พิพัฒน์ คคะนาท
ศาสตร์และศิลป์แห่งงานวิศวกรรมลำโพง
ลำโพงแบรนด์นี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้ไม่นาน อายุอานามยังไม่ถึงหนึ่งทศวรรษด้วยซ้ำ ด้วยก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1911 โดยวิศวกรลำโพงที่มากความสามารถรายหนึ่ง คือ Gedminas Gaidelis
โดยลำโพง AudioSolutions ทั้งหมดได้ผลิตขึ้นในโรงงานที่เมือง Vilnius ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลิธัวเนีย (ปัจจุบันลิธัวเนียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ EU) ผู้ผลิตบอกว่าการพัฒนาสุดยอดลำโพงเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง พวกเขาได้รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกฏเกณฑ์ในการออกแบบที่ดี เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เครื่องไม้เครื่องเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง วัสดุอุปกรณ์ชั้นเลิศ รวมทั้งความต้องการอันเป็นที่สุดของนักฟัง แล้วนำมาหลอมรวมกันด้วยความลงตัวอย่างถึงที่สุดในการก่อให้เกิดขึ้นมาเป็นลำโพงภายใต้ชื่อนี้
ที่สำคัญ, ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกชิ้นส่วน แม้แต่ชิ้นที่เล็กที่สุดที่นำมาประกอบกันขึ้นมาเป็นลำโพงแบรนด์นี้ ล้วนถูกผลิตขึ้นด้วยงานฝีมือแบบ Hand Crafted ทุกชิ้น และผ่านการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด จนมั่นใจได้ว่าปราศจากความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องใดๆ แม้แต่เพียงน้อยนิด ก่อนที่จะถูกนำไปใช้งาน
พร้อมยืนยันว่าทุกสรรพสิ่งที่อยู่เบื้องหลังชื่อ AudioSolutions ล้วนผ่านการเคี่ยวกรำมาอย่างหนักปีแล้ว ปีเล่า ทั้งในแง่ของการวิจัย ค้นคว้า และพัฒนา ไม่เพียงแต่เพื่อนำมาสู่การเป็นลำโพงในอุดมคติ สำหรับการถ่ายทอดเสียงดนตรีที่นักฟังทุกคนต้องการเท่านั้น หากยังได้ก้าวล่วงไปถึงจุดอันเป็นที่ยอมรับ ว่าเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีแนวคิดอันก้าวล้ำ และเป็นผู้นำในการออกแบบเชิงนี้อย่างแท้จริงอีกด้วย
รวมทั้งยังมีก้าวย่างอยู่ในยุทธจักร Hi-End อย่างมั่นคงยิ่ง
AudioSolutions Overture Series
กล่าวสำหรับลำโพงในอนุกรม Overture Series นั้น ถือได้ว่าเป็นกลุ่มลำโพงในระดับ Entry Level ของค่าย ที่ปกติแล้วมีกลุ่มลำโพงอยู่ทั้งหมดสามซีรีย์ และมีลำโพงรุ่นพิเศษแยกต่างหาก โดยลำโพงอนุกรมโอเวอร์เจอร์ได้รับแรงบันดาลใจให้มีการพัฒนาต่อมาจากอนุกรมก่อนหน้านี้ คือ Euphony Series
โดยมีลำโพงทั้งหมด 5 รุ่น ด้วยกัน แยกเป็นแบบวางพื้นทรงทาวเวอร์ 3 รุ่น ลำโพงแบบวางหิ้งและลำโพงเซ็นเตอร์อย่างละ 1 รุ่น ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานทั้งในรูปแบบการดูหนัง และใช้ฟังเพลง ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ความคุ้มค่าสูงสุด ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบที่คลาสสิคในตัวเอง
และแม้ว่าจะถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่อนุกรม Euphony Series แต่กล่าวโดยรวมแล้ว นอกจากมันจะมีความน่าสนใจกว่าแล้ว มันยังให้การทำงานและมีสุ้มเสียงที่โดดเด่นอันบ่งบอกความเป็นลำโพงชั้นเลิศของ AudioSolutions ได้เป็นอย่างดี Overture Series จึงเป็นย่างก้าวแรกที่สำคัญของใครก็ตามที่สนใจในการเล่นเครื่องเสียง และต้องการก้าวไปสู่การเป็นออดิโอไฟล์ที่มีคุณภาพในอนาคต
สำหรับ Overture O202B ที่นำมาให้รู้จักกันเที่ยวนี้ เป็นลำโพงแบบวางหิ้งที่สามารถกล่าวว่า เป็นรุ่นเล็กสุดของค่ายนี้
กับภาพลักษณ์และคุณสมบัติทั่วไป
ผู้ผลิตบอกว่าลำโพงรุ่นนี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการฟังเพลงในระบบสเตรีโอ 2-แชนเนล ตามปกติแล้ว ยังนำไปเป็นส่วนร่วมกับลำโพงวางพื้นในระบบโฮม เธียเตอร์ หรือจะใช้เป็นลำโพงชุด 5-แชนเนล ทั้งการทำหน้าที่เป็นลำโพงคู่หลัก ลำโพงเซ็นเตอร์ และลำโพงให้บรรยากาศเสียงรายรอบ ซึ่งนอกจากจะให้ความเนื่องของเสียงได้เท่าเทียมกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังให้สมดุลเสียงอย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย
ยอกจากนี้, ด้วยขนาดที่เล็ก กะทัดรัด แบบมีความเพรียวบางอยู่ในที ทำให้มันสามารถนำไปตั้งวางได้อย่างไม่ยุ่งยาก รวมทั้งการมีผิวของโครงสร้างตู้ให้เลือกอย่างหลากหลาย ทำให้สามารถเลือกนำไปใช้กับห้องต่างๆ เพื่อความลงตัวกับเฟอร์นิเจอร์ และบรรยากาศห้องที่แตกต่างกันไปได้อย่างเหมาะสม
โครงสร้างขึ้นรูปด้วย MDF ที่มีความหนาของผนังแต่ละด้าน 36 มิลลิเมตร ซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีความแม่นยำและเที่ยงตรงสูง ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์แบบ Precision CNC (Computer Numerical Control) Machine ภายในตู้มีการคาดดามเอาไว้ด้วยเทคนิคพิเศษ ที่นอกจากจะเป็นการช่วยเสริมความแกร่งให้กับตู้แล้ว ยังทำให้ขณะทำงานร่วมกับชุดตัวขับเสียงที่ย่านความถี่ต่างๆ มีความเสถียรเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะการทำงานในย่านความถี่ต่ำๆ นั้น สามารถให้ประสิทธิภาพออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่แผงหน้าตู้ในส่วนที่ติดตั้งทวีทเตอร์นั้น มีลักษณะลึกเว้าเข้าไปเหมือนการทำงานในแบบ Horn Loaded ซึ่งนอกจากทำให้วัดค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิครวม หรือ THD ออกมาได้ต่ำสุดในบรรดาลำโพงกลุ่มราคาระดับเดียวกันแล้ว ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพที่ทำให้ได้ค่าความไวเพิ่มมากขึ้นขณะทำให้อยู่ในย่านความถี่ที่เป็นช่วงวิกฤติอีกด้วย
ครับ, นั้นก็เป็นที่ผู้ผลิตเกริ่นนำให้ทราบโดยรวม ซึ่งหลังจากที่ผมกระจ่างกับชื่อนี้แล้ว ผมกลับไปที่กล่องลำโพงที่วางอยู่หน้าห้องอีกครั้ง คราวนี้เลื่อนมาวางที่เหมาะๆ เพื่อเปิดกล่องตามรอยเก่าที่เคยเปิดมา ซึ่งพบว่าเป็น Packaging มั่นคงแข็งแรงดีมาก ปกป้องการกระทบกระแทกจากการขนส่งได้เป็นอย่างดี
หลังจากเอามาตั้งวางเพื่อพิจารณาโครงสร้าง งานฝีมือ พบว่าดูดีมีความประณีตสูงมาก ผิวตู้เป็นเส้นคล้ายลายไม้เป็นริ้วน้ำตาลแก่ อ่อน สลับเหลื่อมกันไป ซึ่งผู้ผลิตระบุว่าเป็นสีผิวตู้แบบ Rotted Zebrano ที่มีโครงสร้างกรอบคาดด้านข้าง และด้านบน ด้วยผิววัสดุที่แตกต่างไปจากบริเวณที่เป็นผนังตู้ด้านข้าง และกับภาพรวมแล้วเป็นลำโพงที่ดูเหมือนจะเปิด เปลือย ด้วยไม่มีแผงหน้ากากแบบที่คุ้นชิน เช่น แผงผ้ายืดขึงกรอบปิดทับ ทว่า, ในความเป็นจริงแผงหน้าที่แลเสมือนลบเหลี่ยมมุม มนเว้าเข้ามาด้านในทั้งสี่ด้านแบบสอบเข้าหากันตอนล่างนั้น นั่นแหละครับคือแผงหน้าตู้เพราะสามารถดึงออกมาได้ ด้วยมีหมุดยึดด้านในแบบสี่มุม
เป็นแผงหน้าที่ใช้วัสดุแบบเดียวกับที่ขึ้นรูปเป็นกรอบด้านข้าง แล้วพาดโครงสร้างตู้ไปทั้งด้านบน และด้านล่าง จึงแลดูกลมกลืนกับโครงสร้างหลักของตัวตู้เป็นอย่างดี แผงหน้านี้เมื่อดึงออกมาก็จะมีส่วนที่เป็นบริเวณแบบวงกลมโปร่งที่เซาะเว้าลึกเข้าด้านใน เพื่อเปิดโปร่งและช่วยให้ไดรเวอร์ทั้งสองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับทวีทเตอร์ดังที่บอกไว้ข้างต้น เป็นรูปแบบของแผงหน้าที่ผู้ผลิตบอกว่าออกแบบมาเป็นพิเศษ ในลักษณะของ Unique Protective ‘Stealth’ Grille ครับ
แผงด้านหลังตู้ด้านบนเป็น Port หรือท่ออากาศ ที่เป็นส่วนหนึ่งของรับบการทำงานของลำโพงที่เป็นแบบ Bass Reflex เป็นท่ออากาศที่ออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะ High-Flow Port ที่ปากปล่องท่อบานออกด้านหน้าเล็กน้อย ซึ่งเป็นท่อที่ขณะที่คลื่นอากาศ (เสียง) ผ่านออกมานั้นจะช่วยลดเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนตอนล่างของแผงหลังตู้นั้น ติดตั้งเอาไว้ด้วยขั้วต่อสายลำโพง 2 ชุด ซึ่งเป็นแบบ Binding-Post คุณภาพสูง สำหรับรองรับการทำงานแบบ Bi-Wiring หรือการเล่นเครื่องเสียงแบบ Bi-Amplification โดยมีแผงโลหะคร่อมขั้วทั้งสอง (Clamp) ติดมาให้ด้วย เพื่อความสะดวกในการใช้งานแบบ Single Wired
สำหรับคุณสมบัติทางด้านเทคนิค หรือ Specifications ระบุว่า เป็นลำโพงแบบ 2-ทาง ทำงานในระบบ Bass Reflex วูฟเฟอร์ (Mid-Bass Driver) ขนาด 15 เซ็นติเมตร ขึ้นรูปกรวยด้วยกระดาษแบบ Cone เว้าลึกเหมือนแอ่งกระทะ ทวีทเตอร์ขนาด 2.5 เซนติเมตร ขึ้นรูปแบบ Dome ด้วยผ้าไหม อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม ลดลงต่ำถึง 6 โอห์ม, ที่ 300 เฮิทซ์ ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 48 – 26,000 เฮิทซ์ โดยมีจุดตัดความถี่ที่ 1,950 เฮิทซ์ วัดค่าความไวได้ 90 ดีบี, ที่ 2.83 โวลท์/1 เมตร รองรับกำลังขับตามปกติได้ 50 วัตต์อย่างต่อเนื่อง และก่อนเกิดอาการขับเกินกำลัง (Clipping) ที่ 100 วัตต์
มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 191 x 340 x 310 มิลลิเมตร น้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม/ตู้
และใคร่กล่าวย้ำอีกครั้ง, ว่า AudioSolutions O202B คู่นี้กอปรกันขึ้นมาด้วยภาพลักษณ์ที่เรียบหรู ดูดี และดูมีรสนิยมอย่างมาก แลลงตัวดีจริงๆ
กับการลองเล่นและคุณภาพเสียง
ระยะหลังๆ ดูจะพบเห็นลำโพง Bookshelf โดยเฉพาะแบบ 2-ทาง ถูกออกแบบมาในลักษณะที่เป็น ‘ลำโพงกลับหัว’ ให้เห็นผ่านตามากขึ้นเรื่อยๆ
เป็นลำโพงกลับหัวในความคุ้นชินโดยเปลี่ยนเอาทวีทเตอร์มาวางด้านล่าง แล้วเอาตัวขับเสียงกลาง/ต่ำไปติดตั้งไว้ที่ขอบตู้ด้านบนนั่นเอง จึงออกจะแปลกตาไปจากความเคยคุ้นอยู่ไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแนวทางในการออกแบบใหม่แต่อย่างใดนะครับ เนื่องเพราะก่อนหน้านี้เป็นสิบ ยี่สิบปี ก็เคยเห็นลำโพงวางหิ้งที่ติดตั้งชุดตัวขับเสียงแบบนี้มาบ้างแล้ว เพียงแต่ไม่ผ่านตาบ่อยเหมือนช่วงสองสามปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด
ผมวางลำโพงคู่นี้ลงบนขาตั้งที่เป็นแท่งโลหะ ความสูงประมาณสองฟุต ใต้ฐานลำโพงแปะแผ่นวัสดุกันลื่นขนาดประมาณเหรียญสิบบาทมาจากโรงงานเรียบร้อย จากนั้นก็ต่อเข้ากับแอมป์ประจำห้อง ขนาดกำลังขับ 180Wrms ซึ่งเป็นแบบ Dual Mono ที่หากจะว่าไปแล้วก็ออกจะห่างชั้นกันสักหน่อยระหว่างแอมป์กับลำโพง แต่ห้วงนั้นมันหาแอมป์ที่คู่ควรกันระดับ 80-100Wrms ไม่ได้จริงๆ เป็นการต่อเล่นใช้งานกับสายลำโพงชุดเดียว แอมป์ทำงานร่วมกับเครื่องเล่น SACD ที่เป็นเครื่องสามัญประจำห้องเช่นเดียวกัน รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ทั้งสายอินเตอร์คอนเน็คท์ สายลำโพง ที่ทั้งหมดล้วนเป็นความมักคุ้นระดับเกินเพดานทั้งสิ้น จึงออกจะเป็นเรื่องดีที่มีเพียงลำโพงเท่านั้นที่คือความไม่คุ้นเคยแม้แต่เพียงน้อย ทำให้พอจะช่วยจับทางลำโพงคู่นี้ได้ง่ายอยู่สักหน่อย
และ AudioSolutions O202B คู่นี้ก็ดูท่าจะผ่านระยะเวลาของการเบอร์น-อินมาแล้ว จึงน่าจะได้ความหลังการฟังผ่านพ้นไปไม่กี่มากน้อย
แรกที่ได้ยินเสียงเครื่องสายจากวง String Quartet นั้น ให้รู้สึกทึ่งไม่น้อย ด้วยให้ความกลมกลืนของเสียงออกมาได้เป็นอย่างดี ปลายเสียงรับรู้ได้ถึงความนุ่มเนียนพอตัว จับความแตกต่างระหว่างไวโอลินกับวิโอล่าได้พอประมาณ ซึ่งนั้นก็เนื่องด้วยประสบการณ์และแอมปลิไฟเออร์อย่างเป็นสำคัญ ไม่แน่ใจว่าหากเปลี่ยนแอมป์ไปที่เหมาะควรกับลำโพง เป็นต้นว่าที่ระดับราคาใกล้เคียงหรือแตกต่างกันเล็กน้อย จะจับสังเกตตรงจุดนี้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม, กับงานแชมเบอร์ มิวสิค ที่นำมาเริ่มต้นนั้น ถือได้ว่าลำโพงคู่นี้สอบผ่านไปได้แบบสบายๆ
ยังอยู่กับงานดนตรีแบบที่บรรเลงเครื่องดนตรีไม่มากชิ้นต่อครับ คราวนี้เปลี่ยนไปฟังแจสส์แบบสี่ชิ้น หรือ Quartet บ้าง ประกอบไปด้วยเปียนโน, อัลโต แซ็กซ์, สตริง เบสส์ และกลอง สามสี่แทร็คแรกที่ได้ฟังรับรู้ได้ถึงความลื่นไหลของเสียงที่กลมกลืนกันเป็นอย่างดี และนำไปสู่การมีอารมณ์ร่วมได้ง่ายดาย โดยเฉพาะกับแทร็ค Take Five ที่อดเผลอจะขยับเท้าไหวตัวตามไปด้วยไม่ได้ เข้าทีดีครับ ตัวโน้ตที่ไล่ล้อกันตามจังหวะแห่งท่วงทำนองให้ออกมาได้ชัดเจนดี มีน้ำหนักและเนื้อเสียงให้รับรู้ได้ถึงความอิ่มของเสียงดนตรีอย่างมีอรรถรสเพียงพอ
ลำโพงคู่นี้ให้การทำงานกับเสียงร้องได้อย่างดี เท่าเทียมพอกันทั้งเสียงร้องชายและหญิง กังวานเสียงที่ผ่านริมฝีปากออกมามีความเป็นธรรมชขาติสูง เป็นเสียงร้องที่พุ่ง เปิด ฟังจากอัลบับที่บันทึกเสียงมาดีจะสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติมาก อย่างเสียงของ Ingram Washington ในอัลบัม What a Difference a Day Makes นั้น มีกังวานเสียงที่ให้รับรู้ได้เหมือนมีส่วนร่วมเข้าไปฟังในสติวดิโอนั่นเทียว รวมทั้งยังให้บรรยากาศเสียงออกมาได้อย่างกลมกลืน ขณะที่เสียงของ Thelma Houston ยามประชันกับเสียงดนตรีทั้งวงของ Pressure Cooker ในอัลบัมดนตรีแนว Reggae อย่าง I’ve Got the Music In Me แบบ ‘เอาทั้งวงอยู่’ นั้น ลำโพงคู่นี้สำแดงให้เห็นถึงพลังเสียงของเธอได้เป็นอย่างดี
ส่วนการทำงานร่วมกับงานดนตรีขนาดใหญ่จำพวกออร์เคสตรา ที่บรรเลงด้วยวงซิมโฟนีนั้น Overture O202B ก็สามารถเอาตัวรอดได้อย่างไม่ยากเย็น สื่อถึงรูปวงและขนาดเวทีเสียงออกมาให้รับรู้ได้ว่ามีพอ แม้จะไม่กว้างมากและลึกนักก็ตาม แต่ก็พอจะแยกแยะเสียงของเครื่องดนตรีที่มีมากมาย และหลายหลาก ออกมาจากความทับซ้อนให้เกิดอรรถรสในการฟังได้พอตัว ให้ความต่อเนื่องและความลื่นไหลของเสียงดนตรีออกมาได้ดี จัดเป็นลำโพงที่ให้ความโปร่งใส ไดนามิค และรายละเอียดต่างๆ ของเสียงออกมาได้ในระดับที่ดีพอๆ กันทั้งสามประการ
นับเป็นลำโพงหน้าใหม่ที่ก้าวย่างเข้ามาในยุทธจักรบ้านเราอย่างน่าจับตามอง (ด้วยการต้องไปลองฟังเอง) ไม่น้อยเลยจริงๆ
สรุป
AudioSolutions Overture O202B เป็นลำโพงที่ให้น้ำเสียงออกมาได้คุ้มค่า สมราคา จัดรวมได้อยู่แถวหน้าของกลุ่มลำโพงระดับราคานี้ (ประมาณสามหมื่น+/-) ที่หากอยู่ในงบประมาณของใคร ก็น่าจะควรได้ไปลองฟังก่อนที่จะตัดสินใจกับคู่ใดคู่หนึ่ง
ส่วนฟังแล้วจะถูกกับจริตความชอบหรือไม่, นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลครับ
มีข้อให้สังเกตว่าลำโพงคู่นี้ทำงานได้ดีกับห้องที่มีขนาดพื้นที่ไม่มากนัก และไม่รองรับการเล่นที่ระดับความดังมากๆ สักเท่าไรนัก แต่จะว่าไป, ที่ระดับความดังซึ่งมันไม่พร้อมทำงานด้วยนั้น สำหรับผมแล้ว, มันก็เป็นระดับความดังเสียงที่เกินจำเป็นต่อการฟังอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้บอกเผื่อไว้สำหรับใครที่ชอบเล่นที่ระดับความดังมากๆ เอาไว้ก่อน
ภาพรวมของเสียงให้ออกมาได้น่าพอใจ กลาง/แหลมทำได้ดี โดยเฉพาะเสียงกลางโดดเด่นกว่าย่านความถี่บนล่างเล็กน้อย เบสส์รับรู้ได้ว่ามี แต่ก็ไม่ใด้แสดงให้เห็นว่าจะเอาดีทางด้านนี้สักเท่าไรนัก
กล่าวโดยรวมแล้วมันสามารถทำงานร่วมกับแนวดนตรีประเภทต่างๆ ได้ดีพอตัว ไม่เกี่ยงงอนอะไรมากนัก ยกเว้นกับคลาสสิคที่เป็นงานชิ้นใหญ่อย่างซิมโฟนีที่บรรเลงด้วยออร์เคสตราเต็มวง ด้วยที่ระดับความดัง (เกินจำเป็นสำหรับผมแม้เพียงเล็กน้อยก็เถอะ) มันแยกแยะรายละเอียดเสียงที่ทับซ้อนกันมิใคร่ได้ชัดเจนนัก ซึ่งเมื่อลองลดระดับความดังลงมามันก็สามารถทำงานในประเด็นนี้พอเอาการเอางานได้อยู่
อีกข้อสังเกตก็คือ ผมได้เปลี่ยน Clamp หรือแผ่นโลหะที่ต่อคร่อมขั้วลำโพงที่ให้มา สำหรับการเล่นแบบ Single Wired หรือใช้สายลำโพงชุดเดียว โดยเปลี่ยนไปใช้สายขั้วต่อแบบ Speaker Jumper Cable ที่มีประจำห้อง พบว่าน้ำเสียงมีความเปิดโปร่งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งมีน้ำมีนวล มีเนื้อเสียงที่อวบอิ่มขึ้นให้รับรู้ได้มากขึ้น
ส่วนเรื่องโครงสร้าง ภาพลักษณ์ งานฝีมือนั้น สามารถบอกว่าจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ดีเลิศประเสริฐศรี’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำครับ