บางคนอาจจะมองในแง่ว่า ลำโพงใหญ่ในห้องเล็ก แต่ผมอยากให้มองลงไปลึกถึงตัวอย่างหนึ่งในการออกแบบที่ได้มีการคิดคำนึงถึง “ความพร้อมของการตั้งวาง” เพื่อใช้งานได้ทั้งในลักษณะ Near Field และ Far Field จากการเตรียมตำแหน่งติดตั้งตัวขับเสียง Mid-range และ Tweeter ไว้ให้เลือกใช้งานได้ทั้งสองฝั่ง ตามแต่ความเหมาะสมของรูปแบบการใช้งาน “JBL 4355” ได้รับการออกแบบเป็น Studio Monitor ระบบ 4-Way, 5-Speaker, Bass Reflex System ซึ่งจากการเลือกใช้วูฟเฟอร์ (2235H) ขนาดใหญ่ 15 นิ้ว จำนวน 2 ตัวนั้น ทำงานร่วมกับ Mid-range Low Band แบบ Cone Type (2202H) ขนาด 12 นิ้ว; Mid-range & High Band แบบ Horn Type (2441 + 2308 + 2311) และทวีตเตอร์แบบ Horn Type (2405H) ก็เพื่อต้องการให้ครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้กว้างขวางเต็มทั้งช่วงย่าน 28-20,000 Hz (+ 3 / -6dB) ในยุคที่ระบบการบันทึกเสียงมีการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง การมีราคาจำหน่ายต่อข้างอยู่ที่ 1,200,000 เยน (ในช่วงปี ค.ศ. 1984) นี่จึงเป็นลำโพงที่ไม่ธรรมดาในฐานะรุ่นสูงสุดของความเป็น Studio Monitor จาก JBL ภายใต้มิติขนาด 1,223 x 901 x 510 มม. ด้วยน้ำหนักที่มากถึง 120 กก./ข้าง
_______________