ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 10) The Beatles ผู้ปฏิวัติดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์

0

จ้อ ชีวาส

ดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ อาจเริ่มต้นขึ้นที่ฟากฝั่งสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่หากจะกล่าวถึงการปฏิวัติวงการดนตรีสมัยใหม่ที่ทำให้ ร็อค แอนด์ โรลล์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีสมัยใหม่อย่างแท้จริงก็คือ The Beatles  จากที่กล่าวมาในฉบับก่อนๆว่า เธอะ บีทเทิลส์ เริ่มต้นมาจากการเล่นดนตรีแบบ สคิฟเฟิล มาก่อน สมัยที่ยังเรียนไฮสคูลในปี ค.ศ. 1957  โดยใช้วงในตอนนั้นว่า The Quarrymen  ก่อตั้งขึ้นโดยเด็กหนุ่ม 4 คนคือ John Lennon, Pete Shotton, Bill Smith และ Eric Griffiths ซึ่งต่อมาก็มี Paul McCartney และ George Harrison เข้ามาร่วมด้วย จากนั้นทั้ง 3 คน คือ จอห์น เล็นนอน พอล แมคคาร์ทนีย์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ Stuart Sutcliffe กับ Peter Best ก่อตั้งวง The Silver Beatles ก่อนที่จะมี Ringo Starr เข้ามาและกลายเป็น เธอะ บีทเทิลส์ วงดังนั่นโลกในภายหลัง

จอห์น เล็นนอน มีชื่อจริงคือ John Winston Lennon เกิดในปี ค.ศ. 1940 ที่ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ  จอห์น มีบุคลิกผู้นำมาตั้งแต่เด็ก เขามีชีวิตในวัยเด็กที่ค่อนข้างโลดโผน เป็นหัวหน้าแก๊งในโรงเรียน แต่ก็มีหัวใจรักดนตรี  ขณะที่ จอห์น เข้าสู่วัยรุ่นนั้น แฟชั่นแบบ Teddy Boy กำลังเป็นที่นิยม เขากับเพื่อนๆจึงเดินตามแฟชั่นแบบนี้เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มอื่นๆ กระทั่งเพลง Heartbreak Hotel ของ Elvis Presley เริ่มดังไปทั่วทั้งลิเวอร์พูลในปี ค.ศ. 1956  จอห์น รู้ทันทีว่านั่นคือแนวทางที่เขาต้องการ  และในเวลาเดียวกัน เพลง Rock Island Line ของ Lonnie Donegan ก็โด่งดังขึ้นเทียบเคียงกับเพลงของ เอลวิส  จอห์น และเพื่อนๆจึงเริ่มต้นด้วยวงดนตรี สคิฟเฟิล ตามแบบของ ลอนนี ก่อน  โดยมี จอห์น เล่นกีตาร์และแบนโจ พีท ช็อตตัน เคาะกระดานซักผ้า บิลล์ สมิธ เล่นเบสส์ และ เอริค กริฟฟิธส์ เล่นริธึมกีตาร์ มีชื่อคณะว่า The Quarrymen ซึ่งภายหลังก็มีการเพิ่มกลองเข้ามา โดยมี Colin Hanton เป็นผู้เล่น  ออกเล่นตามงานปาร์ตี ตามที่สาธารณะ และโรงเต้นรำต่างๆ 

กระทั่ง จอห์น ได้รู้จักกับ พอล แม็คคาร์ทนีย์ (เกิดในปี ค.ศ. 1942 ที่ลิเวอร์พูล) และชักชวนเข้ามาร่วมคณะด้วยในปี ค.ศ. 1957 โดยเข้ามาเล่นตำแหน่งริธึมกีตาร์ จากนั้น พอล ก็ชวนเพื่อนอีกคนคือ จอร์จ แฮร์ริสัน (เกิดในปี ค.ศ. 1943 ที่ลิเวอร์พูล) มาร่วมคณะในปี ค.ศ. 1958  ช่วงนั้น Buddy Holly And The Crickets กำลังดังข้ามฝั่งมาถึงอังกฤษ  เธอะ ควาร์รีย์เม็น จึงเปลี่ยนแนวมาเล่นเพลงแบบของ เธอะ คริคเก็ตส์ บ้าง  พอถึงปี ค.ศ. 1959 วงก็เหลือเพียง จอห์น พอล และ จอร์จ และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น Johnny And The Moondogs  พอถึงปี ค.ศ. 1960 จอห์นก็ชักชวน สจวร์ต ซัตคลิฟฟ์ เข้ามาเล่นในตำแหน่งเบสส์ และ Pete Best มาเล่นกลอง  ตอนนี้วงจึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งมาเป็น เธอะ ซิลเวอร์ บีทเทิลส์  และต่อมาก็เหลือเพียง เธอะ บีทเทิลส์

พบกับ Brian Epsttein

ในช่วงก่อนสิ้นทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้รู้จักกับเจ้าของคลับแห่งหนึ่งในลิเวอร์พูล และเป็นโปรโมเตอร์การแสดงชื่อ Allan Williams  อัลแลน วิลเลียมส์ ได้ติดต่อให้พวกเขาไปเล่นประจำที่ The Indra Club ในฮัมบูร์ก เยอรมนี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1960  และต่อมาก็ขยายออกไปอีก 2 แห่ง คือ Kaiserkeller และ Top Ten Club  และที่ ไกเซอร์เคลเลอร์ นี้เองที่พวกเขาได้รู้จักกับ ริงโก สตารร์ (เกิดในปี ค.ศ. 1940 ที่ลิเวอร์พูล) ซึ่งเล่นอยู่กับวง Rory Storm And The Hurricanes  ประสบการณ์ 4 เดือนในฮัมบูร์กทำให้พวกเขาแก่งขึ้นมาก งานที่ต้องแสดงทุกคืนไม่เคยขาดทำให้ทุกคนเพิ่มพูนเทคนิคใหม่ๆให้กับตัวเองรวมทั้งรูปแบบชีวิตอีกด้วย ตอนนั้นพวกเขาสลัคราบ เท็ดดีบอย ออกไปจนหมดแล้ว แทนที่ด้วยชุดหนังและกางเกงยีนส์แบบแก๊งมอเตอร์ไซค์ในภาพยนตร์เรื่อง The Wild One

เธอะ บีทเทิลส์ เดินทางไปแสดงที่ฮัมบูร์ก 2 หน ครั้งแรกต้องกลับมาก่อนเพราะ จอร์จ แฮรร์ริสัน ที่มีอายุน้อยที่สุดในวงอายุไม่ครบเกณฑ์ที่จะเข้าคลับได้ จึงถูกส่งตัวกลับ ทั้งหมดจึงตามกลับมา ส่วนครั้งที่ 2 ตอนต้นปี ค.ศ. 1961 และช่วงเวลานี้เองที่ สจวร์ต ซัตคลิฟฟ์ ขอลาออกจากวงเพื่อไปเป็นจิตรกร พอล แม็คคาร์ทนีย์ จึงต้องเปลี่ยนมาเล่น เบสส์แทนนับแต่นั้น และกลับลิเวอร์พูลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1961 เพียง 4 คน  ซึ่งอีก 9 เดือนต่อมา สทิว ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคทางสมอง

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1961 เธอะ บีทเทิลส์ ไปที่ The Cavern Club และได้พบกับ Brian Epsttein เจ้าของร้านขายเครื่องไฟฟ้าและแผ่นเสียในลิเวอร์พูลที่บังเอิญได้ยินลูกค้าพูดถึงวง เธอะ บีทเทิลส์ อย่างน่าประทับใจ จึงหาโอกาสไปชมการแสดงของพวกเขาที่ เคฟเวิร์น  และเสนอตัวเป็นผู้จัดการเพื่อพาพวกเขาได้ทำสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง แต่พอนำ งานของ เธอะ บีทเทิลส์ ไปเสนอขายให้กับบริษัทแผ่นเสียงต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธทุกที่ 

จนกระทั่งช่วงต้นปี ค.ศ. 1962  ไบรอัน เอปสไตน์ ได้นำงานของ บีทเทิลส์ ไปเสนอให้กับ George Martin ผู้บริหาร EMI และ Parlophone Records  จอร์จ มาร์ติน ก็ตกลงที่จะทำสัญญาอัดแผ่นเสียงกับพวกเขา แต่เขามีความเห็นให้เปลี่ยนมือกลอง แรกทีเดียว จอร์จ มาร์ติน ต้องการให้มือกลองในสติวดิโอของเขาเป็นผู้เล่นแทน แต่ บีทเทิลส์ เสนอชื่อของ ริงโก สตาร์ ขึ้นมาแทน  ริงโก เริ่มเข้าเป็นสามชิกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1961 ท่ามกลางแรงกดดันอย่างมาก เนื่องจากเวลานั้น บีทเทิลส์ เริ่มมีแฟนคลับแล้ว เมื่อข่าวการเปลี่ยนตัวมือกลองแพร่ออกไปจึงทำให้แฟนๆของ พีท เบสท์ ที่มีอยู่อย่างมากมายเกิดความไม่พอใจ  

Please Please Me

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 เมื่อ บีทเทิลส์ เริ่มอัดเสียงในสติวดิโอชิ้นแรก  จอร์จ มาร์ติน ก็ยังไม่วางใจในตัว ริงโก  จึงให้ Andy White มือกลองที่เขาตั้งใจไว้แต่แรกมาที่ห้องอัดด้วย เพลงแรกของ เธอะ บีทเทิลส์ ที่อัดเสียงในวันนั้นคือ Love Me Do จึงมีมือกลองสองคนผลัดกันอัดแต่ละเทค ซึ่ง จอร์จ มาร์ติน ก็ตัดสินใจเลือกเทคของ แอนดี ไวต์ ที่มี ริงโก เป็นคนเคาะแทมโบรีน  เมื่อซิลเกิลแรกคือ เลิฟว์ มี ดู ออกจำหน่ายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 มันยังไม่เป็นที่สนใจนัก เพราะตลาดตอนนั้นไปอยู่ที่ศิลปินจากอเมริกาเป็นส่วนใหญ่

แต่แล้วก็ได้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นเมื่อแฟนเพลง บีทเทิลส์ ในลิเวอร์พูลต่างพร้อมใจกันเขียนจดหมายไปขอเพลงตามสถานีวิทยุมากกว่าร้อยฉบับ และช่วยกันกว้านซื้อแผ่นเสียงไปจากแผงจนทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูด กระทั่งเพลง เลิฟว์ มี ดู เข้าไปอยู่ในอันดับที่ 48 ในชาร์ทของนิตยสาร Melody Maker ทันที และขึ้นถึงอันดับที่ 17ภายใน 2 สัปดาห์  เมื่อกระแสไปได้แรงเช่นนี้ ไบรอัน เอ็ปสไตน์ บีทเทิลส์ จึงเริ่มฉวยจังหวะนี้วางตารางทัวร์สก็อตแลนด์ และไปออกทีวีในรายการ Thank You Lucky Stars  รวมทั้งให้ บีทเทิลส์ เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด จากชุดหนังสีดำที่เคยสวม กลายมาเป็นชุดสูทสะอาดสะอ้าน ผมเผ้าก็ให้ตัดสั้นลง

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963 เธอะ บีทเทิลส์ ก็เริ่มออกตารางทัวร์ทั่วประเทศ โดยร่วมรายการกับ Helen Shapiro นักร้องสาวยอดนิยมขวัญใจวัยเรียนในขณะนั้น และในเดือนมีนาคม ซิงเกิลที่ 2 คือ Please Please Me ก็ขึ้นถึงอันดับที่ 1 ของชาร์ท  ชื่อเสียงของพวกเขาเริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อยๆแล้ว ไบรอัน เอ็ปสไตน์ จึงถาม จอร์จ มาร์ติน ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะให้ บีทเทิลส์ ออกอัลบัมเสียที  อัลบัมชุดแรกของ บีทเทิลส์ จึงมีชื่อว่า Please Please Me ออกวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1963 โดยอาศัยกระแสของเพลง พรีส พรีส มี ที่ยังฮ็อตอยู่นั่นเอง  จากนั้นในเดือนเมษายน ซิงเกิลที่ 3 คือ From Me To You ก็ขึ้นถึงอันดับ 1 ของอังกฤษติดตามมา 

จากความสำเร็จของเพลงต่างๆที่ออกมา ทำให้ เธอะ บีทเทิลส์ เริ่มเป็นที่คลั่งไคล้กันทั่วไปในอังกฤษแล้ว พวกเขาเริ่มมีแฟนคลับหลายพันคนที่เขียนจดหมายเข้าไปแสดงความชื่นชมพวกเขาทุกๆวันจนตอบกันไม่หวาดไม่ไหว และพอถึงเดือนสิงหาคม ซิงเกิลที่ 4 คือ She Loves You ก็ขึ้นถึงอันดับ 1 อีก พอถึงเดือนกันยายน เมโลดี เมคเกอร์ ก็ออกผลสำรวจความนิยมจากผู้ฟังที่โหวตให้ เธอะ บีทเทิลส์ เป็นวงที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอังกฤษในเวลานั้น และหนังสือพิมพ์ The Mirror ก็ลงบทที่ความเขียนถึงกระแสความนิยมของพวกเขาเต็มสองหน้า อีกทั้งหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ต่างๆก็เริ่มให้ความสนใจออกข่าวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง 

Beatlemania ได้เริ่มขึ้น

กระแสความคลั่งไคล้ต่อ เธอะ บีทเทิลส์ เช่นนี้ทำให้การแสดงครั้งใหญ่ครั้งแรกของพวกเขาในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1963 ที่ The London Palladium นั้น แฟนเพลงกว่า 2,000 คนต่างเบียดเสียดเพื่อให้ได้เข้าชมการแสดง  เด็กสาวจำนวนมากต่างส่งเสียงกรีดร้องจนแทบคลั่ง หลายคนฝ่าแนวกั้นของตำรวจที่คอยดูแลความปลอดภัยเพื่อจะไปให้ถึงตัวพวกเขา การแสดงในคืนนั้นต้องแข่งกับเสียงกรีดร้องอันดังของแฟนเพลงไปตลอดเวลา พอถึงในรุ่งเช้าเหตุการณ์คืนนั้นได้ถูกตีลงหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับต่างกล่าวถึงปรากฏการณ์พิเศษครั้งนี้ ซึ่งต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ในด้านบวกเป็นส่วนใหญ่  Beatlemania ได้เริ่มขึ้นแล้ว วัฒนธรรมใหม่ของโลกดนตรีได้กำเนิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันนั้น และในเวลาเดียวกันซิงเกิล ชี เลิฟว์ ยู ก็ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำเนื่องจากมียอดจำหน่ายได้เกินกว่าล้านแผ่นเป็นชุดแรก และจากเพลงเดียวกันนี้พวกเขาได้ทำให้เสียงร้อง Yeah! Yeah! Yeah! ที่อยู่ในเพลงนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ และเป็นแฟชั่นที่วงดนตรีหลายวงต่อๆมาได้นำไปใช้กันจนเป็นที่แพร่หลาย

ความสำเร็จในอังกฤษของ เธอะ บีทเทิลส์ พิสูจน์ให้เห็นจากภาพของแฟนเพลงวัยรุ่นสาวๆที่ต่างรุมล้อมและกรีดร้องกันอย่างคลั่งไคล้ทุกๆที่พวกเขาปรากฏตัว แฟนเพลงหนุ่มๆก็เริ่มเปลี่ยนแปลงบุคลิกตัวเองตามอย่างพวกเขา ไว้ผมและแต่งกายเลียนแบบพวกเขา ไม่มีใครหยุดความโด่งดังของพวกเขาได้แล้ว แม้แต่สมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษก็ยังให้ความสนใจ ทั้ง Queen Elizabeth สมเด็จพระราชินีอังกฤษ กับ Princess Margaret พระขนิษฐา ได้โปรดเกล้าให้พวกเขาเข้าเฝ้า ณ พระราชวัง Buckingham และทรงมีดำริให้ เธอะ บีทเทิลส์ เปิดการแสดงรอบพิเศษหน้าพระที่นั่งที่โรงละคร Prince Of Wales กรุงลอนดอนในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963  ซึ่งนอกจากจะมีทั้งสองพระองค์เป็นแขกพิเศษแล้ว ยังมีสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ รวมถึงบุคคลระดับสูงในแวดวงสังคมอีกมากมาย

เมื่อความสำเร็จต่างๆพรั่งพรูเข้ามาไม่หยุดเช่นนี้  ไบรอัน เอ็ปสไตน์ จึงเริ่มฉกฉวยโอกาสสร้างโลกธุรกิจให้กับ เธอะ บีทเทิลส์ ในทันที เขาได้ติดต่อบริษัททำของที่ระลึกต่างๆเพื่อจัดทำพวงกุญแจ เข็มกลัด กระดุม สติกเกอร์ โปสต์การ์ด สมุด ดินสอ เสื้อแจ็คเก็ต รองเท้าบูทแบบที่พวกเขาสวม หรือแม้กระทั่งวิกผมแบบของพวกเขา ทุกอย่างถูกผลิตออกขายและทำกำไรเข้าบริษัทเป็นเงินก้อนใหญ่เลยทีเดียว ไม่มีสิ่งใดที่มีชื่อ เธอะ บีทเทิลส์ ติดไว้อยู่แล้วจะขายไม่ได้ นี่คือแผนการตลาดชั้นครูของ ไบรอัน อีกวิธีหนึ่ง 

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน อัลบัมชุดที่ 2 คือ With The Beatles ก็ออกวางจำหน่าย แผ่นเสียงชุดนี้ถูกสั่งจองล่วงหน้าถึง 250,000 ชุดก่อนออกวางจำหน่ายจริง ซึ่งในช่วงระหว่างนั้นเองที่ทั้ง ไบรอัน เอ็ปสไตน์ และ จอร์จ มาร์ติน ต่างก็เห็นตรงกันว่า เธอะ บีทเทิลส์ พร้อมที่จะบุกตลาดอเมริกาแล้ว  ในเวลานั้นถึงแม้พวกเขาจะโด่งดังอย่างมากในอังกฤษ แต่สำหรับตลาดอเมริกานั้นชื่อเสียงของพวกเขายังไม่แพร่หลายนัก งานต่างๆของ เธอะ บีทเทิลส์ ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกปฏิเสธโดยบริษัทแผ่นเสียงใหญ่ๆในอเมริกาหลายแห่ง ถึงแม้บางบริษัทจะยอมซื้อผลงานของพวกเขา แต่ก็ไม่กล้าพิมพ์ออกจำหน่าย มีเพียงบริษัทเล็กๆเท่านั้นที่สนใจ และยอมพิมพ์ออกขาย จนเมื่อชื่อเสียงของเขาโด่งดังในอังกฤษแล้วนั่นเอง Capital Records ที่ซื้องานของพวกเขาจึงได้ผลิตอัลบัม Meet the Beatles! ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1964 เป็นชุดแรก

เธอะ บีทเทิลส์ เดินทางถึงสหรัฐอเมริกาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1964  เวลานั้นชื่อเสียงของพวกเขาเริ่มเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในอเมริกาแล้ว ความโด่งดังในอังกฤษทำให้แฟนเพลงชาวอเมริกันต่างตั้งตารอที่จะพบและสัมผัสกับพวกเขา ด้วยเหตุนี้ในวินาทีแรกที่ เธอะ บีทเทิลส์ ก้าวลงเหยียบพื้นสนามบิน John F. Kennedy ที่นิวยอร์ก พวกเขาแทบไม่เชื่อสายตาที่ได้เห็นฝูงชนชาวอเมริกันแห่แหนกันมาต้อนรับพวกเขาอย่างเนืองแน่น  ที่อเมริกานี้ ไบรอัน เอ็พสไตน์ ได้จัดการให้ เธอะ บีทเทิลส์ ได้ออกในรายการ The Ed Sullivan Show รายการทีวียอดนิยมที่มีผู้ชมสูงถึง 73 ล้านคน นั่นหมายถึงการเปิดตัวสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว และก็ทำให้เพลง I Want to Hold Your Hand ขึ้นถึงอันดับ 1 ในชาร์ทของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน  จากนั้น เธอะ บีทเทิลส์ ก็ออกแสดงตามเมืองต่างๆของสหรัฐฯที่มีผู้ชมให้การต้อนรับพวกเขาอย่างล้นหลามในทุกๆแห่ง

ยุติการแสดงคอนเสิร์ตอย่างไม่มีกำหนด

หลังจากเสร็จการทัวร์อเมริกาแล้ว เธอะ บีทเทิลส์ ก็บินกลับอังกฤษเพื่อเริ่มถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรก ชื่อ A Hard Day’s Night ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1964  ต่อจากนั้น เธอะ บีทเทิลส์ เริ่มออกทัวร์รอบโลกจากฮ่องกง ไปนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และกลับมาที่ยุโรป  และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เธอะ บีทเทิลส์ ก็ออกทัวร์อเมริกาอีกครั้งเป็นเวลานาน 32 วัน ตระเวนไปใน 24 เมืองของอเมริกาและแคนาดา โดยเดินทางไกลกว่า 22,441 ไมล์ ต้องนั่งเครื่องบินกว่า 60 ชั่วโมง นับเป็นงานที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยทำมาก่อนจนเริ่มรับรู้ถึงความเครียดที่มาพร้อมกับความโด่งดัง ถึงแม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก และได้รับผลตอบแทนเป็นรายได้จำนวนมหาศาล สามารถซื้อบ้านหลังใหญ่ ซื้อรถหรูกำนัลให้ตัวเอง แต่พวกเขาก็เริ่มรู้สึกสูญเสียความเป็นส่วนตัวลง ต้องคอยหลบหลีกความคลั่งไคล้ ของแฟนเพลงจนเริ่มรู้สึกอึดอัดใจเป็นครั้งแรก และก็ทำให้พวกเขาเริ่มลงลึกกับการใช้ยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1965 เธอะ บีทเทิลส์ กลับไปทัวร์คอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง การแสดงที่สนามกีฬา Shea Stadium นับเป็นการแสดงที่สำคัญที่สุดของรายการนี้ พวกเขาต้องขึ้นแสดงท่ามกลางเสียงโห่ร้องที่ดังกึกก้องตลอดการแสดง 50 นาทีของแฟนๆกว่า 60,000 คน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแทบไม่ได้ยินเสียงดนตรีที่พวกเขาเล่นเลย 

แต่แล้วในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1966 ขณะที่อยู่ในอเมริกานั้น  เธอะ บีทเทิลส์ ทำพลาดอย่างหนักเมื่อหนังสือพิมพ์ Evening Standard ที่ออกในอังกฤษ ได้ลงบทสัมภาษณ์ของ จอห์น เล็นนอน ที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางมายังอเมริกาด้วยคำพูดแบบคะนองปากว่าพวกเขาดังยิ่งกว่าพระเยซูเสียอีก ทำให้ บีทเบิลส์ ถูกต่อต้านจากพวกเคร่งศาสนาในทันที รวมถึงพวกเหยียดเชื้อชาติก็ได้โอกาสหาเรื่องเล่นงานพวกเขาในทันที โดยปลุกระดมคนออกมาเผาแผ่นเสียงของพวก ส่วนสถานีวิทยุหลายแห่งก็ประท้วงไม่ยอมเปิดเพลงของพวกเขา จนบางคนถึงขั้นขู่ฆ่าสมาชิก บีทเทิลส์ ก็มี  จน จอห์น กับเพื่อนๆต้องออกมาแถลงข่าวแสดงความเสียใจว่าเขาไม่ได้ตั้งใจลบหลู่ศาสนา มันเป็นเพียงความคิดเล่นตลกที่ขาดการยั้งคิดเท่านั้น

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเองที่ทำให้พวกเขาเริ่มคิดถึงผลจากการทำงานหนัก จนเริ่มเบื่อหน่ายกับการทำงาน โดยเฉพาะการทัวร์คอนเสิร์ตที่มีมากถึงเกือบ 1,500 รายการตลอด 4 ปีที่ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน กระทั่งถึงการแสดงที่ Candlestick Park ซานฟรานซิสโก ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1966 การแสดงครั้งนั้นนับเป็นการแสดงต่อหน้าฝูงชนครั้งสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจประกาศยุติการแสดงคอนเสิร์ตอย่างไม่มีกำหนด

Sergeant Pepper’s Lonely Hearts Club Band

ปี ค.ศ. 1966 นับเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แฟชั่นในลอนดอนเข้าสู่ยุคของ Carneby Street กระโปรงสั้น กางเกงขาบาน กับเสื้อผ้าลายดอก กำลังเป็นที่นิยมโดยทั่วไป  เธอะ บีทเทิลส์ ก็ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ทั้งดนตรีและการแต่งกาย พวกเขาเริ่มเล่นดนตรีที่พัฒนาขึ้นจากร็อค แอนด์ โรลล์ และริธึม แอนด์ บลูส์ แบบเดิมไปสู่การรวมเอาจังหวะดนตรีต่างๆเอาไว้หลายแบบ ส่วนการแต่งกายนั้น พวกเขาก็เริ่มแต่งกายด้วยแฟชั่น คาร์เนบี สตรีท และเริ่มไว้ผมยาว ไว้หนวดเครามาตั้งแต่นั้น  และภายหลังจากที่งดการแสดงคอนเสิร์ตทั้งหมดลงแล้ว พวกเขาก็หันไปทำงานสติวดิโอเพื่อผลิตอัลบัมแต่เพียงอย่างเดียว อัลบัม Revalver ที่ออกจำหน่ายในเดือนกันยายน ค.ศ. 1966 ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้อย่างชัดเจน  

แต่อัลบัมซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดพลิกรูปแบบการทำงานของ เธอะ บีทเทิลส์ ที่เคยทำมาก่อนทั้งหมดอย่างแท้จริง และถือเป็นอัลบัมประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกดนตรีร็อคทั้งหมดนับจากนั้นมา ก็คืออัลบัม Sergeant Pepper’s Lonely Hearts Club Band ก็ที่ออกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1967  อัลบัมนี้นอกจากจะประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งในด้านยอดจำหน่ายแล้ว ยังนับเป็นอัลบัมที่ได้รับการยอมรับนับจากนั้นจนถึงปัจจุบันว่าเป็นผลงานที่เปิดประตูสู่วิวัฒนาการทางดนตรีและเทคนิคการบันทึกเสียงที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

ความชัดเจนในรอยร้าว

ขณะที่เธอะ บีทเทิลส์ ขึนสู่จุดสูงสุดนี้ ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1967  ไบรอัน เอ็ปสไตน์ ก็เสียชีวิตจากการทานยานอนหลับเกินขนาด การเสียชีวิตของ ไบรอัน ถือเป็นจุดเริ่มแรกของรอยร้างใน เธอะ บีทเทิลส์ อันสืบเนื่องมาจากการพยายามประคองธุรกิจของคณะต่อไปนั่นเอง เมื่อพวกเขาเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ Apple Corporations ขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1967  นับจากนั้นมาปัญหาก็ติดตามมาเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องที่จะนำคนของแต่ละฝ่ายเข้ามาจัดการเรื่องธุรกิจของบริษัท จนต่อมาก็ขยายกลายเป็นการนำเรื่องส่วนตัวและชีวิตครอบครัวของแต่ละคนโจมตีกันไปมา มาโจมตีกันไปมา จนในที่สุดก็เกิดรอยร้าวที่ยากจะประสาน  และยิ่งเมื่อสมาชิกแต่ละคนเริ่มหันไปผลิตอัลบัมส่วนตัว แต่ละคนก็ยิ่งเหินห่างกันไปจนเหมือนกับสายน้ำ 4 สายที่ไหลแยกออกจากแม่น้ำสายใหญ่ไปคนละทาง ความชัดเจนในรอยร้างเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1969 ระหว่างที่พวกเขาเริ่มงานบันทึกเสียงอัลบัมชุดใหม่ ซึ่งแรกทีเดียวพวกเขาตั้งใจจะใช้ชื่ออัลบัมว่า Get Back โดยที่ตอนนั้นก็มีข่าวหนาหูถึงการทะเลาะเบาะแว้งกัน  เธอะ บีทเทิลส์ จึงจัดคอนเสิร์ตนัดพิเศษบนดาดฟ้าตึกที่ทำการบริษัท แอพเพิล ในลอนดอนของพวกเขาในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่ไม่เป็นทางการ มีเพียงเพื่อนพ้องและนักข่าวกับคนในวงการบางคนเท่านั้นได้ได้รับการชักชวนให้ไปชมการแสดงครั้งนี้

คอนเสิร์ตครั้งนั้นนับเป็นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ เธอะ บีทเทิลส์ อย่างแท้จริง เพราะหลังจากนั้นแล้วบรรยากาศในขณะที่ทำการบันทึกเสียงอัลบัมชุดนั้นก็เกิดความตึงเครียดกันตลอดเวลา มีการทะเลาะเบาะแว้งกันทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น คล้ายแต่ละคนพยายามที่จะนำความไม่พอใจแต่ละฝ่ายมาลงกับการบันทึกเสียงในคราวนั้น โดยเฉพาะคู่ของ จอห์น เล็นนอน กับ พอล แม็คคาร์ทนีย์

ความระหองระแหงที่เกิดขึ้นทำให้ในที่สุดแผนการของอัลบัม เก็ต แบ็ค ก็ล้มเหลว เนื่องจาก จอห์น เล็นนอน ได้บอกกับสมาชิกคนอื่นๆว่าเขาขอถอนตัวออกจากคณะในเดือนกันยายน ค.ศ. 1969 โดยไม่กลับเข้าห้องอัดเสียงร่วมกับ เธอะ บีทเทิลส์ อีกเลย และหลังจากนั้นเพียง 6 วัน อัลบัมชุดใหม่ก็ออกมาในชื่อ Abbey Road วางจำหน่ายในเดือนกันยายน ค.ศ. 1969  ซึ่งภาพปกอัลบัมก็คล้ายเป็นการบอกนัยๆว่าพวกเขาต่างคนต่างเดินแม้จะเดินมาทางเดียวกันก็ตาม แต่ก็มากันคนละงาน  อีกทั้งยังมีการนำเทปที่เหลือจากการอัดเสียงในคราว เก็ต แบ็ค เช่นกัน มารวมกันออกเป็นอัลบัมได้อีกชุดหนึ่งมีชื่อว่า Let It Be  ออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970  ซึ่งชื่ออัลบัมก็เสมือนกับบอกว่าปล่อยมันไปตามกรรมเถอะ

อัลบัมชุดนี้เองที่นับเป็นอัลบัมอย่างเป็นทางการชุดสุดท้ายของ เธอะ บีทเทิลส์ อย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้าที่อัลบัม เล็ต อิต บี จะออกนั้น พอล แม็คคาร์ทนีย์ ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนอย่างชัดเจนในเดือนเมษายน ค.ศ. 1970 ว่าเขาได้ออกจาก เธอะ บีทเทิลส์ แล้ว จึงเป็นอันว่า เธอะ บีทเทิลส์ ได้ปิดฉากลงเหลือไว้แต่เพียงชื่อให้เป็นตำนานของโลก ร็อค แอนด์ โรลล์ นับแต่บัดนั้น