“สีสัน” กับการสรรค์สร้างแผ่นเสียง

0

ถ้าพูดถึงแผ่นเสียง หรือ ไวนิลสำหรับเราๆ ท่านๆ นั้น นับว่า มีความคุ้นชินมาก จนเกิดคำเรียกขานว่า แผ่นดำ ซึ่งนั่นบ่งบอกว่า สีดำ มีความผูกพันกับความเป็นแผ่นเสียงอย่างยิ่ง แต่ไหนแต่ไรมาเนิ่นนาน ความเป็น สีดำ ของแผ่นเสียงนั้นเป็นผลมาจากการเติมผงคาร์บอนลงในส่วนผสมของเนื้อไวนิล (Polyvinyl Chloride หรือ PVC) ซึ่งก็คือ เทอร์โมพลาสติก หรือ พลาสติกเนื้ออ่อนประเภทหนึ่ง เพื่อช่วยให้เกิดสภาพความคงตัวที่ดีขึ้นกว่าการใช้เนื้อไวนิลล้วนๆ ที่ไม่มีอะไรเจือปน 

เนื่องจาก Polyvinyl Chloride ไม่มีคุณสมบัติการเกาะตัวกัน ทำให้ไม่สามารถขึ้นรูปได้ ดังนั้นเวลานำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการเติมสารเติมแต่งต่างๆ เพื่อให้สามารถขึ้นรูป และได้คุณสมบัติดังที่ต้องการ ทั้งนี้เทอร์โมพลาสติกจะเกิดการอ่อนตัว และหลอมเหลวเมื่อได้รับความร้อน แต่จะเกิดการแข็งตัวเมื่อทำให้เย็นลง พลาสติกที่แข็งตัวแล้วสามารถนำมาหลอมซ้ำได้ด้วยความร้อน ดังนั้นเทอร์โมพลาสติกจึงเป็นวัสดุที่มีสมบัติเหมาะสม สำหรับการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทว่าพลาสติกซึ่งผ่านกระบวนการที่มีความร้อนหลอมละลายหลายครั้งสามารถเสื่อมสภาพ หรือ ทางเทคนิคเรียกว่า degradation ดังนั้นการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (recycled) ควรใช้ผสมในอัตราส่วนที่พอเหมาะเท่านั้น และควรระวังเรื่องความสะอาดของวัตถุดิบและสิ่งเจือปน 

“เนื้อไวนิลสีดำ” อันเนื่องมาจากผงคาร์บอนจึงเป็นสิ่งคุ้นตา กระทั่งหากพูดว่า “แผ่นดำ” ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึง แผ่นเสียง – ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น “แผ่นดำ” ก็นับว่า มีการพัฒนามาเรื่อยๆ แม้ว่าจะยังคงความเป็นแผ่นเสียง ”สีดำ” ดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ! …หากแต่ในความเป็นจริงนั้น “เนื้อไวนิลสีดำ” ได้มีการปรับเปลี่ยน “compound” หรือ ส่วนประกอบ เป็นเสมือน-สูตรเฉพาะ-ของใครของมันในหมู่บริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียงชื่อดัง  

…น่าจะเริ่มจาก “สูตรลับเฉพาะ” ของทางค่าย RCA ฟากฝั่งแอเมริกาที่ได้พัฒนา “เนื้อไวนิลสีดำ” ขึ้นใหม่เป็นของตนเองในช่วงประมาณยุค’60 โดยตั้งชื่อเรียกขานว่า “Miracle Surface” ซึ่งแผ่นเสียงรูปแบบนี้ประกอบด้วยส่วนผสมป้องกันไฟฟ้าสถิต (antistatic) ชนิดใหม่ที่ปฏิวัติวงการ มีรหัสเฉพาะว่า 317X ซึ่งช่วยให้แผ่นเสียงปราศจากฝุ่น (dust free) และช่วยป้องกันเสียงรบกวนจากพื้นผิว (surface noise) ส่งผลรับประกันการส่งมอบเสียงที่เที่ยงตรง (faithful sound reproduction)

ในแผ่นเสียงตรา Living Stereo Series ของ RCA 

กระนั้น RCA ก็มิได้หยุดยั้งการพัฒนาสูตรเฉพาะของตน เพื่อหนีห่างคุณภาพจากคู่แข่งที่อาจตามติดมา กระทั่งในช่วงปลายปี 1969 ทางค่าย RCA ก็ได้แผ่นเสียงของตนเองที่มีฉลากกำกับว่า Dynaflex ออกสู่ตลาด โดยที่ “Dynaflex” นั้นเป็นเครื่องหมายการค้า (trademark) สำหรับแผ่นเสียง LP ที่บาง และมีน้ำหนักเบา ซึ่งแทนที่จะใช้วัสดุพลาสติกแข็งที่ใช้ในการปั้มแผ่นไวนิลแบบเดิมๆ แผ่นเสียงฉลากกำกับ Dynaflex ได้รับการพัฒนา “สูตร” ที่ให้ความอ่อนตัว และยืดหยุ่นได้ ทำให้ RCA ใช้วัสดุน้อยลง (เพราะความบาง) ประหยัดเงิน และทำให้แผ่นเสียงดูราบเรียบกว่า เพราะสามารถแนบตัวเมื่อเล่นบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง  

GEDSC DIGITAL CAMERA

ทั้งนี้ในเวลานั้น เพื่อเป็นมาตรการลดต้นทุน โรงงานปั้มแผ่นเสียงในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้ไวนิลรีไซเคิล หรือ “บดใหม่” (reground) โดยนำแผ่นเสียงเก่า และยังไม่ได้ขาย ตัดตรงกลางลาเบลที่เป็นป้ายกระดาษ (paper labels) ออก จากนั้นจึงหลอมละลาย (melting) พลาสติกส่วนที่เหลือแล้วนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ – ส่งไปทำการปั้มแผ่นใหม่ โดยทั่วไปแล้วแผ่นเสียงไวนิล “รีกราวด์” ดังกล่าวจะฟังดูมีเสียงรบกวนมากกว่า (noisier) และมีเสียงกรอบแกรบมากกว่า (scratchier) เมื่อฟังเปรียบเทียบแผ่นเสียงที่ทำจากไวนิลบริสุทธิ์ หรือ “virgin vinyl” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะแผ่นเสียงไวนิล “รีกราวด์” นั้น อาจมีสิ่งสกปรก หรือวัสดุอื่นใดเจือปนอยู่ในเนื้อไวนิลรีไซเคิลนั่นแหละ 

ดังนั้นแผ่นเสียง “dynaflex” จึงให้เสียงที่น่าฟัง จนเป็นที่กล่าวขานกันในหมู่นักฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นนักสะสมแผ่นเสียง และนักฟังออดิโอไฟล์ได้ให้ความคิดเห็นเรื่องคุณภาพเสียงของ Dynaflex ไว้แตกต่างกันดังนี้ :- บางคนรู้สึกว่า คุณภาพเสียงดีขึ้นจริงๆ เนื่องจากใช้ไวนิลที่บริสุทธิ์กว่า และกระบวนการกำจัดสิ่งสกปรกเจือปนในสารประกอบไวนิลก็ดีขึ้นด้วย ทว่าบางคนกลับรู้สึกว่า การปั้มแผ่น Dynaflex มีเสียงน้อยซ์ดังกว่า (noisier) และขาดแคลนความถี่เสียงเบส เมื่อเทียบกับแผ่นเสียงทั่วไป ทั้งยังมี ” rumble ” (สัญญาณรบกวนความถี่ต่ำ) มากกว่าการปั้มแผ่นแบบหนาปกติ  

ในขณะที่ทาง RCA อ้างว่า แผ่นเสียง Dynaflex มีเสียงรบกวนน้อยกว่า และไวต่อการบิดเบี้ยวน้อยกว่า (warpage) ทั้งยังจะมีอายุการใช้งานนานกว่าแผ่นเสียงไวนิลทั่วไป …ส่วนนักฟังบางราย (โดยเฉพาะผู้ฟังแนวเพลงคลาสสิก) เยาะเย้ยเรียกผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า ‘Dynawarp’ เนื่องจากมีหลักฐานว่า แผ่นเสียง Dynaflex มีแนวโน้มที่จะบิดเบี้ยวได้ง่าย ขณะวางอยู่บนชั้นของตัวแทนจำหน่าย เพียงเพราะจากแรงดึงของฟิล์มหดห่อหุ้มตัวปกแจ็คเก็ตอัลบั้ม …นักวิจารณ์บางคนกล่าวหาว่า Dynaflex เป็นเพียง “อุบาย” (ploy) ที่ RCA คิดค้นขึ้นมาเพื่อประหยัดเงิน ! โดยใช้ไวนิลน้อยกว่าแผ่นเสียงแบบดั้งเดิมที่หนากว่า !! 

เห็นได้ชัดว่า ค่าย RCA Records ไม่เคยใช้ Dynaflex อย่างเต็มที่ เนื่องจากแผ่นเสียงไวนิลที่หนาขึ้นปกติยังคงได้รับการผลิตต่อไป หลายอัลบั้มที่ออกโดย RCA มีจำหน่ายทั้งที่เป็น Dynaflex และแผ่นไวนิลที่หนา-หนักกว่า ประมาณปี 1974-75 ปรากฏว่า RCA เริ่มค่อยๆ ลดจำนวนการผลิตแผ่นเสียง Dynaflex ลง จนกระทั่ง Dynaflex ถูกยกเลิกไปอย่างเงียบๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 

กระนั้นการพัฒนา “แผ่นดำ” ใช่ว่า จะมีจำเพาะทางฟากฝั่งแอเมริกา ทางญี่ปุ่นก็มีแนวทางการพัฒนาเนื้อไวนิลที่ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่งสังกัด Toshiba ที่นับได้ว่าเป็นนวัตกรรม (innovation) โดยที่ Toshiba ได้พัฒนาสูตรลับที่ใช้ในการสร้างเนื้อแผ่นเสียงที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าสถิต และฝุ่นละอองที่น้อยกว่า โดยใช้ชื่อว่า “everclean” ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็น เนื้อไวนิลสีแดงโปร่งแสง (translucent red vinyl) ซึ่งตามบันทึกส่วนใหญ่นั้น ส่งผลให้เสียงที่ดีขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันว่า เสียงที่รับฟังกระจ่างชัดอย่างเหลือเชื่อ ! ทว่า Toshiba ได้ยุติกระบวนการนี้ในปี 1974 และทำให้แผ่นเสียงสีแดง “everclean” นั้นหายาก และมักมีราคาแพง แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวแผ่นเสียง 

แม้ว่าการผลิตแผ่นเสียงโดยใช้สูตรลับ “everclean” จะถูกระงับ ทว่าแผ่นเสียงที่ออกมาจากญี่ปุ่นยังคงมีคุณภาพที่ดีขึ้นในสภาพการณ์ส่วนใหญ่ ในขณะที่ช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษที่ 80 นั้น ทางฟากฝั่งแอเมริกัน ต่างมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้ได้สูงสุด ซึ่งมาตรการ “ลดต้นทุน” (cost-cutting) บางประการเหล่านี้ ก่อให้เกิดสภาพการถอยกลับในการควบคุมคุณภาพ (QC – quality control), การใช้ตัวปั้มแผ่นเสียง (stamper)  ต่อจำนวนการผลิตที่มากเกินไป รวมไปถึงการพึ่งพาไวนิลรีไซเคิล ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับแนวทางที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง โรงงานในญี่ปุ่นนั้นปั้มแผ่นเสียงโดยใช้เนื้อไวนิลบริสุทธิ์ 100% (100% virgin vinyl) ซึ่งทำให้ได้มาซึ่งแผ่นเสียงที่คุณภาพดีขึ้นอีกครั้ง 

นวัตกรรมต่อไปของทางฟากฝั่งญี่ปุ่นก็คือ “Super Vinyl” โดย JVC …อีกหนึ่งเนื้อไวนิลที่ให้ความทนทาน และเสียงสะอาดสะอ้าน (clean-sounding) ทั้งนี้เป็นเวลาหลายปีที่สังกัด Mobile Fidelity Sound Labs ทำสัญญากับ JVC เพื่อใช้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตเนื้อไวนิลสูตรพิเศษที่เป็นความลับสุดยอดนี้… Supper Vinyl นับเป็นเครื่องหมายการค้าของ JVC ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 ทาง JVC ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับแผ่นเสียง CD4 Quadraphonic ตลอดช่วงทศวรรษที่ 80 มีแผ่นเสียงแบบนี้มากมายที่สรรค์สร้างด้วยสูตรลับเฉพาะนี้ (และที่คล้ายคลึงกัน) 

ทว่าในที่สุด “Super Vinyl” ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน จึงมีคำถามย้อนกลับว่า “ทำไม” …ใครต่อใครในวงการต่างพยายามหาคำตอบ แต่ก็ไม่สามารถหาเหตุผลที่สามารถรับรองได้ ทว่าน่าจะเป็นไปได้ที่ว่า เกี่ยวกับองค์ประกอบของส่วนผสม และสูตรลับดังกล่าวถูกห้ามในญี่ปุ่น หรืออาจเป็นอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างกระบวนการปั้มแผ่น …ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็มีนักสะสมจำนวนมากที่คาดหวังว่า จะได้เห็นมันกลับมาอีกครั้ง เนื่องเพราะสูตรเนื้อไวนิลลับเฉพาะของ JVC ทำให้ส่งผลลดเสียงรบกวนจากพื้นผิว (surface noise) ได้ต่ำลงมากจริงๆ เป็นประจักษ์พยานการก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง ! 

ปัจจุบัน, ท่านใดที่อุดหนุนแผ่นเสียงของสังกัด Mobile Fidelity Sound Labs (MoFi) จะทราบว่า ได้มีการพัฒนา “MoFi SuperVinyl” ซึ่งเป็นสารประกอบที่เป็นกรรมสิทธิ์ใหม่ (new proprietary compound) พัฒนาขึ้นโดย NEOTECH และ RTI เพื่อจัดการกับการปรับปรุงเฉพาะด้าน (specific areas) ใน 2 ประการด้วยกัน เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแผ่นเสียงแบบ 1-step ที่เน้นคุณภาพในระดับสูงสุด:-  

การลดเสียงรบกวนจากพื้นผิว (noise floor reduction) และปรับปรุงการจำแนกแยกแยะของร่องเสียง (enhanced groove definition) ทั้งนี้ส่วนประกอบเนื้อไวนิลใหม่ดังกล่าวประกอบด้วยตัวสีย้อมใหม่ไร้สารคาร์บอน (new carbonless dye ) ส่งผลให้แสงส่องทะลุแผ่นได้ และสร้างพื้นผิวที่เงียบที่สุดในโลก (the world’s quietest surfaces) “สูตรลับใหม่” ที่ให้ความจำแนกแยกแยะได้สูงนี้ยังช่วยให้สามารถสร้างร่องเสียงที่สะอาดยิ่งขึ้น แยกต่างจากเนื้อไวนิลดั้งเดิม Mobile Fidelity Sound Lab รู้สึกว่า SuperVinyl ใหม่ให้ประมาณการที่ใกล้เคียงที่สุดกับสิ่งที่เราท่านควรได้ยินในห้องตัดแผ่น (mastering lab) 

“MoFi SuperVinyl” นี้ ไม่ใช่แบบเดียวกับเนื้อไวนิล “Quiex” ที่มีการใช้ในแผ่นเสียงบางแผ่นในช่วงปลายยุค 70 และต้นยุค 80 เนื่องเพราะเนื้อไวนิล “Quiex” ตามปกติยังมองดูจะเป็นสีดำ แต่เป็นสีน้ำตาลโปร่งแสง (translucent brown) เมื่อส่องผ่านแสงจ้าๆ (bright light) ในความเป็นจริง Quiex ปล่อยคาร์บอนแบล็คออกมา (carbon black out) เพราะถูกอ้างว่า “มีส่วนของ trace metals ที่กลายสภาพเป็นแม่เหล็ก (magnetized) และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการบิดเบือนทางไฟฟ้า (electrical distortions) ในคาร์ทริดจ์หัวเข็มเล่นแผ่นเสียง (cartridges) ระหว่างการเล่น ซึ่งทำให้เสียงเลอะเลือน (smears)” ซึ่งอาจเป็นข้อโต้แย้งเล็กน้อย เพราะเท่าที่ได้ฟังอัลบั้มเพลงที่ใช้เนื้อไวนิล Quiex ก็พูดได้ว่า ฟังดูดีมาก เพราะเหตุว่าใช้ไวนิลบริสุทธิ์ 100% (ถ้าเป็นเนื้อไวนิลรีไซเคิลก็คงจะต้องเพิ่มสีสัน)  

MoFi Supper Vinyl และ Quiex อาจต่างกันแค่ชื่อ และสูตรส่วนผสมที่ต่างกันเล็กน้อย – หรือไม่ ? … สังกัด Classic Records ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจผลิตแผ่นเสียงในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 โดยได้สร้าง “Promo records” ที่ได้รับการตัดแผ่น (mastered) อย่างแตกต่าง และใช้เนื้อไวนิลสูตรผสมเฉพาะ แล้วเรียกขานว่า Quiex เพื่อทำการแนะนำตัวเอง 

…ในช่วงที่ค่ายเพลงมุ่งตลาดไปสู่แผ่นซีดีเท่านั้น ขณะที่ “Classic Records” ได้เริ่มต้นสิทธิบัตรสำหรับการ reissues ผลงานเพลงต่างๆ และดำเนินการผลิตแผ่นเสียงตามสูตรเฉพาะของตนออกจำหน่าย ทว่าต่อมา Classic Records ประสบวิกฤติการเงินในปี 2008 เนื่องเพราะ ‘credit out’ จำนวนไม่น้อยจากร้านแผ่นเสียงเล็กๆ ที่ประสบความล้มเหลว ส่งผลให้ “Classic Records” ตกต่ำลงเช่นกัน 

ต่อมา Acoustic Sounds ได้ทำการเข้าซื้อ Classic Records ทำให้ได้รับกรรมสิทธิ์ในทุกสิ่ง ซึ่งตอนนี้, เมื่อคุณซื้อแผ่นเสียงของค่าย APO (Analogue Production) เท่ากับว่า คุณจะได้รับเนื้อไวนิลสูตร Quiex ในแผ่นเสียงเหล่านั้น ทั้งนี้ Acoustic Sounds ยังได้เปิดโรงงานปั้มแผ่นเสียง (pressing plant) ของตนเองในปี 2010 โดยใช้ชื่อว่า Quality Record Pressing (QRP) และได้จัดซื้อเครื่องปั้มแผ่นเพิ่มขึ้นในปี 2015 ซึ่งทำให้ QRP กลายเป็นโรงงานปั้มแผ่นเสียงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นอกจากนี้ในปี 2015 ทาง Acoustic Sounds ยังได้ซื้อ Doug Sax Mastering Lab ทำให้ Acoustic Sounds สามารถทำทุกอย่างได้จริงภายใต้หลังคาเดียวกัน และยกระดับเกมขึ้นมาเป็นจริงเป็นจัง “Acoustic Sounds” จัดทำแผ่นเสียงได้ 200 กรัม สปีด 45 รอบต่อนาที และ 33 1/3 บนสูตรเนื้อไวนิล Quiex 

…ทว่าทุกวันนี้ โลกแผ่นเสียงดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีต เนื่องเพราะบางค่าย บางสังกัด หรืออาจจะบางศิลปินที่ต้องการความแปลกใหม่ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเนื้อไวนิลที่ให้ความแตกต่าง เพื่อตอบรับกับ “กระแส” ความต้องการของตลาดตามยุคสมัย จากแต่เดิมที่เรา-ท่านคุ้นเคยกันดีกับ “แผ่นดำ” หรือบางครั้งอาจจะมี ‘แผ่นขาวขุ่น’ ของบางสำนัก อย่างเช่น Crystal Clear Records หรือว่าเป็น ‘แผ่นสีแดงสดใส’ อย่างเช่น EverClean ของ Toshiba 

กลายเป็นว่า ยุคนี้มีแผ่นเสียงหลากหลายสีสันทำการผลิตออกมาจำหน่าย – แดง – ดำ – ส้ม – เหลือง – เขียว – ชมพู – ฟ้า – เงิน – ทอง ฯลฯ กระทั่งแผ่นหลากสีเป็นลวดลายหินอ่อนกระนั้นก็ยังมี แถมดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ จนหลายค่ายหลายสำนักต่างหันมาทำการผลิต เพราะว่า ดูสวยงามเหมาะกับการเก็บสะสม …แต่ก็เกิดเป็นคำถามขึ้นมาสำหรับนักเล่นนักฟังว่า เนื้อไวนิลหลากสีสันนั้น ให้คุณภาพเสียงที่ “แตกต่าง” จากเนื้อไวนิลสีดำ หรือ สีขาวขุ่นเช่นแต่ก่อนเก่า-อย่างไรไหมเอ่ย ?  

ประสบการณ์จริงของผมก็ผันผ่านการฟังเปรียบเทียบคุณภาพเสียงจากเนื้อไวนิลที่แตกต่างกันอยู่บ้าง 2-3 ประเภท พอจะพูดบอกได้ว่า ถ้าเป็นเนื้อไวนิลยุคก่อน – สีขาวขุ่น – จะให้คุณภาพเสียงที่โปร่งลอย แจ่มชัด ชิ้นดนตรีมีความเป็นอิสระ แยกแถวชั้นของสรรพเสียงได้ – ดีกว่า – แผ่นดำธรรมดา แต่ถ้าเป็นเนื้อแผ่นไวนิลแบบ Super Vinyl ของ JVC อันนี้ “องศา” ความดีงามจะเพิ่มมากไปอีก ซึ่งเนื้อแผ่นไวนิลแบบ everclean ของ Toshiba ก็ไม่ต่างกันนัก แม้กระทั่งกับสูตร Quiex ของ Classic Records นั่นก็ให้ผลเช่นกัน สรุปว่า เนื้อแผ่นไวนิลที่พัฒนามาในอดีตนั้น ส่งผลต่อคุณภาพการรับฟังแน่นอน 

ขอขอบคุณคลิปจากช่อง : LeeENG

ส่วนแผ่นเสียงหลากสีสันนั้น เรียนตามตรงว่า ยังไม่มีโอกาสได้ลองฟังจริงจัง …ทว่าวันหนึ่ง, โอกาสก็มาถึง เมื่อได้ไปที่ร้านอิมเมจฯ ของเฮียวุฒิ ซึ่งได้นำแผ่นเสียงต้นตำรับของนนท์ ธนนท์ ชุด มีผลต่อหัวใจ ของสังกัด Brilliance Music ที่เป็นเนื้อไวนิลแผ่นดำธรรมดา มาเปิดฟังเทียบกับเนื้อแผ่นใสพิเศษ ที่เรียกว่า Crystal Clear Superior Vinyl ที่ทดลองตัดแผ่นโดยใช้ stamper ซึ่งผ่านการปั้มแผ่น (pressing) มาแล้วนับหลายร้อยครั้งจากอัลบั้มชุด มีผลต่อหัวใจ ของนนท์ ธนนท์ เช่นกัน

ผลปรากฏว่า เนื้อไวนิล Crystal Clear Superior Vinyl ที่ได้พัฒนาขึ้นโดยสังกัด Brilliance Music นั้น ให้ความสงัด ที่ดีมากๆ ชิ้นดนตรีต่างๆ รวมทั้งเสียงร้องมีความเป็นอิสระ ลอยตัว กระจายตำแหน่งอยู่ในวงเวทีเสียงที่แผ่กว้าง ชัดเจนกว่าเดิมมาก สรรพเสียงนวลนุ่ม อิ่มเอิบ เปี่ยมบรรยากาศ ให้ความเป็นตัวตน มีชีวิตชีวา อันเนื่องมาจากเสียงรบกวนผิวแผ่น (surface noise) ของเนื้อไวนิล Crystal Clear Superior Vinyl นั้น – ต่ำมากๆ ส่งผลให้รายละเอียดต่างๆ ที่อยู่บนร่องแผ่นเสียงนั้น “ผุดโผล่” ขึ้นมาได้กระจ่างชัด การออกอักขระเสียงก็รับฟังได้ถนัดหู และไม่จัดกร้านกระด้างโสตประสาท ปลายเสียงสูงคมๆ ชนิดขึ้นขอบก็ไม่ปรากฏ ทั้งยังรับรู้ได้ว่าทอดยาวไกลขึ้นด้วย แม้ว่า stamper ที่ทำการปั้มแผ่นจะผ่านการใช้งานมาสาหัสสากรรจ์กว่าธรรมดา …ยอมรับว่า สร้างความตื่นเต้น ตาลุกวาว ขนแขนแสตนอัพกันเลยทีเดียวเมื่อได้ฟัง – ความลึกของซาวด์สเตจนั้น ไล่ระดับชัดลึกชัดตื้นมากขึ้นยิ่งกว่าเนื้อไวนิลแผ่นดำธรรมดา ชนิดที่ว่า ใครฟังก็แยกแยะได้ ไม่ต้องเป็นนักฟังออดิโอไฟล์ 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ผมเลยขอให้เอาแผ่นเสียงเนื้อไวนิลขาวใส – มิใช่เกรด Crystal Clear Superior Vinyl (แต่ถ้าดูเผินๆ จะออกสีม่วงชมพูจางๆ) มาฟังเทียบ และก็มาจาก stamper เดียวกันกับที่ทำการปั้มแผ่นเนื้อไวนิล Crystal Clear Superior Vinyl ผลปรากฏว่า สู้ไม่ได้กับเนื้อไวนิล Crystal Clear Superior Vinyl ในทุกแง่มุม นั่นแสดงว่า แผ่นเสียงเนื้อไวนิลขาวใส (ธรรมดา) ไม่สามารถลดระดับของ surface noise ลงไปได้ต่ำเท่ากับแผ่นเสียงเนื้อไวนิลขาวใสพิเศษ Crystal Clear Superior Vinyl ที่ทาง Brilliance Music ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งต่อไปคาดได้ว่า ทาง Brilliance Music จะได้นำเนื้อไวนิลขาวใสพิเศษ Crystal Clear Superior Vinyl มาใช้ทำการผลิตแผ่นเสียงชุดพิเศษที่เน้นคุณภาพมากกว่าธรรมดา ให้นักเล่นนักฟังแผ่นเสียงบ้านเรา (รวมถึงต่างประเทศ) ได้รับฟังด้วยความภาคภูมิใจเป็นที่แน่นอน …โปรดติดตามข่าวคราวความคืบหน้ากันต่อไป  

……………………………………………………………………………………………………………………………………….