ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มักคุ้นต่อ Motorola ในแง่ของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพสูง ทว่าในอดีตนั้น Motorola เคยเฟื่องฟูอย่างมาก จนได้รับการยอมรับในระดับโลกของแวดวงอุปกรณ์สื่อสารชั้นนำ และเคยได้ชื่อเป็นเบอร์หนึ่งในบริษัทที่ครองเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ในชื่อ Galvin Manufacturing Corporation โดยพี่น้อง Paul และ Joseph Galvin บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Motorola ในปี ค.ศ. 1947
เดิมที Motorola ก่อตั้งขึ้นในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ภายใต้ชื่อ Galvin Manufacturing Corporation ในปี ค.ศ. 1928 (ตั้งอยู่ที่ 847 West Harrison Street) โดย 2 พี่น้อง Paul และ Joseph Galvin คำว่า ’Motorola’ มาจากการที่ Paul Galvin ต้องการชื่อตราสินค้า (Brand Name) สำหรับวิทยุติดรถยนต์รุ่นใหม่ของ Galvin Manufacturing Corporation จึงได้สร้างชื่อ ‘Motorola’ ขึ้นโดยการเชื่อมคำว่า “Motor” (จากคำว่า Motor Car) เข้ากับ “ola” (จากคำว่า Victrola) ซึ่งเป็นคำลงท้ายที่นิยมใช้กันในหลายบริษัทในขณะนั้น เช่น Moviola และ Crayola
บริษัทได้ขายวิทยุภายใต้ตราสินค้า Motorola เครื่องแรก เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1930 ให้กับ Herbert C. Wall แห่งเมืองฟอร์ตเวย์น, รัฐอินเดียนา ในราคา 30 ดอลลาร์ ชื่อตราสินค้า Motorola เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนต่อมา Galvin Manufacturing Corporation ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Motorola, Inc. ในปี ค.ศ. 1947 หลังจากประสบกับการขาดทุนถึง 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2007 ถึง 2009 ส่งผลให้ Motorola ถูกแยกออกเป็นบริษัทมหาชนอิสระ 2 แห่ง คือ Motorola Mobility และ Motorola Solutions ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2011 การปรับโครงสร้างองค์กรมีขึ้น โดย Motorola Solutions เข้ามาสืบทอดกิจการ Motorola, Inc. อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ Motorola Mobility ได้ถูกแยกออกไป
ทั้งนี้ Motorola เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี ค.ศ. 1943 และกลายมาเป็น Motorola, Inc. ในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งในขณะนั้น ธุรกิจหลักของ Motorola คือ การผลิตและจำหน่ายโทรทัศน์และวิทยุ ผลิตภัณฑ์ของ Motorola จำนวนมากเกี่ยวข้องกับวิทยุ โดยเริ่มจาก Battery Eliminator (เครื่องกำจัดแบตเตอรี่สำหรับวิทยุที่ใช้แบตเตอรี่) ในช่วงที่ไฟฟ้ากำลังแพร่หลายในบ้านเรือนในชนบท ไปจนถึงวิทยุสื่อสารแบบพกพา (Walkie-Talkie) เครื่องแรกของโลกในปี ค.ศ. 1940, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการป้องกันประเทศ, อุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานสำหรับโทรศัพท์มือถือ และการผลิตโทรศัพท์มือถือ
ในปีเดียวกันนั้น บริษัทได้สร้างโปรแกรมการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ Dan Noble ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกด้านวิทยุ FM และเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเข้าร่วมบริษัทในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทผลิตวิทยุ AM SCR-536 แบบพกพาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีความสำคัญต่อการสื่อสารของฝ่ายสัมพันธมิตร Motorola อยู่ในอันดับที่ 94 ในบรรดาบริษัทของสหรัฐฯ ในด้านมูลค่าสัญญาการผลิตทางทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แผนกโทรศัพท์ไร้สายของ Motorola นับเป็นผู้บุกเบิกโทรศัพท์มือถือ ก่อนปี ค.ศ. 2004
แผนกนี้รู้จักกันในชื่อ Personal Communication Sector (PCS) โดยเป็นผู้บุกเบิก ‘โทรศัพท์มือถือ’ ด้วย DynaTAC ซึ่งเป็น “โทรศัพท์แท่งอิฐ” (Brick Phone) เครื่องแรก และ “โทรศัพท์เปิดพับ” (Flip Phone) ด้วย MicroTAC รวมถึง “โทรศัพท์แบบฝาพับ” (Clam Phone) ด้วย StarTAC ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 แผนกนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ด้วย RAZR ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีขนาดเล็กและดูดีมาก แต่ก็สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนั้น ต่อมาแผนกนี้มุ่งเน้นไปที่สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการมือถือ Android โอเพนซอร์สของ Google โทรศัพท์เครื่องแรกที่ใช้ Android 2.0 “Eclair” คือ Motorola Droid ซึ่งเปิดตัวในปี ค.ศ. 2009 (ส่วนเวอร์ชัน GSM เปิดตัวในยุโรปหนึ่งเดือนต่อมาในชื่อ Motorola Milestone) ต่อมาแผนกโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับกล่องรับสัญญาณเคเบิล และธุรกิจโมเด็มก็แยกตัวออกไปเป็น Motorola Mobility
สำหรับ B100W เป็นเครื่องรับวิทยุหลอดสุญญากาศ (Tube Radio Receiver) ขนาดตั้งโต๊ะ โดยมี ‘Wooden Case’ สวยงาม ระบบการทำงานแบบ Superheterodyne ที่มีภาคขยายในตัวระบบเสียงสเตอริโอ พร้อมลำโพง 2 ตัว (ลำโพงซ้าย-ลำโพงขวา) ซึ่งสามารถถอดแยกออกจากตัวเครื่องได้ (Detachable Speakers) ที่น่าจะผลิตออกจำหน่ายประมาณปี ค.ศ. 1962 โดยใช้หลอดสุญญากาศจำนวน 10 หลอดในการทำงาน (6AQ8 หรือ ECC85; 6BE6; 6BA6; 6BA6; 6AU6; 6AL5; 12AX7A; 6BM8 หรือ ECL82; 6BM8 หรือ ECL82; 6CA4 หรือ EZ81) ด้วยระบบไฟฟ้า AC – 120 V / 60 Hz
ขนาดตัวเครื่อง (กว้าง x สูง x ลึก): 24 x 10 x 9 นิ้ว (610 x 254 x 229 มม.)
__________________