ก่อนหน้านี้ ผมเคยเกริ่นกับเฮียวุฒิไว้ว่า อยากลองจัดชุดมินิมอลฟังดูบ้าง ผมเชื่อว่านักเล่นส่วนใหญ่น่าจะมีอาการคล้ายๆกัน กล่าวคือพอผ่านการเล่นการฟังมาเยอะๆ แล้ว ก็เริ่มมีแนวความคิดอยากจะมีอยากจะเล่นชุดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน นั่งฟังเพลงได้นานๆไม่ต้องกังวลว่า แผ่นจะหมดเมื่อไหร่ เริ่มจะจี้เกียจต้องลุกไปเปลี่ยนแผ่นอีกแล้ว ไม่อยากต้องมานั่งฟังกังวลแบบนี้ ขอแค่มีชิ้นสองชิ้นก็พอขอให้เสียงออกมาดีๆ สามารถทดแทนการเล่นชุดใหญ่ๆ ก็เพียงพอแล้ว เฮียวุฒิเลยแนะนำว่าต้องเป็นพวกStreaming แล้วล่ะ ลอง PS Audio Airlens มั้ยล่ะ เป็นเครื่องเล่น Streaming Transport เสียงดีมากเลย จับคู่กับอินทิเกรตแอมป์ที่มีภาค DAC ในตัวอย่างเช่น Krell K300i ก็น่าจะโอเค ได้ยินอย่างนี้ก็ตรงเป้าหมายเลยสิครับ จะรออะไรล่ะ
PS Audio Airlens
ผมเป็นแฟนคลับตัวยงของ Paul McGowan เพราะติดตามดูผ่านทางช่องยูทูปบ่อยมาก และเป็นแฟนคลับ PS Audio ด้วยเช่นกัน โดนส่วนตัวชอบในทิศทางการทำสินค้าของเขา แต่ละอย่างนั้นมีแนวความคิดที่ชัดเจน ต้องการอะไรและต้องทำออกมาอย่างไร เรื่องแบบนี้ชัดเจนมากๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนสุดๆ ก็คือตัว PS Audio Power Plant 20 และ PS Audio Power Plant 15 ทั้งสองรุ่นนี้คือการจัดการทางระบบไฟฟ้า ทำให้เราได้รับระบบไฟฟ้าสำหรับเครื่องเสียงที่สะอาดปราศจากการรบกวนใดๆอย่างสิ้นเชิง เป็นการจัดการการรบกวนทางไฟฟ้าต่างๆ ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด PS Audio Power Plant 20 และPower Plant 15 ก็ยังเป็นยี่ห้อเดียวในท้องตลาดที่มีมิเตอร์แสดงค่า THD V ซึ่งค่านี่สำคัญมากๆในการประเมินว่า ระบบไฟฟ้าที่บ้านเรานั้นมีความสะอาดในแง่ของคุณภาพทางไฟฟ้ามากมายขนาดไหน ค่ามาตรฐานคือห้ามสูงกว่า 5%
และ PS Audio Airlens ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้ผมอีกแล้ว ชอบในแนวความคิดของเขา เหตุผลที่เขาทำออกมาเป็น Streaming Transport เพราะต้องการให้การจัดการการรบกวนของขาเข้าและขาออกนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่า เขาเลยไม่ทำเป็นเครื่องเล่น Streamingที่มีภาค DAC ในตัวเลย เพราะการจัดการเรื่องการรบกวนนั้น จะยุ่งยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในภาค DACนั้นโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างไวต่อสัญญาณรบกวนที่แฝงเข้ามา ซึ่งแนวความคิดแบบนี้นั้นเขาเรียกว่า กัลแวนนิกไฮโซเลชั่น(Galvanic Isolation)
ถ้าจะถามว่ากัลแวนนิกไฮโซเลชั่นคืออะไร ถ้าจะบอกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การตัดขาดแยกการเชื่อมต่อทาง “ทางเดิน” ที่เชื่อมต่อกันทางไฟฟ้าหรืออิเลคตรอนระหว่างอินพุตและเอาท์พุตจากสายจากบอร์ด เพื่อให้สัญญาณเอาท์พุตที่ออกไปปราศจากการรบกวนต่างๆ โดยสิ้นเชิง พูดในเข้าใจง่ายๆ คือการจับแยกระหว่างอินพุตและเอาต์พุตอย่างชัดเจน
การเล่นทำงานบนสัญญาณความถี่สูงๆ ต่างๆ นั้น สัญญาณที่ส่งผ่านการเชื่อมต่อไม่ว่าจะเป็นระบบไวไฟแบบไร้สาย หรือการเชื่อมต่อทางสายแลนหรือทางการ Streaming นั้น มักพกพาการรบกวนทางสัญญาณปนแฝงเข้ามาด้วย เราจึงรับข้อมูลที่ส่งผ่านมาออกมานั้น มีทั้งสัญญาณข้อมูลและสัญญาณรบกวนแฝงในข้อมูลที่รับมา
เมื่อมีการสตรีมมิ่งเพลงผ่าน Roon, Qobuz, Tidal และ Sportify การรบกวนที่เกิดขึ้นจากระบบคอมพิวเตอร์ต้นทาง,ทางเราเตอร์, NAS, ไวไฟและสายแลน ความผิดเพี้ยนทาง Jitter, สัญญาณรบกวนหรือการรบทาง EMI ทาง PS Audio เขาไม่อยากให้การรบกวนเช่นนี้ยังถูกส่งผ่านออกไปอีก จัดการให้จบให้หมดภายในตัว PS Audio Airlens ที่เขาเรียกว่า Galvanic Isolation จึงได้สัญญาณที่ส่งออกไปมีความถูกต้องและปราศจากการรบกวนต่างๆ อย่าลืมนะครับว่าวงจรต่างๆ ในภาค DACแทบทุกยี่ห้อค่อนข้างไวต่อการบกวนมาก ทำให้เสียงจากการฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น Streaming มักยังมีความขุ่นของเสียงอยู่ โดยเฉพาะความถี่เสียงกลางสูงซึ่งฟังได้ค่อนข้างง่ายกว่า
ผมเคยเปรียบเทียบภาค Streaming ภายในอินทิเกรตแอมป์ Krell K300i หรือ อินทิเกรตแอมป์ Bladelius Ask ความใสของย่านความถี่เสียงกลางสูง เทียบแล้วการใช้เฉพาะภาค DAC ในตัวอินทิเกรตแอมป์ทั้งสองตัวเพียงอย่างเดียว แล้วใช้ PS Audio Airlens เป็นตัวขับเคลื่อนในภาค Streaming อย่างหลังนี่ให้เสียงน่าฟังกว่ากันเยอะเลยครับ ความใส ก็ใสกระจ่างโปร่งให้รายละเอียดต่างๆดีกว่า นั้นก็หมายความว่า การจัดการเรื่องการรบกวน PS Audio Airlens จัดการได้ดีกว่า สัญญาณดิจิทัลที่ส่งออกมามีความสะอาดมากกว่า
ย้อนไปเมื่อช่วงที่ผมก็เคยฟัง Streaming Transport ตัวละสองแสนกว่าและสี่แสนกว่า การจัดการเรื่องการรบกวน ถ้าวัดกันที่ความฉ่ำ ความสงัด รายละเอียดของย่านความถี่เสียงสูงๆ แล้ว PS Audio Airlens ฟังดูกระจ่าง ความฉ่ำและมีความสงัดกว่า เรื่องพวกนี้คือวัดกันในเรื่องการจัดการเรื่องการรบกวนบนสัญญาณความถี่สูงล้วนๆ
ผลลัพธ์ดีๆ ที่ได้มานั้น ก็ต้องเน้นในเรื่องของภาคจ่ายไฟเช่นกัน หัวใจหลักคือการแยกระบบกราวนด์ออกมาจากกัน เนื่องจากในทางระบบไฟฟ้าระบบกราวนด์จะเชื่อมถึงกันทั้งขาเข้าและขาออก จึงจำเป็นต้องแยกออกจากกัน เพื่อให้หารรบกวนทางกราวนด์ไม่ไหลไปเชื่อมกับสัญญาณขาออกอีก
PS Audio Airlens เลือกภาคจ่ายไฟแบบ Switch Mode Power Supply แต่ระบบภาคจ่ายไฟแบบนี้จะมีปัญหาเรื่องของอิมพีแดนซ์ที่ย่านความถี่สูงๆ ซึ่งก็ไม่ดีเลย เพราะ PS Audio Airlens ทำงานบนย่านความถี่สูงๆทั้งสิ้น ขืนปล่อยอย่างนี้ผลเสียกลับมากกว่าผลดีแน่ๆ เขาเลยแก้ไขโดยใช้ Low ESR Capacitor แต่ไม่ใช่นึกอยากจะใส่ก็ใส่เลย ทดลองที่ละค่าเพื่อหาจุดที่เหมาะสม เพื่อให้จุดอ่อนเรื่องอิมพีแดนซ์บนความถี่สูงๆในระบบ Switch Mode Power Supply ไม่ส่งผลต่อการทำงานบนย่านความถี่สูงๆของ PS Audio Airlens เช่นกัน จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไม Streaming Transport ขนาดเล็กกะทัดรัด จึงสามารถอาจหาญขึ้นไปเทียบชนกับ Streaming Transport แพงว่า 2 เท่าถึง 4 ตัวได้อย่างสบาย
PS Audio Airlens Feature
Galvanically Isolated
Network : 10/100/1000 Ethernet หรือ 2.4 และ 5 GHz Wi-Fi
Digital Output : I2S และ Coaxial Digital Outputs
PCM up to 352.8 kHz/32-bit
Native DSD up to 256 (4x, up to DSD 128 via Coax Output)
DoP (DSD over PCM) Operation
รองรับ Roon-ready, DLNA-ready, TIDAL Connect (via Roon), Spotify Connect, Mconnect, Qobuz (via Roon and Mconnect), Dropbox (via Roon), MQA, DLNA 1.5 และ UPnP A/V 1.0 Digital Media Renderer
เซตอัพและคุณภาพเสียง
ถ้าเราต้องการเล่น PS Audio Airlens ผ่านบน Roon ก่อนใช้งานนั้น ต้องตั้ง Dip Switch เลือกโหมดการทำงานเสียก่อน มีด้วยกัน 4 โหมด คือ
PCM ตั้งอัตราแซมปลิงบน ROON มีด้วยกัน 4 ค่าคือ 48k,96k,192k และ 356k ถ้าเราเล่นแทร็กที่อัตราแซมปลิงสูงกว่านี้ทาง Roon ก็จะลดลงมาตามที่เราตั้งเอาไว้
DSD ได้ 4 ค่าเช่นกันคือ NO DSD, DSD64, DSD128 และ DSD256
DSD MODE ตั้งได้ 2 ค่า DOP และ NATIVE
Volume Control ตั้งได้ 2 ค่าคือ Enable และ Disable ความหมายคือ การปรับลดเสียงบน Roon Core
ในการเชื่อมต่อเครือข่ายไวไฟที่บ้านเมื่อต่อใช้แลนแล้ว ตัวPS Audio Airlens ยังมองไม่เห็นเครือข่ายก็ให้กดปุ่ม WPS (Wi-Fi Protection Set Up) ด้านหลังเครื่อง แล้วไปกดปุ่ม WPS หลังเราเตอร์ไวไฟ ก็จะสามารถเชื่อมเครือข่ายที่บ้านได้แล้วล่ะ
การเชื่อมต่อสัญญาณดิจิทัลระหว่าง PS Audio Airlens กับDAC นั้น เชื่อมต่อได้ 2 ช่องทางคือ เชื่อมต่อผ่านระบบอินเตอร์เฟซ I2S หรือโคแอ็กเชียลดิจิทัลออดิโอเอาต์พุต ซึ่งในการเชื่อมต่อทั้งสองแบบนั้น ทาง PS Audio แนะนำให้ต่อผ่านระบบอินเตอร์เฟซ I2S มากกว่า แต่ในการรีวิวครั้งนี้นั้น ผมจะเน้นการเชื่อมต่อผ่านโคแอ็กเซียลดิจิทัลเอาต์พุตมากกว่า เพราะโจทย์ของผมคือ ชุดมินิมอลใช้ภาค DAC ในตัวอินทิเกรตแอมป์ ซึ่งในการรีวิวผมจะใช้อินทิเกรตแอมป์ 2 ตัว ร่วมทดสอบในเครื่องนื้คือ Krell K300i และ Bladelius Ask เป็นหลัก และจะมี DAC ระบบเริ่มต้นอย่าง SMSL SU9 เพื่อจะทดลองดูว่า PS Audio Airlens เมื่อเชื่อมต่อกับ DAC งบประมาณขนาดนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เท่าที่ได้ลองเล่นสลับกันไปมา ว่ากันเฉพาะตัว PS Audio Airlens ก่อน ใช้อะไรเลือกแบบไหนก็จะได้เสียงออกมาอย่างนั้น ซึ่งก็หมายความว่า อยากสัมผัสคุณภาพเสียงอันยอดเยี่ยมของ PS Audio Airlens มากมายขนาดไหน ก็ต้องดูคุณภาพของสายและคุณภาพของ DAC เช่นกัน สิ่งที่เลือกคือคุณภาพเสียงที่ได้
ว่ากันเรื่องสายดิจิทัลโคแอ็กเซียล 75 โอห์ม เพราะผมเลือกเชื่อมต่อระหว่าง PS Audio Airlens กับ DAC ผ่านช่องทางโคแอ็กดิจิทัลเอาต์พุตเป็นหลัก เพราะช่องดิจิทัลอินพุตภาค DAC หลังอินทิเกรตแอมป์โดยส่วนใหญ่ ยังไม่มีช่องอินพุตแบบ I2S มาให้
ขนาดตัวนำของสายดิจิทัลโคแอ็กเชียล 75 โอห์ม ที่นำมาใช้งานนั้นจะเป็นตัวกำหนดขนาดของมวล อิมแพคและคุณภาพเสียงอื่นๆ อย่างมากทีเดียว เพราะผมลองทดลองขนาดสายดิจิทัลโคแอ็กเชียล 75 โอห์มขนาดตัวนำ 18AWG, 20AWG, 22AWG และ 24AWG ขนาดตัวนำประมาณ 18 AWG จะให้เสียงออกมาดีที่สุด สเกลเสียงใหญ่กว่า ความหนักแน่นของเบสดีกว่า มวลอิ่มกว่าใหญ่กว่า รวมถึงสายไฟเอซีเช่นกันค่อนข้างมีผลต่อคุณภาพเสียงมากๆ
จุดเด่นแรกที่ชอบอย่างมากในตัว Streaming Transport ของ PS Audio Airlens ก็คือเรื่องของเรโซลูชั่น (Resolutuion) ครับ ถ้าพูดถึงคำว่าเรโซลูชั่นจะหมายความว่า PS Audio Airlens สามารถเปิดเผยสัญญาณระดับต่ำให้ได้ยินมากขึ้น เปิดเผยให้รับรู้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเครื่องเล่น Streaming บางยี่ห้อนั้นเรื่องของเรโซลูชั่นนั้นแทบจะหายไปเลย
โดยส่วนใหญ่การฟังในเรื่องแบบนี้ผมจะชอบฟังจากเพลงคลาสสิกเสียมากกว่า อาทิเช่นเพลงประกอบภาพยนตร์ Batman-Dark Knight Rise by Hans Zimmer แค่ไดนามิกน้ำหนักเสียงกลองต้นแทร็กก็ทำให้ผมทึ่งแล้วล่ะครับ
ผมเคยฟังเครื่องเล่น Streaming หลักหมื่นปลาย หรือว่าระดับแสน ล้วนให้ไดนามิกน้ำหนักของเสียงกลองออกไปทางซอฟต์ การปลดปล่อยพลังออกมาก็ไม่ได้ออกมาเต็มพลังมากนัก หรือแม้แต่เครื่องเล่น Streaming หลักแสนก็ยังออกไปทางซอฟต์หน่อยๆ ถ้าจะให้ออกมายอดเยี่ยมต้องต่อ External Clock เข้ามาช่วย
แต่สำหรับ PS Audio Airlens พละกำลังไดนามิกของเสียงกลองต้นเพลงนั้นสุดยอดมากๆ ปลดปล่อยพลังออกมาแบบไม่มียั้งกันเลย ถ้าให้คะแนนเต็มสิบก็เต็มสิบเลยครับ ในเรื่องนี้และพลังที่ให้ออกมาก็มีทรวดมีทรงที่จะแจ้งชัดเจนด้วย ไม่มีออกมาแบบคลุมเครือเป็นก้อนของเสียงจนแยกแยะอะไรให้ชัดเจนไม่ได้เหมือนเครื่องเล่นStreaming หลักหมื่นปลายๆทั่วไปเลย
ในแทร็ก Rise-The Dark Knight Rise(Original Motion Picture Soundtrack) เพลงประกอบภาพยนตร์ Batman คุณภาพเสียงที่ออกมานั้น PS Audio Airlens แสดงออกว่าไม่ใช่เด่นในเรื่องของพละกำลัง ไดนามิกของเสียงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้เรโซลูชั่นออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ หลายๆ เสียงที่ไม่เคยได้ยิน เสียงเล็กเสียงน้อยต่างๆ ได้ยินชัดเจนขึ้นอย่างมาก รวมถึงรายละเอียดทางดนตรีก็ชัดเจนเป็นตัวเป็นตนมากๆ เช่นกัน
การวางเลย์เอาต์รูปวงดนตรีที่เกิดขึ้นก็กว้างและลึก ฟังแทร็กนี้ดูแล้วเสียงออกมาดูอลังการมากๆ โดยเฉพาะไดนามิกของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในสนามเสียงที่กว้างนั้นสุดยอดจริงๆ และในนาทีที่ 1.02 เสียงผู้หญิงที่ออกมาลอยเด่นกว่าเสียงดนตรีแบคกราวนด์เยอะมาก ซึ่งผมประทับใจในรายละเอียดของเสียงที่ได้ยินจาก PS Audio Airlens อย่างมากทีเดียวเพราะนำเสนอได้อย่างมีชั้นเชิง ราวกับว่ากำลังฟังเครื่องเล่น Streaming ระดับหลายแสน
คุณภาพเสียงที่ออกมาแบบนี้นั้น ก็หมายความว่า ตัว PS Audio Airlens ให้คุณภาพเสียงย่านความถี่กลางสูงในลักษณะเปิดโปร่ง ไม่ได้ออกไปทางขุ่น เพราะแทร็กนี้ธีมเสียงจะออกไปทางมนๆ ดาร์กๆ หน่อย หากย่านความถี่เสียงกลางแหลมของตัว Streaming ออกไปทางขุ่นแล้ว รายละเอียดของเสียงต่างๆจะได้ยินน้อยมาก แถมยังแยกแยะอะไรไม่เคยได้ชัดเจนอีกด้วย แต่สำหรับ PS Audio Airlens เมื่อเสียงออกไปทางเปิดโปร่งคือพร้อมจะเปิดเผยได้ทุกรายละเอียดของเสียงออกมาให้ได้ยินจึงได้ยินรายละเอียดต่างๆ ออกมาชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ที่นี้พอย่านความถี่กลางสูงใสโปร่งและให้เสียงที่เปิด ไม่ได้ออกมาโทนขุ่น จึงทำให้ PS Audio Airlens ให้รายละเอียดของย่านความถี่สูงที่ชัดเจนและมีประกายเสียงที่ดีมากๆ ถ้าผมจะบอกว่าคุณภาพในเรื่องนี้นั้น PS Audio Airlens น่าจะเป็นเครื่องเล่น Streaming ที่ให้คุณภาพในเรื่องนี้ออกมาพร่างพรายระยิบระยับลำดับต้นแถวแล้วล่ะ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยได้ยินคุณภาพแบบนี้จากเครื่องเล่น Streaming ต่ำกว่าแสนจากยี่ห้ออื่นๆ มาก่อนเลย
จาก 2 ชุดยอดฮิตจาก Arthur Lyman จากชุด Taboo และ Taboo2 ทั้งสองชุดนี้ ส่วนใหญ่ผมจะชอบเปิดฟังจากแผ่นซีดีมากกว่า เพราะเคยฟังจากการ Streaming แล้วไดนามิก ประกายเสียงจากเครื่องเคาะเครื่องดนตรียังไม่ค่อยถูกใจสู้ฟังจากแผ่นซีดีไม่ได้เลย แต่ PS Audio Airlens ทำให้ผมรู้สึกเปลี่ยนใจเพราะคุณภาพเสียงที่ให้ออกมานั้นยอดเยี่ยมมากๆ
จากแทร็กที่สอง “Kalua” และแทร็กที่สาม “Ringo Oiwake” จากชุด Taboo ความใส ความกังวานน้ำหนักและไดนามิกของเสียงนั้นสุดๆจริงๆ โดยเฉพาะไดนามิกของเสียงที่ออกมานั้น มีพลังมีมิติอย่างมาก เครื่องดนตรีทั้งกลุ่มเพอร์คัชชัน, อูคูเลเล,ฟลูต, แคลริเน็ต,ไซโลโฟน,ไวบราโฟน, มาริมบา และเครื่องดนตรีอื่นๆอีก ก็ให้ออกมาชัดเจน ให้ความแตกต่างความเป็นตัวตนของเสียงซึ่งสามารถแยกแยะได้ง่ายมาก
ยิ่งเสียงของไซโลโฟน, ไวบราโฟนและมาริมบา ความใส ความกังวาน เสียงที่พีคดังขึ้นมาและบรรยากาศแบบนี้นั้น ช่างเป็นการฟัง Streaming ที่มีความสุขมากๆ จากที่เมื่อก่อนเคยฟังจากเครื่อง Streaming ยังรู้สึกว่าขาดมิติ ฟังดูแบนๆ ความใสความกังวานก็ไม่ได้มากเท่านี้ ยิ่งไดนามิกไม่ต้องพูดถึงเลย
เรื่องมิติ เรื่องความกว้าง ตื้นลึกของเสียงนั้น ก็สุดๆเช่น PS Audio Airlens ฉีกเวทีเสียงออกไปด้านกว้างก็กว้างมาก ด้านลึกฉีกด้านลึกลงไปลึกมากๆ พอเสียงวิ่งจากด้านหลังลึกๆมา โผล่ด้านหน้าด้านลำโพงด้านขวามือ มิติตื้นลึกตรงนี้ มิติตื้นลึกของเสียงรู้สึกได้เลยว่า มีความลึกค่อนข้างมากทีเดียว บางจังหวะเสียงก็วิ่งมาถึงตำแหน่งนั่งฟังเลย
อีกหนึ่งอย่างที่สุดแสนจะประทับใจอย่างมากในตัว PS Audio Airlens ก็คือความฉ่ำของเสียงร้อง เป็นครั้งแรกที่ผมฟังเพลงจากการ Streaming แล้วไม่รู้สึกว่าเสียงติดแห้งๆ ขาดมิติเหมือนเมื่อก่อนเลย นี่คืออีกเสน่ห์หนึ่งของ PS Audio Airlens นักเล่นท่านใดที่เคยปรามาสว่า พวก Streamingให้เสียงร้องที่แห้งไม่น่าฟังนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับ PS Audio Airlens อย่างแน่นอน
นี่คืออีกหนึ่งความประหลาดใจของ PS Audio Airlens อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว เพราะที่ผ่านมาผมยังไม่เคยรู้สึกประทับใจในเสียงร้องจาการฟังผ่านเครื่องเล่นStreaming โดยส่วนใหญ่เสียงจะออกไปทางแห้ง และทรงออกแบนหน่อย แต่พอได้ยินเสียงของ Sarah McLachlan เพลง “Angle” จาก PS Audio Airlens ผมถึงร้องว้าว…
อย่างแรกเลยก็คือเนื้อเสียงร้อง ให้เนื้อเสียงอิ่มและไดนามิกดีมาก หนักเบาค่อนข้างชัดเจนและโน้ตนี่ชัดมาก เสียงร้องจากลมในกระพุ้งแก้มก็สัมผัสได้อย่างชัดเจน เพลงนี้ความไพเราะคือการเล่นในเรื่องของลักษณะเสียงหนักเบา เพราะเมื่อมีการส่งต่อออกมาได้อย่างดี เลยได้อารมณ์เพลงอย่างมากทีเดียว มิติ ทรวดทรงนี่ออกมาดีเลย ไดนามิกของคีย์เปียโนนั้นก็ดี เพลงนี้เล่นกับไดนามิกของเสียงล้วนๆไม่ว่าจะเสียงร้องหรือเสียงดนตรี PS Audio Airlens ถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก รายละเอียดทางดนตรีถ่ายทอดออกมาได้เด่นชัดมากๆ แม้ว่ารายละเอียดนั้นจะมีความดังของสัญญาณอย่างแผ่วเบาก็ตาม ก็ถ่ายทอดออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจนดีมากๆ
พอลองขยับไปฟังเสียงร้องที่เล่นกับไดนามิก เล่นกับคีย์เสียงร้องสลับไปมา PS Audio Airlens ก็ยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นเดิม เครื่องเล่น Streaming หลายยี่ห้อจะมีปัญหากับคีย์เสียงร้องต่ำ ที่เหมือนจะเก็บรายละเอียดออกมาไม่ครบ ทำให้เรื่องรายละเอียดของเสียงร้องถ่ายทอดออกมาไม่ค่อยดีนัก ไดนามิกของเสียงร้องก็จะออกไปทางซอฟต์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมรู้สึกว่าคือทางของ PS Audio Airlens เลย เพราะทำออกมาได้ดีมากๆ
เพลงที่เด่นทั้งทางด้านไดนามิกของเครื่องดนตรีและเสียงร้อง อย่างเช่นเพลง “Temptation” ของ Diana Krell หรือเพลง “Regular Pleasures” ของ Patricia Barber โดยเฉพาะเพลง Regular Pleasures ทั้งเนื้อเสียง ทั้งเรื่องพละกำลัง ไดนามิกของเสียงกลอง เสียงเบส เสียงฉาบ ความชัดเจนของเสียงเหล่านี้นั้น PS Audio Airlens ให้ออกมาดีมากๆ แต่ละเสียงไม่ได้ให้ออกมาซอฟต์แบบไม่มีพลังเลย พลังของเสียงที่ระเบิดออกมานั้น สมบูรณ์แบบจริงๆ น้ำหนัก เนื้อเสียง รายละเอียด และไดนามิกเสียงร้องของ Patricia ก็ถ่ายทอดออกมาดีมากๆ นี่คือสุดยอด Streaming Transport ของแท้เลย
PS Audio Airlens ที่สุดของ Streaming Transport
ตั้งแต่ลองเล่นลองฟัง PS Audio Airlens มาถ้าจะให้คะแนนผมไม่รู้ว่าจะหักคะแนนตรงส่วนไหนเช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบไปหมดเสียทุกอย่าง คุณภาพเสียงที่ได้ยินมาทั้งหมดสุดยอดมากๆ ขนาดผมยังไม่ได้กับ DAC ผ่านทางระบบอินเตอร์เฟซ I2S เลยนะครับ แค่ต่อแบบสายดิจิทัลโคแอ็กเชียล 75 โอห์มเท่านั้นเอง
คุณภาพเสียงของ PS Audio Airlens ค่อนข้างไวต่อคุณภาพของ DAC ที่ต่อใช้ร่วมกันมากๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้นทางถึงจะออกมาดีอย่างไรก็ตาม สุดท้ายคุณภาพเสียงก็จะแปรเปลี่ยนไปตามคุณภาพของ DAC ทั้งสิ้น จากที่ลองเปรียบเทียบเมื่อต่อร่วมกับ SMSL SU9 คุณภาพของ DAC ระดับเริ่มต้น คุณภาพเสียงออกมาก็ดีนะครับ แต่ไดนามิกของเสียง อิมแพค พละกำลังออกไปทางซอฟต์หน่อย รายละเอียดของเสียงต่างๆ ก็ไม่ชัดเจนมากนัก
แต่เมื่อต่อร่วมกับภาค DAC ในตัวอินทิเกรตแอมป์ Krell K300i รายละเอียด เรโซลูชั่น ความฉ่ำของเสียงร้องมาเต็มเลย แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ภาค DAC ในตัวอินทิเกรตแอมป์ Bladelius Ask พละกำลังมาเต็มมากยิ่งขึ้น แต่รายละเอียดของเสียง ความฉ่ำนั้นอาจจะเป็นรอง Krell K300i นิดหน่อย ผมเลยบอกว่าการเลือกจะใช้ DAC ยี่ห้ออะไรนั้น ก็ต้องดูเรื่องคุณภาพเช่นกัน เพราะ PS Audio Airlens พร้อมจะสำแดงเดชปลดปล่อยคุณภาพออกมาทุกอย่างทุกด้านอยู่แล้วล่ะ…แนะนำอย่างยิ่งเพราะผมทำนายได้เลยว่า PS Audio Airlens คือ Streaming Transport ที่ดีที่สุดของปี 2024 ในเรนจ์ราคาต่ำกว่าแสนครับ
ขอขอบคุณ : บริษัท ออดิโอเอ็กซ์เซลส์เลนส์ จำกัด โทร.0-2631-5375-6
ในความอนุเคราะห์ PS Audio : Airlens สำหรับการทดสอบในครั้งนี้ ราคาจำหน่าย 78,000.- บาท