…เมื่อเอ่ยชื่อ Zensonice ก็ต้องนึกไปถึง น้าแหลม หรือ คุณอัครเดช อรุณศิริวงศ์ ซึ่งจริงๆ แล้วนับว่า เป็นกระบี่มือหนึ่ง-คนหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะในด้านของสายต่างๆ (cables) ไม่ว่าจะเป็นสายไฟเข้าเครื่อง, สายสัญญาณ (RCA และ XLR), สายลำโพง, จั้มเปอร์ลำโพง กระทั่งกล่องปลั๊กรางไฟ ทว่าที่ผ่านมา –น้าแหลม- ผู้คร่ำหวอดอยู่กับการโมดิฟายด์ และออกแบบสายนำสัญญาณ มักจะเก็บตัว ชอบที่จะอยู่เบื้องหลังวงการมาตลอด จึงถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่ “มีวิชา” นั่นแล แต่กระนั้นในความเป็นจริง แบรนด์ Zensonice เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักเล่นประเภทไฮ-เอ็นด์ของบ้านเรามาเนิ่นนาน ผ่านการออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Zensonice มาแล้วถึง 8 ปีเต็ม ภายใต้ “แนวเสียง” อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ว่าได้ ด้วยความโดดเด่นทางด้านความเอิบอิ่ม มีน้ำมีนวล ให้ความเป็นธรรมชาติ เปี่ยมในชีวิตชีวา ไร้ความกังวลใจในเรื่องเสียงแข็งคม จัดจ้าน บาดหู …ไม่ว่าระดับของซิสเต็มที่นำ Zensonice ไปร่วมใช้งาน จะเป็นแบบมิวสิค เลิฟเวอร์ หรือว่าออกแนวออดิโอไฟล์ กระทั่งถึงขั้นไฮ-เอ็นด์สุดโต่ง บุคลิก-น้ำเสียงที่สดับรับฟังก็จะถูกเจือไว้ด้วยความเป็น Zensonice
เคล็ดลับอันเป็นจุดเด่นของ Zensonice เท่าที่ –น้าแหลม- ยอมเปิดเผยนั้น เจาะจงใช้ตัวนำที่ผลิตขึ้นจากลวดทองแดงรีดด้วยความร้อนต่ำ เพื่อรักษาโมเลกุลไว้ให้คงตัวได้มากที่สุด เข้าสายด้วยวิธี Multi Gauge หรือมีตัวนำหลายขนาด เพื่อนำความถี่ได้ดีในทุกๆ ย่านความถี่เสียง ลวดทองแดงตัวนำจะถูกนำมาชุบน้ำมัน อย่างที่เรียกกันว่า Metal In Oil (ตามสูตรเฉพาะของ Zensonice) โดยในสายสัญญาณ 1 ข้าง จะประกอบด้วยตัวนำจำนวน 12 เส้น แยกชีลด์อิสระทุกเส้น มีการนำมาพันสายตัวนำตามหลัก Phase Balance Control ที่ความยาวมาตรฐาน 1.2 เมตร (อันสืบเนื่องจากความลงตัว) ทั้งนี้เทคนิควิธีการพันลวดตัวนำในแบบ Phase Balance Control เป็นเทคนิคเฉพาะของ Zensonice ที่พัฒนาขึ้นใช้เอง เพื่อควบคุมและลดการบิดเบือนผิดพลาดของทั้ง Phase shift และ Timing (เฟสและช่วงเวลาที่ผิดพลาด) ในทุกย่านความถี่เสียง ส่งผลให้รู้สึกรับรู้ได้ถึงอิมเมจ และ ซาวด์สเตจที่แตกต่างออกไปจากสายอื่นๆ ทั่วไป
ทั้งนี้ นอกจากทาง Zensonice จะได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นต่างๆ ตามวาระปกติแล้ว Zensonice ยังได้ออกผลิตภัณฑ์เฉพาะกิจ รุ่นพิเศษตอบสนองต่อการใช้งานกับบางผลิตภัณฑ์อย่างเจาะจง เพื่อผลการใช้งานในระดับอัพเกรดกับผลิตภัณฑ์เฉพาะกิจนั้น นั่นคือสายสัญญาณ DIN to RCA สำหรับ naim NAIT ซึ่งทาง What Hi-Fi? Thailand ได้ติดต่อขอยืมมาใช้ในการฟังทดสอบร่วมกับ “NAIT 50” ที่เป็นสเตอริโอ อินติเกรตแอมป์รุ่นพิเศษที่ Naim Audio ผลิตออกจำหน่ายในวาระร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของ Naim Audio (50th Anniversary 1973 – 2023)
โดยที่ -น้าแหลม- ได้ให้ข้อมูลเกริ่นนำว่า “ประมาณปลายปี 2566 มีลูกค้าแฟนคลับ Zensonice หลายท่านได้รีเควสอยากให้เราทำสายสัญญาณสำหรับ naim NAIT ไว้ใช้งาน โปรเจ็คต์เฉพาะกิจสุดพิเศษของ Zensonice จึงได้ถือกำเนิดขึ้น แต่ด้วยรูปลักษณ์ของ naim NAIT ทำให้ทีมงานเรา ต้องมาเริ่มต้นใหม่กับการเสาะหาวัตถุดิบ ตัวนำที่มีคุณสมบัติตามที่เราต้องการในรูปลักษณ์ที่เข้ากันได้กับ naim NAIT ที่เป็นแท่นแอมป์รูปร่างกะทัดรัดขนาดกล่องรองเท้า ( shoe box ) โดยจะต้องเป็นสายในลักษณะ slim shape ไม่อ้วนท้วมใหญ่โตเหมือนสายรุ่นปกติของ Zensonice แต่ต้องมีคุณสมบัติหลักที่สามารถนำส่งสัญญาณความถี่ได้ช่วงกว้างๆ ครบย่านออดิโอ แบนด์วิธแบบเต็มๆ ทางทีมงานจึงได้พยายามติดต่อตัวแทนผู้ผลิตตัวนำต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรกับเรา หลายๆ บริษัททั้งในยุโรปและอเมริกา จนได้ตัวอย่างตัวนำ (conductor) ตามที่เราระบุไปมาจำนวนมากให้เราได้ศึกษาและทดลอง และก็โชคดีที่เราได้พบตัวนำที่มีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ แต่ก็เหมือนมีความโชคดีในโชคร้าย เพราะตัวนำที่เราต้องการบังเอิญเป็นงาน NOS ของเก่าค้างสต๊อค (new old stock) ซึ่งได้เลิกการผลิตแล้ว และมีเหลือในสต๊อคไม่มาก จากการที่ได้ทดลองทดสอบตัวนำเหล่านี้ก็รู้สึกทึ่งและว๊าวมากกับคุณสมบัติทางด้านออดิโอที่ตัวนำเหล่านี้มีอยู่ ทางทีมงานจึงได้ตัดสินใจทำการสั่งตัวนำนี้ทั้งหมดเท่าที่หาได้มาตุนไว้ในสต๊อคเพราะเป็นล็อตสุดท้ายที่เหลืออยู่ในคลังสินค้าของ supplier – หลังจากได้ตัวนำที่เราต้องการแล้ว งานวิจัยพัฒนาก็ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยได้รับความเมตตาช่วยเหลือจากเพื่อนๆ หลายท่านได้ส่งอินติเกรตแอมป์ Naim Nait มาใช้ลองใช้งาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการออกแบบ และ fine tune สายที่กำลังวิจัยทดลอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเพื่อนๆ อีกหลายท่านได้ส่งสายสายสัญญาณ RCA to DIN และ DIN to DIN ที่มีการผลิตและจำหน่ายในท้องตลาดทั้งจากแบรนด์เนมหลายๆ ยี่ห้อ รวมไปถึงสาย DIY ทั้งจากดีไอวายเว่อร์ชาวไทยและต่างประเทศอีกมากมาย ประมาณเกือบ 20 เส้น เพื่อให้ทางทีมงาน Zensonice ได้ทำการทดลองฟังเปรียบเทียบ และได้ศึกษาข้อดี-ข้อด้อยของแต่ละแบรนด์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสาย DIN ของ Zensonice จนตกผลึกกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ Zen For naim ในที่สุด”
ทั้งยังระบุด้วยว่า “ผลิตภัณฑ์ Zen For naim เป็นสายสัญญาณที่ถูกออกแบบมาเพื่อ naim NAIT เป็นสายสัญญาณที่จะนำทางให้คุณรู้จัก naim NAIT มากขึ้น และเป็นสายสัญญาณที่จะทำให้คุณรัก naim NAIT ของคุณมากขึ้นๆ” โดยที่ Zen For naim มี 3 ผลิตภัณฑ์ดังนี้:- 1. สายสัญญาณ RCA to Din 5 pin / 2. สายสัญญาณ Din to Din 5 pin / 3. สายสัญญาณ RCA to Din 5 pin Adaptor (สามารถใช้งานร่วมกับสายสัญญาณ RCA ปกติได้ทุกยี่ห้อ) โดยที่ผลิตภัณฑ์สายสัญญาณ RCA to DIN 5 pin มีข้อมูลรายละเอียดดังต่อไปนี้:- Standard Length 120 cm.; Rhodium RCA connectors with special surface treatment by Zensonice; Studio grade 5 pin Male din connector; Multi conductors with symmetric golden ratio structure; Dielectric process and active shield are provided for incredible wide range of dynamic contrast and very very low background noise
ผลการรับฟัง
ว่ากันตามจริง …ใครที่เคยฟังสายสัญญาณของ “น้าแหลม” ก็จะจับทางได้ว่า มีแนวทางที่เน้นการ fine tune ทางด้านของค่าเวลา (timing) และค่าเฟส (phase) ให้เป็นสายสัญญาณที่ปลดปล่อยในการส่งผ่านทุกย่านความถี่อย่างเป็นอิสระ ไม่มีการบูสต์ (boost) หรือ คัต (cut) รวมไปถึงการปรับแต่งบางย่านความถี่ให้โดดเด่น (เกินจริง) เพื่อสร้างบุคลิกทางเสียงที่เรียกร้องความสนใจ หรือ สะดุดหู สายสัญญาณ Zensonice จึงให้โทนัล บาลานซ์ (tonal balance) เป็นไปตามธรรมชาติตลอดช่วงย่าน ปราศจากการสร้างบุคลิกเพิ่มเติมเข้าไปในระบบสัญญาณเสียง ซึ่งสำหรับสายสัญญาณ RCA to DIN 5 pin ของ Zensonice ที่ทาง What Hi-Fi? Thailand ได้นำมาใช้รับฟังร่วมกับ “NAIT 50” ก็ให้บุคลิกเสียงจำเพาะออกมาในแนวทางนั้น
รับรู้ได้ว่า สายสัญญาณ RCA to DIN 5 pin ทำให้ได้บุคลิกเสียงที่รับฟังร่วมกับ “NAIT 50” ปราศจากเสียงคมแข็ง จัดจ้าน บาดหู ในขณะที่เปิดเผยรายละเอียดให้รับรู้อย่างแจ่มชัด บ่งบอกสภาพเวทีที่แผ่กว้าง-สูง-ลึกไล่ระดับ มีสภาวะการโอบล้อมทางเสียงที่ดีมาก ช่วงย่านเสียงกลางก็รับฟังอย่างเป็นธรรมชาติ แฝงเสน่ห์เสียงน่าฟัง ย่านเสียงเบสลงลึก และให้น้ำหนัก เรี่ยวแรงปะทะ รวมถึงความฉับพลันทันใดของจังหวะจะโคน พร้อมด้วยย่านความถี่เสียงแหลมที่เปิดโปร่ง สดใส มีประกายหางเสียงทอดยาวไร้การกักกั้น พละพลิ้วและมีพลังกังวาน จนกระทั่งค่อยๆ แผ่วจางไปอย่างเป็นธรรมชาติ รับรองเลยว่า คุณจะต้องทึ่งในสิ่งที่ได้รับฟัง
รายละเอียดในน้ำเสียงต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงย่านความถี่เสียงกลาง จะสร้างความประทับใจให้แก่คุณ ด้วยบุคลิกเสียงที่มีความอิ่มเอิบอย่างสมจริง อณูเสียงของมวลอากาศรายรอบ ความนวลเนียนของเสียงก็ดีมาก ให้ความไหลลื่นกลมกลืนกัน มิได้เน้นความโดดเด่นที่ช่วงย่านความถี่ใดโดยเฉพาะ รับฟังแล้วให้ความเพลิดเพลินใจ สายสัญญาณ RCA to DIN 5 pin ของ Zensonice สามารถทำให้เราได้เข้าถึงซึ่งความสมจริงแห่งเสียง ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง เรี่ยวแรงปะทะ ความฉับพลันทันใด รวมทั้งน้ำหนักเสียงอย่างที่คาดไม่ถึงจาก “NAIT 50” ทั้งยังให้เสียงที่มีมิติ มีตัวตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี รวมถึงความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียงในซาวด์สเตจ พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ สารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆ ที่ถือเป็นรายละเอียดยิบย่อยก็สดใส กระจ่างมาก รวมไปถึงทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆได้อย่างแจ่มชัด
สายสัญญาณ RCA to DIN 5 pin ของ Zensonice มิได้ถูกออกแบบมาให้เน้นที่ความชัดแจ้ง อย่างทะลุปรุโปร่ง จนเสียงแห้งผาก เพราะขาดซึ่งมวลอากาศรายรอบ ในขณะที่ก็ให้จังหวะท่วงที (pace) ของเสียงที่รับฟัง ได้กระชับ กระฉับกระเฉง ฟังแล้วอิ่มเอิบใจ สบายอารมณ์ เป็นเสียงที่ให้ทั้งความผ่อนปรนและคึกคักอยู่ในที บทจะโหมกระหน่ำก็แผดสนั่นไม่อัดอั้น ในขณะที่เสียงเล็กๆ น้อยๆ แทรกซ้อนปลีกย่อยทั้งหลายก็ยังให้ออกมาได้อย่างมีตัวตน และลอยตัวเป็นอิสระ ไม่ห้วนทู่ แข็งเกร็ง หรือจมตัวไปกับประดาเสียงที่ประโคมขึ้นมา แม้ในยามที่ชิ้นดนตรีประโคมคำรน แผดสนั่นประชันกัน พร้อมทั้งไดนามิคที่ลื่นไหลและฉับพลันทันใดอย่างไม่มีที่ติ …ฟังแล้วติดใจ ลืมไม่ลงเลยละครับ สภาพบรรยากาศรายรอบ (atmosphere) ของสถานที่แสดงดนตรี (hall หรือ arena) จะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างอบอวลเป็นระลอกคลื่นอากาศ ยิ่งฟังจะยิ่งติดใจในสภาพบรรยากาศที่บ่งบอกออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
…ทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ละกันครับ สำหรับท่านใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์ Niam Audio ไม่ว่าจะรุ่นใด ก็ลองติดต่อขอคำปรึกษา หรือว่าจะขอลองยืมไปฟังกับซิสเต็มใช้งานที่มี naim: NAIT 50 เป็นขุมกำลัง น่าจะทำให้ท่านได้ชื่นใจ ไร้ความผิดหวังในคุณภาพเสียงที่รับฟังโดยทั่วกัน
ขอขอบคุณ Zensonice (081-4467141) ที่เอื้อเฟื้อสายสัญญาณ RCA to DIN 5 pin มาให้ทดลองฟังในครั้งนี้
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..