางค์ทีเดียว


Exit mobile version