Mongkol Oumroengsri
จ่าหัวขึ้นมาแบบนี้ ก็ด้วยเหตุว่า น่าจะมีใครๆ สงสัยในเรื่องของสายสัญญาณเสียบต่อ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกขานว่า Interconect นั่นแล เฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เล่นแผ่นเสียงเป็นหลัก มักจะมีข้อกังขาอยู่ในใจว่า จำเป็นหรือไม่? ที่จะต้องใช้สายสัญญาณ Phono cable โดยเฉพาะมาใช้เสียบต่อจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปสู่ปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ …จะสามารถเอาสายสัญญาณ RCA มาใช้เสียบต่อได้ไหม?
ก่อนจะเฉลยคำถามดังกล่าว ขอจับเอาที่มาของ phono connector มาเล่าสู่กันก่อน …Phono นั้นเป็นตัวย่อมาจาก ‘phonograph’ ซึ่งก็เป็นรูปแบบช่องเสียบต่อ (connector) ประเภทหนึ่งที่ใช้ในช่วงแรกๆ ของการบันทึกเสียงเพื่อเชื่อมต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้ากับวิทยุ (radio) ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียงด้วยในช่วงเวลานั้น (ซึ่งก็น่าจะประมาณยุคปี 1930) และในยุคปัจจุบัน รูปแบบการเสียบต่อนี้ก็ยังใช้งานอย่างแพร่หลาย สำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงกับ phono stage ที่อยู่ในปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ โดยที่ phono connector จะมีตัวปลั๊กเสียบต่ออยู่ 2 แบบแตกต่างกัน เรียกกันว่า ตัวผู้ (male plug) กับตัวเมีย (female plug) จุดประสงค์การใช้งานของ phono connector ก็คือ เพื่อให้การเชื่อมต่ออิมพีแดนซ์ต่ำระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณเสียงแอนะล็อก
แล้ว RCA connector ล่ะ …จริงๆ แล้ว RCA เป็นชื่อเรียกขานที่ได้มาจาก Radio Corporation of America (และบริษัทในเครือ RCA Victor ซึ่งผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียง Victrola และยังเป็นเจ้าของสังกัดค่ายเพลงอีกด้วย ทั้งนี้แบรนด์เหล่านี้ยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ แม้ว่าตัวบริษัทนั้นจะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม) โดยที่ “ตัวหัวเสียบต่อ” (connector) แบบนี้ก็เป็นการเชื่อมต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงและวิทยุเข้าด้วยกัน ในกรณีที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงและวิทยุไม่ได้ประกอบเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน ดังนั้นหากจะกล่าวว่า RCA และ phono เป็นแบบเดียวกันจึงเข้าใจไม่ผิด
ดังนั้น หากจะนำเอาสายสัญญาณ RCA มาใช้เสียบต่อระหว่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปสู่ปรีแอมป์ หรืออินติเกรตแอมป์ แทนสายสัญญาณ Phono cable ก็สามารถที่จะทำได้ เพียงแต่ว่า อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สายนำสัญญาณต่างๆ (cables) นั้น ย่อมที่จะต้องมีค่าอิมพีแดนซ์ (impedance) เป็นคุณสมบัติติดตัวอยู่ตลอด ในทุกระดับความยาวสายตัวนำ นอกจากนี้ในสายตัวนำยังจะต้องมีค่าคาปาซิแตนซ์ (capacitance) แฝงอยู่ด้วยเช่นกัน แปรผันไปตามระดับความยาวไม่ต่างกัน
ทีนี้ หันมาดูที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงกันนะครับ แน่นอนละครับว่า ก็ต้องมีสัญญาณขาออกจ่ายออกมาจากหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง ไม่ว่าจะเป็นหัวเข็มแบบ MM หรือว่า MC ก็ตามที โดยที่สัญญาณขาออกที่จ่ายออกมาจากหัวเข็มแต่ละแบบนั้นก็นับว่า น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับสัญญาณขาออกที่จ่ายออกมาจากเครื่องเล่นซีดี, เทป หรือจูนเนอร์ รวมทั้งสตรีมเมอร์ ซึ่งเมื่อสัญญาณขาออกของหัวเข็มที่ต่ำมากๆ ต้องเดินทางผ่านสายสัญญาณที่มีทั้งค่าอิมพีแดนซ์ และค่าคาปาซิแตนซ์ขวางกั้นอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ย่อมต้องมีผลต่อสัญญาณที่ต้องเดินทางผ่านไม่มากก็น้อย แต่ด้วยความแรงสัญญาณขาออกของหัวเข็มที่ต่ำมากๆ ทำให้อาจจะเกิดการสูญเสียสัญญาณขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย
ดังนั้นการออกแบบสายสัญญาณที่มีทั้งค่าอิมพีแดนซ์ และค่าคาปาซิแตนซ์อยู่ในระดับพอเหมาะพอสมสำหรับรองรับการเดินทางของสัญญาณขาออกจากหัวเข็มโดยเฉพาะ จึงย่อมที่จะ “ดีกว่า” การใช้สายสัญญาณที่ออกแบบไว้รองรับการใช้งานทั่วไป สำหรับเครื่องเล่นซีดี, เทป หรือจูนเนอร์ รวมทั้งสตรีมเมอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีค่าความแรงสัญญาณที่สูงกว่าสัญญาณของหัวเข็มนับเป็นร้อยเป็นพันเท่า
สัญญาณของเครื่องเล่นซีดี, เทป หรือจูนเนอร์ รวมทั้งสตรีมเมอร์ จึงสามารถเดินทางฝ่าด่านทั้งค่าอิมพีแดนซ์ และค่าคาปาซิแตนซ์ที่เปรียบเป็นอุปสรรคขวางกั้นในตัวสายสัญญาณ ผ่านไปได้ราบเรียบดีกว่าสัญญาณของหัวเข็ม โดยที่หัวเข็มแบบ MM นั้นต้องการค่าโหลด (อิมพีแดนซ์) ตามที่ระบุ และไม่จำเป็นต้องเลือกใช้สายสัญญาณที่มีค่าคาปาซิแตนซ์ต่ำ แต่ต้องใช้สายสัญญาณที่มีค่าคาปาซิแตนซ์อันเหมาะสม
โดยมีสูตรคำนวณง่ายๆ ดังนี้ :-
คาปาซิแตนซ์ต่อเมตรของสายสัญญาณ x ความยาวของสายสัญญาณ = คาปาซิแตนซ์ของสายสัญญาณ
คาปาซิแตนซ์ของสายสัญญาณ + คาปาซิแตนซ์ของสายเดินภายในโทนอาร์ม + คาปาซิแตนซ์ขาเข้า (input capacitance) ของภาคโฟโน = โหลดของโฟโน
สำหรับสายสัญญาณเสียงระดับไฮ-เอ็นด์ในท้องตลาด พบว่า จะมีค่าอิมพีแดนซ์ตั้งแต่ 11 โอห์มถึง 120 โอห์ม แต่ก็อาจจะมีนอกเหนืออยู่บ้างที่สุดขั้วกว่านี้ อย่างไรก็ดี หัวเข็ม MC นั้นรองรับต่อ capacitive load ได้มากกว่าหัวเข็ม MM อยู่พอสมควรทีเดียว
ขอยกตัวอย่างค่า capacitive load ของสายสัญญาณ QED Performance Graphite นั้นอยู่ที่ 115 pF/m (พิโคฟารัดต่อเมตร) โดยประมาณ ซึ่งสำหรับสายสัญญาณอื่นที่มีค่า capacitive load น้อยกว่านี้ ก็น่าจะดีมากขึ้นไปอีก อย่างเช่น QED Signature Audio 40 มีค่า capacitive อยู่ที่ 63 pF/m ก็จะดีกว่า QED Performance Graphite มากขึ้นไปอีก และ Blue Jeans LC-1 มีค่า capacitive อยู่ที่ 40 pF/m ก็จะดีกว่า QED Signature Audio 40 มากขึ้นไปอีก เป็นต้น