Old School “Vintage Sound” : Marantz Model 15

0

Old School “Vintage Sound”

Marantz Model 15

มงคล อ่วมเรืองศรี

a

…ขอเปิดประเดิมคอลัมน์นี้ด้วยการหยิบ (ยก) จับเอา marantz ‘model 15’ หนึ่งในเพาเวอร์ แอมป์ “หัวก้าวหน้า” ในยุคสมัยที่ Marantz กับ Mcintosh คือ 2 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแวดวงออดิโอขนานแท้ ด้วยศักดิ์ศรี “Made in USA.” จนสร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งในปฐพีที่ต่างก็ประชัน-แข่งขันกันทุ่มเทเทคโนโลยีระดับหัวกะทิเอาไว้ให้แก่ผลิตภัณฑ์รุ่นต่างๆ ซึ่งใครๆในแวดวงมักจะเชิดชูกันว่า “built to last”

ในช่วงปีค.ศ.1968-1970 อันเป็นระยะเวลาที่ marantz ‘model 15’ ได้รับการผลิตออกจำหน่าย ภายใต้ระดับราคา 395 ยู.เอส.ดอล่าร์นั้น กล่าวได้ว่า ยังนับเป็น “ยุคทอง” ของแอมป์หลอดฯอยู่ …แล้วไฉน marantz ถึงได้ออกแบบ solid-state amplifier ตัวนี้ขึ้นมา ทั้งยังออกแบบอย่างไม่ธรรมดาไว้เสียด้วยซ้ำ ในความเป็น ‘DC coupling’ ที่พูดได้ว่า ก้าวหน้าเกินยุคสมัย

Julian Hirschผู้เชี่ยวชาญแห่งวงการอิเล็กทรอนิกส์ เคยใช้คำพูดนี้ทิ้งท้ายไว้กับ marantz ‘model 15’ โดยจำเพาะว่า “if any amplifier can be termed ”indestructible”. This is the one.”ซึ่งนี่ย่อมแสดงให้เห็นถึง “คุณค่า” ในความเป็น ‘อมตะ’ของ ‘Model 15’ ที่ได้ถูกซ่อนไว้ในตัวของมันอย่างชัดแจ้งอีกทั้งหากว่า ‘model 15’ – ไม่ดีจริง ไม่เจ๋งจริง …เหตุไฉน ทำไม Saul Marantz จึงได้เลือกใช้ ‘Model 15’ ในชุดฟังเพลงส่วนตัวของเขานานหลายปีทีเดียว ตราบจนสิ้นชีวิตหลังจากการขายกิจการ ‘Marantz Company’ ไปให้แก่เครือ Superscope Inc.

กล่าวกันว่า ‘Model 15’ นั้นก็คือ Model 14 – 2 ตัวมาประกอบร่างเข้าด้วยกัน และใช้ faceplate เดียวกัน เพื่อให้ “model 14” ทั้งคู่นั้นอยู่บนโครงสร้างตัวเครื่องเดียวกัน ในลักษณะของ Solid-State Stereo Amplifier – ตัวแรกของ marantz …แต่จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า “model 14” ได้รับการออกแบบมาเป็น Mono Power Amplifier ทว่ากลับไม่มี faceplate หรือ แผงหน้าเครื่องแต่อย่างใด ทั้งๆทีมีการผลิตจำหน่ายออกไปจริง …ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก !

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ‘model 15’ ก็คือ completed set ของ model 14 – 2 ตัวที่มี faceplate สมบูรณ์ครบถ้วน ออกสีทองแชมเปญอ่อนๆดูสวยงาม (gold anodized) นี่ทำให้ทั้ง model 14 และ model 15 มีค่ารายละเอียดเฉพาะทางไฟฟ้า หรือว่า specification ที่เหมือนกันทุกประการ นั่นคือ :- Power Output (Each Channel) : 70 Watts @ 4 Ω, 60 watts @ 8 Ω, 40 watts @ 16 Ω; Frequency Response : 10-60,000 Hz (within 1 dB); Damping Factor:  Greater than 30 (8 Ω load); Total Harmonic Distortion :  <0.1%; Typical Harmonic Distortion :  0.03%  …เพียงแต่ว่า ‘Model 15’ นั้นเป็นแบบ 2-channel สำหรับขับเสียงลำโพงซ้าย-ขวา ภายใต้โครงสร้างแบบ twin monoblock construction สมบูรณ์แบบ ที่เหมือนกันเป๊ะทุกอย่าง แต่แยกการทำงาน 2 ข้างอย่างเป็นอิสระ นับตั้งแต่สายไฟฟ้าเข้าเครื่องก็แยกออกเป็น 2 เส้นกันเลยทีเดียว ในขณะที่ model 14 นั้นเป็นแบบ monoblock amplifier เดี่ยวๆโดดๆ

 Bottom view OK

คุณลักษณ์

‘model 15’ มีขนาดมิติตัวเครื่อง 376 x 150 x 216 ม.ม. (กว้างxสูงxลึก) น้ำหนัก 13.6 กก. ซึ่งตามประวัติฯที่สืบค้นมาได้ระบุว่า Sid Smith ผู้ทำหน้าที่ senior engineer ของ marantz ในยุคสมัยนั้น เป็นผู้ออกแบบ ‘model 15’ นี้ขึ้นมา (ฝากฝีมือการออกแบบ model 15 ไว้เป็นชิ้นสุดท้าย) โดยมี James Bongiorno ทำหน้าที่ contributing engineer และรับผิดชอบ ‘the project for the Marantz Model 15 Power Amplifier’ ร่วมกัน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มาจาก “ความคิด” หัวก้าวหน้าอย่างมากของ ก็คือเรื่องของ ‘DC coupling’ นั่นเอง

James Bongiorno นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบแอมปลิฟายเออร์เลื่องชื่อในอดีตมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Hadley Laboratories (622C Power Amplifier); Marantz (model 15 Power Amplifier); Dynaco (Stereo 400 Power Amplifier); SAE (Scientific Audio Engineering); GAS (The Great American Sound Co.); Sumo Electric Co. Ltd.; Crown Radio, Japan; Spread Spectrum Technologies Inc. (Ampzilla 2000)และเขาผู้นี้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบ marantz ‘model 15’ ก็ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า “it was one of the best transistor amplifiers ever designed” ทั้งยังได้บอกว่า ตัวเขาเองนั้นได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรอีกมากมายจากเจ้า ‘model 15’ นี้ (I learned a lot from it)

ในความเป็นจริงนั้น marantz ‘model 15’ นับเป็น “หัวหอก” ของการออกแบบ ‘transistor amplifiers’ ในช่วงต้นๆแห่งยุคสมัยกันเลยทีเดียว แต่ทว่าทั้ง Sid Smith และ James Bongiorno กลับสามารถร่วมกันทำให้ ‘model 15’อยู่ยงคงกระพันก้าวพ้นยุคสมัยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ในฐานะ ‘one of the best transistor amplifiers’ อย่างชนิดที่ว่า หาแอมป์ในทุกวันนี้มาเทียบเคียงได้ยากยิ่ง อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วทั้งปฐพี

คุณภาพเสียง

…ทึ่งครับ เมื่อได้ฟัง บอกกันตรงๆว่า แม้จะเคยฟัง “วินเทจ” มาหลายเครื่องจากหลายค่ายดังในอดีต แต่กับประสบการณ์ที่ได้รับจาก marantz model 15 นี้-ตราตรึงใจมากจริงๆครับ ฟังแล้วอยากได้จับจิตจับใจขึ้นมาทันที เนื่องเพราะให้ได้ครบทั้งในแง่ความสมจริงของเสียงนั้นๆเช่นในธรรมชาติ, น้ำหนักเสียงที่ให้ความมีตัวตนของเสียงนั้นๆ, ความอบอวลของสภาพบรรยากาศที่เสียงต้องเดินทางผ่านมวลอากาศเป็นระลอกคลื่นเสียง (มิใช่ชัดเจนมากจนราวกับเอาหูเข้าไปจ่อฟังกับเสียงนั้นๆตรงๆ จนสูญเสียความรู้สึกรับรู้ถึงมวลอากาศไป) รวมไปถึงจังหวะ-ท่วงที (pace) หรือ วรรค-ตอนของเสียงที่แม่นยำและมั่นคง กระทั่งผมขอยกย่องให้ marantz model 15 นี่เป็น “ช้างเผือก” ในมวลหมู่เพาเวอร์ แอมป์ “วินเทจ” แบบโซลิด-สเตทเลยก็ละกัน …ลองหาฟังดูครับ แล้วจะเข้าใจ ราคายังไม่แพงมาก รับรองว่า คุ้มค่ากับเงินตราที่จ่ายแลกไปแค่ไม่กี่หมื่นบาท แลกกับความสุขใจ –ยิ้มแก้มปริ– ในทุกครั้งที่รับฟังก็ละกัน ผมรับรอง

ยืนยันครับว่า ราวกับกำลังนั่งฟังแล้วเห็นลีลาการชักคันสีไวโอลิน, กำลังค่อยขยับมือเคาะทรัมโบลิน, กำลังเอานิ้วจับสายดับเบิ้ลเบสดีด, กำลังเห็นลีลาการขยับปากออกเสียงร้อง, กำลังมองเห็น ‘emotion’ ที่เกิดขึ้นกับศิลปินคนนั้นคนนี้ที่กำลังเล่น-กระนั้นจริงๆครับ เมื่อรับฟังจากแผ่นเสียง Norah Jones ในเพลง I’ve got to see you again เสียงของ  Norah Jones ก็เช่นกัน บ่งบอกออกมาได้ถึงเทคนิคการออกเสียงร้องของเธอในลักษณะขึ้นจมูกนิดๆ (nasal) เสียงของเธอจึงแหบหน่อยๆแต่ไม่ห้าวกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าฟัง เมื่อฟังจากแผ่นเสียงชุด Living Voice ของ RCA รับรู้ถึงความมีชีวิตชีวาในทุกสรรพเสียงที่ปลดปล่อยออกมาทันที เสียงร้องเพลงไม่ว่าหญิงหรือชายสมจริงมากบ่งบอกออกมาเป็นเสียงของคนเราตัวเป็นๆ มีชีวิตมีวิญญาณในน้ำเสียงที่รับฟัง เสียงเครื่องเป่าชนิดต่างๆ เสียงกระดิ่ง-เสียงระฆังล้วนรับรู้ได้ถึงความมีอยู่จริงของเสียงนั้นๆที่ให้ทั้งมวลและน้ำหนักเสียง

แม้กระทั่งความมีเนื้อมีหนังของเสียงที่ทำให้การออกเสียงคำว่า “bell” ในเพลง Jingle Bells นั้น รับรู้ได้ถนัดชัดถึงเสียงอักขระตัว ‘l’ (ตัวแอล) ที่มีนักร้องคนหนึ่งอยู่เยื้องมาทางตำแหน่งซ้ายมือที่ออกเสียง “ตัวแอล” นี้ยาวกว่าคนอื่นๆ – ลักษณะกังวานทอดยาวช่วงปลายหางเสียงต่างๆนั้น marantz model 15 ให้ออกมาได้ชนิดต้องประทับใจกัน – ติดหูติดใจไปเลยทีเดียว เพราะบางเครื่องในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆสุดแสนทันสมัยนี่ยังเทียบชั้นไม่ได้เอาจริงๆ

ผมเองไม่ได้เป็นคนชอบฟังเพลงแบบเร่งเสียงดังๆ ผมชอบฟังแบบเอาความละเมียดละไม เร่งระดับเสียงที่รับฟังพอประมาณ จับทั้งลักษณะความอิ่มฉ่ำของเสียง-ความมีเนื้อมีหนังความมีตัวตนของเสียง-น้ำหนักเสียงทั้งต่ำๆยันความถี่สูงที่ต้องมีมวลสมจริง รวมไปถึงมวลอากาศและความกังวานของปลายเสียงสูงๆ นอกจากนี้ในขณะรับฟังยังดูซิว่า รู้สึกเขยิบเคลิ้ม หรือ ‘in’ ไปกับเพลงที่เราฟังอยู่ไหม ได้มู้ด (mood) หรือ ห้วงอารมณ์ (emotion) ของดนตรีไหม …มันต้องมีครับ ถึงจะ “ใช่” …มิใช่ฟังดังๆเอาแต่แรงกระแทกกระทั้น สะเทือนเลื่อนลั่น ปานจะกระแทกผนังบ้านให้พังทลายลง

ฟังเบาๆเอาความละเมียดละไมของเสียงนี่ละครับ จับอะไรได้เยอะมาก ดีกว่าฟังดังๆจนเกินความพอดีไป-ผมรับรอง เพราะถ้าเครื่องดีจริง เสียงเบาๆในเพลงที่ฟังจะต้องยังมีอยู่ให้เราได้ยินได้ฟังกัน ซึ่งต้องยอมรับครับว่า marantz model 15 นี่ให้ความรู้สึกรับรู้ถึงระดับละอองอณูของมวลเสียงเลยทีเดียว ช่วงปลายหางเสียงความถี่สูงๆนี่ยังคงให้ “น้ำหนักเสียง” ออกมาได้ ก็ต้องยอมรับกันละครับ

…ใช่ครับ marantz model 15 ให้ลักษณะเสียงที่กระเดียดมาทางหลอดฯ เพราะอยู่ในยุคคาบต่อกับโซลิด-สเตท แต่โซลิด-สเตทเป็น “ของใหม่” ที่จำเป็นจะต้องโชว์ฝีมืออวดกันในการออกแบบ เพื่อให้ “ไม่แพ้” เครื่องหลอดฯ (ถ้าแพ้ก็หมดอนาคต) ซึ่งทั้ง Sid Smith และ James Bongiorno ได้ทุ่มเทอะไรบางสิ่งบางอย่างไว้ให้กับ marantz model 15 เป็น “เคล็ดลับ” ทำให้เราได้อะไรดีๆที่อิ่มฉ่ำมีน้ำนวลจากฟากฝั่งเครื่องหลอดฯ ผสานกับความชัดถ้อยชัดคำ-แม่นยำในท่วงท่าจังหวะจะโคนของโซลิด-สเตท กลายเป็นเสน่ห์ในน้ำเสียงเฉพาะตัว จนอาจจะมิใช่เรื่องแปลกที่ว่ากันว่า Saul Marantz ใช้ model 15 นี้ในการฟังเพลงอยู่ตลอดมา ไม่เคยเปลี่ยนรุ่นใหม่ จนกระทั่งจากโลกนี้ไป …นั่นแสดงว่า marantz model 15 นี่ต้องไม่ธรรมดาจริงๆ มิเช่นนั้นคงไม่ถึงขนาดทำให้ Saul Marantz ซึ่งเป็นถึงเจ้าของบริษัท จะหยิบจับเครื่องรุ่นไหนมาฟังก็ได้นั้น …ใยถึงไม่เปลี่ยนไปฟังรุ่นใหม่ๆตามอำเภอใจเล่า

marantz model 15 ตามสเปคฯระบุว่า ให้กำลังขับ 60 วัตต์ต่อข้าง ซึ่งจากสุ้มเสียงที่รับฟัง ไม่ต่างจากแอมป์กำลังขับร้อยกว่าวัตต์เลยละครับ เบสนั้นให้น้ำหนัก-แรงกระแทกกระทั้น ทั้งยังทิ้งทอดตัวลงไปได้ลึกล้ำ จังหวะจะโคนแม่นยำ ฟังแล้วสนุกสนาน ชื่นฉ่ำใจ ไม่เฉื่อยช้า แต่อาจจะไม่ค่อยเข้ากับเพลงแนวร็อครุนแรงสักเท่าไหร่ เหมาะกับการฟังแบบละเมียดละไมเอาความสมจริงซะมากกว่า ฟังเบาๆแต่ได้อะไรต่อมิอะไรไม่ขาดตกบกพร่องเลยจริงๆครับ ยิงฟังยิ่งเพลินก็ละกัน อิ่มเอิบในเสียงเพลงที่รับฟัง ผมรับประกัน

…จะว่าไปผมได้เจ้าดูอัล โมโน เพาเวอร์แอมป์ในรูปโฉมสเตอริโอ เพาเวอร์แอมป์รุ่นแรกของ marantz นี้มาโดยมิได้ตั้งใจจริงๆครับ ไม่นึกไม่ฝันอยู่ในใจเลยด้วยซ้ำ แต่โชคชะตาฟ้ากำหนดให้ “เรา” ต้องโคจรมาพบกัน และเมื่อได้เจอะเจอกันแล้วก็มิได้สร้างความผิดหวังขึ้นในใจแม้แต่น้อยนิดเลยโดยแท้ครับ แม้ว่า model 15 นี้จะมีอายุอานามปาเข้าไปไม่ต่ำ 44 ปีแล้ว ณ ปัจจุบัน ทว่าจากการรับฟังคุณภาพเสียงของมัน พูดได้คำเดียวจริงๆครับว่า “เยี่ยม”

ใครที่หลงใหลได้ปลื้มกับสไตล์เสียงหลอดฯ ขอให้ลองหา model 15 นี้มาฟัง รับรองครับว่า ไม่หนีห่างกันสักเท่าไหร่เลยจริงๆ มีบางประเด็นที่ model 15 นั้น “ทำได้ดีกว่า” ด้วยซ้ำ นั่นคือ ช่วงย่านความถี่เสียงต่ำที่มีเนื้อมีหนัง-หนักแน่น และให้การควบคุมตัวได้ดี มีจังหวะจะโคนที่แม่นยำ แยกแยะเสียงเบสยืน อันอวบใหญ่กับเสียงกลองกระเดื่อง อันหนักหน่วงได้อย่างแจ่มชัดมาก ซึ่งเท่าที่ฟังจากแอมป์หลอดฯจะปรากฏเป็นเสียงที่จมกลืนกันไป

ซึ่งด้วยประเด็นนี้แหละครับที่ทำให้ model 15 ฟังได้มันส์กว่า ทั้งแนวดนตรีร็อก-ดนตรีร้อง, คลาสสิก และแจ๊ส ในขณะที่ความอิ่มเอิบในน้ำเสียงช่วงย่านความถี่เสียงกลางนั้นให้ความน่าฟังไม่ต่างกัน ใครที่ชื่นชอบแนวเพลงร้องเป็นพิเศษ จะจับจิตจับใจใน “เนื้อเสียง” ที่เข้มข้น-หนาหนึบ-นุ่มนวล เสียงของหลุยส์ อาร์มสตรองและเอลล่า ฟิซเจอเริลนั้นเป็นเสียงมนุษย์ที่มีตัวมีตนอย่างสมบูรณ์ มิใช่เป็นแค่เสียงที่เปล่งออกมาเท่านั้น อีกทั้งยังให้มวลบรรยากาศที่อบอวลและห้อมล้อมตัวเราอย่างชัดแจ้งด้วยซิครับ นี่แหละ…มนต์เสน่ห์แห่ง vintage sound โดยแท้

powerz-003

แต่จะว่าไป model 15 นี่ก็มี “จุดอ่อน” หรือ weakest link อยู่ในตัวของมัน นับตั้งแต่แรกเริ่มการออกแบบ ทั้งๆที่นี่แหละคือ “ความชาญฉลาด” อันนับเป็นความต่างจากแอมป์อื่นๆในยุคสมัยนั้นอย่างคาดไม่ถึง นั่นก็คือ การใช้ “หลอดไฟรถยนต์” (bulb) มาใช้เป็นตัวป้องกันโอเวอร์ โหลดในขณะทำงาน กล่าวคือ “หลอดไฟรถยนต์” ที่ว่านี้ ที่ต่อตรงในลักษณะ ‘series’ อยู่กับเอ๊าต์พุต ทรานซิสเตอร์แต่ละตัวก็จะทำหน้าที่ตามสภาวะปกติของมันไป ไม่ได้ส่งผลต่อเสียงอะไร ในรูปแบบของค่าความต้านทานชนิดหนึ่ง แต่หากว่าถ้าเจ้าเอ๊าต์พุต ทรานซิสเตอร์จำต้องจ่ายกระแสขาออกที่มากเกินกว่าปกติ ก็ย่อมที่จะต้องมีการดึงกระแสให้ไหลผ่านเจ้า “หลอดไฟรถยนต์” ดังกล่าวมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น “หลอดไฟรถยนต์” ก็จะเปล่งแสงออกมากันละครับ เพื่อ “เตือน” ให้ผู้ใช้ได้ทราบว่า ขณะนี้ท่านกำลังใช้งาน model 15  ในสภาวะโอเวอร์ โหลดอยู่นะจ๊ะ …ต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแน่ๆ ขอให้ลองตรวจเช็คดูดีๆ – เป็นที่โหลดลำโพงหรือเปล่า อะไรทำนองนี้…

ทีนี้ด้วยระยะเวลาผันผ่านมาเนิ่นนานกว่า 40 ปี ถ้าหาว่าเจ้า “หลอดไฟรถยนต์” เกิดสภาพไส้หลอดขาดอยู่ โดยเราไม่ทราบ แล้วใช้งานไปเรื่อยๆ ก็ย่อมจะส่งผลต่อเอ๊าต์พุต ทรานซิสเตอร์ที่มันอนุกรม (series) กันอยู่จริงไหมล่ะครับ ตรงนี้ต้องพึงระวัง ต้องขอให้ท่านตรวจเช็คให้ถี่ถ้วน อย่ามัวหลงดีใจตอนที่ได้เจ้า model 15  มา ….ซึ่งก็ทำได้ง่ายๆแหละครับ แค่เปิดฝาครอบตัวเครื่องด้านบนออก ก็จะเห็นหลอดไฟทั้ง 4 หลอดแล้วละครับ (2 หลอดต่อข้าง) ทีนี้ก็แค่ถอดหลอดไฟแต่ละหลอดออกมาดู หากพบว่าไส้หลอดไหนเกิดขาดก็เปลี่ยนใหม่มันก็เท่านั้น

เจ้า model 15 มีอีกสิ่งที่ผมถือว่า “ทันสมัย” มากๆในยุคนั้น นั่นก็คือ Electronic Time Delay Circuit ซึ่งมักเรียกกันว่า Soft Start Circuit ในปัจจุบัน โดยวงจรดังกล่าวจะ ‘mute’ สัญญาณที่ส่งไปยังลำโพงไว้เป็นเวลา 5 วินาที หลังจากที่ท่านเสียบปลั๊กเจ้า model 15 ให้เริ่มทำงาน (….ใช่ครับ model 15 นั้นไม่มี On/Off switch ติดตั้งมานะครับ การเปิด/ปิดระบบทำงานจึงกระทำผ่านการเสียบ/ถอดปลั๊กสายไฟฟ้าเข้าเครื่อง) ดังนั้นจึงไม่มีเสียง ‘ปุ๊’ – ‘ป๊ะ’ เล็ดลอดออกมาทางลำโพง ทั้งๆที่ในยุคสมัยเดียวกันเพาเวอร์ แอมป์อื่นนั้นยังคงมี ‘ปุ๊’ – ‘ป๊ะ’ ออกมาจากลำโพง

ด้วยช่วงการตอบสนองความถี่เสียงที่กว้างขวางตั้งแต่ 10-60,000 เฮิรตซ์, ค่าสัดส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนดีกว่า 90 ดีบี พร้อมกับกำลังขับ 60 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม, 70 วัตต์ต่อข้างที่ 4 โอห์ม และ 40 วัตต์ต่อข้างที่ 16 โอห์ม รับรองได้ว่า คุณจะแทบไม่เชื่อหูตัวเองเลยจริงๆ …นี่นะหรือ คือเสียงของแอมป์ 60 วัตต์ต่อข้าง โอ้…ช่างราวกับแอมป์สัก 200 วัตต์ต่อแชนแนลในยุคปัจจุบันกระนั้น เพราะความที่น้ำเสียงมีมวลอวบหนา มีเนื้อมีหนัง แม้แต่เสียงสูงๆอย่างเสียงกระดิ่ง-เสียงระฆังก็ยังมีน้ำหนักเสียงและทอดตัวยาว นอกเหนือจากความกังวานพละพลิ้วลอยตัวอย่างน่าฟัง ทำเอาน่าลุ่มหลงอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า involving จริงๆครับ

Model 15 et 7T

สรุปส่งท้าย

ใครเจอ marantz model 15 สภาพดีๆ อย่าปล่อยไว้หรือมองข้ามไปเป็นอันขาด อย่าเห็นว่าเป็น marantz ยุคเก่าแล้วจะออกทางคม-ชัด-แข็ง แบบสไตล์อเมริกันซะร่ำไป ลองฟังดูครับฟังอย่างตั้งใจ แล้ว model 15 จะกลายเป็นตัวขึ้นหิ้งที่ให้เสียงดีไม่แพ้ (หรืออาจจะดีกว่า…) ตัวดังๆที่ขึ้นชื่อลือชากันของ marantz …!!

ใครที่ตามหา หรือ ชื่นชอบในแนวเสียง “วินเทจ” ผมขอแนะนำ model 15 ไว้เป็นหนึ่งในดวงใจด้วยละกัน รับรองอย่างยิ่งยวดครับว่า ไม่มีคำว่าผิดหวัง …สั้นๆแต่ได้ใจความเป็นการทิ้งท้ายคอลัมน์ครั้งนี้

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..