กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่แบรนด์จากสหราชอาณาจักรสายพันธุ์อังกฤษค่ายนี้โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรลำโพง พร้อมสร้างสีสันให้วงการได้ฮือฮากันเป็นระยะๆ ด้วยนานานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีแขนงนี้ ที่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งกับรางวัลต่างๆ ที่ได้รับมากว่า 300 รางวัล ล้วนตอกย้ำคำกล่าวที่ว่านั้นได้เป็นอย่างดี และนั้นยังไม่ได้รวมถึงการถือครองสิทธิบัตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำโพงมากกว่า 150 ฉบับ ทั้งยังได้มีการตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการออกมาเผยแพร่อีกกว่า 50 ชิ้นด้วย
ที่สำคัญคือได้รับรางวัลระดับสูงสุดของสหราชอาณาจักรอย่าง Queen’s Awards ในสาขาความสำเร็จทางด้านการส่งออกถึงสองรางวัลด้วยกัน
KEF เป็นแบรนด์ในสังกัดของ KEF Electronics Ltd. ที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาโดย Raymond Cooke และ Robert Pearch เมื่อปี ค.ศ.1961 ด้วยความมุ่งหมายในการออกแบบและผลิตลำโพงระดับไฮ-เอนด์ ด้วยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี ที่ผสานเข้ากับการนำวัสดุอันทันสมัยมาใช้ โดยได้ชื่อย่อมาจาก Kent Engineering & Foundry ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของพ่อคุณเรย์มอนด์ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Maidstone มณฑล Kent ของอังกฤษ
โดยพื้นเพแล้วคุณเรย์มอนด์เคยเป็นวิศวกรออกแบบอยู่ที่ BBC : British Broadcasting Corporation จากนั้นก็ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคให้กับ Wharfedale ยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมลำโพงของสหราชอาณาจักร เมื่อทางวาร์ฟเดลมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เขาก็ได้ออกมาตั้งบริษัทร่วมกับคุณรอเบิร์ตเพื่อผลิตลำโพงตามแนวทางและแนวคิดของตนเอง ความสำเร็จอันน่าทึ่งประการหนึ่งของลำโพงค่ายนี้ที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือ KEF : 50 Years of Innovation in Sound ก็คือสามารถลดขนาดตู้ของลำโพงที่ให้สียงเบสอันลือลั่นสนั่นห้องจากแต่เดิมที่เคยมีปริมาตร 9-10 ลูกบาศก์ฟุต ให้ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 2 ลูกบาศก์ฟุต เท่านั้นเอง
ซึ่งความสำเร็จที่ว่านั้นได้แนวทางมาจากการออกแบบระบบการทำงานภายในตู้ที่เรียกว่าAcoustic Suspension หรือเป็นที่รู้จักที่รู้จักและเรียกกันติดปากนักเล่นเครื่องเสียงว่า ‘ลำโพงตู้ปิด’ที่คิดค้นขึ้นมาโดย Edgar Marion Villchur ปรมาจารย์ด้านการออกแบบลำโพงของอเมริกาเจ้าของฉายา American Inventor, Educator & Writer ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง (ลำโพง, เครื่องเล่นแผ่นเสียง และแอมปลิไฟเออร์) AR : Acoustic Research ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเล่นเครื่องเสียงทั่วโลกนั่นเอง
คุณูปการของคุณเอ็ดการ์ วิลเชอร์ ที่มีต่ออุตสาหกรรมและวงการเครื่องเสียงนั้น มิเพียงเป็นผู้คิดค้นระบบอะคูสติก ซัสเพนชัน ของลำโพงเท่านั้น หากยังเป็นผู้คิดค้นระบบป้องกันการสั่นสะเทือนในเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ ‘แขวนลอย’ ด้วยสปริงสามจุด ที่เป็นต้นแบบและเป็นแนวทางให้เทิร์นเทเบิลระดับ Super Hi-End หลายแบรนด์จากหลายๆ ค่าย เดินตามอย่างเคร่งครัดมาจนทุกวันนี้อีกด้วย
KEF ได้ชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบและผลิตลำโพงรายแรก ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบและวัดค่าในการตรวจสอบ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปิดตัวชุดตัวขับเสียงแบบ Uni-Q Driver เมื่อปี ค.ศ.1988 และมีพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นเจเนเรชันที่ 12 แล้ว
และล่าสุดนับเป็นรายแรกอีกเช่นกันที่ใช้วัสดุ Metamaterial ในการดูดซับเสียงไม่พึงประสงค์ที่ใช้ติดตั้งอยู่ด้านหลังไดรเวอร์ นับเป็นอีกนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่ค่ายนี้คิดค้นขึ้นมา
รู้จักกันพอเป็นสังเขปเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนไปจานหลักเท่านี้ละกันนะครับ
KEF KC62
W/Uni-Core Technology
หลังจากได้นำเสนอนวัตกรรม MAT : Meta-material Absorption Technology ผ่านลำโพงรุ่นใหม่ๆ ไปได้ไม่นาน KEF ก็ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Uni-Core ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้กับลำโพงตลอดจนซับ-วูฟเฟอร์แบบแยกชิ้น เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของทีมวิศวรกรเสียง ที่ต้องการออกแบบลำโพงสมรรถนะสูงภายใต้โครงสร้างที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ซึ่งสามารถลดปริมาตรภายในตู้ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อันนำมาซึ่งจุดมุ่งหมายในการออกแบบลำโพงที่สวยงาม น่าใช้ โดยไม่ประนีประนอมหรืออ่อนข้อให้ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องการพื้นที่ในการหาที่ทางวางตั้งให้มากนักอีกด้วย
โดยมีความท้าทายแรกเพื่อการนั้นก็คือ ต้องบรรจุไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ภายในตู้ที่มีขนาดกะทัดรัดให้ได้
ซึ่ง Dr.Jack Oclee-Brown หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแบรนด์ได้บอกว่า การออกแบบลำโพงให้ได้เสียงทุ้มที่มีพลัง และลงไปได้ต่ำลึก จากตัวขับเสียงและตู้ลำโพงที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดนั้น เป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างมาก และเทคโนโลยี Uni-Core ของเรามันเป็นสิ่งที่ก้าวล้ำยิ่ง เพราะมันเปิดโอกาสให้เราสามารถใส่ไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ในพื้นที่ที่มีช่องว่างของปริมาตรค่อนข้างจำกัดได้ โดยไม่ทำให้สมรรถนะต้องด้อยลงแต่อย่างใด
แม้ว่าพิจารณาทางด้านกายภาพแล้ว จะเห็นได้ว่าลักษณะของการจัดวางไดรเวอร์ทั้งสองตัวนั้น เป็นแบบ Force-Canceling ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่ลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี Uni-Core จะแตกต่างด้วยการใช้มอเตอร์ตัวเดียวในการขับ Voice Coil ของไดรเวอร์แต่ละตัวที่มีขนาดของขดลวดแตกต่างกัน โดยจัดเรียงให้อยู่ในศูนย์กลางเดียวกัน ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้นอกจากช่วยประหยัดพื้นที่แล้ว การทำงานของไดรเวอร์แต่ละตัวก็ยังสามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อจำทางด้านพื้นที่เหมือนชุดไดรเวอร์ของ Force-Canceling แบบอื่นๆ เพราะสามารถขยับตัวได้เต็มกำลัง ซึ่งส่งผลให้ได้เสียงที่ต่ำลึกอันเปี่ยมไปด้วยพลัง รวมทั้งใช้พื้นที่ร่วมกันน้อยลงด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ Uni-Core Technology เป็นการควบรวมการทำงานของชุดไดรเวอร์แบบ Force-Canceling สองตัวให้มาอยู่ในระบบเดียวกัน ด้วยการใช้ขดลวดวอยซ์ คอยล์ ต่างขนาดที่จัดวางให้อยู่ร่วมแนวแกนเดียวกัน โดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกันนั่นเอง
ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับลำโพงที่ KEF ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ KEF KC62 Powered Sub-Woofer นอกจากเป็นแอคทีฟ ซับ-วูฟเฟอร์ (ลำโพงที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำลึกเป็นพิเศษแบบ LFE : Low Frequency Effect ที่ผนวกภาคขยายเสียงเอาไว้ในตัวด้วย) รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี Uni-Core แล้ว ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่อีกสองแบบ คือ P-Flex Surround กับ Smart Distortion Control
โดย P-Flex Surround เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้กรวยหรือแผ่น Diaphragm ของไดรเวอร์สามารถรองรับการถ่ายทอดเสียงย่านความถี่ต่ำได้อย่างแม่นยำ มั่นคง ปลอดความพร่าเพี้ยน ด้วยการออกแบบวงแหวนยางที่ผนึกกรวยเข้ากับตัวตู้ให้มีความแกร่งเพิ่มมากขึ้น และสามารถทานแรงเสียดทานได้สูงขึ้น โดยใช้กรรมวิธีการเปลี่ยนรอยพับของวงแหวนยางเป็นแบบใหม่ ซึ่งนำแนวคิดมาจากศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Origami ที่สามารถต้านแรงอัดอากาศภายในตู้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มความหนาหรือขนาดของวงแหวน ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียความไวในการสนองตอบต่อสัญญาณเสียง ผลก็คือทำให้สามารถตอบสนองต่อเสียงทุ้มได้แน่น และลึก โดยยังคงรักษาสปีดเสียงที่ฉับไวเอาไว้ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ
ส่วน Smart Distortion Control เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำงานของไดรเวอร์ขณะที่ขยับตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าเสียงเพี้ยน โดยการใช้วงจรอิเล็คทรอนิคส์แบบพิเศษที่ไร้เซ็นเซอร์ คอยตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนวอยซ์คอยล์ เพื่อตรวจจับอาการผิดเพี้ยนทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น แล้วทำการแก้ไขให้คืนรูปในทันที ทำให้สามารถลดอัตราค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม หรือ THD : Total Harmonic Distortion ลงได้มากอย่างน่าทึ่ง ส่งผลให้ได้เสียงเบสที่สะอาดสะอ้าน ปลอดความพร่าเพี้ยนอันปราศจากสีสันในน้ำเสียงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว KEF KC62 ยังมีระบบปรับตั้งค่าเพื่อให้ได้ความเหมาะสมกับการตั้งวางภายในห้อง ที่มีสภาพหรือลักษณะอันแตกต่างกัน ซึ่งเป็น Pre-Set Room Placement Equalization มาจากโรงงานพร้อมสรรพถึง 5 รูปแบบด้วยกัน เป็นต้นว่าการวางในพื้นที่โล่ง หรือการวางแบบชิดผนัง ตลอดจนการวางแบบเข้ามุม หรือวางอยู่ในตู้ รวมทั้งการใช้งานในอพาร์ตเมนต์ หรือห้องชุด ซึ่งด้วยรูปแบบที่ปรับแต่งให้มานี้จะช่วยให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีในทุกสภาพแวดล้อมของพื้นที่ตั้งวาง การทำงานของระบบที่ว่าเป็นแบบไร้สาย ให้การทำงานสะดวก ง่ายดาย ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถตั้งวางได้อย่างเป็นอิสระ
ทั้งยังมีภาค DSP : Digital Sound Processing ซึ่งมีฟังค์ชัน iBX : Intelligent Bass Extension กับ SmartLimiter ทำหน้าที่วิเคราะห์ระดับความแรงสัญญาณที่รับเข้ามาจากต้นทาง เพื่อป้องกันปัญหาการขับเกินกำลัง (Clipping) อีกด้วย
คุณสมบัติทางด้านเทคนิคนั้น ใช้ไดรเวอร์ขนาด 6 ½ นิ้ว, สองตัว จัดวางให้หันหลังชนกันในแบบ Force-Canceling ใช้เทคโนโลยี Uni-Core ให้ไดรเวอร์ทั้งสองทำงานร่วมกันเพื่อผลักคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำออกมา โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้สามารถลดขนาดตู้ลงไปได้มากถึงหนึ่งในสามของซับ-วูฟเฟอร์ทั่วไป ที่สามารถให้พลังและปริมาณของเสียงทุ้มออกมาได้ในระดับเดียวกัน ภาคขยายเสียงที่ใช้นั้นทำงานแบบ Class-D สองชุด ให้กำลังขับชุดละ 500Wrms ทำให้มีกำลังขับรวม 1,000Wrms เป็นเพาเวอร์-แอมป์ที่ออกแบบมาให้ควบคุมการทำงานของไดรเวอร์ได้อย่างเที่ยงตรง มีความแม่นยำสูง
โดยระบุการทำงานให้การตอบสนองความถี่ในช่วง 11Hz-200Hz (-3dB) โดยให้ปรับตั้งค่า Low Pass Filter หรือควบคุมครอสโอเวอร์ได้ในช่วง 40Hz-14oHz, LFE
โครงสร้างภายนอกของตู้ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม มีภาพลักษณ์โค้ง มน ไร้ขอบเหลี่ยมมุม มีให้เลือกสองสีด้วยสีขาวแบบ Mineral White และสีดำแบบ Carbon Black ที่กลมกลืนไปกับทุกสภาพห้องและเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างลงตัว
โดยมีมิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 246 x 256 x 248 มิลลิเมตร (วัดรวมแผ่นรองตู้และแผงด้านหลัง) น้ำหนัก 14 กิโลกรัม
KEF KC62 กับภาพลักษณ์
การลองเล่น และคุณภาพเสียง
ก่อนหน้านี้ที่เห็นในรูปให้รู้สึกว่าแลละเมียดเนียนตามากแล้ว หลังดึงออกจากกล่องมาให้รู้สึกน่าชื่นชมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยได้สัมผัสต้องแล้วพบว่างานฝีมือนั้นไร้ที่ติจริงๆ
ตัวที่ได้มาลองนี้เป็นสีขาวแร่ธรรมชาติดูแล้วกระเดียดไปทางขาวแบบ Pastel ซึ่งเมื่อมองภาพลักษณ์โดยรวมก็เหมือนเป็นตู้สี Two-Tone ที่ออกจะกลมกลืนกันดี ด้วยมีสีเทาของแผงควบคุมพร้อมขั้วต่อต่างๆ ที่เกือบเต็มผนังข้างด้านหนึ่ง กับสีเงินกระเดียดเทาของกรวยลำโพงที่อยู่ในกรอบสีดำที่ด้านหน้าและหลังของลำโพง (แต่หากจะพูดให้ถูกต้อง ต้องบอกว่าไดรเวอร์ติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านข้างของตู้ทั้งสองด้าน เพราะรูปแบบการทำงานนั้นระบุว่า Side Firring คือยิงเสียงออกด้านข้าง (โดยกำหนดไว้ในคู่มือระบุว่าให้ชุดตัวขับเสียงแต่ละตัวห่างจากผนังอย่างน้อย 3นิ้ว) ประกอบรวมกันอยู่ในโครงสร้างตู้ด้วยนั่นเอง
แผงควบคุมและชุดขั้วต่อที่เกือบเต็มผนังด้านข้างนั้น เรียงเอาไว้แบบสองแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดี แถวบนจากซ้ายไล่ไปขวาประกอบไปด้วย EXP : Expansion Port สำหรับต่อกับชุดอะแดปเตอร์ KW1 ที่เป็นอุปรณ์เสริม เพื่อให้ทำงานแบบไร้สาย, HPF : Line Output High Pass Frequency แบบสวิตช์โยกสี่ตำแหน่ง, PHASE ให้เลือกปรับ 0/180 องศา, EQ มีให้เลือกลักษณะหรือตำแหน่งที่ตั้งวางห้าแบบ (Room, Wall, Corner, Cabinet, Apartment), MODE ให้เลือกแบบ Manual หรือ LFE, CROSSOVER แบบลูกบิดให้หมุนเลือกปรับค่าได้ค่อนข้างละเอียดในช่วง 40Hz-140Hz และขวาสุดของแถวแรกเป็นลูกบิด VOLUME ควบคุมระดับความดังเสียง
ส่วนแถวล่างไล่ไปจากซ้ายเช่นกัน เป็นสวิตช์เปิด/ปิด, ขั้วต่อสายไฟเอซีแบบ IEC ที่มีสายให้มาในกล่องสองชุด เป็นแบบหัวเสียบสามขากับสองขา, สวิตช์ Ground Lift, SPEAKER INPUT สำหรับลำโพง High Level และขวาถัดไปเป็นชุดขั้วต่อ Smart Connect แบบ RCA สำหรับ LINE INPUT และขวาสุดเป็นชุด LINE OUTPUT
ส่วนผนังข้างด้านตรงกันข้ามมีเพียงตราสัญลักษณ์ KEF ตรงกึ่งกลาง ค่อนไปด้านบน กับตำแหน่งไฟ LED Indicator Light ที่อยู่ค่อนมาด้านล่างเหนือตัวหนังสือ Uni-Core Technology เมื่อปิดสวิตช์ตำแหน่งไฟที่ว่าจะเกิดเป็นวงแหวนสีส้มจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อพร้อมทำงาน
ด้วยความที่มีขนาดกะทัดรัดจึงไม่มีขารองตู้มาให้ แต่มีแผ่นรองยางสังเคราะห์ (ลักษณะดูดี มีคุณภาพ น่าจะซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และช่วยให้ตู้ตั้งได้มั่นมีความเสถียรสูง) หนาประมาณ 1 เซนติเมตร แปะติดเอาไว้เกือบเต็มพื้นที่
ผมเริ่มใช้งาน KEF KC62 กับชุดลำโพงฟังเพลงในห้องซึ่งเป็นแบบประกอบเข้าขาตั้ง เป็นลำโพงแบบ 2-ทาง ที่ปกติก็มีเบสพอตัวให้รับรู้ได้อยู่แล้ว แต่หลังจากเสริมตู้เพาเวอร์-ซับตัวนี้เข้าไป พร้อมปรับความเหมาะสมให้กลมกลืนกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของครอสโอเวอร์และระดับความดังเสียง ความรู้สึกแรกเมื่อผ่านความคุ้นชินไปสักระยะ มันสัมผัสได้ละม้ายคล้ายว่าผมกำลังฟังลำโพงวางพื้นที่ให้เสียงออกมาครอบคลุมพื้นที่ห้องแบบอิ่มเต็ม และลงไปต่ำลึกชนิดที่ต่างไปจากความเคยคุ้นยามฟังลำโพงสเตริโอคู่นี้ตามปกติอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่รายละเอียดของชิ้นเครื่องดนตรี และเสียงร้อง ที่หลุดลอยออกมาเป็นอิสระยังคงมีเสน่ห์อย่างน่าฟัง แต่มวลมหาศาลของเบสที่เพิ่มเข้ามาอย่างกลมกลืนนั่น มันเสริมอรรถรสให้สัมผัสได้ถึงความสุนทรีย์ของเสียงดนตรี เสียงร้อง ที่อวบอิ่มและยิ่งใหญ่กว่าที่เคยฟังจากลำโพงคู่หลักแบบโดดๆ อัลบั้มที่คุ้นๆ กับลำโพงคู่นี้ไม่ว่าจะเป็น Eagles : Hell Freezes Over หรืออย่างDiana Krall : Turn Up the Quiet รวมทั้ง The Dave Brubeck Quartet : Time Out เมื่อมีตู้เพาเวอร์-ซับ KC62 เข้ามาเสริม มันเหมือนเติมเต็มความอิ่มของเสียงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณนั่นเทียว
มิเพียงกับสามอัลบั้มที่กล่าวถึงนั่นดอกนะครับ หากแต่กับอีกหลากหลายอัลบั้มและด้วยรูปแบบแนวดนตรีที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะกับงานซิมโฟนีที่ให้เบสสะเทือนเลื่อนลั่น อาทิ อัลบั้ม Stravinsky : Firebird (Telarc CD-80039) กับเสียงปืนใหญ่ยิงสลุตในชุด Tchaikovsky : 1812 Overture (Telarc CD-80041) การได้เพาเวอร์-ซับตู้นี้เข้ามาร่วมในซิสเต็ม มันเป็นการช่วยยกระดับภาพรวมของคุณภาพเสียงที่เคยพอใจจากกการฟังลำโพงคู่เดียว ให้ได้ความสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่มิพักต้องเติมเต็มในจินตนาการแต่อย่างใด
กล่าวคือสำหรับผมแล้ว, หากต้องเลือกลำโพงระหว่างคู่หนึ่งมีอะไรขาดหายไปบ้าง กับอีกคู่ที่ฟังแล้วรู้สึกมีบางสิ่งบางอย่างที่มากเกิน ผมขอเลือกคู่ที่ฟังแล้วมีอะไรขาดหายไปบ้างมากกว่าคู่ที่ให้บางอย่างออกมามากเกิน เพราะบางเสียงที่ขาดหายเราสามารถเติมเต็มในจินตนาการได้ และจะฟังได้นาน แต่กับอีกคู่บางสิ่งหรือเสียงที่ให้มามากเกินนั้น เมื่อฟังไปสักระยะมันจะทำให้รู้สึกอึดอัด ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้ทนฟังต่อไปไม่ได้นั่นเอง
ก็เหมือนกับลำโพงวางขาตั้งที่ผมใช้อยู่ในห้องนั่นแหละครับ แม้มันจะให้เบสออกมาน้อยไปบ้างตามเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของลำโพง Bookshelf, 2-Way แต่ภาพรวมของเสียงที่มันให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับผม จึงกับเบสที่ขาดหายไปบ้างนั่น ยามฟังเอาเพลิน สบายๆ ผมสามารถเติมเต็มเอาได้ในจินตนาการจนไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่สมบูรณ์
หลังจากฟังเพลงจนอิ่มเอมในอารมณ์แล้ว คราวนี้มาลองให้มันทำงานกับซาวน์ดแทร็กดูบ้าง โดยเข้ามาแทนที่เพาเวอร์-ซับตู้ที่ใช้อยู่ในห้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ 5.1 และผลงานที่มันให้ออกมานั้นเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก
เพราะแม้จะรับรู้ประสิทธิภาพของมันอยู่ในทีจากการนำไปใช้ฟังเพลงแบบ 2.1 มาก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม แต่จากการทำงานของมันกับเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ผ่านตู้ที่แทบมองไม่เห็นเมื่อตั้งวางในอยู่ในห้อง พลังเสียงที่มันรังสรรค์ออกมาทำให้ห้องทั้งห้องเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ที่แฝงความสะท้านอันเนื่องมาจากเสียงที่สะเทือนแบบสั่นห้องด้วยความชัดเจนอย่างน่าตื่นใจยิ่ง ทั้งยังแผ่กระจายออกครอบคลุมทั่วทั้งห้องเอาไว้แบบหมดจดในทุกอณูจริงๆ
ฟังเพลงว่าน่าทึ่งมากแล้ว เอามาฟังกับซาวน์ดแทร็กนี่มันยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างที่แลดูกระจ้อยร่อยแล้ว เหลือเชื่อครับว่าพลังเสียงที่ยินแบบ ‘สัมผัสรู้’ นั้นจะมาจากเพาเวอร์-ซับตู้แค่นั้นเอง
ทั้งยังตอกย้ำความเป็นเบสที่ชัดเจน ปลอดความพร่าเพี้ยน สะอาด และสัมผัสได้ถึงมวลเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก จากบางซีน ของหนัง Sci-Fi สุดยิ่งใหญ่อย่าง Interstellar ที่มีเบสสลึกมากๆ นั้น มันสามารถถ่ายทอดออกมาได้แบบไม่มีอะไรเหลือให้รู้สึกค้างคาแต่อย่างใด ทั้งยังไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดแฝงออกมาให้รับรู้ได้แม้แต่เพียงน้อย เป็นเบสแบบที่ฝรั่งชอบพูดว่า Distortion-Free นั่นแหละครับ รวมทั้งหลายๆ ฉาก จาก Iron Man ที่เสียงเบสเดินเรื่องได้อย่างสนุก ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝีเท้าที่ต่ำลึกในความมืด เสียงยิงต่อสู้ทั้งจากปืนกลและระเบิด ล้วนเป็นเสียงเบสที่ตรงไปตรงมา ชัดเจน และให้ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้นมาก
หรือไปหยิบแผ่นหนังเกี่ยวกับเรือดำน้ำเรื่องเก่าๆ อย่าง U-571 มาดู เพาเวอร์-ซับตู้นี้ก็สำแดงเดชออกมาให้รู้ได้เป็นอย่างดี ว่าเสียงเบสที่ดีและมีคุณภาพนั้นต้องมีคุณลักษณะเสียงเป็นอย่างไร
สรุป
เมื่อพูดถึงการการออกแบบและจัดวางชุดตัวขับเสียงแบบ Force-Cancelling ที่เป็นความคุ้นชินของผู้คนในวงการมานานแสนนาน จนหลายๆ คนอาจะลืมไปแล้ว ว่าผู้ที่คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมาก็คือ KEF นี่ละ ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรก และเรียกสียงฮือฮาจากผู้คนในยุทธจักรลำโพงผ่านรุ่น Reference 104/2 ก็ต้องย้อนไปยังปี ค.ศ.1984 โน่น
จึงเมื่อนำเทคโนโลยี Uni-Core เข้ามาเสริม และนำเสนอออกมาผ่าน Model KC62 Powered Sub-Woofer ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และใคร่ลองของคนเล่นเครื่องเสียงเป็นธรรมดา
ซึ่งหลังจากที่ได้ลองเล่นแล้วต้องยอมรับว่ามันเป็นเพาเวอร์ ซับ-วูฟเฟอร์ ที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ เพราะด้วยขนาดตู้ที่เล็กแบบแต่ละด้านกว้าง/ยาวเกินคืบนิดๆ จนไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตู้ซับ-วูฟเฟอร์ ซึ่งต้องมีหน้าที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำพิเศษแบบ LFE : Low Frequency Effect นั้น มันกลับให้พลังเสียงออกมาเสมอด้วยระเบิดขนาดย่อมๆ อย่างเหลือเชื่อ และโดยไม่มีเงื่อนไขของตำแหน่งตั้งวางมาเป็นตัวกำหนดแต่อย่างใดอีกด้วย
เพราะตอนเริ่มลองในห้องขนาดปริมาตรประมาณกว่า 30 ลูกบาศก์เมตรเล็กน้อยนั้น ผมก็ตั้งวางที่พื้นห้องแบบ ‘งั้นๆ’ (พร้อมกับเซตตำแหน่งของ EQ เอาไว้ที่ ROOM) ด้วยคิดว่าอย่างน้อยๆ คงต้องขยับอีกสักหนสองหน จึงจะได้ความ ที่ไหนได้หลังจากวางลง ‘ตรงนั้น’ และปรับค่าครอสโอเวอร์ให้เหมาะสมกับชุดลำโพงร่วมในซิสเต็ม ทั้งชุดดูหนังระบบ 5.1 และกับลำโพงสเตริโอที่ใช้ฟังเพลงซึ่งแยกกันต่างหาก รวมทั้งตั้งค่าโวลุ่มที่สอดคล้องกันแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปขยับหรือแตะต้องมันอีกเลย นอกจากเวลาเปิดและปิดที่สวิทช์หลังตู้เท่านั้นเอง
KEF KC62 อาจจะดูว่ามีราคาสูงอยู่บ้างสำหรับใครบางคน (โดยเฉพาะใครผู้ชอบเอา ‘ขนาด’ มาเป็นเครื่องวัดตัวตัดสิน) แต่หากได้สัมผัสประสิทธิภาพจากการทำงานของมัน และนำมาซึ่งคุณภาพที่ยักษ์ใหญ่หลายๆ ตู้ ก็ไม่อาจให้ออกมาได้ในหลายๆ แง่ ทั้งความหนักแน่นที่เปี่ยมพลังอันน่าตื่นตระหนก ทั้งความกระชับ ฉับไว รวมทั้งความเป็นเสียงเบสที่สะอาด ปราศจากความพร่าเพี้ยนหรือมีเสี้ยนสากให้รู้สึกระคายเคืองขณะฟัง เนื้อเสียงมีความเป็นธรรมชาติสูง ไม่ว่าจะทำงานกับซาวน์ดแทร็กหรือกับเสียงเพลงก็ตาม จึงเมื่อเทียบกับคุณค่าทางด้านเสียงโดยรวมที่มันให้ออกมาแล้ว กับราคาค่าตัวประมาณครึ่งแสน (บาท) ของมัน จึงหาใช่สิ่งที่มากเกินแต่อย่างใด
สิ่งที่ยืนยันความยอดเยี่ยมของมันได้ดีอีกประการก็คือ การเป็นเจ้าของรางวัล Best Product 2021-2022 ในสาขา Hi-Fi Sub-Woofer ของ Expert Imaging & Sound Association (EISA Award) สมาคมที่รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีระบบภาพและเสียงจากนิตยสารและเว็บไซต์ต่างๆ กว่า 60 สังกัดทั่วโลกนั่นแหละครับ
ครับ, ก็คงขอจบด้วยวลีเก่าๆ อันมักคุ้นกันดีที่ว่า-ขนาดนั้นสำคัญไฉน – – เพราะมันเป็นเรื่อง Size Does Matter จริงๆ!!!