Acoustic Solid 111 Wood
Turntable โดย พิพัฒน์ คคะนาท
ไม่บ่อยครั้งดอกนะครับ ที่จะมี ‘โต๊ะหมุน’ หรือ Turntable ในความหมายของ ‘เครื่องเล่นแผ่นเสียง’ ของคนเล่นเครื่องเสียงจะเดินทางเข้ามายังห้องฟังของนิตยสาร เพื่อการนำไปทดสอบอันเสมอด้วยให้ช่วยลองเล่นดู แล้วบอกผ่านตัวหนังสือให้รู้ที ว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง ก็ ‘อย่างไรบ้าง’ ที่สรุปง่ายๆ ได้เท่ากับว่า – ประสิทธิภาพการทำงานเป็นยังไง คุณภาพเสียงเป็นอย่างไร – – อะไรทำนองนั้น
ที่บอกว่าไม่บ่อยครั้งนัก หรือจะบอกว่านานนับนานผ่านครึ่งค่อนปีก็ว่าได้นั้น ก็เนื่องเพราะแม้ว่าการเล่นแผ่นเสียง หรือที่ปัจจุบันชอบเรียกกันว่าแผ่น Vinyl ได้กลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งก็ตาม แต่ก็คล้ายๆ กับว่าเป็นการกลับมาของ ‘ของสูง’ ไปเสียแล้วนั่นเอง
เพราะเมื่อเทียบกับ Digital Source อย่างเครื่องเล่นซีดี หรือ CD/SACD Player ต้นทุนของการเริ่มต้นกับเครื่องที่ใช้การได้ หรือพอจะเอาการเอางานได้ ในระดับของ Value for Money นั้น มันต่างกันเหลือเกินกับเครื่องที่ใช้การได้ หรือพอจะเอาการเอางานได้ โดยตัดความคุ้มค่าทิ้งไปของ Analogue Source ในปัจจุบัน ยิ่งมองไปถึงการลงทุนกับพวกซอฟท์แวร์หรือแผ่นของทั้งสองประเภทด้วยแล้ว ยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกับใครที่เริ่มต้นมาแต่ออกกับแผ่นเสียงเมื่อกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา เห็นราคาแผ่นเสียงที่ออกใหม่ในเวลานี้แล้ว มีหนาว (กระเป๋า) แถมเสียววาบเข้าให้อีกต่างหาก
ด้วยเมื่อนึกไปถึงยุคทองของวงการ ไฮ-ไฟ กับการมาถึงของแผ่นเสียงประเภท Direct Cut ที่ยุคนั้นว่ากันว่าแพง (บรรลัย) ในราคาแผ่นละร่วมห้าร้อยบาท ก็ยังจำใจกัดฟันจ่าย แถมบางครั้งยังต้องรอตามคิวอีกต่างหาก ใครในยุคนั้นที่ไปเดินหาซื้อแผ่นของ Telarc Sheffield Lab แถวๆ ใต้ถุนโรงแรมอินทราคงทราบกันดี โดยที่ในห้วงเวลานั้นราคาแผ่นเสียงส่วนใหญ่ที่มักจะไปซื้อหากันละแวกสะพานเหล็ก หลังวัง ตลอดจนที่ห้างเซ็นทรัลสีลม จะเริ่มที่แผ่นละ 90 โดยส่วนใหญ่จะอยู่แถวๆ 120 – 180 และที่เกินแผ่นละสองร้อยไปหน่อยก็มีอยู่ค่ายเดียว คือ แผ่นฉลากเหลือง ตรา Deutsch Grammophon ที่มีขายอยู่แห่งเดียวตรงตึกไทยลายทอง หัวมุมถนนสุริวงศ์ ในห้าง Black & White นั่นเอง
แล้วมาดูราคาแผ่นเสียงของวันนี้กันซีครับ เงินที่ซื้อแผ่นไวนีลในเวลานี้ได้เพียงแผ่นเดียวนั้น เอาไปซื้อแผ่นเสียงในวันวาน (ของผม) ได้ตั้งสิบกว่าร่วมยี่สิบแผ่นนั่นเทียว
คือ ก็เข้าใจล่ะนะครับในเรื่องของการตลาด ต้นทุนการผลิต เพียงแต่อดคิดถึงความแตกต่างกันไม่ได้ ถือซะว่าคุยเรื่อยเปื่อยล่ะกัน
มาที่เครื่องเล่นอะนาลอก ซอร์ซ ที่เดินผ่านห้องฟังของนิตยสารมาถึงห้องฟังของผมกันดีกว่า
Acoustic Solid:
Music is Life!!!!
กับชื่อของ Acoustic Solid ซึ่งมีที่มาจากเยอรมนีนั้น อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไรนัก เนื่องเพราะเพิ่งจะเริ่มต้นงานที่เขารักอย่างการออกแบบและผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียง กับโทนทาร์ม เมื่อสักสิบกว่าปีนี่เอง
และก็คล้ายๆ กับผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับ Hi-End ส่วนใหญ่ ที่มักจะเริ่มต้นงานแบบ Handmade ด้วยตนเอง โดยการใช้ห้องใต้ถุนบ้าน หรือชั้นใต้ดินแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Basement เป็นฐานการผลิต ก่อนจะขยับขยายขึ้นมาข้างบนโดยทำอยู่ในโรงรถเมื่อมีงานเข้ามามากขึ้น จากนั้นก็ใช้บ้านเป็นที่ทำการอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของ Wirth Tonmaschienbau GmbH ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดย Karl & E. Wirth ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ Acoustic Solid นั่นเอง
กระทั่งล่าสุด ทุกวันนี้เมื่องานฝีมือของเขาออกสู่ Worldwide มีผู้ให้ความสนใจและนิยมมากขึ้น จึงได้ย้ายออกจากบ้านมายังอาคารสำหรับการออกแบบและผลิตโดยเฉพาะ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Acoustic Solid ซึ่งมีทั้งชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบประกอบโทนอาร์ม โทนอาร์มที่แยกต่างหาก และอุปกรณ์ประกอบสำหรับการใช้กับเทอร์นเทเบิ้ล ล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมกันทั่วโลก ทั้งในยุโรป, อเมริกา และแถบเอเชียของเรา โดยเฉพาะนักเล่นในญี่ปุ่นและฮ่องกงต่างชื่นชอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงของค่ายนี้กันไม่น้อยเลย
เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Acoustic Solid ได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องระดับ World-Class ที่มีความพิเศษและโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง นับแต่การออกแบบ การคัดสรรวัสดุ การขึ้นรูปโครงสร้าง การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ และประกอบกันขึ้นมาด้วยงานฝีมือที่ประณีต พิถีถถันยิ่ง เปรียบได้กับประติมากรรมชั้นเลิศ แม้บางรุ่นที่เป็นระดับ Entry Level แม้จะแลดูเรียบง่าย แต่ได้แฝงเอาไว้ซึ่งความเรียบหรูอยู่ในทีอย่างเห็นได้ชัด
ในด้านการออกแบบการทำงานของเครื่อง ได้ใช้เทคโนโลยีระดับสูงควบคู่ไปกับการคัดสรรวัสดุชั้นเลิศ ที่เหมาะสมต่อระบบการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด ในอันที่จะก้าวไปสู่คุณภาพอันยอดเยี่ยม ที่สุดท้ายแล้วก็เปรียบได้กับการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุผลอันสำคัญที่ทำให้ Acoustic Solid สามารถก้าวไปถึงจุดนั้นได้ก็คือ การที่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกชิ้น ทุกประเภท ได้ถูกผลิตขึ้นแบบ In-House Production นั่นเอง เพราะการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เองนั้น ทำให้สามารถมั่นใจได้ ว่าทั้งหมดจะให้การทำงานได้อย่างถูกต้อง เที่ยงตรง และดำเนินไปตามหลักการของเทคโนโลยีการออกแบบอย่างสมบูรณ์
Karl Wirth บอกว่า Nelly Sachs นักเขียนชาวเยอรมันคนล่าสุดที่เป็นผู้ได้รับรางวัล Nobel สาขาวรรณกรรม เคยเขียนเอาไว้ว่า – ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นมาจากความปรารถนา และมันก็มีพื้นที่ว่างในหัวใจมากพอต่อทุกๆ ความปราถนานั้น เพื่อจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ยิ่งใหญ่กว่า – – ซึ่งทุกๆ คน ที่ Acoustic Solid ต่างก็มีความปรารถนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะนำประสบการณ์ซึ่งสั่งสมมายาวนาน และที่จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามทักษะที่ถักทอผ่านประบการณ์ มารังสรรค์เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ดีเลิศขึ้นมาตลอดเวลา เพราะทุกๆ ความสำเร็จที่ผ่านมา มันเสมอด้วยความพึงพอใจ ณ ช่วงเวลานั้นเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว ดนตรีเปรียบได้กับลมหายใจของชีวิตนั่นเอง
Acoustic Solid :
Designed for Every Taste
ปัจจุบันเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Acoustic Solid แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม หรือ 3-Series ด้วยกัน แต่ละซีรีส์มีมากรุ่นบ้าง น้อยรุ่นบ้าง แตกต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือภาพลักษณ์ ที่ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อได้เห็นแล้วเป็นต้องตกหลุมรักในทันที ด้วยหลงใหลในหน้าตาและงานฝีมือ และความรู้สึกที่ตามมาติดๆ หลังจากนั้นก็คือ เชื่อใจ ว่ามันจะต้องให้สุ้มเสียงออกมาไม่ด้อยไปกว่าภาพลักษณ์ที่เห็นอย่างแน่นอน
ครับ ว่ากันขนาดนั้น แบบไม่ต้องไปพูดถึงใครอื่นดอกนะครับ กับผมเองนี่แหละ กว่าสามสิบปีที่เทียวไปเทียวมาอยู่ในแวดวงนี้ มีเทอร์นเทเบิ้ลไม่กี่เครื่อง กับไม่กี่ค่าย ดอกนะครับที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างที่ว่า เครื่องแรก คือ Oracle Delphi ที่แรกเห็นในโชว์รูม KS & Sons เมื่อร่วมสามสิบปีมาแล้ว ถึงกับทำให้ผมต้องอุทานอยู่ในใจ ว่าทำไมช่างสวยละเมียดละไมได้อย่างนี้หนอ
ในยุคนั้นต้องมันสวยจริงๆ ครับ แม้หลับตานึกภาพในตอนนี้ ก็ยังยืนยันว่าเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ติดตาและตรึงใจมาก
เพราะเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ได้เห็นการนำอะครีย์ลิค (Acrylic) มาขึ้นรูปเป็นโครงสร้างสำคัญของเครื่องเล่นแผ่นเสียง คือทั้งตัวแท่น และแป้นหมุน หรือ Platter ล้วนแล้วแต่เป็นอะครีย์ลิคใสสีชาทั้งสิ้น และนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้นักเล่นรู้จักและจดจำ Oracle ได้เป็นอย่างดีนับแต่นั้นมา
และที่สำคัญคือสุ้มเสียงที่ให้ออกมานั้น มันไม่ทำให้ผิดหวังแม้แต่น้อยจริงๆ
จากนั้นมาก็แทบไม่พบเทอร์นหรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงของค่ายไหนอีก ที่พาให้เกิดอาการรักแรกพบ กระทั่งช่วงหลังๆ ที่มาเจอเครื่องบางเครื่อง บางรุ่น จากบางค่าย อาทิ Clearaudio Kuzma และล่าสุดก็เป็น Acoustic Solid นี่แหละครับ ที่เห็นหน้าตาเทอร์นบางตัวของเขาแล้ว ใจแทบละลาย – ฮา – –
เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Acoustic Solid กลุ่มแรก คือ Aluminum Line ซึ่งเป็นกลุ่มที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตระดับสุดยอด มีความละเอียดอ่อนในการออกแบบ ที่เข้าถึงทุกจุดและทุกรายละเอียดอย่างแท้จริง โครงสร้างเครื่องส่วนใหญ่ขึ้นรูปด้วยโลหะขัดเงาวาววาม แปลบตา ทุกรุ่นออกแบบให้ติดตั้งโทนอาร์มได้ไม่ต่ำกว่าสองชุด
กลุ่มต่อมา คือ Classic Line เป็นกลุ่มที่มากรุ่นเป็นพิเศษ โครงสร้างรวมประกอบด้วยไม้กับโลหะ โดยส่วนใหญ่ตัวแท่น (Chassis) ทำมาจากไม้ ซึ่งมีทั้งมะฮ็อกกานีย์ เชอร์รีย์ วอลนัท และไม้ทิวลิป (ไม่ใช่ต้นดอกทิวลิปของฮอลแลนด์ที่เรารู้จักกันนะครับ เพราะนั้นเป็นไม้ล้มลุก แต่ Tulip Tree หรือที่เรียกกันว่า American Tulip Tree นั้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ความสูงของต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 25 – 30 เมตร แต่ที่พบว่าสูงกว่า 50 เมตร ก็มีให้เห็น เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลืองมีลายเส้นน้ำตาลเข้มแซม แลดูสวยคลาสสิกดี) ส่วนแป้นหมุน หรือ Platter กับเสาหรือขาตั้งรับแท่นนั้นเป็นโลหะ ซึ่งมีทั้งแบบขัดมันแวววาวและแบบขัดด้าน มีบางรุ่นที่ใช้แป้นหมุนที่ขึ้นรูปด้วย Acrylic และกลุ่มสุดท้าย คือ Design Line ที่ใช้วัสดุหลักๆ คือ ไม้ โลหะ และบางรุ่นมีอะครีย์ลิคเข้าประกอบเป็นบางส่วน
สำหรับรุ่นที่ได้รับมาเพื่อการลองเล่น ลองฟัง ก็ดังที่จ่าหัวไว้นั่นแหละครับ คือ Acoustic Solid 111 Wood ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Classic Line ครับ
Classic Line
Solid 111 Wood
ผู้ผลิตบอกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงในกลุ่ม Classic Line ทุกรุ่น ได้ผ่านการออกแบบมาอย่างมีสไตล์ ด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามาก ซึ่งสามารถรังสรรค์คุณภาพเสียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
กล่าวสำหรับ Solid 111 Wood จัดอยู่ในกลุ่ม Entry Level ของซีรีส์ ที่มาพร้อมคุณสมบัติเด่นและแนวทางการออกแบบที่น่าสนใจไม่น้อย
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นมาดูกันก่อนดีกว่า เมื่อเปิดกล่องออกมาเราพบอะไรกันบ้าง
สิ่งแรกที่เห็นเมื่อฝากล่องถูกเปิดขึ้นก็คือ โฟมเหนียวอย่างหนาเจาะเป็นหลุมใส่อุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของเครื่องเอาไว้ อาทิ ชุดมอเตอร์ขับหมุน ชุดควบคุมความเร็วรอบ (Speed Control 33-1/3 45rpm) ชุดเพาเวอร์ซัพพลาย พร้อมสายเสียบต่อกับชุดมอเตอร์ สายไฟเอ/ซี กล่องใส่หัวเข็ม และซองใส่ชุดสายพานขับหมุน (ซึ่งโดยการทำงานแล้วเป็นระบบ Belt Drive) ที่เป็นแบบสายไนลอนกลม (String) และมีแผ่น Stroboscope สำหรับใช้วัดความเร็วรอบให้มาด้วยพร้อมอยู่ในซองเดียวกันนั้น
เมื่อยกเอาแผ่นโฟมบรรจุอุปกรณ์ประกอบข้างต้นขึ้นมา จะเห็นแผ่นโฟมลักษณะเดียวกันหุ้มแบบตรึงตัวแท่นและแป้นหมุนทั้งสี่ด้านเอาไว้อย่างมั่นคง พร้อมคาดทับตอนบนด้วยโฟมชิ้นอีกสองชิ้นแบบกากบาทเอาไว้ เพื่อเสริมและป้องกันการกระแทกอย่างแน่นหนา ต้องค่อยๆ ทยอยดึงโฟมแต่ละชิ้นขึ้นตามลำดับที่บอกการทำงานแต่ละ Step เอาไว้ในคู่มือ แล้วจึงยกเครื่องเล่นแผ่นเสียงขึ้นมา โดยที่ยังคงแผ่นโฟมป้องกันการกระแทกระหว่างแป้นหมุนกับตัวแท่นเอาไว้ ยังไม่ดึงแผ่นโฟมป้องกันนี้ออก จนกว่าการประกอบส่วนอื่นๆ จะเรียบร้อย
จากนั้นจึงนำทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันตามที่คู่มือกำหนด โดยที่วางตัวแท่นลงบนโต๊ะชั้นวางเครื่องตอนบนสุด ตัวแท่นมีขาตั้งรับน้ำหนักแบบสามจุด เป็นขาตั้งเสาโลหะทรงกลมสองระดับ อยู่ที่มุมแท่นด้านหน้าสองเสา และด้านหลังตรงกึ่งกลางอีกเสา โทนอาร์มนั้นติดตรึงมาจากโรงงานเรียบร้อย และที่ Headshell นั้นมีหัวเข็มประกอบเข้ามาให้พร้อมสรรพ แต่ขั้นตอนนี้ยังไม่คลายสายรัดที่มัดตรึงโทนอาร์มเข้าไว้กับที่พักอาร์มอย่างแน่นหนาออก
เมื่อตั้งวางแท่นในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว เอามอเตอร์ชุดขับหมุนมาตั้งวางที่ด้านหลังแท่นเยื้องไปทางด้านซ้าย ที่แท่นถูกปาดเป็นชิ้นสามเหลี่ยมออกไป ทำให้ลักษณะของแท่นมีรูปเป็นห้าเหลี่ยมดังที่เห็นในภาพ วางมอเตอร์เรียบร้อยแล้วก็นำชุดควบคุมความเร็วรอบหมุนมาเสียบต่อผ่านทางช่องเสียบแบบ Mini Jack แล้วนำสายไฟเอ/ซีมาเสียบเข้าที่เพาเวอร์ซัพพลาย ของชุดควบคุมความเร็วรอบหมุน
หลังจากประกอบอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้ว จึงกลับมาที่ตัวแท่นกับแป้นหมุนอีกครั้ง โดยขั้นตอนนี้ต้องการอาสาสมัครมาช่วยหนึ่งคน เพราะต้องระมัดระวังมากสักหน่อย โดยคนหนึ่งใช้มึอสองข้างยกแป้นหมุนให้ลอยขึ้นมาโดยที่ไม่พ้นแกนหมุน แล้วให้ผู้ช่วยคอยดึงแผ่นกันกระแทกระหว่างตัวแท่นกับแป้นหมุนออก เมื่อดึงออกไปเรียบร้อยแล้วจึงค่อยลดระดับแป้นหมุนลงยังตัวแท่นกระทั่งเข้าสู่ตำแหน่งตรึงเป็นที่เรียบร้อย
จากนั้นจึงนำแผ่นรองหรือ Turntable Mat ที่ทำจากสักหลาดมาวางทับแป้นหมุนเพื่อทำหน้าที่รองรับแผ่นเสียง เรียบร้อยแล้วจึงคลายสายรัดที่ตรึงโทนอาร์มเอาไว้กับ Arm Rest หรือที่พักอาร์มออก แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนการตั้งน้ำหนักหัวเข็มต่อไป
เริ่มจากการตรวจสอบ Alignment ของหัวเข็มที่ติดเข้ากับเฮดเชลล์ จากนั้นก็คลายตุ้มถ่วงน้ำหนักเพื่อให้โทนอาร์มอยู่ในตำแหน่งที่สมดุล เมื่อคะเนว่าได้สมดุลดีแล้วจึงปรับแรงกดหัวเข็ม หรือ Tracking Force ตามที่ผู้ผลิตกำหนด โดยยึดเอาค่ากลางเป็นหลัก จากนั้นจึงไปปรับ Bias ของโทนอาร์มที่มีลักษณะเป็นแกนเลื่อน ซึ่งผู้ผลิตเรียกว่า Bias Adjustment Slider ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ค่าเดียวกับแรงกดหัวเข็ม เพื่อให้การทำงานที่สัมพันธ์กัน
ค่า Bias Adjustment ที่ Acoustic Solid ใช้เรียกในคู่มือนั้น มันคือค่าเดียวกันกับที่เรียกว่า Anti Skating นั่นเอง
สำหรับหัวเข็มที่ติดตั้งให้มาจากโรงงานนั้น คือ Nagaoka MP-100 ครับ
Solid 111 Wood
กับ Nagaoka MP-100
หัวเข็มที่ Acoustic Solid เลือกมาติดตั้งให้กับ Solid 111 Wood นั้น มาจากโรงงานออกแบบและผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงชั้นนำของญี่ปุ่น ที่มีอายุยืนยาวมากว่าครึ่งศตวรรษ โดย Nagaoka ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1940 และสั่งสมประสบการณ์จากการทำหัวเข็ม (Cartridge) และที่สำคัญคือปลายเข็ม (Stylus) ที่ต้องใช้ความประณีต พิถีพิถัน และด้วยเครื่องไม้เครื่องมือระดับสูง
จนทำให้ปัจจุบันนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทผลิตหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงชั้นนำของญี่ปุ่นแล้ว Nagaoka ยังได้ชื่อว่าเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรสำหรับการตัดวัสดุที่ต้องการความประณีตพิถีพิถันสูงเป็นพิเศษ เช่น เพชร คาร์ไบด์ และเซรามิค ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกด้วย
Nagaoka MP-100 เป็นหัวเข็มระดับ Entry Level ที่มีราคาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาประมาณ US$100.- เป็นหัวเข็มแบบ MM : Moving Magnet ก้านเข็ม (Cantilever) น้ำหนักเบาเป็นพิเศษใช้วัสดุ Aluminum Alloy ปลายเข็มที่เป็นเพชรนั้นมีทรงกรวย รูปไข่ แบบ Elliptical รัศมีฐาน 0.0006 นิ้ว น้ำหนักรวม 6.5 กรัม ระบุแรงกดหัวเข็ม (Tracking Force) ระหว่าง 1.5 – 2.3 กรัม ให้เอาท์พุท โวลเทจ 5.0mV วัดค่าความสมดุลซ้าย/ขวา (Channel Balance) ได้ดีกว่า 2.0 dB และวัดอัตราการแยกข้าง (Channel Separation) ได้ดีกว่า 22dB ที่ 1kHz ระบุว่าต้องการเวลาในการเบอร์น-อินประมาณ 30 ชั่วโมง
ในส่วนของ Solid 111 Wood นั้น ระบุคุณสมบัติเอาไว้ว่า เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทำงานในระบบขับหมุนด้วยสายพาน (แต่เรียก String Drive) แยกส่วนการทำงานของมอเตอร์ขับหมุน และชุดควบคุมความเร็วรอบหมุน ออกจากตัวแท่น แป้นหมุนขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ น้ำหนัก 6 กิโลกรัม โทนอาร์มเป็นแบบก้านตรง น้ำหนักสมดุล รุ่น WTB1000 มอเตอร์ขับหมุนเป็นแบบ Synchronous ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ควบคุมการทำงานของเพาเวอร์ซัพพลาย ตัวแท่นใช้ไม้แท้เนื้อแข็ง หนา 20 มิลลิเมตร น้ำหนัก 13 กิโลกรัม
หลังจากประกอบทุกภาคส่วนการทำงานเข้ากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมได้พิจารณาการทำงานของเครื่องทางด้านกายภาพ พบว่าแต่ละส่วนที่แยกการทำงานกันอย่างสิ้นเชิงนั้น มีส่วนที่เกี่ยวข้องกันและกันน้อยมา โดยเฉพาะในส่วนของมอเตอร์ขับหมุน กับแป้นหมุน และตัวแท่น มีความสัมพันธ์กันเพียงสายพาน (String) ที่ใช้ในการขับหมุนเท่านั้นเอง โดยหลังจากที่ตั้งน้ำหนักหัวเข็มเรียบร้อยแล้ว (ผมตั้งเอาไว้ที่ 2.0 กรัม) ตั้งวางโทนอาร์มอยู่บนที่พักพร้อมกับปิดล็อคให้เรียบร้อย ก็เอาสายขับหมุนพาดเข้าแกนของ Pulley หรือรอกบนมอเตอร์ จากนั้นยืดสายไปคล้องเข้าที่กึ่งกลางของสันแป้นหมุน พร้อมๆ กับกดสวิทช์เปิดเครื่องให้มอเตอร์ขับหมุนทำงาน สายก็จะหมุนเข้าจังหวะที่ลงตัวกับแป้นหมุนที่กำลังเคลื่อนตัวพอดี ระหว่างนั้นไฟ LED ที่ชุดควบคุมความเร็วรอบหมุน ซึ่งมีอยู่ดวงเดียว ก็จะกะพริบแบบสลับสีระหว่างเขียวกับแดง ประมาณไม่เกิน 20 วินาที ไฟก็จะติดส่องสว่างด้วยสีใดสีหนึ่ง ซึ่งหากเป็นสีเขียว แสดงว่าขณะนั้นรอบหมุนอยู่ที่ 33-1/3rpm แต่ถ้าเป็นไฟสีแดงส่องสว่าง ก็จะหมายให้รู้ว่าเวลานั้นชุดควบคุมความเร็วรอบหมุนถูกตั้งเอาไว้ที่ 45rpm
โดยที่กล่องชุดควบคุมความเร็วรอบหมุนนี้ ที่ตอนล่างจะมีปุ่มให้ 4 ปุ่ม จากขวามือเป็นปุ่ม Power เปิด/ปิด การทำงานของมอเตอร์ ถัดมาเป็นปุ่มเลือกความเร็วรอบหมุน ส่วนอีกสองปุ่มทางด้านซ้ายเปรียบได้กับ Pitch Control สำหรับปรับความเร็วของรอบหมุนนั้นๆ ให้ได้ความถูกเที่ยงตรง ซึ่งสามารถใช้แผ่น Stroboscope ที่ให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบได้
หลังจากทุกอย่างเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาลองเล่นกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้วล่ะครับ
กล่าวสำหรับความเป็นจริงของการตั้งค่าต่างๆ ของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่กว่าจะมาถึงย่อหน้าข้างต้น คือพร้อมเล่นได้แล้วนั้น มันหาใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่บอกมา เพราะว่าถ้าต้องเริ่มกันตั้งแต่ประกอบหัวเข็มเข้าเฮดเชลล์ (ที่แม้จะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบประกอบโทนอาร์มมาให้พร้อม) การตั้งค่าต่างๆ เพื่อให้ได้ความถูกต้องที่ว่ากันตั้งแต่ Alignment มุม Azimuth Balanced Arm Tracking Force ตลอดจน Anti Skating นั้น มันใช้เวลาเป็นชั่วโมง ชั่วโมง เลยทีเดียว สมัยก่อนผมเคยนะครับ ทำเรื่องแค่ที่ว่านั้นแหละ ครึ่งค่อนคืนกว่าจะเข้าที่เข้าทางเรียบร้อย เปิดแผ่นฟังแทร็คเดียวก็ปิดเครื่องหลับอย่างมีความสุข แต่ถ้ายังไม่พอใจน่ะหรือ ต่อให้ต้องทำยันสว่างก็ยอม เพราะ – ทิ้งเอาไว้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วไปนอน – – ก็นอนไม่หลับดอกนะครับ
แต่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับเครื่องระดับ Entry Level ที่ทำอะไรมาให้เรียบร้อยกว่าครี่ง กว่าค่อน จากโรงงาน ช่วยประหยัดเวลาไปแยะครับ
Solid 111 Wood
& Nagaoka MP-100
กับคุณภาพเสียง
เพื่อย้อนกลับไปยังบรรยากาศแบบเดิมๆ ที่เอ่ยถึงข้างต้นโน้น ผมได้ไปคัดแผ่นไดเร็คท์คัท ยุคสมัยเดินซื้อหาตามร้านขายเครื่องเสียงละแวกใต้ถุนอินทรามาถวิลหลัง หนแรกหยิบมาสามสี่แผ่นที่เป็นความคุ้นมาแต่อ้อนแต่ออก
ที่แม้หลังๆ สามสี่แผ่นไวนีลที่ว่าจะถูกหยิบมาใช้งานน้อยครั้งกว่าเวอร์ชั่นที่เป็นแผ่นซีดีก็ตาม
สามสี่แผ่นที่ว่านั้นประกอบไปด้วยแผ่นของ Sheffield Lab สามแผ่น คือ Thelma Houston & Pressure Cooker: I’ve Got a Music in Me Lab-2/ Harry James: Comin’ from a Good Place Lab-6 และแผ่นที่มักจะเรียกกันว่าแผ่น The Rose ของ Lincoln Mayorga & Amanda McBroom มากกว่าจะเรียกชื่ออัลบั้มที่ว่า Growing Up in Hollywood Town Lab-13 กับอีกแผ่นที่เป็นอัลบั้มคู่ที่แม้จะไม่ใช่ไดเร็คท์ คัท แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นบันทึกการแสดงสดแบบ Live Music ที่ยอดเยี่ยมมากในยุคสมัยนั้น จากค่ายบันทึกเสียงเล็กแถบสแกนดิเนเวีย ถึงตรงนี้มิพักเอ่ยชื่ออัลบั้มก็เชื่อว่าทุกๆ ท่านต้องร้อง – อ๋อ อยู่ในใจกันอยู่แล้ว กับหนึ่งในสุดยอดแผ่นแห่งศตวรรษ คือ Jazz at the Pawn Shop นั่นเอง
ลองเล่นหนแรกกับสามสี่อัลบั้มที่ว่านั้น ผมตั้งใจว่าหาได้ฟังคราวเดียวจบแผ่นตั้งแต่แทร็คแรกยังแทร็คสุดท้ายดอกนะครับ ว่าจะเลือกฟังเฉพาะแทร็ค เฉพาะเพลง ที่ชื่นชอบเป็นการเฉพาะแบบอุ่นเครื่องไปก่อน อย่างแล็บ-2 ก็คิดว่าฟังเฉพาะเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มนั่นแหละครับ เพราะให้รู้สึกมันส์ในอารมณ์กับน้ำเสียงของคุณเธลมา ฮุสตัน เธอ ที่ทรงพลังยิ่ง สามารถประชันกับเครื่องดนตรีทั้งวงที่โหมประโคมขึ้นมาโดยหาด้อยกว่าแต่อย่างใด บางช่วงบางคราวน้ำเสียงของเธอยังกำราบเสียงของเครื่องดนตรีเอาไว้ได้เต็มปากเต็มคำด้วยซ้ำไป หรืออย่างฟังแฮร์รีย์ เจมส์ กับวงแจ๊สแบบ Big Band ของเขา ก็ตั้งใจเลือกฟังเฉพาะสองแทร็คสุดท้ายของหน้าสอง คือ Make the World Go Away กับ Blues for Sale และกับเสียงของอะแมนดา แม็คบรูม นั้น ไม่บอกคุณๆ ก็คงทายถูก ว่าผมต้องเลือกฟังแทร็ค The Rose อย่างแน่นอน
นั้น แค่น้ำจิ้มนะครับ แต่แม้จะเป็นเพียงน้ำจิ้มเพื่อการอุ่นเครื่องดังที่ว่าก็เถอะ ทั้ง Solid 111 Wood และ Nagaoka MP-100 พาผมคืนกลับสู่ความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีเสมอด้วยทศวรรษที่ 80s อย่างไร ก็อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นการแผดเสียงของทรัมเป็ตจากลมปากของแฮร์รีย์ เจมส์ ในแทร็ค Make the World Go Away ที่ตามมาด้วยนานาเครื่องเป่าจากวงบิก แบนด์ ทั้งคลอตาม ทั้งล้อ ทั้งสอดรับกันอย่างลงตัว และรื่นหูเอามากๆ ทั้งๆ ที่เสียงทั้งหมดนั้นแผดออกมาจากเครื่องเป่าทองเหลือง แต่ความนวลเนียนของน้ำเสียง เนื้อเสียง และปลายเสียงที่ทอดไปไกล หาได้มีสากเสี้ยนใดแฝงเอาไว้ให้รู้สึกได้แม้แต่เพียงน้อย อรรถรสของบรรยากาศเสียงทั้งมวลที่สื่อออกมาให้รับรู้ได้นั้น มันให้ความรู้สึกได้เหมือนชื่อเพลงจริงๆ ในขณะที่อีกแทร็คที่ถัดมาจากอัลบั้มเดียวกัน สามารถแยกแยะรายละเอียดของแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีที่โหมประชันกันขึ้นมาตั้งแต่ต้นแทร็คได้อย่างน่าฟังมาก สามารถแยกแยะความต่างในความเหมือนของแต่ละเส้นเสียงออกมาได้อย่างเด็ดขาด
สุดท้าย ทำไปทำมาจากที่คิดว่าจะเริ่มต้นฟังแบบพอเป็นน้ำจิ้ม แผ่นละแทร็คสองแทร็ค มนต์เสน่ห์ของเสียงจากแจ๊สแบบบิก แบนด์ กับความเสน่หาในอะนาลอกที่มีอยู่ลึกๆ เป็นส่วนตัว ทำให้พอจบ Blue for Sale แทนที่ผมจะเอาโทนอาร์มขึ้นวางบนที่พักพร้อมเปลี่ยนแผ่นใหม่ ผมกลับยกโทนอาร์มขึ้นวางบนที่พักแขน แล้วพลิกหน้าแผ่นกลับไปที่หน้าหนึ่ง จากนั้นวางปลายเข็มลงไปเพื่อเริ่มต้นใหม่กับอัลบั้มนี้ตั้งแต่แทร็คแรก คือ The Footstomper แล้วเกือบ 40 นาทีเต็มๆ ผมก็ได้อิ่มเอมไปกับความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีที่บรรเลงออกมาในไสตล์ Sweet Band อย่างอิ่มสมอารมณ์หมายจริงๆ โดยเฉพาะกับสองสามแทร็คที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ที่นอกจากที่กล่าวถึงไปแล้ว ก็มี Tuxedo Junction อีกแทร็ค
จบจากอัลบั้มเพลงหวานสไตล์ Sweet Band ไปแล้ว คราวนี้มาขอหวานด้วยเสียงหวานๆ ของอะแมนดาบ้าง โดยเริ่มต้นกับแทร็คแรก The Portrait กังวานเสียงที่ให้ออกมาอย่างชัดถ้อยชัดคำ กับดนตรีจากการเรียบเรียงเสียงประสานของลินคอล์น มายอร์กา ลงตัวกันแบบสุดๆ ชนิดที่ชวนให้ติดตามแทร็คต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งเป็นแทร็คบรรเลงสไตล์ Electronic Pop (ที่หากกล่าวโดยรวมทั้งอัลบั้มแล้ว มีกลิ่นอายของแจ๊สเจือมาให้รับรู้บ้างอย่างแผ่วๆ) แต่มีเสียงกรุ๊งกริ๊งหวานๆ ปนอยู่ไม่น้อย รายละเอียดเสียงดนตรีที่ให้ออกมานั้น เด็ดขาดและเฉียบขาดมาก แล้วตามมาด้วยแทร็ค The Rose นั่นแหละครับ ที่เส้นเสียงของอะแมนดาเธอพาเอาอารมณ์ดนตรีของผมเตลิด และดื่มด่ำไปกับเสียงดนตรีที่พาหลุดไปอีกโลกนั่นเลย เป็นโลกที่โอบล้อมและอบอวลไปด้วยความสุนทรีย์ทั้งของเสียงร้อง และเสียงดนตรี อย่างชนิดที่อดจะพึมพำกับตัวเองเบาๆ ไม่ได้ ว่า – อะนาลอก นี่แหละหนา คือ อะนาลอก – – ที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมชาติของดนตรีในความหมายของ Musicality โดยแท้ (แล้วก็นึกต่อในใจอีกหน่อย ว่า – จะ Hi-Res จะดิจิทัลอะไร ก็เถอะน่า – – แล้วก็ละไว้แบบเชื่อว่าน่าจะเข้าใจกันอยู่ในที)
กล่าวคือ ผมหาได้ปฏิเสธเทคโนโลยีดอกนะครับ ออกจะชื่นชอบ ชื่มชม และติดตามอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่อง ‘เสียง’ ทั้งในแง่ของการบันทึก ทำซ้ำ นำและมาเล่นกลับ อย่างใกล้ชิดด้วยซ้ำไป อีกทั้งยังยอมรับว่าถ้าจะเทียบเคียงกัน ระหว่างดิจิทัลกับอะนาลอก โดยมองกันแบบแยกส่วนในทุกๆ รายละเอียดแล้ว ไม่มีตรงไหนเลยที่อะนาลอกจะสู้ดิจิทัลได้
แต่หากมองในภาพรวมผ่านทาง ‘เสียงสำเร็จ’ ที่นำมาเล่นกลับ หรือ Playback แล้ว ผมยังมี Passion หรือความหลงใหลและมีความเสน่หาต่อเสียง Analogue Source มากกว่าจริงๆ ครับ
นั้น เป็นทัศนะจากความชอบที่เป็นส่วนตัวนะครับ เรื่องของเสียงนี่ ทุกคนต่างก็มีความชอบที่เป็นส่วนตัวกันทั้งนั้นแหละครับ ดูอย่างการเลือกซื้อชุดเครื่องเสียง ซื้อลำโพง นั่นปะไร หากคนเรามีความชอบเหมือนๆ กันแล้ว โลกนี้คงมีเครื่องเสียงและลำโพงขายไม่กี่ยี่ห้อดอกนะครับ แต่เป็นเพราะคนเรามีความชอบที่แตกต่างกันนั้นเอง จึงมีเครื่องเสียงและลำโพงจากผู้ผลิตมากกว่ามาก เพื่อให้เราเลือกได้ตรงกับที่ชอบมากที่สุดนั่นเอง
แต่คุณต้องหารายละเอียดที่เป็นความชอบส่วนตัวจริงๆ ให้พบนะครับ เพราะมิฉะนั้นแล้วคุณจะต้องเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนลำโพง อย่างไม่รู้จบ โดยที่แต่ละครั้งที่เปลี่ยนนั้น หาได้เป็นการเปลี่ยนเพื่อเพิ่มทักษะในการฟังให้แก่ตัวเองแต่อย่างใดอีกด้วย
บทสรุป
ผมใช้เวลาอยู่กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงชุดนี้ นานนับเดือน มีความสุขกับการได้หยิบแผ่นเสียงที่อยู่ในชั้นวางมาเล่นตลอดห้วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน แม้ว่าปกติแล้วในห้องฟังจะมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่แล้วถึงสามเครื่อง แต่ก็ไม่บ่อยครั้งดอกนะครับที่จะได้เล่นติดต่อกันยาวนานอย่างนี้
เนื่องเพราะช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น จะฟังแผ่นเสียงทีก็ต่อเมื่อนึกอยากเล่นจริงๆ เท่านั้น และทุกครั้งที่เล่นก็มีความสุขจริงๆ เป็นความสุขที่นักเล่นยุคดิจิทัล หรือนักเล่น Hi-Res บางคนมองข้าม ขณะที่บางคนให้รู้สึกมันเป็นเรื่องเสียเวลา
เสียเวลานับตั้งแต่ค่อยๆ หยิบแผ่นออกมาจากซองใน ค่อยๆ จับถือ – แต่มั่นคง แล้วค่อยใช้แปรงทำความสะอาดแผ่นให้หมดจดก่อนวางลงบน Turntable Mat ที่อยู่เหนือแป้นหมุน จากนั้นค่อยๆ วางหัวเข็มลงบนร่องแผ่นแรกที่ขอบนอกของแผ่น แล้วจึงเอื้อมมือไปเร่งระดับความดังเสียงที่แอมป์ ลุกกลับไปยังเก้าอี้หรือโซฟานั่งฟัง พร้อมกับหยิบซองปกแผ่นเสียงติดมือไปด้วย ฟังไป อ่านรายละเอียดหลังปกไป หรือหากเป็นซองพับ ก็จะมีรายละเอียดที่ด้านในมากหน่อย แม้จะเป็นรายละเอียดที่เคยอ่านแล้ว รับรู้แล้ว แต่ก็เอามาอ่านซ้ำได้อย่างมีความสุข แผ่นรบหน้าแรก ลุกไปลดโวลลุ่ม คอนโทรล ลง เอาโทนอาร์มขึ้นวางบนที่พักแขน พลิกแผ่นฟังต่อที่หน้าสอง หรือ Side B จบแล้ว หยิบแผ่นขึ้นมาทำความสะอาดอีกครั้งก่อนเก็บเข้าซองใน แล้วสอดเข้าซองนอกที่เป็นปกแผ่น จากนั้นหยิบแผ่นอื่นมาฟังต่อ แล้วทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิมดังที่กล่าวถึงข้างต้น กระทั่งคิดว่าพอแล้ว เลิกฟังละ ปิดเครื่องทั้งหมด และก่อนจะใช้ฝาครอบป้องกันปิดปลายเข็ม ก็ทำความสะอาดปลายเข็มเสียก่อน เมื่อแล้วเสร็จนั้นแหละ จึงครอบฝาปิดปลายเข็ม – จบ – –
หลายคนมองว่านั้นคือความน่าเบื่อ เสียเวลา ทว่ากับคนเล่นแผ่นเสียงแล้ว – นั้น คือความสุนทรีย์ที่ได้จากการเล่นเครื่องเสียงแบบเต็มเปี่ยม เป็นความสุขในทุกๆ ขั้นตอนที่ได้ทำนับแต่ดึงแผ่นออกจากซองในของปกแผ่นนั่นเทียว
หลังๆ มานี่ เดือนนึงผมจะได้เล่นแผ่นเสียงสักสามสี่ครั้งเท่านั้นเอง จึงเมื่อมี Acoustic Solid 111 Wood เครื่องนี้เข้ามา ผมเลยได้โอกาสอ้างกับตัวเองว่าต้องทำงาน ก็เลยขลุกอยู่แต่กับอะนาลอก ซอร์ซ เครื่องนี้ตลอด และทุกๆ แผ่นที่ได้นำมาเปิดฟังนั้น บ่งบอกให้รู้ได้ประการหนึ่งว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องนี้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดียิ่ง ให้การทำงานที่เที่ยงตรง ถูกต้อง มีการรบกวนเข้ามาถึงระบบขับหมุนน้อยมาก ซึ่งหลังจากที่เล่นไปได้ประมาณครึ่งเดือน ผมได้จัดวางเครื่องใหม่โดยแยกมอเตอร์ขับหมุนออกไปวางบนชั้นวางที่เป็นอีกชิ้นแยกต่างหากจากที่วางแท่นเครื่อง ปรากฏว่าผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจมากยิ่งขึ้น เพราะพบว่าภาพรวมของเสียงนั้น ‘นิ่ง’ มากกว่าเดิม โฟคัสแม่นขึ้น มิติชัดขึ้น รับรู้ถึงช่องว่างระหว่างชิ้นเครื่องดนตรีได้ดียิ่งขึ้น
และตอนที่ขยับหาที่วางให้ชุดมอเตอร์ขับหมุน แยกออกจากชั้นวางแท่นเครื่องนั่นเอง ผมได้เพิ่มแรงกดหัวเข็ม หรือ Tracking Force เป็น 2.1 กรัม ภาพรวมของเสียงยิ่งดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะตั้งแต่ย่านความถี่กลางลงมาต่ำ ในขณะที่กลางขึ้นไปแหลมและไปต่อถึงแหลมตอนปลายนั้น ดีขึ้นเล็กน้อย
Nagaoka MP-100 ที่ติดตั้งมาจากโรงงานนั้น ถือว่าเป็นหัวเข็มที่ใช้การได้ทีเดียว ให้ความกระจ่างของเสียงได้ดี แต่เมื่อเล่นไปจนหมดอายุงานแล้ว ไม่อยากให้คุณถามหา Replacement Stylus (Model JN-P100) มาใช้ แต่อยากจะให้เปลี่ยนเป็นหัวเข็มอื่นที่ดียิ่งขึ้นไปอีก อาจจะเป็น Denon DL-103R ก็ได้
เมื่อใช้หัวเข็มที่ดียิ่งขึ้นไปแล้ว คุณจะพบว่า Acoustic Solid 111 Wood นั้น น่าคบ น่าใช้ยิ่งขึ้นอีกเป็นกอง – รับรองได้เลยคู้ณณณ!!!
Acoustic Solid 111 Wood
ขอขอบคุณ บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร.0-2238-4078-9 ผู้แทนจำหน่ายที่ได้อนุเคราะห์ให้ยืมเครื่องมาทดสอบ