ชั้นวางเครื่องเสียง (audio rack) จัดเป็นอุปกรณ์ (component) ไม่ใช่เครื่องดนตรี (instrument) ชั้นวางเพียงแค่แยกลอย/ให้เป็นอิสระ ปลอดจากแรงกระทำจากความสั่นสะเทือนจากพื้น หรือ แรงกระแทกจากคลื่นเสียงในอากาศ ทั้งยังสามารถลดทอนส่วนหนึ่งของความสั่นสะเทือนที่สร้างขึ้นโดยตรงจากการหมุนของเครื่องแผ่นเสียง/เครื่องเล่นซีดี โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความครบถ้วนของเสียงที่พึ่งมีพึ่งได้จากการรับฟัง การออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงมาเป็นอย่างดี จะส่งเสริม หรือ สนับสนุนให้ชุดเครื่องเสียงนั้นๆ มีความครบสมบูรณ์ ไม่มีอะไรมากไม่มีอะไรน้อยไปจากความเป็นจริงที่มีอยู่ในข้อมูลเสียงที่ถูกบันทึกไว้ ส่งผ่านออกมาในขณะรับฟัง
ชั้นวางเครื่องเสียงที่ออกแบบมาอย่างดี จะไม่เพิ่มหรือลดสิ่งใดในข้อมูลเสียง การออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงให้ทำงานอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ การแยกส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ จะเอื้อประโยชน์ต่อคุณภาพของเสียง รายละเอียด การโฟกัสของจินตภาพเสียง สำแดงผลต่อการรับฟังในทันที เนื่องจากส่วนหนึ่งของข้อมูลเสียง ไม่ถูกรบกวน หรือ สูญเสียไป เนื่องจากการสั่นไหว จนถ่ายทอดไปสู่เครื่องขยายเสียง และลำโพง
ชั้นวางเครื่องเสียง ส่วนใหญ่จัดเป็นอุปกรณ์ทางกล ที่ส่งผลต่อชุดเครื่องเสียงต่างๆ ซึ่งนำมาตั้งวาง ด้วยพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักการทางกล หรือ ฟิสิกส์ ทำหน้าที่ในการดูดซับ-แยกสลายแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากพื้นและคลื่นในอากาศ เพื่อลด หรือ ขจัดแรงกระทำจากแรงสั่นสะเทือนให้ส่งผลกระทบสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รับฟังน้อยที่สุด ทั้งยังช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานในสภาวะที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นชั้นวางเครื่องเสียง (ที่ดี) จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น
การออกแบบชั้นวางจึงแทบไม่ต่างจากการออกแบบอาคารสูง ที่ต้องมีความแข็งแรงสูงเพื่อต่อต้านแรงสั่นสะเทือน และแรงปะทะของความเร็วลม นอกเหนือจากการแบกรับน้ำหนักมหาศาล ในขณะที่ชั้นวางเครื่องเสียงก็ต้องรับภาระต่อต้านแรงสั่นสะเทือนจากพื้น และแรงอัด-กระแทกของคลื่นเสียงในอากาศรายรอบ นอกเหนือจากการแบกรับน้ำหนักของอุปกรณ์เครื่องเสียง ปัจจุบันการออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงมีอยู่หลายหลากแนวทางด้วยกัน ทั้งแบบมวลเบา (light rack) และแบบมวลหนัก (heavy rack) กระทั่งผสมผสานกันในลักษณะของวัสดุผสม (combination)
ชั้นวางที่ดีจะทำหน้าที่เพื่อแยก/ป้องกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราให้พ้นจากแรงสั่นบนพื้นเป็นหลัก และคลื่นแรงกระแทกจากอากาศรอบด้านเป็นรอง โดยต้องไม่มีอะไรเพิ่มเติมให้มากขึ้น หรือไม่มีอะไรลดน้อยให้ด้อยลง นอกจากนี้ หากได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี สามารถลดการสั่นสะเทือนส่วนหนึ่งที่เกิดจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง/เครื่องเล่นซีดีได้โดยตรง …แต่เก่าก่อนเรา-ท่านอาจคุ้นเคยกับการใช้วัสดุประเภทยาง (rubber) หรือวัสดุคล้ายยาง (rubber-like material) ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาใช้ในการวางรองชั้นวางและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า “ยาง” เป็นตัวดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่ดีมาก โดยเฉพาะกับวัสดุยางหนืดประเภทอีลาสโตเมอร์ (elastomers) จะมีคุณสมบัติดูดซับที่ดียิ่งขึ้น โดยจะเปลี่ยนพลังงานส่วนหนึ่งให้เป็นความร้อนสลายไปสู่อากาศ นอกเหนือจากคุณสมบัติดูดซับแรงสั่นสะเทือน
เมื่อสามารถทำการดูดซับ-แยกสลายแรงสั่นสะเทือนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เมื่อนั้นเสียงรบกวน (noise) แทรกซ้อนต่อการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียงย่อมลดลง และเมื่อเสียงรบกวนน้อยลง ย่อมส่งผลต่อการเหนี่ยวนำสัญญาณไฟฟ้าไมโครโฟนิค (microphonic) ในวงจรอันละเอียดอ่อนให้เกิดขึ้นน้อยลงตามไปด้วย ความผิดเพี้ยนของอินเตอร์มอดูเลต (intermodulated) ก็จักลดน้อยลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อการบิดเบือนทางเสียงในระดับต่ำ ทำให้การรับฟังได้มาซึ่งเสียงที่ควรจะเป็นอย่างแม่นยำ และให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยยังคงคุณสมบัติปลีกย่อยอย่างไดนามิกอันน่าตื่นเต้นไว้อย่างครบถ้วน
ความจริงที่ว่า แรงสั่นสะเทือนสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพของวงจรที่มีความละเอียดอ่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า หากเขย่าวงจรอิเล็กทรอนิกส์แรงพอประมาณ ประสิทธิภาพของวงจรจะลดลง ยิ่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องมีความละเอียดอ่อนมากเท่าใด การใช้อุปกรณ์แยกสลายและถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนทิ้งไป ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งในระบบเสียง (และวิดีโอ) ระดับไฮ-เอ็นด์ ชั้นวางเยี่ยมๆ จึงเป็นความจำเป็น เนื่องจากขีดจำกัดความสามารถของวงจรในอุปกรณ์อันทันสมัยนั้นมีความละเอียดเพิ่มสูงมากขึ้นทุกวัน ความผิดเพี้ยน/บิดเบือนทางเสียงนับวันก็ยิ่งลดน้อยลงด้วยเช่นกัน การดำรงคงอยู่ของรายละเอียดเสียงอันละเอียดอ่อนได้อย่างครบถ้วนจึงนับเป็นสิ่งที่น่าถวิลหา และคุ้มค่าต่อการลงทุนให้กับชั้นวางที่ยอดเยี่ยม
Mechanical Impedance Matching (อิมพีแดนซ์ทางกลที่เหมาะเจาะ) คือคำตอบ !!
ทุกวันนี้ เรามีความรู้ในเรื่องของความแตกต่างกันของอิมพีแดนซ์ทางกลต่อการส่งทอดพลังงานจากวัสดุที่แตกต่างกัน โลหะต่างชนิดกันก็จะมีความต้านทานพลังงานแตกต่างกันไป ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุโลหะต่างชนิดกันมาประสานกันก็ย่อมส่งผลต่อการส่งทอดพลังงาน หากการ “จับคู่” ให้มีอิมพีแดนซ์ทางกลที่เหมาะเจาะกัน (Mechanical Impedance Matching) จึงน่าจะเป็นคำตอบ…
การวางวัสดุไว้ระหว่างวัสดุ 2 ชนิดที่ไม่เหมือนกันโดยมี “อิมพีแดนซ์” คั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างวัสดุทั้งสองนั้น พลังงานจะไม่ข้ามจากวัสดุ หรือ โลหะชนิดหนึ่งไปยังอีกวัสดุ หรือ โลหะอีกชนิดหนึ่งโดยตรง แต่พลังงานจะต้องข้ามผ่านจาก “ตัวกลาง” ที่คั่นอยู่ระหว่างวัสดุโลหะทั้งสองชนิดนั้น ส่งผลให้การส่งผ่านพลังงานนั้นลดน้อยลงไป ยิ่งมีความต่างชนิดกันของวัสดุ หรือ โลหะ รวมทั้งวัสดุตัวกลาง (ที่ยึดวัสดุโลหะทั้งสองชนิดให้ติดกัน) การส่งผ่านพลังงานก็จะลดน้อยลงไปมาก เสมือนว่าพลังงานแรงสั่นสะเทือนนั้นถูกกักอยู่ในเนื้อวัสดุ หรือ โลหะแต่ละชนิด (โดยแทบไม่ส่งต่อออกไป)
ดังนั้นการออกแบบชั้นวางเครื่องเสียงอย่างชาญฉลาดด้วยหลักการนี้ จึงจำเป็นต้อง “จับคู่” เนื้อวัสดุโลหะที่เหมาะเจาะกันมาใช้งาน รวมไปถึงการเลือกใช้ “ตัวกลาง” ที่มีความแข็งแรงอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสภาพการไม่ส่งต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือนไป-มาระหว่างกัน พลังงานนั้นๆ ก็จะลดแรงกระทำลงไปเอง
P Synchronize ชั้นวางอุปกรณ์เครื่องเสียงคุณภาพสูง แนวคิดก้าวล้ำฝีมือคนไทย
แบรนด์ชั้นตั้งวางอุปกรณ์เครื่องเสียงคุณภาพสูงฝีมือคนไทยมากประสบการณ์ในวงการ เริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรระดับเชี่ยวชาญ ควบคู่นักฟังที่ “ร้อนวิชา” ใฝ่หาทั้งความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตัดสินใจออกแบบ-สร้างชั้นวางอุปกรณ์เครื่องเสียงคุณภาพสูงด้วยแนวคิดก้าวล้ำ ไม่เหมือนใครในท้องตลาด ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมตัน เกรดอากาศยาน “T6061” นำมาผ่านกระบวนการขึ้นรูป CNC ที่มีความแม่นยำสูง การออกแบบแต่ละชิ้น ผ่านการคิดคำนวณทางโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างพิถีพิถัน จากนั้นทุกชิ้นจะผ่านกระบวนการตรวจวัดค่า resonance เพื่อทำการจูนอัพ และกำจัดจุดที่ทำให้เกิด resonance มิให้ส่งผลกระทบรุนแรง จนกระทั่งส่งผลเบี่ยงเบนต่อองค์รวมของเสียง (tonal balance)
นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุโลหะต่างชนิดกัน (อย่างเช่น ทองแดง) ที่ผ่านขั้นตอน “จับคู่” เนื้อวัสดุโลหะที่เหมาะเจาะกันมาใช้งาน รวมไปถึงการเลือกใช้ “ตัวกลาง” ที่มีความแข็งแรงอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสภาพการไม่ส่งต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือนไป-มาระหว่างกัน พลังงานแรงกระทำจากแรงสั่นสะเทือนนั้นๆ ก็จะลดแรงกระทำลงไปเอง
ในส่วนของตัวเพลทด้านบน รองรับตัวอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆ นั้น ยังได้มีการนำหลักการส่งผ่านพลังงานวัสดุโลหะต่างชนิดกันมาใช้ รวมกับหลักการแยกสลายพลังงานทางกล โดยคิดคำนึงถึงผลลัพธ์ทางเสียงที่จะได้รับ ให้สอดรับกับบุคลิกทางเสียงของแต่ละอุปกรณ์ที่นำมาตั้งวาง หรือ ตามความชื่นชอบของผู้ฟัง โดยจะมี 3 options ให้เลือกตามความเหมาะสม หรือ ตามความชื่นชอบในบุคลิกเสียงที่รับฟัง:- Standard เป็น Acrylic / Option 1 เป็น วัสดุไม้ / Option 2 เป็น วัสดุพิเศษ ที่ผสานวัสดุต่างชนิดกันไว้ 4 layer ด้วยกัน รวมทั้งส่วนขาตั้งรองรับด้านล่าง ก็จะมี 2 แบบให้เลือก ทั้งแบบ ปลายแหลม (spike) และแบบ ปลายกลม เพื่อความเหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ตั้งวาง
ทั้งนี้ ตามความหมายของคำว่า Synchronize (ซิง’คระไนซ) vi., vt. นั้นแปลความได้ว่า เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน, ทำให้เป็นจังหวะเดียวกัน, ทำให้สอดคล้องกัน, ทำให้พร้อมกัน, ทำให้คล้องจองกัน, ทำให้สอดประสานกัน ดังนั้นชั้นวางอุปกรณ์เครื่องเสียง P Synchronize จึงมุ่งเน้นใช้หลักการทางฟิสิกซ์ ร่วมกับความรู้ทางโลหะวิทยา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางเสียงที่รับฟัง ด้วยคุณภาพเสียงที่กลมกลืนกัน สอดคล้องต้องกัน เป็นจังหวะเดียวกัน ตรงตามจังหวะค่าเวลาอย่างที่ควรจะเป็นของสัญญาณที่บันทึกมา โดยไร้ซึ่งการปรุงแต่ง หรือ เสริมแทรกใดๆ ให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ทั้งยังเอื้ออำนวยให้ชุดเครื่องเสียงที่ตั้งวางนั้น สำแดงสมรรถนะออกมาเต็มพิกัดอย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่สมควรจะจะเป็น ซึ่งนี่ทำให้เป็นจุดเด่นที่สำคัญ และมีความโดดเด่นเฉพาะตัวของชั้นวาง P Synchronize อย่างที่หาได้ยากจากชั้นวางเครื่องเสียงทั่วไป
……………………………………………………………………………………………………………………………………….