เรื่องของเรื่อง Subwoofer (EP.2)

0

ภาคแรก (ภาคที่แล้ว) ได้นำเสนอให้ทราบถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง อันเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ รวมถึงความหมาย และภาระหน้าที่ของซับวูฟเฟอร์ใช้งานในบ้าน (Home Subwoofers) กันไปแล้ว…ทุกวันนี้ “ซับวูฟเฟอร์” ถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของระบบเครื่องเสียง เฉพาะอย่างยิ่งกับโฮมเธียเตอร์ หรือ โฮมซินีม่า ซึ่งแน่นอนว่า ห้องบันทึกเสียงในสตูดิโอสมัยใหม่ ก็ต้องมีการใช้งานกัน เพื่อการตอบรับกับสมัยนิยม มากกว่าประโยชน์ด้านเสียงอันแท้จริง

          ซึ่งนั่นจะเห็นได้ว่า “ความเป็นซับวูฟเฟอร์” นั้นมี นัยยะชัดๆ อยู่ 2 นัยยะด้วยกัน นั่นคือ ซับวูฟเฟอร์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับระบบลำโพงหลัก ซึ่งซับวูฟเฟอร์แบบนี้จะไม่สามารถ “แยกขาด” จากระบบลำโพงหลักได้ เพราะต้องทำหน้าที่ร่วมกับระบบลำโพงหลักโดยรวม มิเช่นนั้น ก็จะขาดซึ่งช่วงเสียงย่านความถี่ต่ำ ทำให้เสียงที่รับฟังไม่ครบทั้งช่วงย่าน (Full Range)

           อย่างเช่นลำโพงขนาดเล็กแบบ ‘ลำโพงบริวาร’ (Satellite Speakers) ตั้งวางทางด้านซ้ายและขวา แล้วก็ซับวูฟเฟอร์อีกหนึ่งตัว (หรือ มากกว่านั้น) ซึ่งรูปแบบนี้มักเรียกกันว่า 2.1 โดยเลข 2 นั้น หมายถึงลำโพงสเตริโอคู่หลัก (ลำโพงบริวารด้านซ้ายและขวา) ในขณะที่ ‘.1’ หมายถึง ซับวูฟเฟอร์ที่มีแบนด์วิดท์จำกัด (Limited-Bandwidth) ซึ่งในทำนองเดียวกัน โฮมเธียเตอร์ หรือ โฮมซินีม่า รวมทั้งระบบเสียงรอบทิศทาง มักจะเรียกว่า 5.1 ซึ่งหมายถึง ช่องสัญญาณหลัก 5 ช่องและซับวูฟเฟอร์ 1ตัว เพื่อจัดการกับช่องสัญญาณเอฟเฟกต์ความถี่ต่ำโดยเฉพาะ หรือ LFE

           กระนั้น บางบริษัทลำโพงก็มีการผลิตระบบลำโพงในแบบที่มีการแยกตู้ลำโพงขับเสียงความถี่ต่ำออกมาต่างหาก แต่ก็มักจะไม่ได้ใช้คำว่า Subwoofer ทว่าจะใช้คำว่า Bass Unit หรือ Bass Tower เพื่อบ่งบอกภาระหน้าที่ในการขับขานเฉพาะช่วงความถี่ต่ำเท่านั้น ควบคู่กับภาระการขับขานของระบบลำโพงหลัก (Main Speakers) ซึ่งผู้ออกแบบก็จะกำหนดจุดตัดแบ่ง/กรองช่วงความถี่มาเป็นอย่างดี สำหรับทั้งส่วนที่เป็น Bass Unit หรือ Bass Tower กับส่วนที่เป็นระบบลำโพงหลัก เพื่อก่อให้เกิดการตอบสนองต่อความถี่เสียงโดยรวมที่ครอบคลุมตลอดทั้งช่วงย่านอย่างกลมกลืนและสอดประสานสัมพันธ์กัน

           ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็อาทิ Infinity : IRS อันเป็นที่คุ้นเคยกันในอดีต กับ McIntosh : XRT2.1K ที่ออกแบบล่าสุดในปัจจุบัน และสำหรับ Sonus Faber : Suprema ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษฉลองวาระ 40 ปีของ Sonus Faber ที่ออกแบบเป็น Four Columns System อันประกอบด้วย Two Main Columns กับ Two Subwoofers รวมถึง External Active Electronic Crossover นั้น แม้จะมีส่วนของ “Two Subwoofers” ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก Bass Unit โดยเฉพาะ แต่ก็พร้อม “สร้าง” ช่วงความถี่ต่ำล้ำลึกเข้าไปสู่ระบบลำโพงโดยรวม เนื่องเพราะระบบลำโพงหลัก (Two Main Columns) ก็สามารถให้การตอบสนองต่อช่วงความถี่ต่ำได้เพียงพออยู่แล้ว (45 Hz-40,000 Hz) ในขณะที่ “Two Subwoofers” จะรับภาระช่วงความถี่ต่ำล้ำลึกในช่วง 16 Hz -30/80 Hz โดยผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการตั้งค่าของอิเล็กทรอนิกส์ ครอสโอเวอร์  (Variable Based On The Setting Of The Electronic Crossover)

           ทั้งนี้โดยลำพัง MR!777 ก็สามารถให้การตอบสนองต่อช่วงความถี่ได้กว้างขวางมากๆ ครอบคลุมตั้งแต่ต่ำล้ำลึก 20Hz (ด้วยวูฟเฟอร์ขนาด 18 นิ้ว 2 ตัวในแต่ละข้างของ MR!777) จนกระทั่งปลายสุด 20kHz (ภายใต้อัตราเบี่ยงเบนเพียงแค่ +/-1dB เท่านั้น)

            ทว่ายังมีการใช้งานซับวูฟเฟอร์อีกนัยยะชัดๆ อีกนัยยะหนึ่ง นั่นคือ ซับวูฟเฟอร์ที่ ‘มิได้’ ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับระบบลำโพงหลัก หรือ ลำโพงบริวาร (Satellite Speakers) โดยเป็นซับวูฟเฟอร์ที่ได้รับการผลิตขึ้นต่างหาก (อาจจะต่างแบรนด์ หรือว่าแบรนด์เดียวกันก็แล้วแต่) แล้วนำมาใช้งานร่วมกับระบบลำโพงหลัก ในลักษณะที่ “เสริม” หรือ “เพิ่ม” ช่วงย่านเสียงความถี่ต่ำผสมรวมเข้าไปกับระบบลำโพงหลัก (Main Speakers) ให้เบสหนักขึ้น ให้เบสเข้มข้นมากขึ้น นอกเหนือจากเป้าประสงค์ของความต้องการให้ลึกล้ำยิ่งขึ้น (หรือไม่? ก็แล้วแต่) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่ของตัวลำโพงเพิ่มเบสนี้ น่าจะตรงกับคำบัญญัติศัพท์ว่า Super Woofer มากกว่า Subwoofer นะ…ว่าไหมครับ

             เนื่องเพราะระบบลำโพงหลักจะสามารถ “แยกขาด” จาก Super Woofer หรือ ซับวูฟเฟอร์แบบที่ว่านี้ได้ พูดง่ายๆ ว่า มี หรือ ไม่มี ซับวูฟเฟอร์ “เสริม” หรือ “เพิ่ม” เข้ามา ระบบลำโพงหลักยังคงทำหน้าที่ให้เสียงที่รับฟังได้ครบทั้งช่วงย่าน เสียงที่รับฟังโดยรวม มิได้ขาดแคลนซึ่งช่วงเสียงย่านความถี่ต่ำไปแต่อย่างใด

          การ “มี” ซับวูฟเฟอร์แบบนี้ เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ อาจจะกลายเป็นว่า เสียงเบสที่ “เสริม” เข้ามานั้น ไปเพิ่มพูนทับถมซ้อนซ้ำกับเสียงเบสที่มีอยู่เดิมจนเกิดอาการ “ล้น” หรือไม่ก็ อาจไปก่อให้เกิดอาการหักล้างกันกับเสียงเบสที่มีอยู่เดิมจนเกิดอาการ “ขาด” ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอาการอย่างใดขึ้นก็ตาม เสียงที่ได้รับฟังย่อมไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

            ทั้งนี้การเซตอัพซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบ ให้ได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่สอดประสาน-กลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจวัด (Measurement) ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ถี่ถ้วนในห้องนั้นๆ หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรได้รับคำแนะนำและข้อคิดคำนึงเรื่องของตำแหน่งตั้งวางซับวูฟเฟอร์อย่างเป็นไปตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล

            …สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ แนวคิดพื้นฐานของระบบซับวูฟเฟอร์ว่า มันพยายามทำอะไร และทำงานอย่างไร เห็นได้ชัดว่าแนวคิดพื้นฐานคือ การสร้างความถี่ต่ำ ในกรณีส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ช่วงประมาณ 2 อ็อกเทฟ (Octave) ล่าง ตั้งแต่ 20Hz ถึง 80Hz อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญประการแรกที่เราต้องทำความเข้าใจคือ การมี ‘กล่องพิเศษ’ ที่สร้างความถี่ต่ำโดยเฉพาะ ไม่ได้รับประกันว่า เสียงเบสในห้องฟังนั้น จะดี-จริงๆ แล้ว (อาจ) ไม่ใช่เลย!

            คุณสมบัติทางอะคูสติกของห้องนั้นมีความสำคัญสูงสุด หากติดตั้งซับวูฟเฟอร์ที่ดีที่สุดในโลกในห้องที่เสียงไม่ดี คุณจะได้เสียงเบสที่ย่ำแย่มาก!…บ่อยครั้งที่มีการเพิ่มซับวูฟเฟอร์เข้าไปโดยหวังว่า จะแก้ปัญหาเสียงเบสที่เบาไป หรือ ไม่สม่ำเสมอ  แต่แล้วกลับพบว่า สถานการณ์ไม่ดีขึ้น หรือ กลับแย่ลงเสียด้วยซ้ำ!

          หากห้องมีปัญหาคลื่นสั่นค้าง หรือ Standing-Wave ที่น่ารำคาญ-โฮม สตูดิโอเกือบทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้น-สิ่งสำคัญคือ ต้องแก้ไขปัญหาด้านอะคูสติกที่ว่านี้ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเสียเงิน และเวลาไปกับซับวูฟเฟอร์ ทั้งนี้ประเด็นการใช้ “ตัวดักเสียงเบส” (Bass Trap) เพื่อควบคุมและลดคลื่นสั่นค้างในห้อง ยังเป็นหัวข้อยอดนิยมสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ที่แน่ๆ ด้วยห้องที่ผ่านการบำบัดแล้ว (Treated) จะพบว่า ลำโพงที่ใช้งานอยู่นั้นให้เสียงเบสที่มากขึ้นและดีขึ้นกว่าที่คาดคิด!

            ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์จริงๆ อีกประการหนึ่งของซับวูฟเฟอร์คือ การจัดการพลังงานเพิ่มเติมที่มอบให้กับระบบโดยรวม พลังงานทางอะคูสติก (Acoustic Energy) ในเสียงเพลงจะสูงสุดที่ความถี่ต่ำ และลดลงเมื่อความถี่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการใช้ซับวูฟเฟอร์ทำหน้าที่ “กล่องเฉพาะ” (Dedicated Box) เพื่อจัดการกับเสียงเบสที่กินพลังงานมาก จะช่วยลดภาระดังกล่าวจากลำโพงบริวาร (Satellites) ซึ่งก่อประโยชน์ในด้านการจัดการอัตรารองรับกำลังขับ (Power Handling) และความกระจ่างชัด (Clarity) โดยรวม

One or Two? (หนึ่ง หรือว่า สอง)

            ระบบเสียงสเตริโอส่วนใหญ่มีลำโพงหลัก หรือ ลำโพงบริวาร 2 ตัว (ซ้ายกับขวา) แต่ว่ามีซับวูฟเฟอร์เพียงตัวเดียว ทำไมไม่มีซับวูฟเฟอร์สองตัวด้วยล่ะ ในบางสถานการณ์ การมีซับวูฟเฟอร์สองตัว (หรือมากกว่านั้น) ‘อาจมี’ ข้อดี-แต่โดยทั่วไป ซับวูฟเฟอร์เพียงตัวเดียวก็เพียงพอแล้ว เหตุผลก็คือ สำหรับความถี่ที่ต่ำกว่า 700 เฮิรตซ์ ประสาทการได้ยินของมนุษย์เราจะวัดความแตกต่างของเฟส (Phase Differences) ระหว่างเสียงที่มาถึงหูแต่ละข้าง ในขณะที่ความถี่ที่สูงกว่านี้จะวัดความแตกต่างของระดับเสียง (Level Differences) ที่รับฟังเป็นหลัก…ซึ่งเมื่ออยู่กลางแจ้ง ความสามารถของเรา-ท่านในการระบุทิศทางของเสียงยังคงแม่นยำจนถึงความถี่ต่ำมาก แต่ความสามารถนี้จะลดลงเมื่อรับฟังในที่ร่ม

            แหล่งกำเนิดเสียงความถี่ต่ำ (ต่ำกว่า 100 เฮิรตซ์) มักจะส่งเสียงในลักษณะรอบทิศทาง (Omni-Directional)-คลื่นเสียงเดินทางจากแหล่งกำเนิดเสียงออกไปทุกทิศทาง เนื่องจากความยาวคลื่นของเสียงมักจะมากกว่าขนาดตัวแหล่งกำเนิดเสียงเอง เมื่อเสียงความถี่ต่ำถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ปิด คลื่นเสียงทรงกลม (Spherical Sound Waves) ที่แหล่งกำเนิดเสียงสร้างขึ้นจะแพร่กระจายออกไปโดยรอบ แล้วสะท้อนจากพื้นผิวขอบเขตของห้อง และกลับมายังหูโดยมีการเปลี่ยนแปลงเฟสหลายแบบ เนื่องมาจากความแตกต่างของความยาวคลื่น ความสับสนของสัญญาณดังกล่าวทำให้หูและสมองไม่สามารถแยกความแตกต่างของเฟสได้อย่างเจาะจง ดังนั้นความชัดเจนของทิศทางอย่างปกติจึงล้มเหลว

          ตามทฤษฎีแล้ว เนื่องจากเรา-ท่านไม่สามารถบอกได้ว่า ความถี่ต่ำมาจากที่ใดในห้อง ซับวูฟเฟอร์เพียงตัวเดียวก็จึงเพียงพอแล้ว เสียงฮาร์โมนิกของโน้ตเบสจะถูกถ่ายทอดโดยลำโพงบริวาร (หรือลำโพงหลัก) ซึ่งโดยปกติจะเริ่มรับช่วงความถี่ที่สูงกว่า 90 เฮิรตซ์ และลำโพงบริวารจะให้ข้อมูลทิศทางมากมายผ่านความแตกต่างของเฟสและระดับเสียงในลักษณะปกติ แม้ว่าเบสจะถูกทบให้มาเป็นเสียงโมโน ด้วยซับวูฟเฟอร์เพียงตัวเดียว แต่ความประทับใจของการสร้างจินตภาพสเตอริโอจากลำโพงบริวาร (หรือลำโพงหลัก) จะยังคงอยู่ได้อย่างน่าพึงพอใจ

          นั่นว่ากันตามทฤษฎี แต่กระนั้นมักได้ยินผู้คนพูดว่า พวกเขาสามารถได้ยินว่า ซับวูฟเฟอร์วางอยู่ที่ไหนในห้อง หากแต่นั่น ไม่ใช่เพราะความสามารถพิเศษด้านการได้ยินเสียงของพวกเขา แต่เป็นเพราะซับวูฟเฟอร์บางตัวทำงานได้ไม่ดี…นี่คือ เรื่องจริง! การออกแบบที่ทำด้วยต้นทุนต่ำ โดยใช้ไดรเวอร์คุณภาพต่ำ และออกแบบมาเพื่อเน้นความถูกใจเหนือสิ่งอื่นใด มักจะสร้างเสียงรบกวนนอกแบนด์วิดท์จำนวนมาก (A Lot Of ‘Out Of Band’ Noise) เช่น การบิดเบือนฮาร์โมนิกและเสียงรบกวนจากพอร์ตที่รับรู้ได้ หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้จะครอบครองช่วงความถี่กลาง ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่ทำให้ตรวจจับ-รับรู้ตำแหน่งได้ง่ายเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปบดบังความถี่กลางที่เป็นส่วนสำคัญจากลำโพงบริวาร (หรือลำโพงหลัก) อีกด้วย ดังนั้นการเพิ่มซับวูฟเฟอร์ราคาถูกให้กับลำโพงบริวาร (หรือลำโพงหลัก) คุณภาพสูง จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ระบบมีความแม่นยำน้อยลงแทนที่จะมากขึ้น

          ซับวูฟเฟอร์ที่ดีต้องมีไดรเวอร์เชิงเส้นตรง (Linear Driver) ซึ่งมีราคาแพง ร่วมกับแอมปลิฟายเออร์ที่แม่นยำและทรงพลัง ซึ่งก็มีราคาแพงเช่นกัน และตู้ลำโพงที่ได้รับการออกแบบ-สร้างมาอย่างดี ซึ่งก็ย่อมมีราคาแพงอีกนั่นแหละ แต่การตัดมุมในแง่มุมเหล่านี้ถือเป็นการประหยัดที่ผิดทาง…จึงเชื่อมั่นได้ว่า ซับวูฟเฟอร์ที่ดีที่สุดนั้น ผลิตโดยบริษัทเดียวกับที่ออกแบบสร้างลำโพงมอนิเตอร์ชั้นดี ด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ชัดเจน :- Blue Sky, ATC, Genelec และ PMC ต่างก็ผลิตระบบซับวูฟเฟอร์ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งผสานรวมเข้ากับลำโพงหลักที่ได้รับการตั้งใจออกแบบไว้ให้เป็น “คู่หู” กันได้อย่างดี นี่ทำให้การติดตั้งทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบค่อนข้างง่าย เนื่องจากการจับคู่ที่ใกล้เคียงกัน และการจัดการในแง่เชิงไฟฟ้า (Electrical Alignment) ที่เหมาะสมกัน

          แน่นอนว่า เมื่อจะซื้อซับวูฟเฟอร์ สิ่งสำคัญคือ ต้องลองใช้ในสภาพแวดล้อมการฟังของเราเอง โดยใช้ซับวูฟเฟอร์นั้นมาเข้ากับลำโพงหลักของเราเอง การทดสอบฟังที่บ้านเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ชุดลำโพงชุดใดประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากซับวูฟเฟอร์มาจากผู้ผลิตอื่น ซึ่งชุดลำโพงบางชุดจะผสานเสียงร่วมกันได้ดี

Alignment (การจัดตำแหน่ง)

การปรับตั้งทางกายภาพและทางไฟฟ้า (Physical And Electrical Alignment) ของซับวูฟเฟอร์เป็นกระบวนการที่เข้าใจผิดกันมาก ซึ่งหากทำผิดพลาดก็จะทำลายความแม่นยำของรูปแบบการตรวจสอบเสียงโดยรวม ประการแรก สิ่งสำคัญคือ ซับวูฟเฟอร์และลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) ทั้งหมดจะต้องอยู่ในค่าเฟสเดียวกัน ซึ่งหมายถึง ทั้งขั้วไฟฟ้า (Electrical Polarity) และการจัดตำแหน่งทางค่าเวลา (Time Alignment) หากไม่เป็นเช่นนั้น บริเวณครอสโอเวอร์จะมีส่วนนูนขึ้น (Bulge) หรือ ต่ำลง (Dip) ของระดับความดังเสียงอย่างเห็นได้ชัด อาจมีแหล่งของการเลื่อนเฟส (Phase Shifts) จำนวนมากที่อาจทำให้บริเวณครอสโอเวอร์ผิดเพี้ยนไป จนสูญเสียสิ่งที่ควรจะเป็นในการตอบสนองความถี่โดยรวมได้

           ซับวูฟเฟอร์และลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) มีการตอบสนองเฟสเชิงกล (Mechanical Phase Responses) ของตัวเองที่ต้องนำมาพิจารณา รวมถึงลักษณะเฟสไฟฟ้าของตัวครอสโอเวอร์เองด้วย นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าของเวลา (Time Delay) ที่เกิดจากการวางลำโพงไว้ในระยะห่างที่ต่างกันจากผู้ฟัง และตู้ลำโพงบางรุ่นยังมีความล่าช้าทางเสียง (Acoustic Delays) เพิ่มเติมเข้าไปอีก ซึ่งมักจะแตกต่างกันอย่างมากแปรตามค่าความถี่ (และในบางกรณีอาจเกิน 40 มิลลิวินาที)

            ซับวูฟเฟอร์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ดีกว่าหลายตัวจะมีคุณสมบัติการปรับเฟส (ทั้งแบบสวิตช์ หรือ แบบปรับได้อย่างต่อเนื่อง) ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขความแตกต่างของเฟสทางกลและไฟฟ้าระหว่างลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) กับซับวูฟเฟอร์ได้ อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่การออกแบบทั้งหมดไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากัน และที่สำคัญกว่านั้นคือ การแก้ไขเฟสไม่เหมือนกับการปรับค่าดีเลย์ หากซับวูฟเฟอร์ตั้งอยู่ใกล้หรือไกลจากผู้ฟังมากกว่าลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) ซึ่งจะต้องปรับชดเชยค่าดีเลย์ให้เหมาะเจาะเพื่อให้ได้การปรับค่าเวลา (Time Alignment) ที่ถูกต้อง แม้ว่าระบบจัดการเสียงเบส (Bass Management) หรือ Surround Sound Monitoring Systems บางระบบจะรวมฟังก์ชันนี้ไว้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกระบบที่จะรวมฟังก์ชันนี้เข้าไว้!

           เมื่อตั้งวางซับวูฟเฟอร์ มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณา แม้ว่าซับวูฟเฟอร์คุณภาพสูงไม่ควรส่งความถี่ที่ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งได้จากการฟัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะวางซับวูฟเฟอร์ได้ทุกที่ตามปรารถนา ประการแรก ตำแหน่งของซับวูฟเฟอร์ในห้อง โดยเฉพาะระยะห่างจากผนัง จะมีผลอย่างมากต่อความถี่และการตอบสนองตามโดเมนเวลา (Time-Domain) ในห้องทั่วไป จะมีตำแหน่ง “ที่ดีที่สุด” เพียงไม่กี่ตำแหน่งจากตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมายที่รับไม่ได้ ประการที่สอง เว้นแต่จะมีการชดเชยความล่าช้า (Delay Compensation) ดังนั้นซับวูฟเฟอร์ควรวางห่างจากผู้ฟังในระยะเดียวกับลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก)

          การวางซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวไว้ด้านหน้าของผู้ฟังนั้นสมเหตุสมผล แทนที่จะวางไว้ด้านหลังและหันหน้าเข้าหาตำแหน่งการฟังโดยตรง ควรวางซับวูฟเฟอร์ให้ห่างจากมุมห้องพอสมควร แต่กระนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงการวางไว้ตรงกลางห้อง เพื่อลดการกระตุ้นของคลื่นสั่นค้าง (Standing Waves) ยิ่งวางซับวูฟเฟอร์ไว้ใกล้ผนังมากเท่าไร เสียงเบสก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น รุ่นบางรุ่นได้รับการออกแบบมาให้วางใกล้กับผนังโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากรูปแบบการตั้งวางนี้ แต่บางรุ่นไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งหมายความว่า ควรต้องตรวจสอบคำแนะนำของผู้ผลิตอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงระยะห่างเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผนัง มักจะสร้างความแตกต่างอย่างมากในความสมดุลของเสียงเบสที่หนักแน่น…ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะลองผิดลองถูก

           หากต้องการให้ซับวูฟเฟอร์ทำงานได้อย่างถูกต้อง และไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างที่ต้องการ ควรตั้งค่าครอสโอเวอร์ระหว่างลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) กับซับวูฟเฟอร์ให้อยู่ต่ำกว่า 90 เฮิรตซ์ ซึ่งหมายความว่า ลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) ควรมีการตอบสนองที่เหมาะสม ลงมาได้ที่ความถี่ 70 เฮิรตซ์ หรือต่ำกว่านั้น-หากสูงกว่า ซับวูฟเฟอร์จะเริ่มรบกวนช่วงย่านเสียงกลาง (mid-range) ซึ่งก็จะเป็นว่า สามารถระบุตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ได้ ทั้งนี้องค์กร THX แนะนำให้ตั้งค่าครอสโอเวอร์ที่ 85 เฮิรตซ์ และส่วนใหญ่พบว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

Practical Placement (ลองปฏิบัติหาตำแหน่งตั้งวาง)

          ในทางอุดมคติ ระบบซับวูฟเฟอร์และลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) ควรได้รับการปรับให้ตรงกัน-สอดคล้องกัน โดยใช้เครื่องมือวัดทางอะคูสติก (Acoustic Measuring) ที่เหมาะสม แต่พวกเราส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าว หรือว่ามีประสบการณ์ในการตีความผลลัพธ์อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ตัวเรา (อาจ) สามารถได้ผลลัพธ์เชิงอัตนัย (Subjective) ที่ดีมาก หากให้เวลาและความอดทน รวมไปถึงใช้แนวทางที่เป็นตรรกะ (Logical Approach)

         เริ่มต้นด้วยการวางซับวูฟเฟอร์ในตำแหน่งนั่งฟัง โดยตั้งค่าฟิลเตอร์ตัดกรองความถี่เสียงโดยประมาณที่ 85Hz และระดับความดังเสียง (Volume) ที่พอเหมาะ จากนั้นจะต้องเล่นเพลงหลายๆ เพลงที่มีไลน์เบสที่บันทึกไว้อย่างดีในคีย์ต่างๆ…อีกวิธีหนึ่งคือ สร้างแทร็กทดสอบของตัวเอง โดยใช้เครื่องกำเนิดเสียง (Sound Generator) หรือ คีย์บอร์ดป้อนความถี่ โดยเล่นแต่ละโน้ตแบบเป็นจังหวะ (ไม่ต่อเนื่อง) และตั้งค่าช่วงความเร็ว (Velocity) ให้สม่ำเสมอ

          จากนั้นต้องลองเดินไปรอบๆ พื้นที่ห้อง แล้วฟังตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ที่เหมาะสมที่สุด โดยเลือกตำแหน่งที่ให้เสียงเบสที่สม่ำเสมอ และเป็นธรรมชาติที่สุด ซึ่งก็จะพบว่า บางตำแหน่งมีเสียงทุ้มบวม (Boomy) และก้องกำทอน (Resonant Notes) ในขณะที่บางตำแหน่งจะมีเสียงที่เบา (Weak) หรือ หายไป (Missing Notes) อย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่า ถ้าคุณตั้งใจ ก็จะพบตำแหน่งหนึ่ง หรือ สองตำแหน่งที่เสียงมีความสมดุลดี รวมทั้งเสียงเบสทั้งหมดค่อนข้างสม่ำเสมอ เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ให้โยกย้ายซับวูฟเฟอร์มาตั้งวางไว้ตรงนั้น และปรับเก้าอี้สำหรับนั่งฟังกลับคืนตำแหน่งเดิม

          ตอนนี้คุณสามารถปรับระดับซับวูฟเฟอร์ให้เหมาะสมได้ และหากซับวูฟเฟอร์มีการปรับฟิลเตอร์ ‘turnover frequency’ ได้ รวมถึงค่าเฟส/ดีเลย์ด้วย คุณอาจต้องวนซ้ำการปรับตั้งค่าต่างๆ ก่อนที่จะได้ชุดค่าการผสมผสานที่ดีที่สุด (Best Combination) ดังนั้นคุณต้องให้และใช้เวลาในการลองผิดลองถูกอย่างคุ้มค่า อยู่กับการตั้งค่าที่ดีสักพัก และ อย่ากลัวที่จะทดลองปรับ

          ซึ่งเมื่อคุ้นเคยกับการทำงานของลำโพงบริวาร (หรือ ลำโพงหลัก) แล้ว ก็เริ่มเพิ่มระดับความดังเสียงของซับวูฟเฟอร์ จนกระทั่งโน้ตเบสทั้งหมดอยู่ในระดับที่เท่ากัน โดยไม่คำนึงถึงระดับความดังเสียง (Level)…ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจจะเพิ่มระดับเสียงของซับวูฟเฟอร์มากเกินไป และแม้ว่าจะฟังดูน่าประทับใจ แต่การทำเช่นนี้จะกลายเป็นเรื่องทำให้ฟังเสียงแล้วรู้สึกน่าเบื่ออย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การผสมเสียงให้เบสเบาลง ดังนั้นจึงต้องค่อยๆ ใช้วิจารณญาณในการรับฟังไปเรื่อยๆ

          อีกทั้งให้ลองปรับความถี่ครอสโอเวอร์ขึ้น หรือ ลงเล็กน้อย เพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลงทางเสียงที่ราบรื่นที่สุด หากซับวูฟเฟอร์มีการควบคุมค่าเฟสได้ อาจจะพบว่า การปรับเฟสเพียงเล็กน้อยมักจะทำให้เกิดความแตกต่างที่มากอย่างน่าประหลาดใจได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากซับวูฟเฟอร์มาจากผู้ผลิตอื่นที่ไม่ใช่แบรนด์เดียวกับระบบลำโพงหลักที่ใช้อยู่ โปรดจำไว้ว่า การควบคุมทั้งสาม (ค่าตัดกรองความถี่-ค่าเฟส-ค่าความดังเสียง) จะปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้นจึงเน้นย้ำว่า ให้ใช้เวลาของคุณ อยู่กับการตั้งค่าที่ดีสักพัก และอย่ากลัวที่จะทดลองกับการปรับตั้งค่า เพื่อหาความเหมาะสมที่ลงตัวกันที่สุด

          สุดท้ายแล้ว โปรดระลึกไว้เสมอว่า ความถี่ต่ำนั้นควบคุมได้ยากมาก การเพิ่มซับวูฟเฟอร์เข้าไปจะทำให้เสียงเบสทุ้มลึกที่คุณเพิ่งได้มา หลุดออกจากห้องฟังไปในที่สุด ซึ่งอาจทำให้เพื่อนบ้านของคุณรำคาญได้ แม้ว่าพวกเขาจะเคยยอมให้ระบบนี้ทำงานโดยไม่มีซับวูฟเฟอร์มาก่อนก็ตาม การสร้างเสียงเบสต่ำๆ นั้นอาจทำให้คลื่นสั่นค้าง (Standing Waves) ในห้องที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้โครงสร้างต่างๆ ของอาคารบ้านเรือนของคุณสั่นสะเทือน และเกิดเสียงก้องกำทอน (Resonating) ในแบบที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อน!

_________________