Test Report: Entreq Eartha Apollo & Eartha Chalenger + Silver Minimus
มงคล อ่วมเรืองศรี
Entreq นั้นจริงๆ แล้ว เป็นคำย่อมาจากชื่อเต็มๆ ของ ‘Energy Transforming Equipment’ ที่สามารถแปลความได้ว่า อุปกรณ์แปลงสภาพพลังงานนั่นเองละครับ ทีนี้เรามาดูกันว่า Entreq นี่มีผลิตภัณฑ์อะไรกันบ้างในเว็บไซต์ของ Entreq แบ่งผลิตภัณฑ์ของ Entreq ไว้เป็น 4 กลุ่มหลัก :- Ground Boxes, Power Management, Cables และ Accessories ซึ่งในแต่ละกลุ่มหลักนั้น ก็จะแบ่งย่อยออกไปเป็นอีกหลายต่อหลายผลิตภัณฑ์
Per-Olof Friberg เกษตรกรผู้ดำรงชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ อย่างเป็นธรรมชาติอยู่ในท้องทุ่ง ด้วยการทำฟาร์ม (Farming) แต่จากความหลงใหลในเสียงดนตรีที่รับฟัง รวมทั้งการใช้ชีวิตแนบชิดกับธรรมชาติทำให้เขาผู้นี้พลิกผันตัวเองจากเกษตรกรมาเป็น Specialist Audio Innovator, Designer และ Manufacturer แบบครบสูตร ถือเป็นผู้ให้กำเนิด Entreq อย่างเต็มภาคภูมิในช่วงต้นปี ค.ศ.2000 ภายใต้คำขวัญ หรือสโลแกนที่ว่า The Sound of Nature โดยมี Vibbeaters และ Caffeets เป็นผลิตภัณฑ์แรกจำหน่าย
To Quietly go Where no Man has Gone Before คือ หลักปรัชญาของ Entreq ที่ Per-Olof Friberg ได้บัญญัติขึ้นมา เพื่อบ่งบอกถึง นัยต่อสิ่งที่จะได้รับจากการใช้ Entreq ซึ่งแปลความได้ว่าไปสู่ความเงียบสงัดที่ซึ่งยังไม่มีใครเคยได้ไปมาก่อนอะไรทำนองนี้ละครับ ปัจจุบัน Per-Olof Friberg ได้ละเลิกชีวิตเกษตรกร และมุ่งหน้าเต็มตัวกับ Entreq นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมา ทำให้ Entreq มีผลิตภัณฑ์มากมายที่สามารถสร้างความน่าฉงนสนเท่ห์กับสิ่งที่ได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ Entreq
Per-Olof Friberg เขียนเล่าว่า นับเนื่องตั้งแต่ช่วงปี ‘80 ตัวเขาเองได้เคยทำงานในหลายต่อหลายแวดวงสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ อันโยงใยไปถึงเรื่องของการค้นคว้าต่อผลกระทบที่ได้รับจากสนามแม่เหล็ก (Magnetic Field Effects) ได้สร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ในวงกว้างให้แก่เขาเป็นอย่างมาก จนเขาสามารถนำมาคิดต่อยอด-โยงใยสิ่งเหล่านั้นไปยังความสนใจในเสียงดนตรีที่รับฟัง เขาได้ค้นพบว่า สิ่งแวดล้อมรายรอบมิได้ส่งผลต่อสภาพธรรมชาติเท่านั้น หากยังได้ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วย ความสั่นสะเทือน, สนามแม่เหล็ก และ สภาวะการกราวด์ (Grounding Effected) ล้วนมีผลพวงสู่สมรรถนะการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วยกันทั้งนั้น
ผมเองได้อ่านบางส่วนของ Entreq Philosophy ที่ Per-Olof Friberg ได้เขียนบรรยายไว้ ให้รู้สึกโดนใจประโยคสั้นๆท่อนหนึ่งที่ว่า Nature Always Follows the Laws of Physics and Never Puts Design Before Purpose or the Relationship with the Environment. แปลความได้ว่าธรรมชาตินั้นมักเป็นไปตามกฎทางฟิสิกส์เสมอ และไม่เคยเลยที่จะวางรูปแบบ ก่อนที่จะกำหนดเป้าประสงค์ หรือ มีสัมพันธภาพร่วมกับสภาพแวดล้อม
จริงๆแล้วไซร้ ‘Energy Transforming Equipment’ ที่ว่านี้ ทำหน้าที่อะไร ?
อย่างที่ได้บอกไว้ตอนต้น Per-Olof Friberg ได้ค้นพบว่า สิ่งแวดล้อมรายรอบมิได้ส่งผลต่อสภาพธรรมชาติเท่านั้น หากยังได้ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสั่นสะเทือน, สนามแม่เหล็ก และ สภาวะการกราวด์ (Grounding Effected) ล้วนมีผลพวงสู่สมรรถนะการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วยกันทั้งนั้น
ในธรรมชาตินั้นมีทั้งสภาพแม่เหล็กโลก, สภาพทางคลื่นไฟฟ้าในอากาศ, คลื่นวิทยุต่างๆ รวมทั้งสภาพคลื่นรบกวนแทรกซ้อน-จิปาถะทั้งจากในโลกและนอกโลก กระทั่งเรื่องของอุณหภูมิร้อน-เย็น และความสั่นสะเทือน ฯลฯ ล้วนเป็นสภาวะแวดล้อมรายรอบทั้งสิ้น ซึ่งด้วยความจำเป็นที่จักต้องมีการเดินสายส่งไฟฟ้าเป็นระยะทางไกลมากจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้ามาสู่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จักต้องถูกสภาพแวดล้อมดังกล่าวเข้ามามีอิทธิพลต่อสภาพของกระแสไฟฟ้าที่สายไฟฟ้านั้นนำพามาสู่
สายส่งไฟฟ้า นั้นมีอะไรที่ไม่ต่างจากสภาพของ สายอากาศ ที่ทั้งรับคลื่นและส่งคลื่นทางไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน มันจึงสามารถถูกเหนี่ยวนำแล้วซึมซับเอาสารพัดคลื่นรบกวนทั้งหลายแหล่แทรกเข้ามาร่วมกับกระแสไฟฟ้าที่มันกำลังนำพา ดังนั้นกล่าวสรุปได้เลยว่า ไม่มีระบบไฟฟ้าที่ไหนในโลกที่บริสุทธิ์ผุดผ่องไร้การถูกแทรกซ้อนจากสภาวะแวดล้อมรายรอบ นี่ยังไม่ต้องไปพูดไปอิงถึงเรื่องคุณภาพความนิ่งของระดับแรงดันไฟฟ้าที่ออกมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรอกนะ ที่ก็อีกล่ะ น้อยมากๆ ที่จะไม่วูบๆ วาบๆ ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ค่อยจะตรงเป๊ะอย่างที่กำหนดมาตรฐานกัน
อุปกรณ์ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานในการทำงาน ต่างจากเครื่องจักรกลที่ใช้พลังงานทางกลเข้าไปป้อนพลังงานในขณะทำงาน จึงเรียกได้ว่า แทบจะ ไม่มีคลื่นรบกวนใดๆ แพร่ออกมาปะปนในขณะทำงาน ซึ่งเมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังทำงานอยู่นั้น ก็จะปล่อย ค่าศักดาไฟฟ้า จำนวนหนึ่งออกมาเช่นกัน ในลักษณะของ Eddy Current (รวมทั้งอาการ Microphony Effect) ไหลย้อนอยู่ในวงจรไฟฟ้า พร้อมกันนั้นยังแผ่พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาด้วย ดังนั้นยิ่งมีวงจรไฟฟ้าซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้การรบกวนทางไฟฟ้านั้น ทบทวีคูณยิ่งขึ้น
ทีนี้ลองคิดดูซิว่า หากมีอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังทำงานอยู่หลายตัวหลายชิ้นหลายอย่างพร้อมๆ กัน เรื่องของสภาวะรบกวนระหว่างกันและกันจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น นอกเหนือจากสภาวะรบกวนรายรอบจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งตรงปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงอย่างที่ว่ามานี้ละครับที่ Entreq เข้ามารับภาระทำหน้าที่หลักของมัน ในการกำจัดทิ้ง (Drain Out) สารพัดสภาวะรบกวนทางไฟฟ้าออกไปให้พ้นทาง จากการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างทันทีทันใด หรือ ฉับไวที่สุด อย่างดีที่สุด
อุปกรณ์สำคัญของ Entreq ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “Ground Box” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่พูดง่ายๆ ได้ว่า เกี่ยวข้องกับสภาวะการกราวด์โดยตรงครับ ด้วยการใช้หลักการ EEDS (External Earth Drain System) ที่ Entreq นั้นเป็นเจ้าของ Licensed อยู่ ซึ่งเรื่องของเรื่องนั้น มาจากต้นทางในด้านของแหล่งพลังงาน แหล่งพลังงาน ต้นทางสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าก็คือ ไฟฟ้ากระแสสลับ อย่างที่เรียกกันว่า AC (Alternating Current) อันมีที่มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จะจากแรงดันน้ำในเขื่อน หรือว่า กังหันเทอร์ไบน์จากแรงดันไอน้ำ – ก็แล้วแต่ ทว่าระยะทางจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้านั้นย่อมอยู่ไกลจากบริเวณเมือง หรือว่า ที่อยู่อาศัยมาก จึงจำเป็นต้องมีการเดินสายไฟฟ้าเป็นระยะทางไกลมากตามไปด้วย ซึ่งด้วยระยะทางไกลนั้นเองที่เป็นเหตุอันนำมาสู่ผลที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่ยังจำเป็นต้องใช้ ‘ไฟฟ้ากระแสสลับ’
Ground Box ของ Entreq พุ่งเป้าประเด็นไปที่เรื่องของสารพัดคลื่นรบกวนทั้งหลายแหล่ที่แทรกเข้ามาร่วมกับกระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกันนี่แหละครับ หากแต่ก็ยังมีปัจจัยในด้านของสภาพธรรมชาติที่อุบัติขึ้นใน ขณะทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้องโยงใยด้วยในขณะเดียวกัน Ground Box จะทำหน้าที่เสมือนเป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ หรือ Ground ที่สามารถให้สภาวะในการดูดซับพลังงาน แล้วทำการสลายให้หมดสิ้นไป ด้วยการ แปรเปลี่ยน สภาพพลังงานอย่างสมบูรณ์ (จากรูปพลังงานไฟฟ้าไปสู่รูปพลังงานความร้อน) อย่างฉับไว ทำให้ไม่มีการ ไหลย้อนกลับเข้าไปสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มร้อยเปอร์เซนต์
ทว่า Entreq ก็มิได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ อันเกี่ยวข้องกับ Ground Box เพียงแต่ระบุไว้ว่า หลักการทำงานพื้นฐานนั้นให้ความสำคัญต่อการ Earthing/Grounding ที่ดี เฉกเช่นเดียวกับที่กระแสไฟฟ้าที่ควรจะสะอาดป้อนเข้าสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าของเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ‘Earthing/Grounding’ ในความหมายของ Entreq นั้น มิได้หมายถึงการต่อสายดิน เช่นที่เราควรจะกระทำตามปกติ เพื่อปกป้องอันตรายจากกระแสไฟฟ้าที่อาจจะไหลรั่วออกมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกประเภทหรอกนะท่านนะอย่าสับสนนำมาปนเปกัน มันมิใช่คนละเรื่องเดียวกันต้องแยกแยะออกมา
ดังนั้นท่านที่มีระบบสายกราวด์ต่อลงดินจริงๆ รวมทั้งใช้ปลั๊กเสียบที่เป็นแบบ 3-ขามีกราวด์ถูกต้อง ก็ยังมิใช่ประเด็นที่ Entreq พูดถึง ซึ่งผมขอใช้คำพูดต่อไปนี้ก็ละกัน เพื่อเปรียบเปรยถึงสภาพการใช้งานของ Ground Box อย่างเป็นรูปธรรม ให้เข้าใจ หรือมองเห็นภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น อย่างนี้นะครับ :Ground Box จะทำตัวของมัน ราวกับหลุมดำที่ดูดเอาสภาพมลพิษปนเปื้อนต่างๆ (Pollutants) ทางไฟฟ้ากระแสเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า (Stray Magnetic Currents) หรือว่า Eddy Currents รวมทั้งความผันผวน-แปรปรวนต่อค่าความต้านทาน (Impedance Flunctuations) จากอุปกรณ์เครื่องเสียงออกมาถ่ายทิ้งให้หมดไป (Drain Away) ก่อนที่จะไปทำให้คุณภาพเสียงที่รับฟังต้องแปดเปื้อน-บิดเบือนไป ส่งผลให้ได้มาซึ่งรายละเอียดเสียงที่ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น รวมถึงลักษณะเสียงอย่างที่ควรจะเป็น ทำนองเดียวกับน้ำลดตอผุดกระนั้น
ซึ่งการที่จะทำให้เกิดสภาวะเช่นนั้นได้ แสดงว่า Ground Box ต้องมีสภาพการกราวด์ที่เป็นศูนย์สัมบูรณ์ หรือ Absolutely Zero Ground เท่านั้น เพื่อให้ ‘ไม่เกิด’ ค่าความต้านทานขึ้นมา ต่อต้าน จนทำให้ มลพิษทางไฟฟ้า ไม่ไหลปรู้ดปร๊าดไปสู่ Ground Box กระนั้น ซึ่งตรงนี้ละครับที่ Earth Cable ต้องเข้ามาทำหน้าที่ของมัน ร่วมกับ Ground Box เพื่อเป็นประหนึ่ง สะพานทางด่วน ที่เชื่อมต่อตรงจากอุปกรณ์เครื่องเสียงมายัง Ground Box
ดังนั้นการเลือก Earth Cable ที่จะใช้งานร่วมกับ Ground Box จึงต้องให้สอดรับกัน และมีความจำเป็น เพื่อให้ Ground Box สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ ขอย้ำครับว่าจำเป็นต้องใช้ Earth Cable เท่านั้น เพราะผมได้ลองใช้ลวดบัดกรีที่มีส่วนผสมของเงินอยู่มากพอสมควร จนถือว่ามีค่าความต้านทานที่ต่ำมาก จึงคิดว่า น่าจะมีสภาพการเป็นตัวนำที่ดีพอประมาณมาต่อทดแทน Earth Cable แต่ทว่ากลับไม่สามารถเทียบชั้นกันได้เลย ขอยืนยันด้วยความสัตย์จริงครับว่า “เทียบ” กันไม่ได้จริงๆ แม้แต่กับ Earth Cable รุ่นเล็กสุด (Cupper)
นั่นก็เป็นเพราะว่า Earth Cable นั้น น่าจะมีส่วนผสมพิเศษที่ทำให้ค่าความต้านทานในตัวสายนั้น ต่ำมากๆ มากจริงๆ จนกระทั่งมลพิษทางไฟฟ้าสามารถไหลปรู้ดปร๊าดผ่านเนื้อตัวนำในสายไปสู่ Ground Box ได้อย่างทันทีทันใด ไม่เหลือตกค้างไว้ (ผมเชื่อว่า ตัวนำในสาย Earth Cable นั้น น่าจะไม่มีฉนวนหุ้มห่ออยู่เลยด้วยซ้ำ เพื่อป้องกันสภาพการกักเก็บ-คายประจุไฟฟ้าเล็กๆ น้อยๆ ในลักษณะของ Capacitance บริเวณผิวฉนวนกับผิวตัวนำ …เสียเลยด้วยซ้ำ) …ทีนี้จะเร็วปรู้ดปร๊าดขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับ Earth Cable เกรดใด-รุ่นอะไร ในขณะที่ Ground Box แต่ละรุ่นนั้น ก็จะเปรียบได้กับ ความกว้างใหญ่ของผืนแผ่นดินที่จะสามารถดูดซับ-แปรเปลี่ยนพลังงานได้แตกต่างกันออกไป หรือประหนึ่งเสมือนกับขนาดของหลุมดำว่าจะทรงพลังขนาดไหนในการดูดกลืนพลังงานให้สูญสลายไป-อะไรทำนองนี้แหละครับ
ทั้งนี้ Entreq ก็มี Ground Box อยู่หลายรุ่นด้วยกัน ภายใต้ 3 ไลน์การผลิต : Minimus กับ Tellus และ Olympus (รุ่นเล็กสุดนั้น ก็คือ Minimus; รุ่นใหญ่สุด ได้แก่ Olympus Tellus) ซึ่งจำเป็นต้องเลือกใช้สายเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เครื่องเสียงมายัง Ground Box ซึ่งเรียกว่า Eartha cable ที่เหมาะสมให้เข้าคู่เหมาะเจาะกับ Ground Box แต่ละรุ่น-แต่ละระดับ เพื่อให้เกิดสภาพการทำงานของ Ground Box อย่างเต็มสมรรถนะ นับตั้งแต่ Eartha Cupper ที่เปรียบได้กับ Eartha cable ระดับอนุบาล ไล่ไปสู่ Eartha Konstantin ที่เปรียบได้กับ Eartha cable ระดับประถมต้น; Eartha Challenger ที่เปรียบได้กับ Eartha cable ระดับประถมปลาย; Eartha Silver ที่เปรียบได้กับ Eartha Cable ระดับมัธยมต้นมาจนถึง Eartha Apollo ที่เปรียบได้กับ Eartha Cable ระดับมัธยมปลาย จนกระทั่งมาที่สุดของที่สุด นั่นคือ Eartha Atlantis ที่เปรียบได้กับ Eartha Cable ระดับอุดมศึกษาอะไรทำนองนี้ละครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นในเว็บไซต์ของ Entreq เองก็ได้ระบุถึงสิ่ง หรือลักษณะเสียงที่จะได้รับจากการใช้ Eartha Cable ในแต่ละรุ่นไว้ดังนี้ครับ Eartha Cupper – Produces a warm effect.; ‘Eartha Konstantin’ – Produces a warm and little more detailed effect.; ‘Eartha Challenger’ – A hybrid Copper/Silver that is rather neutral and with good details.
; ‘Eartha Silver’ – Produces a very detailed effect, especially at high frequencies; ‘Eartha Apollo’ – Neutral, but very open and detailed. และสุดท้ายสำหรับ ‘Eartha Atlantis’ – Very detailed, neutral. (ซึ่งทั้งหมดนี้ ขออนุญาตไม่แปลความนะครับ)
ผลการรับฟัง
ผมเองมี Ground Box รุ่น Silver Minimus และ Eartha Cable รุ่น Eartha Silver 1.65 RCA ใช้งานอยู่ในซิสเต็มที่ใช้ฟังประจำ (จากความอนุเคราะห์ของคุณชิณพัฒน์ เจ้าของบริษัท Audio 168 จำกัด) โดยใช้เสียบต่อเข้าที่ช่อง RCA ซึ่งว่างๆอยู่ (มิได้เสียบใช้งานกับเครื่องอะไร) ของปรีแอมป์ Luxman C-5000a เพื่อใช้ “ดัก” ขยะ/มลพิษทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไปให้พ้นทาง ก่อนที่ สัญญาณเสียง (Audio Signal) จะถูกส่งเข้าวงจรขยายขั้นต้น (Buffer Input – Driver Stage) ของเจ้า C-5000a
มาครานี้ทาง Audio 168 ได้จัดส่งผลิตภัณฑ์ Ground Box รุ่น Silver Minimus พร้อมทั้ง Eartha Cable รุ่น Eartha Apollo 1.65 RCA (รุ่นรองท้อป และเป็นรุ่นยอดนิยม) และ Eartha Chalenger 1.65 RCA มาให้ผมลองใช้งานเพิ่มเติมในระบบ โดยระบุเน้นมาว่า ให้เสียบต่อ Eartha Apollo 1.65 RCA เข้าที่ ต้นน้ำ (ซึ่งหมายถึง CD Player หรือว่า CD Transport) ส่วน Eartha Chalenger 1.65 RCA ก็เสียบต่อเข้าที่ ปลายน้ำ (ซึ่งหมายถึง Integrated Amp หรือว่าปรีแอมป์) เพื่อให้เกิดการ Flow ของสัญญาณที่ปราศจาก Noise โดยสิ้นเชิงจากต้นทางสู่ปลายทางอย่างเต็มระบบจริงๆ (ยกเว้นที่เพาเวอร์แอมป์)
แต่สำหรับท่านที่รับฟังจาก CD Player แบบแยกชิ้น คือเป็น CD Transport กับ D/A Converter ก็ขอแนะนำให้ใช้ Eartha Apollo 1.65 RCA ต่อเข้าที่ CD Transport (เป็น ต้นทาง) แล้วใช้ Eartha Silver 1.65 RCA มาเสียบต่อเข้าที่ D/A Converter (เป็น กลางทาง) โดยพ่วงเข้ากับ Silver Minimus จากนั้นก็ใช้ Eartha Chalenger 1.65 RCA มาเสียบต่อไว้ที่ปรีแอมป์ (เป็น “ปลายทาง”) แล้วพ่วงลง Silver Minimus อีกตัว (คือว่า โดยหลักการให้แยกกันระหว่างส่วนที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ดิจิตอลลงที่ Ground Box ตัวหนึ่ง แล้วก็เกี่ยวกับเครื่องอะนาลอกมาลงที่ Ground Box อีกตัวหนึ่ง)
กับอีกสูตร นึง ซึ่งคุณชิณพัฒน์ เจ้าของ Audio 168 ได้แนะนำผมไว้ว่า ถ้าจะให้ ดีที่สุดแบบเต็มๆ เน้นๆ ก็ให้ใช้ Eartha Chalenger 1.65 RCA ต่อเข้าที่ CD Transport (หรือแหล่งสัญญาณต้นทาง) แล้วก็ใช้ Eartha Silver 1.65 RCA มาเสียบต่อเข้าที่ D/A Converter จากนั้นให้นำ Eartha Cable ทั้ง 2 เส้นพ่วงเข้ากับ Silver Minimus ตัวแรก ส่วน Eartha Apollo 1.65 RCA ก็ให้ใช้เสียบต่อเข้าที่ปรีแอมป์ (หรือว่าอินทีเกรทแอมป์) แล้วก็พ่วงลง Silver Minimus ตัวที่สอง
บอกตรงๆ ครับ จากที่เคยใช้ Entreq อยู่เดิมนั้น (Ground Box รุ่น Silver Minimus และ Eartha Cable รุ่น Eartha Silver 1.65 RCA ซึ่งใช้เสียบต่อเข้าที่ปรีแอมป์) มันก็-เหลือเชื่อ-มากๆอยู่แล้วใน “สิ่ง” ที่ได้รับจากการฟัง ทั้งๆที่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่อุปกรณ์พาสซีฟ (Passive Device) ที่มิได้เกี่ยวข้องใดๆ ในเรื่องของสัญญาณไฟฟ้าโดยตรง (และก็มิได้ใช้กระแสไฟฟ้าใดๆ ในขณะทำงาน) มันเหมือนเสียงที่รับฟังนั้น ได้ถูกลดระดับแบ็กกราวด์น้อยส์ให้ Noise Floor นั้นน้อยลง รายละเอียดต่างๆ เลยพรั่งพรูออกมา เสมือนว่าเวลาน้ำลด-ตอก็ผุดขึ้นมาเยี่ยงนี้ละครับ
ซึ่งผมคงต้องขอใช้คำนี้ซะละกระมังครับ น่าทึ่งมากเป็นการแทนความประทับใจในเสียงที่ได้ยินได้ฟัง หลังจากที่ได้เสียบต่อ-ใช้งาน Entreq เข้าในซิสเต็มที่ผมรับฟังแจ่มชัด และ สด-สะอาด-กระจ่างใส ในรายละเอียดเสียง แม้กระทั่งตำแหน่งชิ้นดนตรีที่อยู่ในเวทีเสียงแถวหลังสุด โดยเฉพาะ-ความกระจ่างชัด-นั้นดีมากๆ ให้การรับรู้ราวกับว่า ดนตรีชิ้นต่างๆ มันอยู่ ณ ตรงนั้น-ตรงนี้-ตรงโน้น-โน่น-นี่-นั่นในเวทีเสียงที่กำลังรับฟังจริงๆ ครับ น้ำหนักและแรงปะทะของเสียงก็ดีมาก แม้แต่เสียงเครื่องเคาะจังหวะอันแผ่วเบา รับรู้เป็นระลอกคลื่นเสียงที่กำลังค่อยๆ จางหาย (ลองฟังเสียงเปียโนในอัลบั้ม Whispering Hammers Impression Studio ดูครับ – หลังจากนิ้วเคาะไปบนดีย์บอร์ด จะเกิดหัวเสียงที่ให้ไดนามิกอันเฉียบคม จากนั้นจะเป็นเสียงกังวานของเสียงเปียโนติดตามเป็นระลอกคลื่น แล้วจึงค่อยๆ จางหายไป)
สิ่ง ที่ผมชื่นชอบมากๆ สำหรับ Entreq ก็คือ เมื่อใช้แล้ว ประหนึ่งว่า เป็นการใส่วิญญาณเข้าไปในน้ำเสียง – เสียงต่างๆเลยมีตัวตนที่สมจริงมากๆ ไม่ผิดไปจากธรรมชาติ ทั้งยังให้แรงกระทบ-ปะทะ ให้พลังอัดฉีดในน้ำเสียง โดยที่เสียงไม่กร้าน-แข็ง อีกทั้งสภาพบรรยากาศที่อบอวลนั้นมันเป็นละอองอณูที่รับรู้ได้ชัดเจนขึ้น (ต่างจากการลองเปลี่ยนสายสัญญาณบางรุ่น-บางยี่ห้อที่มักจะให้เสียงที่อันใสปิ๊ง ทว่าแบนราบ ขาดน้ำหนัก อย่างกับเร่งระดับคอนทราสต์ขึ้นมากๆ จนภาพสูญเสียความเป็นธรรมชาติไป)
ครั้นเมื่อได้ Eartha Apollo 1.65 RCA และ Eartha Chalenger 1.65 RCA บวกกับ Silver Minimus มาเพิ่มเติมเข้าไปอะไรต่อมิอะไรมันก็ยิ่งพรั่งพรูขึ้นไปอีก “Eartha Apollo 1.65 RCA” สามารถ-ช่วย-ผลัก noise floor ลงไปได้มาก สามารถรับรู้เวทีเสียงได้เป็นชั้นๆเลยครานี้ ตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ แผ่ใหญ่และกระจายตัวออก รับรู้ถึงช่องไฟ (ระยะห่างระหว่างชิ้นดนตรีในเวทีเสียง) เด่นชัดมากขึ้น โดยที่ Scale ไม่เสียความสมจริงไป ปลายเสียงอักขระตัว ‘S’ จะดีขึ้นเห็นๆ (ไม่ซี๊ดซ๊าด) เสียงร้องอวบใหญ่ มีน้ำหนัก ในขณะที่ความคมชัดก็ดีขึ้น รายละเอียดผุดโผล่น่าประทับใจ
ถูกต้องแล้วครับ ศักยภาพที่ได้รับจากการเพิ่มเติม Eartha Apollo 1.65 RCA และ Eartha Chalenger 1.65 RCA บวกกับ Silver Minimus เข้าไปในระบบยิ่งใหญ่มาก …น่าประทับใจมากครับจากใจจริง ด้วยความที่มันสามารถดึงเอา noise ต่างๆ ออกไปจนเสียงClear & Cleanเราจึงรับรู้อะไรได้มากขึ้นจริงๆ ซึ่งสิ่งที่ได้รับนั้น “เปลี่ยน” ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากในทุกด้าน โดยที่บุคลิกของเสียงในซิสเต็มไม่ได้แปรสภาพไป (การเปลี่ยน”สาย” บางทีก็ทำให้บุคลิกเสียงของทั้งระบบแปรเปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากความไม่แมทชิ่งกัน)
เฉพาะอย่างยิ่งนั้น สำหรับท่านที่เล่นแหล่งสัญญาณดิจิตอล Eartha Apollo จะเหมาะมาก เพราะอย่างที่ทราบๆ กัน ดิจิตอลนั้นมีระบบการทำงานที่ใช้ความถี่สูงมากๆ เป็นหลักหมื่น-หลักล้านเฮิรตซ์ ดังนั้นมันจึงเป็นอุปกรณ์ที่ปลดปล่อย ขยะในช่วงความถี่สูงมากๆ ออกมาด้วยในเวลาเดียวกัน โอกาสที่อุปกรณ์ข้างเคียงจะรับเอาขยะความถี่สูงๆ นี้ ไปเข้าสู่วงจรต่างๆ จึงเป็นไปได้มาก ฉะนั้นหากสามารถกำจัดขยะที่เป็นมลพิษต่อคุณภาพเสียง ด้วยการถ่ายทิ้งไป(Drain away) ออกไปให้พ้นทางเสียตั้งแต่ต้นทาง (แหล่งกำเนิดสัญญาณ) ย่อมจะทำให้สัญญาณเสียงมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้น จนรับรู้ได้ถึงความต่างอย่างเด่นชัด
ในความคิดส่วนตนของผมEartha Apolloน่าจะมีค่าความต้านทานภายในตัวสายที่ “ต่ำ” เอามากๆ (Extremely low) อาจถึงขั้นที่เรียกได้ว่า -Absolute Zero- กระนั้น เพื่อให้ ไร้ ซึ่งความต้านทานใดๆ ที่จะมาต่อต้านการไหลของขยะ หรือ มลพิษทางความถี่สูงๆ นี้ ไปถ่ายทิ้งลงสู่อุปกรณ์ Ground Box อย่างปรู๊ดปร๊าด ทันทีทันใด…. “Eartha Apollo” จึงมีคุณสมบัติพิเศษสามารถดึงเอามลพิษ-สิ่งปนเปื้อนต่างๆ (Pollutants) ทางไฟฟ้า; กระแสเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า (Stray Magnetic Currents) หรือว่า Eddy Currents และความผันผวน-แปรปรวนต่อค่าความต้านทาน (Impedance Flunctuations) รวมทั้งขยะในช่วงความถี่สูงๆจากอุปกรณ์ดิจิตอลออกมาถ่ายทิ้งให้หมดไปเสียตั้งแต่ต้นทาง Eartha Apollo จึงเป็นเสมือนอุปกรณ์ปราบพยศระบบดิจิตอล
สรุปส่งท้าย
ยืนยันว่า ไม่ได้โม้นะครับ คุณจะได้รับสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ ที่ดีขึ้นแทบจะทันทีที่ใช้ Ground Box และ Eartha Cable ของ Entreq เสียบต่อเข้ากับซิสเต็มของคุณ ยิ่งผันผ่านเวลาที่รับฟัง คุณก็จะยิ่งจับสังเกตอะไรต่อมิอะไรได้มากขึ้น-มากขึ้น และมากขึ้น จนทำเอารู้สึกทึ่งจริงๆครับ ความสงัดเพิ่มขึ้น ความกังวานปลายเสียงสูงดีขึ้น ไดนามิกดีขึ้น Timbre ของเสียงต่างๆสมจริงมากขึ้น ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีห่างมากขึ้น พละพลิ้วมากขึ้น จังหวะ-ท่วงท่า (pace & time) แม่นยำขึ้น เบสบวมๆ หายไป คุมจังหวะจะโคนได้แน่นอนมากขึ้นสมจริงขึ้นโดยรวม จึงได้อารมณ์ร่วมมากขึ้น สภาพจินตภาพเสียง (Soundstage) ก็รับรู้ถึงระดับความลึกที่มากขึ้น เสียงร้องประสานราวมองเห็นปากแต่ละคนๆ (กับแผ่น Test Records 1 ของ Opus3) เสียงลอยตัวเป็นชั้นๆ เป็น 3 มิติ ตำแหน่งนักร้องแยกตัวออกจากพื้นเสียง โดยมีเสียงชิ้นดนตรีต่างๆห่างออกไปกระจายรายรอบ
อาการเสียงตัว ‘S’ และตัว “ส” ซิ๊ดซ๊าดหายไป บรรยากาศเสียงรับรู้ได้เป็นละอองอณู รายละเอียดแจ่มชัดมากขึ้น ลูกเล่นลูกคออกมาหมด ราวกับเห็นอากัปกริยาของนักร้อง-นักดนตรีที่กำลังร้อง-บรรเลงอยู่ตรงหน้า ประหนึ่งว่า มีแสงไฟสว่างส่องเข้าไปตรงตำแหน่งนั้นๆ เวทีเสียงกระจ่างขึ้น เหมือนเราขยับเก้าอี้เข้าไปใกล้เวทีที่กำลังแสดงดนตรีนั้นมากขึ้น ซึ่งมิใช่อาการ Forward จึงเห็นอะไรต่างๆ จะแจ้งขึ้น โดยไม่สูญเสีย Atmosphere ไป รับรู้ได้ถึงระยะลึกในเวทีเสียงแยกเป็นชั้นๆ (Layers) ถนัดชัดขึ้น เสียงก้องสะท้อนของห้อง (Ambience) บ่งบอกออกมาชัดเจนขึ้น Impact หรือ เรี่ยวแรงกระทบ-ปะทะก็ดีขึ้น น้ำหนัก-พละกำลังก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ความดีดดิ้นของเพลงดีมากจริงๆ ราวกำลังฟังของจริงแสดงสดอยู่ต่อหน้า
ขอสรุปสั้นๆไว้อย่างนี้ละกันนะครับ “Entreq” นั้น มิใช่อุปกรณ์เสริมสมรรถนะ แต่กลับจะทำให้สมรรถนะที่แท้จริงของซิสเต็มนั้นๆ ปรากฏขึ้นมาให้ได้รับรู้กัน และหาก-ได้ใช้-แล้ว จะ “ติดใจ” …ทำใจไม่คอยจะได้ที่จะต้องถอดออกไปเลยจริงๆครับ
รูปลักษณ์ : 4 ดาว
สมรรถนะ : 5 ดาว
คุณภาพเสียง : 5 ดาว
โดยธรรม : 4 ดาวครึ่ง
อุปกรณ์ร่วมใช้งาน :- CDTransport:marantz CD-12;D/A convevter:marantz DA-12;ปรีแอมป์ Luxman C-5000a; เพาเวอร์ แอมป์ Accuphase P-102; ลำโพง Tannoy System 10 DMT II ; สายสัญญาณ Van Damme และสายลำโพง SAEC SPC-2000
อุปกรณ์เสริม :- XAV : EMX -9 (วางทับบนปรีแอมป์ และเพาเวอร์ แอมป์); Entreq : Ground Box รุ่น Silver MinimUs + Eartha Cable รุ่น Silver; MagicBoxAudio : Lunar 1
ขอขอบคุณ Audio 168 โทร. 080-560-8448 ที่เอื้อเฟื้อให้ Ground Box รุ่น Silver Minimus + Eartha Cable รุ่น Apollo และ Chalenger มาทดสอบในครั้งนี้