DAWN NATHONG
ค่ายแอปเปิ้ลทำเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศวางจำหน่ายหูฟังไร้สายรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง AirPods Pro ทันทีโดยไม่การเปิดตัวล่วงหน้า และทันทีที่มีอย่างเปิดเผยข้อมูลพร้อมราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็เกิดกระแสวิจารณ์ขึ้นทันที รวมทั้งคำถามข้อหนึ่งในเรื่องของความคุ้มค่า
ก่อนหน้านี้หูฟังไร้สายเอียร์บัดอย่าง AirPods ก็เคยถูกค่อนแคะในเรื่องของคุณภาพเสียงอยู่เนือง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาจำหน่าย แต่ไม่ว่าคำกล่าวอ้างเหล่านั้นจะจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราปฎิเสธไม่ได้ว่า แอปเปิ้ลไม่ใช่บริษัทผู้ออกแบบที่เน้นด้านคุณภาพเสียงแบบออดิโอไฟล์เป็นหลัก แต่เน้นไปที่ประสบการณ์ใช้งานอันน่าประทับใจของผู้ใช้เสียมากกว่า
สำหรับ AirPods Pro เมื่อทางแอปเปิ้ลประกาศราคาจำหน่ายออกมาอยู่ที่ 9,490 บาท (ราคาศูนย์ไทย) ทำให้มันเข้าไปอยู่ในพิกัดเดียวกับ WF-1000XM3 หูฟังไร้สายของโซนี่ที่มีราคาค่าตัว 8,990 บาททันที เนื่องจากหูฟังทั้งสองรุ่นนี้ เป็นหูฟัง In-ear แบบทรูไวร์เลสที่มีเทคโนโลยีตัดเสียงรบกวนแบบ Active noise cancellation (ANC) และมีราคาค่าตัวใกล้เคียงกันในงบไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
เราลองมาดูกันว่า AirPods Pro มีเทคโนโลยีอะไรที่จะช่วยทำให้คุณภาพเสียงโดดเด่น ต่อกรกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันได้บ้าง
Active noise cancellation (ANC)
เทคโนโลยีตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟของ AirPods Pro ที่พัฒนามาจากระบบตัดเสียงรบกวนของหูฟัง Beats Solo Pro ใช้ไมค์สองตัวที่อยู่บริเวณด้านนอกและด้านในตัวหูฟัง คอยตรวจจับเสียงภายนอกทั้งด้านนอกและด้านในของรูหู ทำการวิเคราะห์และสร้างสัญญาณเสียงขึ้นมาหักล้างเสียงรบกวนเหล่านั้นทิ้งซะก่อน ทำให้เราได้ยินเสียงจากหูฟังที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ ANC ของโซนี่ ส่วนของใครจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องในการทำงาน ซึ่งทางแอปเปิลเคลมไว้ 200 ครั้งต่อวินาที
Adaptive EQ
นี่น่าจะเป็นหมัดเด็ดของ AirPods Pro ฟังก์ชั่นนี้จะทำการปรับแต่งเสียงเพลงให้เหมาะสมกับรูปทรงภายในหูของผู้สวมใส่โดยอัตโนมัติ โดยจะมีไมโครโฟนหนึ่งตัวคอยวัดระดับเสียงในช่องหู และทำการปรับความถี่ของเสียงย่านกลางและเสียงเบสให้มีความเหมาะสมกับสภาพช่องหูของแต่ละคนมากที่สุด (คล้าย ๆ กับการทำท่อนำเสียงของหูฟังแบบคัสต้อม) นอกจากนี้ยังมีซอฟท์แวร์ที่ช่วยเลือกไซส์จุกซิลิโคน (สามขนาด) ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานอีกด้วย
หากฟังก์ชั่นนี้ของแอปเปิ้ลทำออกมาได้สมราคาคุย ก็น่าจะทำให้ AirPods Pro กลายเป็นหูฟังที่ให้รายละเอียดของเสียงได้ชัดเจน และไม่มีเรื่องข้อจำกัดของลักษณะช่องหูที่แตกต่างกันของผู้ใช้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป
HDR Amplifier + H1 Chip
เรื่องของภาคขยายก็เป็นส่วนสำคัญ AirPods Pro ใช้ภาคขยายประสิทธิภาพสูงแบบ High dynamic range ที่ปรับปรุงใหม่ ทำงานประสานกับชิป H1 ของแอปเปิ้ล ให้ช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างและแบ็คกราวด์น้อยส์ต่ำ ควบคุมการทำงานของไดร์เวอร์ไดนามิกช่วงชักยาว ที่ทำงานโดยให้ความเพี้ยนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยยืดอายุการทำงานของแบตเตอรี่ การเชื่อมต่อกับมือถือเป็น Bluetooth 5.0 และใช้การเข้ารหัสแบบ AAC Codec ของแอปเปิ้ลเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจำกัดปริมาณบิตเรตไว้เท่าไร (รุ่น Airpods รองรับบิตเรตแค่ 256kb/s)
สรุป
อันที่จริง AirPods Pro ยังใส่ฟังก์ชั่นการใช้งานมาให้อีกมากมาย แต่ผู้เขียนขอยกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงโดยตรงมานำเสนอก่อน ถ้าไม่นับเรื่องราคาศูนย์ไทยที่แอบแรงไปนิดกับดีไซน์ที่อาจขัดใจบางคน มองในแง่ของเทคโนโลยีที่แอปเปิลใส่มาให้ทั้งหมดถือว่าไม่ด้อยกว่าคู่แข่ง และการเปลี่ยนมาเป็นหูฟังในลักษณะแยงหูหรือ In-ear ก็ทำให้เรื่องเสียงเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญแล้ว