รีวิว Kanto: YU6 ลำโพงแอคทีฟมินิมอลสไตล์

0

Dawn Nathong

ตลาดกลุ่มลำโพงแอคทีฟ (ลำโพงที่มีภาคขยายในตัว) ในงบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นบาทวันนี้ มีตัวเลือกที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง นั่นคือ Kanto แบรนด์ผู้ผลิตลำโพงจากแคนาดา ที่มาพร้อมรูปลักษณ์ถูกใจคนรุ่นใหม่ เล่นได้ทั้งไวนิล / สตรีมมิ่ง / เดสท็อป / โฮมเธียเตอร์ เน้นเรื่องของเสียงที่มีความสมดุลพร้อมทั้งดีไซน์แบบมินิมอล เหมาะกับสไตล์การแต่งห้องส่วนใหญ่ ใครที่อยากมีลำโพงสวย ๆ เสียงดี ๆ ที่กลมกลืนกับการตกแต่งบ้าน Kanto ถือว่าตอบโจทย์

ที่มาของแบรนด์ก็ไม่ธรรมดา เพราะเดิมที Kanto เป็นบริษัทที่รับออกแบบและผลิต OEM ให้บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่มาหลายสิบปี เรียกว่ามีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี กำลังการผลิตและแนวคิด เมื่อมีแพสชัน การจะสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องยาก ไลน์อัพสินค้ามีทั้งลำโพงแบบแอคทีฟ ,ลำโพงพาสซีฟ, แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิด นอกจากนี้ยังออกแบบแอคเซสซอรี่อุปกรณ์เสริมเป็นขาตั้งลำโพงทั้งแบบ Floor Stand และ Desktop Stand รวมถึงขาตั้งหูฟังที่เข้าชุดกัน

สำหรับ Kanto: YU6 เป็นลำโพงแอคทีฟแบบวางหิ้งรุ่นใหญ่สุดในอนุกรม YU มาพร้อมวูฟเฟอร์ Kevlar cone ขนาด 5.25 นิ้วและทวีตเตอร์ Silk dome ขนาด 1 นิ้ว ใช้แอมป์ Class D ในตัว โดยภาคขยายจะติดตั้งอยู่ในลำโพงแชนแนลซ้าย (Active) ส่วนลำโพงแชนแนลขวาไม่มีภาคขยาย (Passive) เชื่อมต่อระหว่างกันด้วยสายลำโพง และมีปุ่มโวลุ่มปรับระดับเสียงในตัว สามารถรับสัญญาณ Line Out จาก Source ได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่านปรีแอมป์ก่อน มีสีผิวตู้ให้เลือกถึง 4 แบบ Matte Black / Matte White / Bamboo / Walnut

ฟีเจอร์เด่นของ Kanto:YU6

  • ทวีตเตอร์ Silk Dome 1”, วูฟเฟอร์ Kevlar 5.25”
  • ภาคขยาย Class D กำลังขับ 100 วัตต์ RMS พีคได้ 200 วัตต์ RMS
  • มีระบบ Auto Power ตรวจจับสัญญาณและปิด-เปิดอัตโนมัติ
  • Bluetooth™ 4.0 รองรับ Qualcomm® aptX™
  • มีช่อง Optical input สองชุด (96kHz / 24bit)
  • มีช่อง Sub Out ต่อแอคทีฟซับเพิ่มได้
  • มี Phono ปรีแอมป์ (MM) ในตัว
  • ใช้งานได้ทั้งการวางขาตั้งหรือตั้งโต๊ะ

อุปกรณ์ที่แถมมาในกล่อง

  • รีโมทคอนโทรล (ถ่าน AAA 2 ก้อน)
  • สายลำโพง (2 x 1.5mm) ยาว 4.8 เมตร
  • สายสัญญาณ Aux แบบ 3.5mm to 3.5mm
  • สายสัญญาณ RCA
  • ปุ่มยาง Rubber Feet
  • สายไฟเอซี
  • คู่มือการใช้งาน

รูปลักษณ์และการออกแบบ

ถือเป็นจุดขายของแบรนด์นี้ก็ว่าได้ที่ใครเห็นต้องสะดุดตา กับลำโพงที่หน้าตาแบบคลีนลุค มีความสมูทกลมกลืนของเหลี่ยมสันเป็นชิ้นเดียวกัน งานตู้ถือว่าสวยเนี้ยบ ไร้ขอบสะดุดมือ ออกแบบให้ไม่มีหน้ากากลำโพง และมีการติดตั้งไดร์เวอร์ทั้งสองตัวแบบซ่อนไม่ให้เห็นน็อตยึดดอกลำโพง รอบทวีตเตอร์มีการทำเวฟไกด์ที่ค่อนข้างลึกเพื่อควบคุมมุมกระจายเสียง ด้านหน้าส่วนล่างซ้ายมือจะมีช่องรับสัญญาณ IR จากรีโมต / LED Indecator ด้านขวาเป็นปุ่มโวลุ่ม / ซีเลคเตอร์แบบมัลติฟังก์ชั่น (กดซ้ำ ๆ เพื่อเลือกอินพุต RCA –> AUX –> OPT1 –> OPT2 –> BLUETOOTH) ซึ่งตรงนี้ทำให้สะดวกเวลาต้องการปรับระดับเสียงด้วยมือไม่ต้องเอื้อมไปหลังลำโพง ใต้ฐานลำโพงตรงกลางจะมีรูน็อตสำหรับยึดขาตั้ง (ออพชั่นเสริม)

การเชื่อมต่อสายลำโพงจากแชนแนลซ้ายไปยังแขนแนลขวา

ช่องเชื่อมต่อด้านหลังลำโพงแชนแนลซ้าย

ช่องเชื่อมต่อทั้งหมดจะอยู่ที่ด้านหลังของลำโพงแชนแนลซ้าย รวมถึงท่อเบสพอร์ตและเมนสวิตช์ปิด-เปิด ที่น่าสนใจคือตรงช่อง Line input นั้นรองรับการใช้งานกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้เนื่องจากติดตั้งภาคขยายหัวเข็มแบบ MM มาด้วยในตัว โดยทำการปรับสวิตช์โยกด้านหลังเพื่อเลือกการทำงาน รวมถึงช่อง Optical อินพุตที่ให้มาด้วยกันถึง 2 ชุด และพอร์ต USB จ่ายไฟ 5V 1.0A สำหรับชาร์จอุปกรณ์ ขั้วต่อสายลำโพงเป็นไบดิ้งโพสต์ขนาดเล็กแต่มีความแข็งแรง ขั้วต่อสายไฟเอซีแบบสามขาถอดเปลี่ยนได้

ตัวรีโมทคอนโทรลที่ให้มามีประโยชน์มาก เพราะฟังก์ชั่นการปรับแต่งส่วนใหญ่จะอยู่บนรีโมท ทั้งการปรับ EQ เสียงทุ้ม-แหลม ปรับพิ่ม-ลดได้ 5 ระดับ / การปรับบาล้านซ์ซ้าย-ขวา / ปุ่มรีเซ็ตค่า / ปุ่มเลือกอินพุต / ปุ่ม Paring บลูทูธ / เพิ่ม-ลดเสียง / ปุ่มเพลย์แบ็คคอนโทรล (เวลาเล่นบลูทูธ) / ปุ่ม Standby

Specifications

  • ตอบสนองย่านความถี่ 50 Hz – 20 kHz
  • ความต้านทานปกติ 6 Ohm
  • ความไวอินพุต 560 mV
  • ค่าความเพี้ยน THD < 0.3%
  • ระบบสองทาง จุดตัดความถี่ 2,000 Hz
  • มิติ W 6.9”x H 10.7” x D 8.1” (175 x 272 x 205 mm)

การติดตั้งและการใช้งาน

นอกจากจะใช้งานโดยการวางบนขาตั้งแบบลำโพงฟังเพลงปกติแล้ว Kanto YU6 ยังถูกออกแบบมาให้สามารถวางบนโต๊ะทำงาน โต๊ะคอมพิวเตอร์ ในลักษณะของการฟังแบบ Nearfield ได้ด้วย ซึ่งในกล่องจะมีตัว Rubber Feet แถมมาให้ 8 ชิ้น สำหรับรองใต้ลำโพง ถ้าจะให้ดีควรเสริมด้วยขาตั้งแบบเตี้ยที่ออกแบบมาคู่กัน จะช่วยตัดการรบกวนของแรงสั่นสะเทือนระหว่างโต๊ะที่วางกับลำโพงได้ดียิ่งขึ้น

ในการทดสอบครั้งนี้ผู้เขียนจัดวาง Kanto YU6 บนขาตั้งลำโพง Atacama ความสูง 24 นิ้ว โทอินเข้าหาจุดนั่งฟังประมาณ 10 องศา วางลำโพงห่างกันประมาณ 180 เซนติเมตร นั่งห่างออกมาจากลำโพงราว 2.8 เมตร สำหรับการฟังเพลง แหล่งโปรแกรมต้นทางใช้การสตรีมบลูทูธจากสมาร์ทโฟน รวมถึงใช้เชื่อมต่อกับ Raspbery Pi4 มิวสิคสตรีมเมอร์และ DAC ด้วยสาย Audioquest Big Sur แบบ Mini to RCA เข้าช่องแอนะล็อกอินพุต สุดท้ายคือการเชื่อมต่อกับกล่อง AIS Play Box ด้วยสาย Optical เพื่อทดสอบคุณภาพเสียงในการชมภาพยนตร์

คุณภาพเสียง

Kanto YU6 จูนเสียงมาได้บาล้านซ์ค่อนข้างลงตัวสำหรับการฟังเพลงดีเลยทีเดียว แต่ไม่ใช่แนวราบเรียบแบบลำโพงมอนิเตอร์ มีการแต่งสีสันให้ฟังสนุกขึ้น ย่านเสียงกลางจะมีความโดดเด่นกว่าย่านอื่นขึ้นมาเล็กน้อยพองาม และให้ย่านเสียงเบสต้นที่มีความกระแทกกระทั้นทำให้ฟังตื่นเต้นดีทีเดียว โทนเสียงรวม ๆ ค่อนไปทางอบอุ่นนิด ๆ และมีเนื้อเสียงที่ละเอียดกำลังดี ส่วนย่านแหลมมีความกังวานและมีประกายของเสียงที่ละเอียดทอดตัวดีไม่ห้วนสั้น ถือว่าเป็นแหลมจากซอฟท์โดมที่น่าฟังไม่น้อย ทำให้ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าเสียงทึบหรือดาร์คเกินไป ที่น่าประทับใจเป็นพิเศษคือความสามารถในการถ่ายทอดไดนามิกเสียง หรือการเล่นในระดับความดังสูงนั้นทำได้ดีเกินตัว ไม่ว่าจะเล่นกับแนวเพลงที่โหด ๆ หรือไดนามิกดุดัน ลำโพงคู่นี้ก็แทบไม่แสดงอาการอั้นตื้อ หรือเครียดเค้นของเสียงออกมาให้ได้ยินเลย

ถ้าเจาะรายละเอียดของเสียงกันเป็นย่าน ๆ ว่ากันที่ย่านเสียงเบส Kanto YU6 จะเน้นย่านเบสต้นที่มีอิมแพ็ก แต่แฝงความนุ่มนวล ไม่ถึงกับคมชัดจะแจ้ง และจะมีการจางหายหรือโรลออฟของย่านเบสต่ำ ๆ ค่อนข้างเร็ว เรียกว่ามีเบสให้ฟังแนวเพลงทั่วไปไม่ขาดแคลน ยกเว้นจะฟังเพลงที่มีโน้ตเบสต่ำลึกถึงจะรู้สึกได้ว่าเบสจางหายไปเร็วหน่อย ข้อดีคือทำให้การปรับ EQ ชดเชยย่านเบส ทั้งที่ตัวลำโพงหรือแหล่งโปรแกรม หรือการวางชิดผนังด้านหลัง จะไม่กระทบกับความกลมกลืนของเสียงโดยรวมมากนัก  

TIPS ตรงนี้การอัพเกรดสายลำโพงจากสายเส้นเล็กที่แถมมา ก็จะช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียง ในแง่ของเนื้อเสียงและรายละเอียดของเบสได้ดีขึ้นอีกพอสมควร หลังเปลี่ยนสายลำโพงเกรดดีขึ้นจะพบว่าโน้ตเบสแยกแยะได้ชัดขึ้น ไม่รู้สึกว่าเป็นก้อนๆ แนะนำว่าลองหาสายลำโพงขนาดหน้าตัดสัก 14 AWG ขึ้นไปมาเปลี่ยนดู

ย่านเสียงกลางนั้นให้ความใสสะอาดของน้ำเสียงดีมากทีเดียว มีความเปิดโปร่ง แต่จะถูกเน้นให้เด่นขึ้นเล็กน้อย ทำให้เวลาฟังเสียงนักร้องหรือเสียงเครื่องดนตรีที่ครอบคลุมย่านเสียงกลางจะให้รายละเอียดหยุมหยิมเล็กๆ น้อยๆ ที่ชัดเจน (บางคนอาจจะว่าหวาน) ในขณะเดียวกันก็มีความนุ่มนวลผสมอยู่อย่างพอเหมาะ มีความต่อเนื่องกลมกลืนของเสียง เสียงนักร้องชายอาจจะรู้สึกว่าฐานเสียงกลางต่ำจะอ่อนลงมานิด ในขณะที่เสียงนักร้องหญิงนั้นทำได้โดดเด่นสะดุดหูกว่า ซึ่งน่าจะเป็นความตั้งใจของดีไซน์เนอร์ที่ต้องการจูนเสียงมาในลักษณะนี้ ซึ่งหากจับคู่กับแอคทีฟซับวูเฟอร์ดี ๆ และปรับแต่งอย่างถูกต้องก็น่าจะเติมความสมบูรณ์แบบของย่านเสียงกลางต่ำได้ลงตัวมากขึ้น

ย่านแหลมนั้นถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมมากสำครับลำโพงในพิกัดราคานี้ เพราะมีทั้งความสะอาด ความใส และความกังวาน (แบบมีน้ำหนัก) ที่ทอดหางเสียงออกไปด้วยความพริ้วที่ชัดเจนดีทีเดียว รวมถึงตอบสนองความถี่ย่านแหลมโดยรวมได้สมูทราบเรียบเกินราคา ไม่ส่ออาการจัดจ้านหรือพร่าเพี้ยนแม้จะเล่นในระดับโวลุ่มสูง คือรวม ๆ ฟังแล้วคล้ายกับดอกเสียงแหลมของลำโพงที่ราคาสูงกว่านี้

ส่วนมิติเวทีเสียงของ Kanto YU6 จะออกไปทางกว้างและมีความ Laid-back นิด ๆ ซึ่งก็จะทำให้เวลานำลำโพงไปใช้เป็นลำโพงตั้งโต๊ะฟังแบบ Nearfield เสียงจะไม่รู้สึกว่าถูกโยนเข้าหาคนฟังมากเกินไปจนอึดอัด ทำให้ฟังสบายและฟังได้นาน ที่สำคัญให้อิมเมจขนาดชิ้นดนตรีหรือเสียงร้องที่มีความสมส่วนดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนผิดธรรมชาติ โฟกัสของเสียงต่าง ๆ มีความชัดเจนไม่คลุมเครือและวางตำแหน่งได้เป็นที่เป็นทาง ชิ้นดนตรีหลุดลอยออกมาดี

การปรับ Headroom management ด้วย DSP ของซอฟท์แวร์ Roon

ช่วงท้ายผู้เขียนทดสอบ Kanto YU6 ร่วมกับซอฟท์แวร์ Roon โดยผ่าน Bridge คือ Raspbery Pi4 มิวสิคสตรีมเมอร์และแด็คมาเข้าทางช่อง Line Input พบว่ามีเกนของเสียงที่แรงกว่าปกติสักหน่อย (ตอนฟังบลูทูธเกนเสียงจะพอดี) จึงต้องเข้าไปทำ Headroom Management ด้วย DSP ของซอฟท์แวร์ของ Roon ที่ –3dB หรือ -4dB จนได้ความลงตัวของค่าเฉลี่ยเกนเสียงที่พอดีต่อการรับฟัง รวมถึงทดลองปรับ Parametric EQ ชดเชยย่านความถี่กลางและทุ้มเสริมเข้าไป ก็ทำให้น้ำเสียงฟังแล้วสมดุลราบเรียบเพิ่มขึ้น

ปิดท้ายด้วยการฟังเสียงจากภาพยนตร์จาก Netflix ด้วยการเชื่อมสาย Optical จากกล่อง AIS Play Box มายัง Kanto YU6 และทำการตั้งค่าสัญญาณดิจิทัลเอาต์พุตของ AIS Play Box เป็น PCM เพื่อให้กล่องเป็นตัวถอดรหัสสัญญาณ 5.1 Dolby Digital ก่อนส่งมายังลำโพง ด้วยจุดเด่นในเรื่องการรองรับไดนามิคเสียงกว้าง ๆ ได้โดยไม่พร่าเพี้ยน ก็ทำให้เวลาได้ยินซาวด์เอฟเฟคจากภาพยตร์จะเสริมอรรถรสความน่าตื่นเต้นได้ดี รวมถึงรายละเอียดเสียงต่าง ๆ ชัดเจนเป็นธรรมชาติน่าพอใจโดยไม่จำเป็นต้องเร่งระดับโวลุ่มมากเกินจำเป็น แนะนำให้หาแอคทีฟซับวูฟเฟอร์มาเสริมย่านต่ำอีกสักตู้ ก็จะได้ชุดโฮมเธียเตอร์แบบ 2.1 แชนแนลดี ๆ สำหรับการนั่งชมภาพยนตร์ได้เพลิดเพลินน้อง ๆ ระบบเซอร์ราวด์

อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ

  • The Weekend (Single) – BiBi
  • Wheels Turn beneath My Feet – Fink
  • They Oughta Write a Song – Halie Loren
  • Take Me to the Alley – Gregory Porter
  • Random Access Memory – Daft Punk
  • Corinne Bailey Rae – Corinne Bailey Rae

สรุป

ฟันธงตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม สำหรับลำโพงแอคทีฟในงบประมาณไม่เกินสองหมื่นบาท ในตลาดตอนนี้ คู่แข่งที่เป็นตัวเปรียบเทียบอย่างสมน้ำสมเนื้อกับ Kanto YU6 ก็คือ Klipsch R-41PM ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงมีพอร์ต USB Audio มาด้วย ทำให้สะดวกเวลาใช้งานร่วมกับ PC หรือ Laptop รวมถึงบุคลิกเสียงที่สด เปิด และเสียงเบสที่กระชับแน่นฟังสนุก ในขณะที่ Kanto YU6 จะค่อนมาทางสมูท นุ่มนวล ฟังสบาย หากใครที่ชอบฟังแนวเพลงหลากหลายและค่อนมาทางออดิโอไฟล์ Kanto YU6 จะตอบโจทย์ได้อย่างลงตัวกว่า นอกจากนี้ในมุมของการนำมาใช้ในลักษณะตั้งโต๊ะซึ่งลำโพงจะใกล้ตำแหน่งนั่งฟัง Kanto YU6 จะได้เปรียบเพราะให้เสียงที่มีความ Laid-back ไม่พุ่งเข้าหาคนฟังจนเกินไป

ราคาจำหน่าย 16,900 บาท / คู่


ขอขอบคุณ บริษัท เอ็ม ไอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โทร. 0-2254-3316-9 สำหรับสินค้าในการทดสอบครั้งนี้