Old School – Vintage Sound : LUXMAN C-5000A

0

Old School – Vintage Sound

 LUXMAN C-5000A

Ultimate Stereo Preamplifier

มงคล อ่วมเรืองศรี

a

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ ” Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

เอ่ยชื่อ LUXMAN รับรองไม่มีนักเล่นเครื่องเสียงคนใดที่ไม่รู้จัก มากมายหลายรุ่นที่ใครต่อใครยังคงถวิลหา …แต่สำหรับ “C-5000A” หลายคนอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า มีรุ่นนี้อยู่ในสารบบของ LUXMAN

ผู้ที่มีอายุสัก 40 ปีขึ้นไป เป็นต้องเคยทราบถึงกิตติศัพท์ชื่อเสียงโด่งดังอันเป็นที่ยอมรับกันของ LUXMAN ผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับผม 50 ปีกว่าๆขึ้นไปแล้วละก้อ จะรู้ดีว่า ‘LUXMAN’ นั้น –ไม่ธรรมดา– มาตั้งแต่ในยุคสมัยเครื่องเสียงหลอดฯมาแต่เก่าก่อน จนสามารถขึ้นทำเนียบมาแล้วหลายต่อหลายรุ่นกันเลยทีเดียว จนมาปรับเปลี่ยนจากยุดเครื่องหลอดฯสู่ยุคเฟื่องฟูของโซลิด-สเตท ‘LUXMAN’ ก็ยังคงไว้ซึ่งคุณลักษณ์ทางเสียงอันไม่เป็นสองรองใคร

ใครที่หลงใหลใน LUXMAN เมื่อสืบค้นลึกเข้าไปในประวัติฯ จะทราบว่า LUXMAN นั้นนับเป็นแหล่งผลิตวิศวกรระดับคุณภาพประดับไว้ในวงการหลายคน นับจาก Atsushi Miura ที่ร่วมกับ Masami Ishiguro ก่อตั้งแบรนด์ “AIRTIGHT” และ Taku Hyodo ที่แยกตัวออกไปก่อตั้งเป็น “Leben”

แต่ที่สำคัญยิ่งนักจนเป็นที่จดจำกัน สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของ LUXMAN …ในอดีตนั้น ‘Lux Corporation of Japan’ มีบุคคลชื่อว่า Tim de Paravicini นักออกแบบวงจรหลอดฯฝีมือชั้นสุดยอดชาวอิตาลี ที่ได้รับฉายานามว่า King of Tubes นั่นแล อยู่เบื้องหลังในฐานะ chief amplifier designer ของช่วงยุค’70 อยู่ประมาณ 4 ปี ก่อนที่ “Tim de Paravicini” ผู้นี้จะได้ไปก่อตั้ง “EAR” ของตนเองขึ้นมาในภายหลัง อย่างไงล่ะท่าน

ซึ่งแน่นอนว่า “Tim de Paravicini” ได้ทิ้ง “มรดก” ในแนวทางการออกแบบแอมปลิฟายเออร์ไว้ให้แก่ LUXMAN และหนึ่งในนั้นก็คือ “C-5000A” ซึ่งถือได้ว่ามี-ต้นแบบ-ที่ต่อยอดสืบทอดจาก ”C-1000” สุดยอดโซลิด-สเตทปรีแอมป์ที่ Tim de Paravicini ได้เคยออกแบบไว้ในวาระร่วมฉลองครบรอบปีที่ 50 ของ LUXMAN

C-1000 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากตลาดทั้งในและนอกประเทศ จนต่อมาได้รับการพัฒนาต่อยอด โดยวางแผนไว้ว่า “น่าจะ” ออกมาเป็นรุ่น C-1000x ตามแบบ prototyped ที่ได้ออกแบบไว้ในปีค.ศ.1975 …แต่แล้วชะตาฟ้าลิขิตให้ทาง LUXMAN ตัดสินใจยกเลิกการผลิต C-1000x เอาไว้ก่อน (อนึ่งได้มีการออกจำหน่ายรุ่น C-1010 ในภายหลัง ซึ่งจริงๆแล้วต้องนับเป็นเวอร์ชั่นที่รองลงมา เนื่องเพราะได้ถูกตัดฟังก์ชั่นบางอย่างออกไป และตั้งราคาจำหน่ายไว้ย่อมเยากว่า C-1000 อยู่ราวสองหมื่นเยน)

จนกระทั่งในปีค.ศ.1979 “C-5000A” ก็ได้ปรากฏโฉมออกมา ภายใต้การพัฒนาที่รุดหน้าไปไกลยิ่งกว่า “C-5000” ตัวต้นแบบสมัยที่ยังเป็น prototyped ตอนที่ได้ออกแบบไว้พร้อมๆกับ C-1000x (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ทำไมLUXMAN ตัดสินใจยกเลิกการผลิต C-1000x เอาไว้ในตอนนั้น ทั้งๆที่ก็ได้มี “ต้นแบบ” วางเอาไว้แล้ว) และก็ยังได้ชะลอการออกจำหน่ายรุ่น C-5000 เอาไว้ด้วยเช่นกัน จนมาทำการผลิตจำหน่ายจริงในอีก 4 ปีถัดมา ภายใต้ชื่อรุ่นว่า C-5000A อย่างที่ว่า ทั้งๆที่ไม่เคยได้ผลิตจำหน่าย C-5000 มาก่อนหน้าเลยด้วยซ้ำ !!!

e

รูปลักษณ์

TheVintageKnob.org ได้อธิบายถึง “C-5000A” เอาไว้ว่า นี่คือปรีแอมป์ที่มีราคาจำหน่ายแพงที่สุดในช่วงยุค “classic” ของ LUXMAN (355,000 เยน หรือ ประมาณ 1,400 ดอลล่าร์สหรัฐ) …แพงยิ่งกว่า C-1000 ที่ Tim de Paravicini ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบไว้ซะอีก ซึ่งหากจะว่าไป “C-5000A” อาจจะไม่ได้มีรูปลักษณ์-หน้าตาเหมือนอย่างที่เป็นก็ได้ หากว่ามี C-5000 ออกมาจำหน่ายในช่วงปีค.ศ.1975 อย่างที่ได้วางแผนไว้แต่แรก และอาจเป็นไปได้ว่า ถ้าหากจะผลิต “C-5000” ออกจำหน่ายจริง น่ามีราคาสูงมากจนเกินไปในยุคนั้น จนต้องตัดสินใจชะลอเอาไว้ก่อน

แต่ด้วยความที่ LUXMAN ตัดสินใจหยิบเอา C-5000 มาขึ้นไลน์การผลิตในอีก 4 ปีถัดมา จึงทำให้ต้องปรับปรุง-พัฒนาหลายต่อหลายส่วนจน “แตกต่าง” จาก prototyped ดั้งเดิม พร้อมๆกับการเปลี่ยนชื่อรุ่นมาเป็น “C-5000A” และเนื่องจากออกจำหน่ายในช่วงปีเดียวกับที่ L-58A – หนึ่งในอินติเกรตแอมป์สุดคลาสสิกของ LUXMAN จึงทำให้ “C-5000A” มีรูปลักษณ์และหน้าตาละม้ายคล้ายคลึง หรือ ไปในทางเดียวกับ L-58A นั่นแล

แต่ทว่าถ้าดูลึกเข้าไปภายในเครื่อง จะพบว่า “C-5000A” นั้น-แตกต่าง-อย่างมากๆเมื่อเทียบกับปรีแอมป์ในยุคเดียวกัน ด้วยรูปแบบการจัดวางแผงวงจรต่างๆที่ล้วนเป็นแบบ double-sided printed circuit ไว้ในลักษณะของการแยกแผงวงจรออกเป็นแผ่นย่อยๆ (separate boards) สำหรับแต่ละภาคการทำงานของแต่ละแชนแนลโดยตรงอย่างเป็นอิสระ (เพื่อความสะดวกง่ายดายในการเซอร์วิส และช่วยลดการรบกวนกันเองของวงจรไฟฟ้าในลักษณะของ electromagnetic distorted ไปพร้อมๆกัน คล้ายคลึงกับการออกแบบที่ใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบัน) มากถึง 9 แผงด้วยกัน พร้อมกันนั้นก็ยังใช้ Duo-Beta Circuitry” ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะซึ่ง LUXMAN พัฒนาขึ้นจนโด่งดังและเป็นที่ยอมรับกันในคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับที่สร้างชื่อไว้มากให้แก่ L-58A อีกด้วย

นอกเหนือจากความแตกต่างอย่างไม่ซ้ำแบบใครในการใช้ separate boards แล้วไซร้ ภาคจ่ายไฟที่ใช้อยู่ใน “C-5000A” ยังเป็นแบบ high-speed constant-voltage regulated power supply อันทันสมัย ด้วยการใช้หม้อแปลงแบบ Toroidal ขนาดใหญ่ ซึ่งแยกการพันขดลวดทุติยภูมิออกเป็น 2 ชุดสำหรับแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวาอย่างเป็นอิสระ ซึ่งหากดูขนาดของหม้อแปลงแบบ Toroidal ที่ใช้อยู่ใน C-5000A แล้วละก้อ น่าจะเหมาะสมใช้งานอยู่ในเพาเวอร์ แอมป์ขนาดกำลังขับสัก 2×25 วัตต์ …แต่นี่ LUXMAN นำมาใช้งานในปรีแอมป์ จึงทำให้สมรรถนะในการจ่ายพลังงานนั้น พูดได้ว่า “เหลือเฟือ” จริงๆ

ยิ่งกว่านั้นอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ยังผ่านการเลือกสรรอย่างดีมากๆ  นับตั้งแต่สวิทช์ต่างๆที่ล้วนเป็นแบบ non-magnetic-material ทั้งสิ้น, คาปาซิเตอร์ในทางเดินสัญญาณแบบ non-polar film capacitor รวมถึงการใช้ tantalum resistor อีกด้วย ส่วนปุ่มปรับระดับความดังเสียงก็ใช้ conductive plastic volume control เกรดสูงสุดของ Alps ซึ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ LUXMAN ต้องกำหนดราคาจำหน่าย “C-5000A” ไว้สูงมาก-สูงที่สุดในมวลหมู่ปรีแอมป์ และได้รับยกย่องว่าเป็น masterpiece ของ LUXMAN ช่วงยุคปี’70

item-photos-2016-2-19-004

สมรรถนะทางเสียง

จริงๆแล้ว ความอยากได้ “C-5000A” มาครอบครองของผม สืบเนื่องมาจากความชื่นชอบในรูปลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และให้คุณภาพเสียงที่ดีมากๆเกินราคาของ L-58A อันมีที่มาจากวงจร Duo-Beta Circuitry ที่ใช้อยู่ในอินติเกรตแอมป์รุ่นนี้ (และต่อเนื่องมาอีกหลายต่อหลายรุ่น) จึงทำให้เข้าไปสืบค้นดูว่า LUXMAN ได้จัดทำชุดแยกชิ้นในลักษณะนี้ไว้หรือไม่ เพราะต้องการ “สมรรถนะ” ที่สูงขึ้นไปจากอินติเกรตแอมป์ …ก็เลยไปพบเข้ากับ “C-5000A”

…แน่นอนครับ “C-5000A” มีเพาเวอร์ แอมป์คู่ขวัญที่ LUXMAN ได้ออกแบบไว้ให้ใช้งานอย่างเหมาะเจาะลงตัวกัน นั่นคือ M-4000A ซึ่งก็สร้างชื่อไว้มากเช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลส่วนตนทำให้ผมมิได้สั่งเพาเวอร์ แอมป์นี้มาใช้งานควบคู่กับ C-5000A โดยตั้งใจจับมาเข้าคู่กับเพาเวอร์ แอมป์ของ USHER รุ่น R1.5 (ม้านอกสายตาใครต่อใคร) ที่ผมประทับใจมากๆเป็นทุนเดิมตั้งแต่แรกฟัง

“C-5000A + R1.5” ทำหน้าที่ซึ่งกันและกันได้อย่างสอดคล้องต้องกัน คุณภาพเสียงที่ได้ฟังผ่านออกมาจากลำโพงรุ่น System 10 DMT II ของ TANNOY ด้วยการใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น Emotion ของ Clear Audio ร่วมกับหัวเข็ม MC DL-103LC II และ step-up transformer (SUT) ฉายา “หม้อเขียว” ของ Altec/Peerless นั้น ไปในทางอิ่มฉ่ำ มีน้ำมีนวล มีตัวมีตน มีเนื้อมีหนัง เป็นลักษณะเสียงที่เปี่ยมในความมีชีวิตชีวาดีมากๆ

รับรู้ได้ถึงมวลอากาศ (airy) ฟังแล้วอบอุ่น ผ่อนคลาย (relaxed)ให้ความเพลิดเพลิน รู้สึก “อิน” เข้าไปในเพลงและดนตรีที่กำลังรับฟัง ทั้งยังอุดมด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆระยิบระยับน่าประทับใจ อิมเมจที่เด่นชัด แยกเป็นตำแหน่งแห่งที่ไม่ซ้อนทับกันในเวทีเสียงที่ถอยลึกเป็นชั้นๆ (layered) พร้อมด้วยทราส์เชี้ยนท์ที่ฉับไว และแอมเบี้ยนซ์ที่เป็นระลอกละอองอณู เปี่ยมในสภาพบรรยากาศ (atmosphere) เสียงก้องสะท้อนเล็กๆน้อยๆถูกบ่งบอกออกมาหมดจด เสียงขยับปรับเลื่อนเก้าอี้ เสียงพลิกกระดาษ เสียงสูดลมหายใจ-ถอนใจก็รับฟังได้ถนัดชัดเจน

b

“C-5000A + R1.5” ส่งมอบรายละเอียดระยิบระยับ ผลุดโผล่-ตรงโน้น-ตรงนี้-ตรงนั้นในเวทีเสียงที่แผ่กว้างและลึกเป็นชั้นๆอย่างฉับพลันทันใด พร้อมทั้งอาณาบริเวณเสียงที่มีตัวตน ระบุปริมณฑลได้ชัดเจน รวมถึงความสมจริงในสเกลเสียงอย่างเป็นธรรมชาติ เสียงทุกเสียงที่รับฟัง-มิใช่เป็นเพียงแค่ “เสียง” เท่านั้น หากยังสัมผัสได้ถึงความมีตัวมีตนของแต่ละเสียง ซึ่งเป็นเสียงที่มีวิญญาณ มีลมหายใจ แม้แต่เสียงประสานของนักร้องหมู่ ก็แทบจะแยกแยะออกมาได้เป็นเสียงเฉพาะตัวของแต่ละคน-แต่ละคน-เป็นคนๆไปกันเลยทีเดียว ความกังวานของหางเสียงแต่ละเสียงก็ยาวไกล ทั้งยังสามารถถ่ายทอดความก้องสะท้อนแผ่วเบาของลักษณะอะคูสติก รวมถึงสภาพมวลอากาศภายในบรรยากาศคอนเสิร์ต ฮอลล์ได้อย่างสมจริงมาก เสียงก้องสะท้อนเล็กๆน้อยๆถูกบ่งบอกออกมาหมดจด

ต้องยอมรับครับว่า “C-5000A” ทำให้  ‘R1.5’ บ่งบอกรายละเอียดเสียงออกมาได้หยุมหยิมดีมากๆ แตกต่างจากเมื่อครั้งที่ใช้ควบคู่กับปรีแอมป์ eXclusive C3a ตัวเก่งของผม แถมยังเพียบพร้อมทั้ง “บุคลิกเสียง” ที่หวานนุ่ม ละมุนละไม พละพลิ้ว น่าฟัง ไร้ซึ่งความแช่มช้า หรือ เฉื่อยเนือย และความทรงพลัง อิ่มแน่น ให้พลังแรงกระแทกกระทั้น (impact) ทั้งหนักทั้งแน่นอย่างน่าทึ่ง ซึ่งไม่เพียงแค่ความ “ทรงพลัง” เท่านั้น ยังสำแดงได้ถึง “ไดนามิค” ไหลลื่นต่อเนื่องอย่างฉับพลันทันใดอีกด้วย

c-5000a(6)

สรุปส่งท้าย                         

…กับราคาราวๆ 1,400 ดอลล่าร์ของ C-5000A เมื่อแรกจำหน่ายในช่วงปีค.ศ.1979 ถึงปีค.ศ.1981 จนมาถึงปัจจุบันผมสามารถสั่งซื้อมาได้ที่สี่หมื่นปลายๆ ในสภาพมือสองเนี๊ยบๆ มีริ้วรอยนิดหน่อยบนตัวครอบเครื่องที่เป็นไม้เท่านั้น แต่สิ่งที่จะได้รับคืนกลับมาจากการรับฟัง ขอยืนยันว่า ทำให้ผมรู้สึกทึ่งมากจริงๆ เมื่อเทียบกับ “อายุขัย” กว่า 40 ปีของเจ้า “C-5000A” …ขอให้ลองเข้าไปอ่านรายละเอียดเชิงลึกของ C-5000A ในเว๊บไซต์ audio-database.com ดูแล้วจะรู้ว่า “ไม่ธรรมดา” เลยจริงๆครับ

 

หมายเหตุ :- …มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะพูดว่า “เครื่องเก่า” นั้น มันตกสเปคฯ ไม่น่าเล่น, เชย หรือ ตกยุค, เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ใช้งาน อันอาจนำพามาซึ่งความเสียหาย (อย่างร้ายแรง) ต่อซิสเต็มที่ใช้งาน, ซื้อมาใช้งานก็ไม่มีการรับประกัน (warranty) แต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อเครื่องเสียเพราะหมดอายุการใช้งาน อาจหาอะไหล่มาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป – อะไรทำนองนั้น ซึ่งเหล่านั้นก็เป็นความจริง – แต่มันจริงเพียงส่วนเดียว เพราะหากพินิจ-พิจารณาไคร่ครวญดูดีๆอย่างมีเหตุผล จะพบว่า “เครื่องเก่า” ที่เขาเล่นกันนั้น มันเป็นเครื่องในระดับไฮ-เอ็นด์ในยุคสมัยนั้นทั้งสิ้น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า “ดีจริง” แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน สมรรถนะและคุณภาพเสียงก็ยังเป็นที่น่าถวิลหา อีกทั้งคนที่ชื่นชอบใน “เครื่องเก่า” หรือ…การเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจนั้น บางครั้งเรื่องของตัวเลขต่างๆที่ระบุไว้ในสเปคฯ มิได้ถูกนำมาคิด-พิจารณาเลยด้วยซ้ำ

 

“ความชอบ” นั้นมาจาก “เสียง” ที่ได้รับฟัง-เหนือปัจจัยใดๆทั้งสิ้น-ถ้าฟังแล้วบังเกิดความน่าหลงใหล  เพราะสิ่งที่ได้รับฟังจาก “เครื่องเก่า” มักจะ-แตกต่าง-อย่างที่ “เครื่องใหม่” ซึ่งทันสมัยกว่า ตัวเลขสเปคฯก็ดูดีกว่า อาจทำได้ไม่เท่า …ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจึงถวิลหา “เครื่องเก่า” ที่โด่งดังในอดีตมาครอบครอง บางเครื่อง-บางรุ่นที่ยอดนิยมจริงๆนั้นถึงกับ “แย่ง” กันก็มี ทั้งๆที่ “ราคา” นั้นสูงลิบลิ่ว ยิ่งกว่าราคาตอนแรกจำหน่ายด้วยซ้ำไป นั่นเพราะว่า “มันหายากส์” ไม่ค่อยจะมีใครยอม “ปล่อย” ออกมา แม้ว่า จะขายได้ราคาดีมากๆก็ตาม

 

…บางทีคนที่มุ่งโจมตี “เครื่องเก่า” อาจต้องหันมาพิจารณาตัวเองบ้าง… ใช้เหตุและผล มิใช่ความคิดส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินถูก-ผิด เรื่องของ “ความชอบ” หรือ “ความถูกใจ” ของคนเรา มันอยู่เหนือเหตุ-ผลใดๆ …ปล่อยให้ “เขา “ คิดกันเองบ้างดีไหม เขาก็มี “สมอง” เช่นกัน กรุณาอย่าครอบงำ หรือ ชี้นำแบบชักใบให้เรือเสีย ประเภท “เชื่อผมเถอะ ผมเป็นใคร …ทำไมถึงไม่ไว้ใจในคำชี้แนะของผมล่ะ” อะไรทำนองนั้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ของใครไม่กี่คน

 

…ลองกลับไปดูตัวเองซิว่า ตัวเองน่ะมีเครื่องเก่าตกรุ่นเก็บสะสมอยู่บ้างหรือเปล่า ? แล้วนำออกมาฟังอยู่ประจำ หรือไม่ ? ซึ่งถ้าไม่ชี้โกง หรือ โป้ปดจนติดเป็นนิสัย น่าจะซาบซึ้งดีว่า เสียงที่รับฟังจาก “เครื่องเก่า” นั้น มันให้อารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน ถามใจตัวเองดูซิว่า จริงอ๊ะปล่าว….

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..