“…อะไรคือไฮไฟ? – ไฮไฟคืออะไร?…” Episode 3 : “แอมป์” เลือกผิดคิดจนปวดหัว

0

Garoonchart Bukkavesa

สวัสดีครับ สำหรับตอนที่แล้วเล่าถึงแหล่งโปรแกรมต้นทางที่ปัจจุบันมีหลายชนิด มือใหม่มึนงงแน่นอนแต่ถ้าอ่านที่ผมเขียนแล้วพยายามทำความเข้าใจ ผมเชื่อว่าทุกท่านจะเห็นภาพลาง ๆ ของแหล่งโปรแกรมที่จะใช้ในซิสเต็มแล้วละครับ

สำหรับตอนนี้จะมาอธิบายถึงการเลือกภาคขยายหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “แอมป์” กันครับ

อุปกรณ์ที่เรียกกันว่าแอมป์ นั้น มีหน้าที่ขยายสัญญาณต้นทางที่ส่งมาให้มีความดังเกิดขึ้นนั่นเอง จะมากน้อยนั้นควบคุมด้วยปุ่มโวลุ่ม

ดังนั้นถือว่า โวลุ่มนั้นสำคัญมาก ซึ่งในพรีวิวหรือบททดสอบของผม อินทิเกรตตัวใดมีการเน้นในส่วนโวลุ่ม ผมจะระบุไว้เสมอ เช่น Circle Labs : A200

ส่วนในครั้งนี้จะยังไม่เจาะลึกในส่วนโวลุ่ม เนื่องจากผู้ผลิตทั้งหลายต่างมีไกด์ไลน์ออกแบบไม่เหมือนกัน ต้นทุนต่างกัน ฯลฯ ทำให้ชนิดของโวลุ่มนั้นต่างกันไปนั่นเอง โวลุ่มดี ๆ บางตัวเป็นหมื่นนะครับ ควรจะอยู่กับเกรดของเครื่องด้วย ถ้าเป็นเครื่องราคาหลายแสนสามารถใส่โวลุ่มดี ๆ เข้าไปได้ ถ้าเครื่องแค่หลักหมื่นการใช้โวลุ่มราคาหมื่นกว่าคงไม่ช่วยอะไรนัก… 

กลับมาในภาคของแอมป์ แน่นอนว่าจะมีแบ่งเรียกตามมาตรฐานสากลคือ อินทิเกรตแอมป์ (เป็นเครื่องรวมภาคปรีแอมป์กับภาคขยายไว้ด้วยกันในตัวถังเดียว) กับแยกเป็น 2 ชิ้นคือ ปรีแอมป์ 1 ชิ้น และเพาเวอร์แอมป์ 1 ชิ้น  เริ่มต้นง่าย ๆ คือ ใช้อินทิเกรตแอมป์ เสียบสายไฟเอซีก็พร้อมทำงาน

แน่นอนว่าสายไฟสำหรับแอมป์กับแหล่งโปรแกรมต้นทางมีทั้งที่เหมือนกัน และออกมาเฉพาะกิจ สายแบบดิจิตอล VS สายแบบอนาลอก ซึ่งไว้เดี๋ยวค่อยเขียนในส่วนของสายต่าง ๆ (โปรดติดตามครับ)

นอกจากนี้อินทิเกรตแอมป์ยังมีแบ่งเป็น 3 พิมพ์นิยมคือ ใช้ทรานซิสเตอร์เป็นตัวขยาย / ใช้ “หลอด” เป็นตัวขยาย  และแบบไฮบริดจ์ คือส่วนวงจรปรีเป็นหลอดแต่วงจรขยายเป็นทรานซิสเตอร์ ซึ่งแต่ละแบบล้วนมีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป เลือกเล่นอะไรไม่มีผิดมีถูก เพียงแต่ต้องเข้าใจจุดต่าง ๆ เพื่อปรับใช้นั่นเอง เป็นอย่างไรอ่านกันต่อครับ

อินทิเกรตแอมป์แบบใช้ทรานซิสเตอร์

เป็นเทคโนโลยียอดฮิต นิยมใช้กันทั้งโลก สร้างง่าย ไม่แพง (หลักพัน) ไปจนแพงเป็นแสนเป็นล้านก็มี ตัวทรานซิสเตอร์เองยังมีหลายเบอร์ หลายเทคนิค และหลายชนิด เช่น มอสเฟตก็เสียงแบบหนึ่ง ไบโพล่าร์ก็เสียงอีกแบบ ผู้ผลิตแต่ละรายก็เลือกไม่เหมือนกันแล้วแต่สไตล์ของแบรนด์  ปัจจุบันอะไหล่บางตัวหมดไปแล้ว คุณไม่สามารถสร้างได้อีก ย่อมต้องปรับเปลี่ยนกันไป การสร้าง “วัตต์” เยอะ ๆ จะใช้ทรานซิสเตอร์หลาย ๆ ตัวมาเบิ้ลเข้าไป

วงจรหลักจะเป็น Clas AB เพื่อให้มีกำลังขับสูง ๆ ล่อตาล่อใจ ไม่มีความร้อนมากนัก นอกจากนี้จะมีบางเครื่องที่ต้องการความบริสุทธิ์จริง ๆ ความเพี้ยนจะต่ำ มีความเป็นดนตรีที่ดีมาก มักจะสร้างเป็น Class A ซึ่งกำลังวัตต์จะมีตัวเลขที่น้อย ราว 20-40 วัตต์ แต่เป็นวัตต์ต่อเนื่อง ข้อเสียคือ มีความร้อนสูงมาก ต้องการวางในที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี ราคาแพงมาก ปัจจุบันหาได้น้อยมากนับยี่ห้อได้ เช่น Accuphase, Sugden ยิ่งถ้าระบุว่าเป็น Class A กำลังวัตต์สูงแบบ 50-60 วัตต์ ราคายิ่งเบิ้ลไปเท่าตัว เป็นหลาย ๆ แสน

แผงวงจรทั่วไปมักเป็นแบบรวม แต่ในเครื่องระดับไฮเอนด์หรือเน้นคุณภาพ มักจะแยกแผงวงจรเป็น “ดูอัลโมโน” แยกซ้าย / ขวา อิสระจากกัน สัญญาณทั้ง 2 ซีกจะไม่กวนกันเลย เสียงจะมีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น แต่ย่อมทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเป็นทวีคูณเนื่องจากต้องใช้หม้อแปลงแยก 2 ลูก ซ้าย / ขวา นั่นเอง

ในส่วนหม้อแปลง ทั่วไปจะเป็น EI ถ้าตัวไหนเน้นคุณภาพจะยอมจ่ายเพิ่มแล้วหันไปใช้แบบ “เทอร์รอยด์” ที่มีกำลังดีมาก ขนาดเล็กกว่า มีความร้อนต่ำกว่า ซึ่งมีหลายเกรดถ้าแบรนด์ดี ๆ ย่อมแพงเป็นธรรมดา  นอกจากนี้บางตัวหันไปคบหม้อแปลงแบบ “สวิตชิ่ง” ที่ถูก ประหยัดพื้นที่ ฯลฯ ก็มี แต่จะทำให้เสียงดียากเพราะตัวหม้อแปลงเองเมื่อทำงานจะปล่อยความเพื้ยนที่สูง แต่บางยี่ห้อก็จัดการได้ดี เสียงยังคงน่าฟัง ไม่แห้ง

อินทิเกรตแอมป์ทรานซิสเตอร์มีให้เลือกมากมาย นับไม่ถ้วน สัญชาติอังกฤษ, อิตาลี, อเมริกา, ญี่ปุ่น ฯลฯ หรือแม้แต่ของไทยก็มี

ไม่นานนี้ในส่วนของภาคขยายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้บอร์ดแอมป์สำหรับรูปแบบ “ดิจิตอล” ที่รู้จักกันในนาม Class D (จะมี Arcam ที่เรียกว่า Class G ซึ่งเคลมว่าแตกต่างจากแอมป์ Class D ทั่วไป) ในส่วนภาคปรีจะเป็นดีไซน์เดิม มาผสานกับบอร์ดแอมป์สำเร็จรูป ซึ่งตัวที่ได้รับความนิยมคือ Hypex NCore เจนล่าสุด เสียงดีงาม ไม่แห้ง (อาจแยกไม่ออกว่าเป็นแอมป์ Class อะไร) กำลังวัตต์ได้ มีความร้อนต่ำ มีความเพี้ยนต่ำ มีค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์ (หยุดกรวยลำโพง) ที่สูง และเชื่อว่าจะเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ  

อินทิเกรตแอมป์แบบหลอด

เป็นเทคโนโลยียอดฮิตในอดีต ก่อนถูกทรานซิสเตอร์เข้ามาทดแทน แต่ปัจจุบันบางแบรนด์ได้หวนกลับมาผลิตใหม่ ซึ่งปัจจุบันที่พบคือ แบบซิงเกิ้ลเอนด์ พวกนี้วัตต์ เริ่มต้ังแต่ 3 วัตต์!! หลอดที่นิยมก็ EL84, 300B ฯลฯ จึงนิยมจับคู่กับลำโพงความไวสูง ๆ กว่า 95 db เพื่อไม่ต้องเร่งโวลุ่มเยอะ จะให้วัตต์เยอะกว่านี้จะต้องเบิ้ลหลอดเข้าไปอีกคู่ แต่การจะสร้างให้ดีนั้นไม่ง่าย เพราะต้องแมชแพร์หลอดทั้ง 4 ให้ตรงกันเพื่อร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และเมื่อใช้หลอดกำลังที่ต่างเบอร์กัน ทำให้มีบุคลิกเสียงโดยเฉพาะความหวาน ความออดอ้อนที่ต่างกันไป นั่นเลยกลายเป็นคาแรกเตอร์ที่ทำให้คนหลงรักการเล่นเครื่อง “หลอด”

อินทิเกรตหลอดอีกแบบจะเรียกว่า Push Pull จะเน้นกำลังขับที่มากขึ้น เพื่อขับลำโพงทั่วไปได้ง่ายกว่า มักจะมีกำลังราว 20-40 วัตต์ (ขึ้นกับการออกแบบ) สังเกตถ้ามีจำนวนหลอดมาก จะแปลว่ามีกำลังขับที่มากขึ้นนั่นเอง หรือไม่ก็ใช้หลอดกำลังสูงขึ้น เช่น KT ต่าง ๆ

แม้จะถูกระบุว่ามีความเพี้ยนสูงแต่นั่นก็เป็นสเน่ห์อีกจุดของแอมป์หลอด และเมื่อหลอดแต่หลอดมีบุคลิกเสียงที่ต่างกันไป ผู้ใช้สามารถสั่งหลอดเบอร์เดียวกันมาเปลี่ยนเพื่อปรับจูนตามที่ชอบได้เลย ยิ่งทำให้สนุกสนานมากขึ้น การหาซื้อหลอดจากที่ต่าง ๆ โดนหลอกบ้าง ได้ของดีบ้าง จึงเป็นประสบการณ์ที่คนเล่นเท่านั้นจึงจะทราบ

ซึ่งเรื่องราวเพียงไม่กี่บรรทัด เป็นเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น การจะเรียนรู้แอมป์หลอดมีให้อ่านเป็นเล่ม ๆ แต่ผมเขียนเพื่อให้มือใหม่ได้ไอเดียเริ่มต้นนั่นเอง

ขณะที่ในส่วนวงจรจะเป็นธรรมดา ไม่ต้องแยกอะไร แต่มีหลายวงจร ขึ้นกับคุณจะใช้หลอดเบอร์อะไร จำนวนกี่หลอด ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการจ่ายไฟในจุดต่าง ๆ ว่าต้องสเปคเท่าไหร่ ภาคจ่ายไฟเป็นหลอดหรือเป็นทรานซิสเตอร์ ใช้หม้อแปลงขนาดไหน หม้อแปลงจะมี 3 ลูก คือ ขาเข้า 1 ขาออก 2 (ซ้าย / ขวา)  ซึ่งต้องเลือกตั้งแต่ต้นเลย ไม่สามารถสลับหลอดต่างชนิดกันได้นั่นเอง 

ด้านใต้ใส้ใน บางยี่ห้อเดินฮาร์ดไวร์ระโยงระยางพันกันยุ่งเหยิง แต่ “เสียง” ดี ดังนั้นจะไปดูการไวริ่งสายของไส้ในไม่ได้เลย บางแบรนด์เดินสายสวยงามแต่ฟังไม่ได้เรื่องก็มีถมไป

แอมป์หลอดแบรนด์ต่างประเทศมักมีราคาสูง เพราะบางทีสร้างด้วยมือ แฮนด์เมด ค่าแรงเขาแพง ดังนั้น แอมป์หลอดไทยทำ จะได้เปรียบเรื่องราคา คุณภาพไม่หนีกันนัก เมื่อเทียบกับชิ้นงานแบบเดียวกัน

ไม่นานนี้ผมบังเอิญไปห้องช่างแล้วพบว่า มีแอมป์หลอดไทยแบรนด์นึง ใช้หลอด 300B อุปกรณ์ภายในเกรดมาตรฐาน เจ้าของสั่งรื้อเปลี่ยนอะไหล่เทพเข้าไป เฉพาะค่าอะไหล่นั้นแทบจะเท่าค่าเครื่อง อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองการเล่นแต่ละท่าน บางท่านอาจเห็นดีเห็นงาม ทำให้ไปเทียบเครื่องแบรนด์ต่างประเทศราคาหลักแสนได้ บางท่านก็ไม่เห็นด้วยเพราะต้องจ่ายอีกเท่าตัว มากเกินไป ฯลฯ

โดยทั่วไปอินทิเกรตแอมป์หลอดแท้ ๆ มักจะสร้างแบบ Old School คือ รองรับสัญญาณเข้าแค่อนาลอกเท่านั้น ไม่มีภาค DAC ไม่มีบูลทูธใด ๆ นะครับ

อินทิเกรตแอมป์แบบไฮบริดจ์

ปัจจุบันมีไม่มากยี่ห้อนักเพราะทำให้ดีนั้น “ไม่ง่าย” จุดประสงค์หลักคือ เอาความหวานละมุนของหลอดมาผสมกับพลังที่ดีของทรานซิสเตอร์ เพียงแต่มันไม่ง่ายเหมือนกันที่กว่าจะทำให้เสียงออกมาเป็นแบบที่ต้องการ บางตัวใช้หลอด 12AX7 บางตัวเป็น 6SN7 เสียงก็ต่างแล้ว และจะใช้กี่ตัว ส่วนมากนิยม 2-4 หลอด

ในทรานซิสเตอร์จะใช้เบอร์อะไร ต่อพ่วงกี่ตัว ต้องการกำลังขับเท่าไหร่ ฯลฯ ล้วนเป็นตัวแปร เพื่อทั้งหมดจะต้องกำหนดขนาดหม้อแปลงที่จะใช้ ไม่นับว่าวงจรจะเป็นแบบรวม หรือแยกเป็นซ้าย / ขวา (ดูอัลโมโน) จะเห็นว่าไม่ง่ายเลย แต่เมื่อทำได้ เสียงจะอิ่มหวานแต่ทรงพลัง

เมื่อหาจุดลงตัวเจอจะได้ยินเสียงที่น่าฟัง ดังจะเห็นว่ามีผู้ผลิตรายล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ออกมา นั่นคือ Mcintosh นั่นเอง แถมมี 2 รุ่น MA252 และ MA352 หรือตัวที่ผมทดสอบไปคือ Circle Labs : A200 ไม่นับรวมตัวเก่าดางค้างฟ้าอย่าง Aesthetix : Mimas

เรียกว่า ทนอ่านมาถึง ให้แค่เลือกว่าจะใช้อินทิเกรตแอมป์แบบไหน? สำหรับมือใหม่หัดเล่นนั้น… ไม่ง่ายเลยละครับ เพราะอินทิเกรตแอมป์บางตัวมีราคาสูงมากจนเทียบกับปรี / เพาเวอร์แอมป์ได้เลย

เดี๋ยวจากนี้มาดู Level อัพเกรดเป็นแบบ 2 ชิ้นคือ ปรีแอมป์ 1 ชิ้น และแอมป์ 1 ชิ้นกันบ้าง

หลัก ๆ จะคล้ายกับชนิดของอินทิเกรตเลย แต่มีแค่ปรีแอมป์ทรานซิสเตอร์กับปรีแอมป์หลอด ไม่มีปรีแอมป์ไฮบริดจ์ เพราะตัวปรีแอมป์เป็นแค่ภาคบัฟเฟอร์ / เลือกอินพุท / ควบคุมระดับเสียงนั่นเอง

ปรีแอมป์ทรานซิสเตอร์

เป็นระบบที่ได้รับความนิยม วงจรพื้นฐานก็มีมากมายขึ้นกับสูตรของผู้ผลิต พัฒนาอย่างต่อเนื่องดีขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งแบบมาตรฐานไปจนถึงอัลตร้าไฮเอนด์ที่สุดยอดทั้งโครงสร้างทางวิศวกรรมจนไส้ใน

เช่น บางตัวสร้างเป็น Fully Balance แยกสัญญาณซีกซ้าย / ขวาออกจากกันตั้งแต่ต้นทางขาเข้าเลย นัยว่าเพื่อสัญญาณที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น บางตัวแยกภาคจ่ายไฟเป็นอีก 1 ตัวถัง เพื่อไม่ให้คลื่นจากหม้อแปลงมารบกวนการทำงานของวงจร ไปจนสุดแบบ 3 ตัวถัง คือ ภาคจ่ายไฟ 1 ชิ้น ภาคปรีชุดซ้าย 1 ชิ้น ภาคปรีชุดขวา 1 ชิ้น!! ประมาณนี้ ซึ่งจะมีมากขึ้นด้วย เพราะแยกแค่ 2 ชิ้นดูน้อยเกินไปแล้ว แถมอัพราคาได้เต็มที่ยิ่งขึ้นด้วย

ขั้วต่อจะมีทั้ง RCA และ XLR ถ้าปรีแอมป์เครื่องไหนมีเฉพาะ XLR In เดาเลยว่าเน้นคุณภาพยิ่งขึ้น

ขณะที่การจับคู่ สามารถเลือกจับกับเพาเวอร์แอมป์ทรานซิสเตอร์ยี่ห้อเดียวกัน ต่างยี่ห้อกัน หรือจับกับเพาเวอร์แอมป์ “หลอด” ได้ง่าย แทบไม่มีปัญหาการจับคู่เลย

ปรีแอมป์หลอด

แน่นอนว่าใช้ “หลอด” มาช่วยขยายสัญญาณ มีการดีไซน์แบบโชว์หลอด หรือไม่โชว์หลอด ในส่วนหลอดที่ใช้ถ้าเป็นสเตจเดียว ตัวสัญญาณที่ออกไปมักจะเป็นแบบ “กลับเฟส” การต่อสายต้องพึงระวังด้วย ดังนั้นการศึกษาข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เดี๋ยวจะโทษว่าทำไมเสียงไม่ดีเหมือนที่นักวิจารณ์รีวิวเอาไว้

แต่เมื่อใช้หลอด 2 สเตจขึ้นไป สัญญาณจะออกเป็นเฟสปกติแล้ว สามารถต่อสายแบบปกติได้ ไม่ต้องมาต่อแก้การ “กลับเฟส” อีกต่อไป

เพาเวอร์แอมป์ทรานซิสเตอร์

เลือกวัตต์ที่ต้องการ  300, 500, 1,000 วัตต์ ฯลฯ มีตัวถังแบบสเตอริโอ และโมโนบล๊อค แยกเป็น 2 ตัวถัง ซึ่งถ้าเป็นอัลตร้าไฮเอนด์อาจมี 4 ตัวถัง คือเป็นโมโนบล๊อค และแยกเอาภาคจ่ายไฟออกมาอยู่ด้านนอกอีกที มีตัวเลือกมากมายจริง ๆ ครับ

เพาเวอร์แอมป์หลอด

คล้าย ๆ กับของทรานซิสเตอร์ คือ เลือกวัตต์ที่ต้องการ มีตัวถังแบบสเตอริโอ และโมโนบล๊อค แยกเป็น 2 ตัวถัง ซึ่งจะใช้หลอดต่างชนิดกันไป เช่น KT, 300B, 2A3, 845 ซึ่งจะต่างกันตรงวัตต์, คาแรกเตอร์เสียง และราคา ยิ่งไฮเอนด์มากยิ่งแพงมาก ลำพังแค่หลอด NOS คัดเกรด ราคาพุ่งไปถึงไหนแล้ว

การจับคู่

เมื่อเลือกเล่นแบบ 2 ชิ้น คือ ปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ ดูเหมือนการใช้ 2 ชิ้นแยกอิสระนี้ ทำให้หลายคนคิดว่าเราจะเลือก “อะไรก็ได้” มาจับคู่ต่างแบรนด์กัน เพราะไม่อยากใช้ยี่ห้อเดียวกัน (อาจคิดว่าโดนบังคับซื้อ) ทั้งที่จริงไม่ใช่เลย

เบื้องต้นสามารถเลือกปรีแอมป์ทรานซิสเตอร์คู่กับเพาเวอร์แอมป์ทรานซิสเตอร์ยี่ห้อเดียวกัน ต่างยี่ห้อกัน หรือจับกับเพาเวอร์แอมป์ “หลอด” ได้ง่าย แทบไม่มีปัญหาการจับคู่เลย ยกเว้นพวกสไตล์พิเศษบางยี่ห้อ เช่น Spectral, Pass Labs ที่เมื่อคุณเลือกแล้วควรจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ในซีรีส์เดียวกัน จะให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวกว่า การผสมข้ามพันธ์มักมีข้อเสียบางอย่างเกิดขึ้น

แต่ถ้าเป็นปรีหลอดคู่กับแบรนด์เดียวกันจะดีที่สุด หรือต่างยี่ห้อได้ถ้าเป็นเพาเวอร์หลอดเหมือนกัน โดยที่ควรหลีกเลี่ยงการจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ทรานซิสเตอร์ เพราะจะเกิดมิสแมชได้ง่าย รวมทั้งคู่ทรานซิสเตอร์บางตัวด้วย

ปัญหา “ใหญ่” ที่จะเกิดคือจุดตรงนี้ คือ การใช้คนละยี่ห้อพบว่าเสียงไม่ดีเหมือนที่คิด เช่น ใช้ปรีหลอดยี่ห้อ A จะเสียงหวาน ใช้เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์แบรนด์ C ที่ให้กำลังดี แต่ฟังจริง “ไม่ดี”  ปัญหาหลักคือ ค่า Output Impedance และ Input Impedance ที่ไม่สมดุลย์กัน อาการที่พบคือ เสียงจะบาง เบสหาย สู้เสียงของปรี-เพาเวอร์ที่ใช้งานคู่กันไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าแนะนำให้เลือกจับคู่ควรจับกับแบรนด์เดียวกันจะดีที่สุดละครับ

ก่อนซื้อดูอะไร?

ผมสรุปข้อสังเกตสำคัญที่เป็นไกด์ไลน์ เรื่องข้างต้นนั้นเป็นเรื่องของการดีไซน์ / ชนิด ซึ่งนอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดองค์ประกอบขึ้นมา ซึ่งบางทีเราไม่สามารถกำหนดอะไรได้มากนัก เพราะผู้ผลิตได้คำนึงมาหมดแล้วนั่นเอง เช่น แผงวงจร / หม้อแปลง / เกรดอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งบางคนก็ไม่พอใจ ไปโมดิฟายกันตามสูตร แล้วแต่สำนักใคร เงินใคร จนถึงขนาดเปลี่ยนอะไหล่ไปกว่า 50% จากที่โรงงานใส่มา เสียงดีหรือไม่ดีก็ไม่อาจทราบได้ 

ขั้วต่อเบื้องต้นที่พึงมี เช่น ช่อง Pre Out สำหรับกรณีเปลี่ยนลำโพงใหม่ที่กินวัตต์ขึ้น เปลี่ยนห้องใหม่ที่ใหญ่ขึ้น วัตต์เดิมอาจไม่พอ เพียงแค่หา “เพาเวอร์แอมป์” มาเพิ่มแล้วต่อสายสัญญาณลิ้งค์ไปหากัน ส่วนจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ลองย้อนไปอ่านด้านบนซ้ำ ๆ อีกที แล้วใช้อินทิเกรตตัวเดิมมาทำเป็นปรีแอมป์ไปพลาง ๆ ไว้รอขยับขยายต่อไป หรือจะพอใจเท่านั้นก็สามารถคงไว้ได้เลย แต่ถ้าไม่มี คุณต้องซื้ออินทิเกรตตัวใหม่สถานเดียว เห็นความสำคัญของช่อง PreOut หรือยังครับ?

  • Sub Out สำหรับช่องนี้ต่อเพิ่มแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ เพื่อให้กลายเป็น 2.1 แชนแนลนั่นเอง ตรงนี้แล้วแต่ชอบ บางทีเปิดดังไม่ได้ เบสก็ไม่มา ขาดความน่าฟังไป เมื่อพ่วงซับฯ คุณบูสท์เสียงทุ้มขึ้นมาเติมเต็มได้ง่าย บางทีก็เป็นสวรรค์แห่งเสียงได้แล้ว อยู่ที่ว่าจะเข้าใจหรือไม่ รวมถึงต้องการอะไรกันแน่?
  • XLR In ช่องนี้สำหรับรองรับเครื่องเล่นต้นทางที่มีช่อง XLR Out เพื่อให้ได้ความบริสุทธิยิ่งขึ้นนั่นเอง ถ้ามีได้ก็จะดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร
  • บอร์ดอัพเกรด จะใส่มาเลยหรือเป็นออปชั่นก่อนซื้อก็แล้วแต่การเซ็ทไว้ของแต่ละแบรนด์ ถ้ามีไว้เผื่ออนาคต “ต่อยอด” การเล่นได้ อาจช่วยทำให้คุณเล่นได้หลากหลายขึ้น นับว่าน่าสนใจ ใช้ได้ทันที ใครไม่ได้ใช้งานก็ไม่ต้องจ่าย ใครต้องการค่อยซื้อ วิน ๆ ทั้งคู่ครับ

ฟีเจอร์เบื้องต้นที่ควรมีซึ่งบางคนอาจให้ความสำคัญกับส่วนนี้มากกว่าก็เป็นได้ เช่น

  • หน้าจอแสดงผล เครื่องรุ่นใหม่ ๆ มักจะเริ่มมีใช้กัน แต่เครื่องรุ่นเก่าอาจจะยังไม่มี ซึ่งหน้าจอนี้ไว้ทำอะไร จะขอไปขยายความในหัวข้อ “เทรนด์แอมป์ในอนาคต”
  • แอปฯ สั่งการจากมือถือ  บางทีนั่งเล่นมือถืออยู่แล้วกดเพิ่มเสียง / ลดเสียงผ่านมือถือได้เลยถือว่าสะดวกดี
  • ฟีเจอร์บูลทูธ บางเครื่องถ้าไม่มีสตรีม อาจใส่ฟีเจอร์นี้เพื่อให้คุณเล่นง่าย ๆ สั่งเชื่อมต่อได้ทันทีจากมือถือ ไม่ต้องเปิดเครื่องเล่นซีดี / เครื่องเล่นแผ่นเสียง

สรุปข้อสังเกตสำคัญที่เป็นไกด์ไลน์

สเปคเบื้องต้นที่ควรดู  “กำลังวัตต์” ซึ่งจะมีตัวแปรที่ต้องพิจารณา พิจารณาควบคู่ไปด้วย นั่นคือ ลำโพง ลำโพงบางตัว สเปคโหด แอมป์ทั่วไปขับได้แค่ 70% คุณจะไม่ได้ยินอะไรบางอย่าง ต้องเลือกให้ดีครับ เลือกวัตต์สูงสุดที่จ่ายไหวย่อมได้เปรียบ

อีกจุดคือ ความสัมพันธ์กับห้องฟัง บางห้องใหญ่เกินไป, ชอบฟังดัง, ลำโพงกินวัตต์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คุณควรจะต้องเพิ่มกำลังวัตต์เข้าไปอีก 10-20% เพื่อรองรับค่าตัวแปรเหล่านั้น จะได้ทำให้การฟังจริง ๆ อยู่ในวิสัยที่ดี หากเราลืม “คิดเผื่อ” เอาไว้ เมื่อฟังจริงอาจทำให้เกิดปัญหาว่าดังไม่พอ เบสบางไป เร่งดัง ๆ เสียงจะเริ่มเครียด ฯลฯ

จะเห็นว่าตัวแปรของแอมป์ที่มีระหว่างลำโพงกับห้องนั้น มีความสำคัญไม่น้อย แค่ถ้าถามว่า “ไม่ไหว” จะสามารถทำได้หรือไม่? คำตอบคือลดหย่อนได้ครับ ถ้าไม่เปิดดัง ใช้ในห้องเล็ก ๆ

เทรนด์แอมป์ในอนาคต

นอกจากฟีเจอร์จะมาเต็มขึ้น รองรับการสตรีมได้ มีแอปฯ คือ หน้าจอแสดงผลแบบสี ซึ่งสมัยก่อนจะไม่มีความจำเป็น แต่ยุคสตรีมได้นี้ถือว่ามีความจำเป็นไม่น้อย จะโชว์รูปปกเวลาเล่นนั่นเอง นอกจากนี้ยังสามารถแสดงค่าอื่น ๆ ได้ เช่น รายชื่อเพลง ระบบเสียงที่เล่น การเชื่อมต่ออินเตอร์เน๊ต นาฬิกา ฯลฯ ซึ่งขณะที่แม้ไม่ได้เล่นสตรีม มาเล่นช่องอินพุทอื่น ก็ยังดีไซน์ให้แสดงค่าต่าง ๆ เล่นสีสันต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดความสวยงาม มีความเป็นโมเดิร์นยิ่งขึ้น

แอมป์รุ่นใหม่ที่มีจอแต่เป็นขาวดำ แสดงผลแค่อินพุท / โวลุ่ม อาจต้องปรับเปลี่ยนให้แสดงผลค่าต่าง ๆ มากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนแอมป์ดั้งเดิมอาจจำต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้รองรับกระแสคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น มิฉะนั้นอาจขายไม่ได้เลยหากยึดการออกแบบในสไตล์ “ดั้งเดิม”

อีกจุดนึงที่จะมีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การใช้บอร์ดแอมป์ในรูปแบบ “ดิจิตอล” ที่รู้จักกันในนาม Class D มากขึ้น (จะมี Arcam ที่เรียกว่า Class G ซึ่งเคลมว่าแตกต่างจากแอมป์ Class D ทั่วไป) ซึ่งตัวที่ได้รับความนิยมคือ Hypex NCore เจนล่าสุด เสียงดีงาม ไม่แห้ง (ฟังแล้วอาจแยกไม่ออกว่าเป็นแอมป์ Class อะไร) กำลังวัตต์ได้ มีความร้อนต่ำ น่าจะแพร่หลายมากขึ้น

สรุปเรื่องแอมป์ เลือกผิดคิดจนปวดหัว!!

การเล่นง่าย ๆ ด้วยอินทิเกรทที่ครบเครื่องน่าจะดี แต่แค่นี้การเล่นจริง ๆ ก็กลายเป็นเรื่องราวมากมายแล้ว เลือกผิดเลือกถูกกันมานักต่อนัก ดีของเขา ดีของเซียนอาจไม่เหมือนของเรา จนบางคนบอกเชื่อหูตัวเอง…ซึ่งอันนี้ไม่ได้อวยตัวเองหรือรีวิวเวอร์ต่าง ๆ ผมเชื่อว่าการเลือกเองโดยไม่มีไกด์ไลน์ใด ๆ โอกาสผิดพลาดสูงมากครับ

 สำหรับมือใหม่ยิ่งได้ตัวที่มีฟีเจอร์ทุกอันจะยิ่งดี ถ้ามือเก่าอาจจะต้องเลือกฟีเจอร์ที่ “ต้องการ” จริง ๆ การได้ไม่แต่ไม่ได้ใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ 

ลองค่อย ๆ อ่านช้า ๆ ซ้ำ ๆ ให้ซึมเข้าหัวนะครับ อย่าเพิ่งรีบด่วนได้เสียใด ๆ สงสัยตรงไหนเพิ่ม ib มาถามได้ ผมจะพาคุณเดินบนถนนสายไฮไฟเส้นนี้ด้วยกันครับ นอกจากนี้ มีบทความที่ผมเขียนไว้ไม่นานคือ “เฟ้นหาอินทิเกรตแอมป์เสียงดีที่สุด ราคาถูกที่สุด” ลองอ่านดูกัน

ขอให้สนุกกับการคัดเลือกนะครับ

ส่วน ep. หน้าจะว่าด้วยการเลือกลำโพง ซึ่งเป็น ep.สุดหิน เพราะเป็นตัวสุดท้ายปลายทางของซิสเต็ม มีรายละเอียดมากมาย สนุกแน่นอนครับ