Dawn Nathong
บทความนี้เราจะมาวิเคราะห์ TIDAL หนึ่งในผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่ง ที่มีบริการในรูปแบบไฟล์ Lossless รวมถึง Hi-Res ซึ่งถือเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของนักเล่นเครื่องเสียงในตอนนี้ ในการที่จะฟังสตรีมมิ่งแบบคุณภาพสูงกับเครื่องเสียง เพราะ TIDAL ถือเป็นแพลตฟอร์มมาตรฐาน ที่จะต้องถูกติดตั้งลงในแอพพลิเคชั่นของบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงแทบทุกรายไปแล้ว
บริการของ TIDAL มีทั้งสตรีมเพลง พอดแคสต์และวิดีโอ ในปัจจุบันมีจำนวนเพลงทั้งหมดกว่า 80 ล้านแทร็ค และวิดีโออีกกว่า 350,000 คลิป มีจำนวนสมาชิกอยู่ประมาณ 3 ล้านบัญชี ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก หากเทียบส่วนแบ่งตลาด (สิ้นปี 2021) กับผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งอันดับหนึ่งอย่าง Spotify ที่มียอดสมาชิกกว่า 180 ล้าน หรือแม้แต่อันดับสองอย่าง Apple Music ก็มีจำนวนสมาชิกถึง 98 ล้าน
เรื่องราวของ TIDAL
TIDAL เปิดตัวครั้งแรกปี 2014 โดย Aspiro บริษัทเทคโนโลยีจากนอร์เวย์ ก่อนที่ ชอว์น โครี คาร์เตอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม เจย์-ซี แรปเปอร์นักธุรกิจชื่อดังจะเข้ามาถือครองในปี 2015 ภายใต้ชื่อบริษัท Project Panther Bidco Ltd ส่วนเจ้าของ TIDAL คนปัจจุบันคือ แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอของ Twitter ซึ่งเข้าซื้อกิจการต่อจาก เจย์-ซี เมื่อช่วงปี 2021 ด้วยมูลค่า 297 ล้านเหรียญสหรัฐ
TIDAL มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นิวยอร์ก วัตถุประสงค์หลักคือเป็นช่องทางรายได้ให้กับศิลปิน โดยมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้สูงกว่าบริการสตรีมของค่ายอื่นถึง 3 เท่า (ประมาณ 0.41 บาทต่อการสตรีมหนึ่งครั้ง) เป็นแพลตฟอร์มสตรีมเพลงระดับโลก ที่นำแฟนเพลงมาใกล้ชิดกับศิลปินมากขึ้น คอลแลปส์กับศิลปินเพื่อสร้างออริจินัลคอนเท้นต์ต่าง ๆ รวมถึงเน้นเรื่องของคุณภาพเสียงที่ใกล้เคียงกับสตูดิโอ
แพ็คเกจปัจจุบันของ TIDAL มี 2 แบบคือ HiFi (129 บาท / เดือน) และ HiFi Plus (258 บาท / เดือน) ทั้งสองแพ็คเกจสามารถทดลองใช้ฟรีได้ 30 วัน ในส่วนของแพ็คเกจ HiFi Plus จะเป็นแบบฟูลออพชั่นที่มีทั้ง MQA, Dolby Atmos, Sony 360 Reality Audio รวมถึงมีการจ่ายส่วนต่างค่าลิขสิทธิ์ให้กับศิลปินที่สมาชิกฟังบ่อยที่สุดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ฟอร์แมตเสียงของ TIDAL
TIDAL ให้บริการสตรีมไฟล์เสียงในฟอร์แม็ต FLAC ที่มีความละเอียดระดับสูงสุดสำหรับแพ็คเกจ HiFi คือ Lossless (16 bit / 44.1kHz) บิตเรต 1411 Kbps และสำหรับแพ็คเกจ HiFi Plus คือ MQA (สูงสุด 24 bit / 352kHz) บิตเรต 9216 kbps รวมถึงระบบเสียงแบบ Object-Based รอบทิศทางสำหรับฟังเพลงบนอุปกรณ์มือถือ 360 Reality Audio และ Dolby Atmos
ทำความรู้จัก MQA (Master Quality Authenticated)
MQA เป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลเสียงแบบพิเศษที่เกี่ยวข้องกับทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ พัฒนาโดย Bob Stuart จาก Meridian เพื่อลดแบนด์วิธในการสตรีมมิ่งเพลงแบบความละเอียดสูง โดยนำไฟล์ออริจินัลมาสเตอร์ (ทำมาสเตอริ่งใหม่สำหรับ MQA โดยเฉพาะ) มาผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Encapsulation ประกอบด้วย “Deblurring” กับ “Music Origami” ทำการห่อ (fold) จนได้ไฟล์ขนาดเล็กพร้อมข้อมูลส่วนที่เป็น metadata สามารถบีบอัดข้อมูลเสียง 96kHz ให้มีขนาดเล็กพอ ๆ กับไฟล์ Audio CD ได้ ส่วนไฟล์ MQA ที่อยู่บนสตรีมของ TIDAL จะเรียกว่า Tidal Master มีป้ายคำว่า “MASTER” กำกับ
กราฟแสดงรูบแบบไฟล์ MQA ที่สมบูรณ์ สัญญาณความถี่เกิน 24kHz (Lossless B+C) จะถูกบีบอัดและเก็บไว้ใต้ noise level ของสัญญาณความถี่ต่ำกว่า 24kHz (A)
การจะเพลย์แบ็คไฟล์ MQA ให้สมบูรณ์ จำเป็นต้องอาศัยทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ในการถอดรหัส กระบวนการทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
The first unfold ใช้ MQA Core Decoder บนแอพพลิเคชั่น เช่น TIDAL, Audirvana, Roon ถอดรหัสข้อมูลบีบอัดที่ต่ำกว่า 8 บิตซึ่งซ่อนอยู่ใน 24-bit MQA stream จะได้เอาต์พุตออกมาเป็นสองเท่าของ sampling rate อินพุต นั่นคือ 88.2kHz หรือ 96kHz (เอาไปเล่นกับอุปกรณ์ที่ไม่รองรับ MQA ได้)
The second unfold อาศัยตัว MQA Renderer บนฮาร์ดแวร์ ในที่นี้ก็คืออุปกรณ์ที่ระบุว่าเป็น MQA Compatible นั่นเอง ทำการ upsampling โดยเลือกใช้ filter ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ตามข้อมูล metadata ที่ฝังมาของไฟล์ MQA นั้น ๆ ซึ่งก็จะได้เอาต์พุต sampling rate ออกมาตรงกับต้นทาง (สูงสุดได้ถึง 352kHz)
อุปกรณ์บางตัวมีคุณสมบัติเป็นได้ทั้ง Decoder และ Renderer ในเครื่องเดียว แบบนี้เรียกว่า MQA Full Decoder อย่างเช่น มิวสิคสตรีมเมอร์และเพลเยอร์จากแบรนด์ต่างๆ เช่น Bluesound, dCS, Mytek, NAD, LUMIN, Onkyo, Pioneer, TEAC และ Technics
ดูรายชื่ออุปกรณ์ได้
ในขั้นตอนการทำ MQA นั้น มีการทำมาสเตอริ่งไฟล์ใหม่ (MQA – 24bit Remaster) ไม่ว่าจะเป็นจากแอนะล็อกมาสเตอร์หรือดิจิทัลมาสเตอร์ ถือเป็นคนละตัวกับออริจินัลมาสเตอร์ดั้งเดิม นี่เป็นหนึ่งเหตุผลที่บางคนฟัง MQA แล้วรู้สึกว่าเสียง “ดีกว่า” หรือ “แย่กว่า” ต้นฉบับที่เคยฟัง และมีผู้เห็นแย้งหลายรายว่า กระบวนการบีบอัดนั้นไม่ใช่ Lossless 100% จริงตามทฤษฎี (MQA เคลมว่าเป็นเทคนิคที่เหนือกว่า Lossless) ทำให้เกิดความเห็นแตกออกเป็นสองฝั่งในเรื่องของคุณภาพเสียง ว่ากระบวนการทำ MQA มีการปรับแต่งเสียงและผิดเพี้ยนไปจากออริจินัลมาสเตอร์ดั้งเดิม ที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ Neil Young ซึ่งถอดอัลบั้มเวอร์ชั่น MQA ทั้งหมดของตนเองออกจาก TIDAL โดยให้เหตุผลว่าฟังแล้วเสียงไม่เหมือนกับมาสเตอร์เดิมที่เขาทำมาจากสตูดิโอ
จุดเด่น VS จุดด้อยของ TIDAL
หากเราไม่ยกเอาเรื่องของ MQA มาเป็นประเด็น จุดเด่นของ TIDAL ก็ยังคงเป็นเรื่องของคุณภาพเสียงอยู่ดี เพราะแม้จะเปรียบเทียบกับ Apple Music ที่รองรับการตรีมเพลไฮเรสแบบ lossless โดยตรง TIDAL ก็ยังให้คุณภาพเสียงโดยรวมที่ดีกว่า ในแง่รายละเอียดและความชัดเจนของเสียง นอกจากนี้ยังมีข้อได้เปรียบในแง่การ Integration เข้ากับอุปกรณ์เครื่องเสียงหลากหลายประเภท (ทั้งแบบเครื่องเสียงบ้านและพกพา) ในขณะที่ Apple Music ยังมีข้อจำกัดด้านการรองรับอุปกรณ์หลากหลายอยู่
จุดด้อยของ TIDAL ที่เห็นได้ชัดเจนคือระบบ AI แนะนำเพลง ที่ผ่านมากี่ปี ก็ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับรสนิยมของนักฟังเพลงไทยหรือเพลงฝั่งเอเชียเท่าไรนัก รูปแบบการแนะนำเพลงจะเหมาะกับรสนิยมของนักฟังเพลงฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซะมากกว่า รวมถึงระบบการค้นหาเพลงภาษาต่างชาตินั้น ทำได้ลำบากพอสมควร ซึ่งทาง TIDAL เองก็เหมือนจะรู้ตัวเลยเพิ่มเมนู Playlist Import มาให้บนหน้าเวปไซต์ โดยลิงค์กับแอพพลิเคชั่น Tune My Music และ Soundiiz เผื่อให้ผู้ใช้งานสามารถทำการถ่ายโอนเพลย์ลิสต์จากผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก
สามารถเข้าไปใช้งานได้
การตั้งค่า TIDAL ให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุด
1. เข้าเมนู “Settings”
2. คลิก “Streaming”
- หัวข้อ Playback ปิด “Loudness normalization”
- หัวข้อ Quality (kb/s) เลือก Streaming Audio Quality สูงสุด (Hi-Fi หรือ Master ตามแพ็คเกจที่สมัคร)
สำหรับ TIDAL desktop app
คลิกไอค่อนรูปลำโพงมุมขวาล่าง (Sound Output) เลือกอุปกรณ์เชื่อมต่อ แล้วเลือก “More Settings”
- เปิด “Use Exclusive Mode”
- เปิด “Force volume” (กรณีต้องการปรับโวลุ่มที่ตัวอุปกรณ์)
- เปิด “Passthrough MQA” (กรณีอุปกรณ์เป็น MQA Compatible)
การใช้งาน TIDAL Connect
เทคโนโลยี Cast เสียง หมัดเด็ดของ TIDAL ที่เพิ่มความน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น สามารถสตรีมเพลงได้คุณภาพสูงสุดถึงระดับ Master Quality มีพาร์ตเนอร์บริษัทเครื่องเสียงที่เข้าร่วมแล้วมากมาย เช่น NAD, Cambridge Audio, Bluesound, KEF, McIntosh
สามารถดูรายละเอียดได้
TIDAL Connect เป็นฟีเจอร์ที่ใช้ได้ทั้งแพ็กเกจ HiFi และ HiFi Plus โดยเข้าไปที่ส่วนของการเล่นเพลง (Now Playing) และทำการเลือกอุปกรณ์ที่ต้องการส่งผ่านสัญญาณ จากนั้นตัวแอพจะทำหน้าที่เหมือนรีโมทคอนโทรล ส่วนตัวเพลเยอร์หรือลำโพงที่เชื่อมต่อจะรับหน้าที่ในส่วนของฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมด