เล่าสู่กันฟัง : ‘HANSA CUBE MK1’ ก้อนไม้หรรษา

0

เรื่องของเรื่องคุณเต้ย-วัฒนะ (Wattana  Seneewong) ณ เพชรบุรี ที่ใครต่อใครรู้จักกันดี ท่านได้มีแนวคิด และจัดทำอุปกรณ์ประเภท จูนเสียงออกมาวางจำหน่าย ภายใต้หลักการพื้นฐานคล้ายๆ กับของ ASI (Acoustic System International) ซึ่งอาศัยหลักทางฟิสิกส์ + ความถี่กำทอน + พลศาสตร์กลายๆ ได้มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Hansa Cube

…หลังจากทุ่มเทเวลากับการทำ “ก้อนไม้หรรษา” (Hansa Cube) อย่างเอาจริงเอาจังนานหลายเดือน ซึ่งคุณเต้ยได้ระบุว่า เจ้าก้อนไม้หรรษานี่ มันช่วยให้เวทีเสียงเปิดโล่งขึ้น รายละเอียดกรุ๊งๆ กริ๊งๆ มันใสสะอาด ฟังแล้วชื่นใจดีจัง ทั้งยังใช้เพื่อปรับความกว้างของเวทีเสียงอลังการขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ…ได้อีกด้วย พร้อมทั้งยังบอกถึงลักษณะของ “เนื้อไม้” ที่ดี เหมาะสำหรับเอามาทำก้อนไม้หรรษานั้น ต้องแห้งสนิท เนื้อแน่น แกร่ง เวลาเอามาเคาะกัน เสียงต้องแหลม เหมือนเอาเหล็กมาเคาะกัน เวลาเอามาใช้มันจะให้รายละเอียดดี ไดนามิกดี โดยในแต่ละชุดจะมี “ก้อนไม้หรรษา” จำนวน 4 ก้อน เป็นแบบที่ใช้วางด้านหน้าลำโพงหนึ่งคู่ (FL, FR) และอีกหนึ่งคู่เป็นแบบที่มีถ้วยทองเหลืองใช้วางด้านหลัง (RL, RR) ซึ่งแต่ละชุดนั้นจำต้องใช้เวลานานพอสมควรในการจัดทำ 

…ว่าแล้วคุณเต้ยท่านก็ส่ง “Hansa Cube” มาให้ผมกล่องหนึ่ง ซึ่งก็คือ Hansa Cube Mk1 จำนวน 1 ชุด ที่แม้จะเป็นรุ่นพื้นฐาน แต่นี่ละครับ การจะก้าวไปสู่พัฒนาการในระดับต่อๆ ไป-ระดับเริ่มต้นนี่ละครับ สำคัญเสมอนะ เพราะเปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกของก้าวย่างแรก ซึ่งถ้าไม่มีจุดเด่น หรือ ประเด็นเด็ดให้ใครต่อใครได้รับรู้ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่น่าประทับใจ ใยใครต่อใครจะมาควักจ่ายให้กันต่อไป ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้ได้มีการพัฒนาไปสู่รุ่น Reference 3 ณ ปัจจุบัน ภายใต้รูปลักษณ์แบบเดิม ทว่าปรับเปลี่ยนไดเมนชั่น (กว้าง-สูง-หนา) รวมทั้งจำนวน และลักษณะของรูที่เจาะ

     โดยที่ Hansa Cube Mk1 ถือเป็นรุ่น Classic ที่มีไดเมนชัน 6 × 6 ซม. ความหนา 3.2 ซม. สำหรับขนาดรูที่เจาะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.0 มม. ทว่าลดหลั่นกันไป 3 และ 2 มม. ตามความลึกของ ก้อนไม้หรรษาโดยรูที่เจาะนั้น รูตรงกลางที่มีการควานปากรูให้เป็นปากฮอร์นนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.0 มม. นับว่า เป็นหัวใจหลักของลักษณะการทำงาน ซึ่งจะถูกเจาะรูไปทะลุออกด้านหลัง ซึ่งสำหรับก้อนไม้หรรษาแบบที่ใช้วางด้านหน้าลำโพงหนึ่งคู่นั้น มีการติดตั้ง HFT ที่เป็นวัสดุผสมชุบเคลือบสีทอง ครอบรูทะลุด้านหลังเอาไว้  ส่วนก้อนไม้หรรษาแบบที่ใช้วางด้านหลังลำโพงหนึ่งคู่นั้น ไม่มีการติดตั้ง HFT เอาไว้ เป็นแค่เพียงเจาะควานปากรูรูปทรงฮอร์น (ทว่าสำหรับรุ่น Reference จะมีรูหลายขนาด ที่แต่ละรูเป็นเทเปอร์ (Tapered) ลดหลั่นกันไป)

ในส่วนของฐานตั้งวาง ทำเป็นขาตั้งโลหะพิเศษระบบแม่เหล็ก เพื่อยกระดับความสูงของ Hansa Cube Mk1 ให้มีระยะห่างจากผนังด้านบนตัวตู้ลำโพงตามที่คำนวณมาแล้วว่า ให้ประสิทธิภาพการกระจายคลื่นเสียงที่ดีที่สุด การที่ทำเป็นขาตั้งโลหะพิเศษระบบแม่เหล็กนั้น ก็เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับหมุนเอียง Hansa Cube Mk1 ได้ คล้ายๆ การปรับมุมโท-อิน หรือ โท-เอาต์ได้ตามที่ต้องการ 

         Hansa Cube คืออะไร? ซึ่งในคู่มือ Hansa Cube Mk1 ได้ระบุไว้ว่า “…จากแท่งไม้ธรรมดา ถูกนำมาเจาะรู เพื่อสร้างอุโมงค์เล็กๆ เป็นช่องทางเคลื่อนผ่านให้กับคลื่นเสียง ที่มาปะทะกับด้านหน้า แล้วเกิดการกักเก็บ โดยใช้สูตรเจาะ เพื่อสร้างแรงอัดภายในสู่ภายนอกก้อนไม้” ทั้งยังแนะนำไว้ถึงตำแหน่งตั้งวางว่า “จุดที่ส่งผลมากที่สุด และฟังง่ายสุดของ Hansa Cube Mk1 คือ บนหลังตู้ลำโพง”

         อย่างที่บอกไว้ “ก้อนไม้หรรษา” มีจำนวน 4 ก้อน แยกออกเป็นก้อนวางข้างหน้า 2 ก้อน และก้อนวางข้างหลังอีก 2 ก้อน ซึ่งว่ากันตามจริงนั้น ไดเมนชั่น (กว้าง-สูง-หนา) ของทั้งก้อนวางข้างหน้า 2 ก้อน และก้อนวางข้างหลัง 2 ก้อนก็ไม่ต่างกันแต่อย่างใด ซึ่งตามที่มีระบุไว้ในคู่มือของ Hansa Cube Mk1 ว่า ‘ก้อนวางข้างหน้า’ จะมีหมุดโลหะด้านหน้าและมีฮอร์นเล็กๆ ด้านหลังทั้ง 2 ก้อน ส่วน ‘ก้อนวางข้างหลัง’ ด้านบนของทั้ง 2 ก้อนจะมีที่วางถ้วยทองเหลืองติดตั้งอยู่ สำหรับนำถ้วยทองเหลืองมาตั้งวางให้รูทะลุด้านล่างของถ้วยทองเหลืองตรงกับรูเจาะด้านบนของก้อนวางข้างหลังทั้ง 2 ก้อน “ก้อนวางข้างหลัง” จึงจะส่งผลทำงานอย่างที่ได้รับการออกแบบมา…อย่าลืมว่า “ก้อนวางข้างหลัง” จะพร้อมทำงาน ก็ต้องมีถ้วยทองเหลืองมาวางตรงตำแหน่ง และขอเน้นว่า ควรจัดตำแหน่งการวาง “ถ้วยทองเหลือง” ให้ได้ระดับในแนวระนาบ ไม่เอียงซ้าย-เอียงขวา เชิดหน้า-เชิดหลังด้วยนะครับ

         อีกทั้งในคู่มือ Hansa Cube Mk1 ยังได้ระบุว่า “ถ้าวาง Hansa Cube Mk1 ถูกตำแหน่งทั้ง 4 ตัว จะสัมผัสมิติโฟกัสเสียงดนตรีแบบ หลุดตู้ ได้ยินซาวด์สเตจชัดเจน รายละเอียดดนตรีที่ซ่อนเร้น หรือ ไม่เคยได้ยินมาก่อน จะพรั่งพรูส่งประกายแตกตัวหวานพลิ้ว ให้ฮาร์โมนิกคู่ควบที่ไพเราะ สอดคล้องกับจังหวะเน้นย้ำของหัวโน้ตที่แยกกันเป็นชั้นๆ พร้อมแสดงระนาบชิ้นดนตรี ตื้น-ลึกแบบสมจริง”

…แล้วรูปแบบการวาง Hansa Cube Mk1 ทั้ง 4 ตัวให้ถูกตำแหน่ง มีหลักการอย่างไร? ตามที่ในคู่มือของ Hansa Cube Mk1 ระบุไว้ว่า “จุดที่ส่งผลมากที่สุด และฟังง่ายสุดของ Hansa Cube Mk1 คือ การตั้งวางบนหลังตู้ลำโพง” ซึ่งในคู่มือของ Hansa Cube Mk1 ก็มีรูปแบบการวางระบุไว้ 3-4 แนวทางด้วยกัน โดยแนวทาง 1-3 จะบ่งบอกถึงการตั้งวางก้อนวางข้างหน้า (FL, FR) และก้อนวางข้างหลัง (RL, RR) ของ Hansa Cube Mk1 โดยเฉพาะ ส่วนแนวทาง 4 จะบ่งบอกไว้ถึงการนำตั้งวางก้อน Hansa Cube Refererence มาใช้งานร่วมกับก้อนวางข้างหน้าของ Hansa Cube Mk1

       ซึ่งเนื่องจากผมมี Hansa Cube Mk1 อยู่ 4 ตัว ไม่มี Hansa Cube Refererence มาใช้งานร่วมด้วย ดังนั้นผมจึงจะลองตั้งวาง Hansa Cube Mk1 ตามรูปแบบ 1-3 โดยจะใช้ลำโพง Silver 100 Limited Edition ที่เป็นลำโพงประจำการของ What Hi-Fi? Thailand สำหรับการลองฟัง ซึ่งจากแนวทางการตั้งวาง Hansa Cube Mk1 ตามรูปแบบ 1: โดยที่ก้อนวางข้างหน้า (FL, FR) ก็จะอยู่ตรงกลางขอบแผงหน้าลำโพง และก้อนวางข้างหลัง (RL, RR) ก็จะอยู่ตรงกลางขอบแผงหลังลำโพง ผลการรับฟังที่ได้รับสรุปได้ว่า สุ้มเสียงของ ” Silver 100 Limited Edition” ฟังดูเอิบอิ่ม อบอุ่นน่าฟัง มวลเสียงอิ่มหนา เสียงร้องให้ความเข้มข้น รวมถึงสเกลเสียงที่ค่อนข้างใหญ่โตโอฬาร เวทีเสียงก็ฟังดูแผ่กว้าง มีมิติด้านลึกที่ให้การจำแนกรายละเอียดแจ่มชัดขึ้น และให้ความรู้สึกถึงการโอบล้อมได้ดีทีเดียว ที่สำคัญการรับรู้ถึงมวลอากาศ (Airy) นั้นอบอวลขึ้นกว่าธรรมดา ช่วงย่านเสียงเบสก็ฟังดูกระชับ จับจังหวะจะโคนได้แม่นยำขึ้นด้วยเช่นกัน การตั้งวาง Hansa Cube Mk1 ในลักษณะก้อนวางข้างหลังเป็นแนวตรงกับก้อนวางข้างหน้าให้ความรู้สึกที่ฟังดูสมจริงเป็นธรรมชาติ ฟังสบาย ลื่นไหล เพลินใจมาก เหมาะกับการตั้งวางเพื่อรับฟังเพลงแจ๊ส-เพลงคลาสสิกที่ต้องการรับรู้บรรยากาศของสถานที่แสดงดนตรี

      มาถึงแนวทางการตั้งวาง Hansa Cube Mk1 ตามรูปแบบ 2 : โดยที่ก้อนวางข้างหน้า (FL, FR) ก็จะอยู่ตรงกลางขอบแผงหน้าลำโพง (ตำแหน่งเดิม) ส่วนก้อนวางข้างหลัง (RL, RR) ก็จะอยู่เยื้องแนวตรงกลางขอบแผงหลังลำโพงเข้าไปสุดขอบด้านใน (แนวห่างระหว่างลำโพงซ้าย-ขวา) ผลการรับฟังที่ได้รับสรุปได้ว่า “Silver 100 Limited Edition” จักส่งมอบน้ำเสียงที่ให้ความสมดุล-กลมกลืน-ต่อเนื่องของเสียงโดยรวมอันน่าพิสมัยยิ่งนัก ในความฉ่ำชุ่มมีชีวิตชีวา เสียงกลางมีเนื้อหนังมังสา ไม่ผอมบาง ปราศจากซึ่งความแห้งแล้งใดๆ ทั้งยังเด่นชัดในการนำเสนอรายละเอียดอันใสกระจ่าง ฉับไว ไม่แช่มช้าเนิบนาบ เพียบพร้อมทั้งน้ำหนัก-แรงกระแทกกระทั้น และยังให้การตอบสนองความถี่เสียงต่ำที่มีน้ำหนัก แรงกระทบ-ปะทะมากขึ้นอีกด้วย คลื่นเสียงหนังหน้ากลองใหญ่ที่กำลังสั่นกระพือเป็นระลอก “ระลอก” ที่รับรู้ได้แยกแยะออกมาจากเสียงทุ้มที่ระรัวเป็นจังหวะของกลองไฟฟ้าออกมาได้แจ่มชัด

       ที่นี้ก็มาถึงแนวทางการตั้งวาง Hansa Cube mk1 ตามรูปแบบ 3 : โดยที่ก้อนวางข้างหน้า (FL, FR) ก็จะอยู่ตรงกลางขอบแผงหน้าลำโพง (ตำแหน่งเดิม) ทว่าก้อนวางข้างหลัง (RL, RR) ก็จะอยู่เยื้องแนวตรงกลางขอบแผงหลังลำโพงเข้าไปสุดขอบด้านนอก (แนวห่างจากผนังด้านข้างของลำโพงซ้าย-ขวา) ผลการรับฟังที่ได้รับสรุปได้ว่า ครานี้ “Silver 100 Limited Edition” สามารถถ่ายทอดความอลังการทางเสียงของวงออร์เคสตราที่กำลังแผดสนั่นประโคมคำรนอย่างยิ่งใหญ่ ทรงพลัง กระหึ่มกึกก้องอย่างไม่มีที่ติ ความกว้างใหญ่ของวงออร์เคสตร้าถูกถ่ายทอดออกมาจนเต็มห้องแผ่เลยตำแหน่งตั้งวางลำโพงซ้าย-ขวาและถอยลึกเลยผนังหลังห้องฟังออกไปเลยเชียวละ ในขณะที่เสียงกลางก็ให้ความพละพลิ้ว อิ่มเอิบ กลมกล่อม-กลมกลืนกันของเสียง รวมไปถึงเรื่องของความละมุนละไม ให้ความลื่นไหลต่อเนื่องน่าฟัง สภาพเสียงแวดล้อมต่างๆ ให้ความรู้สึกรายรอบ มิใช่บ่งบอกออกมาแค่บรรยากาศ (Atmosphere) หรือ มวลอากาศ (Airy) 

     หลังจากรับฟัง “Silver 100 Limited Edition” ผ่านการตั้งวาง Hansa Cube Mk1 ทั้ง 3 รูปแบบ ตามความรู้สึกที่ได้รับนั้น ผมถูกใจกับรูปแบบการตั้งวาง 2 กับ 3 โดยขอบอกว่า น่าจะโอนเอียงไปทางรูปแบบ 3 มากกว่าหน่อยหนึ่ง เพราะทำให้ได้รู้สึกทึ่งในคุณลักษณ์ในน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความฉับไว สดใส โปร่งกระจ่าง และยังให้การบ่งบอกสภาพบรรยากาศการแสดงในสถานที่ที่บันทึกเสียงนั้น (Atmosphere) พร้อมด้วยส่งการแยกแยะเสียงชิ้นดนตรีที่เสมือนผุดโผล่ออกมาจากตรงโน่นตรงนี้ มีตำแหน่งแห่งที่ชี้ชัดได้ในเวทีเสียงอันแผ่กว้าง ราวกับว่า ชิ้นดนตรีโน่น-นี่-นั่นกำลังบรรเลงให้เราฟังอยู่ตรงหน้า ณ ขณะนั้น

        ในขณะที่การตั้งวางตามรูปแบบ 2 นั้น…การส่งมอบสภาพอิมเมจและซาวด์สเตจที่สามารถสำแดงออกมาได้อย่างน่าทึ่งเฉกเช่นเดียวกัน เสียงร้องก็ให้สเกลเสียงใหญ่ ไปได้ดีกับเสียงร้องแทบทุกแนว มิติเสียงร้องให้ออกมาด้านหน้าทำให้เสียงร้องกับเสียงดนตรีด้านหลังนั้นมีระยะที่ค่อนข้างชัดเจน จนพูดได้ว่า โดดเด่น ไปหน่อยสำหรับความรู้สึกของผม แต่สำหรับใครที่ชื่นชอบความชัดๆ ในการแยกแยะเสียงร้องก็ขอแนะนำ อย่างไรก็ตาม จากการยึดแนวทางการตั้งวางรูปแบบ 2 และ 3 ผมได้ลองขยับ-ปรับตำแหน่งของทั้งก้อนวางข้างหน้า กับ ก้อนวางข้างหลังให้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ก็พบว่า “Silver 100 Limited Edition” ให้ผลการรับฟังที่แตกต่างไปจากที่กล่าวไว้ข้างต้น 

         อย่างในกรณีการตั้งวางตามรูปแบบ 2 : แต่ลองเลื่อนตำแหน่งก้อนวางข้างหน้าให้เยื้องแนวตรงกลางแผงหน้าออกมาทางด้านซ้ายสัก 2-3 ซม.เสียงร้องยังคงโดดเด่น ให้น้ำเสียงที่น่าฟัง ในขณะมิติเสียงร้องที่เคยให้ออกมาล้ำหน้า กลับมีระยะตื้น-ลึกของเสียงร้องกับเสียงดนตรีที่ดูจะมีความสมจริง อย่างที่ผมยอมรับได้ ใกล้เคียงกับลักษณะการรับรู้เมื่อเราอยู่ในล็อบบี้ที่มีมวลอากาศ (Airy) รายรอบ โดยที่ลักษณะความกลมกล่อม-กลมกลืนของเสียงโดยรวมนั้น-ไม่เสียไป

         ส่วนในกรณีการตั้งวางตามรูปแบบ 3 : แต่ลองเลื่อนตำแหน่งก้อนวางข้างหน้าให้เยื้องแนวตรงกลางแผงหน้าออกมาทางด้านขวาสัก 2-3 ซม.-ความอลังการทางเสียงของวงออร์เคสตร้าที่กำลังประโคมคำรน ยังคงยิ่งใหญ่ ทรงพลัง กระหึ่มกึกก้องอย่างไม่มีที่ติเช่นเดิม ขณะที่ช่วงย่านเสียงกลางที่ยังคงให้ความพละพลิ้ว อิ่มเอิบ กลมกล่อม ก็ฟังดูจะเข้มข้นขึ้น เนื้อหนังแน่นขึ้น รุกเร้า-ฉะฉานขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ก็ยังคงไว้ในความลื่นไหลต่อเนื่องน่าฟัง

        แต่เนื่องจากว่า ลำโพง Silver 100 Limited Edition เป็นลำโพงวางขาตั้ง ขนาดไม่ใหญ่โตนัก (สูง 37.5 × กว้าง 23.0 × ลึก 33.2 ซม.) จึงมีระยะเลื่อนไป-เลื่อนมาที่ไม่มากนัก เมื่อเยื้องออกมาจากแนวตรงกลางแผงหน้า-แผงหลังตัวตู้ลำโพง ซึ่งถ้าหากว่า เป็นการนำไปใช้งานจริงกับลำโพงที่มีขนาดตัวตู้ใหญ่ขึ้น จึงคิดว่า น่าจะมีผลการรับฟังที่แตกต่างออกไปจากนี้ อย่างไรก็ดี ผมขอสรุปผลลัพธ์การใช้งานของ Hansa Cube Mk1 จากการตั้งวางบนหลังตัวตู้ลำโพงดังนี้ครับ :- 

        ในด้านการให้ “มวลเสียง” เป็นไปอย่างเสมือนจริง ด้านความ “โปรงกระจ่าง” ก็มิใช่ว่า ให้เน้นขึ้นมาชนิดเกินจริง โดยที่ว่าเสียงเหล่านั้นจะมิได้ถูกทำให้เสนอหน้า-เด่นล้ำออกมาจนผิดธรรมชาติ แต่สามารถรับฟังรายละเอียดเสียงสอดแทรกอะไรต่อมิอะไรได้อย่างครบถ้วน ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ซึ่งหากว่าถึงสุ้มเสียงโดยรวม ก็ให้ความอิ่มฉ่ำ มีชีวิตชีวา เป็นตัวเป็นตน ควบคู่ความละมุนละไม ที่ให้ความลื่นไหลต่อเนื่องน่าฟัง ให้เรา-ท่านได้รับรู้ในความพละพลิ้ว อิ่มเอิบ เปล่งปลั่งของเสียงดนตรีต่างๆ ได้อย่างน่าฟัง โดยมิใช่เป็นเสียงเน้นในลักษณะเจิดจ้า หรือ จัดจ้าน หรือว่า หยาบกร้านระคายหู